Mary and the Witch’s Flower แมรี่ผจญแดนแม่มด

วันเข้าฉาย: 21/09/2017 ผจญภัย, แฟนตาซี, แอนิเมชัน 01 ชั่วโมง 42 นาที

เรื่องย่อ

เพราะมนตราไม่ได้มีเพียงในเทพนิยาย

 

Mary and the Witch’s Flower” ภาพยนตร์เรื่องแรกของ “Studio Ponoc” (สตูดิโอ โพนอค) ที่ก่อตั้งโดยอดีตทีมงานจาก Studio Ghibli  (สตูดิโอจิบลิ)  

 

นี่คือภาพยนตร์แอนิเมชันที่ว่าด้วยการผจญภัยของ “แมรี่” เด็กหญิงจอมซนที่จับพลัดจับผลูเข้ามาผจญภัยในโลกของแม่มด เมื่อเธอค้นพบของวิเศษ 3 ชิ้น คือ “เมล็ดพันธุ์เวทมนตร์, ตำราเวทย์แม่มด, พาหนะนำทาง” เมล็ดพันธุ์ทำให้เธอมีพลังวิเศษเป็นเวลา 1 คืน  แมรีใช้พลังวิเศษเดินทางไปยังโลกเวทมนตร์และได้เผชิญแผนการชั่วร้ายของแม่มดลึกลับ แมรี่จึงตัดสินใจที่จะใช้เวลา 1 คืนหยุดยั้งแผนการนั้นและปลดปล่อยเหล่าสัตว์เวทย์เพื่อนใหม่ของเธอที่ถูกกักขังโดยพลังความชั่วร้ายให้เป็นอิสระ

 

“ฮิโรมาสะ โยเนบายาชิ” ผู้กำกับจาก “Arriety” (2010) และ “When Marnie Was There” (2014) นั่งแท่นกำกับและเขียนบทให้กับ “Mary and the Witch’s Flower” โดยหนังได้รับเสียงชื่นชมว่า มีส่วนผสมของ “Harry Potter” และจิตวิญญาณลายเส้นของ “Spirited Away”

 

Mary-Witchs-Flower-Dub01

 

สำหรับนักแสดงผู้มาให้เสียงพากย์เป็น “แมรี่” นั้น คือนักแสดงหน้าใหม่เจ้าของรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมของ “Japan Academy Prize” (รางวัลออสการ์ญี่ปุ่น)  จากหนังดราม่าสุดซึ้ง “Her Love Boils Bathwater” และได้รับการคาดหมายว่าจะกลายเป็นนักแสดงเจ้าบทบาทประจำเกาะญี่ปุ่นในอนาคต ชื่อของเธอคือ “ฮานะ สุกิซากิ” และนี่คือความรู้สึกของเธอที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหนังเรื่องนี้

 

“ฉันเซอร์ไพรส์มากค่ะ ตอนที่ได้รับแจ้งว่าจะได้รับบทนำในหนังเรื่องแรกของ Studio Ponoc และเป็นเรื่องยอดเยี่ยมเช่นกันที่จะได้รับบทนำในหนังที่มีคำว่า ‘ดอกไม้’ เหมือนกับชื่อจริงของฉัน (Hana) อยู่บนชื่อเรื่อง ฉันตื่นเต้นที่จะได้ร่วมงานกับผู้กำกับ ‘ฮิโรมาสะ โยเนะบายาชิ’ ซึ่งเคยมีผลงานกับสตูดิโอจิบลิมาก่อน ฉันเป็นแฟนตัวยงของเขาเลย ในหนังเรื่องก่อนๆ ฉันสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นที่ปรากฏอยู่ในตัวเรื่องซึ่งเต็มไปด้วยมนต์ขลังที่น่าหลงใหลตั้งแต่เปิดฉากมาเลยค่ะ

