“อ้าย เว่ย เว่ย” ศิลปินระดับโลกที่สร้างผลงานสั่นสะเทือนไปทั้งโลก ตั้งแต่การออกแบบสถาปัตยกรรม ไปจนถึงงานติดตั้งโซเชียล มีเดียและสารคดี อ้ายใช้สื่อหลายรูปแบบแสดงออกทางความคิดเพื่อให้ผู้ชมได้สำรวจสังคมและคุณค่าของมัน งานแสดงล่าสุดของเขาได้แก่ “Ai Weiwei: Trace at Hirshhorn” ที่พิพิธภัณฑ์เฮิร์ชฮอร์นในวอชิงตัน ดี.ซี., “Maybe, Maybe Not” ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิสราเอลในเยรูซาเลม, “Law of the Journey” ที่หอศิลป์แห่งชาติในปราก, “Ai Weiwei. Libero” ที่ Palazzo Strozzi ในฟลอเรนซ์, “#SafePassage” ที่พิพิธภัณฑ์ FOAM ในอัมสเตอร์ดัม, “translocation – transformation” ที่ 21er Haus ในเวียนนา และ “Ai Weiwei” ที่สถาบันศิลปะแห่งชาติในลอนดอน
อ้ายเกิดที่ปักกิ่งในปี 1947 เขาเริ่มต้นชีวิตในฐานะผู้อพยพเช่นกัน เขาเป็นลูกของนักเขียนชาวจีนสองคนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติวัฒนธรรม พ่อของอ้ายเคยเป็นกวีเอกของประเทศแต่ถูกจับเป็นนักโทษการเมือง แม้ท้ายที่สุดเขาถูกปล่อยตัวแต่ทั้งครอบครัวถูกเนรเทศไปอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ ในซินเจียง กลางทะเลทรายโกบี ที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอย่างทรหด แทบไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา อ้ายเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านหนังสือสารานุกรม
ในปี 1976 ตอนที่อ้ายอายุ 19 ปี ครอบครัวของเขาได้รับอนุญาตให้กลับแผ่นดินบ้านเกิด ไม่นานหลังจากนั้น อ้ายเข้าเรียนที่สถาบันภาพยนตร์ปักกิ่ง ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่อัดแน่นอยู่เต็มหัว เขากลายมาเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกของ Stars Group กลุ่มนักเคลื่อนไหวใต้ดินที่เปลี่ยนโฉมหน้าวงการศิลปะของจีน จากชิ้นงานน่าเบื่อ ถูกตีกรอบความคิด เป็นงานสร้างสรรค์อิสระ ไร้ซึ่งความกลัวที่จะปลดปล่อยความคิดออกมาอย่างมีสีสันและไร้การดัดแปลง แม้แต่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนแปลงวงการศิลปะ อ้ายยังถือเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวที่แกร่งที่สุดคนหนึ่ง เขามีปัญหากับทางการอยู่สม่ำเสมอ
ในทศวรรษที่ 80 อ้ายย้ายไปนิวยอร์กเพื่อเรียนต่อที่สถาบัน Parsons School of Design ก่อนที่จะลาออกมาใช้ชีวิตเยี่ยงชาวนิวยอร์กจริงๆ โดยการเป็นศิลปินข้างถนน ช่างภาพ นักพนัน ตอนที่พ่อเขาป่วย อ้ายบินกลับจีน ซึ่งเขากลับมาเป็นหัวเรือใหญ่ของวงการศิลปะปักกิ่งอีกครั้ง เขาทดลองงานผ่านสื่อทุกรูปแบบ ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ สถาปัตยกรรม ไปจนถึงภาพยนตร์ ภาพถ่าย ภาพวาด งานเขียน การแสดง และงานจัดวาง เช่นเดียวกับเป็นผู้ริเริ่มศิลปะผ่านทางอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ว่าจะรูปแบบไหนเขายังคงผลักดันงานของเขาให้ถึงขีดสุด วิพากษ์วิจารณ์โลกโพสต์โมเดิร์นที่เต็มไปด้วย การสร้างภาพ, เซเลบ, การเซนเซอร์, การสอดส่อง, หัวขบถ, และการไขว่คว้าอิสระ
