50 เรื่องน่ารู้ “Billie บิลลี่ ฮอลิเดย์ แจ๊ส เปลี่ยน โลก” 1 ตุลาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

Billie-Doc-Film-Still01

 

“บิลลี่ ฮอลิเดย์” เป็นนักร้องหญิงที่มีเสน่ห์อย่างประหลาด เสียงแหบห้าวแฝงความร้าวรานของชีวิต ทำให้ “เพลงแจ๊ส” ที่เธอร้องมีความหมายลึกซึ้งกินใจผู้ฟังไปถึงจิตวิญญาณ ทุกครั้งที่เสียงของเธอได้เอื้อนเอ่ยออกมา มันกลั่นจากประสบการณ์ความเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งหลายครั้งเป็นสิ่งที่เธอเลือกกระทำเองราวกับว่าต้องการกัดกร่อนให้ชีวิตของตัวเองสั้นลง เรื่องราวของเธอเต็มไปด้วยปริศนา ความลับ คำลวง ความคลุมเครือ แม้แต่ในหนังสืออัตชีวประวัติของเธอยังไม่สามารถยืนยันเองได้ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง หรือเป็นเพียงเรื่องแต่งที่บิลลี่โกหกตัวเองซ้ำจนเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น

 

และนี่คือส่วนหนึ่งของเกร็ดชีวิตอันลึกลับและขื่นขมของเธอ…

 

1) “บิลลี่ ฮอลิเดย์” เกิดวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1915 มีชื่อแรกเกิดว่า “เอลินอร์ แฮร์ริส” (Elinore Harris – แฮร์ริส เป็นนามสกุลของยาย) โดยในใบเกิดระบุชื่อ “Elinore” ขณะที่ใบรายงานของแพทย์สะกดชื่อว่า “Elinoir” ส่วนชื่อที่สะกดว่า “Eleanor” บันทึกไว้ในแฟ้มประวัติของโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ชื่อบนบัตรประชาชนที่บิลลี่ ฮอลิเดย์ใช้ในเวลาต่อมาคือ “เอลินอรา ฟาแกน” (Eleanora Fagan – ฟาแกน นามสกุลของแม่) ชื่อนี้จึงเป็นชื่อที่ใช้กันโดยทั่วไปเมื่อเอ่ยถึงชื่อจริงของเธอ

 

2) “พ่อ” ของ “บิลลี่ ฮอลิเดย์” คือ “แคลเรนซ์ ฮอลิเดย์” (Clarence Holiday) มือกีตาร์และแบนโจแห่งวง “Fletcher Henderson Orchestra” วงดนตรีดังซึ่งมีชื่อเสียงในยุคนั้น ส่วน “แม่” ชื่อว่า “ซาราห์ จูเลีย ‘ซาดี’ ฟาแกน” (เป็นที่รู้จักในชื่อ “ซาดี ฟาแกน”) ตอนที่บิลลี่เกิดพ่อและของเธอยังเป็นแค่เด็กวัยรุ่นเท่านั้น ใน “Lady Sings the Blues” หนังสืออัตชีวประวัติของเธอซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1956 ระบุไว้ว่าพ่อและแม่ของบิลลี่แต่งงานกันตอนพ่ออายุ 18 ปี แม่อายุ 16 ปี แต่ในตอนท้ายของหนังสือระบุว่าพ่ออายุ 16 ปี และแม่อายุ 13 ปีเท่านั้น เพราะบิลลี่เล่าข้อมูลชีวิตแต่ละครั้งไม่ตรงกัน แต่ในภายหลังเมื่อสืบจากหลักฐานต่างๆ แล้วจึงระบุได้ว่าตอนที่บิลลี่เกิด แม่ของเธออายุ 18 ปี และพ่อของเธออายุ 16 ปี

อย่างไรก็ตามแม้ว่าทุกคนจะรู้กันว่าแคลเรนซ์ ฮอลิเดย์เป็นพ่อแท้ๆ ของบิลลี่ แต่ในใบแจ้งเกิดของเธอระบุชื่อบิดาผู้ให้กำเนิดอย่างเป็นทางการว่า “แฟรงก์ เดอวิส” (Frank DeViese) ซึ่งน่าจะเป็นชายคนหนึ่งที่แม่ของบิลลี่คบหาอยู่ในขณะนั้น

 

3) มักมีการเข้าใจผิดว่า “บิลลี่ ฮอลิเดย์” เกิดในบัลติมอร์ แต่จริงๆ แล้วเธอเกิดที่โรงพยาบาลฟิลาเดลเฟีย เจเนอรัล ในเมืองฟิลาเดลเฟีย และมาเติบโตในบัลติมอร์ ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีนักดนตรีที่มีชื่อเสียงอยู่ที่นี่หลายคน เช่น “ชิก เว็บบ์” (Chick Webb, 1900-1939), “แฟรงก์ แซปปา” (Frank Zappa, 1940-1993), มือเปียโน “ยูบี เบลก” (Eubie Blake, 1883-1983) และมือแบนโจ “เอลเมอร์ สโนว์เดน (Elmer Snowden, 1900-1973)

 

4) “บิลลี่ ฮอลิเดย์” เป็นชื่อในวงการบันเทิงโดยมีที่มาจาก “บิลลี่ โดฟ” (Billie Dove) นักแสดงหญิงที่เธอชื่นชอบมารวมกับนามสกุลของพ่อ บางแหล่งข้อมูลยังระบุอีกว่าในช่วงวัยเด็ก มีช่วงหนึ่งที่เธอตัดผมซอยสั้น แต่งกายแบบผู้ชายจนดูเหมือนทอมบอย ทำให้พ่อของเธอมักเรียกเธอว่า “บิล” (Bill)

