“สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล” ร่วมกับ “สำนักงานข้าหลวงใหญ่ ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย” (UNHCR Thailand) นำภาพยนตร์สารคดีเรื่องเยี่ยมที่ทั้งโลกกำลังจับตามองเรื่อง “Human Flow” ฉายเปิดงาน “เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 7” (The Refugee Film Festival) ซึ่งจะมีชึ้นในวันที่ 7-10 ธันวาคมนี้ ณ โรงภาพยนตร์ พารากอนซีนีเพล็กซ์
โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดชีวิตของผู้ลี้ภัยใน 23 ประเทศทั่วโลก อาทิ เมียนมาร์, ซีเรีย, เคนยา, บังคลาเทศ, ไนจีเรีย, อิรัก, ตุรกี, ซูดาน, เซเนกัล ฯลฯ สะท้อนมุมมองของคนไร้บ้าน การใช้ชีวิตของมนุษย์ที่ต้องการเพียงความมั่นคงและความปลอดภัย ผ่านสายตาและมุมมองที่เปี่ยมไปด้วยความตั้งใจอันแรงกล้าและวิสัยทัศน์ทางศิลปะที่เหนือชั้นของผู้กำกับภาพยนตร์, ศิลปิน และนักรณรงค์คนดังของโลก “อ้าย เว่ย เว่ย”
“คุณอรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์” ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงการนำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉายเปิดในเทศกาลนี้ว่า
“เรื่องของผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องคนไทยมักจะบอกว่าไกลตัว แต่ถ้าถามคนที่ทำงาน UNHCR จะใกล้ตัวมากเพราะเราได้สัมผัสเขา เราได้เห็นความเป็นคนที่มีอยู่ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนได้ใกล้ชิดคือภาพยนตร์ เราเชื่อในพลังของภาพยนตร์ เรื่องผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องที่ไม่สามารถบอกกันได้ผ่านสื่อง่ายๆ หรือการอ่านเพียงแค่ไม่กี่ประโยค แต่พอเวลาเป็นหนังเราเหมือนพาคนได้เข้าไปอยู่ในชีวิตและประสบการณ์ของผู้ลี้ภัยจริงๆ เลย ‘Human Flow’ เป็นหนังไฮไลต์ของเทศกาล ซึ่งตรงกับคอนเซปต์ของเทศกาลในปีนี้ เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่เราอยากจะบอกคือ ผู้ลี้ภัยไม่ใช่ตัวเลข ผู้ลี้ภัยมีเลือดเนื้อและจิตใจเหมือนกับเราทุกคน”
“คุณอวิกา เตชะรัตนประเสริฐ” รองประธานกรรมการ สายงานการตลาด บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้นำเข้าภาพยนตร์เรื่อง “Human Flow” กล่าวถึงการเลือกภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉายในประเทศไทยว่า
“ประเด็นผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นที่วิกฤตและเป็นสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างพวกเราเองปัญหานี้อาจจะเห็นข่าวบ่อยๆ แต่อาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว แต่ ‘Human Flow’ นอกจากพูดเรื่องของผู้ลี้ภัยแล้ว มันคือเรื่องของมนุษย์กับมนุษย์ เรื่องของมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน ซึ่งจริงๆ ทุกๆ คนควรจะทำความรู้จักและทำความเข้าใจ เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาของมันได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะทำให้เกิดแอคชั่นบางอย่างที่เราในฐานะมนุษย์ด้วยกันจะช่วยเหลือ หรือทำให้สถานการณ์หรือเหตุการณ์นี้คลี่คลายได้ดีขึ้น
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความน่าสนใจคือผู้กำกับ ‘คุณอ้าย เว่ย เว่ย’ ซึ่งเขาเป็นศิลปินชาวจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก และเป็นเหมือนกับผู้ทรงอิทธิพลกับคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่แล้วผ่านความคิดและมุมมองของศิลปินอย่างอ้าย เว่ย เว่ยเนี่ย มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เป็นการเอาประเด็นที่ค่อนข้างซีเรียสและอาจจะไกลตัวทำให้ดูใกล้ตัวขึ้น และสื่อสารในเชิงของศิลปะที่ทำให้ดูง่ายขึ้น”
“อ้าย เว่ย เว่ย” ผู้กำกับ-ศิลปินสถาปนิก-นักเคลื่อนไหวชาวจีนชื่อดังถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้โดยเดินทางสำรวจชีวิตแบบเจาะลึกค่ายผู้ลี้ภัยทั่วโลกกว่า 40 แห่งสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยถึง 600 คน ใช้ทีมงานการถ่ายทำกว่า 200 คน เพื่อเก็บภาพในแบบที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน รวมถึงในพื้นที่เสี่ยงตายที่แทบมามีใครเคยเข้าถึงมาก่อน
นอกจากนี้ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Human Flow” ยังถ่ายทำโดยผีมือผู้กำกับภาพภาพยนตร์สารคดี และภาพยนตร์ชั้นนำของโลกถึง 12 คน หนึ่งในนั้นคือ “คริสโตเฟอร์ ดอยล์” ผู้กำกับภาพมือหนึ่งของเอเชียที่เคยฝากผลงานชิ้นเยี่ยมใน “Hero”, “In the Mood For Love”, “2046” และอีกคับคั่ง ผสมผสานภาพเหตุการณ์ชีวิตจริงของผู้ลี้ภัย เข้ากับเทคนิคการถ่ายทำที่ผ่านการกลั่นกรอง ด้วยมุมมองทางศิลปะมาเป็นอย่างดี เพื่อตีแผ่ประเด็นผู้ลี้ภัยครั้งนี้ให้เชื่อมโยงถึงคนทั้งโลก พร้อมกับสื่อสารวัตถุประสงค์ของอ้าย เว่ย เว่ย ที่ต้องการให้มนุษย์ทุกคนบนโลกตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน และเรียนรู้ว่าเมื่อใดที่สิทธิความเป็นมนุษย์ของใครสักคนถูกทำลายลง ย่อมส่งผลต่อมนุษย์ทุกคนต่อไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งหากผู้ลี้ภัยทั้ง 65 ล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ไร้ชาติ นี่จะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของศตวรรษที่ 21 และในอนาคตต่อไปอย่างแน่นอน
“Human Flow” นับเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการกระแสชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างท่วมท้น ได้รับคะแนนรีวิวยอดเยี่ยม Rotten Tomatoes สูงถึง 93% และยังได้รับการคาดหมายว่าจะเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม โดยหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ร่วมฉายเปิด “เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัยครั้งที่ 7” แล้ว จะมีกำหนดฉายให้ทุกคนได้ชมพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 21 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป