จุดเริ่มต้นในการเข้ามากำกับโปรเจกต์นี้
ตู้: ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ “พี่โอ๋” (จาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ – โปรดิวเซอร์) และทาง “สหมงคลฟิล์มฯ” ที่ให้โอกาส “สตูดิโอ คำม่วน” ได้มาร่วมทำโปรเจกต์นี้ ขอบคุณ “พี่มะเดี่ยว” (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล – โปรดิวเซอร์) ที่ส่งต่อโอกาสนี้ให้พวกผมได้ทำหน้าที่กำกับตอนหนึ่งใน “เทอม 3″
นัทสอ: ด้วยความที่ตอน “ขบวนแห่” เป็นเรื่องราวที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นล้านนา เหตุการณ์เรื่องราวเกิดขึ้นที่ภาคเหนือ พี่โอ๋ก็สนใจอยากจะให้พี่มะเดี่ยวทำ พอดีกับที่พี่มะอยากให้พวกเราลองมากำกับหนังโปรเจกต์ใหญ่ๆ ดูบ้าง พี่มะเองก็อยากออกมาเป็นโปรดิวเซอร์ด้วย พวกเราตัวน้อยๆ ก็เลยได้มีโอกาสได้ทำเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นโปรเจต์ที่ค่อนข้างใหญ่สำหรับเราสองคน
เรื่องราวของตอน “ขบวนแห่”
นัทสอ: สำหรับในพาร์ต “ขบวนแห่” ที่เราทำนะครับ มันเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของ “ก้อย” (อุ้ม อิษยา) กับ “ฮ่องเต้” (ตาต้า ชาติชาย) เด็กอีสานที่ไปเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยทางภาคเหนือด้วยกัน ทั้งสองมีความเป็นเฟรนด์โซนแต่ลึกๆ ก้อยก็แอบชอบฮ่องเต้ แต่ฮ่องเต้เองมีปมในใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการที่จะเลื่อนสถานะจากเพื่อนมาเป็นแฟน เขาจะมีกำแพงบางอย่างเกิดขึ้นอยู่เสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งอยู่ๆ ทุนการศึกษาที่ทั้งคู่ขอเอาไว้กลับถูกตัดเหลือแค่ทุนเดียว และก้อยเองก็มีปัญหาทางการเงินและทางบ้าน ฮ่องเต้เห็นก้อยไม่สบายใจ เลยชวนก้อยให้ไปลองบนบานขอพรที่ศาลเจ้านางริมแอ่งน้ำกัน ซึ่งศาลเจ้านางแห่งนี้ก็มีตำนานเล่าต่อๆ กันมาว่าถ้าเกิดใครที่เป็นคู่รักกันมาขอพรก็จะได้พรตามคำขอ แต่ถ้าใครที่ไม่ใช่คู่รักกันแล้วไปขอจะต้องมีใครสักคนตาย แต่ด้วยความที่ฮ่องเต้ไม่เชื่อเรื่องพวกนี้และอยากช่วยให้ก้อยสบายใจก็เลยพากันไป และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทั้งคู่จะต้องเผชิญกับสิ่งที่ไปลบหลู่เอาไว้จนเกิดเป็นเรื่องราวสุดหลอนขึ้น
บทบาท-คาแร็กเตอร์
