สมมติ (Supposed)

วันเข้าฉาย: 05/12/2023 น15+ ดราม่า, โรแมนติก 01 ชั่วโมง 38 นาที

เรื่องย่อ

หนุ่ม(อนันดา เอเวอริงแฮม) ชายหนุ่มที่ในชีวิตจริงทำงานออฟฟิศด้านไฟแนนซ์ แต่ในโลกโซเชียลใช้ชื่อว่า นน เขาชอบถ่ายภาพแลนด์สเคปหรือวิวช็อตสวยๆ ของกรุงเทพฯ ลงในโซเชียลของเขาที่มีผู้ติดตามอยู่พอประมาณ

วันหนึ่ง เขาสะดุดตากับคอมเมนต์ในไอจีของสาวที่ชื่อว่า “เดียร์” (ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช) จึงเข้าไปดูรูปของเธอซึ่งไม่ปรากฏตัวเธอชัดเจนนัก จะเห็นได้เพียงบางส่วนของใบหน้าเท่านั้น แต่มันยิ่งทำให้เขาสนใจเธอ

ทั้งคู่ได้นัดพบและมีความสัมพันธ์กัน นั่นทำให้เขาและเธออยากเจอกันอีก แต่ก็ตกลงว่าจะไม่ทำความรู้จักกันมากไปกว่านี้ และจะเรียนรู้กันในเงื่อนไขของการ สมมติ ตัวตนขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ โดยจะไม่มีความผูกพันกันนอกพื้นที่นี้เด็ดขาด

ความสัมพันธ์ในตัวตนสมมติของทั้งคู่จึงเริ่มตันขึ้นและดำเนินไปด้วยดี โดยทั้งสองไม่ต้องรู้จักตัวตนที่แท้จริงของกันและกัน  แต่นานวันเข้า นนเองก็เริ่มอยากรู้ว่าตัวจริงของเดียร์ว่าเป็นอย่างไร จึงได้ทำอะไรล้ำเส้นจากกติกาที่ตกลงกันไว้ และทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ต้องสั่นคลอน

สุดท้ายแล้ว “ความรัก” ที่ก่อตัวขึ้นระหว่าง “เขา” และ “เธอ” จะเป็น “ความจริง” ได้มั้ย

หรือมันจะเป็นเพียงแค่เรื่อง “สมมติ” ต่อไป…

 


 

จาก “Fake โกหกทั้งเพ” ถึง “สมมติ” (Supposed)

ย้อนรอยบรรยากาศ “กรุงเทพฯ เมืองคนเหงา” ใน “หนังธนกร”

“อั๋น-ธนกร พงษ์สุวรรณ” ถือเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่มีสไตล์โดดเด่นในการนำเสนอ “เนื้อหนัง” ผ่าน “นักแสดงดรีมทีม” ในแต่ละเรื่องได้อย่างมีเอกลักษณ์ชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นที่เลื่องลือถึง ภาพความงามของเมือง” (โดยเฉพาะ กรุงเทพฯ“) ที่หลายคนมักจะชมกันว่าไม่มีหนังเรื่องไหนที่ถ่ายกรุงเทพฯ ได้สวยเท่าหนังของเขาอีกแล้ว นอกจากโลเคชันและภาพจะสวยแปลกตาแล้ว มันก็ยังมีบรรยากาศเฉพาะตัวในแง่ ความเหงาของผู้คนในเมืองหลวง” ซึ่งแม้ว่า “ตัวละคร” จะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายแต่ก็ยังรู้สึก “เหงา” อยู่ดี ซึ่งโมเมนต์และอารมณ์แบบนี้มีให้จับต้องได้ใน หนังธนกร” เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเรื่อง Fake โกหกทั้งเพ” (2546) ผลงานกำกับภาพยนตร์ชิ้นแรกที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักและได้รับการจับตามองในฐานะผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของวงการ พร้อมถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอ รวมทั้งขึ้นแท่นหนังรักสุดเหงาที่ครองใจนักดูหนังมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

