“Teen Spirit” เล่าเรื่องราวอันแสนจรรโลงใจในโลกแห่งเสียงดนตรี หนังพูดถึงการเติบโต ความฝันอันยิ่งใหญ่ และการตามหาเส้นทางของตัวเองที่ไม่ว่าใครก็สามารถมีอารมณ์ร่วมได้
ตัวละครเอกคือ “ไวโอเล็ต” (แอล แฟนนิง) วัยรุ่นสาวขี้อายที่มาจากครอบครัวอันแตกร้าวในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง แต่เธอมีความใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปินนักร้องชื่อดัง ด้วยความช่วยเหลือจาก “ครูฝึก” (ซลัตโก บิวริก) ไวโอเล็ตจึงได้ก้าวเข้าสู่โลกของการแข่งขันร้องเพลงระดับประเทศ การแข่งขันที่จะทดสอบความยึดมั่น ความสามารถ และความทะเยอทะยานของเธอ
แถลงการณ์ของผู้กำกับ
“Teen Spirit” เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองไอล์ออฟไวต์ (Isle of White) เกาะเล็กๆ ของประเทศอังกฤษ เมืองที่พ่อของผมเติบขึ้นมา
พ่อเป็นลูกชายของผู้อพยพชาวอิตาลี ท่านมักจะมาทำงานในร้านกาแฟของที่บ้านหลังจากเลิกเรียนเสมอและทำงานเป็นเด็กส่งไอศกรีมในช่วงสุดสัปดาห์ ถ้ามีเวลาว่าง พ่อจะหันไปเล่นดนตรีกับวงและแต่งเพลง นั่นคือความปรารถนาที่จะสร้างสรรค์ชีวิตของเขาขึ้นมาในเวลาต่อมา
แม่ของผมออกมาจากฮ่องกงตอนอายุได้ 18 ปีเพื่อเริ่มต้นอาชีพเป็นแดนเซอร์ที่ลอนดอน นั่นคือครั้งแรกที่เธอจากบ้านเกิดมา มันเป็นสิ่งที่แปลกไม่เพียงแค่ในวัฒนธรรมของเธอ แต่แปลกในสายตาของครอบครัวเธอ ซึ่งที่ผ่านมาล้วนประกอบอาชีพแพทย์กันทั้งสิ้น
บางทีอาจเลี่ยงไม่ได้ที่ผมจะมาสนใจในตัวของไวโอเล็ต ตัวละครผู้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทางและพยายามหาทางแสดงถึงความเป็นศิลปินในตัวออกมาเพื่อปลอบประโลมตัวเอง
ไม่มากไม่น้อย “Teen Spirit” มีความเป็นเรื่องเล่าตามขนบซึ่งพบเห็นมาช้านาน ดังเช่นเรื่องราวสุดคลาสสิกของซินเดอเรลลา ภาพยนตร์ตั้งเป้าสร้างความสนุกและทำลายความคิดความเชื่อดังกล่าว ไวโอเล็ตต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาตลอดการผจญภัยของเธอ แต่ผมเองหวังว่า “Teen Spirit” จะไม่พลัดหลงทางหรือลงเอยด้วยความเร้าอารมณ์ที่ไร้ชั้นเชิง แม่ของไวโอเล็ตไม่ได้ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่รักษาไม่ได้หรือว่ามีสถานพยาบาลที่ไหนในชุมชนที่อยู่ได้โดยไม่มีปัญหาทางการเงิน ตัวละครและความสัมพันธ์ของพวกเขามีความซับซ้อนและเติมเต็มซึ่งกันและกันภายใต้พื้นที่สีเทาๆ
