รู้จัก “โรมัน โปลันสกี” ผู้กำกับสุดอื้อฉาวเจ้าของรางวัลออสการ์ในภาพยนตร์สุดระทึกเรื่องล่าสุด “Based on a True Story”

ทีมนักแสดง: เอมมานูแอลล์ แซนเยร์, เอวา กรีน, แวงซองต์ เปเรซ์

กำกับ: โรมัน โปลันสกี

บทภาพยนตร์: โอลิวิเยร์ อาซายาส, โรมัน โปลันสกี

สร้างจากนิยาย: D’après une Histoire Vraie แต่งโดย “เดลฟีน เดอ วิกอง”

 

“เดลฟีน” (เอมมานูแอลล์ แซนเยร์) นักเขียนนิยายเจ้าของผลงานที่ความเป็นตัวเองสูง ซึ่งอุทิศให้กับแม่ของเธอแล้วกลายเป็นหนังสือขายดี ด้วยความเหนื่อยหน่ายจากคำขอจำนวนมากและความทรงจำอันเปราะบาง เดลฟีนยังต้องทรมานจากจดหมายลึกลับฉบับหนึ่งที่กล่าวหาว่าเธอเอาครอบครัวมาขายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

ในขณะที่เธอเผชิญกับวิกฤติจนไม่อยากเขียนนิยายอีก โชคชะตานำพาให้เธอได้รู้จักกับ “แอล” (เอวา กรีน) หญิงสาวเปี่ยมเสน่ห์ ฉลาด และเป็นธรรมชาติ เธอเข้าใจเดลฟีนได้ดีกว่าใครๆ จนเดลฟีนเริ่มหลงใหลในตัวเธอ เชื่อใจในตัวเธอและเปิดใจให้ด้วย หลังจากแอลย้ายเข้ามาอยู่ในอพาร์ตเมนต์เดียวกันกับเธอ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป? เธอแค่เข้ามาอุดช่องว่างหรือสร้างช่องว่างใหม่? เธอมาเพื่อผลักดันเดลฟีน หรือเพื่อขโมยชีวิตของเธอกันแน่?

 

BasedOnATrueStory-int05

 

 

สัมภาษณ์ผู้กำกับ “โรมัน โปลันสกี”

Based on a True Story” ใช้เวลาในการสร้าง 1 ปีตั้งแต่ประกาศสร้างจนถึงวันที่ได้เข้าฉายเปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ คุณเข้ามาเกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนี้ได้อย่างไร

จริงๆ แล้วเป็น “เอมมานูแอลล์” ที่เอานิยายของ “เดลฟีน เดอ วิกอง” มาให้ผม เธอบอกว่า “คุณต้องอ่านเล่มนี้นะ มันอาจทำเป็นหนังได้” เธอพูดถูกทีเดียว! ผมเลยติดต่อ “วาแซ็ง เบจิ” ผู้อำนวยการสร้างซึ่งได้สิทธิ์ในหนังสือเล่มนี้ เราเจอกันครั้งแรกก่อนเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีก่อนไม่กี่วัน แล้วจากนั้นทุกอย่างก็ดำเนินหน้าไปอย่างรวดเร็ว

 

นิยายของ “เดลฟีน เดอ วิกอง” ดึงดูดคุณอย่างไรบ้าง บางคนอาจกล่าวว่าเรื่องราวของการชักใย การการครอบงำ การกักขัง และความหวาดหวั่นนี้ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อคุณโดยเฉพาะ

สิ่งที่ดึงดูดผมตั้งแต่แรกและดึงดูมากที่สุดคือ ตัวละครกับสถานการณ์ยุ่งเหยิงที่พวกเขาต้องเผชิญ พวกนี้คือธีมที่ผมเคยสำรวจมาก่อนแล้วใน Cul-De-Sac, Repulsion และ Rosemary’s Baby นี่ยังเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องของหนังสือ ซึ่งผมพบว่ามันน่าสนใจมากแบบเดียวกับที่ผมทำ The Ninth Gate และ Ghost Writer มันคือแมกกัฟฟิน ไอ้ “สิ่งๆ นั้น” นำมาสู่เรื่องราวพิศวงมากมาย ผมขอกล่าวอย่างนี้แล้วกัน หนังสือเล่มนี้มอบโอกาสอันดีให้ผมได้สำรวจการเผชิญหน้ากันของผู้หญิง 2 คน ผมเคยทำหนังที่ว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างผู้ชายด้วยกัน หรือระหว่างชายหญิงไปแล้ว แต่ยังไม่เคยทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิง 2 คนเลย

 