แม้ว่าชื่อเสียงของอ้ายจะกระหึ่มระดับโลก แต่เขายังถูกรัฐบาลจีนเฝ้าจับตาและถือว่าเป็นตัวปัญหา เขาเคยถูกตำรวจเข้าทำร้ายและจับกุมในบ้านของเขาและถูกเฝ้าระวัง และในปี 2011 อ้ายถูกจับเข้าคุกโดยไม่มีข้อหานานถึง 81 วัน เช่นเดียวกับถูกทางการจีนปรับเป็นเงินกว่า 1.85 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากเกิดเรื่อง อ้ายย้ายมาพักที่เบอร์ลิน เมืองเดียวกับที่เป็นศูนย์กลางวิกฤตผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2015 และยังคงทำงานทั้งในปักกิ่งและเบอร์ลิน อ้ายเป็นอาจารย์อาคันตุกะที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งเบอร์ลิน อ้ายเคยทำสารคดีก่อนหน้านี้หลายเรื่องว่าด้วยประเด็นทางสังคมและการเมืองที่คว้ารางวัลจากเทศกาลหนังใหญ่ๆ ทั่วโลกมากแล้ว เช่น “Disturbing the Peace”, “One Recluse”, “So Sorry”, “Ordos 100” และ “Ai Weiwei’s Appeal ¥15,220,910.50”
จนมาถึงผลงานล่าสุด “Human Flow” ภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดชีวิตอันน่าเหลือเชื่อของผู้ลี้ภัยพลัดถิ่นใน 23 ประเทศทั่วโลก อาทิ เมียนมาร์, ซีเรีย, เคนยา, บังกลาเทศ, ไนจีเรีย, อิรัก, ตุรกี, ซูดาน, เซเนกัล ฯลฯ สารคดีเรื่องนี้สะท้อนมุมมองของคนไร้บ้าน การใช้ชีวิตของมนุษย์ที่ต้องการเพียงความมั่นคงและความปลอดภัย ผ่านสายตาและมุมมองที่เปี่ยมไปด้วยความตั้งใจอันแรงกล้าและวิสัยทัศน์ทางศิลปะที่เหนือชั้นของเขา
โดยภาพยนตร์เรื่อง “Human Flow” จะเข้าฉายในประเทศไทยวันที่ 21 ธันวาคมนี้
เรื่องราวของ “Human Flow”
“Human Flow” คือสารคดีติดตามกลุ่มคนโชคร้ายที่ต้องการเพียงความมั่นคงและความปลอดภัย ตั้งแต่ค่ายผู้อพยพบนชายฝั่งติดกับมหาสมุทรไปจนถึงเส้นแบ่งเขตแดนที่รายล้อมไปด้วยลวดหนาม จากความสิ้นไร้หนทางและความผิดหวังไปสู่ความกล้าหาญ ความอดทน และการปรับตัว จากชีวิตที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังสู่อนาคตที่คาดเดาอะไรไม่ได้ “Human Flow” คือหนังที่มาถูกเวลาเพราะมันคือช่วงเวลาที่ต้องอาศัยความอดทด ความเห็นอกเห็นใจ และความไว้ใจมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์
เหตุผลที่ทำ “Human Flow”
มันมีหลายวิธีที่ผมสามารถเล่า “Human Flow”ออกมา วิธีแรก ผมสามารถเล่าประสบการณ์ส่วนตัว ไม่นานหลังจากที่ผมเกิด พ่อผมถูกเนรเทศในฐานะปฏิปักษ์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ ครอบครัวเราเลยส่งไปอยู่ในที่ทุรกันดาร เราต้องทิ้งทุกอย่างแถมพ่อผมถูกมองว่าเป็นศัตรูของประเทศ ทั้งชีวิตผมโตมาโดยเห็นเพื่อนมนุษย์ต้องตกระกำลำบากจากการกระทำที่เลวร้ายของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
