ในภาพยนตร์เรื่อง “CODA โคด้า หัวใจไม่ไร้เสียง” นอกจากผู้กำกับ “ฌาน เฮเดอร์” จะด่ำดิ่งเข้าสู่วัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนหูหนวกและเรียนรู้ภาษาใหม่เพื่อเล่าเรื่องราวของ “รูบี” (เอมิเลีย โจนส์) ในช่วงเวลาที่กำลังก้าวข้ามผ่านวัย เธอยังดำดิ่งเข้าสู่โลกของเสียงดนตรีซึ่งเป็นโลกใบที่เธอไม่คุ้นเคยเท่าไหร่ แต่จำเป็นต้องทำเพื่อค้นพบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจในชีวิตของตัวเอกมากขึ้น
“นี่คือเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นและสิ้นสุดชีวิตวัยเด็ก ดนตรีถือเป็นส่วนสำคัญของหนังเรื่องนี้ และการเป็นลูกของคนหูหนวกก็เป็นส่วนสำคัญของหนังเช่นกัน ยิ่งฉันอยู่กับหนังเรื่องนี้มากเท่าไหร่ ฉันก็ยิ่งคิดถึงสองอย่างนี้ค่ะ และพบว่ามันเชื่อมโยงกันด้วย หลายคนอาจคิดว่าคนที่หูหนวกไม่สามารถเข้าถึงประสบการณ์ของเสียงดนตรีได้ แต่ฉันคิดว่าภาษามือก็คือดนตรีเช่นกันในทางหนึ่งและในตัวของมันเอง ดังนั้นการดูทั้งสองอย่างนี้สอดประสานไปพร้อมๆ กันจึงมาพร้อมกับความสวยงามค่ะ”
จากชื่อเรื่อง หนังสะท้อนถึงความเชื่อมโยงของ “รูบี” กับครอบครัวของเธอเอง และความเชื่อมโยงเกี่ยวกับดนตรี “CODA” ไม่เพียงย่อมาจาก “Child of Deaf Adults” แต่ยังเป็นคำศัพท์เทคนิคในทางดนตรีด้วย
ผู้ประพันธ์ดนตรีประจำหนังเรื่องนี้ “มาเรียส เดอ วรีส” เจ้าของรางวัลบาฟตาและแกรมมีอธิบายว่า “ความบังเอิญของ CODA ในทางดนตรีกับการเป็นลูกของคนหูหนวดบ่งบอกถึงอะไรหลายๆ อย่าง เราคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้วถึงการใช้ดนตรีที่เชื่อมโยงกับเนื้อเรื่องที่ว่าด้วยคนที่ใช้ชีวิตท่ามกลางความเงียบเสียงและเชื่อมโยงกับเสียงดนตรี และการใช้เสียงเงียบที่มีความทรงพลังไม่แพ้เสียงดนตรีเลยครับ”
การประพันธ์ดนตรีในหนังเรื่องนี้ “ฌาน เฮเดอร์” ผู้กำกับทำงานอย่างใกล้ชิดกับ “มาเรียส เดอ วรีส” ผู้ประพันธ์เพลงและ “นิก แบ็กซ์เตอร์” โปรดิวเซอร์ชื่อดังผู้จบการศึกษาจากสถาบันดนตรีเบิร์กลีย์และอยู่เบื้องหลังดนตรีประกอบในหนังดังๆ เจ้าของรางวัลออสการ์ อาทิ “La La Land” (2016) และ “A Star Is Born” (2018) เป็นต้น เดอ วรีสและแบ็กซ์เตอร์พบว่ามีหลายฉากหลายตอนที่บทสนทนาสามารถเกิดขึ้นได้ในรูปแบบของภาษามือ
“ตอนที่เราเริ่มเตรียมดนตรีสำหรับสื่ออารมณ์ในหนัง เราพบว่าสิ่งเล็กๆ หลายอย่าง อากัปกิริยาบางอย่างสามารถกลายเป็นจุดที่น่าสนใจได้” เดอ วรีสเผย “ในช่วงต้นเราอาจไม่ใช้ดนตรีเพื่อสื่อความหมายออกมาโดยตรง แต่เมื่อดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เราพบว่าหนังเปิดช่องให้เราเล่นกับดนตรีได้มากขึ้น แต่ในช่วงแรกเลยจะไม่มีดนตรีประกอบด้วยซ้ำครับ”