ในแก่นแกนของเรื่องนั้นพูดถึงความทรงพลังและความทุกข์อันยิ่งใหญ่ว่าพวกเราต่างมีเรื่องที่อยากพูด แต่มีความรู้สึกลึกๆ ในใจว่าคงไม่มีใครอยากฟังหรอก บางทีเราอาจไม่ควรได้รับความโดดเด่น เพราะมันเป็นพื้นที่ของคนอื่น ไม่ใช่ของเรา เป็นความรู้สึกที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเด็กจากเกาะเล็กๆ ทั้งทางกายภาพและการถูกตัดขาดจากโอกาสเพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจ
ด้วยเจตจำนงและความมั่นใจในตัวเองที่ไวโอเล็ตได้พัฒนาขึ้นในหนังตลอดทั้งเรื่อง ไม่เพียงแค่เธอสามารถร้องเพลงได้อย่างสมใจหมาย แต่ยังสามารถปฏิเสธความคิดว่าเธอจำเป็นต้องพึ่งพาความคิดของผู้อื่น นั่นคือหัวใจหลักของเรื่องนี้ และผมหวังว่าหนังจะมอบแรงบันดาลใจให้กับคนที่รู้สึกว่า ความฝันของตัวเองอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริงเช่นเดียวกับเธอ เพื่อให้เดินหน้าตามหาเส้นทางของตนเอง
คุณพอเล่าเรื่องราวในหนังให้ฟังได้ไหม
“Teen Spirit” เล่าเรื่องราวของ “ไวโอเล็ต วาเลนสกี” เด็กสาวผู้อพยพมาจากประเทศโปแลนด์ที่อาศัยอยู่กับแม่ในไอล์ออฟไวต์ เกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งอังกฤษ เธอมีโอกาสได้เข้าไปออดิชันประกวดร้องเพลงในชุมชนของเธอ ทำให้หลังจากนั้นไวโอเล็ตตัดสินใจเดินหน้าตามหาความฝันโดยได้รับความช่วยเหลือจากครูฝึก “วแลด” ที่อาจไม่ค่อยเต็มใจช่วยเท่าไหร่ แม้ฉากหลังของเรื่อจะว่าด้วยการประกวดร้องเพลง แต่ตัวหนังบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร 2 ตัวว่าพวกเขาแต่ละคนส่งผลถึงกันอย่างไร นี่ไม่ใช่แค่หนังที่บอกเล่าเรื่องราวของไก่รองบ่อนแบบที่เคยเป็น ไวโอเล็ตเป็นคนที่เก่งกาจมาตั้งแต่ต้น แต่เธอถูกปีศาจที่อยู่ในใจปิดกั้นตัวเองไว้ไม่ให้ปลดปล่อยความสามารถที่แท้จริง การแข่งขันในครั้งนี้กลายมาเป็นบททดสอบว่าตัวเธอเองมีความสามารถมากเพียงใด
การร่วมงานกับ “แอล แฟนนิง” เป็นอย่างไรบ้าง และเธอเหมาะสมกับบทนี้อย่างไร
ทั้งแอลและไวโอเล็ตต่างเปล่งประกายในจังหวะที่ใช่ มีความน่าหลงใหลและเส้นขนานที่ไม่คาดคิดระหว่างตัวเธอและตัวละครของเธอที่ช่วยยกระดับเรื่องราว เธอมาพร้อมความชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าเธอเข้าใจในบทนี้อย่างดีและรู้ว่าจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร เธอเป็นนักแสดงชั้นยอดอย่างไม่ต้องสงสัยเลยครับ เธอยังเป็นมืออาชีพอย่างมากซึ่งมันสำคัญทีเดียว การถ่ายทำในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เธอทุ่มสุดตัวเพื่อเตรียมพร้อมกับการถ่ายทำในแต่ละวัน
แอลมีเสียงที่น่าทึ่งมาก คุณประทับใจในการแสดงของเธออย่างไรบ้าง
เรารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าแอลมีเสียงที่ไพเราะมาก แต่ยังไม่เคยมีคนสำรวจในส่วนนี้เท่าไหร่ อย่างน้อยก็ในหนัง เธอยังกระตือรือร้นและตื่นเต้นที่จะได้ทำงานนี้ด้วย เธอเตรียมความพร้อมหนักมากในการรับบทนำในหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ในเรื่องของการตีความตัวละครที่เป็นคนโปแลนด์และการเต้น แต่ยังรวมถึงการฝึกการใช้เสียง นักร้องมืออาชีพส่วนมากไม่จำเป็นต้องแสดงหลายเทคเวลาแสดงโชว์ แต่แอลสามารถทำทุกเทคให้ออกมาดีได้ทุกครั้ง เวลาเธอร้องเพลง เราจะบันทึกเสียงแบบสดๆ และเป็นสิ่งที่ล้ำค่าอย่างมากในหนังเรื่องนี้ ผมเชื่อเลยว่าคนดูจะต้องทึ่งในการร้องเพลงของเธอ
คุณพอจะเล่าได้ไหมว่าบทบาทของ “มาริอุส เดอ วรีส์” กับการทำงานร่วมกับแอลและการเตรียมความพร้อมของเธอนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ยอดคอมโพเซอร์และผู้อำนวยการดนตรีในหนังเรื่องนี้ของเรา “มาริอุส เดอ วรีส์” ถือเป็นยอดวีรบุรุษของผมเลย นอกจากเขาจะสำคัญสำหรับผม ยังสำคัญสำหรับแอลด้วย พวกเขาต่างไว้ใจและเคารพซึ่งกันและกันและมันยังส่งผลถึงความสัมพันธ์บนจอระหว่างวแลดและไวโอเล็ตด้วย เกิดความเป็นเพื่อนซึ่งผมคิดว่ามันนำไปสู่ความเป็นเอกลักษณ์ในตัวงาน มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความเป็นมิตรและความไว้ใจกัน พวกเขาใช้เวลาหลายเดือนช่วยกันพัฒนาเสียงของแอลตั้งแต่ก่อนที่เราจะเริ่มงานสร้างเสียอีก และมันช่วยให้ผมเกิดความรู้สึกทะเยอทะยานในการทำงานมากขึ้นด้วยเมื่อรู้ว่าฐานของเธอมั่นคงดีแล้ว
สำหรับตัวละคร “วแลด” ของ “ซลัตโก บิวริก” มีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
บทของ “วแลด” เขียนขึ้นมาเพื่อซลัตโก้ เลยครับตั้งแต่ตอนเป็นดราฟต์แรกๆ เขาเป็นตัวเลือกเดียวที่ผมอยากให้มารับบท เขามีความเป็นตัวของตัวเองสูง เป็นคนใจใหญ่ เขาโกหกใครไม่เป็น เขามีความน่าเชื่อถืออย่างมาก มันเหมือนเป็นการวางรากฐานให้กับหนัง และยังมั่นใจได้ด้วยว่าคนดูจะมองเห็นด้านที่น่าเห็นอกเห็นใจในตัวของเขาด้วยอย่างแน่นอน
หนังของคุณมาพร้อมนักแสดงสมทบฝีมือดี คุณมีวิธีการคัดเลือกนักแสดงเหล่านี้มาได้อย่างไร
ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณการช่วยเหลือของ “จูลี ฮาร์กิน” ซึ่งเป็นผู้คัดเลือกนักแสดงครับ ผมเป็นแฟนผลงานของเธอมานานแล้ว และเธอมีรสนิยมในการเลือกคนดีมาก ผมไม่อยากให้คนดูหนังรู้สึกว่ามันโดดออกไปจากความเป็นจริง เราเลยพยายามเลือกคนโดยดูจากความเรียบง่ายที่สุด