แต่แน่นอนว่าภาพกรุงเทพฯ ในความเป็นจริงและในหนังของธนกรไม่ได้มีเพียงแค่ด้านสวยงามเท่านั้น มันยังมีความดำมืดและลึกลับให้ชวนค้นหาอยู่อีกด้วย ซึ่งเขาเคยถ่ายทอดบรรยากาศของโลกใต้ดินสุดดาร์กได้อย่างถึงใจผู้ชมมาแล้วใน “เอ็กซ์แมน แฟนพันธุ์เอ็กซ์” (2547) หนังเรื่องที่สองของเขาที่ตีแผ่ด้านมืดของวงจรแอบถ่ายและอาชญากรรมทางเพศที่อยู่ใกล้ตัว

และความดิบดาร์กก็ยังมีให้เห็นอย่างเต็มคราบในผลงานเรื่องที่สี่ของเขาอย่าง “ท้าชน” (2552) ที่เขาเลือกเล่าเรื่องราวของตัวละครในโลกชุมชนแออัดและการพนันแข่งบาสเถื่อนที่เต็มไปด้วยแอ็กชันสุดมันส์ อาทิ ฉากแข่งบาสในกรงเหล็ก ฉากฟรีรันนิงแย่งลูกบาสในแฟลตที่มันจนเหลือเชื่อ

นอกจากนี้ เขายังท้าทายฝีมือและขยายขอบเขตผลงานของตนด้วยภาพยนตร์แอ็กชันแฟนตาซีฟอร์มยักษ์ “โอปปาติก (โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ) เกิดอมตะ” (2550) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ของเหล่าอมนุษย์ที่อยู่ในโลกซ้อนทับปะปนกับมนุษย์ทั่วไปได้อย่างทะเยอทะยานและน่าติดตามด้วยบรรยากาศที่มืดหม่น ลี้ลับ และเหงาจับใจ

เมื่อเขาหันกลับมาเล่ามุมมองที่ร่วมสมัยของชีวิตสาวโสดสุดคูลในกรุงเทพฯ อย่างเรื่อง “ซิงเกิลเลดี้ เพราะเคยมีแฟน” (2558) เขาก็สามารถถ่ายทอดความทันสมัยในโลกของเมืองหลวงได้อย่างสวยงามและยังคงความเท่ไม่แพ้หนังเรื่องอื่นๆ ของเขา

ทั้งหมดทั้งมวลจึงอาจกล่าวได้เต็มปากว่านอกจากความเป็น “นักเล่าเรื่อง” ของธนกรแล้ว เขายังเป็น “นักถ่ายทอดบรรยากาศ” ให้ออกมามีรูปแบบที่แปลกต่างกันในทุกโลกตัวละครของ หนังธนกร” ได้อย่างมีเสน่ห์และน่าจดจำเสมอมา…

ล่าสุด กับภาพยนตร์รักดราม่าส่งท้ายปีเรื่อง “สมมติ” (Supposed) งานกำกับชิ้นสุดท้ายของ “ธนกร พงษ์สุวรรณ” ที่จะชวนมาร่วมสำรวจมุมมองความรักความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวท่ามกลางเมืองใหญ่ในยุคปัจจุบันที่มีเส้นบางๆ คั่นกลางระหว่าง “ความจริง” กับ “เรื่องสมมติ” ผ่านภาพสวยงามและความรู้สึกเดียวดายโรแมนติก พร้อมปิดฉาก “กรุงเทพฯ เมืองคนเหงา” อย่างสมบูรณ์แบบ

 

“หนังเรื่องนี้ชื่อ สมมติ’ แต่คำนี้มันเขียนและอ่านได้หลายแบบ แต่มีความหมายเดียวกันคือ นึกเอา คิดเอา โดยไม่คำนึงถึงสภาพที่แท้จริง’ คุณอั๋น (ผู้กำกับ) มักจะชอบพูดคำว่า สมมุติ’ โดยออกเสียงว่า ม-มะ-ติ’ เสมอๆ ซึ่งเป็นการอำการใช้คำว่า สมมุติ’ ของตัวเอง ชื่อหนังเรื่องนี้จึงเขียนว่า สมมติ’ ไปโดยปริยาย เพราะการเขียนแบบไม่มี สระอุ’ ในคำนี้มันมีดีไซน์ที่สวยงามกว่า อย่างไรก็ตามแม้จะเขียนว่า สมมติ’ (สม-มด) แต่ก็ขอเรียกชื่อหนังว่า สมมุติ’ (สม-มุด) ละกัน” โปรดิวเซอร์ด้านโพสต์โปรดักชัน “ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ” เผยเกร็ดชื่อหนัง

