เมื่อพูดถึงภาพยนตร์แนวสงครามในฮอลลีวูด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสงครามที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินถ่ายทอดปฏิบัติการของเหล่าทหารบกที่ต้องปะทะกับศัตรูแบบระยะประชิด และใช้อาวุธปืน ระเบิด หรือรถถังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรบ แต่ยังมีหนังสงครามอีกส่วนหนึ่งที่หยิบเอาเรื่องราวปฏิบัติการในสมรภูมิใต้ทะเลลึก โดยมีสุดยอดอาวุธ “เรือดำน้ำ” เป็นตัวชูโรง ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่สร้างความตื่นเต้นของฉากรบใต้น้ำและความระทึกของแผนการรบที่บีบหัวใจ สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมไม่น้อยหน้าหนังสงครามใดๆ แม้แต่น้อย รวมทั้งภาพยนตร์เรื่องล่าสุด “Hunter Killer สงครามอเมริกาผ่ารัสเซีย” ที่นำเสนอชั่วโมงระทึกของวีรกรรมทหารแนวหน้าใต้มหาสมุทร เป้าหมายชิงตัวประธานาธิบดีรัสเซียจากกลุ่มกบฏที่ต้องการจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่3 ผลงานแอคชั่นฟอร์มยักษ์ของผู้อำนวยการสร้าง “Olympus Has Fallen” และ “Fast and Furious” นำแสดงโดย “เจอราร์ด บัตเลอร์” และ “แกรี โอลด์แมน” ซึ่งมีกำหนดฉาย 25 ตุลาคมนี้ในประเทศไทย
มาร่วมนับถอยหลังก่อนปฏิบัติการครั้งใหม่ใน “Hunter Killer” จะอุบัติ ไปกับ “5 หนังสงครามเรือดำน้ำ” เรื่องเยี่ยมที่โลกไม่เคยลืม…
“Das Boot” (1981) ภาพยนตร์สงครามสัญชาติเยอรมันที่ได้ชื่อว่าเป็นภาพยนตร์เรือดำน้ำที่ดีที่สุดตั้งแต่เคยมีการสร้างมา โดยฝีมือของผู้กำกับ “วูล์ฟกัง ปีเตอร์เซน” ดำดิ่งไปกับภารกิจของเรืออู-96 ในปฏิบัติการทำลายขบวนเรือสินค้าของอังกฤษแถบทะเลเมดิเตอเรเนียนและมหาสมุทรแอตแลนติก ก่อนที่จะต้องเปิดฉากโจมตีกับกองเรือของอังกฤษระหว่างเล็ดลอดผ่านช่องแคบยิบรอลตา
ปีเตอร์เซนนำเสนอภาพยนตร์ผ่านมุมมองของลูกเรือ โดยเน้นถึงความเป็นอยู่ของลูกเรือขณะใช้ชีวิตในเรือดำน้ำ ทั้งความเครียด ความอึดอัด และความหวาดกลัวขณะทำการรบ ภาพยนตร์ใช้เวลาถ่ายทำนานถึงสองปี ใช้กล้องมือถือติดตามนักแสดงที่ใช้ชีวิตอยู่ในฉากเรือดำน้ำเป็นเวลานานหลายเดือนโดยไม่มีโอกาสได้ออกมาอยู่กลางแจ้ง ภาพยนตร์สร้างด้วยงบประมาณสูงถึง 35 ล้านมาร์กเยอรมันเนื่องจากผู้กำกับต้องการให้มีความสมจริงในทุกด้าน นับเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างสูงสุดเป็นอันดับสองของเยอรมนี
“The Hunt for Red October” (1990) ภาพยนตร์ระทึกขวัญที่ดัดแปลงจากผลงานเรื่องแรกในนวนิยายชุด “แจ็ก ไรอัน” โดยปลายปากกาของ “ทอม แคลนซี” เป็นผลงานกำกับของ “จอห์น แมคเทียร์แนน” เรื่องราวของผู้บังคับการเรือฝ่ายโซเวียตที่ต้องการแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ตกเป็นหน้าที่ของแจ็ก ไรอัน CIA หนุ่มที่ต้องพิสูจน์เบื้องหลังของการเปลี่ยนฝ่ายครั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามระหว่างสองชาติ นำแสดงโดย “ฌอน คอนเนอรี” และ “อเล็ก บอลด์วิน”
ในตอนแรก “The Hunt for Red October” เป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมแต่ยังไม่มีค่ายไหนสนใจจะนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เนื่องจากมีเนื้อหาที่ซับซ้อนและสุ่มเสี่ยง ในที่สุดอเล็ก บอลด์วินถูกเรียกตัวให้มาแสดงในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1988 เขาได้รับการฝึกให้ควบคุมเรือดำน้ำชั้นลอสแอนเจลิสโดยไม่รู้เลยว่าเขากำลังจะได้รับบทเป็นแจ็ก ไรอัน ในขณะที่ฌอน คอนเนอรี รับบทมาร์โก เรเมียส ผู้บังคับการเรือ Red October ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถกวาดรายได้ทั่วโลกได้สูงถึง 200.