หากย้อนอดีตได้ คุณอยากย้อนไปเมื่อไหร่…
จากนิยายขายดีที่สุดที่เคยเข้าชิงรางวัล “Japan Booksellers’ Award” ที่คนรู้จักกันในชื่อ “4回泣ける” หรือแปลเป็นไทยว่า “เสียน้ำตาได้ถึง 4 ครั้ง” สู่ฉบับภาพยนตร์ที่มาพร้อมกับสุดยอดนักแสดงและทีมงาน
นิยาย “Before the Coffee Gets Cold” เริ่มวางจำหน่ายในปี 2015 และได้เข้าชิงรางวัล Japan Booksellers’ Award ในปี 2017 ซึ่งหลายคนต่างก็พูดต่อๆ กันว่านี่คือเรื่องที่อ่านแล้วจะต้องร้องไห้อย่างแน่นอน
“Before the Coffee Gets Cold” ผลงานนิยายเล่มแรกของ “โทชิคาซึ คาวากุจิ” ผู้อำนวยการสร้างและผู้เขียนบทให้กับละครเวทีหลายเรื่อง ภายหลังเขาได้แต่งนิยายเล่มต่อขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า “この嘘がばれないうちに” และแน่นอนว่าเรื่องราวในนิยายเล่มนี้ก็อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้เช่นกัน!
เรื่องราวเกิดขึ้น ณ ร้านกาแฟเล็ก ๆ ในเมืองแห่งหนึ่งที่ภายในร้านจะมี “เก้าอี้ตัวหนึ่ง” ที่นั่งแล้วสามารถย้อนอดีตได้ตามที่ปรารถนา แต่กฎมีอยู่ว่า เมื่อย้อนเวลาไปแล้วจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แม้ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ตาม และจะย้อนอดีตได้หลังจากรินกาแฟลงในถ้วย จนกระทั่งกาแฟเย็นลงเท่านั้น
ไม่ว่าใครต่างก็เคยเสียใจกับบางสิ่ง ลูกค้าหลายรายจึงมาเยือนร้านกาแฟแห่งนี้ด้วยความรู้สึกเสียใจที่ว่า “หากย้อนเวลากลับไปได้…”
ตัวละครเอกของเรื่อง “โทคิตะ คาสึ” สาวสวยอ่อนหวานผู้มีความมุ่งมั่น รับบทโดยนักแสดงหญิงชื่อดังที่ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจากทุกเพศทุกวัย “อาริมุระ คาสึมิ” เหตุเกิดจากการชงกาแฟของเธอที่ช่วยพาคนย้อนอดีตกลับไปได้
นอกจากนี้ยังมีนักแสดงดังมากความสามารถอีกหลายคนที่มารับบทตัวละครสมทบ ไม่ว่าจะเป็น “นิชิดะ ยูริโกะ, ยาคุชิมารุ ฮิโรโกะ, โยชิดะ โย, มัตสึชิเกะ ยูทากะ” และนักแสดงที่หาตัวจับยากอย่าง “ฮารุ, อิโต เคนทาโร, ฮายาชิ เคนโตะ, ฟุคามิ โมโตกิ และ มัตสึโมโตะ วากานะ”
ผลงานกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกของ “ซึกาฮาระ อายูโกะ” ที่เคยฝากผลงานกำกับละครชื่อดังไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น “Reverse” (TBS / 2017), “Juuhan Shuttai!” (TBS / 2016), “N no Tame ni” (TBS / 2014), “Yakou Kanransya” (TBS / 2013) และ “Unnatural” (TBS / 2018) เป็นต้น
ฤดูใบไม้ผลินี้ ความน่าประทับใจอันแสนอบอุ่น จะค่อยๆ แผ่ปกคลุมทั่วญี่ปุ่น…
Story
“Funiculi Funicula Cafe” ร้านกาแฟเล็กๆ ในเมืองที่ “โทคิตะ คาซึ” (อาริมุระ คาสึมิ) กับลูกพี่ลูกน้อง “นางาเระ โทคิตะ” (ฟุคามิ โมโตกิ) บริหารร่วมกัน ที่แห่งนี้มีเรื่องราวประหลาดว่ากันว่าจะมี “เก้าอี้ตัวหนึ่ง” ที่นั่งแล้วสามารถย้อนเวลาได้ตามใจปรารถนา แต่ที่นี่ก็มีกฎน่าวุ่นวายอยู่หลายข้อ…
ข้อที่ 1 เมื่อย้อนอดีตไป ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน ความจริงก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ข้อที่ 2 ถึงแม้จะย้อนอดีตได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายในบริเวณร้านเท่านั้น