ตู้: “ฮ่องเต้” รับบทโดย “ตาต้า-ชาติชาย ชินศรี” นักศึกษาคณะศิลปกรรม เอกออกแบบ เป็นผู้ชายขี้เล่นขี้แซว ผู้หญิงก็เลยจะชอบเขา เหมือนพวกหล่อมักนกตลกมักได้ ไม่มีความเชื่อเรื่องลึกลับเรื่องตำนานอะไรทั้งนั้น ชอบทำกิจกรรมคณะเพื่อใช้เป็นโพรไฟล์ในการขอทุนจึงมีความเป็นผู้นำ เขาเลยได้รับหน้าที่เป็นประธานจัดงานเดินขบวนเสลี่ยงของคณะ มีความเป็นสุภาพบุรุษและห่วงใยเพื่อน โดยเฉพาะกับ “ก้อย” เพราะเป็นคนบ้านเดียวกันที่มาเรียนต่างถิ่นด้วยกัน
ส่วน “ก้อย” ก็รับบทโดย “อุ้ม-อิษยา ฮอสุวรรณ” เป็นนักศึกษาคณะศิลปกรรม เอกแฟชั่น ก็จะมีความใส่ใจกับรายละเอียดหน่อย มีความเชื่อในด้านมูเตลู มีปัญหาทางการเงินของที่บ้านเลยต้องขอทุนเรียน และก้อยก็แอบชอบฮ่องเต้เพราะฮ่องเต้คอยดูแลและเป็นที่พึ่งพาให้กับก้อย ทำให้ก้อยไม่รู้สึกโดดเดี่ยวทั้งๆ ที่มาเรียนต่างที่ต่างถิ่น และก้อยก็จะเป็นคนที่คอยซัปพอร์ตฮ่องเต้อยู่เสมอเช่นกัน
ที่มาที่ไปของเรื่องนี้
นัทสอ: ไอเดียแรกเริ่มของบทมาจาก “พี่บูรณ์” (ธนบูรณ์ นันทดุสิต) และ “พี่เบียร์” (เอกราช มอญวัฒ) ทีมเขียนบทที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องของ “ขบวนแดง” ตำนานดังจากมหา’ลัยหนึ่งทางภาคเหนือกับ “การแห่นางแก้ว” เอามาผสมผสานกัน มาตอนหลัง “พี่มะเดี่ยว” (โปรดิวเซอร์) ก็อยากจะปรับบทบางส่วนเพื่อจะให้มันมีซีนบางอย่างให้คนดูได้จำ พี่มะก็เลยให้ผมลองปรับบทดูโดยที่มีพี่ๆ ทีมเขียนบทเรื่องนี้คอยไกด์และให้คำแนะนำ เสนอไอเดีย และแอปพรูฟให้ ต้องการอะไรเพิ่มเติมตรงไหนบ้าง ช่วงแรกๆ ก็จะขรุขระนิดหน่อย เพราะมันมีความยากมากขึ้น แล้วทีมผู้กำกับก็ต้องหาคีย์วิชวลมาซัปพอร์ตสิ่งที่ต้องการให้ได้
ภาพความสยองโดยรวมในเรื่องนี้เป็นยังไงบ้าง
ตู้: มีสิ่งหนึ่งที่ “พี่มะเดี่ยว” คอยพูดกับพวกเราเสมอคือถ้าจะไปก็ไปให้สุด ผมก็เลยเอาคำว่าสุดของพี่มะมาใช้ โดยเพิ่มดีกรีของความสยดสยองมากขึ้นในหนังของเรา ปกติหนังผีทั่วไปเราจะเห็นว่ามีผีมาหลอก โผล่มาหลอน แต่เรื่องนี้จะมีความดิบ เลือด การตัด การเฉือนที่เราพยายามทำให้มันสมจริง มีความน่ากลัว รับรองความสะพรึง ความหวาดเสียวสยอง
นัทสอ: ยิ่งไปกว่านั้นคือหนังผีส่วนใหญ่ผีจะออกมาตอนกลางคืนใช่ไหม แต่พี่มะกับพี่ตู้เสนอว่าเราลองเอาผีออกมาตอนกลางวันแสกๆ ดูบ้างมั้ย ให้มันหลอนกับตอนกลางวันไปเลย ผีระดับเจ้านางและแรงอาฆาต มันคือระดับที่ไม่ได้เกรงกลัวอะไรแล้ว อยากมาต้องมา ที่ไหนตรงไหนก็ได้ ก็จะมีความแปลกใหม่ตรงนี้ด้วย
แล้วขบวนแห่ของผีเจ้านางมีการดีไซน์ความน่าสะพรึงกลัวไว้ยังไง