 


 

“ผู้หญิง” ใน “หนังธนกร”

“ตัวละครหญิง” ในหนังของผู้กำกับ “ธนกร พงษ์สุวรรณ” จะมีจุดร่วมอยู่อย่างหนึ่งคือ “ความงาม ความอ่อนไหว และความลึกลับน่าค้นหา” ในคาแร็กเตอร์ของพวกเธอเหล่านั้น ที่สำคัญพวกเธอยังชวนฝันให้ตัวละครฝ่ายชายหลงใหลกันทั้งนั้น

ใน Fake โกหกทั้งเพ” (2546) ตัวละคร “นา” ที่รับบทโดย “อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ” ธนกรก็สามารถถ่ายทอดภาพของเธอให้ออกมาได้อีกแบบในมุมมองที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเมื่อเทียบกับผลงานที่ผ่านมาของเธอในยุคนั้น นาเป็นสาวทันสมัย เท่ สวย มีเสน่ห์มากจนเราเชื่อสนิทใจเลยว่า “เบ-โป้-ซุง” ตัวละครชายในเรื่องนี้จะพากันหลงใหลกันอย่างหัวปักหัวปำ

รวมไปถึง “ปราณ” ใน “โอปปาติก เกิดอมตะ” (2550) ที่แสดงโดย “เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ” ธนกรสามารถถ่ายทอดความงามแบบลี้ลับและเย้ายวนของเธอให้ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ปราณมีความลึกลับและอ่อนไหวในตัวเอง ซึ่ง เข็มอัปสรก็สามารถถ่ายทอดบทบาทนี้ออกมาได้เป็นอย่างดีงามเช่นกัน

จนมาถึงผลงานล่าสุดอย่าง “สมมติ” (Supposed) หนังเรื่องสุดท้ายของธนกร เขาได้สร้างตัวละครที่ชื่อว่า “เดียร์” ซึ่งพระเอกของเรื่องอย่าง “นน” ได้ค้นพบเธอในโลกโซเชียล และได้ตกลงสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่ง “แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช” สามารถถ่ายทอดความเป็นเดียร์ออกมาได้อย่างสดใส สดใหม่ และมีความลึกลับในแบบฉบับผู้หญิงของหนังธนกรแทบทุกเรื่อง… “งดงาม อ่อนไหว น่าค้นหา”

 


 

Supposed’s Note: “เกียรติ ศงสนันทน์” (ผู้เขียนบทร่วม)

โปรเจกต์นี้น่าจะเริ่มจากการที่ “อั๋น” (ธนกร พงษ์สุวรรณ) อยากทำหนังรักที่พูดถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นของผู้คนตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป “โลกโซเชียล” ที่ทำให้คนเราสามารถมีชีวิตแบบอื่นๆ ได้อีก นอกจากชีวิตที่น่าเบื่อจำเจในความเป็นจริงและคำถามหนักๆ ที่หาคำตอบได้ยากว่า

“แท้จริงแล้วตัวตนของเราเป็นยังไง”

ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจสำหรับเรา เพราะทุกๆ คนบนโลกใบนี้ต่างก็มีชีวิตหลายด้าน เรามีทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตกับครอบครัว ชีวิตกับคนรัก ชีวิตทางสังคมในหน้าที่การงาน และชีวิตในโลกโซเชียลที่เพิ่มเข้ามาในปัจจุบัน

เราทุกคนมีชีวิตหลายแบบ แบบที่เป็นอยู่ แบบที่อยากจะเป็น และแบบที่จำต้องเป็น

ทุกอย่างต่างผสมผสานปนเป จนบางทีเราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าตัวตนของเรานั้นจริงๆ แล้วเป็นยังไง แล้วสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ผู้คนที่อยู่รอบข้าง มีอะไรเป็นจริงบ้าง