 

5) ตอนอายุ 9 ปี ระหว่างเรียนเกรด 4 “เอลินอรา กูห์” (ชื่อตามสำมะโนประชากรของบิลลี่ในเวลานั้น เนื่องจากแม่ของเธอแต่งงานกับพนักงานขับรถ “ฟิลิป กูห์”) ไม่ยอมไปโรงเรียนบ่อยครั้งจนถูกถูกส่งตัวขึ้นศาลคดีเด็กและเยาวชน โดยผู้พิพากษาได้ตัดสินว่าเธอเป็น “ผู้เยาว์ที่ปราศจากการดูแลและปกครองอย่างถูกต้อง” และส่งตัวเธอไปอยู่ในความดูแลของบ้านคุมความประพฤติสำหรับเด็กหญิงผิวสีที่มีชื่อว่า “House of Good Shepherd for Colored Girls” ในปี  1925

 

6) ตอนอายุ 11 ปี บิลลี่ตัดสินใจไม่เรียนต่อ เธอออกมาเรียนรู้โลกภายนอกด้วยตัวเองและสนิทกับเหล่าหญิงค้าประเวณีในละแวกบ้าน และทำงานเล็กน้อยๆ เป็นเด็กส่งของให้กับซ่องแถวนั้น

 

7) ปี 1926 เกิดเหตุร้ายขึ้นเมื่อบิลลี่ถูก “วิลเบิร์ต ริช” (Wilbert Rich) เพื่อนบ้านของเธอพยายามข่มขืน ริชถูกจับในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ บิลลี่ถูกกันตัวไว้เป็น “พยานของรัฐ” และยังถูกส่งไปอยู่ที่บ้านคุมความประพฤติอีกครั้ง

 

8) ปี 1927 บิลลี่กลับมาอยู่กับแม่ แต่ตอนนี้เธอทำงานเป็นโสเภณีอย่างเต็มตัว และเรียนรู้วิธีการหาเงิน การจับลูกค้าผิวขาว หรือแม้กระทั่งการล้วงกระเป๋า เธอเป็นสาวผิวสีที่หน้าตาสะสวย ความสูงโดดเด่นเกินวัย และความสามารถในการร้องเพลงของบิลลี่ทำให้หญิงโสเภณีที่อายุมากกว่าอิจฉาริษยาเธอ

 

9) ช่วงที่ทำงานในซ่องนี่เองทำให้บิลลี่ได้ฟังเพลงของศิลปินแจ๊สระดับตำนานอย่าง “หลุยส์ อาร์มสตรอง” ที่ตอนนั้นกำลังดังไปทั่วประเทศ และนักร้องหญิง “เบสซี สมิท” ซึ่งเธอถือเป็นแบบอย่างในการร้องเพลง

 

10) หลังจากนั้นแม่ของบิลลี่พาเธอย้ายไปอยู่ที่ย่านฮาเร็มในนิวยอร์ก ซึ่งทั้งคู่ก็ยังไปทำงานในซ่องนางโลม ได้เงิน 5 ดอลลาร์ต่อลูกค้าหนึ่งคน ปี 1929 ทั้งคู่ถูกจับในข้อหาค้าประเวณี แต่บิลลี่อ้างว่าเธออายุ 21 ปี ทั้งที่จริงๆ แล้วอายุเพียง 14 ปี จึงถูกปล่อยตัวออกมาภายหลังในปีนั้น

 

Billie-Doc-Film-Still02

 

11) เธอย้ายไปอยู่ย่านบรูกลิน และเริ่มต้นงานร้องเพลงอย่างจริงจังในเวลานี้ โดยมี “เคนเน็ท ฮอลลอน” (Kenneth Hollon) นักเทเนอร์แซกโซโฟนวัย 20 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกันทำหน้าที่เล่นดนตรีให้ และในช่วงนี้เองที่บิลลี่เริ่มใช้ชื่อในวงการว่า “บิลลี่ ฮอลิเดย์” ทั้งสองทำงานร่วมกันตั้งแต่ปี 1930 -1932 และได้งานในคลับดังในเวลานั้นอย่าง “The  Grey Dawn”, “Pod’s and Jerry’s” และ “Elks’ Club” และในตอนนี้เองที่เธอเริ่มเสพยาเสพติดครั้งแรกโดยเริ่มจากการสูบกัญชา

 

12) ปี 1932 ตอนบิลลี่อายุ 17 ปี เธอได้ “จอห์น แฮมมอนด์” (John Hammond) โปรดิวเซอร์เพลงผู้ปั้นนักร้องดังมากมายซึ่งมาดูโชว์ของเธอโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเขาตั้งใจมาชม “โมเนตต์ มัวร์” (Monette Moore) ดาวเด่นแห่งคลับ “Covan’s” แต่มัวร์ลาออกไปแล้วเลยได้บิลลี่มาร้องแทน แฮมมอนด์ประทับใจการร้องเพลงอันแตกต่างของเธอว่า “การร้องเพลงของเธอแทบจะเปลี่ยนรสนิยมและชีวิตทางดนตรีของผมไปเลย เพราะเธอเป็นนักร้องสาวคนแรกที่ผมได้พบที่ร้องเพลงเหมือนเกิดมาเป็นอัจฉริยะดนตรีแจ๊ส” จากนั้นบิลลี่ได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินออกแผ่นเสียงครั้งแรกตอนอายุ 18 ปี

