“งานของฉันส่วนใหญ่มักจะเป็นการสำรวจชีวิตเล็กๆ ในมุมเล็กๆ” รู้จักเธอให้มากขึ้น “นาโอมิ คาวาเสะ” ผู้กำกับ “True Mothers” หนึ่งในหนังญี่ปุ่นที่ดีที่สุดแห่งปี 2020

ไม่ใช่แค่เพราะเธอเป็นผู้หญิง แต่สิ่งที่ทำให้ “นาโอมิ คาวาเสะ” โลดแล่นอยู่ในวงการหนังอย่างโดดเด่น เป็นผู้กำกับเบอร์ต้นๆ ที่มักได้รับเลือกไปโชว์งานใน “เทศกาลหนังเมืองคานส์” นั่นเป็นเพราะเธอเป็นคนทำหนังที่เชิดชูความเป็นมนุษย์และธรรมชาติได้เป็นเอกลักษณ์อย่างที่จะหาคนทำหนังคนใดมาเทียบได้

 

หนังของเธอมักจะพาผู้ชมไปใกล้ชิดกับธรรมชาติ ดื่มด่ำ และอิ่มเอมกับความงดงามของสรรพสิ่งรอบตัว

 

ปี 1997 คาวาเสะได้รับรางวัล “Camera d’ Or” (สำหรับผู้กำกับหนังเรื่องแรก) ใน “เทศกาลหนังเมืองคานส์” จากหนังเรื่อง “Suzaku” และสิบปีต่อมา หนังเรื่อง “The Mourning Forest” (2007) ก็พาเธอคว้ารางวัล “Grand Prix” ของคานส์มาครอง

 

ปี 2015 หนังเรื่อง “Sweet Bean” ของเธอได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้ชมชาวญี่ปุ่น (หลังจากก่อนหน้านี้ เธอถูกมองว่าเป็นผู้กำกับหนังสายอาร์ต) หนังทำเงินมหาศาล และเป็นหนึ่งในงานแสดงที่ดีที่สุดของ “คิคิ คิริน” (1943-2018) นักแสดงอาวุโสมากฝีมือของญี่ปุ่น

 

และในปีนี้ เธอกลับมาอีกครั้งกับ “True Mothers” หนังที่นอกจากจะได้รับเลือกฉายใน “เทศกาลหนังเมืองคานส์” ยังได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้ชมในประเทศอีกด้วย

 

นักวิจารณ์ต่างยกให้ “True Mothers” เป็นหนึ่งในหนังญี่ปุ่นที่ดีที่สุดในปี 2020 ที่ผ่านมา

 

True-Mothers-Trivia-Info02

 

หนังเรื่อง “True Mothers” พูดถึงปัญหาการรับเลี้ยงลูกบุญธรรมที่เป็นการมองจากฝั่งแม่แท้ๆ และแม่อุปถัมภ์ ซึ่งเป็นวิธีการที่ใหม่และน่าสนใจมาก อะไรทำให้คุณสนใจประเด็นพวกนี้

ก่อนอื่นฉันต้องย้ำก่อนว่าหนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือนะคะ ซึ่งฉันสนใจประเด็นนี้ในหนังสือก่อน มันกระทบใจฉันมากๆ จนฉันอยากเล่ามันเป็นภาพยนตร์ คนส่วนใหญ่มักมองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว คนชาติอื่นๆ เวลามองประเทศญี่ปุ่น พวกเขามักคิดว่าคนญี่ปุ่นจะต้องมีมาตรฐานชีวิตที่ดี สังคมที่ปลอดภัยต่อกายและใจของพลเมือง แต่ถึงแม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่หลายอย่างค่อนข้างเพียบพร้อมและเป็นระเบียบ แต่มีหลายอย่างเหมือนกันที่ไม่น่าพิสมัยเอาเสียเลย และมุมมืดนั่นเองที่ตัวละครในหนังเรื่องนี้อาศัยอยู่ เธอเป็นคนชายขอบของสังคม ฉันคิดว่างานของฉันส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการสำรวจชีวิตเล็กๆ ในมุมเล็กๆ ที่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของสังคม พวกเขามักใช้ชีวิตหลบมุมเงียบๆ มืดๆ อยู่ตามลำพัง

 

 

แสดงว่าตัวละครในหนังสือนั้นสร้างแรงบันดาลใจให้คุณ

ใช่ค่ะ ตัวละครเหล่านั้นมีความคิดบางอย่างที่ไม่เหมือนคนทั่วไป และมีทางเลือกในชีวิตที่ไม่เหมือนคนอื่นๆ ฉันสนใจตัวละครเหล่านั้นและอยากสำรวจพวกเขา อีกอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ฉันเองก็โตมากับคุณยายซึ่งฉันเข้าใจมาตลอดว่าคือแม่แท้ๆ ของฉัน แต่จริงๆ แล้วแกรับฉันมาเลี้ยง แม่ฉันของตั้งท้องหลังจากเลิกรากับพ่อไปแล้ว และแม่ก็อยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ ฉันเลยกลายเป็นลูกของคนอื่นแทน คุณต้องเข้าใจก่อนว่าสังคมญี่ปุ่นนั้นเป็นสังคมที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงมากๆ ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับเด็กที่ไม่ได้เกี่ยวพันทางสายเลือดมาเลี้ยงดู เป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นมักไม่เห็นด้วยและคัดค้านอย่างรุนแรง คนต่างชาติดูแล้วอาจจะไม่เข้าใจว่าตัวละครต้องเจอปัญหาอะไร แต่สำหรับคนญี่ปุ่นพวกเราเข้าใจปัญหาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

 

 

