“แอนดรูว์ เฮกเลอร์” จากนักแสดงสายแอคชั่นสู่ผู้กำกับภาพยนตร์สายคุณภาพ “Burden”

The IMDb Studio at The Sundance Film Festival & The IMDb Show on Location at The Sundance Film Festival - Day 1

 

เป็นที่รู้กันดีว่า กว่าหนังจะสร้างหนังอินดี้ได้สักเรื่องต้องอาศัยความอดทนและความมานะบากบั่นอย่างยากลำบากแค่ไหน และคนที่สามารถมายืนยันเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือ “แอนดรูว์ เฮกเลอร์” อดีตนักแสดงที่ผันตัวมาเป็นคนทำหนัง เพราะเขาตั้งใจอยากจะทำหนังเรื่องแรกของตนเองมาตั้งแต่ปี 1996 และพยายามดิ้นรนเพื่อทำหนังมาตลอด 2 ทศวรรษ

 

“แอนดรูว์ เฮกเลอร์” เคยเล่นบทสมทบเล็กๆ ในหนังใหญ่อย่าง “Armageddon” (1998) และซีรีส์ดังอย่าง “Ally McBeal” (1997-2002) เขาเป็นเจ้าของคณะละครเวิร์กเฮาส์เธียเตอร์ คณะละครเล็กๆ ในนิวยอร์กที่เขาทั้งกำกับและแสดงไปแล้วกว่า 30 เรื่อง เขาไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำหนัง และแล้วในที่สุด “Burden” หนังเรื่องแรกที่เขาทั้งเขียนบทและกำกับก็ได้เวลาลงโรงฉายเสียที

 

“Burden” สร้างมาจากเรื่องจริง ไมก์ เบอร์เดน” (แกร์เรตต์ เฮดลันด์) อดีตสมาชิกกลุ่ม “คูคลักซ์แคลน” (Klu Klux Klan – KKK สมาคมลับของกลุ่มที่เหยียดคนผิวดำ) ในเซาท์แคโรไลนาที่พยายามกลับตัวกลับใจ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก “แม่ลูกติดคนหนึ่ง” (แอนเดรีย ไรส์เบอโรห์) และสาธุคุณ “เดวิด เคนเนดี” (ฟอเรสต์ วิเทเกอร์) ร่วมด้วยนักแสดงมากฝีมืออย่าง “ทอม วิลคินสัน” และ “อัชเชอร์” หนังออกฉายรอบปฐมทัศน์ใน “เทศกาลหนังซันแดนซ์ปี 2018” และชนะ “รางวัลขวัญใจมหาชน” 

 

คุณได้ยินเรื่องราวของ “ไมก์ เบอร์เดน” ครั้งแรกตอนไหน 

ผมมีคณะละครและโรงละครของผมเองในนิวยอร์ก ซึ่งผมทั้งเขียนบทเอง สร้างเอง กำกับเอง และแสดงเองด้วย พวกเราไม่มีใครถนัดหาทุนเลย เพราะฉะนั้นทางเดียวที่โรงละครจะอยู่รอดได้ก็คือ ต้องผลิตละครต่อเนื่องโดยไม่ให้เวทีว่าง เราต้องช่วยกันหาเรื่องราวจากทุกสารทิศมาทำเป็นบทละคร แล้วผมก็ได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์เล็กๆ จากรัฐทางใต้ฉบับหนึ่งประมาณปี 1996 ผมตะบี้ตะบันอ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเพื่อหาข่าวแปลกๆ มาทำละคร แล้วผมก็ได้เห็นข่าวหนึ่งพาดหัวว่า “สมาชิกคูคลักซ์แคลนเปิดร้านเฉพาะคนผิวขาว และเปิดพิพิธภัณฑ์ของกลุ่มคูคลักซ์แคลน” ผมอ่านแล้วก็ชอบในความสุดโต่งของข่าวนี้ และตัดเก็บไว้ในแฟ้ม เพื่อจะกลับมาหารายละเอียดเพิ่มเติมตอนมีเวลา แต่แล้วในปีต่อมา ผมก็ได้อ่านข่าวที่พาดหัวว่า “สมาชิกคูคลักซ์แคลนขายร้านและพิพิธภัณฑ์ให้นักบวชผิวดำแล้ว” ผมอ่านแล้วคิดในใจว่าบ้าไปแล้ว ผมเลยรีบยกหูโทรคุยกับนักบวชคนนั้น แล้วผมก็รีบขับรถไปยังเซาธ์แคโรไลนาทันที ที่ผมทำแบบนั้นเพราะครั้งหนึ่งผมเคยนั่งคุยกับ “บิลลี บ็อบ ธอร์นตัน” ตอนนั้นเขากำลังทำหนังเรื่อง “Sling Blade” (1996) เขาคอยย้ำกับผมว่า “จำไว้นะ ไม่ว่านายจะทำอะไร ถ้านายต้องเขียนบทสักเรื่อง นายต้องออกจากอพาร์ตเมนต์ไปยังสถานที่แห่งนั้น และถึงแม้มันจะไม่ได้เกิดจากเรื่องจริงก็เถอะ นายต้องไปยังฉากหลังที่นายเขียน ไปสัมผัส ไปอยู่ที่นั่น สูดทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปในร่างกาย” เสียงของเขาดังก้องอยู่ในหัวของผม