อย่างที่สอง เพราะผมย้ายมาอาศัยในยุโรป ผมยิ่งอยากทำความเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยกันแน่ ผมเริ่มเดินทางไปเกาะเลสบอส เพื่อดูการมาถึงของพวกเขา มันเป็นอะไรที่บรรยายได้ยากมากเมื่อเห็นพวกเขาทั้งหมดขึ้นเรือมา ทั้งชาย หญิง ลูกเด็กเล็กแดง คนแก่ ผมเห็นความไม่แน่ใจในแววตาพวกเขา พวกเขาตื่นกลัวและไม่รู้เลยว่ากำลังต้องเจอกับอะไรที่แผ่นดินใหม่ มันยิ่งทำให้ผมอยากรู้เรื่องราวของคนพวกนี้ขึ้นไปอีก ว่าเขาคือใคร ทำไมต้องยอมเสี่ยงชีวิตมายังที่ที่พวกเขาไม่รู้จักและใครมีใครรู้จักพวกเขา ผมมีคำถามมากมาย
ความสงสัยนี้เองทำให้ผมตั้งทีมหาข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ผู้ลี้ภัย และสถานะพวกเขาในปัจจุบัน นอกเหนือจากสงครามซีเรีย ผู้ลี้ภัยยังเพิ่มจำนวนจากสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ความขัดแย้งในทวีปแอฟริกา กลุ่มคนที่ถูกเนรเทศในเมียนมาร์ และความรุนแรงในอเมริกากลาง ผมอยากไปทุกที่ที่มีผู้ลี้ภัยบนโลก เพราะผมอยากเข้าใจพวกเขาและบันทึกภาพพวกเขาไว้ไปพร้อมกันๆ มันเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ภูมิศาสตร์การเมือง เช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
สภาพการถ่ายทำ
ตอนเริ่มผมไม่เคยคิดเลยว่าเราจะมีทีมงานถึง 200 คน ทำงานในหลายๆ โลเคชั่นไปพร้อมกัน เพื่อเก็บภาพในแบบที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน รวมถึงในพื้นที่เสี่ยงตายที่แทบมามีใครเคยเข้าถึงมาก่อน ส่วนใหญ่ผมไปร่วมกับพวกเขา แต่มีบางครั้งผมไม่ได้รับอนุญาตให้ไปที่กองถ่าย การถ่ายทำมันยากแถมอันตราย มันสะเทือนอารมณ์จนบางครั้งคุณแทบไม่อยากเชื่อว่าสิ่งตรงหน้าคือเรื่องจริง ผมมีผู้กำกับภาพภาพยนตร์สารคดีถึง 12 คน เราเดินทางสำรวจชีวิตแบบเจาะลึกค่ายผู้ลี้ภัยทั่วโลกกว่า 40 แห่ง โดยผมได้สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย 600 คน นี่คือปัญหาระดับโลกที่มาทดสอบบรรดาชาติที่พัฒนาแล้วในการยืนหยัดอยู่ข้างสิทธิมนุษยชน ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงสร้างขึ้นจากความเชื่อในเรื่องคุณค่าของสิทธิมนุษยชน สถานการณ์ความไม่แน่นอนในปัจจุบันทำให้เราจำเป็นต้องอดทน เห็นอกเห็นใจกันให้มากขึ้น มิเช่นนั้นแล้ว มนุษยชาติจะเผชิญกับวิกฤตที่ใหญ่หลวงกว่าเดิม ผมอยากจะทำความเข้าใจว่าแก่นความคิดอันเป็นรากฐานของหลักประชาธิปไตยและเสรีภาพชุดนี้ มันจะถูกปกป้องหรือละเมิดอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้กันแน่
พูดถึงการมองโลกในแง่ดีและความประทับใจ
