จับเข่าคุย ลุย “สยามสแควร์” กับผู้กำกับ “ไพรัช คุ้มวัน” เปิดซิงหนังยาวเรื่องแรก แหวกทุกความระทึก ผนึกแน่นทุกอารมณ์

มุมมอง ความคิด และตัวตน 10 ปีในวงการ

จากผู้กำกับหนังสั้นเจ้าของรางวัลช้างเผือกสู่คนโฆษณา, ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้กำกับภาพรางวัลสุพรรณหงส์

สู่เรื่องราวของ “สยามสแควร์” ในแบบที่ยังไม่เคยถูกเล่า

จับเข่าคุย “ไพรัช คุ้มวัน” ผู้กำกับ “สยามสแควร์”

ผมมีความคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่จะได้มาทำหนังหรือทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรหรือเป็นอาชีพอะไรที่ตัวเองคิดเอาไว้ มันจะต้องทำบางอย่างเพื่อให้ตัวเองก้าวไปสู่จุดนั้นให้ได้ อย่างผมจบมนุษยศาสตร์ คือคณะนี้ก็ไม่ได้สอนวิชาการถ่ายหนังให้เรามาก แต่ว่าสิ่งที่เขาสอนมามันก็เป็น input ที่ดีเหมือนกัน ก็มีเรื่องวรรณกรรมหรือว่าศิลปะ ซึ่งมันเป็นหนึ่งใน material ในชีวิตของเราเหมือนกัน เราก็ไม่ได้ปฏิเสธมัน แต่ว่าไอ้สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องหาความรู้เพิ่ม มันก็มีเหมือนกัน

SiamSquare-Director11

ประวัติการทำงานและประสบการณ์ในสายงานภาพยนตร์ 

ครับ ก่อนมาเป็นผู้กำกับหนังเรื่อง “สยามสแควร์” นี้ ก็ต้องย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสทำหนังสั้นส่งประกวดมูลนิธิหนังไทย ครั้งที่ 11 ปี 2550 เรื่อง เวลา-ลาน ซึ่งชนะรางวัลช้างเผือก ก็คิดว่าชีวิตเราคงโรยด้วยกลีบกุหลาบแล้ว (หัวเราะ) ต่อไปคงก้าวมาสู่การทำหนังได้ง่ายขึ้น แต่จะว่าไปมันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าสุดท้ายแล้วโอกาสนี้มันก็สวิงเรามาสู่การเข้าทำงานในวงการโฆษณาก่อนก็คือ เป็นผู้ช่วยผู้กำกับโฆษณาในเฮ้าส์เล็กๆ แห่งหนึ่ง แล้วก็ออกมาทำโปรเจกต์หนังสั้นเล่าเรื่องเกี่ยวกับกรุงเทพฯ (เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Once Upon a Time in Bangkok งานหนังสั้นที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงเทพฯ 17 เรื่องราวจาก 17 ผู้กำกับ ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลป์กรุงเทพฯ จนเกิดปรากฏการณ์ระดับตำนานที่มียอดคนดูทะลุ 300 คน)

พอดีตอนนั้นได้ไปเจอกับพี่ยู (ษรัณยู จิราลักษม์) ซึ่งเป็นผู้กำกับเรื่อง “9 วัด” เขาก็ชวนไปทำหนังด้วยกัน ก็ได้ไปทำเป็นผู้ช่วยผู้กำกับอยู่ช่วงหนึ่งซึ่งก็มีเรื่อง “9 วัด, Together วันที่รัก, Last Summer” โดยระหว่างนั้นเราก็ทำงานอื่นอยู่ด้วยเหมือนกัน อย่างกำกับภาพเรื่อง “36” ก็ทำระหว่างถ่าย “Last Summer” ก็คือไปช่วย “พี่เต๋อ นวพล” ถ่ายหนัง คือจริงๆ มันเป็น connection ของพวกแก๊งทำหนังสั้นด้วยกัน ณ ช่วงต้นๆมูลนิธิยังมีเลขตัวเดียวอยู่ ก็เทๆ กันมาช่วยกัน เฮ้ย…เราอยากถ่ายหนังว่ะ ก็เลยชวนกันมาถ่าย “36” แล้วก็เลยต่อด้วย “Mary is Happy, Mary is Happy” ทีนี้พอเราทำงาน โอกาสมันพาเราไป แมรี่จบก็มีผู้กำกับญี่ปุ่นคนหนึ่ง เขาชอบภาพในแมรี่มาก เขาชวนไปถ่ายหนังชื่อว่า “Hand in the Glove” เป็นหนังร่วมทุนกันของไทยกับญี่ปุ่นครับ

 

สั่งสมประสบการณ์การทำงานที่หลากหลายพอตัว รู้ตัวเองตั้งแต่แรกเลยมั้ยว่าอยากจะมาทางสายนี้    

จริงๆ ตั้งใจตั้งแต่ ม.ปลายแล้วครับ เลือกอาชีพแล้วล่ะ ก็คงมาทางงานบันเทิง จริงๆ ตอนเด็กรู้สึกว่าแพคเกจจิ้งอาชีพมันดูดีนะ ก็เลยรู้สึกว่าน่าทำ การที่มนุษย์หนึ่งคนจะมีหนังเป็นของตัวเอง ที่แบบตัวเองเป็นคนทำมันเองสักหนึ่งเรื่อง มันคงเป็นแบบเด็กๆ มันก็จะวาดฝันว่ามันดูโอเคเนอะ แต่ว่าพอเราทำงานจริงๆ กลายเป็นว่าเราหลงใหลมันมากกว่า ผมเลยทำงานค่อนข้างหลายตำแหน่งหน่อย ไม่ใช่เพราะว่าเราลองไปเรื่อยๆ แต่ว่าเพราะเราไม่ได้ปฏิเสธมัน มันก็มีความสนุกของมันอยู่ทั้งหมดครับ

 

SiamSquare-Director1

 

ย้อนกลับไปในตอนแรกที่ได้ยินชื่อ “สยามสแควร์” อะไรในโปรเจกต์นี้ที่เป็นตัวฉุดความสนใจของเรา 

จริงๆ ผมเป็นคนหมกมุ่นหนังสยองขวัญพอสมควร แล้วก็ชอบดูหนังพวกสยองขวัญ สเปน อเมริกาใต้ หรือหนังที่มันดังมากๆ อย่าง The Conjuring คือไอ้สิ่งที่ชอบในหนังสยองขวัญมันไม่ใช่ว่าเราซาดิสต์ อยากโดนหลอก แต่เรารู้สึกว่าการเล่นกับการรู้เห็นของคน การเล่นกับอารมณ์ของคนขึ้นลงอะไรอย่างนี้ มันดูสนุกดี มันเหมือนพาคนเข้าบ้านผีสิง อันนั้นเป็นมายด์เซ็ตตอนแรกที่เรามองโปรเจกต์นี้ แต่ว่าหลังจากผ่านการ developed ด้วยการผ่านการถ่ายหนังออกมาจนหนังมันเสร็จสิ้นสมบูรณ์ กลายเป็นว่าเราดันไปสนุกกับมัน แล้วก็ดันมีอย่างอื่นที่น่าสนใจไม่น้อยกว่ากันก็คือเรื่องของมนุษย์ที่มันอยู่ในสยาม ซึ่งมันเป็นสิ่งที่มันเหนี่ยวรั้งให้เราสามารถทำหนังเรื่องนี้ได้จนจบและออกมาแล้วเรารู้สึกโอเคกับมันมากๆ