ในเรื่องนี้ฉันรับบทเป็น ‘แมรี่’ เป็นผู้หญิงซื่อตรงและคิดบวกค่ะ แม้เธออาจไม่ใช่คนที่ดีพร้อม แต่เป็นคนที่น่าหลงใหล เพราะเธอชอบทำทุกอย่างเพื่อผู้อื่นค่ะ ตัวละครตัวนี้อาจไม่ได้มีความน่ารักน่าชังแฝงไว้อยู่มาก แต่ฉันจะพยายามเต็มที่ให้หนังเรื่องนี้ออกมาดีที่สุดเพื่อคนดูทุกคนค่ะ”

 


 

Mary-Witch-producer

 

จุดเริ่มต้นของ “Mary and the Witch’s Flower” หนังแอนิเมชันเรื่องแรกของ “Studio Ponoc” เกิดขึ้นเมื่อ “โยชิอากิ นิชิมูระ” โปรดิวเซอร์มากฝีมือแห่ง “Studio Ghibli” ที่เคยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “Howl’s Moving Castle” (2004) และมีผลงานที่ได้ชิงรางวัลออสการ์สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมถึงสองเรื่องได้แก่ “The Tale of Princess Kaguya” (2013) และ “When Marnie Was There” (2014)  เขาตัดสินใจเปิดสตูดิโอใหม่ขึ้นมาเป็นของตัวเองในเดือนเมษายนปี 2015  โดยได้แอนิเมเตอร์หลายคนจากสตูดิโอจิบลิตามมาอยู่ที่สตูดิโอใหม่นี้ด้วย โดยชื่อของสตูดิโอได้มาจากภาษา Serbo-Croatian ว่า Ponoc ซึ่งแปลว่า “เที่ยงคืน” ซึ่งสื่อความหมายว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวันใหม่เหมือนกับที่พวกเขาได้สานต่อตำนานอันยิ่งใหญ่ของสตูดิโอจิบลิให้มาสู่ยุคใหม่ในสไตล์ของตัวเอง โดยสัญลักษณ์ของบริษัทยังเป็นรูปนาฬิกาที่เข็มนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืนอีกด้วย

 

ก่อนหน้าที่จะนำเสนอภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องยาวให้ได้ชมกัน สตูดิโอโพนอคได้ทำงานโฆษณากับ “West Japan Railway Company” ในแคมเปญ “Summer Train” ที่นิชิมูระทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ ของโฆษณาตัวนี้ พร้อมได้ทีมแอนิเมเตอร์จากจิบลิมาทำงานด้วย ทั้ง “โยชิยูกิ โมโมเสะ” (Key Animator จาก Porco Rosso, Spirited Away, Tales from Earthsea) มาทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ และได้ “ยูโกะ คันโนะ” (Psycho-Pass, JoJo’s Bizarre Adventure: Stardust Crusaders, Library War) มาทำหน้าที่เป็นนักประพันธ์เพลงประกอบ

 

นิชิมูระเผยถึงความรู้สึกของการออกมาตั้งบริษัทเองว่า เขามีทั้งความรู้สึกโล่งใจและก็กลัวไปพร้อมๆ กัน ตอนช่วงแรกเขาเครียดจนน้ำหนักลดไปถึง 10 กิโลกรัม เขาคิดมากเพราะเป็นคนที่ทำงานกับจิบลิมานานและรักงานของจิบลิทุกชิ้น เขาเป็นคนที่รู้ถึงเรื่องคุณภาพแบบจิบลิมากกว่าใคร แต่เมื่อจิบลิถึงเวลาเปลี่ยนแปลง มีทีมงานหลายคนลาออกไป เขาไม่อยากให้งานที่เขารักต้องสูญสิ้นไป เขายังอยากทำแอนิเมชันที่สนุกสำหรับทุกวัยไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เขาจึงต้องเริ่มสร้างสตูดิโอใหม่ขึ้นมา แม้ว่าจะไม่มีเงิน ไม่มีทีมงาน ไม่มีแม้กระทั้งสถานที่ แต่เขาก็เริ่มต้นมันด้วยความมุ่งมั่น

