ทำความรู้จัก “คริสตอฟเฟอร์ บอร์กลี” ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่จากภาพยนตร์ “Sick of Myself”

อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณสร้างหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์เป็นพิษที่ทั้งคู่เข้ากันไม่ได้เลยแบบนี้ขึ้นมา แนวที่ฉีกขนบหนังรอมคอมน่ะ

มันเริ่มมาจากที่ตัวเอกของเรื่องอย่าง “ซิงเนอ” แล้วก็เรื่องราวของเธอ แต่ตอนดราฟต์คืบหน้าไป ผมกลับพบว่าตัวเองเริ่มสนใจเรื่องราวของ “โทมัส” แฟนหนุ่มของเธอซะงั้น มันเลยกลายมาเป็นส่วนสำคัญว่าเนื้อเรื่องมันเกี่ยวกับไดนามิกระหว่างทั้งสองคนที่การกระทำของทั้งคู่มันมักจะถูกผลักดันมาจากความสัมพันธ์ที่ชอบเอาชนะกันไปชนะกันมา ผมเริ่มร่างภาพว่าเรื่องราวนี้ควรจบตอนไหน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ยังไง ผมต้องการให้หนังมันเกิดขึ้นที่โลกจริงๆ ในสังคมที่ผมได้เคยสังเกตในออสโล แต่ตัวละครเหมือนจะไปไกลเลย ทุกก้าวของซิงเนอมันเหมือนเป็นชาเลนจ์ที่ผู้ชมต้องติดตามเธอไปด้วยทีละก้าว

 

คุณตัดสินใจแคสต์ “คริสติน คูยาท ทอร์ป” มาเล่นหนังเรื่องนี้จากอะไร แล้วเธอช่วยขัดเกลาคาแร็กเตอร์ของ “ซิงเนอ” ยังไงบ้าง

ผมรู้สึกโชคดีมากที่ได้คริสตินมาเล่นบทนี้ “ซิงเนอ” เป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ซึ่งคริสตินเป็นคนที่ทำให้ตัวละครนี้มีชีวิตขึ้นมาเลย มันซับซ้อนทั้งด้านกำลังและจิตใจ ต้องใช้ทั้งการรู้ไทม์มิงแบบในหนังคอมเมดี้และการเคลื่อนไหวร่างกายที่เยอะมากถึงจะทำให้บทนี้ออกมาสมบูรณ์ ในขั้นตอนเตรียมการพวกเราได้ลองให้เธอแสดงแบบทั้งสองด้านของซิงเนอเลยด้วยโจทย์ที่ว่า คุณจะให้ภาพของตัวละครที่ไม่เคยแสดงธาตุแท้ของเธอเลยยังไง เธอขี้โกหกและพยายามที่จะเป็นคนอ่อนน้อมทั้งๆ ที่เนื้อแท้เธอไม่ใช่คนแบบนั้นเลย อีกทั้งเธอยังชอบแสดงเวลาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมด้วย

คริสตินแสดงเป็นตัวละครที่สลับซับซ้อนแบบนี้ได้อยู่หมัด ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเรื่องของคุณสมบัติทางกายภาพอื่นๆ อย่างร่างกายเธอเริ่มขยับท่าทางแปลกๆ น่าขนลุกในแบบที่บางครั้งจะเห็นได้ในหนังคอมเมดี้ บางครั้งการซ้อมก็ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเตรียมงานเต้นแปลกๆ อยู่เลย ตอนนั้นพวกเราถึงขั้นพยายามจะใช้กระแสไฟฟ้าช็อตเบาๆ เพื่อกระตุ้นท่าทางที่คาดไม่ถึงเลยเสียด้วยซ้ำ แต่มันก็เป็นไอเดียที่ดูจะไม่เวิร์กอย่างแรง

 

Sick-Of-Myself-Still12

 

กระบวนการและการคราฟต์อะไรบ้างที่ทำให้ท่าทางทางกายภาพกับหน้าของ “ซิงเนอ” เปลี่ยนไป