ผมขับรถไปถึงที่นั่นได้พบบุคคลในข่าว และผมก็ใช้เวลา 10 วันเพื่อคุยกับพวกเขาเป็นครั้งแรก ผมไปเยือนโบสถ์แห่งนั้น ไปทำความรู้จักกับท่านสาธุคุณ และผู้ดูแลโบสถ์ที่ชื่อ “แคลเรนซ์” (ในหนังรับบทโดย “อัชเชอร์”) จากนั้นผมก็กลับไปที่นั่นอีกรอบหนึ่งเพื่อเก็บข้อมูลให้แน่ใจว่า มันมีเรื่องราวอีกด้านที่ผมคิดไม่ถึงหรือเปล่า เพราะผมไม่ได้อยากทำหนังที่ว่าด้วยธรรมะต่อสู้กับอธรรม หรือหนังยอดมนุษย์ซึ่งถ้าคุณเป็นนักแสดง คุณเรียนการละครมา คุณไม่มีทางอยากเขียนตัวละครแบนๆ แบบนั้นออกมาแน่ คุณจะต้องมองหาอะไรที่ลึกลับและซับซ้อนกว่านั้น มองดูว่าอะไรคือแรงขับของตัวละคร นักแสดงที่ดีจะไม่มีวันพูดว่า “ฉันจะมาพูดบทให้จบๆ แล้วกลับบ้าน” แต่นักแสดงที่ดีจะถามว่าปูมหลังของเรื่องทั้งหมดคืออะไร และหน้าที่คุณก็คือขุดเรื่องพวกนั้นขึ้นมา ผมเลยต้องขุดเรื่องนี้ แล้วผมก็ขุดไปจนถึงกลุ่มคูคลักซ์แคลน ผมเลยไปที่นั่น และโทรหาพวกเขา

 

คุณโทรหาพวกคูคลักซ์แคลนได้ง่ายๆ อย่างนั้นเลยเหรอ

คืองี้ ผมโทรไปที่ร้านพวก “เรดเน็ก” (Redneck คือกลุ่มคนขาวที่เป็นชนชั้นกรรมกร และส่วนใหญ่มักมีทัศนคติเหยียดผิว) มีร้านพวกนั้นอยู่ ผมหลอกพวกเขาว่า ผมเป็นพวกนิยมผิวขาวสุดโต่งจากโคโลราโด พ่อผมอยู่ที่นั่นและที่นั่นมีพวกนิยมผิวขาวสุดโต่งเยอะมาก ผมบอกพวกเขาว่าผมกำลังจะขับรถไปพักร้อนที่ฮิลตันเฮด (เมืองรีสอร์ตบนเกาะในแถบเซาท์แคโรไลนา) ผมอยากแวะไปทักทายพวกเขา และพวกเขาก็ตอบมาว่า “ได้เลย” ผมเลยไปขลุกอยู่กับพวกเขา ได้พูดคุย และได้รับรู้วิธีคิดของพวกเขา ซึ่งการพูดคุยครั้งนั้นก็ท้าทายผมมาก เพราะทุกอย่างมันค้านกับตัวตนและความเชื่อของผมโดยสิ้นเชิง เอาเข้าจริงมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องลำบากใจอะไรนัก ผมไม่ถึงกับต้องฝืน ผมมักจะเข้าไปคลุกวงในกับคนกลุ่มต่างๆ อยู่แล้วเพื่อมาใช้ในงานแสดง เพราะฉะนั้นถ้าผมจะทำหนัง ผมก็ต้องลงทุนหน่อย แล้วผมก็ได้ข้อมูลเยอะมาก ได้รับรู้อะไรที่ลึก และความคิดที่มีหลายเฉด ซึ่งไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ ทุกอย่างมันเทาๆ เหมือนมนุษย์เราทุกคน นับว่าเป็นประโยชน์กับบทหนังของผมมาก