 

“เมื่อ 1 ปีก่อนตอนที่ผมตัดสินใจเปิดสตูดิโอขึ้นใหม่ ตอนนั้นยังไม่มีหนังแอนิเมชันที่อยากทำเลยสักเรื่อง ผมต้องครุ่นคิดอยู่นาน แล้วก็ได้พบกับ ‘ฮานะ สุกิซากิ’ ผมจำได้ว่าเธอเคยให้เสียงพากย์บท ‘อายากะ’ ใน When Marnie Was There ตอนที่เราเจอกัน ผมเห็นรอยยิ้มกว้างของเธอ ที่สำคัญผมจำเสียงเธอได้อย่างชัดเจน เธอยังบอกอีกด้วยว่าหนังของจิบลิที่ชอบที่สุดคือเรื่อง Arrietty (ซึ่งเป็นผลงานการกำกับชิ้นแรกของ “ฮิโรมาสะ โยเนะบายาชิ” พอดี)

เมื่อเป็นเช่นนั้น ผมจึงแนะนำฮิโรมาสะว่าให้เอาเธอมารับบทนำเลยซึ่งเขาก็เห็นด้วย เขายังมั่นใจอีกว่า ‘เธอทำได้แน่นอน’ สำหรับขั้นตอนการลงเสียงใน ‘Mary with the Witch’s Flower’ เราเริ่มจากการบันทึกเสียงเธอก่อน จากนั้นถึงค่อยหานักแสดงคนอื่นๆ มาให้เสียงพากย์ภายหลัง แม้ว่ากระบวนการสร้างอาจจะใช้เวลานานไปหน่อย แต่เมื่อหนังออกฉายช่วงซัมเมอร์นี้ ผมเชื่อว่าผู้คนจะหลงใหลไปกับการผจญภัยในป่าใหญ่ของแมรี่ ใน ‘Mary and the Witch’s Flower’ แน่นอนครับ”

 

Mary-Witch-st11

 

เรื่องเริ่มต้นในร้านกาแฟ

สำหรับ “Mary and the Witch’s Flower” ผลงานเปิดตัวสตูดิโอ “โยชิอากิ นิชิมูระ” เป็นชักชวนผู้กำกับ “ฮิโรมาสะ โยเนบายาชิ” ที่เคยร่วมงานกันจาก “When Marnie Was There” มาทำโปรเจกต์นี้ด้วยคำชวนว่า “มาช่วยกันสร้างแอนิเมชันอย่าง Kiki’s Delivery Service สำหรับยุคศตวรรษที่ 21 กันเถอะ”  โยเนบายาชิเลือกที่จะนำเอานิยายชื่อดังเรื่อง “The Little Broomstick” ของ “แมรี่ สจ๊วร์ต” มาดัดแปลงโดยใช้ชื่อว่า “Mary and the Witch’s Flower” และชักชวน “ริโกะ ซาคากุชิ” ผู้เขียนบทจากเรื่อง “The Tale of the Princess Kaguya” มาเป็นมือเขียนบทให้ โดยทั้งสามคนต้องทำงานกันอยู่ในร้านกาแฟอยู่เป็นเวลานานกว่านิชิมูระจะสามารถหาตึกออฟฟิศได้

 

เรื่องราวจากเวอร์ชันต้นฉบับ “The Little Broomstick” เล่าเรื่องของสาวน้อย “แมรี่” ที่พบกับ “ทิป” แมวดำตัวหนึ่งที่นำแม่รี่เข้าไปพบกับดอกไม้แปลกประหลาดในป่า และเธอก็ได้พบกับไม้กวาดเล็กๆ อันหนึ่ง หลังจากนั้นจู่ๆ เธอรู้สึกอย่างแรงกล้าที่จะโดดขึ้นขี่มันก่อนที่เธอจะรวมสติได้มันก็พาเธอบินขึ้นไปเหนือแมกไม้ สูงขึ้นไปเหนือเมฆและพาเธอไปยัง Endor College วิทยาลัยแม่มด โดยสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ทำการทดลองของเหล่าแม่มดผู้ทรงอำนาจ แม่รี่ได้พบหลักฐานสำคัญว่ามีการทดลองลับที่ชั่วร้ายเกิดขึ้นที่นี่ เกี่ยวกับการแปลงร่าง ปรับเปลี่ยนรูปร่าง และมีสัตว์กลายพันธุ์ถูกจองจำอยู่ในกรง

 

ในตอนที่ไม้กวาดของเธอบินขึ้นนั่นเอง เธอได้รู้ว่าทิปหายตัวไป และได้รู้ว่าเขาถูกจับ แมรี่จึงต้องต่อกรกับ “มาดามมัมเบิลชู้ก” อาจารย์ใหญ่ของที่นี่ และ “ดอกเตอร์ดี” ลูกน้องของเธอเพื่อยับยั้งแผนการที่ชั่วร้าย

 

Mary-Witch-st12

 

ต้นแบบของ Mary

“โยชิอากิ นิชิมูระ” เปิดเผยสาเหตุที่ทีมงานตัดสินใจสร้างหนังก็คือ เมื่อครั้งตอนที่ทีมงานนำเรื่อง  “When Marnie Was There” ของจิบลิไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศฟินแลนด์ แล้วมีเด็กหญิงคนหนึ่งอายุประมาณ 5 ปีเดินเข้ามาขอลายเซ็นของผู้กำกับ “ฮิโรมาสะ โยเนบายาชิ” อย่างอายๆ  ด้วยความเอ็นดูเด็กผู้หญิงคนนี้ ผู้กำกับฮิโรมาสะ จึงวาดภาพตัวละคร Marnie ให้กับเธอ และเด็กหญิงตัวน้อยก็แสดงอาการดีใจมีความสุขมาก เธอจึงได้กลายมาเป็นต้นแบบของแมรี่ในเรื่องนี้

 

Mary-Witch-st14

 

นี่คือแอนิเมชันเรื่องแรกที่ใช้ซอฟต์แวร์ OpenToonz

“OpenToonz” เป็นซอฟต์แวร์สำหรับแอนิเมชัน 2D ที่มีลักษณะเป็นโปรแกรม Open-source software ที่คนทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้ฟรีและปรับปรุงได้ด้วยตนเอง OpenToonz มีฟีเจอร์หลายอย่างที่เคยได้รับการสั่งทำขึ้นเฉพาะโดย Studio Ghibli โดยผู้พัฒนาซอร์ฟแวร์ตัวนี้ได้พัฒนาiะบบปัญญาประดิษฐ์ด้านวิชวลเอฟเฟกต์ และยังมีปลั๊กอินที่ทำให้ผู้ใช้ใส่เอฟเฟกต์ได้ด้วยตัวเอง และโปรแกรมยังสามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมตาม Feedback ระหว่างใช้งานได้อีกด้วย

 

โดยในเรื่อง “Mary and the Witch’s Flower” ได้ใช้งาน OpenToonz ในด้านต่างๆ ดังนี้

  • ฟังก์ชัน Pallete และฟังก์ชั่นการแสดงตัวอย่าง (ช่วยให้ผู้ใช้ดูตัวอย่างภาพตัวละครและพื้นหลังที่ซ้อนทับกันอยู่ได้ ) ถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการออกแบบสีที่สามารถปรับเปลี่ยนให้สีของตัวละครให้เข้ากับพื้นหลังได้
  • ระหว่างกระบวนการถ่ายทำ “Magical Bubbles” (ฟองเวทมนตร์) ที่ปรากฏในภาพยนตร์ถูกสร้างขึ้นโดยใช้เอฟเฟกต์พิเศษที่สร้างลวดลายรุ้งบนฟองสบู่
  • เครื่องมือสแกน GTS ที่มาพร้อมกับโปรแกรม OpenToonz ถูกใช้ในระหว่างกระบวนการสแกนภาพที่แอนิเมเตอร์วาดมาจากกระดาษ

