“เดวิด ลาวรี” ถือเป็นผู้กำกับที่น่าจับตามองคนหนึ่งของฮอลลีวูดในยุคปัจจุบัน ทุกผลงานของเขาถือว่าเป็นผลงานคุณภาพและมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะผลงานแจ้งเกิด “Ain’t Them Bodies Saints” (2013) ต่อด้วยผลงานที่เขาร่วมงานกับดิสนีย์อย่าง “Pete’s Dragon” (2016) และงานที่เป็นพูดถึงไปทั่ววงการอย่าง “A Ghost Story” (2017)
ล่าสุด เขากลับมาอีกครั้งกับภาพยนตร์แฟนตาซีมหากาพย์สุดดิบ “The Green Knight เดอะ กรีนไนท์ ศึกโค่นอัศวินอมตะ” ที่ถ่ายทอดตำนานอัศวินโต๊ะกลมในเวอร์ชันที่ถูกตีความใหม่ พร้อมทีมนักแสดงอย่าง “เดฟ พาเทล” (The Slumdog Millionaire, Lion) สมทบด้วยนักแสดงรางวัลออสการ์ “อลิเซีย วิแคนเดอร์” (The Danish Girl, Tomb Raider), “โจเอล เอ็ดเกอร์ตัน” (The King, The Great Gatsby), “สาริตา โชตรี” (Modern Love), “ฌอน แฮร์ริส” (Mission: Impossible-Fallout), “ราล์ฟ อิเนอสัน” (The Witch) และ “แบร์รี โคแกน” (Dunkirk)
“The Green Knight” เล่าเรื่องราวของหลานชายของคิงอาเธอร์ “เซอร์กาเวน” (เดฟ พาเทล) ผู้บ้าบิ่นและเอาแต่ใจ เขาได้ออกไปทำภารกิจเผชิญหน้ากับ “อัศวินมรกต” ซึ่งเป็นบททดสอบสำคัญของเหล่าอัศวิน กาเวนเดินทางฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ โดยที่เขาต้องรับมือกับวิญญาณอาฆาต, ยักษ์ และโจร เพื่อค้นหาตัวตนและพิสูจน์คุณค่าของเขาต่อครอบครัวและอาณาจักร การเดิมพันเพื่อเผด็จศึกครั้งสำคัญนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อทุกอย่างตกอยู่ในอันตรายไม่เว้นแม้แต่ชีวิตเขาเอง
“ตำนานอัศวินโต๊ะกลม” มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเซอร์แลนสลอต ราชินีกวินิเวียร์ หรือกระทั่งพ่อมดเมอร์ลิน ทำไมคุณถึงต้องการนำเสนอเรื่องราวของ “เซอร์กาเวน” โดยเฉพาะ
เหตุผลแรกผมเป็นแฟน “The Lord of the Rings” ซึ่งผู้เขียน “เจ.อาร์.อาร์ โทลคีน” เป็นผู้แปล “Sir Gawain and the Green Knight” และมันถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เพียงแค่สองครั้งเท่านั้น เหตุผลอีกข้อคือในตอนแรกผมพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมบทกวีชิ้นนี้ถึงไม่เคยจางหายไปตามกาลเวลาจนผมได้ทำหนังเรื่องนี้ซึ่งแน่นอนผมรู้ทันทีว่ามันไม่ใช่งานง่าย ผลงานดั้งเดิมมันเต็มไปด้วยสัญญะ เปิดช่องให้ตีความได้มากมาย คุณอาจจะดัดแปลงมันเป็นสิบๆ ครั้ง แต่ยังดึงเอาหัวใจของผลงานชิ้นนี้ออกมาไม่ได้ มันเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 14 แต่มันยังคงความโมเดิร์นอยู่เลย งานชิ้นนี้ถือว่าร่วมสมัยเลยนะ ถ้าไม่นับว่ามันจะถูกเขียนขึ้นมานานเกือบพันปีแล้ว การดัดแปลงครั้งนี้เราเคารพต้นฉบับแต่ยังมีการตีความมันในรูปแบบใหม่ให้ทั้งโลกได้เห็นคุุณค่าของบทกวีชิ้นนี้