 

ระหว่างการหาข้อมูลทั้งที่ยังไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะทำเป็นหนัง คุณใช้เงินตัวเองทั้งหมดเลยเหรอ

ใช่ ผมโง่มากที่ทำแบบนั้น และไม่ใช่แค่เดินทางไปเซาท์แคโรไลนา ผมยังเดินทางไปยังเวสต์เวอร์จิเนียด้วย ผมใช้เงินเก็บหมดไปกับการเดินทาง และค่าใช้จ่ายในการเก็บข้อมูล แถมยังต้องจ่ายค่าสิทธิ์ในการขอข้อมูลส่วนตัวด้วย (Life Rights คือ สิทธิ์ในการขอข้อมูลส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาใช้งานในสื่อ เช่น ภาพยนตร์หรือหนังสือ โดยต้องจ่ายและมีการเซ็นสัญญายินยอม)

 

คุณจ่ายค่าเรื่องอย่างไรสำหรับ “Burden”

ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองจ่ายไปถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า แต่ผมจะเล่าเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนทำหนังอิสระก็แล้วกัน ผมได้ไอเดียมาจากข่าวในหนังสือพิมพ์ ซึ่งผมไม่จำเป็นต้องจ่าย เพราะมันเป็นสมบัติสาธารณะในตัวมันเอง ผมจ่ายเงินเล็กน้อยให้กับบุคคลที่ผมนำเรื่องของเขามาทำเป็นหนังในราคาที่ตกลงกัน ผมต้องการทำหนังเพื่อเชิดชูความเป็นมนุษย์ของพวกเขา ผมไม่ได้ทำเพื่อหาประโยชน์จากพวกเขา

 

Burden-Still04

 

เริ่มแรกคุณเข้าไปคุยกับ “สาธุคุณเคนเนดี” สาธุคุณเป็นคนพาคุณไปรู้จักกับ “ไมก์ เบอร์เดน” หรือเปล่า

จริงๆ แล้วผมได้เจอ “ไมก์ เบอร์เดน” ผ่านการช่วยเหลือของหน่วยงานยุติธรรมของรัฐเซาท์แคโรไลนา เราเขียนจดหมายโต้ตอบกันพักหนึ่ง จากนั้นผมก็ขับรถลงไปเยี่ยมเขาเพื่อทำความรู้จักเขา ล่าสุดผมเพิ่งคุยกับเขาวันนี้เอง เรากลายมาเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันนับตั้งแต่ครั้งแรกที่เราได้คุยกัน พอคุณได้คุยกับพวกเขา ได้เห็นว่าชีวิตเขาเติบโตขึ้นมายังไง และคุณได้ทำหนังเรื่องนี้โดยไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์จะออกมายังไง คุณก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกภูมิใจในตัวเขา และภูมิใจในความเป็นมนุษย์

 

พอคุณเริ่มต้นลงมือเขียนบท คุณจะต้องหาจุดสมดุลไหมว่าควรจะต้องเล่าเรื่องของสาธุคุณหรือเรื่องของไมก์อย่างไรให้พอดี