 

แม้  “Mary and the Witch’s Flower” จะเป็นแอนิเมชันเรื่องแรกที่ใช้โปรแกรม OpenToonz แต่ทาง Dwango บริษัทเจ้าของโปรแกรมนี้มีแผนที่จะพัฒนาโปรแกรมต่อโดยฟังความคิดเห็นจากเหล่าผู้ใช้ในวงการแอนิเมชันญี่ปุ่นต่อไป

 

Mary-the-Witch-Hot

 

กระแสตอบรับอบอุ่นหัวใจ

“Mary and the Witch’s Flower” เปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมด้วยรายได้ 428 ล้านเยน จากการเปิดฉายในโรงภาพยนตร์ 365 แห่ง (458 โรง) และมีผู้ซื้อตั๋วทั้งหมด 324,000 ใบ ซึ่งมากกว่ารายได้เปิดตัวของภาพยนตร์เรื่อง “When Marnie Was There” ผลงานก่อนหน้าของโยเนบายาชิที่ทำไปได้ 378.86 ล้านเยนในสัปดาห์แรก “Mary and the Witch’s Flower” มาพร้อมกับกระแสวิจารณ์ว่า ไม่ทิ้งมาตรฐานเดิมที่เคยทำไว้กับสตูดิโอจิบลิที่เคยนำเสนอเรื่องราวและผลงานด้านภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่ขณะเดียวกัน เรื่องนี้ยังนำไปสู่อีกก้าวหนึ่งของวงการแอนิเมชันที่นำเสนอผลงานด้านภาพที่สวยสดใส มีทั้งผลงานวาดด้วยมือที่นำทิวทัศน์ในชนบทของอังกฤษได้สวยงามเหมือนกับภาพถ่ายจากสถานที่จริงเลยทีเดียว

นอกเหนือจากผลงานด้านภาพแล้ว “Mary and the Witch’s Flower” ยังประสบความสำเร็จด้านเรื่องราวที่สนุกสนานตั้งแต่ต้นจนจบ และที่สำคัญหนังเรื่องนี้พิสูจน์ตัวชัดเจนว่าไม่ใช่หนังของจิบลิอีกต่อไปแม้ว่าจะจะมีสไตล์ภาพที่คล้ายคลึงกันแต่ว่ามีใจความสำคัญที่ต่างกัน โดยสตูดิโอโพนอคทำหนังเรื่องนี้ออกมาแบบสดใสและบริสุทธิ์สามารถดูได้ทั้งครอบครัว

 

แมรี่ดังไกลไปทั่วโลก

แม้จะเป็นแอนิเมชันเรื่องแรกของ “Studio Ponoc” แต่กระแสความแรงของ “Mary and the Witch’s Flower” ก็เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางจนตอนนี้มีประเทศต่างๆ สนใจจะนำหนังเรื่องนี้ไปฉายถึง 155 ประเทศ ข่าวนี้เผยโดยเว็บไซต์ Oricon ว่า สตูดิโอโพนอคได้รับข้อเสนอจากบริษัทผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์จากหลายประเทศทั้งอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, จีน, เกาหลีใต้, อเมริกาใต้, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยมีการวางแผนไว้แล้วว่าจะใช้นักแสดงชื่อดังมาพากย์เสียงภาษาอังกฤษให้กับเรื่องนี้ด้วย

         


 

Mary-Witch-crt00

 

ทีมพากย์เสียงมหัศจรรย์

นักแสดงนำผู้ให้เสียงพากย์ใน “Mary and the Witch’s Flower” ได้กล่าวถึงการร่วมงานกับผู้กำกับ “ฮิโรมาสะ โยเนะบายาชิ” เอาไว้ด้วย ดังต่อไปนี้

 

“ริวโนะสุเกะ คามิกิ” พากย์เป็น “ปีเตอร์”

“เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่ผมจะได้ร่วมงานกับผู้กำกับฮิโรมาสะอีกครั้ง (หลังจากเคยร่วมงานกันมาใน Arrietty) ผมคิดถึงการได้ทำงานกับเขามากๆ สำหรับหนังเรื่องนี้ เรื่องราวของมันราวกับความฝัน ผมรู้สึกว่าสามารถช่วยเหลือหรือมอบความกล้าให้กับแมรีเพื่อช่วยให้เธอเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างได้ ผมคิดว่านี่จะเป็นผลงานชั้นดีที่จะทำให้คุณยิ้มร่าหลังจากดูจบครับ”

 

Mary-Witch-crt02

 

“ฮานะ สุกิซากิ” พากย์เป็น “แมรี่”

“รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากค่ะที่จะได้ร่วมงานกับผู้กำกับ ‘ฮิโรมาสะ โยเนะบายาชิ’ ในครั้งนี้ หลังจากเคยร่วมงานในบทสมทบเล็กๆ กับเขามาก่อน ตอนให้เสียงพากย์ เขาจะตั้งใจฟังฉันอย่างมีความสุข แล้วฉันก็จะตั้งใจฟังคำวิจารณ์จากเขาด้วยเช่นกัน หลังจากได้ดูแล้ว ฉันคิดว่าหนังเรื่องนี้จะสนุกแน่นอนได้โปรดติดตามผลงานของพวกเรากันด้วยนะคะ”

 

Mary-Witch-crt03

 

นอกจากสองตัวละครนำแล้ว ยังมีอีกหลากหลายตัวละครสำคัญที่มาโลดแล่นในโลกของแมรี่ ดังนี้

 

“มาดาม มัมเบิ้ล” พากย์โดย “ยูกิ อามามิ”

“นี่เป็นบทที่ทั้งเข้มข้นและสง่างาม น่าเกลียดน่ากลัว แต่ก็ยังชวนหัวเราะ เหนืออื่นใดเราต้องการผู้ให้เสียงพากย์ที่สามารถมอบเสียงอันเป็นเอกลักษณ์เหนือกว่าผู้ใดทั้งมวล นี่คือบทที่ถ่ายทอดออกมาได้ยากที่สุดในเรื่อง แต่มันก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงของ ‘อามามิซัง’ แม้แต่น้อย”

 

Mary-Witch-crt04

 

“ด็อกเตอร์ ดี” พากย์โดย “ฟูมิโยะ โคฮินาตะ”

“ผมพยายามตามหาตัวคนที่สามารถรับบทแปลกๆ แบบนี้ได้ ก่อนจะมาลงเอยที่ ฟูมิโยะ โคฮินาตะ’เขาพากย์เป็น ‘ด็อกเตอร์ ดี’ ด้วยเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ ราวกับว่าตัวละครตัวนี้หลุดออกมาจากในหนังสือจริงๆ อย่างนั้นเลย

 

Mary-Witch-crt05

 

“แม่มดผมแดง” พากย์โดย “ฮิคาริ มิทสึชิมา”

“ตอนผมหาว่าจะให้ใครมารับบทแม่มดผมแดงผู้ล่วงรู้ความลับของดอกไม้จอมเวทย์ดี ก็พลันนึกถึงภาพของ ฮิคาริซัง’ ขึ้นมา และจากที่ได้ร่วมงานด้วย เธอถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือยอดเยี่ยมจริงๆ”

 

Mary-Witch-crt06

 

“ฟลานาแกน” ให้เสียงพากย์โดย “จิโร ซาโต”

“นี่คือตัวละครที่ประหลาดที่สุดในเรื่อง จิโร ซาโต’ เป็นผู้ให้เสียงพากย์ เขาบอกว่าเขาใส่ความเป็นตัวเองลงไปในบทนี้ด้วย ผมคิดว่าซาโตทำหน้าที่ได้เป็นธรรมชาติมากๆ และความลึกลับของตัวละครตัวนี้ยังอาจทำให้คุณหัวเราะออกมาโดยไม่รู้ตัว”