นัทสอ: พอเรารู้แล้วว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับขบวนแห่แบบล้านนา เราก็เริ่มต้นหา Reference ไปถามคนที่มีความรู้ด้านล้านนาโดยเฉพาะ การแต่งตัวของเจ้านางมีลักษณะอย่างไร และขบวนแห่จะต้องมีการจัดวางองค์ประกอบยังไงบ้างเพื่อให้มันสมจริงที่สุด เสื้อผ้าเป็นแบบไหน แล้วเราจะเติมให้มันแฟนซีขึ้นได้อีกขนาดไหน เติมความหลอนให้กับขบวนนี้ยังไง และก็อยากได้แบบชนิดที่ว่าหาดูไม่ได้ทั่วไป ให้มันมีทั้งกลิ่นอายของภาคเหนือ และเหนือไปกว่าความเป็นจริง หลักๆ เลยคือหาเรฟฯ เอาไว้ก่อนเยอะมาก
ตู้: แล้วเราจะมีเครื่องตีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “กังสดาล” (ระฆังโบราณ) ตอนที่รีเสิร์ชก็อยากจะรู้ว่าเครื่องดนตรีชนิดไหนที่ดูหลอน หนังหลายๆ เรื่องเขาชอบใช้เป็นปี่แน แต่ว่าเรารู้สึกว่าใช้กันเยอะ เราก็เลยใช้เป็นกังสดาลแทน เพราะว่ารู้สึกว่าเสียงของมันเป็นเสียงที่ก้องกังวาน แล้วมันดังเข้าไปในหู เวลาเราตีมันจะติ๊ง แล้วมันจะยาวไปเรื่อยๆ จนเหมือนเสียงยังอยู่ในหัว เหมือนเราต้องมนตร์สะกดของเจ้านาง ทุกคนต้องอยู่ในการควบคุมของเจ้านาง ก็เลยใช้เครื่องดนตรีเข้ามาผสมผสานด้วย เราพยายามดีไซน์ความสยองในทุกฝีก้าวที่เจ้านางเดินไปเลย
ซีนไฮไลต์ของเรื่องมีซีนไหนน่าจดจำบ้าง
นัทสอ: จริงๆ ซีนจำสำหรับนัทก็จะมี 3 ซีนใหญ่ๆ ต้น กลาง จบ อย่างซีนเปิดเราก็จะเห็นความยิ่งใหญ่ของประเพณีทางภาคเหนือที่เราไปถ่ายมาจากงานจริงเลย มีขบวนแห่ของจริง มีบรรยากาศของล้านนาชัดเจน และเป็นฉากที่เปิดให้เห็นถึงอิทธิฤทธิ์ของเจ้านางที่จะต้องเกิดขึ้น
ตู้: อีกซีนก็คือที่โรงเลื่อย เราดีไซน์ให้มันมีความหลอน มีความหวาดเสียวได้โดยที่ผีไม่ได้โผล่ออกมา แต่สามารถทำให้มันเกิดความหลอนได้
นัท: กับอีกซีนคือซีนจบ อันนั้นคือขั้นสุดของอิทธิฤทธิ์เจ้านางจะทำอะไรได้บ้างกับคนที่มาลบหลู่ มันมีความน่ากลัวสยอดสยอง และตอนที่ถ่ายทำมันเป็นจังหวะ Magical Moment อยู่ๆ แสงมันก็เปลี่ยนจากที่กำลังโพล้เพล้ตอนเย็นเข้าสู่ซีนกลางคืนแบบที่พวกเราก็ไม่คาดคิด แล้วมันกลับได้ความน่ากลัวในตอนนั้นจริงๆ บรรยากาศมันส่งกันไปหมด มันเลยมีความหลอนในตอนถ่ายทำด้วย
“พี่มะเดี่ยว” (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล – โปรดิวเซอร์) คอยแนะนำดูแลยังไงบ้าง
นัทสอ: อย่างของผม “พี่มะ” จะสอนว่าแต่ละจุดจะต้องมีอะไรให้คนดูได้ลุ้นระทึก แต่นอกจากการลุ้นระทึกแล้วตัวคาแร็กเตอร์ ความรู้สึกอารมณ์ การพรีเซนต์ของนักแสดง มันต้องสื่อสารออกมาด้วย ไม่ใช่เราโฟกัสแค่เรื่องความหลอน ความน่ากลัว การนึกคิดการกระทำของตัวละคร ทำไมเขาถึงทำอย่างนี้ มันต้องมีเหตุผลเพื่อที่ว่ามันจะได้สมจริง แล้วเราจะเข้าใจเขาได้ในที่สุดว่าทำไมตัวละครแต่ละตัว ถึงตัดสินใจแบบนี้