ไม่เคยมีความรู้สึกว่ากดดันในการเลือกใครมาแสดงเลยสักคนนะครับ เราเลือกคนที่ใช่มารับบท และเราก็โชคดีมากที่ได้นักแสดงวัยรุ่นที่มีเสน่ห์ ความสามารถ และความเป็นธรรมชาติมาเล่นในหนังเรื่องนี้
“คลารา” ที่รับบทเป็น “โรซี” น่าจะเป็นนักแสดงวัยรุ่นคนแรกที่เราเลือกมา เธอมีเสียงที่โดดเด่นและสัมผัสได้อย่างชัดเจน เธอเป็นคนที่สามารถสร้างผลกระทบให้สั่นสะเทือนไปยังตัวละครอื่นๆ และหนังเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันตัวละคร “ลุก” เป็นคนที่หาค่อนข้างยากและเราต้องใช้เวลานานทีเดียว จนจูลีไปเจอ “อาร์ชี มาเดกเว” เล่นละครเวทีเข้าเขามีความอ่อนไหวและความเป็นผู้ใหญ่ที่เราตามหาอยู่พอดี ประโยชน์อย่างหนึ่งของการถ่ายทำหนังที่อังกฤษคือเราสามารถเจอคนที่มีความสามารถทั้งทางหน้ากล้องและหลังกล้องเต็มไปหมดเลยครับ
คุณยังได้มือฉมังสายดนตรีอย่าง “มาริอุส เดอ วรีส์” และ “สตีเวน กิซิกิ” รวมถึงนักออกแบบท่าเต้นอย่าง “จอนนี” และ “อาเมียร์” มาร่วมงานด้วย การทำงานกับพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง
ผมเคยร่วมงานกับโปรดิวเซอร์มือฉมัง “เฟรด เบอร์เกอร์” ผลงานที่ผ่านมาของเขาบ่งบอกว่าเขาเป็นคนที่เก่ง และการที่เราได้คนมีความสามารถขั้นสุดยอดมาเล่นหนังเรื่องนี้ ส่วนสำคัญต้องขอบคุณเขาเลยครับ พวกเขาต่างเคยทำงานร่วมกันมาใน “La La Land” ทีมงานไว้ใจเขา เคารพเขา และด้วยประสบการณ์เหล่านั้นเอง ผมเชื่อว่าผมเองก็น่าจะสามารถทำงานกับเขาได้ดีเช่นกัน ผมคิดว่าพวกเขาต่างมีช่วงเวลาการทำงานที่สนุกสนานบนความท้าทายอย่างมากในครั้งนี้
กรณีของ “จอนนี” และ “อาเมียร์” ถือเป็นตัวเลือกที่น่าตื่นเต้นแม้จะไม่ได้เป็นตัวเลือกที่เห็นได้ชัดในช่วงแรก พวกเขาเคยทำงานสายโอเปรามาก่อน และมีความชำนาญอย่างมาก พวกเขาเพิ่งเสร็จงานสร้างเวทีแสดงโอเปร่าเป็นส้วมขนาดยักษ์มาหมาดๆ! พอผมมาคิดถึงหนังเรื่องนี้ คิดถึงดินแดนของการแข่งขันร้องเพลง ผมพยายามทำให้มันน่าสนใจขึ้นมาและผมเชื่อว่าสามารถทำให้มันแตกต่างไปจากสิ่งเดิมๆ ได้ ด้วยการเล่าเรื่องให้เห็นได้ชัดจนอาจจะชัดเจนยิ่งกว่าท่วงท่าเต้นต่างๆ เสียอีก
เพลงประกอบในเรื่องก็น่าทึ่งไม่น้อย กระบวนการคัดเลือกเพลงมาใช้เป็นอย่างไรบ้าง
สำคัญมากครับในการทำให้ฉากเล่นดนตรีในแต่ละช่วงผลักดันเรื่องราวให้เดินหน้าต่อไป แล้วช่วยจุดประกายให้กับชีวิตของไวโอเล็ตด้วย เพราะฉะนั้น แต่ละเพลงที่เลือกมานั้นนอกจากจะมีประโยชน์ด้านอารมณ์แล้ว ยังมีประโยชน์ต่อการเล่าเรื่องอย่างมากด้วย