ดนตรีไม่เพียงเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญในหนังเพราะ “รูบี” มีความสามารถด้านการร้องเพลง และเธอยังใช้เสียงเพลงเพื่อสื่อความรู้สึกในใจออกมาซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ทั้ง “ไมลส์” (เฟอร์เดีย วอลช์-พีโล) และรูบีผูกพันกันมากขึ้น ทำให้ขั้นตอนการเลือกใช้เพลงประกอบมีความสำคัญมากๆ เพราะจะส่งผลสำคัญต่อเนื้อหาของเรื่องและพัฒนาการของตัวละครไปด้วย
แบ็กซ์เตอร์เสริมว่า “ชานอยากใช้ดนตรีที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติ ความดิบ ไม่รู้สึกว่ามันประดิษฐ์เกินไป เราไม่ได้ต้องการจะสร้างหนังเพลงอะแคปเปลา แต่สิ่งสำคัญคือการหาศิลปินที่สัมผัสถึงอารมณ์ดังกล่าว เพราะการผจญภัยของรูบีหลักๆ แล้วมันเป็นเรื่องของการตามหาเสียงที่ใช่สำหรับเธอ”
เพลงโซลคลาสสิก “You’re All I Need to Get By” ต้นฉบับเป็นของ “แทมมี เทอร์เรล” และ “มาร์วิน เกย์” เมื่อปี 1968 และถือเป็นเพลงสำคัญของเรื่อง “เราใช้เพลงนี้เป็นเพลงที่แบร์นาร์โด (ยูจีนิโอ เดอร์เบซ)ใช้ในการสอน มันช่วยทำให้เคมีระหว่างรูบีและไมลส์เข้มข้นขึ้น และที่สำคัญมากๆ มันคือเพลงที่รูบีใช้เพื่อสื่อความรู้สึกของเธอไปถึงพ่อ”
จากนั้นความท้าทายก็ตกอยู่ที่สองนักแสดงอย่าง “เอมิเลีย โจนส์” และ “เฟอร์เดีย วอลช์-พีโล” ที่ต้องร้องเพลงดังกล่าวออกมา และสำหรับโจนส์ที่ต้องร้องเพลงโซโลเดี่ยว “Both Sides Now” ของ “โจนี มิตเชลล์” ไอคอนเพลงโฟล์ก ซึ่งรูบีเลือกเพลงบัลลาดทรงพลังเพลงนี้เพื่อใช้เป็นเพลงสำหรับออดิชันเข้าเรียนต่อที่เบิร์กลีย์ เธอและครูวีทำการบ้านอย่างหนักเพื่อเตรียมความพร้อม เธอใช้เวลาซ้อมคืนแล้วคืนเล่าและในช่วงสุดสัปดาห์ที่บ้านเขา ซึ่งเขาจะดีดเปียโนไปขณะที่เธอขับร้อง เมื่อรูบีเริ่มมั่นใจมากขึ้นในเสียงและการแสดงของเธอเอง เมื่อถึงเวลาที่ต้องออดิชันจริงๆ เธอก็หลุดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับเนื้อร้อง ทำนอง และสื่อความออกมาผ่านทั้งเสียงร้องและภาษามือ
เดอ วรีสอธิบายว่า “นิกและผมรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอกตอนที่เฟอร์เดียและเอมิเลียพร้อมขับร้องบทจอหนัง เราดูสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขาทั้งในขั้นตอนการวอร์มเสียงและการโค้ช เราเริ่มเข้าใจถึงพลังเสียงของทั้งคู่โดยเฉพาะกับเอมิเลีย การแสดงของเธอแต่ละครั้งจะต้องนำเสนอการเติบโตที่แตกต่างกันออกไปตลอดทั้งเรื่อง เราพบว่ามันวิเศษมากๆ ที่ได้เห็นความทรงพลังและความมานะอุตสาหะตลอดการถ่ายทำ ทั้งการเรียนรู้ภาษามือและยังต้องเรียนรู้เพลงใหม่ๆ แต่ละเพลง และต้องเรียนรู้การสอดประสานกันของทั้งคู่ไปจนจบเรื่องเลยครับ”