มันค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ ตลอด 16 ปีมานี้ที่ผมหมกอยู่กับบทหนังเรื่องนี้ มันพัฒนาผ่านบุคลิกของคนที่ผมคิดว่าจะมาเล่นบทนั้นๆ ตอน “ฟอเรสต์ วิเทเกอร์” เซ็นสัญญาว่าจะมาเล่นในปี 2006 ผมพอจะนึกภาพออกแล้วว่าผมจะปรับบทให้เข้ากับเขาอย่างไร ฟอเรสต์เป็นคนที่มีบุคลิกชวนให้รัก เขาเป็นนักแสดงที่เก่งกาจและยอมรับฟัง พอได้อ่านบท เขาเองก็มีความเห็น และผมก็คิดว่าความเห็นของเขานั้นมีค่ายิ่ง หลายอย่างที่เขาแนะนำนั้น ผมก็นำเอามาใส่ในบทด้วย ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์กับผมมาก แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ผมก็อ่านแล้วผมก็แก้มันไปเรื่อยๆ จนอาจจะเยอะเกินไป การเขียนบทจนหนักมือ ใส่ทุกอย่างที่อยากจะใส่ มันเป็นคำสาปนะ และคุณจะสำนึกได้ตอนอยู่ในห้องตัดต่อ บทเดิมมีความยาวประมาณ 140 หน้า ผมใส่เรื่องของทุกคนมากเกินไป ซึ่งผมก็ไม่ได้พยายามจะเขียนเรื่องน้ำเน่าชวนฝันแบบเด็กหนุ่มกับเด็กสาวพบกัน เด็กสาวเตือนสติเด็กหนุ่ม เด็กหนุ่มลงเอยด้วยการเข้าโบสถ์ พระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า และเราเดินยิ้มออกจากโรงหนัง ผมไม่อยากทำแบบนั้น ผมอยากทำอะไรที่มันท้าทายกว่านั้น ผมอยากทำให้ตัวละครอย่างไมก์ จูดี หรือท่านสาธุคุณมีด้านที่ซับซ้อน ผมไม่อยากให้ทุกตัวออกมาโมโนโทนน่าเบื่อ ผมต้องดึงความซับซ้อนของพวกเขาออกมา

 

คุณตั้งใจเป็นผู้กำกับตั้งแต่แรกเลยใช่ไหม

เปล่า ผมไม่มีภูมิต้านทานกับวงการหนังสักเท่าไหร่ ตอนที่ผมเริ่มต้นโปรเจกต์นี้ คู่หูของผมคือ “แอรอน เอ็กฮาร์ต” ผมและเขาก่อตั้งคณะละครขึ้นมาด้วยกัน ผมตั้งใจให้แอรอนเล่นเป็นไมก์ ทุกอย่างคืบหน้าไปไวมาก ตอนผมเขียนบทเสร็จ ผมให้เอเยนต์ของผมดู พวกเขาชอบมาก และการมีแอรอนในโปรเจกต์ มันก็ดูมีความเป็นไปได้ พวกเขานัดให้ผมได้เจอกับโปรดิวเซอร์ “ไมเคิล ลอนดอน” และ “แคทเธอรีน ฮาร์ดวิก” ถูกวางตัวให้เป็นผู้กำกับ เนื่องจากเราได้ดูหนังเรื่อง “Thirteen” (2003) ร่างแรกๆ ของฮาร์ดวิกแล้วรู้สึกว่า “ผู้หญิงคนนี้ทำหนังเรื่องนี้ได้แน่นอน แบบนี้แหละที่ผมต้องการ” เราเข้าไปที่พาราเมาต์ ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ พาราเมาต์ไฟเขียว แต่ผ่านไปสัปดาห์เดียว ไฟเขียวนั้นก็ดับลง แล้วมหากาพย์ 16 ปีอันยาวนานเพื่อทำให้หนังเรื่องนี้ได้สร้างก็เริ่มในตอนนั้นเอง

 

ระหว่างช่วงเวลานั้น อะไรทำให้คุณยังมีแรงใจผลักดันหนังเรื่องนี้โดยไม่หมดไฟไปเสียก่อน

