คุณได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่มีสไตล์การเล่าเรื่องจัดจ้านมากที่สุดคนหนึ่งในโลก กับ “Happy Together” ก็เช่นกัน มันเต็มไปด้วยความหวือหวาด้านภาพ ทำไมคุณถึงเลือกเล่าด้วยวิธีนี้ เช่น ทำไมต้องถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำ
สำหรับ “Happy Together” (1997) นั้น ผมอยากได้อารมณ์ของฤดูร้อนที่เยือกเย็น เนื่องจากเรื่องเริ่มต้นที่ฤดูร้อน และผมคิดว่าภาพขาวดำของหน้าร้อนทำให้มันดูเย็นชา ที่สำคัญก็คือหน้าร้อนของอาร์เจนตินามันตรงกับหน้าหนาวในฮ่องกง ผมไม่ได้ตั้งใจทำหนังที่สไตล์จัดจ้านหรอก แต่มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ณ เวลานั้นมากกว่า ทั้งอารมณ์และบรรยากาศหรือเงื่อนไขต่างๆ เช่น วันที่เราไปถ่าย “ฉากสุดขอบโลก” เราพบว่าเรามีฟิล์มเนกาทีฟเหลือไม่พอ เราเลยต้องถ่ายยังไงก็ได้ให้ประหยัดฟิล์มให้มากที่สุด ผลลัพธ์ก็เลยออกมาอย่างที่เห็น
คุณมีเหตุผลในการเลือก “เหลียงเฉาเหว่ย” มารับบทนี้ไหม เพราะเข้าใจว่าตอนแรกเขาเองก็ลังเลที่จะมาเล่นบทนี้
ผมเลือก “โทนี” (เหลียงเฉาเหว่ย) เพราะเขาเป็นนักแสดงที่มือนิ่งมากๆ เขาเล่นได้ทุกอย่าง ผมจึงอยากให้เขาลองทำอะไรที่ทำให้เขาทรงตัวไม่อยู่บ้าง เป็นอิสระจากความเคร่งขรึม ผลักเขาให้ทำอะไรที่ไกลกว่าเดิม ผมอยากรู้ว่านักแสดงอย่างเขาจะรับมือกับสถานการณ์แบบนี้อย่างไร ทีแรกเขาคิดว่าผมล้อเล่น ตอนผมเล่าให้เขาฟังว่าผมจะทำหนังเรื่องนี้และอยากให้เขามาเล่น เพราะเขานึกไม่ถึงหรอกว่าชาตินี้จะต้องมาจูบปากกับ “เลสลี จาง” บนจอใหญ่ เขาคิดว่าผมล้อเล่นทุกอย่าง วันแรกที่เขามาเข้าฉาก ผมก็บอกเขาว่าเอาล่ะ สิ่งแรกที่เราจะถ่ายคือฉากเลิฟซีนนะ เราจะเริ่มกันแบบนี้เลย จะได้รู้ว่าต่อไปเราจะทำงานกันแบบไหน เขาอ้ำอึ้งอยู่ 3 วันเต็มๆ เลยนะ เขาเอาแต่บ่นพึมพำว่า “ผมจะแก้ตัวกับแม่ว่ายังไงดีถ้าแม่ผมเห็น”
ทำไมถึงต้องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย
ผมไม่ได้มองตรงจุดนี้เท่าไหร่ ผมมองเห็นความสัมพันธ์ของคนสองคนที่คนหนึ่งเลือกที่จะโผบินออกไป ในขณะที่อีกคนยังหยุดนิ่งอยู่ที่เดิม ผมพยายามทำให้หนังออกมาใกล้เคียงกับความสัมพันธ์แบบเกย์มากที่สุด ผมถามทั้งตากล้องและคนตัดต่อของผมว่ามันเกย์พอหรือยังนะ หรือมันดูฝืนไปหรือเปล่า แต่มันงี่เง่ามาก ใครล่ะจะตอบได้ จนกระทั่งผมทำหนังเสร็จ ผมก็คิดว่ามันจะเป็นหนังเกย์หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลย เพราะความสัมพันธ์ลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ฉะนั้นแทบไม่ต้องถามกันแล้วในประเด็นเกย์ สำหรับผมมันคือหนังรักว่าด้วยความสัมพันธ์ของมนุษย์
จริงหรือไม่ที่ว่าสไตล์การทำหนังของคุณคือการวางแผนน้อยมาก