การแต่งหน้าเทียมเป็นเรื่องสำคัญมากในหนังเรื่องนี้ พวกเราใช้เวลาหลายเดือนในการออกแบบการเปลี่ยนแปลงของ “ซิงเนอ” ในแต่ละขั้นตอน พวกเราพยายามที่จะทำสิ่งที่ทั้งสวยงามและน่าตกใจออกมา การร่วมงานกันของพวกเราสนุกมากเลย แบบในตอนที่โควิดระบาด พวกเราถ่ายหนังจบแบบแตกต่างจากตอนนี้มากด้วยการตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ว่า “Eer” ซึ่งคุณลองไปหาในเน็ตดูก็เจอนะ

ผมคิดว่าพวกเราต่างหลงใหลกับการที่ร่างกายกับใบหน้านั้นสามารถเปลี่ยนไปได้มากขนาดไหน พวกเราพยายามที่จะหาทางทำให้ความผิดปกติของรูปร่างสามารถถูกมองว่าน่าตกใจและน่ามองได้ในเวลาเดียวกัน

แล้วมันก็สนุกมากด้วยที่ได้เข้าร่วม “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ด้วยหนังเรื่องนี้พร้อมกับตอนที่ “เดวิด โครเนนเบิร์ก” เข้าร่วมด้วย ซึ่งผมมั่นใจเลยว่าเขาเนี่ย เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมสนใจในเรื่องอวัยวะเทียมและความน่าพิศวงของร่างกาย

 

อะไรอีกที่ทำให้คุณอยากจะประสบความสำเร็จในด้านสุนทรียะ หนังเรื่องนี้เหมือนจะผสมผสานความสง่างามเข้ากับองค์ประกอบอื่นๆ ที่จัดเต็มกว่าได้อย่างง่ายดายเลย

คำกล่าวที่เกี่ยวข้องกับคำถามนี้ที่ผมจะเอามาตอบน่าจะเป็น “ผมชอบท่วงทำนองอันสวยงามที่เอ่ยถึงสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว” ผมต้องการที่จะบันทึกเรื่องนี้ที่เป็นเรื่องราวชวนอึดอัดในรูปแบบที่งดงามที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมต้องการที่จะถ่ายทำในช่วงฤดูร้อนอันสวยงามที่ออสโล แล้วก็ต้องการให้มันดูแล้วก็ให้ความรู้สึกว่ามันจะคงอยู่ตลอดไปเพื่อให้เกิดบาลานซ์ระหว่างเรื่องราวในยุคร่วมสมัยที่ในขณะเดียวกันก็พาดพิงถึงสิ่งที่ไม่มีวันตายอย่างเรื่องของความอิจฉาและความหลงตน พวกเราถ่ายทำด้วยเลนส์ 35 มม. แล้วในหนังก็มีดนตรีคลาสสิกเยอะมากด้วย เราหวังว่ามันจะสามารถถ่ายทอดหนังที่สวยงามซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งเลวร้ายได้

 

Sick-Of-Myself-Still01

Sick-Of-Myself-Still04

 

คุณสร้างบาลานซ์ระหว่างเรียลลิซึม การเสียดสี คอมเมดี้ และโศกนาฏกรรมได้ยังไง

ในตอนแรกเริ่มผมไม่ได้จินตนาการเรื่องพวกนี้เลยนะ มันมาจากการเฝ้าสังเกตการณ์ของผมซึ่งถูกจัดการและยกระดับเพื่อคอมเมดี้ เพื่อปมความขัดแย้ง แล้วก็เพื่อเนื้อเรื่องด้วย ผมหวังว่าตัวละครในเรื่องจะสร้างความคุ้นเคยและสมจริงขึ้นเมื่อตัวพล็อตไร้แก่นสารขึ้นเรื่อยๆ เหมือนว่าผมจะกระหายมุกตลกร้ายด้วย ไอเดียที่แบบทั้งเจ็บปวดแล้วก็ตลกไปพร้อมๆ กันเหมือนจะเป็นอะไรที่ติดอยู่ในใจผมมาก ผมไม่ได้ตั้งใจสร้างโทนการเล่าเรื่องที่แตกต่างเลยนะ สคริปต์มันถูกขัดเกลามาเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นสิ่งที่ผมอยากจะเห็นบนจอภาพยนตร์

 