ผมรู้สึกว่าความน่าสนใจของโปรเจกต์นี้คือมันเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนที่มีเพื่อน เคยมีเพื่อนเดินสยามด้วยกัน เคยอยู่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งแล้วมีความสัมพันธ์กับมัน และอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นสยามก็ได้ มีสักที่หนึ่งที่ไปแฮงค์เอาต์ด้วยกัน ซึ่งสยามมันก็เป็นตัวแทนของเด็กกรุงเทพฯ โซนหนึ่งที่เขาจะใช้ชีวิตส่วนมากเลยละกัน รองจากโรงเรียนก็คือที่นี่ มันก็น่าสนใจที่จะพูดถึงเรื่องของคนที่อยู่ในนั้น แล้วก็ที่ผมสนใจเป็นพิเศษ คือความเปลี่ยนแปลงของสยาม อาจเคยเห็นใน “รักแห่งสยาม” เห็นสยามผ่านภาพยนตร์ ผ่านสื่อต่างๆ แล้วก็ทุกครั้งที่เราไปก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยเหมือนเดิม ผมก็อยากแชร์ภาพเหล่านี้ในสิ่งที่เราเห็นเกี่ยวกับสยามว่ามันเปลี่ยนไปอย่างไรให้คนอื่นดูบ้างครับ

 

มุมมองเกี่ยวกับ “สยามสแควร์” ที่ตั้งใจเลือกนำเสนอและถ่ายทอดลงในภาพยนตร์     

คือในสยามฯ อันนี้มันพูดได้สองมุมก็คือ ในฐานะมนุษย์หนึ่งคนที่ไปเดินสยามมา กับคนที่ทำอาชีพโปรดักชั่นด้วย ในแง่ความเป็นมนุษย์หนึ่งคนที่มีความทรงจำกับสยาม ผมรู้สึกว่าไอ้เรื่องที่เรากำลังจะเล่ามันจะอบอวลไปด้วยสิ่งที่เราเคยสัมผัสทั้งหมด ทั้งเรื่องของโรงเรียนกวดวิชา ทั้งเรื่องของเพื่อนต่างโรงเรียน เรื่องความสัมพันธ์ของเพื่อน และก็ความรักที่มันเกิดขึ้นระหว่างที่เขาเจอกันในช่วงวัยหนึ่ง มันก็จะมีความที่สุดท้ายความสัมพันธ์เหล่านี้เมื่อผ่านเวลามา มันอาจจะไม่เหมือนเดิมก็ได้ นี่มันเป็นสิ่งที่สนใจหนึ่งอย่างในแง่คนที่มีประสบการณ์กับสยามฯ

คือสำหรับผม สยามฯ มันมีหน้าที่มากกว่าเป็นสถานที่ครับ มันคล้ายกับทุกอย่างเลยในความทรงจำของเราในตอนวัยรุ่น มันคือคน ผมคิดว่าตั้งแต่สยามฯ สถาปนาตัวเองเป็นศูนย์กลางของวัยรุ่นนะ วัยรุ่นทุกยุคจะต้องมาที่นี่ แต่เมื่อเขาโตขึ้นไปมันก็อาจจะลืมเพื่อนคนนี้ไปแล้ว ผมคิดว่าการที่ได้กลับมาดูหรือการที่ได้กลับมาหามัน มันเหมือนกลับเป็นการย้อนถึงอดีตของตัวเองได้เหมือนกัน แบบว่า เฮ้ย…สมัยนั้นไม่มีตึกนี้อยู่นะ เฮ้ย…สมัยนี้มีตรงนี้แล้ว แต่ว่ามันก็จะเหมือนเห็นภาพใหม่ๆ ด้วย แต่ว่าก็เห็นภาพเก่าซ้อนทับไปด้วย ผมว่ามันเป็นความรู้สึกที่พิเศษเหมือนกัน สำหรับคนที่จะได้กลับไปสัมผัสสยามฯ อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าทุกวันนี้จะแค่มาต่อรถ BTS สยามอย่างเดียว แต่ว่าไม่ได้ลงมาข้างล่างแล้วก็ตาม

 

 

เมื่อพูดถึง “สยามสแควร์” เราจะนึกถึงความเป็นศูนย์กลางแหล่งรวมวัยรุ่น แล้วในภาพยนตร์เรื่องนี้ เราจะได้เห็นบทบาทความเป็นวัยรุ่นมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

รู้สึกว่าประสบการณ์ที่เรามีอยู่กับภาพของเด็กวัยรุ่นสยามฯ ที่เราเห็นถูกนำเสนอออกมาตามสื่อต่างๆ ทั้งโฆษณา, ทีวี มันต่างกันมากเหลือเกิน ก็เลยรู้สึกว่าเราอยากเล่าสิ่งที่เราเดินไปแล้วเห็นกับมันจริงๆ ก็เลยพยายามทำให้ตัวละครดูมีทัศนคติ มีการแสดงออกที่มันคล้ายกับคนที่เราเดินไปเจอที่สยามฯ ในชีวิตประจำวันได้ มันอาจจะไม่ได้เป็นแบบภาพ Stereotype ซึ่งมันอาจจะดูหวือหวาเกินกว่าในภาพความเป็นจริง เด็กวัยรุ่นที่เรียนเสร็จมาเหนื่อยๆ แล้วก็ เฮ้ย…มาช้อปปิ้งเถอะแก หรือว่ามาเรียนหนังสือต่อ แล้วมันก็เป็นวัฏจักรของเขา เขาก็คงไม่ได้แบบใหญ่เวอร์ขนาดที่เราเห็นกัน แต่ว่าในขณะเดียวกันมันก็มีมิติของความเป็นมนุษย์ของเขาอยู่ ทุกคนมีสตอรี่ของตัวเอง ทุกคนมาที่นี่แล้วมีร้านประจำของตัวเอง ทุกคนมาที่นี่แล้วรู้ว่าตัวเองจะมาทำอะไร ผมว่ามันก็คือส่วนหนึ่งของชีวิตวัยรุ่นเหล่านั้น แล้วก็หยิบจับพวก Fragment หรือองค์ประกอบเล็กๆ เหล่านี้มาหยอดในตัวละครที่หนังเล่าเรื่องอยู่ครับ

สำหรับผม เรื่องใน “สยามสแควร์” นี่มันมีแกนกลางที่มันเป็นของวัยรุ่นค่อนข้างชัดเจนมากๆ มันพูดถึงการต้องการความยอมรับของคนรอบข้าง อันนี้เป็นพอยต์ของสำหรับทุกตัวละครเลย ซึ่งผมว่าสำหรับผมเอง หรือสำหรับทุกคนเอง เมื่อ ณ ช่วงวัยนั้น เหมือนเราก็เคยเดินทางผ่านความต้องการแบบนี้มาแล้ว ซึ่งพอเราโตขึ้น เราอาจจะลดน้อยลงหรือมีมากขึ้น อันนี้มันแล้วแต่ แต่ว่าวัยนั้นแหละคือจุดเริ่มต้นของการมีความรักเป็นครั้งแรกๆ ของตัวเอง การได้มีอิสระในชีวิตบ้าง ถ้าเราเรียนอนุบาล ประถม หรือม.ต้น เราอาจจะโดนพ่อแม่เฝ้า แต่ว่าชีวิตมันจะเริ่มเข้ามาสู่จุดที่ทุกอย่างมันประเดประดังเข้ามา และในอีกแงมุมหนึ่งที่เรานำเสนอคือเรื่องราวของสยามที่ทุกคนไม่เคยคิดถึง และไม่เคยคาดคิดมาก่อน