ทุกๆ วันมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดคือแรงใจของบรรดาผู้ลี้ภัย แทบจะไม่มีเสียงบ่นใดๆ แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีใครเหลียวแล ไม่มีอนาคตที่ชัดเจน ไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ในแคมป์คุณอาจจะต้องต่อแถวนาน 2 ชั่วโมงเพื่อแซนวิชชิ้นเดียว บางที่ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า ทำให้ตอนกลางคืนหนาวมากๆ มีทั้งฝน โคลน ไม่มีระบบระบายน้ำทิ้ง ชิวิตพวกเขาลำบากมากแต่ผู้คนไม่เคยย่อท้อ พวกเขายังเชื่อเสมอว่าโลกตะวันตกจะมอบความสงบสุขให้ และมอบการศึกษาให้ลูกหลานของพวกเขาในอนาคต
การนำเสนอในรูปแบบสารคดี
คนมักกล่าวว่าสารคดีคือการนำเสนอความจริง สารคดีมันคือสิ่งที่คุณเห็นและสัมผัสในชีวิตจริง แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นความจริง เพราะมันช่วงเวลาที่เลือกมาแล้ว ถ้าคุณได้ดู “Human Flow” คุณจะใช้เวลาดูแค่ 2 ชั่วโมงเศษๆ คุณจะไม่รู้สึกแบบผู้ลี้ภัยนั่นเพราะคุณไม่ได้ทนทุกข์นานเหมือนพวกเขา ดังนั้นภาพยนตร์ไม่สามารถนำเสนอความจริงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะความจริงนั่นไม่มีใครสามารถทนมันได้ แต่ภาพยนตร์สารคดีเป็นการแสดงความคิดรูปแบบหนึ่ง มันเป็นวิธีที่สื่อสารได้ง่ายและไปถึงผู้รับสารวงกว้าง
ศิลปะที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน
คำจำกัดความของศิลปะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในศตวรรษที่ผ่านมา มันมีความเคลื่อนไหวเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างไร้ที่สิ้นสุด โดยเฉพาะเมื่อเราใช้ชีวิตในยุคโลกาภิวัฒน์แบบนี้ โลกซึ่งโครงสร้างแบบเก่าถูกแทนที่ด้วยอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียซึ่งมันกำลังปลดปล่อยศิลปะออกจากรูปแบบเดิมๆ เราโชคดีที่ทันยุคนี้แต่ตัวศิลปินเองก็ต้องหมั่นสร้างอะไรใหม่ๆ ด้วยเช่นกันเพราะสังคมเองก็กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รูปแบบเดิมๆ มันล้าสมัยไปแล้ว
ระหว่างศิลปะและและความลำบากยากแค้นบนโลกใบนี้
บ่อยครั้งที่งานศิลปะเลี่ยงจะปะทะกับเหตุบ้านการเมือง แต่สงสัยผมไม่ได้เป็นศิลปินแบบนั้น ผมให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ในปัจจุบันและผมรู้สึกว่าสภาวะของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินสุนทรียภาพของมัน ศิลปะต้องเกี่ยวกับแนวคิด ปรัชญา และก่อให้เกิดการโต้เถียงที่จะก่อให้เกิดปัญญา ถ้าคุณเรียกตัวเองว่าศิลปิน นี่แหละคือความรับผิดชอบของคุณ งานของคุณในฐานะศิลปินคือการแสดงความคิด ซึ่งมันสำคัญพอกับการแสดงความสนใจเกี่ยวกับมนุษยธรรมและคุณค่าของคุณ ถ้าผมต้องให้คำจำกัดความศิลปะ ศิลปะคือสิ่งที่ไม่มีรูปแบบ รูปทรง ไร้กฏเกณฑ์ ศิลปะคือหนทางการต่อสู้เพื่ออิสระในใจ มันยังต่อสู้เพื่อตัวเองด้วย ศิลปะไม่ใช่แค่สิ่งที่คุณแขวนพนังประดับบ้าน ศิลปะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำความรู้จักตัวเองว่า “คุณอยู่ในโลกแบบไหน มีความฝันอย่างไร?”