 

13) ในปี 1933 “บิลลี่ ฮอลิเดย์” บันทึกเสียง 2 เพลง “Your Mother’s Son-in-Law” และ “Riffin’ the Scotch” กับ “เบนนี กูดแมน” (Benny Goodman) ภายใต้สังกัด “Brunswick” ของ “จอห์น แฮมมอนด์” และแผ่นเสียงของเธอขายได้ถึง 5,000 ก็อปปี้ ทางสังกัดจึงให้เงินค่าลิขสิทธ์แก่เธอมากกว่าอัตราค่าจ้างทั่วไป

 

14) “บิลลี่ ฮอลิเดย์” ได้ร่วมแสดงในหนังสั้นมิวสิคัลเรื่อง “Symphony in Black: A Rhapsody of Negro Life” (1935) ของ “ดุก เอลลิงตัน” (Duke Ellington) งานนี้นับเป็นงานแสดงครั้งแรกของเธอ

 

15) ปี 1935 บิลลี่ได้เริ่มทำงานร่วมกับ “เลสเตอร์ ยัง” (Lester Young) นักเล่นเทเนอร์แซกโซโฟนที่กลายมาเป็นนักดนตรีคู่ใจของเธอในเวลาต่อมา ก่อนหน้านี้เลสเตอร์เคยอาศัยอยู่ที่บ้านของ “ซาดี ฟาแกน” แม่ของบิลลี่ในช่วงเวลาสั้นๆ เสียงดนตรีที่ไพเราะของเขาเข้ากับเสียงของบิลลี่ได้อย่างสมบูรณ์แบบจนเธอเรียกเขาว่าเป็น Soulmate ของเธอ ทั้งสองเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดต่อกันตลอดชีวิต

 

16) “บิลลี่ ฮอลิเดย์” มีฉายาว่า “Lady Day” ซึ่งเลสเตอร์เป็นคนตั้งให้ หลังจากที่วันหนึ่งบิลลี่ไม่ยอมหยิบเงินค่าทิปจากบนโต๊ะของลูกค้า เพราะเธอรู้สึกว่ามันเป็นการไม่ให้เกียรติเธอ และคนที่ต้องการให้ทิปเธอต้องมาส่งเงินให้กับมือเท่านั้น เธอจึงโดนแขกผู้หญิงในร้านนินทาว่า “สงสัยหล่อนคงจะคิดว่าตัวเองเป็นผู้ดี (Lady)” เลสเตอร์จึงนำคำว่า “Day” มาจากนามสกุล “Holiday” มาใช้เรียกเธอว่า “เลดี้ เดย์” และเธอก็ตั้งฉายาให้เขาว่า “เพรซิเดนต์” (President) เพราะชื่นชมว่าเขาน่าจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาในวงการนักดนตรีนิยมเรียกเขาด้วยชื่อสั้นๆ ว่า “เพรซ” (Prez)

 

17) ปี 1937 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ “แคลเรนซ์ ฮอลิเดย์” พ่อของเธอเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมด้วยวัยเพียง 39 ปี ในช่วงวัยรุ่นแคลเรนซ์เคยถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรป และได้สูดดมแก๊สมัสตาร์ดเข้าไปทำให้ปอดของเขาเสียหายนับตั้งแต่นั้นมา แต่สิ่งที่ทำให้เขาต้องเสียชีวิตจริงๆ นั้นเกิดจากการเหยียดสีผิว เพราะตอนที่เขาพบว่าตัวเองป่วยระหว่างทัวร์ที่เท็กซัส ทางโรงพยาบาลท้องถิ่นปฏิเสธที่รักษาเขา และให้เขาไปรักษาที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ซึ่งที่นั่นไม่มียารักษาเพียงพอและทำให้เขาเสียชีวิต

 

18) บิลลี่เศร้าสะเทือนใจกับการเสียชีวิตของพ่อมาก เพราะเธอได้รู้มาว่าพ่อเคยตัดพ้อกับผู้คนว่า บิลลี่ใช้นักกีตาร์ทุกคนในเมืองนิวยอร์กยกเว้นเขา นอกจากนั้นภรรยาอีกคนของพ่อยังปรากฏตัวพร้อมลูก 2 คน พร้อมยืนกรานไม่ให้ครอบครัวของบิลลี่ไปร่วมงานศพ

 

19) ปลายปี 1937 บิลลี่ได้ทำงานเป็นนักร้องประจำวง “เดอะ เคานต์ เบซี ออร์เคสตรา (Count Basie Orchestra) วงดังแห่งยุคนั้น และได้ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตร่วมกัน ซึ่งเธอก็กลายเป็นดาวเด่นแห่งงานจนเคานท์ เบซียังต้องเอ่ยปากชม ในคอนเสิร์ตนั้นบิลลี่ร้องเพลงที่น่าจดจำไว้หลายเพลง เช่น “I Cried For You”, “(This Is) My Last Affair”, “One Never Knows – Does One ?”, “Them There Eyes”

 