ตู้: ก็ต้องขอบคุณพี่มะ คือแกใจดีมากๆ แล้วแกก็ช่วยเราทำมาตั้งแต่ขั้นตอนการทำบท การหานักแสดง การเลือกโลเคชัน วันออกกองเขาก็มาช่วยอยู่ในกองด้วย คอยแนะว่าลองทำแบบนั้นไหม หรือจะลองแบบอื่นดู พี่มะจะคอยแนะนำพวกผมตลอด เป็นอาจารย์คนหนึ่งเลย ส่วนของอารมณ์ตัวละคร พี่มะก็จะบอกว่าหัว กลาง จบ มันควรจะไปในทิศทางไหน แกจะคอยไกด์แนวทางให้เสมอ และย้ำให้รักษาคาแร็กเตอร์ของหนังที่มันควรจะเกิดขึ้นด้วย คุมคุณภาพงานทั้งหมดเอาไว้ให้ได้
นัทสอ: เป็นเหมือนพี่ชาย เจ้านาย แล้วก็เป็นครูที่สอนทุกอย่างด้วย
การคัดเลือกนักแสดง ทำไมถึงเลือก “ตาต้า ชาติชาย” และ “อุ้ม อิษยา” มารับบทนำในเรื่องนี้
นัทสอ: จริงๆ ในตอนแรกที่มองภาพของ “ฮ่องเต้” ไว้จะเป็นผู้ชายที่หล่อและคารมดีด้วย จีบสาวที่ไหนก็ติด มีหลายคนนะที่มองเอาไว้ แต่สุดท้ายพี่มะก็ลองเสนอ “ตาต้า” มา ถ้าคาแร็กเตอร์แบบตาต้าล่ะ คนดูจะเชื่อด้วยว่าเป็นคนอีสาน ตาต้าเองก็มีความหว่านเสน่ห์ได้ เป็นอีกไทป์หนึ่งที่กวนๆ ก็มีความน่าสนใจดี แล้วก็จริงคือพอเป็นพี่ตาต้าเราก็ได้เซนส์อะไรบางอย่าง เขาเป็นคนที่เล่นมุกเป็นกันเองกับทุกคนได้ง่ายดาย อย่างวันแรกที่เรานัดเจอกันเพื่ออ่านบท เขาก็สามารถทำให้บรรยากาศมันคลายเครียดไปได้หมดเลย เป็นคนที่เหมือนคอยละลายพฤติกรรมของนักแสดงคนอื่นๆ ไปด้วย พอพี่ตาต้ามาทุกอย่างก็ดูโฟลว์ไปหมด ต่อมุกกันสนุกสนาน ตอนทำงานก็ยังสนุกและตลก มีเสน่ห์มากครับ
ตู้: พี่ตาต้าทำให้ในหมู่นักแสดงรู้จักและคุยเป็นกันเองได้ภายในแวบแรกที่เจอเลย เราขออะไรไปก็ทำให้ได้เลย ถึงเวลาจริงจังเขาก็จริงจังมาก
นัทสอ: มีฉากหนึ่งที่ต้องใช้อารมณ์มากๆ ในการพรีเซนต์ตัวละครออกมา เขาจะอยู่กับตัวเอง เขาไม่เล่นกับใครเลยแล้ว เขาก็นั่งทำอารมณ์ให้เข้าใจในตัวละคร เลยรู้สึกว่าพี่ตาต้าเขามีความเป็นมืออาชีพ เป็นนักแสดงที่ดีจังเลย และช่วยเราได้เยอะมาก
ด้วยทางมุกของ “ตาต้า” ไม่ได้ลดความสยดสยองของเรื่องไปใช่ไหม
ตู้: ผมว่ามันช่วยทำให้ดีขึ้นมากกว่าครับ เพราะว่าคาแร็กเตอร์ของเขามันทำให้ทุกอย่างดูกลมกล่อม แล้วพอเข้าฉากกับ “อุ้ม อิษยา” มันเป็นเคมีที่ลงตัว เวลาเขาอยู่ด้วยกันเขาจะใช้ภาษาเดียวกัน สื่อสารกันด้วยภาษาอีสาน มันก็ยิ่งดูลื่นไหล ทำให้เชื่อได้ง่ายขึ้นว่าทั้งสองคนนี้สนิทกันจริงๆ
นัทสอ: คือเรื่องนี้เราไม่ได้ขายแค่ความ Horror อย่างเดียว แต่มันมีทั้งความโรแมนติกคอมเมดี้ด้วย มีดราม่า มีทะเลาะกัน ตลกใส่กัน เคมีของพี่อุ้มกับพี่ตาต้า มันก็ทำให้หนังได้พรีเซนต์ตรงส่วนนี้ออกมาด้วย บรรยากาศของเรื่องก็เลยกลมกล่อมขึ้น