แล้วหนุ่มเท็กซัสอย่างคุณได้โคจรมาพบกับบทกวีที่แต่งโดยนักเขียนไร้นามชาวบริติชได้อย่างไร
ผมได้อ่านบทกวีชิ้นนี้ในคลาสวิชาภาษาอังกฤษเมื่อตอนเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง มันมีอิทธิพลต่อผมมาก ผมชอบที่มันว่าด้วยการที่ชายคนหนึ่งต้องแบกเดิมพันด้วยชีวิต เขาต้องเอาตัวเองที่พัวพันกับเกมที่อาจต้องแลกมาด้วยความตายของเขาเอง
จริงๆ ผมมีแผนดัดแปลงบทกวีเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์มาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ผมคงต้องสร้างชื่อให้ตัวเองก่อน จนเเดือนมีนาคม 2018 ผมกำลังเขียนบทหนังเรื่องใหม่ให้ดิสนีย์ ผมเจอกรุของเล่นจากภาพยนตร์เรื่อง “Willow” (1988) โดย “รอน ฮาวเวิร์ด” มันเป็นของเล่นโปรดสมัยที่ผมยังเด็ก มันทำให้ผมนึกถึง “Sir Gawain and the Green Knight” อีกครั้ง ผมคิดกับตัวเองว่า “นี่ได้เวลาแล้วล่ะ” ผมนั่งอ่านมันใหม่และเริ่มปรับมันเป็นบทภาพยนตร์ไปพร้อมกัน ใช้เวลาสามสัปดาห์มันถึงเป็นบทที่สมบูรณ์
มองเผินๆ “The Green Knight” อาจดูเหมือนหนังแฟนตาซีพีเรียดทั่วไป อะไรคือเอกลักษณ์ของหนังเรื่องนี้
หัวใจของ “Sir Gawain and the Green Knight” คือปริศนาที่สามารถตีความได้หลากหลาย ผลงานชิ้นนี้สะท้อนทุกซอกทุกมุมของยุคกลาง มันมีสิ่งที่จับต้องได้อย่างทั้งชุดเกราะและม้าอัศวิน แต่มีความเหนือจริงดุจความฝันด้วย บทกวีถ่ายทอดความขัดแย้งระหว่างคริสตจักรและพวกนอกรีตผ่านสัญญะอย่างคมคาย ตัวอัศวินมรกตผู้น่าเกรงขามที่มาเยือนคาเมลอตในช่วงคริสมาสต์เพื่อชวนเล่นเกมที่เดิมพันด้วยชีวิต อัศวินมรกตขออาสาสมัครให้ตัดหัวของตนเองด้วยขวาน โดยอาสาสมัครต้องเดินทางไปยังวิหารมรกตในอีกหนึ่งปีให้หลังเพื่อโดนอัศวินมรกตลงขวานเช่นเดียวกัน
มันมีทั้งความเป็น Coming of Age เมื่ออัศวินหนุ่ม “เซอร์กาเวน” ที่เป็นหนึ่งใน “อัศวินโต๊ะกลม” ขออาสาเล่นเกมนี้ และรอเวลาหนึ่งปีให้หลังเพื่อเดินทางที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล คริสมาสต์ปีถัดมาเขาต้องเดินทางผ่านภูมิประเทศสุดทรหด ได้พบเจอกับสิ่งมีชีวิตที่เขาเคยได้ยินแต่ในนิทาน บ้างเป็นภูตผี บ้างจำแลงกาย การเดินทางครั้งนี้ทำให้เขารู้จักตัวเอง คอนเซปต์ของความกล้าหาญที่เล่าผ่านการเติบโตของชายคนหนึ่งคือรากฐานที่ผมใช้ทำงานเรื่องนี้ แม้มันไม่ได้ระบุชัดในผลงานต้นฉบับ แต่ประเด็นนี้มันไม่มีวันตกยุค