20) “ดอกการ์ดิเนีย” (Gardenia) ที่บิลลี่ใช้ประดับผมจนกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ทุกคนจดจำ มีที่มาจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด “คาร์เมน แม็กเรย์” (Carmen McRae) นักร้องเพลงแจ๊สรุ่นน้องคนสนิทของบิลลี่เล่าว่าวันหนึ่งก่อนที่จะขึ้นเวทีทำการแสดง บิลลี่ประสบปัญหากับทรงผมเนื่องจากเครื่องม้วนผมทำผมของเธอไหม้จนแหว่ง เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคาร์เมนจึงรีบออกไปซื้อดอกไม้จากเด็กขายดอกไม้ที่จะมาขายประจำให้กับเหล่าแขกในผับมาให้บิลลี่นำไปตกแต่งทรงผมเพื่อปิดรอยที่ผมไหม้เอาไว้ บิลลี่ออกไปร้องเพลงด้วยรูปลักษณ์โดดเด่นสวยสง่าเป็นที่ถูกใจผู้ชม หลังจากนั้นเธอจึงใช้ดอกการ์ดิเนียแต่งทรงผมเป็นประจำ

 

Billie-Doc-Film-Still06

 

21) “ดอกการ์ดิเนีย” มีความหมายดอกไม้ว่า “ความรักที่เป็นความลับ ความบริสุทธิ์ และความปิติยินดี” เหมาะที่จะใช้เป็นดอกไม้มอบให้แก่กัน เมื่อบิลลี่นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวเธอทำให้ดอกไม้ชนิดนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเย้ายวนใจและความเป็นผู้หญิงที่แฝงความลึกลับ

 

22) การทำงานกับนักดนตรีระดับแนวหน้ากับวงของเคานต์ เบซีทำให้บิลลี่พัฒนาฝีมือขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตามเธอได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมนัก บิลลี่เคยเล่าว่าเธอได้รับค่าจ้างวันละ 14 เหรียญ ขณะที่ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าอยู่ราวๆ 70 เหรียญต่อสัปดาห์ แต่เธอต้องจ่ายทั้งค่าที่พัก อาหาร และเครื่องแต่งกายของตัวเอง เพราะเป็นผู้หญิงคนเดียวในวง

 

23) ระยะหลัง “บิลลี่ ฮอลิเดย์” มีปัญหากับเคานต์ เบซีอย่างหนักทั้งเรื่องการจ่ายค่าตัวที่ต่ำเกินไป ปัญหาการใช้เวลาฝึกซ้อมหลังเลิกงาน ปัญหาการเลือกเพลงร้อง เพราะบิลลี่อยากจะร้องเฉพาะเพลงที่เธอชอบและมีความรู้สึกอินไปกับเนื้อหาเพลง เธอไม่ยอมร้องเพลงยอดนิยมในขณะนั้น จากนั้นบิลลี่เริ่มทำงานตามใจตัวเอง ในที่สุดเคานต์ เบซีจึงจัดการประกวดร้องเพลงเพื่อค้นหานักร้องใหม่มาแทนที่เธอ

 

24) ปี 1938 บิลลี่ได้เป็นศิลปินหญิงผิวดำคนแรกที่ได้ทำงานร่วมกับดนตรีคนผิวขาวล้วน โอกาสครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1938 เมื่อ “อาร์ตี ชอว์” (Artie Shaw) นักเล่นคลาริเน็ตที่มีชื่อเสียงโด่งดังชวนบิลลี่มาทำงานกับวงดนตรีบิ๊กแบนด์ของเขาทั้งๆ ที่ในยุคนั้นยังมีการแบ่งแยกสีผิวอยู่

 

25) แม้บิลลี่ จะเป็นผู้แผ้วถางทางให้กับนักร้องเพลงแจ๊สผิวดำได้มีโอกาสมากขึ้น แต่เธอก็ต้องเผชิญกับการเหยียดสีผิวมาตลอด เคยถูกห้ามไม่ให้นั่งอยู่ตรงที่พักนักดนตรีกับเพื่อนร่วมวง เพราะเจ้าของร้านอ้างว่าลูกค้าไม่อยากเห็นหน้าคนดำ เธอเคยถูกปฏิเสธการเข้าพักโรงแรมเดียวกับคนขาว ภัตตาคารบางแห่งในเมืองชุมชนของคนผิวขาวไม่ยอมเสิร์ฟอาหารให้เธอ เธอต้องเข้ามาทำการแสดงจากประตูห้องครัว เพราะประตูหน้ามีให้เฉพาะแขกผิวขาวเท่านั้น และอื่นๆ อีกมากมาย แต่บิลลี่ยอมอดทนเรื่อยมา

 

26) บิลลี่ต้องเจอกับการเหยียดสีผิวอย่างหนักเมื่อไปแสดงในรัฐทางใต้ เช่น ในเมืองลุยส์วิลล์ เคนทักกี เธอถูกแขกผู้ชายคนหนึ่งเรียกว่า “Nigger Wench” (อีคนใช้นิโกร) ทำให้เธอโกรธจัดแทบคุมตัวไม่อยู่จนต้องพาเธอลงจากเวทีไปสงบสติอารมณ์

 

27) เหตุการณ์ที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เธอตัดสินในลาออกจากวง เป็นเพราะเจ้าของ “Lincoln Hotel” ในนิวยอร์ก สั่งให้บิลลี่ใช้ “ลิฟต์ขนของ” แทน “ลิฟต์คนโดยสาร” เพราะไม่อยากถูกลูกค้าต่อว่าที่โรงแรมนี้ “ยอมรับคนดำเข้าพัก” จากปัญหาอันน่าเหนื่อยใจนี้ทำให้เธอลาออกจากวงของอาร์ตี ชอว์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ปี 1938

 