ข้อที่ 3 ช่วงเวลาที่จะย้อนได้ จะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่หลังจากรินกาแฟลงในถ้วยจนกระทั่งกาแฟแก้วนั้นเย็นลง และจะต้องดื่มให้ หมดก่อนที่กาแฟจะเย็นลงเท่านั้น
ข้อที่ 4 หากเก้าอี้ที่ย้อนอดีตได้มีแขกนั่งอยู่ก่อนแล้ว การที่จะนั่งเก้าอี้ตัวนี้ได้ จะต้องรอให้แขกคนนั้นลุกออกไปก่อน
ข้อที่ 5 ถึงแม้จะย้อนอดีตได้ แต่จะไม่เจอคนที่ไม่เคยมาเยือนร้านกาแฟแห่งนี้
“จริงไหมที่ว่ามาที่นี่แล้วจะสามารถย้อนอดีตได้”
วันนี้แขกเหล่านี้ที่ได้ยินคำร่ำลือชวนให้สงสัยที่ว่าก็ยังคงแวะเวียนมาที่ร้าน
“คิโยคาวะ ฟุมิโกะ” (ฮารุ) ผู้หญิงทำงานที่เพิ่งจะอายุ 30 ที่ทะเลาะแยกทางกับเพื่อนในวัยเด็ก “คาตาดะ โกโร” (ฮายาชิ เคนโตะ) ที่หนีไปอยู่อเมริกา
“โคตาเกะ คาโยะ” (ยาคุชิมารุ ฮิโรโกะ) ภรรยาที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว และ “ฟุซากิ ยาสุโนริ” (มัตสึชิเกะ ยูทากะ) สามีที่คอยดูแลเธออย่างทะนุถนอม
“ฮิราอิ ยาเอโกะ” (โยชิดะ โย) พี่สาวซึ่งหักหลังน้องสาว “ฮิราอิ คุมิ” (มัตสึโมโตะ วากานะ), เจ้าของร้าน Hirai’s Snack Bar ลูกค้าประจำของร้าน Funiculi Funicula Cafe
“ชินทานิ เรียวสุเกะ” (อิโต เคนทาโร) นักศึกษาลูกค้าประจำที่สนใจร้านกาแฟแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
และ “หญิงสาวปริศนา” (อิชิดะ ยูริโกะ) ที่มักอยู่นั่งที่ “เก้าอี้ตัวนั้น” ที่ว่ากันว่าย้อนอดีตได้
ถึงแม้ว่าจะย้อนเวลากลับไปได้ แต่ต่อให้พยายามแค่ไหน ความเป็นจริงก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังอยากพบกับคนๆ นั้นอีกสักครั้ง
อะไรที่รอพวกเขาอยู่ที่นั่น อะไรคือความจริงที่ตัวละครเอก “โทคิตะ คาสึ” ซ่อนไว้
ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพียงชั่วครู่ก่อนที่กาแฟแก้วหนึ่งจะเย็นลง…
Staff
“ซึกาฮาระ อายูโกะ” (ผู้กำกับ)
“ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพียงชั่วครู่ก่อนที่กาแฟแก้วหนึ่งจะเย็นลง”
คู่รัก คู่สามีภรรยา คู่พี่สาวน้องสาว พ่อแม่ลูก ไม่ว่าใครที่ได้รับชมก็คงจะรู้สึกเห็นใจตัวละคร เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้มันเต็มไปด้วยความดราม่าของชีวิตมนุษย์ที่เปราะบางจริงๆ ค่ะ
นอกจากตัวภาพยนตร์ที่ได้อรรถรสแล้ว ก็ยังมีสุดยอดนักแสดงที่มีเอกลักษณ์ที่จะมาเรียกรอยยิ้มและน้ำตาจากท่านผู้ชมด้วย ไปรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้กับคนที่คุณรักให้ได้นะคะ
“โอคุเดระ ซาโตโกะ” (ผู้เขียนบทภาพยนตร์)
“คาวากุจิ โทชิคาซึ” (ผู้แต่งนิยายต้นฉบับ)
สำหรับตัวผมที่อยู่ในสายงานผลิตละครเวทีมาตั้งแต่อายุ 22 ผมเคยฝันไว้ว่าอยากให้นิยายที่ตัวเองแต่งจะได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ก็ไม่นึกไม่ฝันเลยจริงๆ ว่ามันจะเป็นจริงขึ้นมา ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงเพราะพนักงานร้านหนังสือทั่วญี่ปุ่นที่พร้อมใจกันจัดเรียงนิยายของผมไว้ที่หน้าร้าน รวมไปถึงผู้อ่านทุกท่านที่มอบความรักให้กับนิยายเรื่องนี้