ทำไมคุณถึงเลือก “เดฟ พาเทล” มารับบท “เซอร์กาเวน”
ทำไมจะไม่ล่ะ ผลงานที่ผ่านมาของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์อยู่แล้ว เดฟเป็นนักแสดงที่มักจะรับบทเป็นตัวละครสดใส มองโลกในแง่ดี แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ บทร่างแรกๆ ของผมตัวกาเวนเป็นตัวละครที่ละครนำที่เข้าด้านมืดไปแล้วเต็มตัว แต่เดฟต้องการให้ตัวละครของเขามีด้านสว่างอยู่บ้างเพื่อให้เขาได้ใช้ฝีมือการแสดงของเขาออกมาได้เต็มที่ เดฟให้คำแนะนำเรื่องบทกับผม มันเป็นประโยชน์มาก ผมปรับตามที่เขาบอกเลย
ได้ข่าวว่าการถ่ายทำในเรื่องนี้ทรหดไม่แพ้การเดินทางของ “เซอร์กาเวน” เลย
ใช่ ผมเริ่มเดินทางไปดูสถานที่ถ่ายทำช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2018 สองเดือนหลังเขียนบทเสร็จ ผมและทีมสร้างเดินทางไปดูโลเคชันใน “ไอร์แลนด์” เราเลือกถ่ายทำในเขตทุรกันดาร “เคาท์ตี วิกโลว์” ห่างจากตัวเมืองดับลินไป 30 นาที มันเคยใช่ถ่ายทำ “Barry Lyndon” (1975) และ “Excalibur” (1981) มาแล้วด้วยนะ ตามต้นฉบับเรื่องเกิดขึ้นในเวลส์ ตัวเรื่องมันอิงกับภูมิประเทศของเวลส์ แต่เราเลือกไอร์แลนด์ มันมีทุกอย่างที่เราต้องการทั้งทิวทัศน์, สภาพอากาศ, ปราสาทโบราณ ทุกอย่างที่คุณเห็นในหนังมันอยู่ห่างจากตัวเมืองดับลินแค่ 30 นาที
ผมชอบทำงานในอากาศเย็นเพราะมันเก็บประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับศตวรรษที่ 14 ทิวทัศน์ที่เต็มไปด้วยสีเทาซีด (สีของปราสาทคาเฮียร์) ผมเสียดายอย่างเดียวที่เราไม่ได้เปิดกล้องเร็วกว่านี้ เพราะฤดูใบไม้ผลิไล่จี้เรามาติดๆ คุณเริ่มเห็นหญ้ากับใบไม้เริ่มผลิในหลายๆ ฉากของหนัง แต่พวกเราต้องเจออุปสรรคจากสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้ของไอร์แลนด์ ผมเคยได้ยินมาว่า “คุณสามารถเจอทั้ง 4 ฤดูได้ภายในหนึ่งชั่วโมงที่ไอร์แลนด์” ซึ่งมันเป็นเรื่องจริง เราถ่ายกันอยู่ดีๆ จู่ๆ ฝนก็ถล่ม ซักพักนั้นเปลี่ยนเป็นหิมะ อีกห้านาทีต่อมาฟ้าใสมีสายรุ้งเฉยเลย
นับถอยหลังสู่บทพิสูจน์ความกล้าหาญและการผจญภัยสุดแฟนตาซีคำวิจารณ์กึกก้องแห่งปี “The Green Knight ศึกโค่นอัศวินอมตะ” 11 พฤศจิกายนนี้ ในโรงภาพยนตร์
ตัวอย่างและคลิปต่างๆ: https://bit.ly/2ZMJITy