“Human Flow” ภาพยนตร์สารคดีชั้นเยี่ยมที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของผู้ลี้ภัยพลัดถิ่นใน 23 ประเทศทั่วโลก สะท้อนมุมมองของคนไร้บ้าน การใช้ชีวิตของมนุษย์ที่ต้องการเพียงความมั่นคงและความปลอดภัย ผ่านมุมมองที่เปี่ยมไปด้วยความตั้งใจอันแรงกล้าและวิสัยทัศน์ทางศิลปะที่เหนือชั้นของผู้กำกับภาพยนตร์ ศิลปินและนักรณรงค์คนดังของโลกอย่าง “อ้าย เว่ย เว่ย”
ซึ่งกว่าผลลัพธ์จะได้ออกมาเป็นผลงานระดับท็อปฟอร์มเรื่องนี้ อ้าย เว่ย เว่ยได้เดินทางสำรวจชีวิตแบบเจาะลึกค่ายผู้ลี้ภัยทั่วโลกกว่า 40 แห่ง 23 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเมียนมาร์, ซีเรีย, เคนยา, บังกลาเทศ, ไนจีเรีย, อิรัก, ตุรกี, ซูดาน, เซเนกัล ฯลฯ และสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย 600 คน โดยใช้ทีมงานถ่ายทำกว่า 200 คน ผู้กำกับภาพภาพยนตร์ชั้นนำของโลกถึง 12 คนเพื่อเก็บภาพในแบบที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน รวมถึงในพื้นที่เสี่ยงตายที่เข้าถึงยากเพื่อให้ “Human Flow” สามารถตีแผ่ประเด็นผู้ลี้ภัยให้มนุษย์ทุกคนบนโลกตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเรียนรู้ว่าเมื่อใดที่สิทธิความเป็นมนุษย์ของใครสักคนถูกทำลายลง ย่อมส่งผลต่อมนุษย์ทุกคนต่อไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งหากผู้ลี้ภัยทั้ง 65 ล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ไร้ชาติ นี่จะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของศตวรรษที่ 21 และในอนาคตต่อไปอย่างแน่นอน
และนี่คือ 9 สิ่งเจาะลึกผู้ลี้ภัยและเปิดอีกมุมของโลกให้ทุกคนได้รับรู้ใน “Human Flow”
1) “Human Flow” ใช้เวลา 2 ปี 12 ผู้กำกับภาพชั้นนำ ถ่ายทำ 23 ประเทศทั่วโลก 40 แคมป์อพยพ ทีมงาน 200 ชีวิต 600 บทสัมภาษณ์ ฟุตเทจกว่า 1000 ชั่วโมง
2) หนึ่งใน 12 ผู้กำกับภาพของ “Human Flow” คือ “คริสโตเฟอร์ ดอยล์” ผู้กำกับภาพคู่บุญของหว่องกาไว
3) “อ้าย เว่ย เว่ย” ถ่ายทอดชีวิตผู้ลี้ภัยที่ไม่มีใครเคยมีใครเจาะลึกเท่านี้มาก่อน
4) ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัย 65 ล้านคนทั่วโลก มากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
5) สงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน, ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์, การลุกฮือในแอฟริกา, การเนรเทศในเมียนมาร์, ปัญหายาเสพติดในอเมริกากลาง ทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุของจำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
6) “ผู้ลี้ภัย” คือคนจริงๆ ที่มีฝัน มีความต้องการใช้ชีวิตเหมือนกับเรา แต่กลับต้องมาติดอยู่ใน เขาวงกตแห่งความไม่แน่นอน ที่ไม่ว่าใครก็สามารถหลงทางได้ง่ายๆ
7) สภาพในค่ายผู้อพยพ เราจะได้เห็นสถานีชาร์จโทรศัพท์ที่มีมือถือนับพันเสียบชาร์จอยู่, สุสานเสื้อชูชีพ ซากแพฉุกเฉิน, กองยาง และคุณอาจต้องต่อแถวนาน 2 ชั่วโมงเพื่อแซนด์วิชชิ้นเดียว
8) พวกเขาไม่ชอบอากาศหนาว ไม่ชอบยืนตากฝน ไม่ชอบปล่อยให้ท้องหิว และต้องการความปลอดภัยเหมือนกับเรา วิกฤตของเขาจึงเป็นวิกฤตของเราด้วยเช่นกัน
9) พวกเราปล่อยให้มีคนโดนทอดทิ้งมากขนาดนี้ได้อย่างไร? และโลกจะรับมือกับพวกเขาแบบไหน?
โลกเรามี 195 ประเทศ 7 ทวีป แต่ไม่มีที่ไหนที่พวกเขาเรียกว่าบ้าน
ร่วมพิสูจน์ผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่องเยี่ยม “Human Flow” 21 ธันวาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์