 

“สยามสแควร์” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นชั้น ม.6 จำนวน 10 คน 10 นิสัย จากต่างที่ต่างโรงเรียน หญิงล้วนบ้าง ชายล้วนบ้าง สหบ้าง ทั้งหมดได้มารู้จักและเป็นเพื่อนกันที่โรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่งในสยามสแควร์ โดยมี เมย์ กับ จุ๊บเล็ก 2 สาวเพื่อนซี้ที่มาจากโรงเรียนเดียวกัน, เฟิร์น กับ มีน 2 สาวหน้าตาน่ารักจากต่างโรงเรียนที่ล้วนไปไหนไปกันโดยมีหนุ่ม ปอนด์ ที่คอยแกะสอยห้อยตามจีบเฟิร์น โดยอาศัยมีนเป็นตัวกลาง, เติร์ก ลูกเจ้าของโรงเรียนกวดวิชาที่เมย์เหม็นขี้หน้าและไม่เคยถูกชะตา, แก๊งหนุ่มๆ อีก 3 คน ที่คอยสร้างเสียงหัวเราะ ได้แก่ ม่อน สายพุ่ง เน้นพูดเสียงดัง, นิวตัน เด็กเรียนสายเนิร์ดเจ้าทฤษฎี, หมูหวาน สายไอที ผู้สุภาพและขี้อายสุดๆ ทั้งสามคนสุมหัวรวมกลุ่มกันเปิดเพจเฟซบุ๊กสุดเกรียนในชื่อ Ghost Your Dad ที่พร้อมท้าทายทุกความเชื่องมงาย หลักๆ ก็คือจะหาเงินจากยอดวิวนั่นแหละ และคนสุดท้ายในกลุ่มก็คือ นิด เพื่อนใหม่ที่ท่าทางดูเรียบร้อยออกติดเชยๆ นิดๆ

ทุกอย่างก็ดำเนินไปตามปกติ ทุกคนมาเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบแอดมิชชั่นที่กำลังจะถึงแบบที่เด็กวัยรุ่นทุกคนทำกัน จนกระทั่งวันหนึ่งมีเหตุการณ์ไฟดับเกิดขึ้นทั้งสยามฯ  หลังจากที่ไฟติด สิ่งที่ตามมาไม่ใช่แค่แสงไฟที่สว่างขึ้น แต่เรื่องของเด็กผู้หญิงที่เคยหายตัวไปในเหตุการณ์ไฟดับทั่วสยามเมื่อ 30 ปีก่อน ถูกขุดคุ้ยกลับมาพูดถึงกันอีกครั้ง เหมือนจะไม่มีอะไร ก็แค่เรื่องเล่าสนุกปากตามประสาวัยรุ่น แต่ที่มันประหลาดคือ ดูเหมือนเรื่องราวลึกลับประหลาดๆ ที่ทุกๆ คนพูดถึงกัน มันค่อยๆ กลายเป็นจริงขึ้นมาทีละนิดๆ และค่อยๆ ใกล้ตัวทุกๆ คนขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนในกลุ่มจึงมีทางเลือกอยู่แค่จะอยู่เฉยๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นแล้วรอเรื่องราวประหลาดคืบคลานเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ หรือจะเผชิญหน้ากับสิ่งที่พวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าคืออะไร แม้ว่ามันจะทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

 

SiamSquare-Director7

SiamSquare-Director2

 

เราจะได้เห็นตัวละครเด็กสยามฯ ที่เป็นตัวแทนเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวถึง 10 คนซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ แต่ละคนมีโพรไฟล์และศักยภาพในการแสดงอย่างไรบ้าง

จริง ๆ เรียกว่าปวดหัวมากครับ ปวดหัวเพราะว่าเราจะไปหาวัยรุ่นที่มีศักยภาพขนาดนี้มาได้จากไหนอย่างไรบ้าง ตอนตั้งต้นเราก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะออกมาเป็นแบบนี้หมด ก็ใช้ความพยายามหลายช่องทางครับ เดี๋ยวนี้เราก็ต้องทํางานให้มันทันสมัยขึ้น เราก็ไปส่อง IG น้อง ๆ กัน คือน้องบางคนเราจะเห็นเขาเล่นโฆษณาอยู่แล้ว เพราะว่าผมก็มีอาชีพโฆษณาอยู่ด้วย แต่ว่ากับบางคน เราไม่ได้ดูทีวีบ่อยๆ และเราใช้ชีวิตบนอินเทอร์เน็ต เราจะไม่ค่อยเห็นน้องบางคน ก็เลยต้องมีการคัดเลือกกันพอสมควร อย่างในหนังเรามีตัวละครทั้งหมด 10 ตัว ซึ่งด้วยความที่มันเยอะมาก แล้วแต่ละคนก็มีสตอรี่เป็นของตัวเอง แต่คือจริงๆ บทมันถูกกำหนดมาคร่าวๆ แล้วแหละว่าตัวละครนี้เป็นคนแบบนี้ๆ

สำหรับตัวละครแรกคือ “เมย์” จริงๆ ดูเป็นผู้หญิงที่ค่อนข้างเข้าถึงยากเหมือนกัน แล้วผมก็รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่หมกมุ่นกับเรื่องของตัวเองตลอดเวลา คือแน่นอนทุกคนในหนังเรื่องนี้ รวมทั้งพวกเราทุกคนล้วนมีความ wanna be บางอย่าง อยู่ที่ว่าทุกคนซ่อนมันไว้อยู่ในสเต็ปไหนของตัวเอง เมย์ก็เป็นหนึ่งคนที่อยากเป็น อยากได้ อยากมี แต่ว่าวิธีแสดงออกเขาไม่ได้แสดงทุกอย่างที่เขาคิดออกมาทั้งหมด เขาเลือกวิธีที่เขาแสดงออกแล้วก็จะเป็นคนที่เราเดินเห็นเขาผ่านๆ รู้สึกว่า เออ…เขาดูนิ่งๆ เงียบๆ เหมือนกันนะ การที่ได้ “อุ้ม” (อิษยา ฮอสุวรรณ) มารับบทเมย์ ผมรู้สึกว่าน้องอุ้มนี่แหละคือเมย์ หมายถึงแววตา วิธีการพูด วิธีการเดินทุกอย่าง คือผมคิดว่ามนุษย์แต่ละคนเวลาเขาคุยกัน เขาจะจัดวางร่างกายตัวเองไม่เหมือนกัน ซึ่งอุ้มค่อนข้างตรงกับภาพเมย์ที่ผมคิดไว้ตั้งแต่แรก ก็คือเป็นคนดื้อเงียบ แล้วก็ถ้าเกิดบทจะระเบิดอะไรออกมาก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน แต่คือมันต้องไป touch จุดที่เขาแบบ โอเค กูไม่ไหวแล้วนะโว้ย เขาถึงจะแสดงอาการกิริยาตอบโต้ออกมาจริงๆ