พูดถึงความรับผิดชอบในระดับนานาชาติ
วันนี้ผมรู้สึกต้องทำให้โลกได้รู้ว่าเหล่าผู้ลี้ภัยไม่ได้มีอะไรต่างจากเรา พวกเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายและการใส่ร้ายว่าพวกเขาเป็นในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เป็นนั่นและคือการก่อการร้ายที่แท้จริง พวกเขาเป็นมนุษย์และมีความเจ็บปวด มีความสุข ทุกความรู้สึกที่พวกเขามีไม่ต่างจากเราเลย ในระดับนานาชาติเรามีระบบต่างๆ รองรับ แต่ควรจะมีเป้าหมายเดียวกันคือการปกป้องความมีมนุษยธรรม ผมคิดว่าตอนที่นักการเมืองละเลยสิทธิมนุษยชน พวกเขายิ่งทำให้เหตุการณ์วิกฤตมากขึ้น มันถึงเวลาแล้วที่นานาชาติจะร่วมมือแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย
เกร็ดที่น่าสนใจภาพยนตร์เรื่อง “Human Flow”
- จุดเริ่มต้นโปรเจกต์เริ่มต้นจาก 2 เหตุการณ์ เหตุการณ์แรก เมื่อ “อ้าย เว่ยเว่ย” ได้รับเชิญเป็นกรรมการตัดสินภาพวาดของชาวยาซีดิ ผู้ลี้ภัยในประเทศอิรัก และอีกเหตุการณ์สำคัญคือ ระหว่างที่เขากับลูกชายไปเดินเล่นแถวริมทะเลที่เกาะ Lesbos (เลสบอส) ในประเทศกรีซ และเห็นเรือของผู้ลี้ภัยกำลังเข้ามาเทียบท่า ซึ่งเป็นภาพที่ทำให้เขาช็อคและทึ่งมากจนเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Human Flow” ในทันที
- สารจากผู้กำกับ “อ้าย เว่ยเว่ย” เขาไม่ต้องการให้คนมองว่าปัญหาของผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นปัญหาเฉพาะประเทศ แต่ต้องการให้หนังเชื่อมโยงถึงคนทั้งโลกได้ตระหนักว่า “ทุกคนบนโลกเป็นมนุษย์เหมือนกัน” เมื่อใดที่สิทธิความเป็นมนุษย์ของใครสักคนถูกทำลายลง ย่อมส่งผลต่อมนุษย์ทุกคนต่อไปในทางใดทางหนึ่ง หากผู้ลี้ภัยทั้ง 65 ล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ไร้ชาติ นี่จะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของศตวรรษที่ 21 อย่างแน่นอน
- “Human Flow” ถ่ายทำใน 23 ประเทศ / 40 ค่ายอพยพ / 200 ทีมงาน / 600 บทสัมภาษณ์/ 1000 กว่าชั่วโมงของฟุตเทจ สำรวจชีวิตน่าเหลือเชื่อของผู้ลี้ภัยพลัดถิ่นทั่วโลก อาทิ เมียนมาร์, ซีเรีย, เคนยา, บังกลาเทศ, ไนจีเรีย, อิรัก, ตุรกี, ซูดาน, เซเนกัล ฯลฯ สะท้อนมุมมองของคนไร้บ้าน ไร้ประเทศ ในแบบที่ไม่เคยใกล้ชิดเท่านี้มาก่อน
- นักวิจารณ์ตอบรับ รีวิวยอดเยี่ยม Rotten Tomatoes 93% ได้รับการคาดหมายเข้า “ชิงออสการ์” สาขา “ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม”
- ได้รับเลือกเข้าฉายในสายการประกวด “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 74” โดยได้รับรางวัล “Human Rights Films Network Award” และรางวัล “Leoncino d’Oro Agiscuola Award – Cinema for UNICEF”
- ถ่ายทำโดยผีมือผู้กำกับภาพภาพยนตร์สารคดีและภาพยนตร์ชั้นนำของโลกถึง 12 คน หนึ่งในนั้นคือ “คริสโตเฟอร์ ดอยล์” ผู้กำกับภาพมือหนึ่งของเอเชีย เจ้าของผลงาน “Hero”, “In the Mood for Love” และ “2046”
โลกเรามี 195 ประเทศ 7 ทวีป แต่ไม่มีที่ไหนที่พวกเขาเรียกว่าบ้าน
“Human Flow” 21 ธันวาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์