หรือสุดท้ายแล้ว มันไม่มีอะไรจริงเลย ทุกอย่างล้วนถูก “สมมติ” ขึ้นมาทั้งนั้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นการสำรวจประเด็นเหล่านี้ผ่านเรื่องราวความสัมพันธ์ของชายหนุ่มหญิงสาวที่คบกันโดยไม่สนใจตัวตนในชีวิตจริง และหวังว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับทั้งคู่จะช่วยให้พวกเราได้คำตอบในปริศนาที่เราอยากรู้…ไม่มากก็น้อย

 


 

Supposed’s Note: “ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ” (พี่สาวผู้กำกับและผู้ควบคุมงานหลังการถ่ายทำ)

เราไม่ได้ทำหนังกับ “อั๋น” (ธนกร พงษ์สุวรรณ) มานานแล้ว เรื่อง “สมมติ” นี้ก็ไม่ได้ทำแต่แรก มีไปช่วยๆ เขาบ้างเรื่องเคเทอริงกองถ่ายเพราะงบสร้างมันน้อย ส่วนใหญ่อั๋นจะชอบมากวนให้เขียนเรื่องย่อให้หน่อย เวลาไปขายงาน รวมทั้งเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ได้ทำด้วยกันเรื่องนี้ แต่ก็ได้ฟังข่าวว่าอั๋นไปตระเวนคุยหาพระเอกมาหลายคน ทั้งที่เคยร่วมงานด้วยกันและไม่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน แต่สุดท้ายก็ออกมาเป็น “อนันดา เอเวอริงแฮม” อย่างที่เห็น ส่วนนางเอกคือ “แพต ชญานิษฐ์ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักเลย แต่อั๋นบอกว่าได้แล้วคนนี้

ตอนที่เริ่มเปิดกล้องอั๋นก็มีอาการป่วยอยู่แล้ว แต่ไม่เคยตรวจจริงจัง แม้ว่าทุกคนที่รู้จักจะสั่งให้อั๋นไปหาหมอเป็นเรื่องเป็นราวสักที แต่อั๋นก็คืออั๋น คือดื้อ คือนอยด์ คือไม่อยากรับรู้ว่าตัวเองเป็นโรคร้ายแรง

หนังมีหยุดถ่ายไปนานรอบหนึ่ง แต่พอกลับมาถ่ายอีกที อั๋นก็ป่วยไปพอสมควรแล้ว และก็ผอมกว่าเดิมมากๆ ในช่วงวันปิดกล้อง และอั๋นก็ตัดหนังก็ไม่เสร็จสักทีสลับกับป่วย ด้วยความที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะไปจริงๆ เลยไม่เคยถ่ายสัมภาษณ์ “เบื้องหลังงานสร้าง” ของผู้กำกับไว้เลย

พออั๋นจากไปก็นัดทีมงานเอาหนังที่มีอยู่มานั่งดูกัน เราไม่เคยดูหนังหรือเห็นฟุตเทจเรื่องนี้มาก่อน เวอร์ชันนั้นมันยาว 2 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งอั๋นแค่เรียงซีเควนซ์ไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ

และอั๋นก็ยังเป็นอั๋นเหมือนเดิม คือถ่ายครบทุกมุมทุกช็อต รับทุกขนาดภาพ มีฟุตเทจมหาศาลแม้ว่าจำนวนวันถ่ายจะน้อย แม้ว่าตัวเขาจะป่วย แต่อั๋นก็ถ่ายเต็มที่เหมือนเดิม แถมเรื่องนี้ยังมีงบจำกัด อั๋นก็สามารถถ่ายออกมาได้เป็นหนังไซซ์ปกติ คืองบประมาณไม่สามารถลดทอนคุณภาพงานสร้างของอั๋นได้เลย ทำหนังเล็กยังไงมันก็ดูไม่เล็ก

