ในทุกวันนี้หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า “วิกฤตผู้ลี้ภัย” แต่คงมีไม่กี่คนที่รู้และเข้าใจกับสถานการณ์ปัจจุบันของวิกฤตนี้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “อ้าย เว่ย เว่ย” ตัดสินใจทุ่มเทพลังสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์สารคดีที่มีชื่อว่า “Human Flow” ขึ้นมา สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวคราวในแวดวงศิลปะย่อมต้องคุ้นชื่อของอ้าย เว่ย เว่ยเป็นอย่างดี เขาคือศิลปินผู้สร้างผลงานเขย่าโลกผ่านศิลปะแขนงต่างๆ ด้วยการแสดงออกทางความคิดเพื่อให้ผู้ชมได้สำรวจสังคมและคุณค่าของมันมาแล้วมากมาย อาทิเช่น “Ai Weiwei: Trace at Hirshhorn” ที่พิพิธภัณฑ์เฮิร์ชฮอร์นในวอชิงตัน ดี.ซี., “Maybe, Maybe Not” ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิสราเอลในเยรูซาเลม, “Law of the Journey” ที่หอศิลป์แห่งชาติในปราก และ “Ai Weiwei. Libero” ที่ Palazzo Strozzi ในฟลอเรนซ์
ด้าน “Human Flow” ภาพยนตร์สารคดีเรื่องล่าสุดของเขาไม่ใช่เพียงแค่นำเสนอเหตุการณ์วิกฤตผู้ลี้ภัย แต่ยังมองลึกไปถึงความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งวิกฤตผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นนี้ กำลังกลับมาตั้งคำถามมนุษย์ทุกคนว่า พวกเราปล่อยให้มีคนโดนทอดทิ้งมากขนาดนี้ได้อย่างไร? และโลกจะรับมือกับพวกเขาแบบไหน?
“ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเกาะเลสบอส เพื่อดูการมาถึงของกลุ่มผู้ลี้ภัย มันเป็นอะไรที่บรรยายได้ยากมากเมื่อเห็นพวกเขาทั้งหมดขึ้นเรือมา ทั้งชาย หญิง ลูกเด็กเล็กแดง คนแก่ พวกเขาตื่นกลัวและไม่รู้เลยว่ากำลังต้องเจอกับอะไรที่แผ่นดินใหม่ และมันยิ่งทำให้ผมอยากรู้เรื่องราวของคนพวกนี้ขึ้นไปอีก ว่าเขาคือใคร ทำไมต้องยอมเสี่ยงชีวิตมายังที่ที่พวกเขาไม่รู้จักและใครมีใครรู้จักพวกเขา” – อ้ายกล่าวถึงประสบการณ์ความรู้สึกอันเป็นจุดจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ “Human Flow” ที่ถ่ายทอดชีวิตอันน่าเหลือเชื่อของผู้ลี้ภัยพลัดถิ่น
ก่อนหน้านี้ “Human Flow” ได้เคยเดินหน้าออกฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่มาแล้วหลายแห่ง อาทิ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส, เทศกาลภาพยนตร์เทลลูไรด์, เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต ซึ่งทันทีหลังจากเปิดตัวฉายล้วนได้กวาดคำชมจากสื่อรายใหญ่ พร้อมได้รับการคาดหมายเข้าชิงรางวัลใหญ่แห่งปีอย่าง “ออสการ์” ในสาขา “ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม” อีกทั้งยังคว้าคะแนนการันตีความเยี่ยมจากเว็บไซต์รวมคำวิจารณ์ยอดฮิตอย่าง Rotten Tomatoes ไปกว่า 93% และนี่คือส่วนหนึ่งของเสียงชื่นชมอย่างเป็นเอกฉันท์
“ผลงานสารคดีที่ครองใจไปเต็มๆ และงานภาพทั้งสวยงามและทรงพลัง” – The Hollywood Reporter
“นำเสนอได้ตามสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริงทั่วโลก สะท้อนภาพการอพยพถิ่นฐานและความลำบากยากเข็ญของมนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยม” – Time Out New York
“เล่าความจริงไม่สามารถมองข้ามได้อย่างซึ่งหน้า เข้าใจง่ายเหมาะสำหรับทุกคน” – Indie Wire
“ทรงพลัง ภาพทุกอย่างบอกเล่าด้วยตัวมันเอง โดยมีอ้ายเป็นพยาน” – Boston Globe
