ข้างหลังภาพ (Behind the Painting)
เรื่องย่อ
ความรักเป็นพรอันประเสริฐ เป็นยอดปรารถนาของชีวิต “ม.ร.ว.กีรติ” ผู้สวยสง่าและร่ำรวยเชื่อมั่นเช่นนี้ จึงหวังและรอที่จะได้รับพรความรักตั้งแต่เริ่มรุ่นสาว รอจนกระทั่งอายุ 34 ปี ผ่านวัยครึ่งคนแล้วก็ยังไม่เคยได้รับพรนี้เลย เมื่อรู้สึกว่าสิ้นหวังจึงยอมแต่งงานกับ “พระยาอธิการบดี” ชายสูงอายุวัยพ่อ
เจ้าคุณอธิการฯ พากีรติไปฮันนีมูนที่ญี่ปุ่น โดยขอร้องให้ “นพพร” ลูกชายของเพื่อนที่เรียนอยู่ที่นั่นนำเที่ยว นพพรหลงรักกีรติ เป็นรักครั้งแรกของหนุ่มวัย 22 ปี เขาสารภาพรักกีรติที่ริมลำธารบนภูเขามิตาเกะในวันที่พาเธอไปเที่ยว
นพพรเฝ้าถามกีรติว่า “คุณหญิงรักผมไหม” กีรติไม่ตอบ นพพรยืนยันว่าเขาจะรักกีรติไปนานตราบชั่วฟ้าดินสลาย ต่อมาอีก 4 ปี เจ้าคุณอธิการฯ ตาย กีรติวาดภาพริมลำธาร และรอคอยนพพรที่จะกลับมาในอีก 3 ปีข้างหน้า อีก 3 ปีกีรติอายุ 42 ปี รอรับพรความรักอีกครั้ง
“ข้างหลังภาพ” ถ่ายทอดเรื่องราวของ “นพพร” (เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์) นักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ ณ ประเทศญี่ปุ่น ได้มีโอกาสต้อนร้บ “เจ้าคุณอธิการบดี” (อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา) พร้อมภรรยายังสาว “หม่อมราชวงศ์กีรติ” (คาร่า พลสิทธิ์) ครั้งนั้นนพพรรับหน้าที่นำเที่ยวในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้นพพรและคุณหญิงได้ใกล้ชิดกัน ความรักระหว่างทั้งสองก่อเกิดขึ้นในใจอย่างไม่ทันตั้งตัว คุณหญิงต้องหักห้ามใจเพราะรู้ถึงสถานะตนเองว่ามีคู่ชีวิต กระทั่งถึงวันที่ต้องร่ำลา เธอติดตามสามีกลับประเทศไทย ขณะที่อีกฝ่ายยังอยู่ที่นั่นจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา
ภายหลัง 6 ปี นพพรเดินทางกลับไทยได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของท่านเจ้าคุณ ฝ่ายคุณหญิงกีรติที่ก็เฝ้ารอคอยกลับต้องผิดหวังเมื่อนพพรตกลงแต่งงานกับคู่หมั้น จากนั้นไม่นานอาการป่วยของคุณหญิงยิ่งทรุด ท้ายที่สุดทั้งสองได้พบกันอีกครั้งในเวลาที่เธอสิ้นลมเสียแล้ว ความรักที่ทั้งสองได้ร่วมวาดยังคงหลงเหลือไว้เพียงในความทรงจำ ดังคำพูดของคุณหญิงที่ว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจที่มีคนที่ฉันรัก”
ผู้หญิงไทยสมัยกีรติ:
“ม.ร.ว.กีรติ” เกิดเมื่อ ค.ศ. 1902 ในสมัยที่ประเทศไทยยังใช้ชื่อสยามและปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยนั้นผู้หญิงไทยที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดี ต้องอยู่ในโอวาทของผู้ปกครองและประพฤติปฏิบัติตามจารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด ใครฝ่าฝืนจะถูกสังคมประณามว่าเป็นคนชั่ว กีรติเป็นลูกสาวคนแรกของพ่อที่เป็นหม่อมเจ้า และเป็นคนสวยมาก พ่อจึงรักและหวงแหน ถึงขนาดพอกีรติเริ่มจะรุ่นสาว พ่อให้ลาออกจากโรงเรียนประจำมาอยู่กับบ้าน จ้างครูหญิงฝรั่งแก่ๆ มาสอน กีรติจะออกจากบ้านได้ก็เฉพาะเมื่อจะไปพักกับพระญาติหญิงของพ่อในพระบรมมหาราชวังที่เพศชายผ่านเข้าออกไม่ได้ กีรติต้องเดินตามแนวทางที่พ่อและสังคมสมัยนั้นกำหนดทุกอย่าง จนกระทั่ง ค.ศ. 1932 ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ผู้หญิงไทยได้รับสิทธิเสรีภาพที่จะประพฤติปฏิบัติตามความคิดเห็นของตนเองมากขึ้นกว่าเดิม กีรติได้รับสิทธิเสรีภาพนี้เช่นกัน แต่ค่านิยมของสังคมเก่ายังมีอยู่มากจนเกือบจะกล่าวได้ว่าไม่เปลี่ยนแปลงเลย อีกทั้งอายุของกีรติก็เกินกว่า 30 ปีแล้ว และเธอเป็นเหมือนนกที่ถูกขังอยู่ในกรงตลอดมา ถึงแม้ประตูกรงเปิด เธอก็ยังหวั่นวิตกต่าง ๆนานาที่จะบินไปสู่โลกแห่งเสรีภาพตามลำพัง
“ศรีบูรพา” (1915-1974) ผู้เขียน “ข้างหลังภาพ”
เป็นนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของไทย ท่านเป็นผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมจนกระทั่งรัฐบาลเผด็จการสั่งจำคุกถึง 13 ปี ท่านต้องโทษอยู่ 5 ปีก็ได้รับนิรโทษกรรมเนื่องในวาระกึ่งพุทธกาล (พ.ศ.2500) เมื่อพ้นโทษ ประเทศไทยเกิดปฏิวัติเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นเผด็จการยิ่งกว่ารัฐบาลก่อน ศรีบูรพาต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ประเทศจีนจนเสียชีวิตที่นั่น เมื่อศรีบูรพาเสียชีวิตแล้ว 20 ปี รัฐบาลไทยจึงได้ตระหนักในคุณค่าของท่าน และได้ตั้งชื่อถนนสายที่ผ่านหน้าบ้านของท่านว่า “ถนนศรีบูรพา” เพื่อเป็นเกียรติ ศรีบูรพาเขียนเรื่อง “ข้างหลังภาพ” เมื่อ ค.ศ. 1937 นวนิยายเรื่องนี้ได้พิมพ์จำหน่ายแล้ว 33 ครั้งและถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ, จีน, ญี่ปุ่นด้วย
Behind the Painting กีรติ ข้างหลังภาพ คาร่า พลสิทธิ์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ ศรีบูรพา สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ เชิด ทรงศรี โบ สุนิตา
นักแสดง
ผู้กำกับ
เชิด ทรงศรีรางวัล
รางวัล “ตุ๊กตาทอง (พระสุรัสวดี) ครั้งที่ 25” (ประจำปี 2544) – นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (คาร่า พลสิทธิ์), เพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เพลง “กีรติ” เนื้อร้อง-ทำนอง: พนเทพ สุวรรณะบุณย์, วิลาวรรณ์ เกิดสุทธิ, เรืองกิจ ยงปิยะกุล / ขับร้อง: สุนิตา ลีติกุล)