จับเข่าคุยผู้กำกับ “เป้-นฤบดี เวชกรรม” ขอย้อนความทรงจำวัย 14 สร้างสีสันโรแมนติกคอมเมดี้ครั้งใหม่ใน “14 อีกครั้ง I Love You Two Thousand” 12 ตุลาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

สร้างความสนุกประทับใจให้ฟินกันทั่วบ้านทั่วเมืองมาแล้วจาก “Low Season สุขสันต์วันโสด” ภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้เรื่องเยี่ยมเมื่อปี 2563 จนผู้กำกับมากฝีมือ “เป้-นฤบดี เวชกรรม” ได้ลายเซ็นติดตัวว่า “ถ้านึกถึงหนังฟีลซึ้งฟีลซ่าต้องเรียกหาเป้ นฤบดี” มาปีนี้ เขาขอกลับมาสร้างสีสันให้กับวงการหนังไทยครั้งใหม่กับ “14 อีกครั้ง I Love You Two Thousand” เรื่องราวความรักของหนุ่มสาววัยว้าวุ่นและวัยรุ่นขาสั้นคอซอง ที่ใครจะรู้ว่าจุดเริ่มต้นของเลข “14” มาจากนักร้องสายร็อกระดับตำนานอักษรย่อ “เสก โลโซ” ก่อนระดมทีมเขียนบทจาก “Low Season” บุกเมืองจันทบุรี รื้อฟื้นความทรงจำในวัย 14 บันทึกเป็นภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้น่าดูแห่งปีเรื่องนี้ และนี่คือบทสัมภาษณ์ในผลงานล่าสุดของผู้กำกับฯ ที่จะพิสูจน์ความตั้งใจในการถ่ายทอดความทรงจำในวัยเยาว์ และตอกย้ำลายเซ็นความโรแมนติกคอมเมดี้ในรูปแบบเฉพาะตัวให้ชัดขึ้นไปอีกขั้น

 

 

ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานด้านภาพยนตร์อย่างจริงจัง

จริงๆ แล้วพี่เริ่มมาจากภาพยนตร์นั่นแหละ คือเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ในหนังของพี่ “มานพ อุดมเดช”เมื่อประมาณ 20-30 ปีแล้วมั้งเรื่อง “กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน” (2534) จริงๆ ชีวิตพี่มันติดกับหนังมาโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่เด็กๆ แล้ว มีหนังที่ไหน เราก็ชอบเอาตัวเองเข้าไปอยู่ใกล้ ไม่ว่าจะเป็นหนังกลางแปลง งานวัด ก็จะไปดูตลอด แต่ในสมัยก่อนเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งมันไม่มีอะไรจะเชื่อมโยงให้มาทำอะไรอยู่ในวงการนี้ได้ เรียนนิเทศฯ ก็ไม่ได้เรียนมา สุดท้ายพอจบเหมือนเราอยากจะอยู่ในแอเรียของสิ่งที่เราชอบ เราก็จะพาตัวเองเข้าไปใกล้สิ่งที่เราชอบ ใครจะไปทำอะไรกันก็ไป จนมีรุ่นพี่ที่เขาทำเกี่ยวกับทีวีเขาก็ชวนเข้ามาทำ พอมีโอกาสที่มีคนชวนเข้าไปทำอาร์ตไดเรกเตอร์หนัง ตอนนั้นพี่ทำรายการทำโฆษณา พี่ก็เลิกทำเลยแล้วไปทำหนังกับเขา เริ่มตันด้วยการเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ แล้วมันก็ไหลไปเรื่อยทำเรื่องที่ 1, 2, 3 จนสุดท้ายตอนนั้นพี่ทำอยู่ “บริษัท ลักษ์ 666” ทำ “สาระแนฯ” กับ “เปิ้ล นาคร” มา 10 กว่าปี จนวันหนึ่งก็บอกเปิ้ลว่าเราจะไปละนะความฝันของเราคืออยากทำหนัง เปิ้ลบอกเราทำด้วยกันเลยดิ ทำที่นี่แหละ เลยเริ่มต้นมาทำหนังเรื่องแรกก็เป็น “สาระแนห้าวเป้ง” (2552) แล้วก็ทำเรื่อยมาจนถึง “Low Season สุขสันต์วันโสด” (2563) และล่าสุดก็เรื่องนี้ “14 อีกครั้ง I Love You Two Thousand”

 

เมื่อเราเห็นชื่อ “เป้ นฤบดี” เราจะรู้ได้เลยใช่ไหมว่าจะได้ชมภาพยนตร์ที่มีลายเซ็นคอมเมดี้เฉพาะตัว

อาจจะเป็นความโชคดีที่พี่ไม่ได้เรียนภาพยนตร์มา การทำหนังของพี่เหมือนครูพักลักจำเป็นการเรียนรู้จากครูบาอาจารย์ สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา หรือแม้แต่คนที่ทำหนังมาก่อน เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น หรือคาแร็กเตอร์ของคนที่เราเจอ เหมือนเราเจอเรื่องเล่าเรื่องอะไรเราก็หยิบจับเอามา เพราะในกลุ่มของเราที่เราทำงานกัน ก็มักจะเอาเรื่องจากเรื่องจริง เอามาปั้นให้เป็นบทขึ้นมา แต่วิธีการเล่าของเราส่วนใหญ่เราจะเล่าให้มันเป็นเรื่องสนุกมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอกหัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศร้า เรารู้สึกว่ามีคนเขาเล่าดราม่ากันเยอะแล้ว ด้วยนิสัยด้วยกลุ่มเราเป็นคนที่เล่าเรื่องสนุกๆ ชอบเอนเตอร์เทนคน มันก็เลยติดมาว่าเวลาจะเล่าเรื่องอะไรต้องเล่าให้สนุก แต่จริงๆ แล้ว ชีวิตคนเรามันมีหลายเรื่อง มีทั้งดราม่า ทั้งเศร้า ทั้งตลก แต่เราก็เลือกที่จะเล่าให้มันตลกซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ดราม่ามันก็ไม่ได้หายไปไหนนะ เราก็อยากจะเล่า สมมติในหนังหนึ่งเรื่องเรามักจะเล่าเรื่องตลกสัก 80% แล้วก็มีความดราม่าสัก 20% ชีวิตมันก็ต้องมีหลายรสชาติ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเน้นตลกอย่างเดียว ทีมเขียนบทเองก็เข้าใจพาบทออกมาให้สนุกสนานกันได้

