2046

วันเข้าฉาย: 10/12/2020 ดราม่า, วิทยาศาสตร์, โรแมนติก 02 ชั่วโมง 09 นาที

เรื่องย่อ

ภาพยนตร์ “2046” เล่าถึงปี 1966 เรื่องราวของ “โจวมู่หวัน” (เหลียงเฉาเหว่ย) นักเขียนหนุ่มเพลย์บอยจากฮ่องกงมาที่สิงคโปร์เพราะ “อดีตคนรัก” (จางม่านอวี้) และที่นี่เขาก็ถูกปฏิเสธรักจาก “ซูไหล่เจิน” (กงลี่) นักพนันสาวที่มีชื่อเดียวกับอดีตคนรักของเขา เขาจึงตัดสินใจออกจากสิงคโปร์เพื่อกลับฮ่องกงตามลำพัง เขาได้พบ “ลู่ลู่” (หลิวเจียหลิง) โดยบังเอิญ โจวพาลู่ลู่กลับไปส่งที่โรงแรมโอเรียนทัล โฮเทล ห้อง “2046” ลู่ลู่เล่าเรื่องราวความรักของตนกับ “คนรัก” (จางเจิ้น) ก่อนที่จะหายตัวไปอย่างลึกลับ โจวเช่าห้องข้างๆ “2046” เพื่อเขียนนิยายว่าด้วยโลกอนาคตในปี “2046” ที่มีตัวละครคือ “หนุ่มญี่ปุ่น” (ทาคุยะ คิมูระ) ที่ได้พบรักกับ “พนักงานหุ่นยนต์สาว” (เฟย์ หว่อง) บนขบวนรถไฟ ในระหว่างที่เขียนนิยายโจวก็ตกหลุมรัก “สาวแปลกหน้า” (จางจื่ออี๋) ที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ในห้อง “2046”

 

จากห้องที่นำพาตัวละครเหงามาเจอกันและรักกัน ห้อง “2046” นี้จะทำให้คนดูตกอยู่ในห้วงแห่งรัก เปิดประตูและเชื้อเชิญผู้คนสู่โลกที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ร้าวรานยื่งขึ้น และเหงาขึ้นกว่าเดิม…

 

 

เกร็ดน่ารู้:

  • “วันที่ 1 กรกฎาคม 1997” เป็นวันที่ “ประเทศอังกฤษ” ประกาศคืน “เกาะฮ่องกง” ให้กับ “ประเทศจีน” หลังจากสิ้นสุดสัญญาเช่า 99 ปี แต่ยังมีข้อตกลงเพิ่มเติมว่าฮ่องกงจะกลายเป็น “เขตปกครองพิเศษ” เป็นเวลา 50 ปีก่อนขึ้นตรงต่อรัฐบาลจีนหลังจากครบกำหนด โดยปีที่ฮ่องกงจะกลับไปเป็นของจีนอย่างสมบูรณ์ก็คือ “ปี 2047” และนั่นคือช่วงเวลาที่ “หว่องกาไว” สนใจ และอยากสำรวจผ่านหนังว่าเมื่อใกล้ถึงเวลานั้นใน “ปี 2046” สรรพสิ่งจะเปลี่ยนแปลงและดำเนินไปในทางใดบ้าง
  • นอกจากฉากหลังของ “2046” จะเกิดขึ้นในอนาคต หนังจะดำเนินเหตุการณ์ในฮ่องช่วงกลางยุค 60 ด้วย เช่นเดียวกับใน “In the Mood for Love” (2000) นอกจากนี้แฟนพันธุ์แท้หนัง “หว่องกาไว” น่าจะจำได้ดีว่าเลข 2046 ยังเป็นเบอร์ห้องที่คุณเชาและคุณนายชานพบกันด้วย
  • ดังนั้นจึงอาจเรียกได้อีกอย่างว่า “2046” คือภาคต่อแบบกลายๆ ของ “In the Mood for Love” (และอาจรวมถึง “Days of Being Wild” ด้วย) ทั้ง “เหลียงเฉาเหว่ย” และ “จางม่านอวี้” ก็กลับมารับบทตัวละครชื่อเดิม อย่างไรก็ตามหากสังเกตดีๆ จะพบว่าลักษณะภายในของตัวละครทั้งความคิดและความรู้สึกแตกต่างกันจากเรื่องที่แล้วพอสมควร
  • นอกจากทั้งคู่นี้ “2046” ยังขนนักแสดงระดับแถวหน้าของเอเชียมาร่วมจออีกหลายรายไม่ว่าจะเป็น “กงลี่, เฟย์ หว่อง, จางเจิ้ง, จางจื่ออี๋, ตงเจี๋ย” รวมถึง “เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์” จากประเทศไทย และ “ทาคูยะ คิมูระ” เจ้าพ่อซีรีส์ญี่ปุ่นและไอดอลชายวง SMAP ด้วย ซึ่งหลายคนในนี้ถือเป็นนักแสดงที่เคยร่วมงานกับ “หว่องกาไว” มาแล้ว
  • คำโปรยของ “2046” คือ “คุณยังตกอยู่ในห้วงแห่งความรักรึเปล่า” (Are you still in the mood for love?)
  • ตามปกติแล้วหนังของ “หว่องกาไว” มักได้รับเสียงตอบรับที่ดี “2046” ก็ดำเนินไปตามนั้น แต่เสียงตอบรับด้านบวกที่ได้มาถือว่าน้อยกว่าหนังเรื่องก่อนๆ ของเขาอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุประการหนึ่งคือหนังเหมือนกับถ่ายทำไม่เสร็จ หรืออีกนัยหนึ่งหนังของหว่องกาไวเรื่องนี้ไม่เคยมีคำว่าเสร็จสมบูรณ์ จะต้องมีการตัดต่อใหม่ วางวิธีเล่าเรื่องใหม่ และต้องถ่ายใหม่อยู่เรื่อยๆ
  • ผู้กำกับภาพ “คริสโตเฟอร์ ดอยล์” แม้จะเป็นขาประจำที่ร่วมงานกับ “หว่องกาไว” เองก็ยังเคยบอกว่าเขาไม่ค่อยปลื้มหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ เขาไม่คิดว่าหนังควรสร้างออกมาตั้งแต่แรก และคิดว่าหว่องกาไวก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน
  • “2046” ใช้เวลาถ่ายทำนานกว่า 4 ปี และช่วงหนึ่งของการถ่ายทำเมื่อปี 2003 กองถ่ายจำเป็นต้องหยุดระงับชั่วคราวทำเนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของ “โรคซาร์ส” (SARS)
  • หากสังเกตดีๆ จะพบว่าตัวละครในหนังเรื่องนี้ต่างพูดภาษาประจำชาติตัวเอง แต่ทุกตัวละครดูเหมือนจะเข้าใจภาษาของแต่ละฝ่ายกันอย่างดี

 

 

“2046” ฉบับบูรณะใหม่ในระบบ 4K

10 ธันวาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์


นักแสดง

เหลียงเฉาเหว่ย (Tony Leung Chiu Wai)
กงลี่ (Gong Li)
เฟย์ หว่อง (Faye Wong)
ทาคุยะ คิมูระ (Takuya Kimura)
จางจื่ออี๋ (Zhang Ziyi)
หลิวเจียหลิง (Carina Lau)
จางเจิ้น (Chang Chen)
จางม่านอวี้ (Maggie Cheung)
ธงไชย แมคอินไตย์ (Thongchai Mcintyre)

ผู้กำกับ

หว่องกาไว (Wong Kar-Wai)

รางวัล

“Asian Film Critics Association Awards 2005” – Best Director (Wong Kar-Wai), Best Actress (Zhang Ziyi), Best Actor (Tony Leung Chiu Wai), Best Screenplay (Wong Kar-Wai) / “Golden Horse Film Festival 2004” – Best Art Direction (William Chang, Alfred Yau), Best Original Film Score (Shigeru Umebayashi, Peer Raben) / “Hong Kong Film Awards 2005” – Best Actor (Tony Leung Chiu Wai), Best Actress (Zhang Ziyi), Best Cinematography (Christopher Doyle, Yiu-Fai Lai, Pun-Leung Kwan), Best Art Direction (William Chang, Alfred Yau), Best Costume Design and Make Up (William Chang), Best Original Film Score (Peer Raben, Shigeru Umebayashi) / “Los Angeles Film Critics Association Awards 2005” – Best Production Design (William Chang) / “New York Film Critics Circle Awards 2005” – Best Cinematographer (Christopher Doyle, Yiu-Fai Lai, Pun-Leung Kwan), Best Foreign Language Film


โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