28) หลังจากนั้นบิลลี่ได้ไปทำงานร้องเพลงประจำที่ “Café Society” สถานบันเทิงแห่งใหม่ของนิวยอร์กในย่านกรีนวิช วินเลจ ความโดดเด่นของที่นี่คือเป็นคลับที่ไม่แบ่งแยกสีผิวด้วยแนวคิดเสรีนิยม และสโลแกนที่ว่า “The Right Place for the Wrong People” และที่นี่เองเป็นสถานที่ที่ทำให้เธอได้ร้องเพลงที่ทำให้เธอดังที่สุดอย่าง “Strange Fruit”

 

29) “Strange Fruit – ผลไม้ประหลาดกับความตายสีดำ” เพลงนี้เกิดขึ้นจากเรื่องจริงอันน่าเจ็บปวดของเหตุการณ์รุมประชาทัณฑ์ ฆ่าแขวนคอ “โทมัส ชิปป์” และ “อับราม สมิท” (Lynching of Thomas Shipp and Abram Smith) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ปี 1930 ที่รัฐอินเดียนา ทั้งสองคนเป็นผู้ต้องหาในคดีปล้นฆาตกรรมชายผิวขาว “คล็อด ดีเทอร์” (Claude Deeter) และข่มขืนแฟนสาวของเขา “แมรี บอล” (Mary Ball) ในภายหลังแมรีออกมากลับคำให้การว่าโกหกเรื่องถูกข่มขืน ซึ่งในคดีนี้ยังมีผู้ร่วมก่อเหตุคนที่สามชื่อว่า “เจมส์ คาเมรอน” (James Cameron) แต่เขารอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด ภาพความรุนแรงนี้ถูกบันทึกได้โดยช่างภาพชื่อว่า “ลอว์เรนซ์  บีตเลอร์” (Lawrence Beitler) ภาพนี้สะเทือนใจผู้พบเห็นอย่างมากเพราะเป็นภาพร่างคนดำสองร่างที่ถูกทำร้ายจนเลือดอาบและถูกนำมาแขวนคอประจานไว้ที่ต้นไม้ซึ่งมีคนมาชุมชุมหลายพันคน ในจำนวนนั้นมีทั้งเด็กและผู้หญิง ภาพนี้ถูกพิมพ์ซ้ำนับพันครั้ง

 

30) ปี 1937 “เอเบล มีโรโพล” (Abel Meeropol) คุณครูชาวยิวคนหนึ่งได้เห็นภาพของลอว์เรนซ์  บีตเลอร์แล้วรู้สึกสะเทือนใจกับความอยุติธรรมที่มีต่อคนดำ เขาจึงแต่งกลอนบทหนึ่งชื่อ “Bitter Fruit” ลงในวาสารของสหภาพครูแห่งนิวยอร์ก ภายใต้นามปากกา “ลิวอิส อัลเลน” (Lewis Allan) เพื่อต่อต้านการรุมประชาทัณฑ์ฆ่าแขวนคอซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในรัฐทางใต้ จากนั้นเขานำบทกลอนมาแต่งทำนองเพลงแล้วให้ “ลอรา ดันแคน” (Laura Duncan) ภรรยาของเขาซึ่งเป็นหญิงผิวดำร้องในงานประชุมเรียกร้องเพื่อสังคมงานหนึ่งที่ “Madison Square Garden” โดยเนื้อเพลงนั้นบรรยายภาพความโหดร้ายได้ชัดเจน โดยเปรียบเทียบศพของคนผิวดำที่ห้อยอยู่บนต้นไม้เป็นผลไม้ประหลาด เลือดไหลหลั่งลงรากใบ แกว่งไกวไปในสายลมทางใต้ (Southern trees bear strange fruit, Blood on the leaves and blood at the root, Black bodies swinging in the southern breeze, Strange fruit hanging from the poplar trees.)

 

NEW ORLEANS, Billie Holiday has a last minute session with hairdresser before going on set, 1947

Billie-Doc-Film-Still09

 

31) “บาร์นีย์ โจเซฟสัน” (Barney Josephson) เจ้าของ “Café Society” ได้ยินเพลงนี้จึงรีบติดต่อเอเบลนำมาทำเพลงให้ “บิลลี่ ฮอลิเดย์” นักร้องดาวเด่นของเขาได้ร้องในทันที ครั้งแรกที่บิลลี่ได้ยินเพลงนี้เธอรู้สึกเศร้าสะเทือนใจอย่างยิ่ง เพราะนึกถึงการเสียชีวิตของพ่อเธอที่ถูกเหยียดสีผิวจนต้องจบชีวิตลงเพราะถูกปฏิเสธการรักษาในเท็กซัสเพียงเพราะเขาเป็นคนดำ

 

32) “บิลลี่ ฮอลิเดย์” ร้องเพลงนี้ครั้งแรกในปี ในปี 1939 ก็สร้างความฮือฮาให้กับผู้ชมอย่างมาก เพราะบรรยายความรุนแรงอย่างเห็นภาพ และด้วยอำนาจของเพลงและน้ำเสียงของเธอ เพลงนี้จึงถือเป็นเพลงพิเศษโดยบาร์นีย์วางกฎพิเศษเฉพาะสำหรับเพลงนี้ว่าเพลงนี้จะเป็นเพลงสุดท้ายปิดการแสดงของบิลลี่ ขณะที่เธอร้อง การบริการอาหารในห้องทั้งหมดต้องหยุดลง ห้องอาหารต้องอยู่ในความมืดและฉายไฟลงไปที่ใบหน้าของบิลลี่เท่านั้น และเพลงนี้จะไม่มีการอังกอร์หรือขอซ้ำอย่างเด็ดขาด ทุกครั้งที่ฮอลิเดย์ร้องเพลงนี้ เธอจะยืนตัวตรงอย่างมั่นคง ดวงตาทั้งสองหลับลงราวกับกำลังสวดภาวนา ทำให้ผู้ที่ได้ชมการแสดงของเธอต้องขนลุกไปกับมนตร์ขลังของเพลงนี้