 

 

จุดเริ่มต้นของ “14 อีกครั้ง” มีที่มาที่ไปอย่างไร

เมื่อ 2 ปีที่แล้วขับรถไปรับลูกชายอายุ 14 ที่โรงเรียน เขานั่งอยู่ข้างๆ ตอนติดไฟแดงอยู่หน้าโรงเรียนอยู่ๆ ก็มีคนหนึ่งเดินมา เหมือนเขาจะข้ามถนน รถเราอาจจะเลยล้ำที่จอดไปนิดนึง เขาก็เลยเดินมาแปะที่กระจกข้าง เราก็ตกใจเขาทำอะไร เราก็มอง เขาก็มองลูกชาย แล้วก็ยืนยิ้มอยู่แบบนั้น เราก็อ๋อ…เราคงไปขวางทางเขา แต่เขาก็ไม่ว่าเขาก็ยืนยิ้มอยู่แบบนั้น แล้วเอามือมาแปะกระจกรถด้วย เฮ้ย…พอดูชัดๆ นั่นคือ “เสก โลโซ” นี่หว่า เราก็ยิ้ม เขาก็ยิ้มแล้วก็เดินอ้อมหน้ารถเราไป วันนั้นมันเป็นสัญญาณว่าไอ้นี่ลูกเราวัย 14 ส่วนนั่นก็เสก โลโซ เพลง “14 อีกครั้ง” มันเหมือนคำนี้เพลงนี้มันผุดขึ้นมาในหัวเลย นั่นแหละเป็นจุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้

อีกความรู้สึกหนึ่ง ปีที่แล้วเราอยู่กับลูก เรากำลังรู้สึกว่าเด็กอายุ 14 พฤติกรรมมันมีความอะไรที่วัยอย่างเราลืมไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกล้าคิดกล้าถามกล้าตัดสินใจ ไม่ค่อยสนใจว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไง เราเรียกสิ่งนี้ว่ามันเป็นความกล้าหาญ กล้าตัดสินใจทำอะไรรวดเร็ว มันไม่เหมือนพวกเราที่ตอนนี้เวลาเราจะทำอะไรแต่ละทีเริ่มคิดเยอะ บางทีก็ไม่กล้าตัดสินใจ เราย้อนกลับไปดูตอนเราอายุ 14 เราทำอะไรอยู่ ในขณะที่เรามองดูลูก

แล้วทีมเขียนบทก็เริ่มหาข้อมูลเลยได้ประเด็นว่าอายุ 14 เป็นช่วงวัยที่กำลังจะโต กำลังจะมีตัวตนของโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นการที่เขาจะไปไหน เขาจะไม่สนหรอกว่าสิ่งนี้ที่เกิดขึ้นมันจะทำลายตัวเขา หรือทำให้ใครว่าเขา แต่ถ้ากูคิดจะทำ ทำเลย ซึ่งถ้าเราเอามาเล่าเป็นหนัง มันสะท้อนความเป็นผู้ใหญ่ได้ ผู้ใหญ่เคยอาจจะผ่าน 14 มาแล้ว แต่ด้วยทุกวันนี้การใช้ชีวิตที่ผ่านมา ความเจ็บ ความทุกข์ที่ผ่านมา เราอาจจะกลัวมากขึ้น ถ้าเรามองย้อนกลับไปตอน 14 สิ เราอาจจะได้ความกล้าหาญกลับคืนมาก็ได้ ก็เกิดเป็นประเด็นขึ้นมา มันจุดประกายออกมาเป็นเรื่อง “14 อีกครั้ง”

 

ทีมเขียนบทเป็นทีมเดิมจาก “Low Season สุขสันต์วันโสด” เลยมั้ย

ทีมเดิมจาก “Low Season” ทุกคนมีความตื่นเต้นที่พอได้ยินคำว่า “14 อีกครั้ง” เราก็เลยให้กลับไปทำการบ้านมาว่าเราเจออะไรมาบ้างตอนอายุ 14 ทุกคนก็เอาข้อมูลมารวมกัน เออ…มันก็น่าตื่นแต้นดี มันเป็นช่วงวัยที่สนุกจริงๆ