ผมพยายามจะปล่อยให้แต่ละฉากนั้นควบคุมบทเพลง โดยผมจะคัดเพลงจากในลิสต์ iTune ของผม การนำเพลง “Tattooed Heart” ซึ่งโรซีใช้มันแสดงในช่วงสุดท้ายของเรื่องมาใช้ถือเป็นข้อยกเว้นประการสำคัญ สาเหตุที่มันมาอยู่ในหนังเรื่องนี้เพราะผมรักอัลบั้มแรกของ “อาเรียนา แกรนเด” อย่างมาก เพลงนี้ทำให้ผมยิ้มได้และมีความสุขเสมอ
ทุกเพลงในหนังเรื่องนี้ถูกวางไว้อย่างเฉพาะเจาะจงเอาไว้ในบทแล้วได้ปรากฏอยู่ในหนังในท้ายที่สุดด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมากสำหรับผม ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพราะ “สตีเวน กิซิกิ” ที่สร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับทาง Interscope ที่เปรียบเสมือนแม่พระที่คอยช่วยเหลือพวกเรามาตลอด
หนังเรื่องนี้ดูสวยงามมาก คุณมีการพูดคุยเรื่องการสร้างสุนทรียะกับ “ออทัม ดูรัลด์” อย่างไรบ้าง พวกคุณกล่าวชื่นชมกับในกองถ่ายบ้างไหม
ผมว่าเธอคืออัจฉริยะเลยครับ การทำงานกับไฟของเธอน่าทึ่งมาก เราพยายามคิดถึงงานในหลากหลายมุมมอง และเรามองการทำหนังเรื่องนี้ผ่านหลายจุดยืน และการสนทนาของเรานำพาให้เกิดงานที่แสนวิเศษนี้ขึ้นมา เราทั้งคู่รู้จักกันมาพักใหญ่แล้ว เรามักจะแชร์ภารในหัวและไอเดียกันอยู่เสมอตอนจะถ่ายทำ และเราต่างมีความรู้สึกถึงรสนิยมของกันและกันในมุมมองของแต่ละฝ่าย มันกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากเลยครับในการทำงานด้วยเวลาที่แสนสั้น
ดูเผินๆ ถือเป็นหนังที่ทะเยอทะยานอย่างมากสำหรับการเป็นหนังเรื่องแรกของคุณ คุณพบเจออุปสรรคอย่างไรบ้าง
ผมเจอเรื่องท้าทายมาเยอะเลยครับ แต่ผมก็โชคดีได้เจอเรื่องดีๆ บ่อยเหมือนกัน เราโชคดีในทุกขั้นตอนที่ได้คนเก่งๆ มาทำงานในหนังเรื่องนี้และมีคนคอยสนับสนุนอีกมาก ผมไม่เคยคิดว่าหนังจะสำเร็จขึ้นมาได้เลย บทหนังดราฟท์แรกเขียนขึ้นในปี 2009 แต่ตอนนี้ก็ 9-10 ปีเข้าไปแล้ว มันถือเป็นการเดินทางที่ยาวนานจริงๆ การที่หนังสามารถออกมาอย่างที่ผมอยากให้มันเป็นได้ ต้องขอบคุณเฟร็ด เบอร์เกอร์ อย่างมากครับ เขารับเครดิตเป็นผู้อำนวยการสร้างคนเดียวของหนังและมีเหตุผลสำคัญที่เป็นเช่นนั้น ทุกคนคิดว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีทางเป็นรูปเป็นร่างได้ แต่เขาพยายามผลักดันมันเสมอ เขาคอยอยู่เคียงข้างผมในทุกขั้นตอนเป็นทั้งผู้สนับสนุนและคอยท้วงติงเพื่อเตือนสติผมอยู่เสมอ ผมเป็นหนี้บุญคุณเขาเยอะเลยครับ
“Teen Spirit” 1 พ.ค.นี้ ในโรงภาพยนตร์
https://www.youtube.com/watch?v=1Nl4XWOsKKc&list=PLhAW9ysy1oTnJyuk7mSvXimhOuU4IxQ0U&index=1