ตอนอ่านหนังสือ บางคนอาจเห็นความเย้ายวนระหว่างความจริงและเรื่องแต่ง อาทิใน Venus in Fur คุณจะไม่มีทางแน่ใจว่าตัวละครของ “เอมมานูแอลล์” เป็นตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริงๆ หรือตัวละครจากในนิยาย

ใช่เลยครับ ผมพบว่าจุดนี้มันน่าสนใจมากๆ

 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน นั่นไม่ใช่คำถามที่ผมถามตัวเอง ผมรู้แค่ว่าความกำกวมนี้มันดึงดูดผมโดยไม่รู้ตัว มันน่าสนใจ Venus in Fur เป็นหนังเพียงไม่กี่เรื่องของผมที่ผู้หญิงไม่ใช่เหยื่อโดนกระทำ!

 

BasedOnATrueStory-int04

 

“โอลิวิเยร์ อาซายาส” เขียนบทหนังเรื่องนี้ เขาเข้ามาร่วมงานด้วยได้อย่างไร

หนัง 2 เรื่องล่าสุดของโอลิวิเยร์ว่าด้วยเรื่องของผู้หญิง ผมเองคุ้นชินกับผลงานของเขาอยู่แล้ว ผมรู้ว่าเขาเคยเขียนบทให้ผู้กำกับคนอื่นมาก่อน และรู้ด้วยว่าเขาทำงานได้มีประสิทธิภาพ ผมมั่นใจว่าเขาจะต้องสามารถเขียนบทหนังชั้นดีให้พวกเราใช้ในการถ่ายทำได้แน่นอน

 

ประสบการณ์ในการร่วมงานกับเขาเป็นอย่างไรบ้าง

โอลิวิเยร์รู้ดีแจ่มแจ้งว่าจะทำอย่างไรให้นิยายความยาว 500 หน้ากลายมาเป็นบทหนังที่สั้นกระชับ นั่นถือเป็นความสามารถที่น่าทึ่งมาก เรามักจะคุยงานกันผ่าน Skype ซึ่งช่วยให้เราได้แลกเปลี่ยนไอเดียกันได้อย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากความมีประสิทธิภาพของเขาแล้ว “โอลิวิเยร์ อาซายาส” นำเอกลักษณ์เด่นอะไรมาสู่บทหนังเรื่องนี้อีกบ้าง

ทันทีที่โอลิวิเยร์เข้าใจถึงสาระสำคัญของหนังสือ เราก็เริ่มต้นคุยกันว่าเราจะดัดแปลงมันออกมายังไง เราเข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย บิลลี ไวลเดอร์เคยกล่าวไว้ได้ดีมาก ตอนโดนถามว่าสำคัญไหมหากผู้กำกับรู้วิธีการเขียนบท เขาตอบว่า “ไม่ แต่มันช่วยได้ ถ้าเขาอ่านออกเขียนเป็น!”

 

หนังเรื่องนี้ซื่อตรงต่อหนังสือทีเดียว

ผมพยายามอย่างมากในการซื่อตรงต่อต้นฉบับที่ผมนำมาดัดแปลง ผมเชื่อมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ผมมักจะผิดหวังกับหนังที่ดัดแปลงมาจากเรื่องราวหรือจากหนังที่ผมชอบและอยากดู ตัวละครที่ผมรักมันหายไป เรื่องราวก็ไม่ใช่อย่างเดิมกับที่เคยอ่านเคยเห็น ผมปฏิญาณต่อตนเองไว้ว่า ถ้าผมได้ทำหนัง ได้ดัดแปลงเรื่องราวด้วยตัวเอง ผมจะต้องซื่อตรงต่อต้นฉบับ

 

BasedOnATrueStory-st11

 

คุณมีภาพของ “เอมมานูแอลล์ แซนเยร์” มาตลอดเลยหรือเปล่าในฐานะตัวละครนักเขียนนิยาย

ในเบื้องต้น เราคุยกันว่าเอมมานูแอลล์เหมาะสมกับบทไหนที่สุด แต่พอเราเริ่มเขียนบท เราก็เห็นได้ชัดว่าเธอเหมาะกับบทนักเขียนนิยาย เราเลยต้องหาคู่ตรงข้ามกับเธอ มารับบทตัวละครที่เต็มไปด้วยปัญหา

 