แต่ยังไงซะ ถ้ามันเป็นแค่ความฝัน อย่างน้อยผมก็อยากให้ท่านผู้ชมตั้งใจดูกันไปจนจบนะครับ
เพลงประกอบภาพยนตร์『トロイメライ』Träumerei (ฝันกลางวัน)
นักร้อง: YUKI
คำร้อง: YUKI
ทำนอง: CHI-MEY
เรียบเรียง: YUKI, CHI-MEY (Epic Records Japan)
รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้มาร้องเพลงประกอบให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Before the Coffee Gets Cold” ขอบพระคุณมากค่ะ
เพลงนี้ฉันแต่งขึ้นมาจากที่เคยอ่านนิยายต้นฉบับ และดูฉบับภาพยนตร์ จนได้เป็นเพลงที่ชื่อว่า『トロイメライ』(Träumerei) ในแต่ละวันที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็เฉยๆ ไม่รู้สึกแปลกอะไร บางวันก็พบกับเรื่องเศร้า บางวันก็พบกับเรื่องน่ายินดี แต่ไม่ว่าจะพบเจออะไร เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน
ไม่ว่าใครต่างก็พยายามใช้ชีวิตในแบบที่จะไม่ต้องเสียใจในภายหลัง แต่ในบางครั้งคนเราก็มีผิดพลาดกันได้ แต่ความผิดพลาดที่ว่า บางทีก็อาจจะเกิดขึ้นเพื่อให้คนเราได้ให้อภัยซึ่งกันและกัน
ใช่ค่ะ ถ้าพยายามนึกถึงจิตใจของแต่ละตัวละคร เราก็จะเข้าใจเรื่องนี้เอง
เมื่อผิดพลาดก็ควรให้อภัยซึ่งกันและกัน อย่างฉันเองก็มีรอยแผลเล็กๆ อยู่หลายจุด แต่ทุกครั้งที่มองมันก็จะรู้สึกว่าเราควรที่จะให้อภัยผู้อื่น และถึงแม้ว่าจะเคยโทษตัวเองในอดีตและไม่ยอมก้าวต่อไป ก็ให้ถือซะว่าการตัดสินใจในครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัว และย่อมมีใครสักคนที่เข้าใจ ฉันเลยแต่งเพลงนี้ขึ้นมาโดยหวังว่าทุกคนจะคิดได้แบบนั้นค่ะ
เชิญรับชมภาพยนตร์และฟังเพลงประกอบ『トロイメライ』จากนั้นก็ยิ้มและร้องไห้กันให้เต็มที่เลยนะคะ
Production Notes
วางแผนการทำงาน
“Before the Coffee Gets Cold” นิยายเล่มแรกของ “คาวากุจิ โทชิคาซึ” ซึ่งเป็นทั้งผู้อำนวยการผลิตและเขียนบทให้กับละครเวทีหลายเรื่องเล่มนี้ เริ่มวางจำหน่ายในเดือนธันวาคม ปี 2015
ช่วงที่มีการวางจำหน่าย โปรดิวเซอร์ “ฮิราโนะ ทากาชิ” และโปรดิวเซอร์ “โอคาดะ อาริมาสะ” ได้อ่านนิยายเล่มนี้แล้วรู้สึกประทับใจ พวกเขาจึงไม่รอช้าและเริ่มวางแผนที่จะนำนิยายเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งทางคุณคาวากุจิก็ตอบตกลงในทันที เพราะเขาก็ฝันว่าอยากให้นิยายที่ตัวเองแต่งได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์มานานแล้ว
จากนั้น นิยายเล่มต่อของเขา “Kono uso ga barenai uchi ni” ก็เริ่มวางจำหน่ายในปี 2017 และได้รับการพิจารณาให้นำมาใส่ไว้ในฉบับภาพยนตร์โดยวางพล็อตไว้ให้ และให้ “โทคิตะ คาซึ” เป็นตัวละครเอกที่ผูกเรื่องราวทั้งหมดในฉบับภาพยนตร์เข้าด้วยกัน
ในขณะเดียวกัน ระหว่างที่ถกเถียงกันว่าจะให้ใครมากำกับภาพยนตร์แนวชีวิตที่ละเอียดอ่อนแบบนี้ ทางโปรดิวเซอร์ก็นึกขึ้นได้ว่าควรจะเป็น “ซึกาฮาระ อายูโกะ” ที่เชี่ยวชาญและเคยมีผลงานกำกับละครมาแล้วหลายเรื่อง