เมื่อเขาจากไป เราก็มาเก็บงานโพสต์ต่างๆ ให้ในฐานะ “เมสเซนเจอร์” ละกัน หาคนตัดต่อคนใหม่ซึ่งก็เป็นคนที่รู้จักกับอั๋น พอเขาตัดออกมาเราก็พอใจมาก คือตัดสั้นลงจากเวอร์ชันเดิมเยอะมาก แต่เนื้อหาอยู่ครบ เรามาช่วยตัดแก้อีกนิดหน่อยและเติมส่วน Suspense เข้าไปอีกนิดจากสกอร์ และเพิ่มบางซีนให้ดูลึกลับ เพราะเคยดูเวอร์ชันแรกที่อั๋นเรียงหนังไว้ เรารู้สึกว่ามันเป็นหนัง Romantic-Suspense-Drama นอกจากนี้ก็วางไกด์สกอร์จากโฟลเดอร์สกอร์ที่อั๋นเตรียมไว้เป็นเรฟเฟอเรนซ์ของหนังเรื่องนี้

มีบางซีนที่เราตัดไดอะล็อกออกหมด เหลือแค่ตัวละครมองหน้ากันไปมา เพราะมันคุยกัน “ข้างใน” อยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องพูดอะไรออกมา ซึ่งฉากนั้นตากล้องมาดูก็ชอบมาก และบอกว่าตอนถ่ายฉากนี้ถ่ายจนเมื่อยแขน เพราะเป็นแฮนด์เฮลด์แล้วค่อนข้างคุยกันยาว

ส่วน “เพลงประกอบหนัง” คือเราเลือกเพลงที่คิดว่ามัน “ต้อง” อยู่ในหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะเพลง “พื้นที่ว่าง” ของวง Inspirative” ซึ่งมันมีเนื้อหาที่แทนตัวพระเอกได้เลย แถมยังเป็นเพลงที่เพราะมากๆ ซึ่งพอโทรไปขอกับทางวง เราแจ้งไปว่างานหนังเรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ Fake โกหกทั้งเพ” ถ้าจำไม่ผิดเขาบอกว่าเคยดู  และเขาก็ให้มาเลยโดยไม่ถามอะไรมาก ติสต์มาก เราช็อกไปเลยตอนนั้น ร้องไห้ออกมาด้วย คือไม่นึกว่ามันจะง่ายขนาดนี้ ตอนร้องไห้เขาก็คงงงๆ

แล้วอั๋นก็ชอบ Stoondio” ด้วย พอดีไปเจอเพลง “สิ่งเดียวที่รู้สึก” ที่สตูนดิโอฟีเจอริงให้กับ “ออมสิน” เพลงนี้ก็เหมาะมากๆ เพราะนอกจากมันจะเป็นบทสรุปของตัวละครแล้ว มันยังเป็น “จดหมาย” ที่พวกเรา (ทีมงานทุกคน) ส่งถึงอั๋นได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกสองเพลงที่ถ้าอั๋นยังอยู่เราก็คงต้องแนะนำให้อั๋นใช้ในหนังนั่นแหละ คือเพลง “ลมที่ลา” ของวงYEW” และเพลง “ลา ลา ลา” ของวง Dept” ซึ่งเพราะจนไม่รู้จะอธิบายยังไงทั้งสองเพลง

ท้ายที่สุดเราก็ดีใจมากที่ได้มีโอกาสใช้ทุกเพลงตามที่ตั้งใจไว้ ต้องขอขอบคุณทุกวงจริงๆ ค่ะ

ในส่วนของงานตัดต่อ เราคง “ฉากแรก” และ “ฉากสุดท้าย” ของหนังไว้ เพราะเหมือนมันเป็นสิ่งที่อั๋นได้ไฟนอลไว้แล้ว สิ่งที่อั๋นกำกับมามันมี “เนื้อหนัง” ที่แข็งแรงมากอยู่แล้ว มี “พลังงานของผู้กำกับ” อยู่เต็มเปี่ยมในทุกซีน แม้ว่าเขาจะไม่อยู่จบหนังจนถึงขั้นตอนตัดต่อก็ตาม ยังไงมันก็ยังเป็น “หนังของอั๋น” อยู่ดี และปกติเขาจะชอบมาถามและปรึกษาอยู่แล้วว่าตัดแบบนั้นแบบนี้ดีไหม เราก็ซัปพอร์ตเป็นปกติ ทุกวันนี้เรายังรู้สึกว่าเขาอยู่ที่ไหนสักแห่งในโลกนี้ แค่เราไม่ได้เจอกันเท่านั้นเอง