แล้วคุณนึกถึง “เอวา กรีน” ทันทีเลยไหม

ทันทีครับ และถ้าคุณได้ดูหนังคุณจะเข้าใจว่าทำไม เราไม่เคยเจอกันมาก่อน แต่ผมรู้จักผลงานของเธอ ผมเคยทึ่งสุดๆ กับการแสดงของเธอใน Sin City: A Dame to Kill For ของ “โรเบิร์ต ร็อดริเกซ” ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีอย่างยิ่งทีได้ร่วมงานกับเธอ แต่ที่ดียิ่งกว่าคือการได้ร่วมงานกับทั้งเอวาและเอมมานูแอลล์พร้อมกัน ในกองถ่าย ทั้งคู่ยังเข้าขากันได้ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเจอไม่บ่อยกับนักแสดงส่วนใหญ่ แต่มิตรภาพระหว่างทั้งคู่ถือเป็นของล้ำค่าจากสวรรค์โดยแท้

 

คุณคิดว่ามันยากไหม ที่จะต้องกำกับผู้หญิงที่คุณใช้ชีวิตด้วยกัน

ผมคิดว่ามันง่ายกว่า…การอยู่ด้วยกัน! (หัวเราะ) ที่ผมแปลกใจก็คือทั้งคู่เหมือนกันอย่างมากในแง่ของการเตรียมความพร้อม พวกเขาได้รับบททีละนิดๆ ตอนนั้นเรากำลังเขียนบทไปและถ่ายทำไป แต่ทั้งเอมมานูแอลล์และเอวาต่างมีความเป็นมืออาชีพพวกเขามาพร้อมกับไอเดียดีๆ มากมาย เอมมานูแอลล์เองก็สนใจในการประกอบสร้างตัวละครขึ้นมา ซึ่งนั่นแตกต่างจากบทที่ผ่านมาที่เธอเคยเล่น

 

ทั้งเอมมานูแอลล์และเอวา มีจุดที่เหมือนและแตกต่างจากตัวละครของพวกเขายังไงบ้าง

เอวาเป็นคนที่ค่อนข้างสงวนท่าทีและระมัดระวังตัว บางคนอาจคาดหวังให้เธอนำจุดนั้นมาใช้ในการทำงานของเราด้วย แต่มันตรงกันข้ามเลย เธอเป็นคนเปิดเผย ไม่เคยบ่น และฉลาดมากๆ ด้วย เธอเข้าใจถึงความน่ารำคาญของบทและความคาดหวังในตัวเธอ ขอสารภาพตามตรงว่า ผมต้องขอบคุณเอวาและเอมมานูแอลล์ที่ทำให้การถ่ายทำออกมาราบรื่น แม้ว่าระยะเวลาในการทำงานจะสั้นก็ตาม

 

BasedOnATrueStory-int02

 

คุณใช้เวลาในการถ่ายทำนานเท่าไหร่

เราใช้เวลาในการถ่ายทำ 12 สัปดาห์ แต่มันก็มาพร้อมความท้าทายหลายอย่างด้วย

 

ท้าทายยังไง

มันท้าทายเพราะเราไม่มีเวลาในการซ้อมเท่าไหร่ ผมอยากมีเวลาในการสำรวจแต่ละฉากกับนักแสดงเวลาถ่ายทำมากกว่านี้ ฉากที่มีแค่ตัวละครหญิง 2 ตัวจะค่อนข้างง่าย เพราะพวกเขาจะได้ส่งอารมณ์ถึงกัน แต่ทุกฉากที่เดลฟีนอยู่คนเดียวจะยากหน่อย ผมต้องหาทางสร้างความน่าสนใจขึ้นมาโดยไม่มีตัวช่วยเลย ผมต้องสร้างอารมณ์ที่เฉพาะเจาะจง ต้องพิถีพิถันกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ผมเองมีภาพของบรรยากาศที่ใช่อยู่ในหัวอยู่แล้ว ตรงกันข้ามกับสิ่งที่หลายๆ คนคิด การสร้างฉากเหล่านี้ขึ้นมาใช้เวลานานที่สุด เช่นเดียวกับฉากในงานวันเกิด ที่ตัวละครหญิงทั้ง 2 ตัวอยู่ด้วยกันแค่ 2 คนเท่านั้น เราต้องทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเวลา โดยไม่ทำให้เกิดความรู้สึกน่าเบื่อ และมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในเมื่อเรามีนักแสดงอยู่ 2 คนในห้องๆ เดียวเท่านั้น และที่สำคัญเราไม่อยากใช้การเฟดซ้ำด้วย

 

แทนที่คุณจะใช้เสียงบรรยายประกอบ แบบเดียวกับที่หนังสือใช้บรรยายในฐานะบุคคลที่หนึ่ง คุณเลือกที่จะนำเสนอภาพสะท้อนระหว่างความจริงกับเรื่องแต่ง (หัวใจสำคัญของเรื่อง) ผ่านการจัดฉาก ภาพ และที่สำคัญการกำกับการแสดงเอวาของคุณ

นั่นเป็นหน้าที่ของผู้กำกับอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ? นั่นแหละคือความท้าทายในการทำหนังเรื่องนี้ เราต้องป้อนความรู้สึกไม่แน่นอนให้กับตัวละคร มันถือเป็นส่วนผสมหลักที่ขาดไม่ได้ของการแสดงชั้นเลิศ ซึ่งต้องแสดงให้เห็นความสงสัย ความไม่แน่นอน และความแคลงใจแก่คนดู มันทำให้ผมนึกถึงละครหุ่น ซึ่งจะทำให้เด็กๆ รู้สึกถึงความกลัวและความสุขในเวลาเดียวกัน ความเคลือบแคลงใจจะเปิดเผยออกมาในขณะที่พวกเขากลัว แต่พวกเขาก็จะคาดหวังด้วยเช่นกัน การสร้างความรู้สึกนี้ให้เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เป็นเรื่องสนุกสำหรับผม ผมหวังว่าคนดูจะพบว่ามันคุ้มค่าที่ได้ดูครับ

 

ในบรรดาตัวละครรองของคุณทั้งหมด ทั้งเพื่อนบ้านที่อยู่ชั้นล่าง บรรณาธิการหนังสือ แม้กระทั่งฟรองซัวร์-คู่ของเดลฟีน ทำให้เรานึกถึงตัวละครของคุณใน The Tennant ซึ่งเป็นหนังที่มืดมนและแสบสันต์มากๆ

คงจะมีส่วนนิดนึง แต่พูดตามตรงนะ ผมไม่ได้คิดถึงประเด็นนี้เลย ส่วนใหญ่คงเป็นเพราะเทศกาลหนังเมืองคานส์ ทำให้ The Tennant เป็นความทรงจำที่น่ากลัว เราถูกทำลายโดยสื่อและเจอราร์ด (บราช) ไม่เคยคืนฟอร์มอีกเลย มันต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าตัวหนังจะถูกคนขนานนามว่า “หนังคัลต์คลาสสิค”

 

Based on a True Story” เริ่มต้นเป็นหนังตลกร้าย ก่อนจะลงท้ายเป็นหนังระทึกขวัญ เมื่อตัวละครเอกพบว่าตัวเองอยู่ในคฤหาสน์นอกเมือง จู่ๆ เราก็กำลังดู Misery เสียอย่างนั้น

คฤหาสน์นั่นเยี่ยมเลยใช่ไหมล่ะ ตอนที่เราถ่ายทำฉากภายใน ผมลืมไปว่าเราไม่ได้อยู่ในนั้นจริงๆ แต่เป็นฉากที่เซตขึ้นมาที่ Bry-sur-Marne จากการออกแบบของ “ฌอง ราบาซซี” สิ่งที่เห็นจากภายนอกคือของจริง แต่ฉากภายในคือถ่ายทำกัน เช่นในอพาร์ตเมนต์ มันถูกเซตขึ้นมาทั้งนั้น

 

BasedOnATrueStory-st12

 

ในหนัง คุณสามารถรวมพลทีมงานระดับ “ดรีมทีม” ไว้ทั้งนั้น ทั้งผู้กำกับภาพ “พาเวล อเดลแมน” ซึ่งคุณร่วมงานด้วยมาตั้งแต่ The Pianist และคอมโพเซอร์ “อเล็กซองดร์ เดส์ปลาต์” ซึ่งคุณร่วมงานมาตั้งแต่ Ghost Writer

พวกเราทุกคนล้วนมีความรักในภาพยนตร์เหมือนกัน พวกเราเข้ากันได้ดีมาก! ถ้าคุณได้ร่วมงานกับใครมายาวนานแบบเดียวกับพวกเรา คุณจะพูดภาษาเดียวกัน และทุกคนจะรู้ว่าต้องทำอะไรต่อ บทสนทนาของเราเป็นเรื่องทางเทคนิคล้วนๆ บางอย่างก็ชัดเจนดี อย่างเช่น พาเวล เราจะคุยกันแค่เรื่องฟอร์แม็ตของหนังเท่านั้น เราจะถ่ายแบบ Scope เพื่อให้ความรู้สึกหนีออกจากประตูที่ปิดตาย ด้วยความที่ตัวหนังมันเล็ก ฉะนั้นความใกล้ชิดของเรื่องราวย่อมมีมากกว่าการเผชิญหน้ากัน การตะเกียกตะกายเพื่อครอบงำและชักใย การถ่ายทำแบบ Scope ยังช่วยให้เราขยายโลกออกไป และช่วยให้ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ได้มากกว่าเดิม

 

แล้วกับ “อเล็กซองดร์ เดส์ปลาต์” คุณบอกอะไรอย่างเฉพาะเจาะจงกับเขาบ้าง

ไม่เลยครับ ผมเอาบทหนังให้เขาดูและบรรยายว่าภาพที่ผมเห็นเป็นอย่างไร ผมอยากได้ความระทึกขวัญสั่นประสาทพร้อมๆ กับสิ่งที่ไม่อาจคาดคิด มันยากจะบอกว่าเราคุยอะไรบ้าง เพราะผมมักจะพูดโดยเลียนเสียง เช่น “ในฉากนี้มันอาจจะออกมา วู้ววว ก็ได้นะ”

 

ทำไมคุณถึงเลือก “แวงซองต์ เปเรซ์” มารับบทเป็น “ฟรองซัวร์” แฟนของเดลฟีน

ผมหาโอกาสที่จะได้ร่วมงานกับ “แวงซองต์ เปเรซ์” มานานแล้ว เขาคือเพื่อนผม สำหรับบทนี้ผมอยากได้คนที่สามารถกลายเป็นคู่ชีวิตของเดลฟีน ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ (ฟรองซัวร์ บูส์แนล) เขาทำให้ผมนึกถึงแวงซองต์ทันที เราเจอกันแล้วเขาก็ตอบรับเล่นบทนี้ทันที เขารู้โดยสันชาตญาณว่าจะบาลานซ์ความใจดีและระยะห่างที่ตัวละครต้องการได้อย่างไร

 

คุณยังเลือก “โจเซ ดายอง, บริจิตต์ รูยอง และ โนเอมี โลฟสกี” ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผู้กำกับมาเล่นด้วยมันคือเรื่องบังเอิญหรือเปล่า

ผมชอบทำงานกับผู้กำกับ พวกเขามักจะเป็นนักแสดงที่ดีและทำงานง่ายด้วย ตอนเขียนบท ผมมีภาพในหัวแน่นอนว่าตัวละครจะมีลักษณะยังไง ดังนั้นพอเราเริ่มคัดเลือกนักแสดง ผมเลยไปตามหาคนที่มีภาพใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมคิดไว้ก่อน “โจเซ ดายอง” ทำให้ผมคิดถึงบรรณาธิการเข้มๆ คนหนึ่งที่ผมเคยเจอ ส่วน “บริจิตต์ รูยอง” ใช้เวลานานกว่า นักแสดงที่เราเจอไม่เข้ากับมุมมองของผมวาง แล้วจู่ๆ วันหนึ่ง ผมไปเห็นรูปของบริจิตต์ แล้วพบว่าเขาเข้ากันด้วยประการทั้งปวงกับสิ่งที่ผมวาดภาพไว้

 

คุณเคยเจอ “เดลฟีน เดอ วิกอง” ตัวจริงไหม

เคยอยู่แล้ว ผมเจอเขาทันทีที่ผมกับโอลิวิเยร์เริ่มต้นดัดแปลงบทหนัง แล้วก็ได้เจออีกครั้งตอนปิดกล้องพอดี ตอนนั้นเราอยากถ่ายที่งาน Paris Book Fair พอดี และถ้าจะถ่ายล่ะก็ เราต้องรอจนถึงเดือนมีนาคม ตอนที่เราอยู่ในงาน ทั้งผู้จัด, เดลฟีน, โอลิวิเยร์ และผมได้พบกับคนอ่าน พวกเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น มีคนเข้ามาร่วมงานเยอะมากๆ พอเราถามว่ามีใครเคยอ่านหนังสือเล่มนี้บ้าง ประมาณ 2 ใน 3 ของคนทั้งหมดในห้อง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงก็ยกมือขึ้น “เดลฟีน เดอ วิกอง” เขียนเรื่องราวที่พูดกับผู้หญิงโดยตรง ซึ่งมันไม่เพียงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ แต่ยังทำให้ผมประทับใจมากๆ ที่ได้ทำหนังเพื่อพวกเขาด้วย

 

Based on a True Story” เข้าฉาย 1 มีนาคม เฉพาะ House RCA เท่านั้น

 

BasedOnATrueStory-Poster-TH

Based on a True Story

Based on a True Story

ผลงานล่าสุดของ “โรมัน โปลันสกี” ผู้กำกับรางวัลออสการ์สุดอื้อฉาว “Based on a True Story” ความจริง…ฆ่าทุกสิ่งในโลก 1 มีนาคมนี้...

รายละเอียดภาพยนตร์

Featured News