อีกโจทย์หนึ่งก็คือแล้วถ้าเราจะเล่าหนังของวัย 14 ในยุคไหน ยุคที่มีเสน่ห์ที่สุดสำหรับพวกเราก็คือปี 2546 คือตั้งแต่ปี 2000 ขึ้นมาจนถึงปี 2003 รู้สึกว่ายุคนั้นมันเป็นยุคที่มีเสน่ห์ พวกเราทำอะไร มันยังไม่มีสมาร์ตโฟน มันยังไม่ก้มหน้ากัน เวลาที่เราจะเจอจะคุยอะไรต้องนัดกัน แล้วมีสังคมที่เราต้องไปเที่ยวด้วยกัน อยากรู้อะไรก็ออกเดินทาง ออกไปผจญภัย เวลาจะเจอแฟน หรือเวลาเราจะนัดเจอมันไม่ต้องรู้ตลอดว่าเขาจะทำอะไรจะมาหรือยัง มันเป็นการรอคอย ทุกคนมีจังหวะที่ต้องรอ ต้องนัดกันเพื่อมาเจอ ยุคนั้นมันเป็นยุคที่มันยังแอนะล็อกอยู่ ทำอะไรมันก็ต้องทำไปทีละขั้นทีละตอน ยังไม่รวดเร็วเหมือนตอนนี้ เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าเรากลับมาเล่ายุคนี้ดีกว่า

 

 

แล้วหาตัวละครแต่ละคนยังไงบ้าง

ตอนบทเสร็จโปรดิวเซอร์บอกว่าเราจะเอานักแสดงที่ไหน เพราะว่าต้องเป็นคนที่เพิ่งผ่าน 14 มาได้แค่ 4 ปี จะอยู่ในยุคที่วัยรุ่นหน่อยยังไม่โตมาก แล้วในเรื่องก็จะมีแก๊งเด็ก ซึ่งแก๊งเด็กอายุ 14 ในวงการก็ไม่ได้มีให้เลือกมากนัก เราไม่อยากได้คนเก่าด้วย เราอยากได้คนใหม่ๆ อยากให้คนดูเชื่อไปกับตัวละคร มันยากในการค้นหาเด็กกลุ่มนี้ มันไม่ได้มีภาพใครในหัวหรอก ณัฏฐ์ก็ยังไม่มา ณิชาก็ยังไม่มา สักพักก็มีการแคสติ้งก็ได้ “ณัฏฐ์” (ณัฏฐ์ กิจจริต) กับ “ณิชา” (ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์) มา มันเหมือนเขามาเพื่อให้เราเห็นเคมีของทั้งคู่ ในเรื่อง “กิ๊บ” กับ “ต้อ” เขาต้องเล่นเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเด็ก เออ…มันเข้าท่า เข้าคู่กันได้ดีมากตั้งแต่วันแคสติ้งเลย

อย่างณัฏฐ์ที่มารับบทเป็น “ต้อ” ที่เราเคยเห็นใน “4 Kings” (2564) และ “Fast and Feel Love เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ” (2565) เขาก็มีคาแร็กเตอร์ของเขาอีกแบบ ดราม่าแล้วก็จริงจัง แต่พอมารับบทต้อ คาแร็กเตอร์มันจะเป็นคนไม่คิดอะไร เป็นคนปล่อยจอย ปล่อยไหลไปกับชีวิต ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีอะไร แต่จริงแล้วข้างในมันมีอยู่ ซึ่งตัวณัฏฐ์เองเขาบอกว่าในปีที่เข้ามาแคสติ้งหนังเรื่อง “14” เขาเองก็กำลังอยากจะเล่นหนังที่ไม่ต้องเครียด ผมอยากจะปล่อยไหล ซึ่งมันก็พอเหมาะกับคาแร็กเตอร์ที่เรากำลังต้องการพอดี

ตัวละคร “กิ๊บ” ของ “ณิชา” เหมือนคนที่แบกโลกเอาไว้ เขาเรียนเก่ง ทะเยอะทะยาน ตัวกิ๊บก็มีการแบกกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งตอนแคสติ้งณิชาก็เล่าประสบการณ์ของตัวเองในชีวิตให้เราฟัง นี่มันคือกิ๊บเลยนี่หว่า คือเราเห็นณิชาในละครเราไม่เคยรู้เลยว่าจริงแล้วตัวเขาก็มีความกดดันแบบนี้อยู่ในตัวเหมือนกัน เราก็เลยคิดว่าณิชาเขาก็น่าจะเข้าใจในตัวละครตัวนี้มากที่สุดนะสำหรับคนที่แคสต์มาทั้งหมด

ส่วนกลุ่มเด็กๆ อายุ 14 อันนี้ลำบาก การแคสติ้งหาเด็ก “แก๊งหัวหมา” เหมือนมันงมเข็มในมหาสมุทร มันเป็นส่วนที่ยากที่สุดเลย โปรดิวเซอร์บอกว่าแล้วเราจะหามาจากไหน ก็ต้องเริ่มแคสติ้ง เริ่มจากให้เด็กๆ ส่งรูปกันมาจากทั่วประเทศ มีเยอะมากหลายคน พอมาแคสติ้งมันก็ค่อยเริ่มชัดเจนขึ้น เพราะเด็กกลุ่มนี้อายุ 14 มันเริ่มมีความรัก เริ่มอยากจะลองของ อยากจะเฮี้ยว อยากจะเป็นผู้ใหญ่ อยากซ่า มันก็คือต้องแคสต์เอาตัวเขาออกมาให้ได้ แล้วน้องๆ ก็ได้จากที่แคสติ้งกันมา ซึ่งค่อนข้างที่จะตรงกับบทที่เราต้องการเลยด้วยนะ เรียกว่า 80% เลยนะที่มันตรงกับความคาดหวัง น้องๆ อาจจะสดใหม่สำหรับภาพยนตร์ แต่ในความธรรมชาติของเขาทุกคนที่ได้มา มันตรงและมันเหมาะเลยนะสำหรับพี่

 