ตู้: ส่วนของอุ้ม เรื่องการแสดงเขานี่กินขาดเลย ผมติดตามผลงานน้องมาประมาณหนึ่ง พอได้อุ้มมาเล่นจริงๆ ก็ไม่ผิดหวัง แสดงดีมาก บางฉากเล่นได้ถึงอารมณ์ เขาเก็บดีเทลให้เราได้ครบทุกเม็ด เล่นมีภูมิหลัง เล่นมีเลเยอร์ ภาพทุกอย่างมันก็ชัดขึ้น
นัท: พี่อุ้มเล่นได้ลึก เขาพรีเซนต์ออกมาได้หลายเวย์จนเรารู้สึกว่าดีจังเลย เรามีมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย สายตาที่เขามอง เขาทำเพื่อผู้ชายคนหนึ่งที่เขารักมาตลอด สื่อสารออกมาได้ดีมากเลยครับ
ในเรื่องต้องพูดภาษาอีสานกับเหนือด้วย
ตู้: ตรงนี้พวกเราดีไซน์ทำการบ้านกันมาแต่แรกแล้ว เราได้นักแสดงตัวหลักเป็นคนอีสานมา เราก็ลองให้เขาพรีเซนต์ออกมาเป็นภาษาเขาเลย มันก็ดูเข้ากันมาก พวกเราและนักแสดงก็ตกลงกันว่าเวลาที่ “ก้อย” กับ “ฮ่องเต้” คุยกันก็เป็นภาษาถิ่นของตัวเองไป
นัทสอ: เหมือนคนพลัดถิ่น 2 คนที่มาอยู่ด้วยกันในสถานที่ใหม่ มันก็จะทำให้เขารู้สึกว่า เราเป็นคนบ้านเดียวกัน เรามีอะไรเราคุยกันได้ มันทำให้เขาเหมือนสนิทกันไปโดยปริยาย แล้วเรารู้สึกว่าเขาเก่งด้วย เพราะตอนอ่านบท บทก็เขียนเป็นภาษากลางแต่เขาเปลี่ยนมันได้ในหัวเลย
ตู้: เหมือนเขามีทรานสเลตในตัว
นัท: เขาอิมโพรไวส์ออกมาเลย มันต่อเติมได้จากไดอะล็อก เราไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่เรารู้สึกว่าโอเคนี่แหละมันใช่ เพราะมันเป็นสิ่งที่เขาพูดอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน มันทำให้เรื่องดำเนินไปได้แบบเพลินๆ เลย
การสื่อสารกันในกองเมื่อผู้กำกับและทีมงานพูดเหนือ ส่วนนักแสดงก็พูดอีสาน
ตู้: ไม่มีปัญหาครับ เพราะว่าในกองส่วนใหญ่ผมทำงานก็เจอแต่คนภาคเดียวกันเราก็พูดเหนือใส่ ภาษามันไม่ได้มีผลอะไรในการทำงาน แถมการทำงานมันดูสนุกขึ้น เพราะว่าคนมันยิ่งสนิทกันง่ายขึ้น พอเราพูดภาษาแบบบ้านเกิดเราเอง
นัทสอ: มันมีเสน่ห์ที่เราได้พูดภาษาของเรา แล้วเขาก็พูดภาษาของเขา อีสานกับเหนือมันมีความใกล้เคียงกันบางอย่างที่เราฟังเขาเข้าใจ แล้วเขาก็จะอาจจะเข้าใจเราด้วย มันเลยเป็นการสื่อสารที่ไม่ซับซ้อน ดูเป็นธรรมชาติดี แต่ในหนังเราก็ต้องขึ้นซับให้ด้วยครับ คนดูจะได้ไม่งง
ส่วนที่ยากที่สุดในการทำเรื่องนี้
ตู้: มันยากมาตั้งแต่บทแล้ว กว่าจะมาเป็นบทเวอร์ชันที่เราใช้ถ่ายได้ เราแก้กันค่อนข้างเยอะ บทออกกันเป็นเดลีรายวันเลย