 

Mary-Witch-crt07

 

“ชาร์ล็อตต์” ให้เสียงพากย์โดย “ชิโนบุ โอทาเกะ”

“คุณป้าชาร์ล็อตต์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ปกปิดความลับของตัวเองมานานแสนนาน และทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อแมรีมาเยี่ยมเยือน บทของตัวละครนี้ผมอยากได้ผู้มีความลึกลับ ไม่ค่อยเปิดเผยเรื่องชีวิตส่วนตัวให้รู้มากเท่าไหร่มาให้เสียงพากย์บทนี้ แล้วเสียงของ ชิโนบุ โอทาเกะซัง’ ก็ช่างงดงามเสียเหลือเกิน”

 

Mary-Witch-crt08

 


 

Mary-Witch-OST01

Mary-Witch-OST03

 

เพลงประกอบจาก “Sekai no Owari

วงดนตรีระดับอินเตอร์จากประเทศญี่ปุ่น “Sekai no Owari” ทำเพลงประกอบที่มีชื่อว่า “Rain” ให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยผู้กำกับโยเนบายาชิยังได้วาดรูปปกซิงเกิลของเพลงนี้ โดยแปลงร่างสมาชิกวงให้เป็นสไตล์เดียวกับในเรื่องให้อีกด้วย โดยซิงเกิลนี้ออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อเพลงเล่าถึง “ฝน” ที่นำมาเปรียบเปรยกับการเติบโตและการใช้ชีวิตว่าบางครั้งก็อาจจะร้องไห้ราวกับฝนตกอาบแก้ม แต่ฝนใช่ว่าจะนำพามาแค่ความเศร้า แม้ว่าสายรุ้งหลังฝนจะจางหายไป แต่ฝนก็ช่วยทำให้ต้นไม้มีการเจริญเติบโต เหมือนกับชีวิตคนเราที่จะต้องเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง

 

Mary-Witch-Hayao01

 

“ฮายาโอะ มิยาซากิ” ลั่น! ไม่ขอดู

เนื่องจากเหล่าทีมงานของสตูดิโอโพนอคหลายคนเองเคยทำงานที่สตูดิโอจิบลิมาก่อน จึงเกิดคำถามว่า แล้วเจ้าพ่อแห่งวงการภาพยนตร์แอนิเมชันญี่ปุ่นอย่าง “ฮายาโอะ มิยาซากิ” จะรู้สึกอย่างไรบ้างกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่โยเนบายาชิกลับเปิดเผยว่า มิยาซากิปฏิเสธที่จะดู “Mary and the Witch’s Flower” โยเนบายาชิเล่าว่า “เขาก็แค่บอกว่า ผมไม่ดูมันหรอก แล้วเขาก็ไม่ดู ก็แค่นั้นเลยครับ” แต่งานนี้ไม่ได้มีเกาเหลาแต่อย่างใด เพราะมิยาซากิบอกว่า เป็นเพราะโยเนบายาชิทุ่มแรงกายแรงใจกับหนังเรื่องนี้มากแล้ว ดังนั้นเขาไม่จำเป็นต้องดูมัน เพราะรู้ดีว่าโยเนบายาชิจะทำมันออกมาให้ดีที่สุด

 

แม้ว่ามิยาซากิจะไม่ยอมดูหนัง แต่ว่าโยเนบายาชิเล่าว่า ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิอย่าง “โตชิโอะ ซูซูกิ” และ “อิซาโอะ ทาคาฮาตะ” ผู้กำกับจากเรื่อง “Grave of the Fireflies”  และ “The Tale of the Princess Kaguya” ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ พร้อมได้ให้คำแนะนำดีๆ กับเขา โดยทั้งคู่ได้ชมภาพยนตร์แล้วประทับใจมาก ด้านซูซูกิได้บอกให้เขามุ่งมั่นและเป็นตัวของซื่อสัตย์กับวิสัยทัศน์ของตัวเองใหม่มากที่สุด และพูดถึงผลงานของนิชิมูระว่า “นี่มันคือภาพยนตร์ที่คุณสามารถทำได้โดยที่ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการทำงานให้กับจิบลิ”