คือตัวละครเมย์ที่อุ้มเล่น เขาจะพิเศษกว่าคนอื่นอย่างหนึ่งตรงที่นอกเหนือจากที่เขาจะต้องเข้าฉากคุย ฉากที่มันมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ ซึ่งอันนี้จะมีการรับส่งแล้วก็จะเห็น react ของทั้งคู่ได้ อุ้มจะต้องมีฉากที่ต้องเล่นคนเดียว คือเมย์เขาจะมีเพื่อนหนึ่งคน เป็นเพื่อนที่คุยกันในไลน์ แต่ว่าเขาไม่รู้หรอกว่าเป็นใคร เหมือนคุยแล้วมันถูกคอเขาต้องเชื่อจริงๆ ว่าอันนี้เป็นเพื่อนเขา และเขาสนิท เขาถึงแสดง ไม่ใช่แสดงสิ เขาถึงมีโมเมนต์ที่มันโอเคมากๆ กับการที่เขาคุยกับเพื่อนคนนี้อยู่ ซึ่งมันแสดงออกบนแววตาและสีหน้าของอุ้มค่อนข้างชัดมากๆ เหมือนกัน ด้วยความที่ตัวละครเมย์ เขาเป็นคนที่ค่อนข้าง deep มาก หมายถึงว่าเก็บทุกอย่างเอาไว้ที่ก้นบึ้งของใจตัวเอง แล้วรอวันที่มันจะระเบิดออกมาได้ สเต็ปในการแสดงของน้องอุ้มนี่มันก็จะมีตั้งแต่น้อยมากไปจนถึงแบบเยอะมาก หมายถึงว่าสำหรับผม ถ้าผมเป็นนักแสดง ผมรู้สึกว่ามันท้าทายดีเหมือนกันที่ได้ทำอะไรหลายเลเวลขนาดนี้ รวมทั้งโมเมนต์ของการเล่นคนเดียว หรือการเล่นรับส่งกัน มันมี performance ที่ค่อนข้างรุนแรงมากครับ

 

SiamSquare-Director14

ตัวละครที่ 2 คือ “เติร์ก” รับบทโดย “ภีม” (ธนบดี ใจเย็น) จริงๆ ตัวละครนี้ตั้งแต่ตัวบทนี่ มันจะเป็นผู้ชายขรึมๆ เท่ๆ แต่ว่าเราก็ปรับให้มันเข้ากับตัวน้องเขามากขึ้น คือโอเค มันมีความขรึมของมันอยู่ แต่ว่าเมื่อมันมีโมเมนต์กับเพื่อนผู้ชายด้วยกันเอง มันก็จะแบบมีชีวิตชีวาขึ้นมา คือจะไม่ใช่วัยรุ่นประเภทแบบว่าเดินสูบบุหรี่แล้วก็ยืนหล่อๆ เท่ๆ อยู่แถวสะพานลอยแล้วผู้หญิงกรี๊ด

คือเขาก็จะมีมิติของความเป็นผู้ชายที่เอาจริงๆ ก็แม้ว่าจะหน้าตาดี แต่ว่าก็ยังมีไม่กล้าจีบสาวตรงๆ ยังไม่กล้า approach ไปหาเพศตรงข้ามตรงๆ อาจจะเป็นเพราะว่าเรียนชายล้วนมา แต่ว่าเวลาอยู่กับเพื่อนด้วยกันเองก็จะมีความเฮ้วค่อนข้างมากเหมือนกัน ซึ่งตัวเติร์กเองซึ่งรับบทโดยภีม ผมว่าเขาดูเป็นคนมีเสน่ห์แบบมีความแบ๊ดๆ นิดหนึ่ง ก็พ่อรวย ให้รถมาขับมาเรียนที่สยามได้ คนอื่นนั่งรถไฟฟ้าแต่ว่าไอ้นี่ขับรถมา แม้ว่าจะเป็นรถพ่อ ก็จะดูมีความเป็นแบบว่าอัปคลาสขึ้นมานิดหนึ่งจากเพื่อนด้วยกันเองครับ

 SiamSquare-Director15

ตัวละครที่ 3 “เฟิร์น” รับบทโดย “เหม่เหม” (ธัญญวีร์ ชุณหสวัสดิกุล) ก็เป็นผู้หญิงอึนๆ ดูเป็นคนที่เก็บความเศร้า เพราะคิดว่าไอ้การมาโรงเรียน หรือตอนเย็นเจอเพื่อนน่าจะเป็นโมเมนต์แฮปปี้ แล้วกลับบ้านไปก็จะเซ็งๆ หน่อย เพราะว่าที่บ้านอาจจะอยู่แล้วมันจะไม่ค่อยแฮปปี้มาก ก็เลยจะชอบใช้ชีวิตกับที่โรงเรียน หรือไม่ก็เพื่อนที่กวดวิชา ซึ่งตัวเฟิร์นเองเขาก็มีความเศร้าอยู่ประมาณหนึ่ง ถึงเป็นคนที่แสดงออกอะไรก็จะไม่แสดงอารมณ์อย่างสุดทาง เพราะเหมือนตัวเองก็จะถูกกดไว้ด้วยอีโก้ของสังคมไว้ประมาณหนึ่ง ให้แสดงออกได้ประมาณนี้ จริงๆ คือเป็นผู้หญิงประเภทที่ถ้าผมไปเดินสยามผมก็คงมอง จะมีความ outstanding ออกมาจาก area นั้นแน่นอน ดูภายนอกเหมือนจะมีความสดใส เป็นวัยรุ่นตามวัย แต่ว่าจริงๆ แล้วเขาก็จะเก็บงำอะไรบางอย่างอยู่ภายในค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ทั้งเรื่องของไม่สนิทกับแม่ เรื่องของการถูกบังคับให้ทำนู่นทำนี่ การเล่นเปียโนอะไรอย่างนี้ ซึ่งการเล่นเปียโนนี่ก็เป็นสกิลจริงๆ ที่น้องเหม่เหมมีเหมือนกันกับตัวละครเฟิร์น

ซึ่งในความที่คนอื่นไม่ค่อยจะเข้าใจตัวเฟิร์น และเฟิร์นเองไม่ค่อยจะเปิดรับคนอื่น คนเรามีเคมีบางขั้วที่มันตรงกัน เขาดันไปจูนได้กับตัวละครอีกตัว (ตัวที่ 4) ก็คือ “หมูหวาน” หนุ่มใสๆ ไม่คิดอะไรมากในชีวิตประจำวัน หมายถึงว่าคือถ้าเราเจอคนที่มันเพียวๆ เราจะรู้สึกว่าไอ้นี่มันไม่มีพิษมีภัยอะไรกับเรา ซึ่งหมูหวานเป็นคนประเภทนั้น ก็จะรับบทโดย “ปลื้ม” (ปุริม รัตนเรืองวัฒนา) นะครับ ซึ่งเป็นตัวละครที่จริงๆ หล่อกว่าที่ผมคิดไว้ค่อนข้างเยอะครับ แต่ว่าไม่เป็นไร เพราะน้องปลื้มแสดงออกมาได้ดีมาก คือตัวละครหมูหวาน แม่เขาตั้งชื่ออย่างนั้นให้เพราะว่าตอนเด็กๆ ตัวอ้วน จ้ำม่ำ น่ารัก แต่โตมาแล้วหน้าตาดี แต่ก็ยังมีความไม่เซลฟ์อยู่ ผมคิดว่าตอนเด็กๆ คงโดนล้อมาเยอะ มันก็เลยจะมีความไม่ค่อยกล้าเข้าสังคม ไม่ค่อยกล้าคุยกับผู้หญิง มันก็จะมีเพื่อนกลุ่มที่ดูเนิร์ดๆ อยู่ด้วยกัน แล้วเวลาไปไหนก็จะเกาะกันอยู่ 2-3 คน

