ความรักในอินเดียเป็นเรื่องการเมืองสุดๆ! คุยกับ “ปายาล คาปาเดีย” ผู้กำกับนิวเวฟแห่งอินเดีย ผู้นำ “All We Imagine as Light ที่ตรงนี้ยังมีหัวใจ” เข้าชิง 2 รางวัลลูกโลกทองคำ ฉายแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

ในตอนแรกของ “All We Imagine as Light” นั้นพาเราไปสัมผัสชีวิตใน “มุมไบ” ได้อย่างลึกซึ้งและงดงาม ไม่ว่าจะเป็นแสงไฟในเมือง ร้านค้า ร้านอาหารเล็กๆ รถไฟ รถบัส และรถไฟใต้ดิน หรือแม้กระทั่งชั้นใต้ดิน และยังมีฝนที่เหมือนจะตกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศโดยรวมของเรื่องด้วย คุณเป็นคนมุมไบโดยกำเนิดหรือเปล่า

ฉันเป็นคน “มุมไบ” แม้ฉันจะไม่ได้โตที่นี่มาตลอด แต่มุมไบคือเมืองที่ฉันคุ้นเคยมากที่สุด มุมไบมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง ผู้คนจากทั่วทุกมุมของ “อินเดีย” มาทำงานที่นี่ มันเป็นเมืองที่ค่อนข้างเปิดกว้างสำหรับผู้หญิงมากกว่าเมื่อเทียบกับหลายๆ เมืองในประเทศด้วย ฉันอยากเล่าเรื่องผู้หญิงที่ต้องออกจากบ้านมาทำงานที่อื่น และมุมไบก็คือที่ที่เหมาะที่สุดสำหรับเรื่องนี้ อีกแง่มุมหนึ่งของมุมไบที่ดึงดูดใจฉันคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ส่วนหนึ่งมาจากกระแสความเฟื่องฟูในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้ามายึดพื้นที่ที่ผู้คนอาศัยอยู่มานานหลายปี หลายคนไม่มีเอกสารที่ถูกต้องเพื่อยืนยันสิทธิ์การอยู่อาศัย ทำให้คนที่มีอำนาจสามารถเข้าครอบครองพื้นที่ได้ง่ายขึ้นไปอีก

พื้นที่หนึ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์คือบริเวณระหว่าง “โลเวอร์ปาเรล” ไปจนถึง “ดาดาร์” มันเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งโรงงานฝ้ายขนาดใหญ่จนถึงช่วงปี 1980 แต่เมื่อโรงงานเหล่านี้เริ่มปิดตัวลง หลายคนก็ต้องตกงาน ที่ดินเหล่านี้เดิมทีได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้แก่เจ้าของโรงงานในราคาถูก ดังนั้นเมื่อโรงงานปิดตัวลง การแบ่งปันที่ดินให้ครอบครัวของคนงานจึงเป็นเรื่องยุติธรรม แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาถูกโกงและพื้นที่นี้ก็ถูกเปลี่ยนเป็นคอนโดหรูและห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์แทน เจ้าของโรงงานได้รับผลประโยชน์มหาศาลขณะที่คนงานกลับไม่ได้อะไรเลย ถ้าคุณขับรถผ่านถนนเส้นนี้และมองไปยังสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่มันก็สามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์ทางสังคมและการเมืองได้แล้ว

 

ในฉากตลาด มีเสียงชายคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่าแม้เขาจะอยู่ใน “มุมไบ” มาหลายปี เขาก็จะไม่เรียกที่นี่ว่าบ้านหรอก เพราะเขารู้ว่าวันหนึ่งเขาอาจจะต้องจากไป

คนจำนวนมากที่มาทำงานใน “มุมไบ” มักไม่ได้พาครอบครัวมาด้วย พวกเขาได้เจอภรรยาและลูกแค่ปีละครั้ง ดังนั้นความรู้สึกของการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งที่พวกเขารู้สึกอยู่ตลอดเวลา แม้มุมไบจะเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยโอกาสทางการเงินที่ดีที่สุดสำหรับหลายคน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตที่นี่จะง่ายเลย

 

ในแง่ของการถ่ายทำแล้วเนี่ย คุณจัดการอย่างไรให้ภาพยนตร์ดูเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนี้จริงๆ