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากงบสร้างแค่ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“Crimson Tide” (1995) ถือเป็นภาพยนตร์เรือดำน้ำที่ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนอีกเรื่องหนึ่ง เพราะได้สองดาราแม่เหล็กในเวลานั้นอย่าง “เดนเซล วอชิงตัน” มาประชันบทกับ “จีน แฮกแมน” แถมบวกกับฝีมือของ “โทนี สก็อตต์” สุดยอดผู้กำกับสายแอคชั่นผู้ล่วงลับ ทำให้ “Crimson Tide” ออกมาเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความระทึกและความสมจริงของยุทธการทางทหารจนครองใจทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์
เรื่องราวเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตระดับโลก กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้ยิงนิวเคลียร์ซึ่งอาจจุดชนวนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ความตึงเครียดก่อตัวขึ้นทันทีที่นาวาโทสูงประจำเรือดำน้ำ (แฮกแมน) และรองผู้บังคับการคนสนิท (วอชิงตัน) ขัดแย้งกันเรื่องความน่าเชื่อถือของคำสั่ง และต่อสู้กันด้วยจิตวิทยาเพื่อเป็นผู้บังคับเรือลำนี้
“U-571” (2000) นำแสดงโดย “แมทธิว แมคคอนาเฮย์, บิล แพกซ์ตัน, ฮาร์วีย์ ไคเทล และ จอน บอง โจวี” กำกับการแสดงโดย “โจนาธาน มอสโทว์”
ค.ศ. 1942 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเรือสหรัฐจับสัญญาณเรดาร์ได้ว่า เรือดำน้ำของนาซีเยอรมันรุ่น อู-571 (U-571) ลำหนึ่งจอดเสียลอยน้ำอยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ที่สำคัญในเรือลำน้ำมีเครื่องส่งสัญญาณ “อีนิกมา” (Enigma) อยู่ด้วย ซึ่งถ้ายึดเครื่องนี้มาได้จะเป็นจุดหักเหของยุทธบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเลยทีเดียว
สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว นับได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีงานสร้างและการออกแบบศิลป์ย้อนไปในยุคสมัยนั้นอย่างแท้จริง จนมีการนำไปเปรียบเทียบกับเรื่อง “Das Boot” และเมื่อเข้าฉายแล้วก็สามารถทำรายได้เป็นอันดับ 1 ของตารางบ็อกออฟฟิศได้ถึง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน ภาพยนตร์ได้รับเสียงวิจารณ์ว่าสร้างบรรยายกาศกดดันได้เป็นอย่างดี และได้ชนะเลิศรางวัลออสการ์ สาขาลำดับเสียงยอดเยี่ยมในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 73
“K-19: The Widowmaker (2002) เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากเรื่องจริงของเรือดำน้ำชั้นโฮเทลหมายเลข K-19 ที่ประสบอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1961 มันคือเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์สัญชาติโซเวียตที่ประสบอุบัติเหตุกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลเนื่องจากระบบหล่อเย็นชำรุดขณะ ปฏิบัติการอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ภาพยนตร์กำกับโดยผู้กำกับหญิงแกร่งของวงการ “แคทริน บิเกโลว์” ที่ต่อมาเธอกลายเป็นผู้ชนะรางวัลออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมจากอีกหนึ่งภาพยนตร์สงครามเรื่อง “The Hurt Locker”
นำแสดงโดยสองตัวพ่อแห่งวงการแอคชั่น “แฮร์ริสัน ฟอร์ด” และ “เลียม นีสัน” ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ใช้ทุนสร้างสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นภาพยนตร์อิสระที่สร้างด้วยทุนสูงที่สุดเรื่องหนึ่ง ภาพยนตร์ริเริ่มจากแนวคิดของแคทริน บิเกโลว์ที่ต้องการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเรือดำน้ำ K-19 ผู้เขียนบทเดินทางไปรัสเซีย เพื่อพบกับ “นาวาเอกนิโคไล ซาเตเยฟ” ผู้บังคับการเรือ และ “นาวาเอกวลาดีมีร์ เยนิน” ต้นเรือ ต่อมาบิเกโลว์เดินทางไปสมทบ และสัมภาษณ์ลูกเรือทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่