การตีความบทกับทีมนักแสดง

“ณัฏฐ์” กับ “ณิชา” เราพยายามทำให้เขาเข้าใจในความเป็นคนจังหวัดจันทบุรี อยู่ในเมืองเล็กๆ ที่ไม่ได้หวือหวา มีชีวิตเรียบง่าย บ้าน “กิ๊บ” จะเป็นบ้านที่มุ่งมั่น เรียนเก่ง เป็นความหวังของครอบครัว ไปเติบโต ไปเรียนให้สูงๆ เก่งๆ แต่ “ต้อ” คือกลับกัน เป็นตัวละครที่ไม่ไปไหน ฉันอยากอยู่บ้านฉัน ฉันมีความสุข มีความสบาย ก็ทำความเข้าใจกันตอนเวิร์กช็อปว่าตัวต้อเป็นแบบนี้ กิ๊บเป็นคนแบบนี้ ซี่งในตอนแรกณัฏฐ์ก็จะซึมซับจากบทที่เราเขียน เขาก็ทำการบ้านตีความว่าต้อมันต้องเป็นคนแบบไหน มันผูกพันกับกิ๊บมาแบบไหน เขามักจะมาถามว่าอันนี้ต้อคิดแบบนี้ไหม แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ต้อเขาจะทำยังไง ณัฏฐ์เขาเป็นคนที่ทำการบ้านละเอียดเยอะมาก

แต่พอตอนถ่ายตามบทได้สักประมาณ 3-4 ซีน มันก็ไหลไปตามอารมณ์ สมมติว่าบทมันไปขวา ณัฏฐ์ก็จะไปซ้าย เราก็ถามว่าทำไมทำแบบนั้น เขาก็บอกว่าเขาคิดไว้อีกแบบหนึ่ง มันน่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งตอนหลังเราก็ให้เขาเล่นเอาไว้ 3-4 แบบอะไรก็ว่าไป จนเราจะมีคำพูดติดกองเลยว่า “แล้วแต่ณัฏฐ์” คือนัทเขาตีความจนเข้าใจตัวละครแล้วว่ามันควรจะเป็นแบบไหน ต้อมันน่าจะเป็นตัวกระด๊อกกระแด๊กหน่อย เขาจะสังเกตคนในอำเภอแล้วเขาจะมาบอกว่าจะเล่นแบบนี้นะ เขาจะมีข้อมูลรอบตัวเอามาใส่ตัวละคร ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อเผื่อเลือก แต่มันเป็นการเพิ่มตัวตนของตัวละครให้มากกว่าบท แล้วมันก็ออกมาโอเคเลย

ส่วนณิชาเขามีอินเนอร์ในชีวิตจริงที่มันคล้ายกิ๊บอยู่แล้ว เราแค่บอกณิชาว่าให้ดึงส่วนตรงนั้นมาใช้ในความเป็นกิ๊บ ดึงความสุขความสนุกในตอนที่เป็นเด็กออกมา เขาก็เป็นกิ๊บได้ในทันที เพราะณิชาเองก็เป็นเด็กต่างจังหวัด เป็นคนเชียงใหม่ เขาเล่าประสบการณ์ตอนเด็กๆ เอามาแชร์ร่วมกัน เขาเคยเจออะไร เขาเที่ยวเล่นกับเพื่อนยังไงก็แลกเปลี่ยนกัน ณิชาคิดยังไง มีการตีความตัวละครว่ายังไง มันไม่ยากเลย

ณัฏฐ์กับณิชามันเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างที่เราต้องการ คือไอ้ผู้ชายก็ชอบแหย่ ชอบเล่น ไอ้ผู้หญิงก็ไม่อยากยุ่ง ซึ่งพอเวลาที่เขาเข้าซีนกันแล้วมันยิ้ม แล้วมันมีความอิมโพรไวส์ของณัฏฐ์ แล้วมันก็มีความจู้จี้ตัดบทไม่อยากยุ่งของณิชา เออ…เราก็รู้สึกว่ามันได้ ตอนที่เราเขียนบท เราก็คิดอยู่ว่าน้องจะต้องมาให้ถึงจุดนี้ น้องจะเข้าใจแล้วก็ไหลไปกับตัวละครได้ไหม เป็นกิ๊บกับต้อได้ไหม พอเล่นจริงคือมันได้ เขาค้นกันเจอ ชอบทุกซีนของคู่นี้เลย เรายิ้มตามพวกเขาได้

 

 

ได้ข่าวว่าตัวละคร “ต้อ” ในเรื่องมีตัวตนอยู่จริงก็เลยดึงเอาคาแร็กเตอร์จริงมาใช้กับหนัง

โดยปรกติเป็นวิธีการทำบทของเราอยู่แล้วว่าเราจะต้องหาคาแร็กเตอร์ของคนที่มีอยู่จริง มีการต่อเติมลงไปเพื่อให้มันสนุกขึ้น “ต้อ” คือคนที่มีคาแร็กเตอร์แบบว่าจะชิลล์ไปไหน แต่เขาก็มีความอะไรบางอย่าง มีเป้าหมายของเขาแบบที่ไม่มีใครรู้ มันก็มีความเท่ของเขาอยู่ แต่เขาไม่พูดออกมาเท่านั้นเอง คือเขาเล่นดนตรีก็เก่ง แล้วเขาก็มีความรู้เรื่องรถ เรื่องมอเตอร์ไซค์ และอะไรอีกหลายเรื่อง

ในยุคนั้นมันจะมีลักษณะของคนอยู่ลักษณะหนึ่ง ความเท่ของเขาคือการต้องมีรถตู้มีเวสป้า แล้วก็มีเพื่อนไปกันเป็นกลุ่ม แต่อีกในพาร์ตหนึ่งของชีวิตเขาก็ดูแลแม่ดูแลน้อง เขาไม่ไปไหน ไม่ไปเรียนต่อในกรุงเทพฯ เล่นดนตรีเก่ง เขาก็มีความฝันว่าเขาจะมา Hot Wave ถ้าคุณมีวงดนตรีที่เจ๋งคุณต้องมาประกวด แต่ต้อเนี่ยเจ๋งแต่ไม่ไป กูขออยู่แบบนี้ พอต้อจับกีตาร์เล่นดนตรี อ้าว…มันก็เก่งเหรอเนี่ย แล้วทำไมคุณอยู่แค่นี้ไม่ไปต่อ

ต้อเขาคือหลานชายที่เป็นลูกของพี่สาว เป็นคนใกล้ตัวนั่นแหละ เราก็รู้สึกว่าชีวิตแบบนี้น่าสนใจ รวมทั้งเรื่องผู้หญิงของเขา เขาต้องคอยหลบหลีกมีสลับราง เราก็มองว่าไอ้นี่เสน่ห์มันอยู่ตรงไหน เราก็อยากจะค้นหา ก็รื้อความเป็นตัวมันก็ได้เป็นข้อมูลเข้ามา มันมีซีนที่ต้อตัวจริงเจอกับต้อในหนังด้วยนะ ต้องไปดู ซีนนั้นณัฏฐ์งงไปเลย เพราะอยู่ดีๆ ต้อตัวจริงก็ยิงมุกใส่จนอึ้งเลยละ

 

คาแร็กเตอร์ของแต่ละคนเป็นยังไงบ้าง

“ต้อ” (ณัฏฐ์ กิจจริต) ก็จะเป็นคนอำเภอขลุง ซึ่งเป็นอำเภอเงียบๆ ในจังหวัดจันทบุรี นักท่องเที่ยวน้อยมาก แต่ก็ชิลล์พอสมควร คือคนขลุงเวลาเขาเรียนจบ ม.6 มาเขาไม่ไหนกัน จะมีไม่กี่คนหรอกที่จะไปเรียนที่กรุงเทพฯ ขวนขวายไปมีชีวิตเป็นนักธุรกิจ หรือเป็นเจ้าของอะไรสักอย่าง เราจะเห็นว่าตอนเด็กเขาเป็นยังไงเขาก็จะเป็นอย่างนั้น ต้อนี่ก็เป็นคนหนึ่งที่เหมือนเป็นคนขลุงโดยแท้ ซึ่งมีชีวิตแบบเรียนจบมีความสามารถ เล่นดนตรี มีความรู้เรื่องรถเวสป้ารถโฟล์ค เปิดอู่เปิดอะไรซ่อมได้หมด แถมยังมีความรู้เรื่องช่างสารพัด สามารถไปช่วยญาติพี่น้องในการซ่อมแซมโน่นนี่นั่นได้เรียกใช้ได้ มีความสามารถจิปาถะมาก ซึ่งความสามารถแบบนี้มันน่าจะไปได้ไกลมาก แต่ต้อเขาก็ไม่สนใจ เขาอยากจะอยู่ของเขาแบบนี้ ชอบที่จะใส่รองเท้าเบรกเกอร์ กางเกงยีนส์ เสื้อแจกแถมจากน้ำมันเครื่อง แต่เขามีปมในใจของเขาอยู่อย่างหนึ่งคือเพื่อนสนิทที่เรียนกันมาไปกรุงเทพฯ แบบยังค้างคาความรู้สึก พอกลับมาเจอกันก็เอ๊ะ…ทำไมมันเปลี่ยนไป ทำไมมันไม่เป็นเพื่อนเราเหมือนเดิม

ส่วนคาแร็กเตอร์ของ “กิ๊บ” (ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์) เป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาอยู่อำเภอเดียวกันกับต้อ แต่เป็นขั้วตรงข้าม กิ๊บจะเป็นที่พึ่งพาของต้อทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียนหรือเรื่องอะไร กิ๊บเป็นคนที่ค่อนข้างจะเฮ้วหน่อย เหมือนหัวหน้าเพื่อนอยู่กับแก๊งเด็กผู้ชายได้ มีความเป็นจอมจัดการเรียนเก่ง เป็นความหวังของพ่อแม่ แต่กิ๊บก็มีปมอะไรบางอย่างกับต้อ พยายามที่จะไม่อยากเจอต้ออีก พยายามที่จะไปให้พ้นจากที่นี่ แต่มันเหตุจำเป็นที่ต้องกลับมา เป็นเหตุให้ต้องมาแก้ปมที่ตัวเองเคยมีกันไว้ตอนอายุ 14

คาแร็กเตอร์ของตัวละครอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ “แก๊งหัวหมา” มีเด็กผู้ชาย 4 คนคือ “กัน” (ภูผา-อินทนนท์ แสงศิริไพศาล), “ต่าย” (เล็ก-ธีรเวช สุภาวงษ์), “ม่อน” (โยชิ-สุริยาวิชญ์ ถนอมชัยสนิท) และ “วัด” (วีเจ-นพรุจ ตันธนวิกรัย) แล้วก็เด็กผู้หญิงแสบๆ อีกคนหนึ่งคือ “ซาร่า” (โมเน่ต์ BNK48-ภาริตา ริเริ่มกุล) ในโรงเรียนเขาจะมีระดับตัวเทพก็พวกเด็กเรียนเก่งกีฬาเก่งเก่งไปหมด มีระดับตัวรองกลางๆ แล้วก็ระดับที่ไม่มีใครเห็น ไอ้แก๊งนี้จะอยู่ในระดับที่ไม่มีใครเห็น ได้แต่มองคนที่เขากรี๊ดกัน แต่มีความคิดว่าอย่างน้อยเป็นหางราชสีห์ไม่ได้ ก็มาเป็นหัวหมาเลย  ฉะนั้นแก๊งหัวหมามันคือเด็กลูซเชอร์ที่พยายามแสดงตัวตนให้คนอื่นเห็นว่ากูก็มีดีนะเว้ย วันๆ ไม่มีอะไรหรอก ขี่มอเตอร์ไซค์ไปอ่านการ์ตูน จินตนาการสร้างเรื่องราวว่าต้องทำภารกิจโน่นภารกิจนี่ แล้วคิดว่าสิ่งที่กูทำนี่คือเจ๋งมาก

จนวันหนึ่งมีเด็กผู้หญิงชื่อ “ผิง” (แฟร์รี่-กิรณา พิพิธยากร) เข้ามา กัน (น้องชายกิ๊บ) เลยมีภารกิจที่ต้องจีบผิงให้ได้ แล้วก็พยายามให้เพื่อนช่วย เรื่องราวความวุ่นวายมันก็เกิดขึ้น แล้วมันไปเกี่ยวข้องกับกิ๊บและต้อ โดยที่กิ๊บและต้อไม่รู้ตัว ก็ติดสอยห้อยตามกับไอ้แก๊งนี้จนไปเกิดเรื่องราวใหญ่โตขึ้น

 

 

ทำไมฉากหลังต้องเป็นที่จังหวัดจันทบุรี

เพราะว่ามันเป็นภาพติดตาเป็นความทรงจำ เพราะเราเกิดที่นั่น โลเคชันที่เราอยากเล่าที่สุดก็เป็นบ้านเราเอง ก็เลยพาทีมงานทีมเขียนบททุกคนย้อนกลับไปเพื่อรีเสิร์ชทุกซอกทุกมุมของอำเภอขลุง เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันว่าถ้าคนที่เขาไม่เคยอยู่แบบเรา เขามองแล้วเขารู้สึกยังไง เราก็เอาข้อมูลตรงนั้นกลับมาใช้ด้วย ทีนี้การกลับมาบ้าน มันเหมือนได้รื้อฟื้นความทรงจำเมื่อตอนที่เราอายุ 14 อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทีมเขียนบทก็เป็นคนที่นั่นเหมือนกัน มันก็เลยสามารถจูนกันได้ แล้วเวลาที่เราไปที่ขลุง ภาพทุกซอกทุกมุมมันผุดขึ้นมา มันเหมือนได้รีมายด์ของจริงจากเรื่องจริง

 

เราจะได้เห็นพวกโลเคชันว้าวๆ แปลกตาแบบ “Low Season” มั้ย

มันก็คงไม่ถึงขนาดนั้น ปกติที่ขลุงก็ไม่ใช่ที่เที่ยวหลักอยู่แล้ว แต่เรียกว่าเรื่องนี้มันมีบรรยากาศของบ้านเมืองเล็กๆ มากกว่า มีความรู้สึก มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นตรงนั้น แค่คิดว่าอยากเล่าเรื่องที่นี่ ไม่มีที่ไหนที่จะเหมาะที่จะเล่าจากความทรงจำของเรา ซึ่งก็คือวิถีชีวิตของคนจันทบุรีเขาผูกพันกับทะเล ภูเขา น้ำตก บ้านเรือนที่คนดูอาจจะซึมซับได้เอง

อย่างบางที่เราก็ไม่ได้ตั้งใจไว้ มันก็เป็นการเซอร์เวย์ เมื่อก่อนมันยังไม่มีโฮมสเตย์ รีสอร์ตในสมัยนี้กับ 20 ปีที่แล้ว มันค่อนข้างที่จะหายาก มันเปลี่ยนไปหมด แล้วเราก็ไปเจออยู่ที่หนึ่งมันเป็นเหมือนชายหาดเงียบๆ เป็นเวิ้งที่พักของชาวประมง  แล้วมันก็มีเรือลำใหญ่มากของชาวประมงที่เขาไม่ใช้แล้ว จอดอยู่ประมาณ 4-5 ลำ เราก็สนใจว่ามันคือจอดเอาไว้ทำอะไร พอเข้าไปดูเราก็จะเห็นว่าเขาพยายามทำให้เรือเป็นรีสอร์ตเป็นห้องพัก มันสวยมากเลย ยิ่งกลางคืนเขาตกแต่งไฟเอาไว้สวยเลย น่าจะเป็นไฮไลต์ใหม่ได้เลยนะ คือมันเป็นความบังเอิญของเราส่วนหนึ่งนะที่นี่

ส่วนอีกหลายจุดของเรื่องนี้ที่อยากจะพูดถึงเช่น “น้ำตกตรอกนอง” ถ้าคนไปจันทบุรีก็มักจะไปน้ำตกพลิ้ว แต่ถ้าเป็นขลุงวัยรุ่นเขาขี่มอเตอร์ไซค์ไปเล่นกีตาร์กันมันคือที่น้ำตกตรอกนอง มันมีเสน่ห์ตรงที่คนมันไม่เยอะ มีจุดที่สงบเป็นส่วนตัวและสวยงาม เป็นจุดที่ตัวละคร “กิ๊บ” กับ “ต้อ” มันว้าวุ่น มันจะมาฮีลใจอะไรของมันอยู่ตรงนี้

แล้วก็สถานที่หลักเช่นในอำเภอขลุง บ้านเรือนคนก็เป็นบ้านไม้เก่า มันเป็นเมืองที่ไม่เปลี่ยน ไม่ต้องพูดถึง 20 ปีนะ พูดถึง 30-40 ปี ก่อนหน้านี้ยังอยู่ยังไงมันก็เป็นอย่างนั้น แบบเดิมๆ คนเขาก็ไม่ยอมเปลี่ยน ซึ่งเราคิดว่ามันมีเสน่ห์มากเลย เพราะทุกวันนี้มันเปลี่ยนเร็วในแต่ละที่ มันก็ยิ่งเหมาะเลยที่จะเล่าเรื่องในยุคของหนัง และก็ทำงานกันง่ายขึ้น

 

 

ในเรื่องนี้มีจุดไหนหรือฉากไหนที่ประทับใจเป็นพิเศษบ้าง

ในซีนที่ถ่ายมาแล้วชอบ มันก็มีอยู่หลายซีน แต่ซีนที่รู้สึกว่าประทับใจคือซีนที่อยู่ในห้องซ้อมดนตรีของ “ต้อ” กับ “กิ๊บ” มันเป็นช่วงที่ต้อกับกิ๊บอยู่ด้วยกัน กิ๊บแต่งเพลงต้อร้อง มันมีความสดของ “ณัฏฐ์” กับ “ณิชา” อยู่ ให้โจทย์ไม่ต้องเยอะ เราก็แค่บอกว่านี่คือตอน ม.3 ต้อเป็นคนที่เล่นกีตาร์เก่ง มีวงในช่วงสมัยเรียน กิ๊บเป็นคนที่ชอบวาดรูป เขียนเพลง อ่านหนังสือ แล้วกิ๊บก็เขียนเพลงให้ต้อเอาไปร้อง แล้วมันก็ได้ความสดของเขาทั้งคู่ ฉากที่พี่ชอบส่วนใหญ่เป็นฉากที่ณัฏฐ์กับณิชาเข้าซีนด้วยกัน มันจะได้เคมีที่แปลกไปอีกแบบหนึ่ง มันเป็นแบบฉบับที่เราจะไม่เคยได้เห็นทั้งคู่เป็นแบบนี้ (หัวเราะ)

 

ปัญหาและอุปสรรคในการถ่ายทำ

ส่วนใหญ่อุปสรรคคของหนังคือ “14 อีกครั้ง” มันเป็นหนังย้อนยุค แล้วเราดันเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่องรักที่ไม่มีคำว่ารัก หรือมีซีนโรแมนติกบ่อยๆ มันก็เลยกลายเป็นรักที่เป็นแอ็กชันยังไงก็ไม่รู้

การถ่ายทำบนถนนมันค่อนข้างยาก ยิ่งเป็นหนังพีเรียดด้วย หนังมันย้อนยุคไป 20  ปี เพราะฉะนั้นรถที่จะเข้าฉาก มันก็ต้องเป็นรถที่ในยุคนั้นเท่านั้น ต้องมีการกั้น มีการปิด ในขณะที่อารมณ์นักแสดงก็ต้องเล่นให้ถึง มันก็เลยค่อนข้างวุ่นวายใช้ได้อยู่กับหนังเรื่องนี้ ตอนแรกก็คิด เฮ้ย “14 อีกครั้ง” มันเป็นหนังย้อนยุค เล่าถึงเด็ก 14 ที่ย้อนกลับไปรีมายด์ตัวเองในอดีตง่ายๆ แต่ที่ไหนได้เหมือนหนังแอ็กชันเลย โดยเฉพาะโปรดิวเซอร์นี่บ่นอุบเลย (หัวเราะ) เรื่องนี้เลยเป็นหนังที่ริกรถเยอะมาก กั้นรถเยอะมาก ตำรวจเยอะมาก แล้วก็ซีนที่รู้สึกว่าชอบด้วยแล้วก็เป็นอุปสรรคมากเลยคือ ซีนที่ต้องมีการขี่มอเตอร์ไซค์

เราพูดถึงมอเตอร์ไซค์ก่อน คือเด็กต่างจังหวัดส่วนใหญ่ขี่มอเตอร์ไซค์เป็นนะ แต่เราแคสติ้งมาไม่มีใครขี่มอไซด์เป็นเลย มี “ณัฏฐ์” กับ “แฟร์รี่” ที่ขี่มอเตอร์ไซค์เป็นแต่ในเรื่องทั้งคู่ไม่ต้องขี่ แต่ที่เหลือต้องขี่มอเตอร์ไซค์เป็นหมด นั่นแหละเป็นเรื่องที่ยากเพราะต้องให้เขาไปเรียนขี่มอเตอร์ไซค์กัน แล้วไอ้การเรียนขี่มอเตอร์ไซค์เสร็จปุ๊ปแล้วมาเล่นหนังมันไม่ได้ขี่ง่ายไง เพราะมันไม่ได้ใช้บ่อยในชีวิตจริง เพราะฉะนั้นต้องเตรียมตัวให้ดีเวลาเด็กขี่มอเตอร์ไซค์ต้องระวังเขาจะล้ม พอล้มก็เป็นเรื่องแล้ว

ทีนี้ก็มีฉากที่เด็กๆ ขี่เข้ามาแล้วต้องเบรก แต่ดันไม่เบรกวิ่งเข้าใส่กล้องทุกคนแม้กระทั่ง “ณิชา” ในเรื่อง “กิ๊บ” จะต้องจอดรถท้ายกระบะ เขาก็ขี่มอเตอร์ไซค์วิ่งเข้าใส่กระบะ แล้วที่สำคัญคือทุกคนก็เฮ้ย…ตกใจ แต่ณิชาขำคงเพราะสนุกกับการที่ได้ขี่มอเตอร์ไซค์ อันนั้นเป็นเรื่องที่ยากแต่ก็ประทับใจด้วย แล้วคนต่างจังหวัดที่ขี่มอเตอร์ไซค์เวลาที่เขาช่วยกันพาไปเติมน้ำมัน หรือว่าเวลาไปซ่อมรถ เขาก็จะขี่รถเอาเท้ายันอีกคันเอาไว้ให้ไปได้ แล้วฉากนั้นถ่ายในตลาดขลุง วันนั้นคนเยอะ เราเริ่มถ่ายกันตั้งแต่เช้าจนจะเที่ยง เหมือนจะง่ายนะ แค่ณัฏฐ์นั่งมอเตอร์ไซค์ถีบรถที่ณิชาขี่อยู่อีกคัน แต่ทีนี้รถต้องเข้าโค้งด้วย ตีคู่กันไปก็จะล้มตลอด เบียดกันบ้าง กลัวว่าเขาจะล้มกัน ณัฏฐ์กับณิชาก็ไม่ยอมต้องถีบ ให้จูงก็ไม่เอา ให้เปลี่ยนเป็นจักรยานก็ไม่เอา ทั้งบิลด์ทั้งแกล้งสารพัดก็ไม่มีใครยอมกัน แต่สุดท้ายก็ทำได้ก็เกือบที่จะเกิดอุบัติเหตุ เพราะรถที่เข้าฉากเบียดเข้ามาในจังหวะที่เข้าโค้งพอดี กองถ่ายนี่ร้องเฮ้ย…กันลั่นถนน ต้องไปดูในหนังนะ เหมือนจะง่ายแต่ยาก และก็ประทับใจ

 

 

อุปสรรคมันทำให้มีเหตุการณ์คาดไม่ถึงบ้างไหม

ก็มีนะ ฉากที่เล่น “ผีถ้วยแก้ว” มันเป็นฉากที่เด็กทุกคนต้องไปเข้าค่ายภาษาอังกฤษ สมัยก่อนก็ไม่รู้ทำไมค่ายฤดูร้อนภาษาอังกฤษต้องไปจัดในวัด ซึ่งมันอาจจะเป็นเพราะว่าวัดให้สถานที่ฟรีเป็นที่พักสำหรับเด็กหลายคน แล้วก็ไอ้การที่เข้าค่ายในวัด เราต้องไปหาโลเคชันที่วัด แล้ววัดที่เราไปถ่าย เราไปเสิร์ช Google ก็คือว่าเป็นว่าที่น่ากลัวเป็นอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศอะไรแบบนี้เลยนะ เราก็อ้าว เออ…ไม่เป็นไร ก็แค่อย่าไปลบหลู่ก็แล้วกัน แต่ซีนที่เราไปถ่ายเป็นซีนเล่นผีถ้วยแก้ว  มันก็เกิดการทั้งหลอนทั้งกลัว แล้วในขณะถ่ายมีคนผีเข้าด้วย มีผู้หญิง 2 คนมาหน้าโบสถ์มายกมือไหว้ร้องโหยหวน จนเราต้องให้ทีมงานไปดู แล้วโปรดิวเซอร์ก็ไปดูให้นะ เพราะว่าเราทำต่อไม่ได้เสียงมันกวน ถ่ายกันจนดึกมากเลย เล่นผีถ้วยแก้วเอย วิ่งกรี๊ดกันอยู่ข้างโบสถ์เอย คือหลอนเลยละ วุ่นวายด้วยเพราะนักแสดงครบเลย

 

คนดูจะได้อะไรจาก “14 อีกครั้ง”

มีความสุข เราอยากให้ย้อนกลับไปในสมัยที่เราอายุ 14 กันอีกครั้งหนึ่ง เราลองย้อนกลับไปรีมายด์ เราเกิดความรักครั้งแรกตอนนั้นหรือเปล่า รักครั้งแรกตอนนั้นเราทำอะไร แล้วเรามีความสุขกับกลุ่มเพื่อน ไปร่วมผจญภัยร่วมกันไหม หรือเรามีประสบการณ์อะไรที่แตกต่างจากในหนัง เราอยากให้ทุกคนกลับไปคิดถึงในช่วงเวลานั้น แล้วทำให้ทุกคนสนุกกับชีวิต มีความกล้าหาญตัดสินใจอะไรในชีวิต เพราะเราว่าตอนอายุ 14 มันมีความกล้าหาญ มันมีความน่ารักมีเสน่ห์ในชีวิตมากสุดแล้วตอนที่เราเป็นเด็ก ก็อยากให้ผู้ชมมีความสนุกสนานกับหนังเรื่องนี้ “14 อีกครั้ง” ฉาย 12 ตุลาคมนี้ครับ

 

เตรียมต่อโมเด็มและออนเอ็มความทรงจำให้หัวใจวัย 14 ของคุณได้กลับมาคึกคักกันอีกครั้ง ในภาพยนตร์ที่จะพาคุณ Rewind ความคิดถึง 14 อีกครั้ง I Love You Two Thousand” 12 ตุลาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

14 อีกครั้ง I Love You Two Thousand

14 อีกครั้ง I Love You Two Thousand

“14 อีกครั้ง I Love You Two Thousand” ภาพยนตร์รอมคอมเรื่องล่าสุดจาก “สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล”...

รายละเอียดภาพยนตร์

Featured News