ทางโปรดิวเซอร์ให้เหตุผลว่าตัวละครหลักส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง จึงอยากให้ผู้กำกับหญิงมารับหน้าที่นี้ พอได้รับการทาบทาม ผู้กำกับซึกาฮาระถึงกับอุทานออกมาด้วยความประหลาดใจว่า “ทำไมถึงเลือกฉันล่ะคะ” แล้วก็หัวเราะออกมา จากนั้นก็พูดต่อว่า “มันก็แค่สี่เรื่องราวที่รวมกันเป็นหนึ่งเรื่องใหญ่ จะว่าไปก็คล้าย ๆ กับละครซีรีส์ที่เคยทำมา ฉันคิดว่าตัวเองน่าจะนำตรงนี้มาปรับใช้ได้ เป็นอันว่าตกลงค่ะ”
สร้างบทที่เต็มไปด้วยความแปลกใหม่
เริ่มต้นจากที่ผู้กำกับคาซึฮาระและผู้เขียนบท “โอคุเดระ ซาโตโกะ” ได้มาช่วยกันปรับแต่งบทภาพยนตร์กันแบบจริงๆ จังๆ โดยให้มีความแตกต่างจากในฉบับนิยาย แต่ยังมีความเคารพในต้นฉบับอยู่ ทางผู้กำกับกล่าวว่า “เราจะต้องทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ชายดูแล้วรู้สึกคล้อยตามได้ไม่ต่างจากผู้หญิง ในส่วนของคู่สามีภรรยา โคตาเกะกับฟุซากิ ก็ให้ต่างจากในนิยายโดยให้พวกเขาสลับบทบาทกัน คุณโอคุเดระเองก็ถนัดเรื่องการแต่งบทพูดให้กับตัวละครที่เป็นผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ อย่างบทภรรยาหรือบทแม่อยู่แล้ว ในครั้งนี้เธอก็ยังรักษามาตรฐานได้ดี หรือแม้แต่บทพูดของตัวละครชาย เธอก็เขียนได้อย่างนุ่มนวลและยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ยิ่งในบทพูดตอบโต้ระหว่างคุณสามีฟุซากิและคุณภรรยาโคตาเกะ ฉันว่ามันวิเศษมากจริง ๆ นะ”
ส่วนบทของ “คาซึ” ตัวละครเอกก็ยังคงไว้แบบนั้น แต่เพิ่มตัวละครนักศึกษาที่ชื่อว่า “ชินทานิ” ลงไป ทางโปรดิวเซอร์ให้เหตุผลว่า “นิยายเล่มต่อที่ใช้ชื่อว่า Kono uso ga barenai uchi ni มันคือเรื่องราวในอีก 7 ปีให้หลัง ที่บรรยายไว้ประมาณว่าคาซึน่าจะมีแฟน แต่ในภาพยนตร์เราต้องก้าวไปอีกขั้น โดยให้มีตัวละครที่มาเคาะประตูหัวใจของคาซึที่ไม่ยอมเปิดรับใคร เพราะงั้นเราจะต้องเพิ่มตัวละครที่ชื่อชินทานิลงไป เพื่อให้ตัวละครคาซึดูมีพัฒนาการขึ้น”
นอกจากนี้ ถ้าเป็นแฟนที่ติดตามมาตั้งแต่ฉบับนิยาย ทุกคนก็คงสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการบอกเล่าเรื่องการย้อนเวลาในฉบับภาพยนตร์ ตอนแรกคุณโอคุเดระเขียนไว้แค่ว่ามีอุโมงค์แห่งกาลเวลา ทางผู้กำกับจึงออกไอเดียว่าควรจะมีการตกลงไปน้ำ ก็เลยได้เป็นฉากใหม่ที่ตัวละครตกลงไปในน้ำขึ้นมา ซึ่งทางผู้กำกับก็บอกกับเราว่า “ฉากย้อนเวลานี่น่ากลุ้มใจที่สุดแล้ว เราต้องทำให้ทุกคนเพลิดเพลินกับฉากแฟนตาซีนี้ได้โดยที่ไม่ต้องพึ่ง CG มากมาย แต่ให้ใส่ใจเป็นพิเศษระหว่างความสมจริงกับจินตนาการ ที่ให้มีภาพตกลงไปในน้ำตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ก็เพราะเหตุมันเกิดที่ร้านกาแฟ เพราะงั้นก็ต้องสื่อว่าย้อนเวลาที่ร้านกาแฟโดยใช้กาแฟ ไอน้ำ และน้ำเป็นองค์ประกอบ”
เฟ้นหาสุดยอดนักแสดงที่ทั้งเก่งและมีชื่อเสียง
“คาซึ” คือตัวละครเอกของเรื่องนี้ ทางทีมโปรดักชั่นจึงทาบทาม “อาริมุระ คาสึมิ” นักแสดงหญิงมากความสามารถที่เคยแสดงนำในภาพยนตร์ชื่อดัง “Biri Gal 2015” ด้วยเชื่อว่าเธอจะรับบทเป็นคาซึที่ภายนอกดูสุขุมแต่ภายในแข็งแกร่งได้ ซึ่งทางอาริมุระเองก็ตอบรับข้อเสนอของเราด้วยความยินดี