คืออย่างหมูหวานเนี่ย ด้วยความที่เป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าพบปะสังคม ไอ้สิ่งที่มันจะหาทางออกให้เขาได้ดีที่สุดในชีวิตประจำวันก็เป็นเรื่องของการอยู่กับคอมฯ, เกม, หนังสือการ์ตูน บางทีผมว่าเพื่อนเขาก็คงด่าว่า ไอ้บ้าการ์ตูน โอตาคุ แบบติดเกม ซึ่งเอาจริงๆ ภายนอกบางคนก็อาจจะดูแล้วรู้สึกว่าแบบ เออ…ภายนอกมันไม่ค่อยน่าคบนะ แต่ว่าตัวละครหมูหวานเขาก็จะมีความน่ารักของเขาค่อนข้างเยอะพอสมควร ตัวละครที่แบบมีความแฟนตาซีค่อนข้างสูง

กลับมาที่ตัวละครเฟิร์น ผมรู้สึกว่าตัวละครในหนังที่ผมทำนี่มันมีความอมทุกข์กันอยู่ค่อนข้างเยอะ แล้วซึ่งมันตรงกันข้ามกับบุคลิกจริงๆ ของเหม่เหมมาก คือเหม่เหมเป็นคนร่าเริง alert ตลอดเวลา พร้อมจะยิ้มแย้มแจ่มใส ทักคนนู้นคนนี้ ถ่ายรูป แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราชื่นชอบคือ เมื่อน้องอยู่หน้ากล้องเขาจะมีไปอีกโหมดหนึ่งทันที คือหมายถึงว่าพออยู่หน้ากล้องเขาจะ performance ออกมาอีกแบบหนึ่งกับสิ่งที่เขาเป็นเมื่อ 5 นาทีที่แล้ว ซึ่งสำหรับผมรู้สึกว่ามันดูจริงและดูผู้หญิงคนนี้เขาเก็บอะไรไว้อยู่ข้างในค่อนข้างเยอะมากๆ เหมือนกัน แล้วเรารู้สึกสงสารตัวละครตัวนี้ครับ แต่ว่าพอคัตปุ๊บ น้องก็จะกลับมาร่าเริงเหมือนเดิมทันที

คือสิ่งที่พิเศษของน้องเหม่เหมในหนัง คือเขาเป็นคนที่ค่อนข้างเศร้า แต่ว่าครั้งไหนที่เขายิ้มออกมา ผมรู้สึกว่าถ้าผมเป็นผู้ชายที่จะต้องเข้าซีนอยู่ตรงนั้น ผมก็จะเขิน คือมันเป็นรอยยิ้มที่มันค่อนข้างบริสุทธิ์มาก หมายถึงว่ามันยิ้มออกมาจากใจจริงๆ ที่น้องเขารู้สึกแบบนี้เขาเลยยิ้มออกมาให้ มันเป็นบุคลิกพิเศษของน้องเหม่เหมมากๆ เหมือนกัน

ส่วนหมูหวานก็เป็นคนที่มีลักษณะตรงกัน คือน้องปลื้มก็เป็นคนพิเศษอีกหนึ่งคน คือเขาเป็นคนที่ยิ้มออกมาแล้วมันน่ารัก แล้วเราจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นการแสดงหรืออะไร มันคือรอยยิ้มจากใจจริงๆ แล้วผมรู้สึกว่าไอ้สองอย่างนี้มันเป็นภาษาที่เฟิร์นกับหมูหวานใช้ connect กันอยู่ เราจะรู้ว่าคนๆ นี้เหมาะกับเราหรือเปล่า ผมก็เลยรู้สึกว่าเคมีทั้งสองคนนี้แรงมากครับ (หัวเราะ) มีความอินเนอร์ของตัวละครค่อนข้างสูงครับ

 

SiamSquare-Director5

ตัวละครที่ 5 “ปอนด์” รับบทโดย “บอน์น” (มนภัทร เตชะกำพุ) จะเป็นคนเซลฟ์ หล่อ สาวกรี๊ดเยอะ ชอบเทผู้หญิง เราก็จะเข้าใจเขาได้ประมาณหนึ่งว่าอะไรที่ทำให้เขามั่นใจในตัวเองขนาดนี้ แต่ว่าไอ้สิ่งที่ผมเพิ่มเติมไปจากบท ซึ่งเรารู้สึกว่ามันดีกับตัวละครนี้มากๆ ก็คือ เรารู้สึกว่าปอนด์มันไม่ใช่ผู้ชนะอย่างเดียว จริงๆ มันทำแบบนี้อยู่เพราะว่ามันอาจจะเคยมีอะไรบางอย่าง มันถึงต้องหาเรื่องกลบข้อด้อยของตัวเอง ซึ่งพอปอนด์มาชอบเฟิร์น แล้วเขารู้สึกถูก ignore ไม่ได้รับความใส่ใจจากเฟิร์น ผมรู้สึกว่าไอ้แววตาที่บอน์นแสดงออกมามันค่อนข้างจริง มันอาจจะเอาไปลิงก์กับชีวิตของเขาเองก็ได้ เฮ้ย…ปกติจีบสาวได้ตลอดนะ แต่ว่าทำไมโดนเทล่ะ คือผมรู้สึกว่าตัวละครปอนด์เป็นตัวละครที่ค่อนข้างน่าสงสารคนหนึ่ง ก็จริงๆ ตอนแรกไม่ได้คิดไว้แบบนั้น แต่พอน้องเขาเล่นแล้วเขาพาเรามาอยู่จุดนี้ เราค่อนข้างมั่นใจว่ามันคือมนุษย์ประเภทนี้แหละ ประเภทที่แบบจริงๆ เราหมั่นไส้มัน แต่ว่าเราสงสารมันเหมือนกันครับ

จริงๆ จุดตั้งต้นของปอนด์กับสิ่งที่บอน์นแสดงออกมามันค่อนข้างคนละทางกัน คือปอนด์สำหรับผมในบท มันคือ perfectionist คือผู้ชายที่ทุกอย่างเพียบพร้อม พอได้บอน์นมาแสดง น้องเขาไม่ได้แสดงออกในสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะได้ แต่ว่าเขาก็ลองเล่นในแบบที่เขาคิดว่ามันเป็นอย่างนั้น แล้วเราดันรู้สึกว่ามันเป็น direction ที่ดีเหมือนกัน คือจริงๆ อาจจะเป็นความผิดของผมเองด้วยที่ผมมองตัวละครปอนด์ ณ ทีแรก ผมว่ามันดูแบนมากเลยกับ direction ที่ผมให้ไป แต่น้องเขาพาลากมันออกมานอกกรอบอันนั้น แล้วมันกลายเป็นตัวละครของเขาไปได้ คือปอนด์เป็นตัวละครที่บทบาทไม่ได้เยอะในเรื่อง แต่ว่าอยู่ในเรื่องตลอด มันมีลักษณะพิเศษของมันอยู่ คือแบบเราจะเห็นมันเดินวนไปวนมาอยู่ในหนังนี่แหละ แต่ทำไมมันไม่เทกตัวเองขึ้นมาซักที มันก็จะตรงบทบาทของปอนด์ในกลุ่มเพื่อนครับ คืออยากอยู่ในกลุ่ม แล้วเพื่อนๆ ก็มองบ้าง แต่ว่าก็อยากจะเดินกับเฟิร์น แต่ก็จะมีมีนมาคอยเดินกั้นตลอดอะไรอย่างนี้ (หัวเราะ)

 