 


 

Supposed’s Note: “พีระพันธ์ เหล่ายนตร์” (ผู้ลำดับภาพ)

ผมกับ “พี่อั๋น” (ผู้กำกับ) เอาจริงๆ แล้วยังไม่เคยร่วมงานกันแบบจริงๆ จังๆ มาก่อน แต่ก็รู้จักกันเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว แกมักจะส่งรูป Rina Aizawa (Go-on Yellow) มาให้ผมอยู่บ่อยๆ ฐานที่พี่แกรู้ว่าผมชอบน้องคนนี้

ครั้งหนึ่งเคยได้คุยกัน แกบอกว่ามีทีมที่แกรักมาก ทำงานเข้าขากัน ถ้ามีงานต้องรวมคนเหล่านี้เท่านั้น ฉะนั้นผมกับพี่อั๋นก็ยากที่จะได้ทำงานร่วมกัน แล้วก็ไม่มีจริงๆ จนแกมาเสียไป

จนกระทั่งวันหนึ่ง พี่เปิ้ล” (ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ) พี่สาวของพี่อั๋นเอาฟุตเทจหนังเรื่องนี้มาให้ดู ในนั้นมีการตัดต่ออยู่แล้วบ้าง มีการเรียงซีนจนจบเรื่องแล้วบ้าง บางฉากก็ดูมีความตั้งใจอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องราวของผู้หญิงผู้ชายสองคนอยู่ในนั้น พี่เปิ้ลถามมาว่าตัดให้ได้มั้ย ผมก็ตอบกลับไปว่าได้ครับ

ฟุตเทจที่ถูกเรียงบนไทม์ไลน์เหมือนถูกทิ้งร้างไว้ มันไม่พอที่จะบอกความตั้งใจของหนังได้ ผมจึงเลือกที่จะเริ่มใหม่จากบทภาพยนตร์ซึ่งน่าจะการันตีความตั้งใจของพี่อั๋นตั้งแต่ต้นได้ จากนั้นผมก็เริ่มตัดไปตามบท

พี่อั๋นมีบางอย่างที่ผมไม่มี คือการมองอะไรที่เป็นคนเมืองจ๋าๆ เรื่องความรักของคนร่วมสมัยจากเรื่อง Fake โกหกทั้งเพ” (2546) ที่เป็นความรู้สึกของคนในยุคนั้น จนมาถึงเรื่อง สมมติ (Supposed) เรื่องนี้ที่พูดถึงความสัมพันธ์ของคนผ่านโลกโซเชียลในยุคนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่มันยังคงเหมือนเดิมคือ “ความเหงา” ที่โซเชียลในสมัยนี้มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเราได้เลย

ตอนเริ่มตัดต่อ ผมบอกกับพี่เปิ้ลว่าจะใช้การเล่าจากหน้าจอโซเชียลจริงๆ แทนการใช้การภาพ Insert ที่ถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์เหมือนหนังทั่วไป เพื่อเล่าความเป็นไปของคนในยุคนี้ ส่วนแก่นของเรื่องก็เป็นเรื่องความเหงาที่มันเป็นกันมาทุกยุคทุกสมัย