การถ่ายทำใน “มุมไบ” มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮินดีทั้งหมดอยู่ที่นี่ สิ่งที่เราทำคือถ่ายทำโดยใช้กล้องสองตัว กล้องหลักใช้สำหรับสถานที่ที่เราได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำ ส่วนกล้องตัวที่สองคือ Canon EOS C70 ขนาดเล็กที่ใช้งานได้ดีมาก ใช้ในสถานที่ที่เราไม่ได้รับอนุญาต เราจะทำทีว่ามาสำรวจสถานที่ถ่ายทำ นักแสดงให้ความร่วมมืออย่างมาก เพราะพวกเขาเคยแสดงในภาพยนตร์อินดี้มาก่อน กระบวนการทั้งหมดนี้จึงเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาก

 

 

คุณถ่ายทำในโรงพยาบาลจริงหรือเปล่า

ฉันมีผู้ช่วยหาสถานที่ที่ยอดเยี่ยมชื่อ “Kishor Sawant” เขาขึ้นชื่อเรื่องการหาสถานที่น่าทึ่งใน “มุมไบ” และเขายังเคยทำงานในหนังอาร์ตสำคัญๆ หลายเรื่องอีกด้วย เขามักจะหาสถานที่ที่สะท้อนความเป็นเมืองได้อย่างแท้จริง และยังไม่ค่อยมีใครเห็นบนจอภาพยนตร์มากนัก เขาพบโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่กำลังจะถูกรื้อถอนในอีกไม่กี่เดือน อุปกรณ์การแพทย์ทั้งหมดภายในยังคงอยู่ครบจึงทำให้เราใช้สถานที่นี้ได้เป็นอย่างดี อะพาร์ตเมนต์ในเรื่องก็เช่นเดียวกัน เราใช้ตึกที่เป็นโครงการบ้านราคาประหยัดซึ่งกำลังจะถูกรื้อถอน และสร้างอะพาร์ตเมนต์ของ “ประภา” (คานี คุสรุตี) และ “อนุ” (ดิวยา ประภา) ขึ้นที่นั่น

 

น่าแปลกใจมากที่พาร์ตสองของ “All We Imagine as Light” กลับไม่ได้เกิดขึ้นใน “มุมไบ” แต่เป็นที่ชายทะเล

พาร์ตที่สองเกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตชายฝั่งของ “Ratnagiri” ในอดีตผู้คนจำนวนมากจากภูมิภาคนี้เดินทางไป “มุมไบ” เพื่อทำงานในโรงงานฝ้าย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ที่เป็นฉากในส่วนแรกของเรื่อง (“โลเวอร์ปาเรล” และ “ดาดาร์” ) แต่เมื่อโรงงานฝ้ายปิดตัวลง ผู้คนต้องเผชิญความลำบากในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ในช่วงเวลานั้นเอง ผู้หญิงหลายคนซึ่งสามีสูญเสียรายได้จากอาชีพเดิมและต้องลุกขึ้นมาสนับสนุนครอบครัวของพวกเธอ ผู้หญิงเหล่านี้จำนวนมากมาจากภูมิภาค “Raigad” และ “Ratnagiri”

 

พยาบาลสองคนที่แชร์อะพาร์ตเมนต์กันอย่าง “อนุ” และ “ประภา” มาจากเขต “Ratnagiri” ด้วยหรือเปล่า

“อนุ” และ “ประภา” มาจาก “รัฐเกรละ” ทางตอนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งที่ผู้หญิงจำนวนมากที่มาทำงานในมุมไบจากมา อาชีพพยาบาลในรัฐเกรละเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงและผู้หญิงที่เลือกทำงานนี้มักได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ถึงแบบนั้นผู้หญิงที่มาทำงานใน “มุมไบ” จำนวนมากก็ยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แม้ว่าครอบครัวจะอยู่ห่างออกไปก็ตาม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นความจริงที่พบได้ในผู้หญิงแทบทุกคนในประเทศนี้ แม้พวกเธอจะมีอิสระทางการเงิน แต่ก็ยังคงมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับครอบครัวที่บ้าน ครอบครัวยังคงควบคุมกฎเกณฑ์ทางสังคมและการตัดสินใจส่วนตัว เช่นเรื่องที่ว่าพวกเธอต้องรักหรือแต่งงานกับใคร

 

 

“สามีของประภา” อาศัยอยู่ใน “เยอรมนี” และดูเหมือนว่าเธอจะไม่ได้ยินข่าวคราวจากเขามากนัก สถานการณ์แบบนี้นับเป็นเรื่องปกติไหม