SiamSquare-Director6

ตัวละครที่ 6 “มีน” จะเป็นมนุษย์ที่ผมคิดว่าทุกคนจะต้องมีเพื่อนผู้หญิงอยู่ในกลุ่มแบบนี้ ต้องมีคนแบบนี้ซักหนึ่งคน หรืออาจจะอยู่โรงเรียนชายล้วน ก็จะมีเพื่อนผู้ชายแบบนี้อยู่ในกลุ่มซักหนึ่งคนที่มันจะพูดอะไรของมันก็ไม่รู้ นึกจะพูดอะไรก็พูด แต่ว่ามันเป็นการพูดที่ค่อนข้างจริงใจมาก มันก็จะชอบ-ไม่ชอบอะไรอย่างนี้ บ่นๆ อะไรก็ไม่รู้ แกๆ เข้าห้องน้ำกับชั้นหน่อย มีนจะเป็นตัวละครที่มีความเหมือนแมลงวันนิดหนึ่งครับ คือมีความน่ารำคาญนิดหนึ่ง แต่ว่าจะอยู่กับเราตลอด

ซึ่งได้ “น้องคิ้ว” (อนงค์นาถ ยูสานนท์) มารับบทนี้ ซึ่งเป็นตัวละครที่ ตอนแรกที่เห็นเทปแคสต์ของน้องคิ้ว รู้สึกว่าแบบเป็นคนอื่นไม่ได้แล้วจริงๆ เพราะว่าคิ้วจะมีความเป็นมนุษย์หึ่งๆ อยู่ คอยบินวนชาวบ้าน เอ้ย…ไปกินอะไรกันดีละเย็นนี้ มันจะมีความเป็นธรรมชาติของคิ้วและมีนมาก แบบคนเดียวกันเลยครับ ในหนังมีนจะเป็นตัวละครที่ทักไลน์มายังกลุ่มเพื่อนคนแรกว่า “รู้ยัง…” คิ้วเป็นคนคล้ายๆ มีนครับ แต่ว่าอาจจะไม่เยอะเท่ามีน แต่ว่าโดยลักษณะนิสัยรวมๆ จะมีการแสดงออก การใช้เสียง ทุกอย่าง การจัดวางตัวเองในกลุ่มเพื่อนจะเป็นคนใกล้เคียงกันมากๆ ครับ

 

SiamSquare-Director16

มาถึงอีกสองตัวละครขอพูดถึงรวมๆ เลยละกันเพราะเขาอยู่ด้วยกันค่อนข้างเยอะ ก็คือ “นิวตัน” กับ “ม่อน” สองคนนี้จะเป็นคนที่คาแรคเตอร์ต่างกันมาก นิวตันรับบทโดย “เอิร์ธ” (อติคุณ อดุลโภคาธร) ม่อนรับบทโดย “เบสท์” (ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์) เขาเป็นคนที่ไม่น่าจะมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้ เพราะคนหนึ่งก็ดูฉลาดมาก ส่วนอีกคนหนึ่งก็ดูใช้ชีวิตแบบไม่คิดอะไรเลย คอยเน้นเสียงดังโวยวายไว้ก่อน แต่ว่าพอเคมีมันไปด้วยกันได้ ไอ้สองคนนี้เลยสามารถอยู่กลุ่มเดียวกันได้ครับ ตัวละครนิวตันซึ่งรับบทโดยเอิร์ธ มัน Challenge เอิร์ธกับผมมากๆ เหมือนกัน คือเราต้องการตัวละครที่คอยพูดสรุปบางอย่างในหนังให้ แล้วก็ฉลาด แล้วก็มีคาแรคเตอร์ที่พิเศษขึ้นมานิดหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน เอิร์ธด้วยความที่บุคลิกของเขาเป็น “สมพงษ์ ฮอร์โมนส” มานานมาก การที่จะทำให้เอิร์ธไม่เป็นเอิร์ธได้มันก็ดูเป็นมิชชั่นที่ยิ่งใหญ่มากๆ เหมือนกัน ซึ่งเราก็ได้ทดลองทำหลายอย่างกับน้อง ลองปรับวิธีการพูดของน้องให้ช้าลง แล้วก็เปลี่ยนแว่นเลย แล้วก็เปลี่ยนทรงผม เปลี่ยนชุดเปลี่ยนทุกอย่างที่เคยใช้ แล้วก็ลองถ่ายรูปส่งไปให้ “เบลล์ เขมิศรา” ดู ซึ่งเขาเล่นฮอร์โมนสด้วยกัน ตอนแรกเขาก็บอกนี่ใครเหรอ เฮ้ย… โอเคๆ แสดงว่ามันไม่ใช่คนเดิมละ มันก็มีความสนุกของมันละ

แล้วม่อนซึ่งรับบทโดยเบสท์เนี่ยเป็นตัวละครที่… คือผมรู้สึกว่าเบสท์เป็นคนที่มีคาแรคเตอร์พิเศษอย่างหนึ่ง ตรงที่ไม่ว่ามันจะปรากฏตัวน้อยแค่ไหน ซีนนั้นจะกลายเป็นซีนของมันได้ตลอด ดังนั้นความยากในการทำงานกับเบสท์คือเราต้องคอยระวังตลอดว่า ไม่ได้นะเว้ย ซีนนี้มันจะไม่ใช่ซีนของเบสท์ ห้ามให้มันทะลักออกมาเด็ดขาด คือมันไม่ใช่ความผิดของน้อง หรือของนักแสดงคนอื่น มันเป็นเรื่องของเทคนิค หรือเป็นเรื่องของน้ำเสียงในการพูด ซึ่งเบสท์มันจะมีบางอย่างที่ทำให้คนไปสนใจมันในเฟรมได้ตลอด ซึ่งเอาจริงๆ มันก็ตรงกับความเป็นม่อนเหมือนกัน คือก็คงเป็นคนที่ดูโหวกเหวกในกรุ๊ป เฮ้ย…กูหิวแล้วไปกินข้าวกัน ซึ่งคนเหล่านี้มักจะถูก ignore แบบไม่ได้คนอื่นเขายังไม่หิวเลย มึงหิวไปก่อน ก็ถือว่าเบสท์ตอบสนองได้ค่อนข้างน่าสนใจครับ และสิ่งที่พิเศษอย่างหนึ่งคือตอนแรกผมกลัวว่าเบสท์เขาจะดูโตเกินไปกับการใส่ยูนิฟอร์มนักเรียน ผมก็เลยให้เขาไปลดความอ้วน ซึ่งตอนที่มาแคสท์กับตอนมาที่ถ่ายจริง น้ำหนักต่างกัน 10 กิโล นี่เป็นสิ่งที่โอเค เรานับถือมากครับ สำหรับม่อนในความเป็นตัวที่ไม่ได้เด่นที่สุดในซีนของเบสท์ แต่เมื่อถึงจังหวะที่เฮ้ย…โมเมนต์นั้นมันต้องมา ตัวม่อนมันต้องโผล่มาให้ได้แล้ว เบสท์มันจะแสดงได้เสมอ ทั้งๆ ที่ตอนที่มาช่วยตบมุกบางอย่าง ซึ่งโอเคมันก็เป็นมุกแบบ 5 บาท 10 บาท สไตล์ตัวละครม่อนนี่แหละ แต่ว่าพอมันแสดงออกมาแล้วมันมีผลกับหนังค่อนข้างเยอะพอสมควรครับ

 