ความสัมพันธ์ของคุณกับแม่แท้ๆ เป็นอย่างไร

ฉันนับถือแม่ฉันมาก แม่บอกว่าแม่ตั้งใจให้ฉันเกิดมา ฉันไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดหรือถูกบังคับ แต่แม่ไม่เอ่ยถึงพ่อเลยแม้แต่นิดเดียว แม่ไม่อยากเอ่ยถึงเขาอีก ฉันนับถือว่าแม่เป็นคนให้กำเนิดฉัน แต่คนที่ให้ชีวิตฉันจริงๆ คือ พ่อแม่บุญธรรมของฉัน

 

True-Mothers-Still14

True-Mothers-Still05

 

หนังเรื่อง “True Mothers” เล่าเรื่องโดยใช้วิธีการเล่าเหตุการณ์เดียวกัน แต่จากมุมมองที่ต่างกันของตัวละครแต่ละตัว คล้ายๆ หนังเรื่อง “Rashomon” (1950) ของ “อากิระ คุโรซาวา” ทำไมคุณถึงเลือกวิธีการนี้

หนังเล่าเรื่องผู้หญิง 2 คน ที่มีสัญชาตญาณความเป็นแม่เหมือนกัน แต่ชีวิตพวกเขาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงด้วยโครงสร้างของสังคมหรืออะไรก็ตามแต่ โจทย์ใหญ่ของฉันก็คือการหาเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวละคร 2 ตัวนี้มาไขว้หรือเผชิญหน้ากันเพื่อสะท้อนมุมมองของพวกเธอออกมา ฉันเป็นคนทำหนังเบื่อการทำหนังที่มี Flashback (การเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน) มากๆ ค่ะ แต่บางทีก็เลี่ยงไม่ได้ ฉันจึงต้องหาวิธีการให้การเล่าถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วด้วยมุมมองที่น่าสนใจ ฉันพยายามจะให้ภาพในอดีตไม่เพียงแต่บอกเล่าเรื่องราวเท่านั้น แต่มันต้องสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครไปพร้อมกัน

 

 

ดูเหมือนคุณตั้งใจจะให้เด็กน้อย “อาซาโตะ” ซึ่งเป็นตัวละครที่อยู่ตรงกลางระหว่างแม่ทั้ง 2 คนกลายเป็นตัวแทนของคนดู

ใช่แล้วค่ะ ฉันเชื่อว่าพวกเราทุกคนเคยเป็นเด็ก และหลายๆ ครั้งตอนที่เรายังเด็ก เราก็ทำความเข้าใจทุกสิ่งรอบๆ ตัวเราผ่านการมองสายตาของผู้ใหญ่ ฉันพยายามทำให้หนังทั้งเรื่องเป็นการมองผ่านสายตาของอาซาโตะ และเมื่อถึงท้ายเรื่อง คนดูจะตัดสินใจได้เองว่าเรื่องมันควรจะคลี่คลายอย่างไร

 

 

หนังทุกเรื่องของคุณจะต้องมี “ธรรมชาติ” เป็นตัวละครสำคัญเสมอ คุณพยายามให้ผู้ชมสัมผัสกับธรรมชาติทั้งต้นไม้ ใบไม้ที่ไหวเพราะแรงลม ทะเล ทำไมธรรมชาติถึงกลายเป็นเอกลักษณ์ในหนังของคุณ

เพราะธรรมชาติเป็นอะไรบางอย่างที่อยู่เหนือมนุษย์อย่างไรล่ะคะ ทุกวันนี้พวกเรามีชีวิตอยู่ด้วยการทำลายธรรมชาติลงทีละน้อย สร้างภาระให้กับโลกที่เราอาศัยอยู่อย่างไม่หยุดหย่อน ความตั้งใจของฉันคืออยากให้คนดูรู้สึกเหมือนกับฉันว่า ธรรมชาติเป็นเหมือนของขวัญในชีวิตของเรา แต่ศักยภาพในการบอกเล่าของฉันมีไม่มากนักหรอกค่ะ ฉันทำได้แค่ถ่ายทอดมันออกมาเป็นภาพยนตร์ และทุกครั้งฉันมักจะทำให้ธรรมชาติรอบๆ ตัวละครมีความสำคัญเทียบเท่ากับตัวละครในเรื่อง

 

 

แต่ “True Mothers” เป็นหนังที่มีพล็อตเรื่องที่ชัดเจนมากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ ของคุณ

ฉันเห็นด้วยค่ะ คงเป็นเพราะถ้ามันเป็นหนังที่ทำมาจากหนังสือซึ่งมีพล็อตอยู่แล้ว หนังก็มักจะมีพล็อตมากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ ที่ฉันทำ แต่ว่าพล็อตของเรื่องก็เป็นสิ่งที่ฉันต้องการจะสื่อสารกับคนดูอยู่แล้วนะคะ ฉันอยากให้คนดูเข้าใจว่าชีวิตคนเรามีมากกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าเรา มันมีอะไรอีกมากมาย มีอีกหลายชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ของเรา ซึ่งเราควรตระหนักเรื่องนี้ให้มากๆ

 

 

“True Mothers” 25 มีนาคม ในโรงภาพยนตร์

 

ตัวอย่างภาพยนตร์: https://youtu.be/7oIZwcJFgss

ถ้าเป็นคุณจะยอมคืนลูกที่คุณเลี้ยงมาให้แม่ที่แท้จริงมั้ย: https://youtu.be/xQZP8WppTSw

 

True-Mothers-Still04

True-Mothers-Still11

True Mothers

True Mothers

“คุณจะยอมคืนลูกที่เลี้ยงมาให้แม่ที่แท้จริงมั้ย”   “True Mothers” ภาพยนตร์เข้าชิง 7 รางวัล “ออสการ์ญี่ปุ่น” (The 44th Japan Academy...

รายละเอียดภาพยนตร์