นัทสอ: ผมว่าสิ่งที่ยากคือเทคนิค หมายถึงว่าเทคนิคที่ก่อนที่จะไปเข้าสู่ขั้นตอนซีจี เราต้องเตรียมพร้อมเพื่อที่ว่าซีจีเขาจะได้ทำงานต่อได้ เราจะถ่ายเลเยอร์ยังไงบ้าง วิธีการทำเอฟเฟกต์ต่อจากที่เราถ่ายไปจะเป็นยังไง “พี่ตู้” ต้องทำงานหนักมากเพราะมันยาก แล้วก็เรื่องของเวลาก็เป็นสิ่งที่ยาก ไทม์ลิมิตเราเท่านี้ต้องถ่ายให้มันเสร็จในเวลานี้เท่านั้น มันก็กดดันกันทุกทาง แต่ใดๆ คือทีมงานนักแสดงทุกคนเก่ง เข้าใจความยากมันก็เลยง่ายขึ้นพอสมควร
ทีมผู้กำกับคู่แบ่งการทำงานกันยังไงบ้าง
ตู้: เราทำงานคู่กันมาตั้งแต่งานแรกๆ อยู่แล้ว หน้าที่ของแต่ละคนค่อนข้างชัดเจน มันเป็นการทำงานที่ซัปพอร์ตกัน ไม่เคยด่า ไม่เคยทะเลาะกันเลย ผมก็จะถนัดในส่วนของเทคนิค เรื่องกล้อง คีย์วิชวลต่างๆ “นัท” ก็จะถนัดในงานของบทก็จะนำทางในเรื่องของบทก่อน แล้วผมอยากแก้ตรงไหน ต้องทำอะไรเราก็ปรึกษากัน ไม่เคยมีปัญหา เพราะเราทำกันมาหลายเรื่องแล้วด้วย ถนัดกันคนละอย่างอยู่แล้ว
นัทสอ: เหมือนเรารู้แนวของ “พี่ตู้” เราเดินมากันคนละสาย พี่ตู้จะสายโปรดักชัน-กำกับ นัทจะมาฝั่งครีเอทีฟกับงานเขียนบท วันเวลามันผ่านไปเราก็ได้จับงานชิ้นใหญ่ขึ้น มีงานหนึ่งที่ได้ทำหนังสั้นกับพี่ตู้ ความที่ต่างคนต่างถนัดคนละอย่าง การทำงานมันก็ไม่ทับซ้อนกัน นัทก็สนใจนะว่าทางด้านภาพอยากให้มันออกมาแบบไหนบ้าง ก็จะบอกพี่ตู้ว่าตรงนี้มันควรจะอารมณ์ไหนเป็นยังไง พี่ตู้แอปพรูฟมั้ยว่าถ้าเกิดแอ็กติ้งมันเป็นแบบนี้ ถ้าพี่ตู้บอกโอเค เราคิดเหมือนกันก็ทำงานต่อกันเลย เป็นการทำงานที่ซัปพอร์ต แชร์กันไปเรื่อยๆ มากกว่า
มีสิ่งไหนที่รู้สึกประทับใจหรือเกินคาดมั้ยในกับการกำกับหนังเรื่องนี้
ตู้: ผมรู้สึกว่ามันเกินคาด ประทับใจในการแสดงของ “ตาต้า” กับ “อุ้ม“ มากๆ เพราะเป็นสิ่งที่กังวลว่าเคมีจะเข้ากันได้ไหม คนหนึ่งเป็นหนุ่มเซอร์ อีกคนหนึ่งก็สวยมาเลย แต่พอทั้งคู่มาเจอกันแล้วมันมีอะไรบางอย่างที่มันไปด้วยกันได้ ตาต้ามีเสน่ห์เฉพาะทางของเขา ส่วนอุ้มก็มีเสน่ห์ของเขาเหมือนกัน พอเขามาบวกกัน มันก็เลยบวกๆๆ ขึ้นไปอีกครับ ก็ประทับใจตรงนี้
นัทสอ: ของผมก็เหมือน “พี่ตู้” แต่ของผมก็จะประทับใจในบรรยากาศของกองถ่ายมากกว่า นัทไม่ค่อยได้ผ่านกองหนังใหญ่ที่มันต้องกำกับด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่จะทำซีรีส์ ทำเอ็มวีมาก่อน แต่พอเราได้มาเจอของจริง โห…ทีมอาร์ตเขาก็เซตอลังการ กล้องไฟใส่ของมาเต็มทุกอย่าง แล้วนักแสดงก็ซัปพอร์ตอีก นัทก็เลยรู้สึกว่าความประทับใจของนัทมันเกิดขึ้นจากบรรยากาศของกองถ่าย เป็นครั้งแรกที่ทำงานแล้วรู้สึกว้าว ภาพมันออกมาสวยได้ขนาดนี้เลยเหรอ อาร์ตมันทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ
หลังจากนี้เราจะได้เห็นการกำกับคู่กันอีกไหม
ตู้: ก็ต้องอยู่ที่โอกาส อยู่ที่ผู้ใหญ่ ถ้ามีโอกาสก็อยากทำงานร่วมกันอีกครับ ด้วยเราช่วยกันซัปพอร์ต สนุกดี มันไม่เคว้งเวลาที่หันไปข้างๆ เฮ้ย…เอายังไงดีวะมันมีคนที่คอยถาม คอยช่วยปัญหาด้วยกันตลอด ไม่มีใครทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นัทสอ: มันเหมือนเวลาที่เรา Lost กับอะไร โอเคต้องแก้ปัญหาแล้ว 2-3-4 เฮ้ย… “พี่ตู้” ไปตรงนั้นแล้วเราต้องรีบซัปพอร์ตตามให้ทัน นัทได้เรียนรู้อะไรจากพี่ตู้เยอะเหมือนกันครับ การจัดภาพ ความอดทน ความถึก พี่ตู้มีความอดทน อะไรก็ตามที่มันซัดเข้ามา พี่ตู้จะแบบได้แล้วแก้ปัญหาเลย
ทำหนังสยองทั้งทีมีเจอเรื่องลี้ลับไหม
ตู้: ได้ยินมาเหมือนกันแต่ไม่ได้เจอด้วยตัวเอง ผมเป็นคนไม่มีเซนส์ แต่ก็อยากเจอสักครั้งอยากรู้ว่ามันจะเป็นยังไง
นัทสอ: ในโลเคชันมหา’ลัยที่เราไปถ่าย มันจะมีต้นไม้ใหญ่มากอยู่ต้นหนึ่ง ทางมหางลัยเขาก็บอกว่าก่อนถ่ายรบกวนไหว้ต้นไม้ให้อาจารย์หน่อยนะ ต้นไม้นี้อายุเป็นร้อยปีแล้ว มันเคยมีเรื่องเล่ามาก่อนหน้านี้ด้วย ทีนี้น้องทีมอาร์ตกำลังเก็บของอยู่ เขาเล่าให้ฟังว่าระหว่างที่เก็บเซตอยู่ เหมือนเขารู้สึกว่ามันมีอะไรไม่รู้อยู่ข้างบนหัว เขาก็เลยเงยหน้าขึ้นไปมองดูแล้วดันเห็นว่ามีผู้หญิงแขวนคออยู่บนต้นไม้แล้วก็ก้มหน้าลงมา แล้วเขาก็เล่าต่อว่าก่อนจะมาทำงานที่โลเคชันนี้ เพื่อนก็บอกเอาไว้ว่าถ้าตอนกลางคืนได้ยินเสียงฝีเท้าวิ่งเร็วๆ บนตึก ห้ามหันไปมอง ห้ามรับรู้ เราฟังแล้วก็รู้สึกว่าทำไมไม่เล่าให้ฟังเร็วกว่านี้ อยากมีประสบการณ์ร่วมด้วย ไม่ได้ลบหลู่หรือท้าทายนะครับ แต่อยากจะมีสักครั้งที่ได้เห็น อยากลอง อยากเจอ
ตู้: พวกผมเป็นคนไม่มีเซนส์ ถ่ายหนังผีมาหลายเรื่องแต่ไม่เคยเจอ อีกที่หนึ่งที่อยากจะพูดถึงก็คือ “บ้านพ่อสล่าแดง” พ่อสล่าเป็นช่างอาวุโสของทางภาคเหนือ เป็นศิลปิน ทำวัดมาเยอะมาก แล้วบ้านเขาเต็มไปด้วยวัตถุมงคล มีวัตถุโบราณด้วย ซึ่งที่นี่ก็มีหลายคนเหมือนกันที่เคยไปแล้วเห็นมาเกี่ยวกับเรื่องลี้ลับ เดี๋ยวในเรื่องเราก็จะได้เห็นบรรยากาศความขลังของที่นี่กัน
ฝากผลงานความน่าดูของหนังเรื่องนี้
ตู้: เรียกว่าเป็นเรื่องแรกที่โหดที่สุดเท่าที่เคยทำของผมเลยครับ ยังไงก็ฝากผลงาน “เทอม 3” ของพวกผมไว้ด้วยนะครับ ก็พยายามทำมันออกมาให้ดีที่สุด อยากให้ทุกคนมาดูแล้วรู้สึกถึงความโหดสยองไปพร้อมๆ กับเรา
นัท: เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ทำด้วยกันแล้วมันใช้เอฟเฟกต์ ใช้ความโหดความยิ่งใหญ่อลังการ อยากให้ทุกคนได้เห็นขบวนแห่ล้านนาหรือว่าผีของภาคเหนือและการแสดงของนักแสดงในเรื่องนี้ ตัวละครที่กำลังเผชิญกับความสยองไม่คาดคิดใน “เทอม 3 ตอนขบวนแห่” ครับ