โดยรวมสำหรับแก๊ง Ghost Your Dad นะครับเรียกว่าเป็นแก๊งห่ามๆ ที่อยากมีตัวตนของนิวตัน, ม่อน แล้วก็หมูหวาน คือสามคนนี้รวมตัวกันอยากพิสูจน์หรือลองของด้วยการคอยตั้งกล้องถ่ายวิดีโอ ซึ่งกิจกรรมของคนเหล่านี้จริงๆ คือผมก็ไม่รู้เขาทำไปทำไม แต่รู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์มากๆ นอกจากได้ความสนุกในแบบความเป็นวัยรุ่น คือขอให้ได้เปรี้ยว เดี๋ยวจะได้มีเรื่องไปฝอยอะไรอย่างนี้ครับ จริงๆ คือ นิวตันคิดว่าเราจะเปิดเพจแล้วก็ถ่ายคลิปวิดีโอผีเรียกยอดไลก์ได้ แต่ว่าก็ต้องหาลูกมือซึ่งก็คือม่อนกับหมูมาเป็นลูกกระจ๊อก ซึ่งพวกเขาก็ดูสนุกดีทุกครั้งที่จะเข้าไปท้าทายความลึกลับในสยามสแควร์

 

SiamSquare-Director13

มาที่ตัวละครที่ 9 ครับ “จุ๊บเล็ก” ที่รับบทโดย “หลิว” (มรกต หลิว) ครับ ก็เป็นตัวละครที่เอามาจากเรื่องจริงในชีวิตตัวเองอีกละ จริงๆ ผมว่าทุกคนน่าจะมีประสบการณ์เคยทะเลาะกับเพื่อนแรงๆ แล้วเราก็คงแบบมองหน้ากันยากจังเลยอะไรอย่างนี้ ซึ่งตัวละครจุ๊บเล็กของหลิวนี่ เขาเป็นตัวละครที่กูพอละ กูจะเลิกเป็นเพื่อนที่ดีต่อมึงแล้ว ใน performance ที่เขาแสดงออกมา มันคือการดีๆๆ มาโดยตลอด จนถึงวันหนึ่งเมื่อเส้นลิมิตระหว่างจุ๊บเล็กกับเมย์มันขาดลง มันกลายเป็นว่ามันยากเหมือนกันที่จะกลับมาต่อกันได้ เพราะว่าบางเรื่องมันก็เข้าใจยากเหมือนกัน บางทีถ้าเราเข้าใจว่าเราทะเลาะกับใครคนหนึ่งไปก็คงจะแก้ไขมันไม่ง่าย แต่ว่าบางอย่างมันไม่มีเหตุผล แบบกูไม่ทนละกัน กูขอไม่อยู่กับมึงอีกแล้วอะไรอย่างนี้ ซึ่งผมว่าในมิติในสิ่งที่หลิวแสดงออกมามันมีมากกว่านั้น มันคือความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียด คือแบบให้มากก็เจ็บมาก แล้วถึงวันหนึ่งเราเลยเลิกที่จะทนกับสิ่งนี้

คาแรคเตอร์ของจุ๊บเล็ก จริงๆ เขาน่าจะเป็นคนที่รักเพื่อนมาก ผมชอบสังเกตเห็นเพื่อนผู้หญิงของผมที่โรงเรียน เขาไม่ได้เป็นแฟนกันนะ แต่เวลาเดินชอบจับมือกัน เราก็จะรู้สึกว่าเส้นบางๆ ระหว่างความสัมพันธ์ หรือว่าระหว่างเพื่อนผู้หญิงกับเพื่อนผู้ชายคบกัน มันคืออะไรอย่างนี้ แล้วเพื่อนผู้ชายที่มันสนิทมากมันคงไม่เดินจับมือ แต่ว่ามันไม่ได้แปลว่าอันนี้น้อยกว่าหรือมากกว่า มันเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการเป็นเพื่อนกันของเขา ซึ่งตัวละครจุ๊บเล็กเป็นคนที่ค่อนข้างจริงจังกับความสัมพันธ์ คือถ้าเราซื้อของให้นาย นายจะต้องขอบคุณเราอะไรอย่างนี้ คือต้องการการถูกให้ความสนใจค่อนข้างมาก อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเคยขาดตรงนี้มาก่อนหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ว่าเขาจะมีความจู้จี้ในเรื่องบางเรื่องที่มันเฮ้ย…ตรงนี้เราต้องได้นะอะไรอย่างนี้ คือตัวละครจุ๊บเล็กเป็นตัวละครที่มีความซับซ้อนทางอารมณ์ค่อนข้างมาก คือเป็นเพื่อนผู้หญิงในแบบที่ไม่ควรไปทะเลาะกับเขา เพราะว่าเขาจะโกรธเรานานมากๆ เลย การที่ได้หลิวมามันช่วยได้มากๆ เลยครับ หลิวเป็นคนที่หน้าตาและแววตาของหลิวมันมีความ dark อยู่ค่อนข้างมาก คือน้องเขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจให้มันดาร์กแบบนี้นะ แต่ว่านี่คือสิ่งที่เรารู้สึกจากแววตาของน้องเขา คือความสัมพันธ์ระหว่างเมย์กับจุ๊บเล็ก มันเป็นความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียด มันเลยแสดงออกมาทางการแต่งตัวด้วย เมื่ออยู่ในห้องเรียนเมย์มันต้องเด่นกว่า มัน shine กว่า มันทำตัวยังไงก็ได้เพราะกูสวยอะไรอย่างนี้ แต่ว่าสิ่งที่แสดงออกมา จุ๊บเล็กมันคือกูคบเพื่อนสวยอยู่กูจะต้องเด่นเท่ามันให้ได้ มันเลยออกมาเป็นเรื่องของการมีพร็อปเล็กๆ ที่กระเป๋าหรือเสื้อกันหนาว สีที่ทำให้มันจะเด่นมากขึ้นเวลาที่มันอยู่กับเมย์ เขาจะเป็นคนที่หลายอย่างที่ทำผ่านการคิดมาหมดแล้ว เป็นคนคิดมากประมาณหนึ่งเหมือนกัน

 

SiamSquare-Director9

ตัวละครที่ 10 “นิด” เป็นตัวละครที่มีความซับซ้อนทางอารมณ์มาก จะว่าไปนิดจริงๆ ก็คือร่างทรงของเมย์กับจุ๊บเล็กผสมกันนะ แล้วต้องแสดงให้มาเป็นนิดให้ได้ คือเขาเป็นทั้งไบโพลาร์ 2 บุคลิกก็ไม่ใช่ หมายถึงว่าในโมเมนต์ที่เขาโอเคเขาก็จะเป็นเมย์ได้ แต่ในโมเมนต์ที่เขาไม่โอเคเขาก็จะกลายร่างเป็นอีกคนได้ ซึ่งมันก็จะมีคนแบบนี้ คือไม่ใช่เป็นโรคอะไรนะ คือถ้าอารมณ์ดีเขาจะโอเค ถ้าเขาอารมณ์เสีย เขาจะแบบ เฮ้ย…หนีดีกว่า ซึ่งรู้สึกดีใจมากที่ได้ทำงานกับ “พลอย ศรนรินทร์” รู้สึกว่าพลอยมีของ พลอยยังเด็กอยู่ แล้วพลอยสามารถรองรับไอ้สิ่งที่มันอาจจะยังไม่เคยเกิดขึ้นกับชีวิตเขาเลยก็ได้ แต่ว่าพลอยแสดงมันออกมาได้แบบ ผมเคยคุยกับน้องอุ้มว่า น้องอุ้มกลัวการเข้าซีนกับใครมากที่สุด น้องอุ้มบอกว่ากลัวเวลาอยู่กับพลอยมาก เพราะว่าพลังงานที่มันส่งมาต่อกันมันจะ… คือคนเป็นนักแสดงมันจะรับรู้ได้ทันทีว่ามันมามหาศาลขนาดไหน ซึ่งพลอยนี่แหละ มันค่อนข้างพิเศษมากจริงๆ