ในแง่ของภาพยนตร์ เรื่องนี้ถือว่ามีตัวละครไม่มากนัก แต่เราก็ยังต้องพิถีพิถันในการเลือกนักแสดงอื่นๆ ซึ่งทางผู้กำกับก็บอกกับเราว่า “ต้องเลือกนักแสดงที่เหมาะกับบทนั้นจริง ๆ ยิ่งถ้าเป็นนักแสดงที่เคมีเข้ากัน ก็จะยิ่งสนุก” เราจึงไปทาบทาม “ฮารุ” กับ “ฮายาชิ เคนโตะ” ให้มาเล่นเป็นเพื่อนในวัยเด็กที่สนิทกันมาก, “โยชิดะ โย” กับ “มัตสึโมโตะ วากานะ” มาเล่นเป็นพี่น้องสุดสวยที่มีเรื่องระหองระแหงกัน, “ยาคุชิมารุ ฮิโรโกะ” กับ “มัตสึชิเกะ ยูทากะ” มาเล่นเป็นคู่สามีภรรยา, “ฟุคามิ โมโตกิ” มาเล่นเป็นเจ้าของร้านที่คอยดูแลลูกค้าประจำของร้าน, “อิโต เคนทาโร” มาเล่นเป็นนักศึกษาที่มีใจให้กับคาซึ และ “อิชิดะ ยูริโกะ” มาเล่นเป็นหญิงสาวปริศนาที่มักจะนั่งอยู่ที่ “เก้าอี้ตัวนั้น”
แต่ทว่านักแสดงแต่ละท่านต่างก็มีงานที่รัดตัว การจัดตารางถ่ายทำจึงเป็นไปได้ยากมากๆ ทางโปรดิวเซอร์กล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของคุณซึกาฮาระ ต้องขอบคุณมากที่ทุกคนตอบรับด้วยความยินดี” หลังจากคัดเลือกนักแสดงเสร็จ ทุกต่างก็ชื่นชมผู้กำกับซึกาฮาระกันใหญ่ เป็นเครื่องยืนยันว่าพวกเขารู้สึกยินดีที่ได้เล่นในภาพยนตร์ที่กำกับโดยผู้กำกับซึกาฮาระจริงๆ
ร้านกาแฟ “Funiculi Funicula Cafe” ที่ทางทีมงานใส่ใจเป็นพิเศษ
80% ของการถ่ายทำอยู่ที่ร้านกาแฟ “Funiculi Funicula Cafe” ที่คาซึทำงานอยู่ เราเซตฉากนี้ขึ้นมาในสตูดิโอของค่ายโทโฮ ยิ่งได้รับคำชมจากบรรดานักแสดง เราก็ยิ่งต้องสร้างฉากนี้กันอย่างประณีต เรียกได้ว่างานนี้จัดเต็มแน่นอน!
สำหรับโทนสีในร้าน ทางโปรดิวเซอร์บอกว่า “อยากเลี่ยงโทนสีที่มันดูมืดๆ ถ้าเป็นไปได้ก็ขอโทนทีดูสว่างๆ หน่อย”
นอกจากนี้ สิ่งของอื่นๆ อย่างถาดรองแก้ว ตั๋วซื้อกาแฟแบบเหมาจ่าย พรมตรงทางเข้า ทุกอย่างล้วนถูกจัดวางไว้อย่างมีศิลปะ อย่างตราประทับของร้าน อาริมุระก็ชอบมากถึงขั้นแอบปั้มลงในสมุดบันทึกของตัวเองกันเลย
แล้วด้วยความที่ว่าเรื่องราวแทบทั้งหมดเกิดขึ้นในร้านกาแฟ ทางผู้กำกับจึงบอกว่า “ที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อ แต่พวกฉากจะเปลี่ยนยากหน่อย เพราะพวกของตกแต่งทั้งก่อนย้อนและหลังย้อนอดีตมันแทบจะไม่เปลี่ยนเลย”
ในส่วนของฉากหลัก ๆ จะเป็นไอเดียของผู้กำกับ ช่วงที่ย้อนเวลาไปฤดูกาลก็จะเปลี่ยนไปด้วย ทั้งภาพใส่กรอบบนผนังร้าน ทั้งสีบนกำแพงก็จะเปลี่ยนตามฤดูกาลของช่วงที่ย้อนเวลาไป
“ฤดูใบไม้ผลิก็ต้องเป็นโทนสีชมพูที่สื่อถึงดอกซากุระ ฤดูร้อนก็ต้องเป็นสีเขียวหรือเขียวสด รูปภาพทิวทัศน์ที่ชวนให้นึกถึงฤดูกาลเหล่านั้น ก็ให้ทางศิลปินช่วยวาดให้ แล้วเรื่องเสื้อผ้าก็ให้แต่ละคนแต่งตามสีของฤดู คุณโยเธอโผล่มาช่วงฤดูใบไม้ร่วงก็ให้เป็นโทนสีเหลืองหรือส้ม คุณยาคุชิมารุ คุณมัตสึชิเกะ ฤดูใบไม้ผลิก็โทนสีชมพู
แล้วถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าพวกแสงไฟเราก็ปรับให้เข้ากับฤดูกาลนั้น ๆ ด้วย แต่ถึงผู้ชมจะไม่ได้สังเกตเลยก็ไม่เป็นไร (หัวเราะ) เอาเป็นว่าทำออกมาแล้วผู้ชมสัมผัสได้ว่าเป็นคนละโลกกัน แค่นี้ก็พอแล้ว” ผู้กำกับกล่าว