 

33) แม้จะประสบความสำเร็จจากการแสดงสด แต่ “โคลัมเบีย” ต้นสังกัดของบิลลี่ปฏิเสธที่จะบันทึกเสียงเพลง “Strange Fruit” เพราะเนื้อหาของเพลงนั้นมีความแรงและทำให้คนผิวขาวจำนวนมากไม่พอใจ แต่บิลลี่ก็ไม่ยอมแพ้ เธอพยายามหาคนช่วยเหลือจากทั้งวงการจนได้อัดแผ่นเสียงกับ “คอมโมดอร์” ของ “มิลต์ เกเบลอร์” เพลง “Strange Fruit” ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ “บิลลี่ ฮอลิเดย์” อย่างท่วมท้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักคิด ปัญญาชนฝ่ายซ้าย ซึ่งเดิมอาจจะไม่ใช่แฟนเพลงของเธอโดยตรง จนเพลงนี้ขายได้นับล้านก็อปปี้ เป็นยอดที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเธอ

 

34) “บิลลี่ ฮอลิเดย์” ถือเป็นผู้หญิงคนแรกๆ ที่ออกมาเผชิญหน้ากับการเหยียดผิวและความอยุติธรรมอย่างเปิดเผย เพลง “Strange Fruit” ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเพลง “Protest Song” เพลงแห่งการเรียกร้องสิทธิเพลงแรกแห่งยุค การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของชาวแอฟริกันอเมริกัน (Civil Rights Movement) ต่อมาเพลงนี้ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร “Time” ให้เป็นเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในศตวรรษ “Best Song of the Century” และได้รับการบันทึกไว้ใน “Grammy Hall of Fame” ปี 1978 ในฐานะเพลงที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม

 

35) “บิลลี่ ฮอลิเดย์” แต่งงานครั้งแรกกับ “จิมมี มอนโร” (Jimmy Monroe) นักเล่นทรอมโบน เมื่อปี 1941 เขาเป็นหนุ่มสำอางที่ทำเรื่องเหลวแหลกมานับไม่ถ้วน และเป็นคนชักจูงให้บิลลี่ใช้ยาเสพติดมากขึ้น เธอติดยาหลายชนิดทั้งโคเคน, ฝิ่น แม้กระทั่งเฮโรอีน ทั้งคู่อยู่ด้วยกันได้ไม่นานก็เลิกกัน แต่ระหว่างนั้นเธอก็คบกับ “โจ กาย” (Joe Guy) นักทรัมเป็ตซึ่งเป็นคนขายยาเสพติดและติดเฮโรอีนอย่างหนัก

 

36) ปี 1946 เธอได้มีโอกาสร่วมงานกับหลุยส์ อาร์มสตรองศิลปินในดวงใจ ได้แสดงภาพยนตร์ร่วมกันในเรื่อง “New Orleans” ซึ่งบิลลี่ได้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ไว้หลายเพลงเช่น “The Blues are Brewin”, “Do You Know What It Means to Miss New Orleans?” และ “Farewell to Storyville”

 

37) เธอเป็นคนรัก “สุนัข” มาก ตลอดชีวิตเธอเลี้ยงสุนัขหลายสายพันธุ์ทั้งพุดเดิล, บีเกิล, เกรตเดน, ชิวาวา แต่ตัวโปรดของเธอชื่อ “มิสเตอร์” เป็นสุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์

 

38) แม้ว่าตลอดทั้งชีวิต บิลลี่จะคบหากับผู้ชายมากหน้าหลายตาและแต่งงานหลายครั้ง แต่เธอก็แสดงออกอย่างเปิดเผยว่ามีรสนิยมทางเพศเป็นไบเซ็กชวล ซึ่งความชอบในเพศเดียวกันของเธอน่าจะเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยเด็กที่เธอทำงานในซ่องและใกล้ชิดกับกลุ่มผู้หญิง เมื่อโตขึ้นเธอเดตกับผู้หญิงหลายคน และเคยคบหากับนักแสดงสาวชื่อดัง “ทาลูลาห์ แบงก์เฮด” (Tallulah Bankhead)

 

39) ปี 1947 “โจ เกลเซอร์” (Joe Glaser) ผู้จัดการส่วนตัวของบิลลี่พยายามให้เธอบำบัดอาการติดยา บิลลี่ยอมเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลาราว 6 สัปดาห์ แต่แล้วเธอก็กลับไปสู่วงจรเดิมอีกครั้ง และเหตุการณ์เลวร้ายลงเมื่อเธอกับโจ กายถูกจับในข้อหาครอบครองยาเสพติดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ด้วยความตั้งใจที่จะไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลจึงส่งตัวบิลลี่ไปบำบัดในโรงพยาบาลของทัณฑสถาน นอกจากนี้บิลลี่ใช้เวลาหลังจากนั้นเข้ารับการรักษาเพิ่มเติมในโรงพยาบาลเอกชนก่อนกลับคืนสู่ถนนสายดนตรีอีกครั้ง

 

