องค์บาก (Ong Bak)

วันเข้าฉาย: 31/01/2003 แอ็กชัน 01 ชั่วโมง 45 นาที

เรื่องย่อ

ในประวัติศาสตร์ “หมู่บ้านหนองประดู่” ที่ยาวนานตั้งแต่ครั้นสมัยสงครามไทยกับพม่า ตำนานของ “ครูดำ” ผู้แกร่งกล้าด้วยศิลปะการต่อสู้ คือชายไทยผู้กล้าที่เคยแหวกฝ่ากองทัพพม่าไปแย่งชิงเอาองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกทหารพม่าบุกมาปล้นสะดมและแย่งชิงไปจากหมู่บ้านเมื่อคราครั้งกระโน้นได้เป็นผลสำเร็จ จนเกิดปาฏิหาริย์แห่งรอยบากอยู่บนพระพักตร์ขององค์พระ ว่ากันว่าร่องรอยดังกล่าวคือบาดแผลจากการต่อสู้ที่เกิดจากอิทธิฤทธิ์ขององค์พระศักดิ์สิทธิ์ที่รับแทนคมหอกคมดาบที่ทหารพม่าถาโถมฟาดฟันเข้าใส่ร่างของครูดำนั่นเอง

 

ความเชื่อดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับครูดำและผู้คนในหมู่บ้านได้ถูกเล่าขานสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่แล้ว “องค์บาก” กลับถูก “ดอน” (วรรณกิตย์ ศิริพุฒ) อดีตลูกหลานบ้านหนองประดู่ที่ปัจจุบันหันหน้าเข้าสู่โลกแห่งความชั่วช้าอย่างเต็มรูปแบบทั้งเรื่องของยาเสพติด การพนัน และที่ร้ายแรงที่สุดคือการแอบตัดเศียรองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไปให้กับนักสะสมวัตถุโบราณที่มีจิตใจชั่วช้าในกรุงเทพฯ ในคืนก่อนงานเฉลิมฉลองงานบุญที่ชาวหนองประดู่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองศรัทธาต่อองค์บากที่ได้หมุนเวียนมาครบ 24 ปี ส่งผลให้เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจต่อทุกชีวิตในบ้านหนองประดู่ โดยเฉพาะบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ที่รอวันนี้มาค่อนชีวิต

 

ราวกับว่านี่คือกงล้อแห่งศรัทธาที่หมุนเวียนบรรจบมาเพื่อทดสอบในศรัทธาแห่งความความผูกพันและพลังแห่งความดีงามของผู้คนในบ้านหนองประดู่อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะกับผู้ที่ได้รับการสืบทอดชะตากรรมจากองค์บากโดยตรงอย่าง “ทิ้ง” (จา-พนม ยีรัมย์) เด็กหนุ่มลูกกำพร้าที่ได้รับการชุบเลี้ยงเติบโตจนมีสายเลือดของบ้านหนองประดู่อย่างข้นคลั่ก รวมทั้งเคล็ดวิชา “นวอาวุธ” (อาวุธที่ก่อเกิดจากอวัยวะสำคัญในร่างกายของมนุษย์ทั้ง 9 อันประกอบไปด้วย 1 ศีรษะ 2 หมัดกร้าวแกร่ง 2 แรงกระทุ้งของศอก ตอกย้ำความหนักหน่วงของ 2 เข่า และความคล่องแคล่วว่องไวของ 2 เท้า) ผสมผสานกับศิลปะมวยไทยโบราณที่ได้รับการถ่ายทอดจาก “พระครู” หลวงพ่อผู้เป็นดั่งเสาหลักที่เคารพนับถือของผู้คนในหมู่บ้านหนองประดู่ลูกศิษย์คนสำคัญของครูดำ ปูชนียบุคคลที่มีคุณอนันต์ของหมู่บ้าน

 