ผมไม่หมดไฟหรอก เพราะสารที่ผมต้องการจะสื่อในหนังมันทรงพลังเกินกว่าจะยอมละทิ้งไปง่ายๆ ผมคิดว่าเวลาที่ผมหมดไปกับการลงไปคลุกคลีกับบุคคลจริงๆ ในสถานที่จริงนั้น เป็นเหมือนหลักยึดบางอย่างให้ผมไม่ถอดใจง่ายๆ และสัญญากับตัวเองว่าจะต้องทำออกมาให้เสร็จ ผมต้องรักษาคำมั่นที่ให้ไว้กับไมก์กับจูดี และสาธุคุณเคนเนดี เพื่อจะเผยแพร่เรื่องราวของพวกเขา อีกอย่างหนึ่งที่ผมไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือโปรดิวเซอร์ของผม “ร็อบบี เบรนเนอร์” เธอคือพระเจ้าของผม เป็นวีรบุรุษหลังม่านที่แท้จริง ถ้าไม่มีเธอสักคน ทุกอย่างก็คงไม่สำเร็จ ผมจะมีอำนาจไปต่อรองกับใครได้ ผมจำได้ว่าตอนที่เธอเข้าชิงออสการ์จากหนัง “Dallas Buyers Club” (2013) เช้าวันนั้น เธอส่งข้อความมาหาผมว่า “คุณเป็นคนต่อไปนะ” เธอเข้ามาดูโปรเจกต์ของผมตั้งแต่ปี 2004 เธอคือผู้ปิดทองหลังพระในวงการหนังอิสระ คอยวิ่งเต้น คอยผลักดัน ถ้าไม่มีเธอ หนังก็คงไม่ได้สร้าง

 

Burden-Still01

 

ในฐานะที่เป็นนักแสดงมาก่อน ทำให้คุณสามารถรับมือกับความผิดหวังได้ดีกว่าคนทั่วไปหรือเปล่า เพราะคุณต้องอยู่กับการรอคอยมาตลอดหลายปี

ผมคิดว่าเราทุกคนมักจะแยกงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกันได้ เราพยายามจะไม่เอามาปะปนกัน คุณคิดว่าเวลาคุณออกไปขายประกัน แล้วคุณไม่ได้ลูกค้าก็ไม่ต้องคิดมาก เพราะคุณขายประกันนะ คุณไม่ได้ขายตัวเอง แต่สำหรับนักแสดง เวลาคุณออกไปออดิชันบท ตัวคุณคือสินค้า ถ้าคุณไม่ได้รับเลือก คุณจะมีความผิดหวังนิดๆ ผมจำได้ว่าตอนผมเขียนบท “Burden” จบ และให้เพื่อนสนิทของผมอ่าน พอเธออ่านจบ เธอก็ให้ความเห็นว่า “นี่มันตัวคุณชัดๆ” ผมเถียงไปว่า เฮ้ย ตัวผมตรงไหน ตัวละครตัวนี้คือผู้ชายคนหนึ่งในเมืองชนบทของรัฐเซาท์แคโรไลนานะ แถมยังเป็นพวกเหยียดผิวด้วยนะ เธอก็ตอบกลับมาว่า “ใช่ แต่บุคลิก และความรู้สึกนึกคิด มันคือตัวคุณเลย” ตอนนั้นเองที่ผมตระหนักว่าลึกๆ แล้ว ตัวละครที่ผมเขียนคือตัวผมเอง มันคือตัวตนของผม เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่โปรเจกต์ถูกปฏิเสธ ผมรู้สึกเจ็บปวดจนบรรยายไม่ถูก แต่ข้อดีของการเป็นนักแสดงมืออาชีพก็คือ คุณเป็นนักสู้ ถ้าวันนี้ออดิชันไม่ได้ คุณจะไม่แขวนเสื้อผ้าแล้วนั่งท้อแท้ คุณจะเลือกเสื้อตัวใหม่เพื่อออกไปออดิชันอีกงานในวันรุ่งขึ้น

 

จุดไหนที่คุณเกิดความคิดว่า “เห็นทีฉันต้องกำกับเอง”

ไม่มีอะไรหักมุมเลย ก็แค่เราหาผู้กำกับไม่ได้ หลังจากมีผู้กำกับหลายคนถอนตัวไป เพราะเขาไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกับผม ผมเองก็ทำละครมาเยอะ ทำงานกับนักแสดงมาทั้งชีวิต พอต้องมีกล้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมก็ต้องการนักแสดงที่ดีมาอยู่ในหนัง ผมคิดว่าหนังจะออกมาดีได้ขึ้นอยู่กับนักแสดงเลย