40) หลังจากได้รับการปล่อยตัวจากคุก “บิลลี่ ฮอลิเดย์” กลับมาเปิดการแสดงคอนเสิร์ตที่ “Carnegie Hall” อีกครั้งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 1948 โชว์ครั้งนั้นขายตั๋วล่วงหน้าเต็มหมดทุกที่นั่ง 2,700 ใบ เป็นสถืติสูงที่สุดในเวลานั้น และนับว่าเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมากเพราะเธอไม่ได้มีผลงานเพลงใหม่มานาน เพลงสุดท้ายของเธอคือเพลง “Lover Man” เมื่อปี 1945 ในงานนี้บิลลี่ร้องเพลงไปทั้งหมด 32 เพลง รวมถึงเพลง “Strange Fruit” ที่ทุกคนรอคอยด้วย ระหว่างโชว์มีแฟนคลับนำดอกการ์ดิเนียใส่กล่องมาให้เธอ ซึ่งเธอก็นำไปประดับผมทันทีด้วยความดีใจที่แฟนๆ ยังจำเอกลักษณ์ของเธอได้ เธอไม่ได้ทันดูว่าในดอกไม้นั้นมีเข็มยาวสำหรับปักหมวก (Hatpin) ไว้ด้วย เข็มจึงปักไปที่ศีรษะของเธอจนเลือดไหล บิลลี่ไม่รู้ตัวจนกระทั่งเลือดไหลมาที่ตาและหู หลังจากการแสดงเสร็จและหมดช่วง “Curtain Call” รอบที่ 3 เธอก็เป็นลมไปทันที (ในระหว่างปี 1944 ถึงปี 1957 “Lady Day” แสดงคอนเสิร์ตที่ “Carnegie” Hall ถึง 22 ครั้ง)

 

Billie-Doc-Film-Still05

FAITHLESS 1932 MGM film with Tallulah Bankhead and Robert Montgomery

 

41) วันที่ 27 เมษายน ปี 1948 บิลลี่เปิดการแสดงบรอดเวย์ “Holiday on Broadway” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามบัตรขายหมดทุกรอบ แต่เธอก็จบโชว์นี้ลงในเวลาเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น บิลลี่กลับมาเสพยาอีกรอบ และถูกจับอีกครั้งที่โรงแรม “Hotel Mark Twain” ในซานฟรานซิสโก ปี 1949

 

42) ปี 1951 เธอคบหากับ “หลุยส์ แม็กเคย์” (Louis McKay) ชายผู้ชอบทำร้ายเธอและใช้เงินของเธออย่างสุรุ่ยสุร่าย แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็แต่งงานกันเมื่อปี 1957 ที่เม็กซิโก และเป็นผู้ชายที่ดูแลบิลลี่จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

 

43) ปี 1953 เธอร่วมแสดงในรายการเรียลิตี้ “The Comeback Story” ของทางช่อง ABC ปี 1954 เธอประสบความาสำเร็จอย่างยิ่งในการออกแสดงทัวร์คอนเสิร์ตในยุโรป ซึ่งบิลลี่ค้นพบว่าแฟนเพลงชาวยุโรปให้การต้อนรับศิลปินแจ๊สผิวสีด้วยการยกย่องให้เกียรติอย่างสูง ทำให้เธอมีความสุขมากกว่าตอนใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ และในปีเดียวกันนี้เธอออกอัลบั้มเต็ม “Billie Holiday” กับสังกัด “Clef Records” และปี 1955 บิลลี่ออกรายการทอล์กโชว์ครั้งแรกในรายการ “Tonight Starring Steve Allen”

 

44) ปี 1955 “Lady Sings the Blues” หนังสืออัตชีวประวัติของ “บิลลี่ ฮอลลิเดย์” ออกตีพิมพ์ ซึ่งเธอเองได้ร่วมเขีย กับ “วิลเลียม ดัฟตี” (William Dufty) โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องตามความทรงจำของเธอให้เขาฟัง หนังสือนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากในเรื่องของข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และรายละเอียดต่างๆ มีความคลาดเคลื่อนเยอะ แต่ทางดัฟตีได้ออกมาเผยว่าเรื่องการเช็กข้อเท็จจริงไม่ใช่เรื่องหลักที่เขาใส่ใจ แต่เขาจะให้อิสระบิลลี่เล่าเรื่องต่างๆ อย่างที่เธอต้องการ ในภายหลังบิลลี่ออกมาเผยว่าเธอไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้

 

45) บิลลี่ออกแสดงโชว์ครั้งสุดท้ายในนิวยอร์กปี 1959 แต่หลังจากนั้นก็มีข่าวร้าย “เลสเตอร์ ยัง” คู่ชีวิตทางดนตรีของเธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 มีนาคม เธอเสียใจมากและอยากจะร้องเพลงให้แก่ “เพรซ” ของเธอ แต่ไม่มีใครในครอบครัวของเขาอนุญาตให้เธอร้อง

 

46) บิลลี่ตัดสินใจจัดงานปาร์ตี้ฉลองครบรอบวันเกิดปีที่ 44 ของเธอที่บ้านเมื่อวันที่ 7 เมษายน ปี 1959 จากนั้นสุขภาพของเธอก็เสื่อมโทรมลง น้ำหนักลดถึง 9 กิโลกรัม  เธอถูกส่งเข้าโรงพยาบาลในวันที่ 31 พฤษภาคม ด้วยภาวะตับแข็งและโรคหัวใจ ขณะอยู่ที่โรงพยาบาลบิลลี่ก็ยังเสพเฮโรอีน ทำให้เธอถูกแจ้งข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง ถูกใส่กุญแจมือ และมีตำรวจสองนายมาเฝ้าเวรประจำอยู่ในภายห้อง แม้ว่าต่อมาศาลอนุมัติให้กันตำรวจสองนายออกจากห้องพักในโรงพยาบาล แต่อาการของบิลลี่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง และเสียชีวิตลงเมื่อเวลาตีสามสิบนาทีของเช้าวันที่ 17 กรกฎาคม ปี 1959 ที่โรงพยาบาลเมโทรโพลิแทน ในนิวยอร์ก