ผมเคยคุยกับเบสท์ว่า เบสท์คิดว่าน้องพลอยเป็นไงบ้าง ถามในฐานะที่เป็นนักแสดงที่ดีหนึ่งคน เบสท์บอกว่า เออ…พลอยมันเก่ง คือผมคิดว่าระหว่างที่น้องมันเล่นอยู่ มันอาจจะไม่เข้าใจพี่ทั้งหมดก็ได้นะว่า พี่จะเอาอะไร แต่มันเล่นออกมาให้พี่ได้ เออ…เราฟังประโยคนี้แล้วเราก็ทึ่ง มันมีโอกาสเป็นไปได้เหมือนกันไง input ของเราอาจจะไม่ครบถ้วน หรือไม่ดี หรือโตเกินไปสำหรับเขา หรืออะไรก็ได้ แต่พอเขาทำความเข้าใจกับมันเองแล้วเขาเล่นออกมามันค่อนข้าง touch ความรู้สึกเรามากๆ เลย นิดเป็นตัวละครเพื่อนใหม่ของเมย์ ซึ่งเขามาเจอกันที่โรงเรียนกวดวิชา คือทั้งคู่มีจุดร่วมเหมือนกัน คือเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทั้งคู่ แล้วก็สวย อยู่โรงเรียนก็จะเป็นคนที่แบบสวยระดับต้นๆ มีคนสนใจ แล้วตัวเองก็จะเลือกได้ว่าจะทำยังไงบ้าง ผมคิดว่าทั้งคู่มีความเป็นอีกด้านหนึ่งของแต่ละคน หมายถึงว่าเขาเป็นคนแบบเดียวกัน แล้วก็การที่มีเขาสองคน มันก็ทำให้ทั้งเมย์เองก็ได้เห็นตัวเองผ่านนิด และนิดได้เห็นตัวเองผ่านเมย์ครับ

ทั้งหมดนี้คือนักแสดงรุ่นใหม่ทั้ง 10 คนที่มาถ่ายทอด 10 คาแรคเตอร์ตัวละครของสยามสแควร์ และเหล่านี้ก็คือสาเหตุหลัก ๆ ที่เราเลือกทั้งสิบคนมา คือตอนแรกก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสิบคนนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง จนวันที่น้อง ๆ เขาเข้ามาทําเวิร์กช็อปด้วยกัน สิ่งที่เราสัมผัสได้ตั้งแต่ 10 นาทีแรกเลยก็คือ เด็กพวกนี้มีเคมีที่มันจูนช่องเดียวกันติด แม้ว่าแต่ละคนในการทำหนังนี่อายุของน้องไม่เท่ากันแน่นอน แต่ช่องว่างระหว่างอายุมันไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการมารวมกลุ่มเป็นเพื่อนกันในหนังเรื่องนี้ครับ ทําให้ผมรู้สึกว่าเราน่าจะเลือกและเดินทางกันมาถูกต้องแล้วสําหรับผมเองกับเด็ก ๆ ที่มาทําหนังด้วยกันครับ

 

 

มีการเวิร์กช็อปการแสดงอย่างที่บอก เพื่อเป็นการเตรียมตัวก่อนการถ่ายทำจริง แต่ทำไมต้องมีการซ้อมการขึ้นสลิงด้วย

คืออย่างแรกมันคือการละลายพฤติกรรม คืออันนี้เป็นเบสิคของทุกที่ที่เขาทำกันอยู่แล้ว ก็คือยิ่งนักแสดงเราเยอะด้วยยิ่งต้องจัดมา อย่างน้อยก็มาทำความรู้จักกันนิดหนึ่ง อย่างน้อยก็ให้เข้าใจว่าคนนี้เขาเป็นคนแบบนี้ซึ่งมันจะส่งผลที่ค่อนข้างดีเวลาแสดงด้วยกัน แล้วการเวิร์กช็อปก็จะมีเซคชั่นของการให้นักแสดงแต่ละคนมาลองเข้าบทจริง ๆ แล้วก็เข้าบทต่อบทแบบตามซีนเลย เพื่อดูเคมี ดูมุมกล้อง ดูทุกอย่างที่มันมีผลต่อการปรากฏตัวขึ้นในหนังได้ แล้วก็มีไฮไลต์เล็กๆ น้อยๆ แต่ว่ายังไม่บอกว่าไปทำอะไร คือนักแสดงบางส่วนจะต้องมีการฝึกซ้อมกัน ทำงานกับสตันต์และก็สลิงด้วย เพราะว่ามันจะมีบางซีนที่เราต้อง เจ็บตัวนิดหนึ่งละกันครับ ก็จะมีแบบสาวๆ อย่างน้องอุ้ม น้องหลิวได้ใส่ชุดสลิงฝึกซ้อมกันอย่างสนุกสนาน

 

SiamSquare-Director10

SiamSquare-Director8

 

ในฐานะผู้กำกับที่ร่วมฟูมฟักภาพยนตร์ “สยามสแควร์” มาตั้งแต่ต้นจนถึงวันออกฉาย อยากฝากบอกอะไรกับนักแสดง, ทีมงาน หรือผู้ชมที่เฝ้ารอชมเรื่องนี้กันอยู่

นอกเหนือจากจะบอกว่า นักแสดงทุกคน ทีมงานทุกคนตั้งแต่โปรดิวเซอร์, ผู้กำกับ ไปจนถึงเด็กตีสเลต น้องถือไมค์บูม คุณป้าฝ่ายสวัสดิการ ทุกคนตั้งใจกับการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จริงๆ ให้ถูกปากคนดูทุกๆ คน แล้วผมเองเพิ่งสังเกตว่า หลังจากตัดต่อภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ตัวเองมีผมหงอกงอกออกมาพอสมควร ด้วยสาเหตุอาจจะเป็นการนอนน้อย นอนดึก และคิดถึงแต่เรื่องราวในภาพยนตร์ตลอดเวลา ดังนั้นผมขอเรียกมันว่า ผมหงอกแห่งความทุ่มเทก็แล้วกัน หวังมากๆ ว่าสีผมที่เปลี่ยนไประหว่างที่เราใช้ชีวิตไปกับภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยสร้างประสบการณ์ในการดูหนังที่สนุกและแปลกใหม่ให้กับผู้ชมทุกๆ คน

ภาพยนตร์แต่ละเรื่องมันก็มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ของมันอยู่ เช่นเดียวกับ “สยามสแควร์” ที่เป็นอีกรสชาติใหม่ๆ ที่อยากให้ทุกคนทุกคนมามีประสบการณ์ร่วมกับมัน มาร่วมกันรำลึกความทรงจำสมัยที่ยังเป็นเด็กสยามกันอยู่ มันมีทั้งรสหวาน เปรี้ยว เค็ม เผ็ด ขมผสมกันไปในภาพยนตร์เรื่องนี้ และแน่นอนว่าจะพาทุกคนไปสำรวจสยามสแควร์ในมุมที่ทุกคนไม่เคยรู้จักครับ

 

 

 

สยามสแควร์ (Siam Square)

สยามสแควร์ (Siam Square)

เด็กวัยรุ่น 10 คนจะพาคุณไปรู้จักกับ “สยามสแควร์” ในแบบที่คุณไม่เคยสัมผัสมาก่อน   เมื่อไม่กี่วันก่อน ระหว่างที่ “เมย์” กับ...

รายละเอียดภาพยนตร์