 

แม้ว่าโยเนบายาชิจะได้ไม่อธิบายเหตุผลว่าทำไมมิยาซากิถึงไม่ยอมชมภาพยตร์ “Mary and the Witch’s Flower” แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้อยู่แล้ว เพราะเขาเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับผลงานของตัวเองมาก และไม่อยากจะให้ถูกรบกวนโดยผลงานของผู้อื่น และมิยาซากิก็ไม่ใช่คนที่จะพูดชมผลงานแอนิเมชันของคนอื่นง่ายๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม แต่โยเนบายาชิก็ไม่ได้กังวลใจกับเรื่องนี้นัก โดยเขาให้เหตุผลว่า “เราทำงานด้วยกันมานานกว่าที่ผมคิดซะอีก และเขาก็ใจกว้างพอที่จะเป็นห่วงในผลงานชิ้นนี้ของผม เขาถามผมว่า นายจะสามารถทำมันเสร็จได้หรือเปล่า ดังนั้นผมดีใจมากๆ แล้วที่สามารถบอกกับเขาได้ว่า มันเสร็จแล้วครับ”

 

Mary-Witch-st15

 

คาเฟ่เมืองแม่มด

Mary and the Witch’s Flower” เอาใจคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการทานอาหารคาเฟ่น่ารักๆ แล้วถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียด้วยการจัดทำร้าน “Garden Sand Cafe” คาเฟ่พิเศษที่แปลงโฉมคาเฟ่ “Hanami” ที่ถนนโอะโมะเตะซันโด โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ให้กลายเป็นโลกของแมรี่ ที่ทุกคนต้องทึ่งเหมือนได้เข้าไปสู่โลกเวทมนตร์พร้อมๆ กับเธอ ร้านตกแต่งด้วยบรรยากาศป่าและสวนสไตล์ยุโรปมีการประดับของตกแต่งจากภาพยนตร์ ให้ลูกค้าได้ถ่ายรูปกันตามสบาย และที่สำคัญคือเรื่องอาหารที่นี่มีให้เลือกทั้งของคาวและของหวาน เช่น แซนด์วิชใส่ไก่และไข่เสิร์ฟพร้อมไม้กวาดอันจิ๋วของแมรี่, แพนเค้กหนานุ่มเสิร์ฟพร้อมกับคุกกี้ และแยมสตรอว์เบอร์รี่ และยังมีขนมลูกอมแสนอร่อย รวมถึงสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าผ้า และแก้วน้ำเก็บความร้อนให้เลือกซื้อกันอีกด้วย ร้านคาเฟ่น่านั่งร้านนี้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมถึงวันที่ 2 กันยายนนี้

 

“Mary and the Witch’s Flower” เปิดโลกผจญภัย ไปกับแม่มดน้อยแม่รี่  21 กันยายนนี้ ในโรงภาพยนตร์


นักแสดง

ฮานะ ซูกิซากิ (Hana Sugisaki) (Voice)
ริวโนะสุเกะ คามิกิ (Ryûnosuke Kamiki) (Voice)
ยูกิ อามามิ (Yûki Amami) (Voice)
ฟูมิโยะ โคฮินาตะ (Fumiyo Kohinata) (Voice)
ฮิคาริ มิทสึชิมา (Hikari Mitsushima) (Voice)
จิโร ซาโต (Jirô Satô) (Voice)
ชิโนบุ โอทาเกะ (Shinobu Ôtake) (Voice)
เอริ วาตานาเบะ (Eri Watanabe) (Voice)

ผู้กำกับ

ฮิโรมาสะ โยเนบายาชิ (Hiromasa Yonebayashi)

โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง