มุ่งสู่เวทีออสการ์หลังคว้ารางวัลเมืองคานส์ “Plan 75 วันเลือกตาย” ตัวแทนจาก “ญี่ปุ่น” ส่งชิง “ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม” #Oscars2023 พร้อมคุยกับผู้กำกับหญิงน่าจับตา “จิเอะ ฮายากาวะ”

ด้วยความยอดเยี่ยมของภาพยนตร์จนได้รับการ Standing Ovation 5 นาทีหลังจากฉายใน “เทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 75” ในสายประกวด Un Certain Regard รวมถึงผู้กำกับ “จิเอะ ฮายากาวะ” ก็ได้รับรางวัลพิเศษ “ผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมสำหรับภาพยนตร์ยาวเรื่องแรก” (Camera d’Or Special Mention) ส่งให้ล่าสุด “Plan 75 วันเลือกตาย” ได้รับเลือกเป็น “ตัวแทนประเทศญี่ปุ่น” ส่งชิง “รางวัลออสการ์ ครั้งที่ 95” (Oscars 2023) ในสาขา “ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม”

 

Plan-75-JP-Oscars-2023-Submission-Best- International-Film

 

หนังเล่าเรื่องสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ ประเทศญี่ปุ่นออกนโยบาย Plan 75 มาให้ผู้สูงอายุวัย 75 ปีเลือกได้ว่าจะยัง “มีชีวิตอยู่” หรือ “จากไปด้วยการุณยฆาต” (การเลือกที่จะตายโดยสมัครใจ) โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์หลายอย่าง ทั้งการได้รับเงินจำนวนหนึ่งให้ใช้พักผ่อนในบั้นปลายชีวิต สิทธิการจัดงานศพฟรี สิทธิการเข้าพักและจากไปในโรงแรมระดับห้าดาว ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่สละชีพเพื่อสังคมและประเทศชาติตามเกียรติที่ยึดถือกันมาอย่างยาวนานของประเทศญี่ปุ่น ตัวเอกของเรื่อง “มิจิ” หญิงชราวัย 78 ปี ยึดอาชีพแม่บ้านทำความสะอาดในโรงแรม เธอต้องอาศัยอยู่คนเดียวหลังสามีเสียชีวิต แต่แล้วก็มีเหตุที่ทำให้เธอต้องตกงานและไร้ที่อยู่ ทำให้เธอครุ่นคิดอย่างหนักเกี่ยวกับการเข้าร่วมนโยบาย Plan 75 นี้

 

หนังแสดงนำโดย “จิเอโกะ ไบโช” นักแสดงระดับตำนานของญี่ปุ่นวัย 81 ปี ซึ่งมีภาพยนตร์โรแมนติกดราม่า “Only the Cat Knows เจ้าเหมียวจิบิหายไปไหนนะ?” (2019) เข้าฉายวงกว้างในบ้านเราเป็นเรื่องล่าสุด และเป็นผู้พากย์เสียงตัวละคร “โซฟี” ทั้งวัยสาวและชราในอนิเมะแฟนตาซีค่ายจิบลิ “Howl’s Moving Castle” (2004)

 

หนังยังได้นักแสดงชายดาวรุ่ง “ฮายาโตะ อิโซมูระ” ซึ่งมีผลงานโดดเด่นจากภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชัน “Tokyo Revengers โตเกียว รีเวนเจอร์ส” (2021) และได้รับรางวัล “นักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม” (Newcomer of the Year) ของ “Japan Academy Film Prize ครั้งที่ 45” (2022) จากเรื่อง “What Did You Eat Yesterday? เมื่อวานคุณทานอะไร?” (2021) และ “A Family” (2021 / Netflix) มารับบท “ฮิโรมุ” เจ้าหน้าที่รับสมัครเข้าร่วมโครงการ Plan 75 และได้นักแสดงสาวมากฝีมือ “ยูมิ คาวาอิ” จากเรื่อง “It’s a Summer Film! (เกือบจะไม่ได้) ฉายแล้วหน้าร้อนนี้!” (2020) มารับบท “โยโกะ” พนักงานผู้ช่วยให้คำปรึกษากับผู้เข้าร่วมโครงการ Plan 75 รวมถึงได้ “สเตฟานี อาริแอนน์” นักแสดงลูกครึ่งญี่ปุ่น-ฟิลิปปินส์มารับบท “มาเรีย” แรงงานต่างด้าวผู้ทำงานเก็บกวาดของใช้ของผู้สมัครใจเสียชีวิตในโครงการ Plan 75 หลังจากที่พวกเขาจากไปแล้ว

 

Plan-75-JP-Trivia-Info07

 

บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ “จิเอะ ฮายะกาวะ”

“จิเอะ ฮายากาวะ” เกิดที่โตเกียว เรียนสาขาถ่ายภาพที่สคูลออฟวิชวลอาร์ตส์ในนิวยอร์ก หนังสั้นเรื่อง “Niagara” (2013) ของเธอได้รับคัดเลือกโดยซิเนฟงดาซิยง “เทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2014” ชนะรางวัลนักวิจารณ์จาก “เทศกาลหนังวลาดิวอสต็อก” ได้รางวัลชนะเลิศจาก “เทศกาลหนังผู้หญิงนานาชาติ” ที่กรุงโซล และ “เทศกาลภาพยนตร์เพีย” (PIA) หนังสั้นเรื่อง “Plan 75” ของเธอเป็นหนังเรื่องแรกในชุด “Ten Years Japan” (2018) ได้รับการชื่นชมอย่างล้นหลาม และได้ตระเวนฉายไปทั่วโลกจนในที่สุดเธอก็ตัดสินใจนำ “Plan 75” (2022) มาทำเป็นหนังเรื่องยาวตามความตั้งใจเดิมตั้งแต่ทีแรก

 

เมื่อหลายปีก่อนคุณทำหนังสั้นเรื่อง “Plan 75″ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย

เดิมทีฉันคิดจะทำ Plan 75″ เป็นหนังยาวในปี 2017 ระหว่างที่ฉันกำลังพัฒนาพล็อตเรื่องนั้น ฉันได้รับการติดต่อจาก “เอย์โกะ มิซูโนะ เกรย์” ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของโปรเจกต์ “Ten Years Japan” (และกลายมาเป็นโปรดิวเซอร์ของ “Plan 75”) เธอกำลังมองหาผู้กำกับที่สนใจอยากทำหนังสั้นว่าด้วยญี่ปุ่นในอนาคต โดยมีแก่นเรื่องเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม ฉันเลยคิดว่า “Plan 75” น่าจะเหมาะกับโปรเจกต์นี้ ฉันเลยเสนอไปโดยดัดแปลงเป็นฉบับหนังสั้น บทเดิมที่เป็นหนังยาวนั้น ฉันต้องการจะเล่าชีวิตของตัวละคร 5 ตัว ฉันก็เลยเลือกมา 1 ตัวละครเพื่อทำเป็นหนังสั้นความยาว 18 นาที อีกอย่างฉันอยากร่วมงานกับ “ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” ด้วย เพราะเขาเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของ “Ten Years Japan” การทำหนังสั้นเรื่องนั้นจึงนับเป็นโอกาสที่ดีของฉัน

 

ถ้าไม่นับพล็อตเรื่องที่ชวนให้ติดตามและการยินยอมให้คนเลือกตายได้ “Plan 75” กำลังพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันในญี่ปุ่น เราสามารถสรุปได้เลยไหมว่าหนังกำลังพูดถึงปัญหาสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น

ฉันคิดว่าอย่างนั้น หนึ่งในปัญหาวิกฤติของญี่ปุ่นคือประชากรที่อยู่ในสถานะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น ผู้สูงอายุ ในโลกความเป็นจริงเราอาจจะไม่มีกฎหมาย “Plan 75” แต่หลายๆ อย่างในหนังนั้นเกิดขึ้นจริงๆ เช่น คนแก่หลายคนยังต้องทำงานเพราะลำพังแค่เงินบำนาญนั้นไม่พอกินพอใช้ ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ความรู้สึกที่ผู้สูงอายุต้องกลายเป็นภาระของสังคม และพวกเขาก็ต้องอับอายที่ต้องไปขอสวัสดิการใดๆ จากรัฐ บรรยากาศตอนนี้ทำให้ผู้สูงอายุต้องกลายเป็นคนไร้ค่า สิ้นหวัง และที่หนักหนาที่สุดคือกลายเป็นคนมองไม่เห็นความเจ็บปวดของคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันตั้งใจเล่าในหนัง

 

ทำไมตัวละครคนแก่ในหนังถึงยอมเข้าร่วมโครงการ “Plan 75” ได้ง่ายนัก

คนญี่ปุ่นมีความเชื่อที่หนักแน่นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนแก่ๆ ว่าเราต้องไม่เป็นภาระของคนอื่น มันคล้ายเป็นศีลธรรมหลักของชาติเลย ทำให้คนญี่ปุ่นแทบทุกคนไม่อยากสร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือสังคม นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากสังคมที่ทำให้พวกเขารู้สึกไร้ค่า และเป็นภาระของสังคม สื่อมวลชนเองก็มีส่วนสร้างความหวาดกลัวต่อการเป็นผู้สูงอายุและสังคมสูงอายุ คนก็เลยกลัวเวลาตนเองอายุมากขึ้น แม้แต่ตอนนี้คนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นก็วิตกว่าชีวิตวัยเกษียณของพวกเขาจะเป็นอย่างไร แถมรัฐบาลญี่ปุ่นยังพยายามจะบอกกล่าวกับประชาชนทุกคนว่าให้ช่วยเหลือตนเอง

 

Plan-75-JP-Still04

Plan-75-JP-Still15

 

เราสามารถเรียกสถานการณ์ในหนังของคุณว่าเป็นสังคมแบบ “พรีฟาสชิสต์” (ก่อนการเกิดเผด็จการฟาสชิสต์) ได้ไหม หนังของคุณกำลังวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเสรีนิยมสุดโต่งหรือเปล่า ไอเดียเรื่องการกำจัดประชากรที่ไม่มีคุณค่าในการผลิตมันดูเป็นฟาสชิสต์อยู่ไม่น้อยเลย

ฉันไม่ได้ต้องการติติงแนวคิดแบบเสรีนิยมสุดโต่ง แต่ฉันพยายามวิจารณ์สังคมที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและการผลิตมากกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่างหาก การกำจัดประชากรที่ “ไม่มีคุณค่าในการผลิต” อาจจะใกล้เคียงกับฟาสชิสต์ แม้ประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีผู้นำเผด็จการ แต่บรรยากาศดังกล่าวกลับเกิดขึ้นจากแรงกดดันของประชาชนด้วยกันเอง สิ่งนี้แหละที่มันน่ากลัวสำหรับฉัน

 

การฆาตกรรมหมู่ในช่วงเปิดเรื่องทำให้นึกถึงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในซางามิฮาระ ซึ่งคนร้ายบุกเข้าไปแทงคนพิการ (มีผู้เสียชีวิต 19 ศพ บาดเจ็บ 26 คน โดยผู้ต้องหาเป็นอดีตพนักงานของศูนย์ดูแลผู้พิการเอง)

ฉันตกใจมากตอนได้ข่าวการฆาตกรรมใน “ซางามิฮาระ” ตอนฤดูร้อนปี 2016 ฉันมองว่ามันไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากคนบ้าคนหนึ่งลุกขึ้นไปแทงคนพิการ แต่มันเป็นผลผลิตของสังคมที่ใจแคบและไร้เหตุผล ฉันต้องการทำหนังให้คนดูได้ถกเถียงว่าเราต้องการสังคมแบบนี้จริงๆ น่ะหรือ เหตุการณ์ในซางามิฮาระ คือหนึ่งในแรงกระตุ้นให้ฉันทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา

 

จริงหรือเปล่าที่คนพูดกันว่าถ้าคุณไปเที่ยวโตเกียว คุณจะเห็นคนแก่คอยเก็บก้นบุหรี่ตามทางเท้า หรือไม่ก็เป็นพนักงานเฝ้าที่จอดรถ

ใช่ค่ะ ผู้สูงอายุมากมายในญี่ปุ่นยังต้องทำงาน หลายคนทำงานเพราะไม่อยากอยู่เฉยๆ อยากออกมานอกบ้าน พวกเขาไม่ได้ขัดสนเงินทอง (พวกเขาต้องการเข้าหาสังคมบ้าง) แต่ผู้สูงอายุอีกบางส่วนทำเพราะพวกเขาจำเป็นต้องทำเพื่อปากท้อง ฉันยินดีด้วยกับผู้สูงวัยที่ต้องการทำงานเพราะต้องการทำให้ตัวเองรู้สึกมีค่า ทำให้ชีวิตมีความหมาย แต่ถ้าพวกเขาต้องทำเพื่อดื้นรนเพื่อความอยู่รอด หวาดกลัวทุกวันว่าจะเอาอะไรกิน แบบนี้ฉันยอมรับไม่ได้จริงๆ ที่สังคมไม่ดูแลพวกเขา

 

“Plan 75” มีความคล้ายคลึงกับประเพณี “อุบะสึเทะ” ซึ่งอยู่ในหนังเรื่อง “Ballad of Narayama” (1983) ของ “โชเฮย์ อิมามูระ” 

