ถือเป็นสองนักแสดงชายมากความสามารถของวงการที่ผ่านมาแล้วหลากหลายบทบาททั้ง “เจมส์-จิรายุ ตั้งศรีสุข” (Timeline จดหมาย ความทรงจำ, อโยธยา มหาละลวย) และ “มีน-พีรวิชญ์ อรรถชิตสถาพร” (วอน(เธอ), มอนโด, ธี่หยด 2) ล่าสุดพลิกคาแร็กเตอร์ขั้นสุดโคจรมาปะทะฝีมือกันในบท “คนปราบผี” ที่แตกต่างกันทั้งเรื่องศรัทธา ความเชื่อ และพิธีกรรมในภาพยนตร์สยองขวัญแห่งปีเรื่อง “ท่าแร่” ผลงานกำกับเรื่องใหม่ของสุดยอดผู้กำกับแห่งยุค “คุ้ย-ทวีวัฒน์ วันทา” (ธี่หยด 1-2)
โดยครั้งนี้ “เจมส์ จิรายุ” จะเผชิญหน้าความสยองขวัญครั้งแรกกับบท “บาทหลวงเปาโล” ตัวแทนของ “โลกที่นับถือพระเจ้า” ผู้ถูกเลือกจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์ให้มาปราบปีศาจร้ายที่เกินกว่าใครจะรับมือได้ และ “มีน พีรวิชญ์” จะสวมบทบาทที่ยากที่สุดในชีวิตกับบท “แม่เมืองโสภา” หรือ “หมอเหยา” ตัวแทนของ “โลกที่นับถือผี” ผู้ถูกกำหนดจากผีปู่ผีย่าให้รักษาผู้คนด้วยการสื่อสารกับภูตผีเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ซึ่งทั้งสองบทบาทต่างก็ต้องทำหน้าที่ปราบผีร้ายตัวฉกาจที่กำลังอาละวาดอยู่ใน “ท่าแร่” ชุมชนอีสานที่มีวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างกันสุดขั้วแห่งหนึ่งของเมืองไทย
งานนี้นักแสดงทั้งคู่ต้องทำการบ้านกันอย่างหนักเพราะล้วนเป็นบทที่ไกลตัวมากๆ โดยก่อนจะเริ่มถ่ายทำทั้งสองคนต่างไปเวิร์กช็อปการแสดงและรูปแบบการปราบผีที่ต่างขั้วศาสนาของแต่ละคน ซึ่ง “เจมส์ จิรายุ” ได้เรียนรู้เพิ่มเติมกับบาทหลวงของทางคริสตจักรเพื่อศึกษาวิธีการ ท่าทาง บทสวด รวมไปถึงการสวมชุดยูนิฟอร์ม และการใช้อุปกรณ์ปราบปีศาจตามความเชื่อของศาสนาคริสต์อย่างเข้มข้นเพื่อให้ทุกอย่างออกมาถูกต้องสมบูรณ์แบบที่สุด
“เรื่องนี้เป็นหนังสยองเรื่องแรกของผมเลยครับ ก็หนักพอสมควร ความยากมันอยู่ตรงที่ศาสนาที่เราไม่คุ้นชิน แล้วไม่รู้ว่าเราเล่นอะไรได้บ้างกับการสวมบทเป็น ‘บาทหลวง’ และการปราบผีแบบศาสนาคริสต์มีลักษณะแบบไหน แต่ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเวิร์กชอปกับ ‘คุณพ่ออนุชา ไชยเดช’ (ผู้อำนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย) ท่านมีเมตตามาก ให้ข้อมูลทุกอย่างทั้งท่าทางการหยิบจับอุปกรณ์ต่างๆ ในพิธีกรรมแบบคริสต์อย่างพระคัมภีร์ ไม้กางเขน น้ำเสกต้องทำยังไง ต้องจับด้วยความมั่นใจ แต่หัวใจหลักคือคำสอนและบทสวดซึ่งมีหลายบทแตกต่างกันไปแต่ละแบบ แต่สิ่งสำคัญคือต้องเชื่อมั่นในศรัทธาของเรา
พอได้แกนของอารมณ์หลักแล้วก็ค่อยๆ พัฒนาคาแร็กเตอร์ภายนอกขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ทุกอย่างที่ออกมาทั้งทีมงานและผมก็ศึกษารีเซิร์ชมาพอสมควร และพยายามทำให้เกิดความสมจริงที่สุด ซึ่งแต่ละอย่างมีกฎระเบียบแบบแผน คุณพ่อก็ช่วยดูความถูกต้องและให้คำแนะนำตลอด
และผมก็ได้ทราบข้อเท็จจริงด้วยว่าบาทหลวงที่จะมาทำหน้าที่ปราบปีศาจได้จะต้องไปศึกษาและเรียนรู้อย่างจริงจังกว่าจะได้รับอนุญาตในการทำหน้าที่นี้ แล้วในไทยก็มีบาทหลวงที่ทำหน้าที่ปราบได้ไม่กี่คน มีการประกาศแต่งตั้งเป็นทางการเลยครับ เซอร์ไพรส์มาก ไม่เคยรู้ข้อมูลตรงนี้มาก่อนเลย”
ด้าน “มีน พีรวิชญ์” ก็ต้องสลัดลุคคนเมืองสายแฟชั่นมาเป็นหมอเหยามือฉมัง โดยเปลี่ยนลุคใหม่ตั้งแต่หัวจรดเท้า ใส่ผ้าพื้นเมืองแบบผู้หญิง แต่งหน้าขาว ทาแก้ม ทาปาก นุ่งผ้าถุง ทัดดอกไม้ ออกท่าร่ายรำร้องเพลงและพูดภาษาภูไทร่วมกับหมอแคน ซึ่งกว่าจะสวมบทบาทนี้ได้เขาต้องไปทำเวิร์กช็อปกับหมอเหยาตัวจริงถึงท่าแร่ จังหวัดสกลนคร กับ “แม่หมอโอปอ” หมอเหยาชื่อดังทายาทผู้สืบทอดพิธีกรรมเหล่านี้มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย และ “ครูคิม-นิติ ไชยวงศ์คต” ผู้ให้คำปรึกษากองถ่ายด้านเครื่องแต่งกาย ภาษา และทำนองเหยาอีกด้วย
“ผมทำการบ้านกับเรื่องนี้หนักมาก เมื่อเทียบกับงานที่รับมาในชีวิต บท ‘หมอเหยา’ คือไกลตัวมาก ไม่มีความรู้ ความเชื่อ ความเข้าใจเลย แต่อยากลองทำอะไรที่มันชาเลนจ์ตัวเอง เราอาจจะคุ้นกับคำว่าหมอผี หมอธรรม อาจารย์ต่างๆ หรือพระ พอเรารีเซิร์ชกับทีมงานก็ไปเจอหมอเหยาที่ชื่อ ‘แม่หมอโอปอ’ มันไม่เหมือนภาพจำของคำว่าหมอผีที่เคยได้ยินมา ผมพยายามดูคลิปเขา ยึดแม่หมอเป็นแกนเริ่ม แล้วปรับคาแร็กเตอร์ของแม่หมอกับของเราผสมให้มันพอดี
สิ่งที่ผมค่อนข้างซีเรียสก็คือการทำพิธี เพราะเราอยากให้คลาสสิก อยากให้ถูกตามธรรมเนียมตามประเพณี ผมไปหาแม่หมอที่สกลนคร ไปคุยว่าในพิธีแต่ละซีนแต่ละฉากต้องมีอะไรบ้าง ขอให้เขาจัดให้ดู ต้องมีร้อง มีรำ ภาษาภูไทที่ยากมาก มีหลายซีนที่เล่นแล้วอัดเสียงให้พี่ผู้ช่วยส่งให้แม่หมอดู ส่งไปให้คนเขียนบทดูว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ถือว่าได้รับการแอปพรูฟจากเจ้าตัวมาประมาณหนึ่ง ก็พยายามเรียนรู้และฝึกซ้อมให้มากที่สุดเพื่อเข้าถึงจิตวิญญาณความเป็นหมอเหยา
อีกเรื่องก็คือการแต่งตัว การจะเป็นหมอเหยาต้องมีการแต่งกายแบบดั้งเดิม เราต้องแต่งแบบหญิงตามผีบรรพบุรุษของเรา ผ้าถุงต้องแบบนี้ ลายผ้า คาดหัว ในวันที่ไปเจอแม่หมอโอปอ แม่หมอก็แนะนำหลายอย่าง มีให้ลองสวมผ้า สวมสร้อยที่เก่าแก่ผ่านงานพิธีมาแล้วก็มี… เรื่องนี้ฉีกลุคใหม่มากๆ สำหรับผม ทีมงานทุกคนช่วยกันสุดๆ มันสนุกทุกขั้นตอนจริงๆ แล้วเราก็เชื่อว่าตัวละครนี้และหนังเรื่องนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับอะไรใหม่ๆ ได้เจอความสนุกและความหลอนแบบใหม่ๆ ครับ”
เรียกได้ว่าทั้งสองคาแร็กเตอร์นี้เป็นภาพแปลกใหม่สำหรับวงการภาพยนตร์ไทย เพราะยังไม่มีเรื่องไหนถ่ายทอดเรื่องราวการปราบผีในรูปแบบนี้มาก่อน โดยทั้ง “เจมส์” และ “มีน” ต่างมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์และสมจริงที่สุด ที่สำคัญคือให้ความเคารพในศาสนา ศรัทธา และความเชื่อของคนอีสานอย่างแท้จริง
เตรียมเผชิญหน้าความสยองเกินคาดและการแสดงสุดท้าทายที่จะเปิดโลกของการปราบผีสุดสะพรึงใน “ท่าแร่” 7 สิงหาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์