เราวางแผนนะ แต่ผมวางแผนเกี่ยวกับเส้นเรื่องไว้คร่าวๆ พูดได้ว่าผมมักจะทำหนังตามสัญชาตญาณ บางวันผมก็อยากถ่ายลองเทก บางวันผมก็คิดว่าผมน่าจะถ่ายโคลสอัพนักแสดงแบบหนัง “อิงมาร์ เบิร์กแมน” มันขึ้นอยู่กับว่าฉากนั้นๆ ที่เราจะถ่าย มันทำให้ผมเกิดอารมณ์แบบไหน เช่น ผมถ่ายฉากต้นปาล์มใน “Days of Being Wild” (1990) ผมไม่ได้วางแผนไว้หรอก หรือการถ่ายน้ำตกใน “Happy Together” เพราะผมอยากเก็บภาพธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ไว้ในเรื่อง ธรรมชาติทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตัวเองเล็กกระจ้อยร่อย “ฟาสบินเดอร์” ผู้กำกับชาวเยอรมันเคยบอกว่าเขาจะถ่ายทอดถึงความเปลี่ยนแปลงโดยการบันทึกภาพสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย กรณีของผม น้ำตกนั้นไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย คนต่างหากที่เปลี่ยน
“Happy Together” ทำให้คุณได้ “รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม” จากเมืองคานส์ มันทำให้อาชีพคุณเปลี่ยนไปบ้างไหม
ไม่เลย เอาเข้าจริงมันไม่ส่งผลอะไรกับผมเลย นอกจากเป็นผลดีของบริษัทจัดจำหน่ายหนังที่เอาไปลงโฆษณาได้ แค่นั้นเอง
“คริสโตเฟอร์ ดอยล์” บอกว่า “Happy Together” เป็นหนังที่มี “เส้นเรื่อง” ชัดเจนที่สุดของคุณ
ใช่ เมื่อเทียบกับหนังก่อนหน้าทั้ง 2 เรื่องอย่าง “Chungking Express” (1994) และ “Fallen Angels” (1995) นะ เพราะทั้ง 2 เรื่องนั้นผมเล่าเป็นชิ้นส่วนที่ไม่ค่อยเกี่ยวเนื่องกันเท่าไหร่ เหมือนภาพคอลลาจไม่ปะติดปะต่อกัน แต่ “Happy Together” นั้น ทุกฉากจะส่งผลต่อเนื่องกันไปจนจบ
ทำไมคุณถึงเลือก “บัวโนสไอเรส” เป็นฉากหลัง
เพราะว่าผมไม่อยากทำหนังที่พูดถึงปี 1997 (ปีที่อังกฤษส่งคืนฮ่องกงให้กับจีนแผ่นดินใหญ่) แล้วจะต้องถ่ายในฮ่องกง เราไปถ่ายกันที่ “อาร์เจนตินา” ก็จริง แต่ว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับอาร์เจนตินาเลย ตอนเราถ่ายทำเราใช้ชื่อเล่นๆ ว่า “Buenos Aires Affair” แต่เราไม่อยากทำให้ประเด็นมันสับสน เราเลยใช้ “Happy Together” แทน เพื่อให้อารมณ์ประชดประชันเสียดสี
สำหรับผม “Happy Together” มันไม่ใช่หนังที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของคนแค่สองคน มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนๆ หนึ่งและอดีตของเขา ถ้าเราสามารถอยู่กับอดีตได้อย่างไม่เจ็บปวด นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดีว่าต่อจากนี้ไปคุณสามารถรักใครก็ได้โดยไม่ต้องให้อดีตหรือความคาดหวังใดๆ มาทำให้คุณเจ็บอีก
“Happy Together โลกนี้รักใครไม่ได้นอกจากเขา”
12 พฤศจิกายนนี้ ในโรงภาพยนตร์