โจทย์ที่ยากที่สุดในการตัดต่อหนังเรื่องนี้คือ ไม่มีผู้กำกับมานั่งบอกว่าใช่มั้ย มันเป็นอย่างที่เค้าต้องการมั้ย อีกทั้งเราอยากให้หนังเป็นไปอย่างที่ผู้กำกับต้องการมากที่สุด แต่จุดหนึ่งที่คิดว่าโชคดีคือทั้งผมและพี่อั๋นน่าจะมีเหมือนกันนั่นคือ เราเป็นผู้ชายที่มีความเหงาคล้ายๆ กัน ความเข้าใจความเหงาในชีวิตแบบนี้น่าจะมีเหมือนกัน ก็เลยทำไปอย่างที่เรารู้สึก และคิดว่าพี่อั๋นก็น่าจะรู้สึกเช่นกัน แล้วได้พี่เปิ้ลที่น่าจะรู้จักพี่อั๋นดีที่สุดมาบอกว่าตรงไหนที่พี่อั๋นน่าจะตั้งใจไว้ยังไง อีกทั้งการตัดต่อเรื่องนี้ไม่ได้ใช้องค์ประกอบอะไรที่อยู่นอกเหนือจากโฟลเดอร์ที่พี่อั๋นสร้างไว้เลย ทั้งฟุตเทจ ภาพประกอบ และสกอร์ (ดนตรีประกอบ) เพื่อที่จะให้ได้งานที่ใกล้เคียงกับที่พี่เค้าตั้งใจไว้ให้มากที่สุด

 


 

Supposed’s Note: วรรธนะ วันชูเพลา” (ผู้กำกับภาพ)

“ความรักเกิดขึ้นจริง จากตัวตนที่ไม่มีจริง” ประโยคที่พิมพ์บนหน้าแรกของทรีตเมนต์ที่ “พี่อั๋น” (ผู้กำกับ) ส่งมาให้อ่านก่อนจะมีบทสำหรับถ่ายทำ ประโยคสั้นๆ แต่มันคือหัวใจของหนังเรื่อง “สมมติ”

“ความรักจริง ตัวตนไม่จริง” ฟังแล้วรู้สึกถึงความขัดแย้งและเจ็บปวดในตัวของมันเอง ต่างคนต่างรักตัวตนสมมติของอีกฝ่าย พี่อั๋นแกตั้งใจจะใช้อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเป็นตัวขับเคลื่อนคนดูมากกว่าเหตุการณ์หรือสถานการณ์ จะบังเอิญหรือจงใจก็ตาม มันทำให้ “เวลา” ในหนังดูเหมือนจะหยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนไป ดูไม่รู้ว่าตัวละครใช้ชีวิตผ่านเวลาไปนานเท่าไหร่แล้ว เหมือนเวลาที่คนเราอยู่กับตัวเอง เวลามันดูเหมือนจะหยุดนิ่งไปด้วย เวลาที่ไม่เคลื่อนไป หรือ เคลื่อนไปช้าๆ ความรู้สึกและอารมณ์มันจะเด่นชัดขึ้น

พี่อั๋นเลือก “แพต ชญานิษฐ์” มารับบท “เดียร์” เด็กสาวที่ไม่รู้ที่มาที่ไป เธอเข้ามาในชีวิตของชายหนุ่มชื่อ “นน” แต่ชื่อจริงคือ “หนุ่ม” (อนันดา เอเวอริงแฮม) พี่อั๋นให้ความสำคัญกับ “นักแสดงที่ใช่” เป็นอันดับหนึ่ง แกยอมประนีประนอมกับองค์ประกอบอื่นๆ ได้ แต่ไม่ประนีประนอมกับเรื่องนักแสดงเด็ดขาด หากยังหานักแสดงที่ใช่ไม่ได้ แกก็จะยังไม่ทำ ซึ่ง “แพต” และ “อนันดา” คือคนที่แกเลือกไว้แล้วสำหรับบทนี้ ไม่มีใครอื่นอีก

พี่อั๋นแกจะปล่อยให้นักแสดงเล่นแบบอิสระไม่มีบล็อกกิ้ง เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางบล็อกกิ้งมันจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เราแค่มีหน้าที่ถ่ายมันเท่านั้นเอง คนดูรู้สึกได้ว่าเวลาตัวละครเดิน นั่ง นอนมันดูเป็นธรรมชาติไปหมด เหมือนเรานั่งดูชีวิตของพวกเขาใกล้ๆ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่อง “สมมติ”

 


นักแสดง

อนันดา เอเวอริงแฮม (Ananda Everingham)
ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช ( Chayanit Chansangavej)

ผู้กำกับ

ธนกร พงษ์สุวรรณ

โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง