“นาโอมิ วัตต์ส” นักแสดงสาวมากความสามารถที่คอหนังและแฟนหนังระทึกชวัญต้องรู้จักเธอเป็นอย่างดี เธอแจ้งเกิดจากการนำแสดงใน “Mulholland Drive” (2001) ภาพยนตร์เขย่าขวัญจิตวิทยาจากการกำกับของ “เดวิด ลินช์” และบทนักข่าวที่ต้องเผชิญหน้ากับวิญญาณอาฆาตในม้วนวิดีโอใน “The Ring” (2002) เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์นีโอนัวร์เรื่อง “21 Grams” (2003) โดยฝีมือการกำกับของ “อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู” และเข้าชิงอีกครั้งจากภาพยนตร์ที่สร้างจากโศกนาฏกรรมสึนามิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่อง “The Impossible” (2012) นอกจากนี้เธอยังมีผลงานออกมาอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น “Twin Peaks” (Series, 2017), “The Glass Castle” (2017), “The Wolf Hour” (2019), “Luce” (2019) และ “The Loudest Voice” (Mini Series, 2019)
และล่าสุดที่ถือเป็นการแสดงที่เธอโชว์ทักษะการแสดงได้อย่างสมบทบาทและหวนกลับมาทวนบัลลังก์เจ้าแม่หนังระทึกขวัญในภาพยนตร์แอ็กชันทริลเลอร์ “The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย” ผลงานกำกับใหม่ของ “ฟิลลิป นอยซ์” ผู้กำกับที่เคยฝากหนังเด็ดไว้อย่าง “Salt” (2010) และ “The Bone Collector” (1999) ซึ่งเรื่องใหม่นี้นาโอมิรับบทเป็น “เอมี” หญิงสาวที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกของเธอปลอดภัยจากเหตุการณ์กราดยิง แม้ว่าทางรอดเดียวของเธอคือ “การวิ่ง” แม้ระยะทางกว่าสิบไมล์และเวลาที่จำกัด แต่เธอก็พร้อมเผชิญหน้าชั่วโมงสุดวิกฤตเพื่อให้ลูกเธอรอด
บทบาทในภาพยนตร์เรื่อง “The Desperate Hour”
ในเรื่องนี้ฉันรับบทเป็น “เอมี” เป็นคุณแม่ลูกสอง และเธอเป็นแม่ม่ายสดๆ ร้อนๆ หลังจากที่สามีของเธอเสียชีวิตไป ลูกเธอยังคงเศร้าอยู่ นี่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของเธอและลูกๆ ในขณะที่ลูกชายของเธออยู่ในช่วงวัยรุ่น เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่การที่เขายังจมกับความโศกเศร้าทำให้ชีวิตของเขาไม่คืบหน้าไปไหน เช่นเดียวกับตัวเอมี เธอแทบไม่มีเวลาใส่ใจลูกเธอเลย นี่คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่างในเรื่อง และนี่เองเป็นสาเหตุที่ทำให้ฉันรับบทนี้ เพราะฉันเองก็เป็นคุณแม่ ฉันวิตกและกลัวทุกครั้งที่เห็นข่าวกราดยิงบนหน้าหนังสือพิมพ์ มันมีบางครั้งที่ฉันไปส่งลูกๆ ที่โรงเรียนแล้วโดนความคิดแย่ๆ เข้าครอบงำ คนเป็นแม่ก็อย่างนี้แหละ ตั้งแต่เอาลูกขึ้นนอนสมัยยังเป็นทารก เราก็กังวลว่าเขาจะพลิกตัวหรือเปล่า จะหายใจออกไหม เวลาไปบ้านเพื่อนจะล้มตกบันไดหรือเปล่า มันเป็นความกลัวที่มาพร้อมกับการเป็นแม่คน ยิ่งการที่สถานศึกษาที่มีแต่เด็กๆ กลายมาเป็นเป้าโจมตี
การเตรียมตัวสำหรับบทบาท “เอมี”
ฉันวิ่งตั้งแต่ตอนอายุยี่สิบกว่า ฉันวิ่งมาตลอดจนหลังฉันเริ่มมีปัญหา ออกกำลังกายที่มีแรงปะทะสูงไม่ได้อีกต่อไป ฉันเปลี่ยนไปเล่นอย่างอื่นเพราะฉันยังชอบออกกำลังกายและเล่นกีฬา มันดีต่อร่างกายและจิตใจ ตอนที่ฉันตัดสินใจเล่นหนังเรื่องนี้ ฉันเริ่มโปรแกรมวิ่งอีกครั้ง ไม่น่าเชื่อว่าฉันแทบไม่ต้องปรับตัวเท่าไหร่เลย เหมือนร่างกายยังจำได้ ฉันคิดว่าตอนถ่ายจริงคงวิ่งแค่สั้นๆ แต่กลายเป็นว่า “ฟิลลิป นอยซ์” ผู้กำกับชอบถ่ายลองเทกยาวมากกว่าจะคัต กว่าจะปิดกล้องฉันฟิตขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย
การร่วมงานครั้งแรกกับ “ฟิลลิป นอยซ์”
เราเคยคุยกันว่าอยากทำงานร่วมกันมาหลายปีแล้ว แน่นอนว่าประเทศออสเตรเลียมันกว้าง แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์มันเป็นแค่วงการเล็กๆ เรารู้จักกันหมด ฉันชื่นชมเขามาตลอด ตอนที่เขาเล่าไอเดียให้ฉันฟัง ฉันว่ามันน่าสนใจมาก ตอนนั้นช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาด การที่ฉันได้กลับไปทำร่วมงานกับผู้กำกับที่เชื่อ ฝีมือได้ เป็นอะไรที่ฉันปฏิเสธไม่ลง
เตรียมตัวอย่างไรเมื่อรู้ว่าต้องฉายเดี่ยวคนเดียวเกือบทั้งเรื่อง
ฉันรู้ว่าต้องเจอกับอะไร มันทั้งน่าวิตกและน่าตื่นเต้น ฉันไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน แต่ฉันไม่ได้โดดเดี่ยวขนาดนั้น เพราะฉันมีมือถือและนักแสดงที่รออยู่ปลายสาย พวกเขาช่วยฉันได้เยอะ พวกเขาคอยประจำอยู่หน้ากองด้วย ฉันวิ่งไปขอบคุณพวกเขาบ่อยมากเมื่อผู้กำกับสั่งคัต แม้บางครั้งวิ่งๆ อยู่แล้วสัญญาณขาด ฉันอาจจะต้องด้นสดเองบ้าง
หนังเรื่องนี้คือ “การวิ่ง” มันเป็นตัวแทนของสิ่งใดหรือเป็นอุปมาถึงอะไร
มันอาจเป็นตัวแทนความคิดสุดสับสนในหัวของ “เอมี” และใครก็ตามที่ได้รับสายนั้นเหมือนเธอ อาจไม่ได้หลงอยู่ในป่า หรือไปไหนไม่ได้เพราะไม่มีรถ แต่ติดอยู่กับความคิดที่ว่ามันเกิดเรื่องแบบนี้ได้ยังไง จะแก้ไขสถานการณ์นี้ยังไง อารมณ์มันสับสนปนเปไปหมด ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยความวิตกและความกลัว จนกระทั่งถึงจุดที่เราค้นพบความแข็งแกร่งในตัว สำหรับฉันการวิ่งมันช่วยในเรื่องนี้ได้นะ เพราะความเหนื่อยจะทำให้คุณไม่จมอยู่กับความคิดตัวเอง ต้องโฟกัสที่ข้างหน้าเท่านั้น
“เอมี” ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เธอรู้ว่าตัวเองพร้อมทำทุกอย่างเพื่อลูก คุณคงเห็นข่าวว่าคนเป็นแม่สามารถยกรถที่ทับขาลูกอยู่ได้ มันเป็นความแข็งแกร่งที่แม่ทุกคนมีและจะปรากฏให้เห็นเมื่อลูกกำลังมีภัย เธอได้รู้ว่าบางทีเธออาจจมอยู่แต่ความเศร้าจนไม่ได้สังเกตว่าลูกๆ ของเธอก็กำลังเผชิญกับสิ่งเดียวกัน และพวกเขาต้องการเธอมากกว่าทุกครั้ง
คุณชอบบทภาพยนตร์เรื่องนี้ตรงไหน
ความระทึก ตัวละครที่น่าสนใจและสมจริง การที่ผู้หญิงธรรมดาต้องมาเจอเหตุการณ์ไม่ธรรมดา มันเป็นสิ่งที่ชวนให้ทั้งผู้ชมและนักแสดงอย่างฉันสนใจ ฉันยังชอบผลงานก่อนหน้าของเขา (คริส สปาร์ลิง) อย่าง “Buried” (2010) ซึ่งมันมีความคล้ายกับเรื่องนี้เพราะมันเป็นสถานที่บีบคั้นซึ่งเกิดขึ้นกับตัวละครเดียว
ล็อกคิวระทึกพร้อมกันกับบทบาททางการแสดงที่ดีที่สุดของ “นาโอมิ วัตต์ส” ในภาพยนตร์ระทึกขวัญพล็อตเยี่ยม “The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย” 10 มีนาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
ตัวอย่างซับไทย: https://youtu.be/5ZS-Dee8Fe4
นับถอยหลังสู่ชั่วโมงโคตรวิกฤต: https://youtu.be/RDi7hfSrhx0