จะว่าอย่างนั้นก็ได้ ฉันรู้ว่าคนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าเกิดมาต้องเสียสละตนเอง ความเสียสละตนกลายเป็นภาพแทนของ “ความดี” และ “ความถ่อมตัว” ฉันคิดว่าหนังสองเรื่องนี้มีตัวละครที่คิดแบบเดียวกัน แต่ใน “Plan 75” ฉันต้องการโจมตีรัฐบาลซึ่งไม่ได้ปรากฏโฉมในหนัง แต่พวกเขาเป็นผู้ชักใยระบบแบบนี้ให้เกิดขึ้น และประชาชนต้องทุกข์ทรมานกับสิ่งเหล่านี้

 

Plan-75-JP-Still09

Plan-75-JP-Still06

 

ในหนังคลาสสิกหลายเรื่องของญี่ปุ่นจะแสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างพ่อแม่สูงวัยและลูกหลาน บางครั้งก็อยู่บ้านเดียวกัน ในหนังของคุณ ดูเหมือนจะไม่มีความผูกพันแบบนี้ให้เห็นเลย แต่กลับมีตัวละครพนักงาน 2 คนของโครงการ “Plan 75” ที่เกิดความเห็นอกเห็นใจตัวละครผู้สูงวัย

ความผูกพันแบบที่คุณพูดถึงนั้นแทบไม่หลงเหลืออยู่แล้วในสังคมญี่ปุ่น ความผูกพันในครอบครัวอ่อนแอลงเรื่อยๆ รวมถึงความผูกพันแบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน และมันทำให้คนญี่ปุ่นไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจคนอื่น ตัวละครสองตัวในเรื่องอย่าง “ฮิโรมุ” และ “โยโกะ” ตอนแรกพวกเขาก็นึกถึงความเจ็บปวดของคนอื่นไม่ออกเหมือนกัน แต่ผ่านไปสักพักพวกเขาจะเริ่มสะเทือนใจไปกับชะตากรรมของผู้สูงวัย ฉันคิดว่าความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนรอบข้างนี่แหละคืออาวุธหลักในการต่อสู้กับความใจแคบของสังคม ฉันอยากเน้นย้ำว่าฉันยังเหลือความหวังในตัวคนรุ่นใหม่

 

ในหนังยังแสดงให้เห็นความผูกพันระหว่างผู้สูงวัยและแรงงานอพยพด้วย ทำไมคุณถึงใส่ส่วนนี้เข้ามาในหนัง

ในความเป็นจริงมีแรงงานต่างด้าวมากมายเข้ามาทำงานเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้ดูแลผู้สูงวัย เพราะญี่ปุ่นกำลังขาดแคลนแรงงาน ฟิลิปปินส์เป็นชาติที่ส่งออกแรงงานมากที่สุด ที่ฉันเลือกตัวละครคนฟิลิปปินส์ เพราะว่าคนฟิลิปปินส์ยังมีความผูกพันที่แน่นแฟ้นกับครอบครัว ซึ่งต่างจากคนญี่ปุ่น พวกเขามีจิตวิญญาณการช่วยเหลือคนอื่นที่มีพื้นฐานมาจากแนวคิดทางศาสนาเหมือนเป็นวัฒนธรรมที่ต้องรักใคร่กลมเกลียวกัน ฉันต้องการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสังคมที่อบอุ่นแบบฟิลิปปินส์และสังคมที่เย็นชาแบบญี่ปุ่น

 

แม้สถานการณ์จะดูน่าหวาดหวั่น แต่พนักงานของโครงการ “Plan 75” กลับพูดจาสุภาพและใจเย็นมาก คุณต้องการจะวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะนิสัยรักความสุภาพของคนญี่ปุ่นหรือเปล่า

ฉันไม่ได้ตั้งใจจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องกิริยามารยาทคนญี่ปุ่นหรอก แต่ฉันอยากชี้ให้เห็นความรุนแรงภายใต้ฉากหน้าที่ดูยิ้มแย้ม ฉันคิดว่าฉากเปิดเรื่องจะอธิบายได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ทำให้ “Plan 75” ดูอันตรายก็คือภายนอกมันดูเป็นสิ่งสวยงาม ฉันอยากเน้นย้ำจุดนั้นด้วยการทำให้พนักงานทุกคนดูสุภาพและยิ้มแย้ม เป็นมนุษย์ที่ไม่มีความคิดความรู้สึกแต่ทำตามที่รัฐบาลสั่งให้ทำ การทำให้มนุษย์ “หยุดคิด” เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับฉัน

 

บทหนังของคุณสมบูรณ์ไปทุกแง่มุม คุณช่วยบอกเล่าการทำงานให้ฟังสักหน่อย

ฉันใช้เวลาเขียนบทนาน 4 ปี โดยได้รับความช่วยเหลือจาก “เจสัน เกรย์” และ “เอย์โกะ มิซูโนะ เกรย์” ถ้าไม่มีพวกเขา ฉันคงทำไม่สำเร็จ ฉันเขียนบทร่างที่ 17 ซึ่งเป็นร่างสุดท้ายก่อนถ่ายทำเพียงไม่กี่วัน สิ่งที่ฉันย้ำเตือนตัวเองเสมอเวลาเขียนบทก็คือจงคิดนอกกรอบแล้วจงฟังความเห็นคนอื่น และจงให้เวลากับงานเขียนบท อย่าเร่ง เพราะยิ่งเวลามีมากบทจะยิ่งเติบโตสวยงาม

 

Plan-75-JP-Still24

Plan-75-JP-Still23

 

ช่วยเล่าการทำงานกับผู้กำกับภาพให้ฟังสักหน่อย

ฉันตื่นเต้นเหลือเกินที่ได้เห็นวิธีการทำงานของ “ฮิเดโฮะ อุราตะ” ทั้งการจับภาพในแต่ละฉากและการสร้างมุมมองแบบภาพยนตร์ให้เกิดขึ้น เขายังช่วยแนะนำเพิ่มเติมฉันเรื่องบทและเรื่องการทำหนัง ฉันได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากเขา โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับทีมงานและพลังของการคิดบวก

 

พล็อตของเรื่องดูน่าตื่นตาตื่นใจมาก แต่คุณกลับเล่ามันออกมาในแนวทางสมจริง

ฉันต้องการให้ผู้ชมรับรู้ว่านี่ไม่ใช่หนังไซไฟ แต่มันสามารถเกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในสังคม ฉันต้องการให้ทุกอย่างในหนังดูปกติธรรมดาที่สุด รวมถึงฉากหลังต่างๆ ในหนังด้วย

 

คุณช่วยพูดถึงนักแสดงในหนังให้ฟังหน่อย

“ฮายาโตะ อิโซมูระ” เล่นเป็น “ฮิโรมุ” เขาเคยเล่นบทสมทบมาแล้วมากมายทั้งในทีวีและหนัง เขาเคยเล่นเป็นยากุซ่า เด็กมัธยมรูปหล่อ เกย์จอมทะเล้น เพราะได้บทที่หลากหลายเช่นนี้ เขาจึงได้ฉายากิ้งก่าเปลี่ยนสี เขาเริ่มได้เล่นบทนำบ้างแล้ว และกำลังจะเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตาคนต่อไปของวงการหนังญี่ปุ่น

“ยูมิ คาวาอิ” เล่นเป็น “โยโกะ” เป็นนักแสดงดาวรุ่งที่เพิ่งเริ่มงานแสดงในปี 2019 เรียกได้ว่าหน้าใหม่ในวงการมากๆ ส่วนใหญ่เธอจะเล่นหนังและเพิ่งชนะรางวัลนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยมมาด้วย ฉันค่อนข้างแน่ใจว่าเธอจะดังในอนาคต เธอฉลาดและกล้าหาญ มีความสามารถมากจริงๆ

“ทากะ ทากาโอะ” เล่นเป็น “ยูกิโอะ” ลุงของฮิโรมุ เป็นนักแสดงละครเวทีรุ่นเดอะ เขาไม่ค่อยเล่นหนังมากนัก

“จิเอโกะ ไบโช” เป็นนักแสดงหญิงและนักร้องระดับตำนาน ทุกคนคงรู้จักเธอจากบท “ซากุระ” น้องสาวของโทราซังในหนังชุด “Otoko wa Tsuraiyo” 

 

“Plan 75 วันเลือกตาย” 8 กันยายนนี้ ในโรงภาพยนตร์

ตัวอย่างซับไทย: https://youtu.be/aNqGJzX-p-g 

Plan 75 วันเลือกตาย

Plan 75 วันเลือกตาย

เมื่อคุณอายุ 75 คุณเลือกที่จะ “อยู่” หรือ “ตาย”   “Plan 75 วันเลือกตาย” เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกของ “จิเอะ...

รายละเอียดภาพยนตร์

Featured News