“แกร์เรตต์ เฮดลันด์” สำหรับผมแล้ว เขามาเล่นหนังเรื่องนี้ได้ดีเท่ากับที่เขาเล่นหนังเรื่องอื่นๆ เขาเป็นนักแสดงนำ แต่บทก็ห่างไกลจากการเป็นนักแสดงนำในหนังทั่วไป เขามีหลักการทำงานที่เข้มงวดกับตัวเองมาก เขาต้องมาถึงหน้ากองเป็นคนแรก และอยู่เป็นคนสุดท้ายทุกวัน ทุ่มหมดตัวทุกครั้งที่เข้าฉาก ซึ่งหลายฉากก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เขามหัศจรรย์มากๆ เขาเป็นนักแสดงที่กล้าเสี่ยง กล้าลองทำเรื่องนอกกรอบ และการแสดงก็ออกมาให้ผลคุ้มค่า

“แอนเดรีย ไรส์เบอโรห์” ก็ยอดเยี่ยมที่สุด เธอสูด “จูดี เบอร์เดน” เข้าไปในร่างกายเลยจริงๆ และเป็นเพราะเธอมาจากปูมหลังที่แตกต่างจากตัวละครมาก (ไรส์เบอโรห์เป็นนักแสดงชาวอังกฤษ) เธอเลยทำงานหนักกว่าปกติ ซึ่งยอดเยี่ยมมากจริงๆ ส่วน “ทอม วิลคินสัน” ผมอยากให้ตัวละครตัวนี้เป็นพ่อคน ไม่ใช่ปีศาจร้าย และเขาก็เล่นออกมาได้ดั่งใจผมทุกอย่าง ส่วน “ฟอเรสต์ วิเทเกอร์” นั้นผมไม่ต้องอธิบายมาก ใครได้มาเล่นก็นับเป็นโชค เพราะเขาเตรียมตัวมาอย่างดีเพื่อเป็นตัวละครตัวนั้น เขาเป็นนักแสดงแบบเมธอด คือมาเข้าฉากด้วยการเป็นตัวละครนั้นมาเลย

หน้าที่ผู้กำกับไม่มีอะไรต้องหนักใจแล้ว ถ้าคุณได้นักแสดงที่ยอดเยี่ยม ที่เหลือก็แค่คิดว่าจะเอาตัวละครตัวไหนวางไว้ตรงไหนในสถานการณ์นั้นๆ ผมเปิดกว้างให้นักแสดงสามารถอิมโพรไวส์ได้ ไม่ต้องเล่นตามบททุกถ้อยคำ ผมจึงถ่ายโดยใช้กล้อง 2 ตัวถ่ายในทุกฉาก เพื่อเก็บรายละเอียดให้ได้มากที่สุด (หนังทั่วไปมักจะถ่ายโดยใช้แค่ 1 กล้อง หากจะเปลี่ยนมุมก็ใช้วิธีให้นักแสดงเล่นซ้ำ) อันที่จริงผมแทบไม่ได้กำหนดตำแหน่งว่านักแสดงควรยืนตรงไหน ผมลองให้พวกเขาเล่นกันไปก่อน แล้วกล้องจะเป็นคนคอยตามถ่ายพวกเขาเอง “ทอม วิลคินสัน” ไม่คุ้นกับวิธีนี้ เขาถามผมทุกครั้งว่า “เทคนี้กล้องจะจับหน้าผมหรือเปล่า” ผมก็ตอบไปว่า “ผมไม่รู้หรอก” ทอมเซ็งทุกที แต่เขาก็ยอมให้ผม

 

การเป็นนักแสดงมาก่อน ทำให้คุณต้องดูแลการแสดงมากเป็นพิเศษหรือเปล่า

การเป็นนักแสดงมาก่อน มันจะมีความประหม่าบางอย่าง ผมว่านักแสดงทุกคนเป็น เวลาเราไปออดิชันหรืออะไรก็ตาม เราจะมีความวิตกกังวลว่า คนที่คัดเลือกเราเขาจะชอบเราไหมนะ เวลาผมเป็นคนคัดเลือกนักแสดง ผมจะเข้าใจหัวอกนักแสดงด้วยกันมากๆ ผมจะไม่นั่งแล้วพูดให้ความเห็นแบบ “ผมไม่ชอบหมอนี่เลย” หรืออะไรแบบนั้น ผมจะให้ทุกคนเข้ามาแสดง มาโชว์ของให้เต็มที่ เรามองหาคนที่เหมาะกับบท บางครั้งคุณไม่ได้รับเลือก เพราะคุณแค่ไม่เหมาะเท่านั้นเอง