อาริมุระ คาสึมิ x ผู้กำกับซึกาฮาระ ความไว้วางใจที่ผุดขึ้นมาระหว่างทั้งสอง
ผู้กำกับเล่าให้เราฟังแบบสบายๆ ว่าเรื่องนี้เป็นการกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกของเธอ ซึ่งเธอเคยคิดว่าการกำกับหนังกับการกำกับละครมันต้องต่างกันมากแน่ๆ แต่ความจริงแล้วแทบจะไม่มีอะไรต่างกันเลย
อาริมุระก็พูดถึงผู้กำกับว่า “คุณผู้กำกับดูแมนมาก ๆ ตรงไหนดีไม่ดีก็พูดออกมาตรงๆ เท่มากค่ะ ชอบผู้หญิงแบบนี้มากๆ เลย” แล้วไม่ใช่แค่อาริมุระ แต่นักแสดงคนอื่น ๆ ก็เชื่อมั่นในฝีมือกำกับของผู้กำกับซึกาฮาระเช่นกัน ซึ่งทางผู้กำกับก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกับนักแสดงแบบตรงไปตรงมา แถมในบางครั้งก็ลงไปสาธิตเองเลยว่าควรเล่นยังไง
นอกจากนี้ผู้กำกับก็ยังรู้จังหวะที่จะพูดคุยกันในแบบผู้หญิง เช่น “ชอบนะ เวลาที่เธอคุยไปด้วยแสดงไปด้วย” และบางครั้งก็เปิดโอกาสให้นักแสดงได้พูดนอกบทเป็นกรณีๆ เวลานักแสดงเสนอความคิดเห็น ผู้กำกับก็จะรับฟังอย่างจริงจังแล้วนำไปปรับใช้อย่างเหมาะสม ทำให้นักแสดงมีไฟที่จะเล่นขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
สำหรับนักแสดงนำอาริมุระ ก็ได้รับคำชมจากผู้กำกับอย่างไม่ขาดสายว่าแสดงเข้าถึงบทบาท ทั้งยังชมอีกว่าเป็นนักแสดงที่มีของ ท่องจำบทเก่ง “ทั้งๆ ที่บทคาซึก็ไม่ใช่บทแรงอะไรเลย แต่พอเธอเล่นกลับรู้สึกเหมือนว่าโลกหมุนอยู่รอบตัวเธอ เป็นนักแสดงที่ไม่ต้องทำอะไรมากแต่ก็เผลอจับจ้องไปที่เธอ จนอยากจะให้ผ่านขึ้นมาเฉยๆ นี่แหละที่เรียกว่านักแสดงที่มีพรสวรรค์และหาตัวจับยากจริงๆ” ผู้กำกับกล่าว
และในนิยายที่บรรยายการชงกาแฟของคาซึไว้ว่า “เหมือนการเต้นบัลเลต์” ผู้กับกำกับและอาริมุระก็ถกเรื่องนี้กันอย่างกระตือรือร้น “ความจริงถ้าจะให้เหมือนเต้นบัลเลต์เลยมันก็จะดูตลกๆ นะ (หัวเราะ) เอาแบบเป็นการชงกาแฟที่ดูเทพจะดีกว่า แล้วแทนที่จะให้มันดูสมจริงแบบแปลกๆ ก็ให้ดูแล้วเกิดความบันเทิงสำหรับทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนผู้สูงอายุจะดีกว่า” ผู้กำกับกล่าว
เคมีของนักแสดงมากประสบการณ์ที่จะทำให้ผู้ชมหลงใหลและประทับใจ
เรื่องนี้เราได้หานักแสดงไว้สำหรับแต่ละตอน โดยเริ่มถ่ายทำกันที่คู่แรก “ฮารุ” กับ “ฮายาชิ เคนโตะ” ที่แสดงเป็นคู่รักและเพื่อนในวัยเด็ก และด้วยความที่ทั้งคู่เคยร่วมงานกันมาก่อน เลยทำให้พวกเขารู้จังหวะและเล่นเข้ากันได้อย่างไร้ที่ติ! จนผู้กำกับถึงกับเอ่ยปากชมว่า “ปกติการที่จะดูอีกฝ่ายเล่นแล้วเล่นให้เข้ากันมันต้องใช้เวลา แต่ทั้งคู่กลับเล่นได้เลย ถ้าไม่ใช่สองคนนี้ ก็คงไม่สามารถเล่นแล้วสะท้อนความเป็นเพื่อนในวัยเด็กออกมาได้ขนาดนี้แน่” ยิ่งฉากที่ “โกโร” (ฮายาชิ เคนโตะ) ยั่วโมโห “ฟุมิโกะ” (ฮารุ) ด้วยการจับผิด ผู้กำกับถึงกับยิ้มสะบัดแล้วพูดว่า “เห็นแล้วหงุดหงิด!”
ฉากที่ฮารุพูดติดตลกก่อนนั่งเก้าอี้ตัวนั้นที่เธอพูดว่า “เอาล่ะ หนึ่งอาทิตย์ก่อน!” ผู้กำกับก็เผลอพูดว่า “โอเค น่ารักค่ะ!”
