“ริวโตะ คอนโดะ” เป็นผู้กำกับภาพชาวญี่ปุ่นอายุ 42 ปีที่น่าจับตาในวงการ ด้วยอายุที่ยังน้อยแต่ประสบการณ์โชกโชน คอนโดะถ่ายหนังมามากมายหลายแนว อาทิ A Gentle Breeze in the Village (2007), My Back Page (2011), The Kirishima Thing (2012), A Story of Yonosuke (2012), The Light Shines Only There (2014) ปีนี้เขาได้มาเป็นตากล้องให้กับ “ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” หนึ่งในผู้กำกับที่เขาฝันมานานว่าอยากจะได้ร่วมงานด้วย
นี่เป็นการร่วมงานกับ “ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” ครั้งแรกใช่ไหม
ใช่ครับ ในที่สุดผมก็ได้ถ่ายหนังให้เขา และผมก็ดีใจมากที่เราทำงานเข้าขากันเป็นอย่างดี หลายปีมานี้ ผมได้รับการติดต่อจากโคเรเอดะให้มาถ่ายงานหลายชิ้น ทั้งงานโฆษณาเอย งานวิดีโอเอย แต่โชคไม่ดีที่ตารางงานของเราไม่เคยตรงกันเลย จนกระทั่งมาถึงโอกาสนี้ เราเริ่มต้นถ่ายทำ Shoplifters ด้วยฉากฤดูร้อน และเนื่องจากโคเระเอดะติดต่อผมล่วงหน้านานมาก ผมจึงมีเวลาเคลียร์คิวให้ลงตัวสำหรับการถ่ายหนัง
โคเรเอดะถ่ายหนังหลายเรื่องด้วยฟิล์ม 35 มม. ทำไมคุณถึงเลือกถ่ายด้วยฟิล์มกับหนังเรื่องนี้
จริงๆ แล้ว โคเรเอดะเป็นคนบอกเองแต่แรกนะครับว่าขอถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วยฟิล์ม 35 มม. เท่านั้น ถึงแม้ว่างบหนังจะมีไม่เยอะมาก แต่โคเรเอดะก็ยืนยันว่าจะขอถ่ายด้วยฟิล์ม (การถ่ายด้วยฟิล์มจะสิ้นเปลืองมากกว่าถ่ายด้วยดิจิทัล) ผมว่ากระบวนการถ่ายหนังแบบนี้ แบบที่ต้องรอเปลี่ยนฟิล์มทีละม้วนในการถ่าย มันก็เข้ากับสไตล์การกำกับของโคเรเอดะมากนะครับ และส่วนตัวผมเองก็รู้สึกว่าพื้นผิว (Texture) ของภาพนั้นเหมาะกับเรื่องราวในหนังเรื่องนี้อีกด้วย
มีส่วนไหนในการทำงานที่คุณประทับใจเป็นพิเศษไหม
ผมทึ่งทีมงานทุกคนในกองถ่ายเลย ที่พวกเขาดูจะเข้าใจและเห็นคุณค่าของวิธีการทำงานแบบโคเรเอดะ เช่น ในบทมีอยู่ฉากหนึ่งที่เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนฝนตก แต่ว่าพยากรณ์อากาศแจ้งว่าจะเกิดหิมะตกหนักในโตเกียวในวันที่เราจะถ่ายฉากที่ว่านี้ ทีมงานทุกคนไม่มีใครหนักใจกับเรื่องนี้เลย พวกเขาใช้โอกาสนี้เพื่อถ่ายทำฉากหิมะตกที่กลายเป็นหนึ่งในฉากที่งดงามที่สุดในหนัง ผมคิดว่างานคุณภาพของโคเระเอดะนั้นล้วนมาจากฝีมือจัดการอันเยี่ยมยอดของทีมงานทุกคน
อีกเรื่องก็คือ ทุกๆ วันของการถ่ายทำ โคเรเอดะจะตัดต่อด้วยการใช้ภาพวิดีโอแอสซิสต์ (ภาพจากกล้องวิดีโอที่บันทึกพร้อมกับกล้องฟิล์ม ซึ่งจะได้ภาพมุมเดียวกับกล้องหลัก มีไว้สำหรับบันทึกภาพให้ผู้กำกับดูหน้ามอนิเตอร์ระหว่างถ่ายทำ) เพื่อจะดูว่าฉากนั้นออกมาเป็นอย่างที่เขาคิดหรือเปล่า ถ้าตัดต่อออกมาแล้ว จะต้องมีการถ่ายเพิ่ม เขาก็จะถ่ายเพิ่ม หรืออาจจะมีการดัดแปลงบางอย่างสำหรับฉากถัดไป โดยไม่จำเป็นต้องยึดตามบทที่เขียนมาทั้งหมด เพราะฉะนั้นทุกๆ วัน คุณจะได้เห็นหนังเรื่องนี้ค่อยๆ มีชีวิตขึ้นมาระหว่างถ่ายทำ มันน่าอัศจรรย์สำหรับผมมาก
และเนื่องจากหนังเรื่องนี้มีตัวละครหลัก 6 ตัวด้วยกัน แถมยังมีตัวละครเด็กอีกด้วย ผมเลยเสนอว่าบางฉากน่าจะลองถ่ายโดยใช้กล้องหลายๆ ตัวพร้อมกัน ผมเลยถามโคเรเอดะว่า ผมควรใช้กล้องสองตัวไหม แต่เขาบอกผมว่า เขาใช้กล้องตัวเดียวเท่านั้นเวลาถ่ายหนัง เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ผมทึ่งเขามาก
เมื่อได้ดูหนังจริงๆ บนจอใหญ่แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง
มันทำให้เราเห็นว่าการถ่ายฟิล์มนั้นมันให้ผลที่น่าพึงพอใจอย่างไร ผมว่าโคเระเอดะเองก็พอใจกับมันมากๆ ผมรู้สึกเหมือนตนเองประสบความสำเร็จนะ เมื่อพิจาณาจากสถานการณ์หลายๆ อย่างระหว่างการทำงาน คือว่าผมใช้ฟิล์มชนิดเดียวเท่านั้นในการถ่ายหนังเรื่องนี้ คือฟิล์มสี KODAK VISION3 500T 5219 (3-perf) สำหรับหนังญี่ปุ่นแล้ว พวกเรานิยมถ่ายด้วยฟิล์ม 3-perf (หนึ่งเฟรมมี 3 รูหนามเตย) เราไปล้างฟิล์มและแปลงสัญญาณภาพที่บริษัท IMAGICA
ตอนที่เราเริ่มถ่ายทำฉากฤดูร้อนริมทะเล ตอนนั้นบทยังเขียนไม่เสร็จ และเราก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าภาพของหนังจะออกมาโทนไหนดี หนังเรื่องก่อนๆ ของโคเรเอดะสีจะออกมาสะอาดสบายตา ผมก็ชั่งใจอยู่นานว่ามันควรจออกมาเป็นแบบนั้นไหม หรือควรจะเพิ่มความจัดของสีมากขึ้นกว่าเดิมไหม เพราะหนังเรื่องนี้มันเกี่ยวกับความยากจน อาชญากรรมที่ให้ความรู้สึกยุ่งเหยิงเล็กน้อย
โคเรเอดะบอกผมว่า เขาอยากได้โทนสีฟ้า ผมจึงเลือกโทนของภาพจากสิ่งต่างๆ ที่โคเระเอดะพบเจอระหว่างเราออกไปดูโลเคชั่นกัน เช่น สีของแผ่นสังกะสีที่ใช้เป็นผนังบ้านที่ครอบครัวนี้อาศัยอยู่
ฉากที่ตัวละครทั้ง 6 คนนั่งอยู่ตรงนอกชาน และแหงนมองดอกไม้ไฟนั้นเป็นช็อตแรกที่ผมต้องถ่ายทั้ง 6 คนอยู่ด้วยกัน ภาพที่โคเระเอดะคิดในใจคือ อยากให้มีอารมณ์เหมือนฝูงปลาใต้ทะเลที่แหงนขึ้นมองผิวน้ำ และเขาเจาะจงเลยว่า กล้องควรวางจากด้านบน ส่วนสีฟ้าก็เหมาะกับความรู้สึกที่ว่าอยู่ในก้นมหาสมุทรดี
เล่าขั้นตอนโพสต์โปรดักชั่นให้ฟังหน่อย
เรานำฟิล์มเนกาทีฟที่ล้างเสร็จแล้วสแกนด้วยเครื่อง Cine Vivo ตอนแรกเราลังเลว่าจะใช้เครื่องสแกนตัวไหนดี แต่ Cine Vivo ให้ภาพที่ละมุนกว่า ซึ่งเหมาะกับหนังมากกว่าเครื่องอื่น แต่พูดก็พูดเถอะ เราอุตส่าห์ถ่ายหนังด้วยฟิล์ม เราก็อยากจะพรินต์หนังออกมาให้เป็นฟิล์มด้วยเหมือนกันนะ แต่ปัจจุบันมันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะค่าใช้จ่ายมันสูง
ครั้งหนึ่งตากล้องภาพยนตร์ที่ผมรู้จักเคยกล่าวไว้ว่า สีที่อยู่บนฟิล์มคือ “สีของความทรงจำ” เขาตั้งใจจะบอกว่าฟิล์มนั้นสามารถแสดงสีแทนความทรงจำของเราได้ ผมเห็นด้วยอย่างมาก ผมเชื่อว่ามีสีบางอย่าง และพื้นผิวของภาพบางอย่างที่มีแต่ฟิล์มเท่านั้นที่สามารถทำออกมาได้ และนับเป็นเกียรติในชีวิตเหลือเกินที่ผมได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังที่ได้รางวัลปาล์มทองคำจากเมืองคานส์ ผมจะตั้งใจทำงานเพื่อให้สมกับเกียรติยศที่ได้รับ ผมเชื่อว่าคงมีหลายคนมาดูหนังเรื่องนี้เพราะรางวัลจากคานส์ แต่ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คนดูจะได้รับประสบการณ์อันน่าประทับใจที่เกิดจากภาพที่ถ่ายด้วยฟิล์มไปพร้อมๆ กัน
“Shoplifters” ภาพยนตร์ญี่ปุ่นดราม่าครอบครัวของผู้กำกับชื่อดัง “ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุด เปิดตัวอันดับ 1 ใน Japan Box Office ประจำสุดสัปดาห์ และเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นคนแสดงที่ทำรายได้ทะลุหลัก 1000 ล้านเยนเร็วที่สุดอีกด้วย
โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในญี่ปุ่นหนังเล่าเรื่องของ “โอซามุ” (ลิลี แฟรงกี้) นอกจากทำงานเป็นกรรมกร เขายังลักเล็กขโมยน้อยเป็นอาชีพเสริมด้วย โดยมีลูกชาย “โชตะ” (ไคริ จิโอ) เป็นผู้ช่วย
วันหนึ่ง ขณะทั้งคู่กลับจากการขโมยของ โอซามุได้เจอกับ “ยูริ” (มิยู ซาซากิ) เด็กหญิงตัวน้อยอยู่ตัวคนเดียว เขาจึงตัดสินใจพาเธอกลับมาบ้านด้วย แม้ว่า “โนบุโยะ” (ซากุระ อันโดะ) ภรรยาของเขาจะไม่พอใจที่เขาพาเด็กที่ไหนไม่รู้มาอยู่อาศัยด้วย ถึงอย่างนั้นตัวเธอและรวมถึงสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวอย่าง “อากิ” (มายุ มัตสึโอกะ) น้องสาวของโนบุโยะ และ “คุณยายฮัตสุเอะ” (คิริน กีกิ) ก็ดูแลเด็กหญิงคนนี้เป็นอย่างดี ถึงแม้พวกเขาจะเป็นครอบครัวเล็กๆ แต่พวกเขาก็เป็นครอบครัวที่มีความสุข ทว่าในช่วงเวลาที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย ความลับบางอย่างก็เปิดเผยออกมาทำให้ทั้งครอบครัวต้องสั่นคลอน
“Shoplifters” 2 สิงหาคมนี้ เฉพาะที่ House RCA