ตอนถ่ายหนัง ทุกครั้งเวลาที่ผมถ่ายฉากไหนเสร็จ และผมคิดว่าตนเองพอใจแล้ว ผมจะไม่ยอมสั่งเลิกกองแล้วถ่ายฉากใหม่ ผมจะตะโกนถามนักแสดงก่อนว่า “ผมโอเคแล้ว แต่ใครอยากลองเล่นอีกทีไหม” ผมอยากให้นักแสดงได้รู้สึกแบบเดียวกับผมว่า เขาโอเคกับมันแล้วจริงๆ ซึ่งผู้ช่วยผู้กำกับไม่สบอารมณ์เท่าไหร่ เพราะมันทำให้การทำงานยืดยาวขึ้น แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำกับและนักแสดง ผมจะให้เกียรตินักแสดงเสมอ ผมจะรับฟังพวกเขาเพื่อให้พวกเขาถ่ายทอดการแสดงที่ดีที่สุดของพวกเขาออกมา เวลาคุณอยากให้อีกฝ่ายมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้คุณ คุณต้องแสดงให้เห็นว่ามีการไว้เนื้อเชื่อใจกันและกันเกิดขึ้น ถ้าพวกเขาเชื่อใจคุณ พวกเขาก็จะตามใจคุณ

 

คุณได้ซ้อมการแสดงก่อนการถ่ายทำหรือเปล่า

แทบไม่ได้ซ้อมเลย “ทอม วิลคินสัน” อยู่อังกฤษ ส่วน “ฟอเรสต์ วิเทเกอร์” ก็มีเวลาว่างให้เราแค่ 3 สัปดาห์เท่านั้น เราเลยไม่มีเวลาเหลือสำหรับการซ้อมบท เราจะซ้อมทุกวันก่อนเข้าฉากเท่านั้นเอง บางอย่างก็เป็นการด้นสดเอาในฉาก

 

Burden-Still13

 

การหาโลเคชันถ่ายทำยากหรือเปล่า 

ท้าทายมากทีเดียว เพราะผมไม่ชินกับกระบวนการนี้เลย ผมมีปัญหากับคนทำโลเคชัน และผมต้องขอโทษทุกคนด้วย ในความคิดของผม ผมไม่อยากไปโลเคชันที่เคยใช้ถ่ายหนังเรื่องอื่นมาก่อนแล้ว เราจะไปใช้ซ้ำทำไม เราจึงไม่เลือกโลเคชันที่อยู่ในสต็อกของคนหาโลเคชันเลย ทีมงานเราได้ไปเจอสาวเสิร์ฟคนหนึ่งที่มีพ่อสามีเป็นนายอำเภอในพื้นที่ แล้วผมกับนายอำเภอก็ออกตระเวนไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยกัน ผมจะเล่าให้นายอำเภอฟังว่าตัวละครของผมเป็นแบบไหน และเขาน่าจะไปใช้ชีวิตในที่แบบไหน นายอำเภอก็จะช่วยขับรถพาผมไปดูว่า คนลักษณะที่ว่าจะแกร่วอยู่แถวไหนบ้าง เขาขับรถพาผมไปบ้านคน บ้านนักบวช คือสถานที่ที่มีคนจริงๆ ใช้งานหรืออาศัยอยู่ ตัวประกอบหลายคนในฉากคือคนในพื้นที่จริง

 

หลังจากดิ้นรนมา 16 ปี พอต้องมาออกกองถ่ายจริงๆ ความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง

วันแรกของการทำงานทุกครั้ง ผมมักจะต้องกล่าวสปีชต่อหน้าทุกคน เพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังใจ แต่วันนั้นในกองถ่าย ผมตื่นมาและเรียกทุกคนมาพร้อมหน้า แต่ผมกลับพูดอะไรไม่ออก มันตื้นตันเกินไป ผมเห็นหน้าทุกคนที่พร้อมทำงานแบบ 100% เต็ม พวกเขาเองก็คงเห็นใจผมที่ผมรอมานานกว่าจะมีวันนี้ และทีมงานทุกคนก็คงรู้สึกว่า มีความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ที่จะต้องทำ คือจะต้องเล่าเรื่องพวกนี้ออกมาให้ได้ เพราะผมได้พาทีมงานลงไปดูพื้นที่จริงและบุคคลจริงมาแล้ว

ตอนที่ผมกำลังจะออกจากบ้านเพื่อไปอยู่กองถ่าย ก่อนผมไปภรรยาของผมพูดกับผมว่า “ฟังฉันนะ คุณขลุกอยู่กับโปรเจกต์นี้มาเกือบครึ่งชีวิต คุณไม่สามารถควบคุมสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คุณไม่สามารถควบคุมได้ว่าหนังจะออกมาดีหรือออกมาแย่ แต่สิ่งที่คุณควบคุมได้แน่ๆ ก็คือ สนุกกับการออกกองถ่าย รื่นรมย์กับประสบการณ์นี้ให้มากที่สุด และนั่นจะเป็นสิ่งที่ใครหน้าไหนก็มาพรากจากคุณไปไม่ได้” ถ้าคุณได้ดูหนัง คุณจะเห็นว่าหนังมีฉากดุเดือด ตึงเครียด และกระแทกอารมณ์หลายฉากมาก แต่ทีมงานทุกคนมีความสุขกันมากระหว่างถ่ายทำ ช่วงพักพวกเขาจะครื้นเครงกันสุดๆ ทั้งทีมงานและตัวประกอบ

ผมจำได้ว่า ตอนถึงคิวสุดท้ายของ “ฟอเรสต์ วิเทเกอร์” เราทานอาหารเย็นพร้อมหน้าเพื่อเลี้ยงส่งเขา ตอนนั้นเขาสลัดวิญญาณตัวละครออกแล้ว และกลายเป็นวิเทเกอร์ตัวจริงที่หนุ่มกว่า กระฉับกระเฉงและขี้เล่นกว่า เขาบอกกับผมว่า “คุณดูมีความสุขมากเลยนะ กลายเป็นว่าผู้กำกับดูผ่อนคลายกว่าทีมงานคนอื่นๆ เสียอีก แปลกจริงๆ”

 

งานชิ้นต่อไปของคุณคืออะไร

ตอนผมตระเวนขับหาโลเคชันกับนายอำเภอ ผมคุยกับเขาเรื่อยเปื่อยว่าปัญหาที่เมืองนี้คืออะไร เขาตอบว่า “เฮโรอีน” แล้วเขาก็เล่าประสบการณ์การเป็นนายอำเภอในเมืองเล็กๆ ให้ผมฟังว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง ยาเสพติดทุกประเภทที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ผมฟังแล้วโกรธทุกอย่าง ผมเก็บความโกรธนั้นเดินทางไปยังเวสต์เวอร์จิเนีย และเจอกับเหยื่อยาเสพติดที่นั่น เจอกับทนายความที่ต่อสู้กับเรื่องนี้ จนผมเขียนบทหนังเรื่องหนึ่งชื่อว่า “Damage Done” ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมงานแล้ว ผมว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้ “Burden” กลายเป็นหนังโรแมนติกคอเมดีไปเลย มันสาหัสมากจริงๆ นะ และผมคิดว่าคนดูน่าจะพร้อมสำหรับหนังเนื้อหาหนักๆ แบบนี้แล้ว

 

Burden”

25 มิถุนายนนี้ ที่ House Samyan เท่านั้น

 

Burden-Poster

Burden

Burden

“ไมก์ เบอร์เดน” (แกร์เรตต์ เฮดลันด์) เป็นเด็กกำพร้าที่โตขึ้นมาในกลุ่ม “คูคลักซ์แคลน” (Ku Klux Klan) หรือกลุ่มลัทธิเหยียดสีผิวหัวรุนแรง ทำให้เขาเองจงเกลียดจงชังคนผิวดำและกลายเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่ม...

รายละเอียดภาพยนตร์

Featured News