ชีวิตก็เป็นของมันอย่างนี้เอง “Tokyo Story” หนึ่งในสามภาพยนตร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล เริ่ม 30 กรกฎาคมนี้ เฉพาะที่ “House สามย่าน” เท่านั้น

Tokyo-Story-House-Classics-Poster

 

“หนึ่งในสามภาพยนตร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล” – นิตยสาร Sight & Sound

“Tokyo Story” ชีวิตก็เป็นของมันอย่างนี้เอง

 

ผู้กำกับ: ยาสึจิโร โอสุ

นักแสดง: จิชุ ริว, ชิเอะโกะ ฮิงาชิยามะ, เซตสึโกะ ฮาระ

ประเภท: ดราม่า

ประเทศ: ญี่ปุ่น

ความยาว: 136 นาที

ออกฉายครั้งแรก: ปี 1953 

ฉายในโปรแกรม House Classics: 30 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป ที่โรงภาพยนตร์ “House สามย่าน” เท่านั้น

 

****ฉบับที่นำมาฉายเป็นฉบับบูรณะภาพและเสียง ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2018 ซึ่งเป็นปีครบรอบวันเกิด 115 ปีของยาสึจิโร โอสุ***

 

Tokyo-Story-House-Classics-Still06

 

“สองตายาย” จาก “เมืองโอโนะมิจิ” (เมืองตอนใต้ของญี่ปุ่น) เดินทางไปหาลูกชาย ลูกสาว และลูกสะใภ้ซึ่งเป็นม่ายใน “กรุงโตเกียว” นอกจากจะไปเยี่ยมลูกๆ หลานๆ ที่ไม่ได้เจอกันนานแล้ว ทั้งคู่ก็หวังจะไปเปิดหูเปิดตาในเมืองหลวงดูบ้าง

 

แต่ชีวิตก็ไม่ได้ดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ สองตายายพบว่าลูกแท้ๆ ของพวกเขางานยุ่งและวุ่นวายอยู่กับธุระของตนเองเกินกว่าจะมาใส่ใจดูแล และเมืองหลวงอย่างโตเกียวก็ไม่เหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจเลยแม้แต่นิดเดียว

 

การเดินทางที่ควรจะมอบความสุข กลับกลายเป็นบทเรียนให้สองตายายได้เรียนรู้สัจธรรมบางอย่างในชีวิต ก่อนจะลาโลกนี้ไปตามสังขารที่ร่วงโรย

 

Tokyo-Story-House-Classics-Still01

 

“Tokyo Story” เป็นผลงานชิ้นเยี่ยมของสุดยอดผู้กำกับชาวญี่ปุ่น “ยาสึจิโร โอสุ” ออกฉายครั้งแรกในปี 1953 แสดงเอกลักษณ์อันโดดเด่นของโอสุออกมาอย่างชัดเจน ทั้งในแง่การเล่าเรื่องที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการเร้าอารมณ์เกินจำเป็น การวางองค์ประกอบภาพที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และเนื้อหาที่พูดถึงโครงสร้างของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคที่ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่

 

ตัวเรื่องของ “Tokyo Story” นั้นดัดแปลงมาจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดของผู้กำกับ “เลโอ แม็คคาเรย์” เรื่อง “Make Way for Tomorrow” (1937) ซึ่ง “โคโงะ โนดะ” มือเขียนบทคู่ใจของโอสุเป็นคนเสนอพล็อตให้ (โนดะเคยดูหนังเรื่องนี้ตอนหนังออกฉายในญี่ปุ่น แต่โอสุไม่เคยดู)

 

โนดะและโอสุไปเก็บตัวเขียนบทหนังเรื่องนี้ที่บ้านเล็กๆ ในต่างจังหวัดนานถึง 3 เดือน ก่อนจะกลับมาถ่ายทำและตัดต่อหนังจนเสร็จภายในเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น

 

ช่วงที่ “Tokyo Story” ออกฉาย สายตาของนักดูหนังต่างชาติมองว่างานของโอสุมีลักษณะ “ญี่ปุ่นเกินไป” ในขณะที่คนทั่วโลกตื่นเต้นกับงานของ “อากิระ คุโรซาวะ” ที่เป็นญี่ปุ่นซึ่ง “สากลมากกว่า”

 

ทว่าหลังทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา “Tokyo Story” ได้ไปฉายใน “เทศกาลภาพยนตร์เมืองนิวยอร์ก” และได้รับการประเมินคุณค่าใหม่อีกครั้ง หนังได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมในระดับนานาชาติ

 

ในปี 2012 นิตยสาร “Sight & Sound” ของสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ สำรวจความคิดเห็นจากผู้กำกับทั่วโลกว่าหนังเรื่องไหนคือ “หนังที่ดีที่สุดในโลก” ในสายตาของพวกเขา และ “Tokyo Story” ได้คะแนนเป็น “อันดับหนึ่ง”

 

ปัจจุบัน “Tokyo Story” ถือเป็นงานที่โด่งดังที่สุดของ “ยาสึจิโร โอสุ” และเป็นภาพยนตร์ภาคบังคับของนักเรียนหนัง คนทำหนัง และนักดูหนังทั่วโลก หนังเรื่องนี้ไม่เพียงแต่เปี่ยมไปด้วยความงดงามขององค์ประกอบทางศิลปะเท่านั้น แต่ยังสะท้อนความเป็นจริงของชีวิตโดยไม่มีส่วนไหนเลยที่ตกยุค

 

Tokyo-Story-House-Classics-Still05

Tokyo-Story-House-Classics-Still02

Tokyo-Story-House-Classics-Still04

Tokyo-Story-House-Classics-Still07

Tokyo-Story-House-Classics-Still10

 

เกี่ยวกับผู้กำกับ “ยาสึจิโร โอสุ” (1903 – 1963)

ผู้กำกับคนสำคัญของวงการหนังญี่ปุ่นและวงการหนังโลก โอสุมีอิทธิพลต่อรูปแบบของหนังญี่ปุ่นในยุคปัจจุบัน และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำหนังอีกมากมายทั่วโลก มีผู้กำกับหลายคนยกย่องให้หนังของโอสุเป็นแรงผลักให้พวกเขาตัดสินใจมาทำหนัง อาทิ “โหวเสี้ยวเสียน, วิม เวนเดอร์ส, แคลร์ เดอนีส์, อากิ คอริสมากิ และ จิม จาร์มุช” ฯลฯ

 

“ยาสึจิโร โอสุ” เป็นผู้กำกับลูกหม้อของบริษัท “โชจิกุ” สตูดิโอเก่าแก่ของญี่ปุ่น เขาทำหนังมาตั้งแต่ยุคหนังเงียบจนมาถึงยุคหนังเสียง หนังของโอสุมักเล่าเรื่องที่เรียบง่าย พล็อตส่วนใหญ่ในหนังของเขาวนเวียนอยู่กับความสัมพันธ์ในครอบครัว ช่องว่างระหว่างวัย วิถีชีวิตญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ นอกจากนี้โอสุยังมีเทคนิคการเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งการถ่ายนักแสดงพูดกับกล้องตรงๆ การวางกล้องในระดับต่ำ (ที่เรียกว่า “Tatami Shot” ซึ่งก็คือภาพขณะตัวละครนั่งบนเสื่อตาตามิ) และการจัดองค์ประกอบภาพที่เน้นการสมมาตร การวางกล้องนิ่ง และการวางเส้นนำสายตาที่เรียบง่ายแต่ตราตรึงผู้ชม

 

งานเกือบทุกชิ้นของโอสุ ถูกยกย่องให้เป็นงานคลาสสิก และมีหนังที่กลายเป็นที่รักของคอหนังทั่วโลก ได้แก่ “Late Spring” (1949), “Good Morning” (1959), “Floating Weeds” (1959) และ “An Autumn Afternoon” (1962)

 

รวมทั้ง “Tokyo Story” (1953) หนังที่ได้รับการยกย่องว่าอยู่ในกลุ่ม “หนังที่ดีที่สุดในโลก”

 

รูปภาพ