ประวัติผู้กำกับ “นัทสอ-สรวิชญ์ เมืองแก้ว”
ผู้กำกับ-นักเขียนบทรุ่นใหม่ฝีมือดีที่ผ่านงานเขียนบทและกำกับทั้ง MV, ซีรีส์ และภาพยนตร์มาอย่างหลากหลาย การันตีด้วยการชิงรางวัลสุพรรณหงส์ “บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” จาก “ดิว ไปด้วยกันนะ” (2562) เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากมายจนถึงผลงานล่าสุดที่ขึ้นแท่น “กำกับภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องแรก” ไม่แพ้ผลงานที่ผ่านมา
ภาพยนตร์: “ดิว ไปด้วยกันนะ” (2562 / ร่วมเขียนบท), “The Cheese Sisters” (2565 / กำกับ)
ซีรีส์: “ขวัญผวา 2: เมืองฅนรฤกชาติ” (2561 / เขียนบท), “เราเห็นนาย” (2565 / กำกับ-เขียนบท), “รักแรกครั้งสุดท้าย” (2566 / ผู้ช่วยผู้กำกับ), “สงครามกับความรัก” (2566 / ผู้ช่วยผู้กำกับ)
MV: “จม” – หนุ่ม กะลา (2564 / เขียนบท), “ส่งเธอออกไป” – Cocktail (2565 / เขียนบท), “รักต่อ” – Aun Jessada (2566 / กำกับ), “Hisashiburi no Lip Gloss” – CGM48, “Sansei Kawaii” – CGM48 (2566 / กำกับ) ฯลฯ
ประวัติผู้กำกับ “ตู้-อัศฎา ลิขิตบุญมา”
ผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ทำงานสายโปรดักชันมาตั้งแต่สมัยเรียน มีความถนัดและชื่นชอบในเรื่องของมุมกล้องและการดีไซน์ภาพทั้งก่อนถ่ายทำถึงกระบวนการตัดต่อ สั่งสมประสบการณ์และผลงานที่เชื่อมือได้มาอย่างมากมาย ล่าสุดกับ “การกำกับภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องแรก” รอดูโปรดักชันโหดๆ และมุมกล้องสวยแปลกตากันได้เลย
ภาพยนตร์: “ดิว ไปด้วยกันนะ” (2562 / ผู้ช่วยผู้กำกับ), “ผ้าผีบอก” (2565 / ผู้ช่วยผู้กำกับ), “The Cheese Sisters” (2565 / กำกับ), “MONDO รัก | โพสต์ | ลบ | ลืม” (2566 / กล้อง-เทคนิคพิเศษ)
ซีรีส์: “พฤติการณ์ที่ตาย” (2563 / ผู้ช่วยผู้กำกับ), “ทริอาช” (2565 / ผู้ช่วยผู้กำกับ), “เราเห็นนาย” (2565 / กำกับ-เขียนบท), “รักแรกครั้งสุดท้าย” (2566 / ผู้ช่วยผู้กำกับ), “สงครามกับความรัก” (2566 / ผู้ช่วยผู้กำกับ)
MV: “มะลิ” – CGM48 (2564 / ผู้ช่วยผู้กำกับ), “จม” – หนุ่ม กะลา (2564 / ผู้ช่วยผู้กำกับ-เทคนิคพิเศษ), “ส่งเธอออกไป” – Cocktail (2565 / ผู้ช่วยผู้กำกับ-เทคนิคพิเศษ), “รักต่อ” – Aun Jessada (2566 / กำกับ), “Hisashiburi no Lip Gloss” – CGM48, “Sansei Kawaii” – CGM48 (2566 / กำกับ) ฯลฯ