ในส่วนของบทคู่สามีภรรยา “โคตาเกะ” (ยาคุชิมรุ ฮิโรโกะ) กับ “ฟุซากิ” (มัตสึชิเกะ ยูทากะ) เสน่ห์จะอยู่ที่บรรยากาศที่สุขุมเยือกเย็นในแบบผู้ใหญ่ บุคลิกความไร้เดียงสาแบบเด็กน้อยของโคตาเกะ ที่ชอบดูการรินนมลงในกาแฟอย่างมีศิลปะก็เป็นไอเดียของยาคุชิมารุ ในฉากที่ฟุซากิย้อนอดีตไปนั่งกับโคตาเกะที่ยังแข็งแรงดีอยู่ แล้วเฝ้าดูเธอที่ลืมเรื่องราวของตนเองด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยความรัก เราก็พยายามใช้กล้องสองตัวถ่ายโดยที่ไม่ต้องสั่งคัตแยก
ในบทที่ต้องย้อนอดีตนี้ ทางนักแสดงต่างก็อยากให้เราถ่ายทำแบบมีความต่อเนื่อง ซึ่งทางทีมงานก็เห็นด้วยว่าควรจะเป็นแบบนั้น แต่เราไม่รู้เลยว่าในการถ่ายแต่ละครั้งทั้งคู่จะร้องไห้ออกมาจังหวะไหน จะว่าไปการแสดงมันเป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิตที่มีจิตใจจริงๆ นะ แม้แต่ผู้กำกับที่ดูอยู่ผ่านทางหน้าจอก็ยังน้ำตาซึมไปกับเขาด้วย
ส่วน “โยชิดะ โย” ผู้สร้างบรรยากาศครื้นเครงในกองก็มารับบทเป็น “ฮิราอิ” ตัวละครที่มีความสดใสแต่ในขณะเดียวกันก็มีความกังวลใจ ความพิเศษของฉากที่โยชิดะเล่น คือจะเกิดบางอย่างที่ไม่คาดคิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งฉากที่ “คุมิ” (มัตสึโมโตะ วากานะ) ปุบปับเข้ามาจนฮิราอิที่นั่งแอบอยู่ที่เคาน์เตอร์ตกใจทำน้ำหกใส่ตัวเอง ผู้กำกับถึงกับแซวๆ ว่า “เอาน้ำสาดคุณโยเลยดีไหม!”
สรุปว่าก็เลยต้องมีบทที่คาซึเอาทิชชูมาให้ฮิราอิซับน้ำเพิ่มเข้ามา แล้วฮิราอิใส่ชุดไว้ทุกข์ก็ควรจะเศร้าแท้ๆ แต่กลายเป็นว่าตั้งแต่วันนั้นมาในกองก็แซว ๆ กันว่าเป็นฉากตลกของ The Matrix แน่ ๆ ฉากที่ฮิราอิจะต้องย้อนเวลา ผู้กำกับและทีมงานก็แซวว่าโยชิดะต้องเตรียมแว่นตาว่ายน้ำกับที่อุดหูมาแน่เลย โยชิดะได้ยินเข้าก็พูดว่า “เอาล่ะ! งั้นเดี๋ยวเอาแว่นตาว่ายน้ำมา” เป็นภาพความไว้เนื้อเชื่อใจและความยืดหยุ่นระหว่างผู้กำกับซึกาฮาระและโยชิดะที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้กำกับเองก็บอกว่า “ฉันร้องไห้กับตอนของฮิราอิมากที่สุดเลยนะ ท่าทีของฮิราอิตอนที่ย้อนกลับไปเจอน้องสาวครั้งแรก เธอท่องบทมาอย่างดีแล้วเล่นเหมือนว่านั่นคือชีวิตของตัวเองเลย รู้สึกตะลึงมากจริงๆ”
นอกจากนี้ ตัวละครปริศนาในตอนท้ายของเรื่องที่แสดงโดย “อิชิดะ ยูริโกะ” ก็เป็นบทที่เล่นยากและมีบทพูดน้อย คำพูดที่เธอเปล่งออกมาตอนท้ายไม่ได้มีในบทตั้งแต่แรก แต่เกิดจากความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้กำกับ “ฟังแล้วรู้สึกว่าเธอมีมุมมองชีวิตที่อ่อนโยนมาก ทั้งๆ ที่มันก็เป็นคำพูดธรรมดาๆ ไม่ใช่คำพูดดราม่าอะไร แต่กลับรู้สึกว่ามันบริสุทธิ์เหลือเกิน ฉันชอบคำพูดนี้มากจริงๆ” ผู้กำกับกล่าว
ถ่ายฉากตกลงไปในน้ำที่น่าพิศวง และปิดกอง