“คนอินเดีย” จำนวนไม่น้อยแสวงหาโอกาสการทำงานในต่างประเทศ ในทุกๆ รัฐโดยเฉพาะรัฐที่มีชายฝั่งมักมีประวัติศาสตร์การอพยพแรงงานมายาวนานหลายศตวรรษ เช่นเดียวกับ “สามีของประภา” ซึ่งใฝ่ฝันที่จะทำงานต่างประเทศเพราะค่าตอบแทนที่สูงกว่า ผู้คนจาก “รัฐเกรละ” จำนวนมากมักเดินทางไปทำงานในตะวันออกกลางแต่ก็ไม่ได้จำกัดแค่ที่นั่นเท่านั้น เช่นเดียวกับ “มุมไบ” ผู้ชายมักจะเป็นฝ่ายเดินทางไปต่างประเทศและทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลัง

 

เราควรจะเชื่อไหมว่า “สามีของประภา” จะกลับมาหาเธอในท้ายที่สุด

อาจจะเคยมีสัญญาไว้ในช่วงหนึ่งว่าเขาจะกลับมาหรือพยายามหางานให้เธอที่ “เยอรมนี” แต่ดูเหมือนว่าเขาจะหายไปจากชีวิตของ “ประภา” และเจตนาของเขายังคงคลุมเครือในสายตาของพวกเรา ในความเป็นจริงแล้ว ประภาเองก็ไม่อยากได้ยินข่าวจากเขาเท่าไหร่นัก เมื่อเธอได้รับหม้อหุงข้าว ซึ่งสามารถตีความได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตครอบครัว ทุกอย่างดูเหมือนจะพังทลายลงสำหรับเธอและเธอก็ผลักหม้อหุงข้าวออกไป ประภาเป็นคนที่ซับซ้อน เธอชัดเจนว่าชอบที่จะเป็นที่พึ่งของผู้อื่น เธอพยายามช่วย “ปารวตี” ให้รักษาอะพาร์ตเมนต์ของเธอไว้ ที่โรงพยาบาลเองเธอก็ใจดีกับหญิงชราที่มีอาการหลอนเช่นกัน อีกทั้งเธอยังจ่ายค่าเช่าส่วนของ “อนุ” อีกด้วย เธอเหมือนนางฟ้าในชุมชนของเธอเลย แต่ในขณะเดียวกันเธอก็เข้มงวดเล็กน้อยด้วย เธอไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของตัวเองเท่าไรนัก

 

“อนุ” มาจาก “รัฐเกรละ” ด้วยใช่ไหม

ใช่แล้ว “อนุ” มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างเคร่งครัด เธอเป็นคนที่มีความเป็นกบฏในตัวเอง เธอแสดงออกทั้งตัวตนและเรื่องเพศของเธอมากกว่า “ประภา” และมากกว่าแฟนของเธอเองเสียอีก

 

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเกี่ยวกับมิตรภาพของผู้หญิงเหล่านี้ด้วย

มิตรภาพระหว่างผู้หญิงทั้งสามในเรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน แต่ละคนมีข้อบกพร่องและไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป ฉันสนใจที่จะสำรวจความสัมพันธ์ที่ไม่มีคำนิยามชัดเจนแบบนี้ เมื่อเราโตขึ้นนั้น เพื่อนมักกลายเป็นระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่งสำหรับเรา บางครั้งแข็งแกร่งกว่าครอบครัวเสียอีก โดยเฉพาะเมื่อเราต้องใช้ชีวิตไกลบ้าน ความสัมพันธ์แบบนี้เป็นสิ่งที่ฉันอยากสำรวจในภาพยนตร์เรื่องนี้

 

นักแสดงทั้งสามคนสุดยอดเลย ทั้งแข็งแกร่งและอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน คุณเลือกพวกเธอมาแสดงได้อย่างไร

เราคัดเลือก “ประภา” ก่อน เธอชื่อ “คานี คุสรุติ” ซึ่งแสดงในหนังอาร์ตหลายเรื่อง ฉันคิดถึงเธอตั้งแต่ตอนเขียนบทแล้วละ เธอมีพื้นฐานทางการแสดงละครเวทีและมีความหลากหลายในการแสดงมาก เราทำงานร่วมกันก่อนถ่ายทำ โดยการอ่านบทกับนักแสดงคนอื่นๆ ค้นหาไอเดียใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนบทพูด แม้ว่าฉันจะพูด “ภาษาฮินดี” และ “มราฐี” ได้ แต่ฉันไม่ถนัด “ภาษามาลายาลัม” เลย การกำกับในภาษาที่ไม่คล่องนั้นยาก เพราะต้องอาศัยการตีความท่าทางมากมาย การทำงานกับคานีช่วยให้ฉันเข้าใจตัวละคร บริบททางสังคม และภาษาได้มากขึ้น