การเดินทางมุ่งหน้าสู่หนทางแห่งการต่อสู้ การทบทวนจิตวิญญาณแห่งความใฝ่ดี และการเผชิญหน้ากับโลกใหม่ที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ลุ่มหลงนิยมในวัตถุเงินทอง ท่ามกลางแสงสีของเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยความคดโกง หลอกหลวง และแก่งแย่งชิงดี ทิ้งได้พบกับบททดสอบแห่งศรัทธาและภาระรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นอันตรายมากขึ้น โดยมีคนๆ เดียวในเมืองหลวงที่จะช่วยทิ้งตามหาดอนได้คือ “ยืนยง” (หม่ำ จ๊กม๊ก) ลูกชายของผู้ใหญ่น้อยอีกหนึ่งลูกหลานบ้านหนองประดู่ที่ถูกส่งมาเล่าเรียนเพื่อกอบโกยเอาความรู้นำกลับไปพัฒนาถิ่นเกิด แต่กลับกลายเป็นว่าทิ้งถูกยืนยง (หำแหล่) ที่บัดนี้เปลี่ยนรูปโฉมเป็น “ไอ้ยอร์จ” หนุ่มหัวทองไร้ซึ่งหัวจิตหัวใจหลอกขโมยเอาถุงห่อของมีค่าที่รวบรวมเอาแบงค์ยี่สิบเก่าๆ เงินเหรียญ และบรรดาทรัพย์สมบัติของผู้เฒ่าผู้แก่-ลูกหลานของบ้านหนองประดู่ที่รวบรวมให้ทิ้งเพื่อเป็นทุนรอนในการตามหาองค์บากในเมืองใหญ่ไปวางเดิมพันในมวยเถื่อนเสียแล้ว

 

เส้นทางในการเสาะหาองค์บากดึงเอาทิ้งเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนอันหลากหลายในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น “เง็ก” (รุ่งระวี บริจินดากุล) หญิงสาวสู้ชีวิตที่ถูกความเหลวแหลกของเมืองหลวงกัดกินทั้งร่างกายและจิตใจ “หมวยเล็ก” (ภุมวารี ยอดกมล) เด็กสาวแก่นแก้วที่งดงามทั้งหน้าตาและจิตใจ “ไอ้เป๋ง” (เชษฐวุฒิ วัชรคุณ) นักเลงหัวไม้หัวโจกของบรรดาจิ๊กโก๋คุมซอยคู่ปรับคนสำคัญของยอร์จ

 

ความเป็นจริงในความหวังที่ไม่เพียงดูริบหรี่ แต่กลับเริ่มไกลห่างออกไปจากตัวทิ้งมากขึ้นทุกที เมื่อจิตศรัทธาแห่งความดีงามจากคนรอบข้างที่มีต่อองค์บากค่อยรางเลือนมากยิ่งขึ้น กลับกันกับชักนำให้ทิ้งถลำเข้าไปสู่วังวนแห่งการต่อสู้ที่ดูเหมือนจะขัดกับถ้อยคำที่พร่ำสอนจากพระครู เมื่อทิ้งถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับเกมการต่อสู้ และการไล่ล่าที่อบอวลไปด้วยความชั่วร้ายจากทั้งคนไทยด้วยกันเองและชาวต่างชาติ

 

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางแห่งจิตศรัทธาที่นำมาซึ่งการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ศักดิ์ศรีของศิลปะการต่อสู้ที่เรียกขานว่า “แม่ไม้มวยไทยโบราณ”

 

Ong-Bak-Poster01

 

บางบทบันทึกจากความรู้สึกของ “ปรัชญา  ปิ่นแก้ว” ผู้กำกับ “องค์บาก” (Director’s Note)

 

สมัยก่อนตอนผมเด็กๆ อยู่ต่างจังหวัดเป็นคนชอบดูหนังทุกประเภท และดูแทบทุกเรื่อง บังเอิญช่วงนั้นมีหนังที่สร้างโดย “คุณพันนา ฤทธิไกร” เป็นหนังต่างจังหวัดหรือหนังสาย ดูมาหลายเรื่อง แต่มีเรื่องหนึ่งที่สะดุดตาและประทับใจเราคือเรื่อง “เกิดมาลุย” คุณพันนาสร้าง กำกับ และแสดงเอง เป็นหนังที่เสี่ยงชีวิตเล่นกันทุกคน คือแต่ละฉากเช่น ฉากต่อสู้ ฉากเสี่ยงตายกันโดยไม่เครื่องมือช่วย เสี่ยงตายกันแบบเห็นๆ มีขับรถผาดโผน ชนกัน กระเด็นกันแบบ Slow Motion ให้ดู ไม่มีอะไรมาช่วยเขาเลย ก็เป็นความประทับใจซึ่งตอนนั้นยังเป็นวัยรุ่นอยู่