หลังจากถ่ายกันมาครึ่งเรื่อง ก็ถึงเวลาถ่ายฉากย้อนเวลาที่ตัวละครต้องลงไปเล่นในน้ำ ในตอนนั้นก็เพิ่งจะเข้าเดือนเมษายน เราจึงจำเป็นต้องรักษาอุณหภูมิของน้ำที่อยู่เต็มแท็งก์ให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม จากนั้นทีมงานก็พยายามตักเอาพวกสิ่งแปลกปลอมออกจากน้ำ แล้วเพิ่มแสงสวย ๆ ลงไป แล้วใช้เครื่องจักรแบบพิเศษสร้างฟองน้ำเล็ก ๆ ขึ้นโดยเฉพาะ
แต่ในวันถ่ายทำ อาริมุระกลับบอกเรื่องที่น่าตกใจกับเราว่า “ฉันว่ายน้ำไม่เป็น” แถมน้ำก็เย็นกว่าที่คิดไว้ แต่เธอก็เล่นฉากนี้ได้ดีจนได้รับคำชมจากทั้งกอง จากนั้นเราจึงถ่ายกันต่อในฉากของ “โยชิดะ ฮารุ และ มัตสึชิเกะ”
ในส่วนของอาริมุระกับโยชิดะที่พอลงน้ำแล้วชุดพอง เราก็เพิ่มตัวถ่วงพิเศษลงไปในชุดของพวกเธอ ส่วนมัตสึชิเกะที่เป็นคนตัวสูง พอเขากระโดดลงไปน้ำก็กระเซ็นขึ้นมาเยอะ แต่ทีมงานก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี โดยการหาอุปกรณ์มากันไม่ให้น้ำเข้าอะไหล่กล้อง
นอกจากนี้เรายังได้ทางซาวน์เอ็นจิเนียร์มาช่วยตัดต่อเสียงให้ “ทางซาวด์เอ็นจิเนียร์ช่วยตัดต่อเสียงที่เป็นลูกเล่นหลายแบบเลย ทั้งเสียงสะท้อนเวลาที่น้ำเคลื่อนไหว ตอนตกน้ำของแต่ละตัวละคร เสียงสิ่งของตกน้ำเบาๆ ฟังแล้วเพลินมาก” ผู้กำกับกล่าว
หลังจากผ่านไปประมาณหนึ่งเดือน ก็เข้าสู่การปิดกล้อง ในฉากสุดท้ายของอาริมุระที่ต้องเจอกับฮิราอิซึ่งทาลิปสติกสีแดงในร้าน “Hirai’s Snack Bar” ความจริงแล้วฉากนี้ไม่มีอยู่ในบท แต่ผู้กำกับอยากให้มีเพราะชอบฉากหนึ่งในเรื่อง “Biri Gal 2015” ที่ทั้งคู่เล่นเป็นแม่ลูกกัน แน่นอนว่าพอเห็นทั้งคู่เล่นด้วยกัน ผู้กำกับก็พูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า “น่ารักดี!”
“ปกติผู้กำกับและทีมงานจะไม่ยอมอ่อนข้อง่ายๆ แต่เห็นแบบนี้แล้วก็อยากจะสู้ไปด้วยกันจริงๆ ค่ะ ตัวละครคาซึที่ฉันได้รับบทก็เล่นยากนะคะ ภายในใจของเธอค่อนข้างจะขัดแย้งกัน ฉันเลยไม่แน่ใจว่าเล่นถูกไหม แต่ผู้กำกับก็ให้กำลังใจโดยบอกว่ามันโอเคแล้ว” อาริมุระกล่าว
เพลงประกอบภาพยนตร์ที่แต่งและเรียบเรียงโดย YUKI
หลายๆ เพลงที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นในภาพยนตร์ เกิดจากความร่วมมือกันครั้งแล้วครั้งเล่าของผู้กำกับและนักแต่งเพลง “โยโกยามะ มาซารุ”
“กับคุณโยโกยามะ เราต่างก็เป็นคนที่พูดจาชัดเจน ทำให้งานมันออกมาราบรื่นมาก ๆ ครั้งนี้เขาก็ช่วยแต่งเพลงที่เข้ากับฤดูกาล แล้วก็มีความเป็นโลกแฟนตาซีให้อยู่หลายเพลง เป็นคนที่มีพรสวรรค์มากๆ” ผู้กำกับกล่าว
ส่วนเพลงประกอบที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นที่ขึ้นมาในช่วงเครดิตตอนท้าย『トロイメライ』ก็เป็นผลงานของ YUKI ซึ่งมีเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ เธอได้หยิบยกชีวิตอันเข้มข้นของแต่ละตัวละครมาสะท้อนเป็นบทเพลงได้อย่างอ่อนโยน นอกจากนี้เพลงนี้ก็ยังได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามจากผู้หญิงหลากหลายวัยอีกด้วย
“Café Funiculi Funicula เพียงชั่วเวลากาแฟยังอุ่น”
21 กุมภาพันธ์นี้ ในโรงภาพยนตร์