สื่อ NPR ลงรายละเอียดการเสียชีวิตไว้ว่า เธอเหลือยอดเงินในบัญชีธนาคารแค่ 70 เซนต์ และพยาบาลพบเงินธนบัตร 50 ดอลลาร์จำนวน 15 ใบ รวมเป็นเงิน 750 ดอลลาร์ ม้วนไว้อย่างดีและใช้เทปกาวแปะติดไว้ที่ขาของเธอ พิธีศพของเธอจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ปี 1959 ที่โบสถ์ “St. Paul the Apostle Roman Catholic Church” ในเมืองนิวยอร์ก โดยมีเหล่าแฟนเพลงของเธอมาแสดงความอาลัยกว่า 3,000 คน จากนั้นร่างของเธอจึงถูกเคลื่อนย้ายไปฝังไว้ที่ “Saint Raymond’s Cemetery” ในย่านบรองซ์

 

47) หลังจากเสียชีวิต “บิลลี่ ฮอลิเดย์” ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัล “Grammy Awards” รวมทั้งหมด 23 รางวัล และชนะ 4 รางวัลในสาขา “Best Historical Album” ชื่อของเธอได้รับการบรรจุไว้ใน “Grammy Hall of Fame” เมื่อปี 1973 รวมถึงได้รับรางวัลเกียรติยศ “Grammy Lifetime Achievement Award” ในปี 1987

 

48) “Lady Sings the Blues” ภาพยนตร์ปี 1972 นำแสดงโดยนักร้องสาวหน้าใหม่ “ไดอานา รอสส์” (ตอนนั้นเธอเพิ่งจะอายุ 28 ปี และยังไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นตำนานอย่างทุกวันนี้) หนังสร้างมาจากหนังสือชีวประวัติของ “บิลลี่ ฮอลิเดย์” แม้ว่าหนังจะได้รับคำวิจารณ์ว่าเรื่องไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแต่ไดอานา รอสส์ก็ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำหญิง และได้รับรางวัล “Most Promising Newcomer – Female” จากเวที “Golden Globes” ทั้งๆ ที่เป็นผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอ

 

49) รูปปั้นรำลึกถึง “บิลลี่ ฮอลิเดย์” ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ “Pennsylvania Avenue” ที่บัลติมอร์ รูปปั้นจัดทำโดย “เจมส์ เอิร์ล รีด” (James Earl Reid) อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัย “University of Maryland College Park” สร้างเสร็จเมื่อปี 1985 ด้วยงบประมาณ 113,000 ดอลลาร์ เป็นรูปปั้นทำจากบรอนซ์สูง 8 ฟุต 6 นิ้ว แต่ทางรีดไม่ค่อยพอใจนักถึงขั้นไม่มางานเปิดตัว จนกระทั่งปี 2009 ทางเมืองได้ให้งบเพิ่มอีก 76,000 ดอลลาร์เขาจึงได้สร้างฐานใหม่เป็นหินแกรนิตสีดำ ด้านหนึ่งมีลวดลายแกะสลักรูปชายผิวดำที่ถูกแขวนคอ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเพลง “Strange Fruit” และอีกด้านหนึ่งเป็นรูปเด็กทารกผิวดำห้อยหัวลงและมีสายสะดือพันคอไว้อยู่ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมากจากเพลง “God Bless the Child”

 

50) ในปี 2020 นี้กำลังจะมีภาพยนตร์สารคดี “Billie บิลลี่ ฮอลิเดย์ แจ๊ส เปลี่ยน โลก” เข้าฉาย ภาพยนตร์ที่รวบรวมจากเทปสัมภาษณ์กว่า 200 ชั่วโมงจากผู้คนที่เกี่ยวข้องกับนักร้องชื่อดังคนนี้ รวบรวมจากคำให้การที่ตรงไปตรงมาของพ่อแม่เลี้ยงของเธอ เพื่อนในโรงเรียน  เพื่อนร่วมห้องขัง ทนายความ โปรดิวเซอร์ เพื่อนสนิท ของ “บิลลี่ ฮอลิเดย์” ฟุตเทจที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

 

“Billie บิลลี่ ฮอลิเดย์ แจ๊ส เปลี่ยน โลก”

1 ตุลาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

Billie-Doc-Film-Poster02

 

Billie บิลลี่ ฮอลิเดย์ แจ๊ส เปลี่ยน โลก

Billie บิลลี่ ฮอลิเดย์ แจ๊ส เปลี่ยน โลก

“บิลลี่ ฮอลิเดย์” (Billie Holiday) เกิดในครอบครัวคนผิวดำผู้ยากจน พ่อแม่ยกเธอให้คนอื่นเลี้ยงดู เด็กหญิงถูกข่มขืนตอนอายุ 11 จากผู้ชายข้างบ้าน เธอถูกสังคมตัดสินว่าเป็นคนผิดและถูกส่งเข้าสถานสงเคราะห์ก่อนที่เธอจะหนีออกมาและเริ่มทำงานเป็นนางทางโทรศัพท์ตอนอายุ 12 ...

รายละเอียดภาพยนตร์

Featured News