ได้ยินมาว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในญี่ปุ่น
จริงๆ ก็ไม่ได้เอาข่าวจากเหตุการณ์จริงทั้งหมดมาสร้าง ที่ญี่ปุ่นเมื่อ 3 ปีก่อน จะมีคดีค่อนข้างเยอะในเรื่องของการลักพาตัวและเรื่องที่มีครอบครัวใช้เงินบำนาญของผู้สูงอายุเลี้ยงตัวเองกันเยอะมาก ไม่ทำการทำงานกัน พอเกิดเหตุการณ์พวกนี้ขึ้นเยอะ เลยอยากลองนำมาเขียนเป็นภาพยนตร์ดู ไม่ได้นำมาใช้ทั้งหมด แต่แค่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้มาสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้นครับ
สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ทำไมถึงเลือกหยิบประเด็นครอบครัวนักขโมยของมาใช้
แค่เอาคดีที่เกิดขึ้นบ่อยมาใช้เป็นประเด็นหลักเฉยๆ อย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งที่เป็นขโมยกันยกบ้าน คือก็คิดแบบนั้นเอาไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มสร้างเลยครับ
ภายในเรื่องกล่าวถึงตัวละคร Aki ที่มีอาชีพ Chat Phone เป็นตัวแทนความเหงา หรือสะท้อนสังคมไหม
ไม่ใช่เรื่องของความเหงาอะไรของตัวละคร “อากิ” เพราะถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าครอบครัวนี้จะขโมยของกัน ทำอะไรหลบๆ ซ่อนๆ ตลอด เวลาอยู่บ้านก็หลบกันทั้งเรื่องจริงๆ อย่างตอนดูดอกไม้ไฟก็จะแอบดูกัน ไม่ออกไปเจอใคร เด็กๆ ก็จะไม่เรียกพ่อแม่ตรงๆ งานของอากิก็เหมือนกันที่ไม่ต้องเห็นหน้าลูกค้า ไม่รู้ชื่อ ไม่ทราบอะไรเลย ธีมหลักของเรื่องนี้ไม่ใช่ความเหงาแต่เป็นเรื่องของการหลบซ่อนครับ
ระหว่างภาพยนตร์เรื่องนี้กับ “Nobody Knows” เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ซึ่งธีมหลักของเรื่องเป็นคนจนเหมือนกัน สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ไหม
ทั้งสองเรื่องเหตุการณ์เกิดขึ้นที่โตเกียวเหมือนกันครับ ในส่วนของเรื่อง “Nobody Knows” (2004) จะเน้นที่เรื่องของเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ในเรื่อง “Shoplifters” จะไปเน้นประเด็นของครอบครัวซะมากกว่า ไม่ใช่มีเพียงแค่เรื่องของเด็ก แต่ยังมีเรื่องของพวกผู้ใหญ่ที่มีปัญหา น่าจะเป็นจุดที่แตกต่างกันระหว่างสองเรื่องนี้
คนญี่ปุ่นค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับเลือดเนื้อเชื้อไข ในมุมมองของคุณโคเรเอดะสายเลือดสำคัญไหมในการเป็นครอบครัว เพราะในหนังตัวละครแทบจะเป็นคนแปลกหน้ากันทั้งหมดเลย
ก็ไม่ได้คิดว่าสำคัญมากครับ อย่างในเรื่องนี้ครอบครัวนี้ก็สามารถก้าวข้ามผ่านเรื่องสายเลือดไปได้ พวกเขาผูกพันกันแม้ไม่ได้เป็นครอบครัวจริงๆ อย่างป้ากับอากิที่เป็นสายเลือดกันจริงๆ ก็อยู่กันอย่างยากลำบากโดยที่ไม่ได้มีความผูกพันกันครับ
คุณโคเรเอดะสนใจช่วงเวลาของเด็กๆ เป็นพิเศษในแง่ไหนบ้างหรือไม่ เพราะภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็ก และช่วงเวลาในวัยเด็กของคุณโคเระเอดะเป็นอย่างไรบ้าง มีเรื่องไหนที่สำคัญในชีวิต หรือหนักใจบ้างไหม
ส่วนใหญ่ที่นำเรื่องของเด็กมาเล่า เพราะรู้สึกว่าเด็กสามารถสื่ออารมณ์ให้แก่ผู้ชมได้ดีกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งในเรื่องของสายตา เหมือนเป็นการยืมสายตาของเด็กมาใช้ในการทำหนัง ทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกกับตัวละครนั้นได้ดี ส่วนเรื่องของตัวผมเองก็มีบ้างที่นำมาใส่ในหนังหลายๆ เรื่องแต่ก็ไม่ทั้งหมดครับ
ในภาพยนตร์นี้ ตัวละครเด็กนั้นสำคัญมาก เวลาแคสติ้งนักแสดงที่จะมารับบทนั้นๆ คุณโคเระดะมองหาอะไรบ้าง
หลักๆ เลยคือจะมองจากภายนอกก่อนว่าเด็กคนนี้เห็นแล้วอยากถ่าย อยากให้ไปแสดงในหนังของผมไหม วิธีออดิชันก็คือจะไม่ให้อ่านบท จะคิดบทสดให้เด็กพูดตามเลย แล้วจะฟังดูว่าเด็กคนนี้สามารถพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติไหมครับ
ตอนออดิชันคุณโคเรเอดะเป็นคนเลือกนักแสดงเองใช่ไหม
แน่นอนครับ
ในขณะเดียวกันพอมีเรื่องของเด็กเยอะ อีกเรื่องประเด็นหลักๆ ที่เห็นได้ชัดเลย คือเรื่องของความเป็นพ่อ อะไรที่ทำให้คุณโคเรเอดะเลือกใช้ความเป็นพ่อเด่นขึ้นมาในผลงานนี้
เพราะตอนนี้ผมเป็นพ่อคนแล้ว ก็เลยมีมุมมองจากฝั่งความเป็นพ่อมากครับ
คนชอบจะเปรียบเทียบคุณโคเรเอดะกับผู้กำกับโอซุ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวเหมือนกัน คิดว่าครอบครัวญี่ปุ่นในสมัยคุณโอซุเมื่อ 50 ปีที่แล้ว กับครอบครัวญี่ปุ่นในปัจจุบัน ความหมายของครอบครัว ความสัมพันธ์ของครอบครัวและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป มันต่างกันเยอะมากขนาดไหน
หนังของคุณโอซุมีครอบครัวหลายแบบ ก็ไม่รู้ว่าจะเอาเรื่องไหนมาเปรียบเทียบกับของผมดี แต่ถ้าให้พูดถึงสมัยก่อนก็จะมีเรื่องของสงครามเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่ได้ดูสงบสุขเท่าหนังของผมในทุกวันนี้ อย่างที่บ้านครอบครัวก็จะแตกแยกกัน เอาจริงๆ รู้สึกว่าไม่มีอะไรให้เปรียบเทียบมากก็คงเป็นเรื่องของครอบครัวนี่แหละมั้งครับ
“Shoplifters ครอบครัวที่ลัก”
2 สิงหาคมนี้ เฉพาะที่ House RCA และ สกาลา