 

พอวันหนึ่งเรามาทำงานที่กรุงเทพฯ ความใฝ่ฝันเราชัดเจนขึ้นแล้วว่าเราอยากจะทำหนัง พอวันที่เรามีโอกาสผมเลยนึกถึงเรื่องนี้ ก็เลยมีความฝันเพิ่มเติมขึ้นไปอีกขั้นคือ อยากทำหนังที่มีฉากแอคชั่นแบบไทยๆ ที่โชว์ความสามารถแบบทีมงานไทย ซึ่งผมและคุณพันนาได้คุยกันครั้งแรกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เรามีความฝัน มีความตั้งใจอยากจะทำตรงนี้ เอาความสามารถของเขามาผสมกับไอเดียของเรา แล้วเราได้ไอเดียหลังจากที่คุยร่วมกันว่า เรามีศิลปะของชาติ เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแล้วคือ มวยไทย  อีกอย่างคือผมมองว่าหนังแอคชั่นไทยๆ แบบสุดๆ ยังไม่มี เพราะหนังแอคชั่นของเราส่วนมากจะไปเลียนแบบทางฮ่องกงหรือทางฮอลลีวูดมา คุณพันนาก็เลยเอาความคิดแนวคิดร่วมกันนี้ไปตั้งต้นฝึกมวยไทยกับทีมงานกันใหม่หมด

 

ในช่วงนั้นเองพันนาเขามีลูกน้องคนหนึ่งคือ “จา-พนม ยีรัมย์” เป็นคนที่มีความสามารถ ตอนแรกผมไม่รู้จักมาก่อน เขารู้จักกับพันนามาตั้งแต่ตอนเขาอายุประมาณ 10 กว่าปี คุณพันนาเขาเห็นความสามารถและอยู่ด้วยกันมานานแล้ว จึงเอาวิชามวยไทยให้เด็กคนนี้ไปฝึกและถ่ายทอดออกมาเป็นคิวบู๊ เราทำงานมาโดยตลอดจนเป็นโปรเจกต์หนังเรื่อง “องค์บาก” ขึ้นมา

 

“ทุกอย่างมันผ่านเวลาและการต่อสู้มาเยอะมาก มันเป็นอะไรที่ยิ่งกว่าหนังไปแล้วในความรู้สึกผมคือ 4 ปีที่ผมร่วมงานกับคุณพันนามา นอกเหนือจากการฝึกซ้อมพวกการต่อสู้ เราผูกพันกันมาก ก็เหลือเพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ความยิ่งใหญ่ออกมาให้คนทั่วไปได้ดู ผมมั่นใจกับงานตรงนี้  มันเต็มไปด้วยการเตรียมการที่ดีสำหรับหนัง 1 เรื่อง สำหรับผม 4 ปี แต่สำหรับคุณพันนาและจานั้น แทบจะเรียกว่าทั้งชีวิตของเขาเพื่อหนังเรื่องนี้ ทุกๆ อย่างมันเลยลงตัวและเราก็พร้อมที่จะทำหนังเรื่องนี้กันแล้ว”

 

 


นักแสดง

พนม ยีรัมย์
เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา (หม่ำ จ๊กม๊ก)
ภุมวารี ยอดกมล
สุเชาว์ พงษ์วิไล
เชษฐวุฒิ วัชรคุณ
วรรณกิตย์ ศิริพุฒ
ฉัฎฐพงศ์ พันธนะอังกูร
รุ่งระวี บริจินดากุล
ชุมพร เทพพิทักษ์
อุดม ชวนชื่น

ผู้กำกับ

ปรัชญา ปิ่นแก้ว

โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