โจนส์อาจมีประสบการณ์การร้องเพลงไม่มากนักตอนที่ได้รับบทเป็นรูบี เธอเคยรับบทเป็น “เจ้าหญิงฟิโอนา” ตอนวัยเด็กในละครเวที “Shrek: The Musical” ตอนอายุ 8 ขวบ และคอยร้องประสานเสียงในโรงเรียนมาบ้าง “แต่ไม่เหมือนกับที่ครูวีสอนเลยค่ะ” โจนส์เล่า
ส่วนพระเอกของเธอบนจอ วอลช์-พีโลมีประสบการณ์มาพอสมควร “ตอนผมยังเด็ก ผมเคยรับหน้าที่ร้องเสียงโซปราโน และร้องโซโลในบางท่อนอยู่บ้างครับ ผมเคยเล่นดนตรีแล้วก็ร้องประสานเสียงมาก่อนด้วย” ทั้งนี้สมาชิกในวงที่ร่วมขับร้องกับโจนส์และวอลช์-พีโลเป็นนักเรียนจากเบิร์กลีย์ตัวจริงเสียงจริงและอยู่ในวงอะแคปเปลาที่ชื่อ “Pitch Slapped”
ผู้กำกับเฮเดอร์เสริมอีกว่า “เป้าหมายแรกของฉันในฐานะผู้เล่าเรื่องคือต้องทำให้เรื่องราวน่าติดตาม หนังว่าด้วยเรื่องราวของครอบครัวที่มีความเรียบง่าย แต่มันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและกลุ่มคนที่คุณอาจไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนักบนจอแบบนี้ น่าสนใจว่าฉากเหล่านี้มักจะเป็นฉากเงียบๆ และตัวละครมักจะนั่งอยู่กับที่พร้อมคุยผ่านภาษามือ และบังคับให้ผู้คนต้องดูสถานการณ์แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ฉันหวังว่าผู้คนที่ดูหนังเรื่องนี้จะตระหนักถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนหูหนวก และหากเจอพวกเขา 2 คนอยู่กลางท้องถนนใช้ภาษามือสื่อสารกัน แล้วจะรู้สึกนึกถึงหนังเรื่องนี้ค่ะ”
ผู้อำนวยการสร้าง “ฟิลิปเป รูสเซอเลต์” เล่าอีกว่า “ความหวังของเราคือคนดูจะเดินออกจากโรงพร้อมความรู้สึกใกล้ชิดกับตัวละครและชุมชนคนหูหนวก และให้ความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับพวกเขามากขึ้น และแน่นอนเราหวังว่าจะสนุกไปกับหนังเรื่องนี้ด้วยนะ”
ผู้กำกับเฮเดอร์ทิ้งท้ายว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในหนังเรื่องนี้ ประสบการณ์ที่ได้ทำหนังได้ผูกพันกับสิ่งที่ฉันสร้างขึ้น และเปิดประตูให้โลกได้รับรู้ก็ถือเป็นสิ่งที่มีค่าและทรงพลังมากๆ การทำหนังเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงมุมมองและความคิดของฉันเยอะมากค่ะ”
“CODA โคด้า หัวใจไม่ไร้เสียง” 30 ธันวาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
เพลย์ลิสต์ฮีลหัวใจ OST.CODA: https://bit.ly/3quqXhE
ตัวอย่างหนังและคลิปหัวใจไม่ไร้เสียง: https://bit.ly/32JEp8U