“Human Flow” บอกเล่าเรื่องราวของผู้ลี้ภัยผ่านการถ่ายทำใน 23 ประเทศ 40 ค่ายอพยพ ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง เช่น อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ อิรัก อิสราเอล หรือแม้แต่ประเทศใหญ่ๆ อย่าง ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหรัฐอเมริกา และรวมถึง ไทย ด้วยเช่นกัน พวกเขาทั้งหมดถูกบีบให้ต้องอพยพจากภูมิลำเนาด้วยภาวะสงคราม ความอดอยาก สู่การเดินทางอันยาวไกลเพื่อแสวงหาความปลอดภัย แหล่งที่อยู่อาศัย ไปจนถึงชีวิตใหม่
ด้านงานการกำกับภาพใน “Human Flow” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญไม่แพ้ประเด็นที่นำเสนอ ได้มีการใข้งานผู้กำกับภาพภาพยนตร์สารคดีและภาพยนตร์ชั้นนำของโลกถึง 12 คน หนึ่งในนั้นคือ “คริสโตเฟอร์ ดอยล์” ผู้กำกับภาพมือหนึ่งของเอเชีย เข้าของผลงาน “Hero”, “In the Mood for Love” และ “2046” โดยสิ่งที่ได้มาหลังการทุ่มเทถ่ายทำอันยาวนาน คือฟุตเทจความยาวรวมกันกว่า 1,000 ชั่วโมง จาก ทีมงานกว่า 200 ชีวิต แน่นอนว่าการตัดต่อออกมาให้เป็นเรื่องราวจากฟุตเทจทั้งหมดย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยฝีมือและปณิธานของอ้ายที่ต้องการสื่อสารกับคนดู ทำให้ “นีลส์ พาร์ก แอนเดอร์เซน” มือตัดต่อภาพยนตร์สารคดีระดับแถวหน้าของวงการตัดสินใจร่วมโปรเจกต์นี้ด้วย พร้อมทีมงานคุณภาพรวมกว่า 7 คน สำหรับขั้นตอนการตัดต่อ เพื่อให้ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้สมดังใจของอ้าย เว่ย เว่ย
ผู้กำกับอ้าย เว่ย เว่ยจะมอบประสบการณ์ที่จริงที่สุดให้กับเรา เขาไปอยู่บนเรือที่มีคนล้น เดินทางฝ่าสายฝนและลุยโคลนตมไปกับบรรดาแม่ๆ ที่กระเตงลูก หัวเราะและเล่นกับเด็กๆ ที่คิดการละเล่นขึ้นมาเองตามสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่ความสมดุลของหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่การเอาวิดีโอทุกส่วนมาปะติดปะต่อกันแต่ยังรวมถึงการหาความลงตัวของความสดใสและความมืดหม่นในการเล่าเรื่อง
“เรามีวัตถุดิบหลายชนิด ทั้งจากค่าย บทสัมภาษณ์ คำถามคือเราอยากเล่ามันออกมายังไง เรื่องแบบนี้เราสามารถเล่าให้จบภายใน 10 นาทียังได้ แต่สำหรับผู้ลี้ภัยที่ต้องเจอเรื่องแบบนี้เป็นเดือนๆ หรือปีๆ เราอยากมอบความยุติธรรมให้กับพวกเขา” – แอนเดอร์เซนกล่าวถึงจุดมุ่งหมายสำคัญในการเล่าเรื่อง
แต่ท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มคนดูคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เนื้อหาใน “Human Flow” นั้นเกิดผลอย่างสำเร็จ
“ผมไม่ต้องการให้คนมองว่าปัญหาของผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นปัญหาเฉพาะประเทศ แต่ต้องการให้หนังเชื่อมโยงถึงคนทั้งโลกได้ตระหนักว่า ‘ทุกคนบนโลกเป็นมนุษย์เหมือนกัน’ เมื่อใดที่สิทธิความเป็นมนุษย์ของใครสักคนถูกทำลายลง ย่อมส่งผลต่อมนุษย์ทุกคนต่อไปในทางใดทางหนึ่ง หากผู้ลี้ภัยทั้ง 65 ล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ไร้ชาติ นี่จะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของศตวรรษที่ 21 อย่างแน่นอน” อ้าย เว่ย เว่ยกล่าวสรุป
โลกเรามี 195 ประเทศ 7 ทวีป แต่ไม่มีที่ไหนที่พวกเขาเรียกว่า “บ้าน”
ร่วมพิสูจน์ผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่องเยี่ยม “Human Flow” 21 ธันวาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์