นักแสดงที่รับบท “อนุ” คือ “ดิวยา ประภา” เธอมาจาก “รัฐเกรละ” ซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินดี้กำลังเฟื่องฟูมาก เธอเป็นนักแสดงนำในเรื่อง “Ariyippu” (2022) ที่ได้รับเลือกให้ฉายใน “เทศกาลภาพยนตร์โลการ์โน” เมื่อสองปีก่อน ดิวยามีความเข้มแข็งและมีพลังในตัว เธอทุ่มเทให้กับบทบาทอย่างมากเลย

ส่วน “ปารวตี” แสดงโดย “ชายา กาดัม” ซึ่งเป็นนักแสดงที่มีประสบการณ์สูง เธอเคยแสดงทั้งในภาพยนตร์อินดี้และภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ด้วย เธอมักจะรับบทเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง เธอเองก็มาจาก “Ratnagiri” หมู่บ้านของเธออยู่ไม่ไกลจากสถานที่ถ่ายทำ เธอจึงเข้าใจบริบทและประวัติศาสตร์ของการเดินทางเข้ามาใน “มุมไบ” เพื่อหางานแต่ไม่สำเร็จเสมอไป

 

 

คุณถ่ายทำเมื่อไหร่

เราถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสองช่วง ช่วงแรกถ่ายใน “มุมไบ” ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2023 ในช่วงมรสุมหนัก “เทศกาล Ganapati” ที่ปรากฏกลางเรื่องถือเป็นตัวแบ่งเริ่มต้นพาร์ตที่สอง หลังจากนั้นเราหยุดพักเพื่อรอให้ฤดูกาลเปลี่ยนไป พาร์ตสองถ่ายในเดือนพฤศจิกายน ที่ชายฝั่งตะวันตกของอินเดียมีเพียงสองฤดูคือฤดูมรสุมและฤดูที่ไม่มีมรสุม ฉันอยากได้ความรู้สึกของสภาพอากาศที่แตกต่างกัน ในส่วนที่สองของเรื่องซึ่งถ่ายทำที่ “Ratnagiri” ทิวทัศน์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากฤดูมรสุมหมดลง ทุ่งหญ้าเขียวชอุ่มเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าแห้งและพื้นดินสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ของ “Ratnagiri” ก็เผยออกมาให้เห็น ฉันตั้งใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อสะท้อนสีสันและอารมณ์ที่แตกต่างกันของพื้นที่ทั้งสองในสองฤดูกาล

 

กระบวนการตัดต่อเริ่มระหว่างช่วงพักการถ่ายทำหรือเปล่า

ใช่แล้ว เราทำการตัดต่อคร่าวๆ ไว้ก่อนน่ะ ฉันชอบทำงานแบบนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากประสบการณ์ในการทำภาพยนตร์สารคดีหรือแนวไม่ใช่เรื่องแต่ง (Non-Fiction) การสร้างภาพยนตร์สารคดีนั้น คุณสามารถถ่ายทำไป ตัดต่อไป ดูว่าขาดอะไร แล้วกลับไปถ่ายเพิ่มเติมได้ แม้ว่ากับภาพยนตร์เรื่องแต่งจะทำแบบนี้ไม่ได้ทั้งหมดด้วยข้อจำกัดหลายอย่างแต่ฉันชอบนำกระบวนการนี้มาใช้ เหล่านักแสดงนำสิ่งใหม่ๆ มาสู่ตัวละคร สถานที่ต่างๆ รวมถึงสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยเช่นกัน ในระหว่างตัดต่อครั้งแรกนั้นฉันค้นพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงสามคนในเรื่องนั้นแข็งแกร่งกว่าที่ฉันคิดไว้มาก ฉันจึงอยากเพิ่มสิ่งนี้เข้าไปในส่วนที่สอง ฉันต้องการให้ “ประภา”, “อนุ” และ “ปารวตี” ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น และการได้ทำงานกับพวกเธอ มันเหมือนเปลวไฟที่จุดประกายความสดใหม่ทุกครั้งเลยที่พวกเธออยู่ด้วยกัน

แม้ว่า “All We Imagine as Light” จะเป็นภาพยนตร์เรื่องแต่งเรื่องแรกของฉัน แต่มันสำคัญมากที่ภาพยนตร์เรื่องแต่งและสารคดีจะอยู่ร่วมกันได้ สิ่งที่ฉันพยายามทำคือการนำวิธีการของสารคดีมาปรับใช้กับภาพยนตร์เรื่องแต่ง ฉันคิดว่าการผสมผสานระหว่างสองสิ่งนี้น่าสนใจมาก และฉันเชื่ออย่างยิ่งเลยว่ามันช่วยทำให้สารคดีกลายเป็นเรื่องแต่งมากขึ้น และทำให้เรื่องแต่งดูเหมือนสารคดีมากขึ้นอีกด้วย