ในเรื่องนี้มีใครเป็นฝ่ายดีฝ่ายร้ายไหม หรือทุกคนก็ร้ายกาจเท่ากันหมด

ผมคิดว่าตัวละครในเรื่องมีความสัมพันธ์กันมาก ก็แค่คนส่วนใหญ่สามารถตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเองแล้วก็มีความละอายมากพอที่จะหยุดตัวเองไม่ให้หุนหันพลันแล่นเหมือนกับที่ตัวละครในหนังทำ ผมชอบที่เรื่องแต่งให้โอกาสในการใช้ชีวิตเป็นคนอื่นในแบบที่ไม่ต้องสนใจขอบเขตทางศีลธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น แล้วเราก็ไม่ต้องกังวลผลที่จะตามมาด้วย ใน “Sick of Myself” ผมได้ลองสร้างตัวละครต่างๆ ที่น่าจับตามองมากๆ ไม่ใช่ตัวละครที่จะมีใครชื่นชอบมากน่ะ นักเขียนชื่อ “ซอล เบลโลว์” เคยกล่าวไว้ว่า “การฆาตกรรมทางความคิดหนึ่งครั้งต่อวันช่วยไล่จิตแพทย์ให้ห่างออกไป” มันมีบางอย่างในคำพูดนี้ที่พูดกับความต้องการของผมที่จะสำรวจการกระทำที่น่าอับอายและเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ในเรื่องแต่ง ว่ากันในทางศีลธรรมแล้วเนี่ย หนังเรื่องนี้ไม่ได้ปล่อยให้การกระทำผิดของตัวละครลอยนวล จะว่าไปหนังเรื่องนี้ก็เหมือนเป็นนิทานสอนศีลธรรมด้วย ผมยินดีรับการตีความของหนังเรื่องนี้ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะออกความเห็นได้เต็มที่ แต่สำหรับผมนะ หนังเรื่องนี้มันเกี่ยวกับการหาอารมณ์ขันในแง่ที่ดาร์กของชีวิตและวัฒนธรรมสมัยใหม่

 

คุณอาศัยอยู่ที่ลอสแอนเจลิสแต่ “Sick of Myself” ถ่ายทำที่สแกนดิเนเวีย คุณจะยังคงทำงานอยู่ระหว่างสองทวีปไหม

ผมรู้สึกว่าได้มาเยือนอเมริกาเป็นเวลานานมาก แล้วก็ยังไม่มีแพลนว่าจะอยู่ที่ไหนดี ผมมีโปรเจกต์อยู่ที่อเมริกาซึ่งจะถ่ายทำในปีนี้เลยต้องอยู่ที่นี่อีกสักพักเลย แต่ผมก็ได้มีประสบการณ์ดีๆ ในการถ่ายทำที่นอร์เวย์กับสวีเดนด้วย ซึ่งก็มั่นใจว่าเรื่องที่ผมจะเขียนต่อไปจะมีเซตติงอยู่ที่สแกนดิเนเวียแน่ อะไรก็ได้เลยที่เข้ากับไอเดียผม!

 

 

“Sick of Myself” ฉายไทย 24 พฤศจิกายนนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

ตัวอย่างซับไทย: https://youtu.be/LkSsy0qyL-U 

หนังรักสุดเซอร์ไพรส์ของคนหัวใจไม่มูฟออน: https://youtu.be/LYcDdV2LI0I

Sick of Myself

Sick of Myself

เมื่อ “ซิงเนอ” และ “โทมัส” คู่รักที่กำลังตกอยู่ในความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียดที่ต่างคนต่างอยากเอาชนะกัน ความสัมพันธ์เริ่มเลวร้ายขึ้นเมื่อจู่ๆ โทมัสก็กลายเป็นศิลปินร่วมสมัยผู้มีชื่อเสียง ซิงเนอจึงพยายามกอบกู้สถานการณ์อย่างสิ้นหวังด้วยการสร้างตัวตนใหม่ที่พร้อมจะดึงดูดความสนใจและความเห็นใจจากทุกคน   ภาพยนตร์รักสุดแหวกของคนยุคนี้ ผลงานเรื่องล่าสุดจากทีมผู้สร้าง “The Worst Person...

รายละเอียดภาพยนตร์