 

ภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าของคุณ “A Night of Knowing Nothing” (2021) ซึ่งเป็นทั้งเรื่องราวความรักและภาพสะท้อนการประท้วงของนักศึกษา มีความเป็นการเมืองในลักษณะที่ตรงไปตรงมา แล้วคุณจะอธิบายภาพยนตร์เรื่องนี้ในแง่มุมดังกล่าวว่าอย่างไร

“All We Imagine as Light” อาจไม่ได้เป็นการเมืองในแบบตรงไปตรงมาเหมือนเรื่องก่อน แต่ฉันคิดว่าทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองในระดับหนึ่งนะ ความรักใน “อินเดีย” เป็นเรื่องการเมืองแบบสุดๆ ดังนั้นฉันคงไม่บอกหรอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีความเป็นการเมืองเลย ใครที่คุณสามารถแต่งงานด้วยได้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากในอินเดีย มีทั้งปัญหาเรื่องวรรณะและศาสนาซึ่งกำหนดวิถีชีวิตของคุณมากๆ และผลกระทบที่ตามมา ความรักที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในธีมหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถือเป็นประเด็นที่มีความเป็นการเมืองสูงเช่นกัน

 

 

“All We Imagine as Light” มีทั้งโปรดิวเซอร์ชาว “ฝรั่งเศส” และ “อินเดีย” ร่วมกันใช่ไหม

ใช่แล้วล่ะ โปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศสของฉันคือ “Petit Chaos” เราทำงานร่วมกันมาห้าหรือหกปีแล้ว รวมถึงใน “A Night of Knowing Nothing” ด้วย เราเริ่มพัฒนา “All We Imagine as Light” ตั้งแต่ปี 2019 การระดมทุนสำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นเรื่องที่ใช้เวลานานมากเหมือนกับการวิ่งมาราธอนเลย ในระหว่างนั้นเราก็เลยสร้าง “A Night of Knowing Nothing” ขึ้นมา ส่วนโปรดิวเซอร์ชาวอินเดีย “Chalk and Cheese Films” คุ้นเคยกับการถ่ายทำใน “มุมไบ” มาก แต่เช่นเดียวกันกับฉัน พวกเขาก็ไม่เคยเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่องยาวมาก่อน มันเป็นประสบการณ์ที่ดีที่เราทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน

 

คุณจะอธิบายการเป็น “ผู้กำกับหญิง” ใน “อินเดีย” ปี 2024 ว่าอย่างไร

ฉันไม่แน่ใจว่านั่นนิยามตัวฉันได้ทั้งหมด ใน “อินเดีย” น่ะนะ เพศไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่กำหนดโอกาสหรือข้อเสียเปรียบ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ฉันเป็นผู้หญิงก็จริง แต่ฉันมาจากวรรณะที่มีอำนาจและชนชั้นที่มีสิทธิพิเศษดังนั้นหลายสิ่งจึงง่ายกว่าสำหรับฉัน เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ไม่ได้รับโอกาสแบบเดียวกัน การสร้างภาพยนตร์โดยเฉพาะภาพยนตร์อินดี้ที่พยายามเข้าสู่เวทีเทศกาลภาพยนตร์นั้นเป็นเรื่องยากสำหรับทุกคน เพราะไม่มีเงินมากในสายนี้ ฉันรู้สึกขอบคุณระบบสนับสนุนในยุโรปมากๆ ที่ช่วยให้เรามีโอกาส แต่กลับมาที่คำถามของคุณนะ ฉันไม่ค่อยมองว่าตัวเองเป็นผู้กำกับหญิงที่ไม่ได้รับโอกาสเพราะเรื่องเพศ ฉันได้รับโอกาสมากมายจากสิทธิพิเศษด้านอื่นๆ ของฉันต่างหาก

 

ความรักของฉันอยู่ตรงนั้นเสมอ “All We Imagine as Light ที่ตรงนี้ยังมีหัวใจ” ฉายแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

All We Imagine as Light ที่ตรงนี้ยังมีหัวใจ

All We Imagine as Light ที่ตรงนี้ยังมีหัวใจ

ในทุกความเหงาจะมีหัวใจรออยู่ตรงนั้นเสมอ “All We Imagine as Light ที่ตรงนี้ยังมีหัวใจ” ภาพยนตร์อินเดียที่ดีที่สุดในปีนี้ เจ้าของรางวัล “กรังปรีซ์”...

รายละเอียดภาพยนตร์

Featured News