แนะนำตัว-ผลงานที่ผ่านมา

สวัสดีค่ะ “พลอย-ภัทรภร วีระศักดิ์วงศ์” ค่ะ เป็นผู้กำกับเรื่อง “เทอมสอง สยองขวัญ ตอน เชียร์ปีสุดท้าย” ค่ะ ปกติพลอยจะกำกับอยู่ที่ “Hello Filmmaker” ค่ะ เป็นพวกงานเอ็มวี (มิวสิกวิดีโอ) บ้าง หนังสั้นบ้างค่ะ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเอ็มวีค่ะ ดูผลงานทั้งหมดได้ที่นี่ค่ะ https://vimeo.com/user75778405

 

คอนเซปต์โดยรวมของ “เทอมสอง สยองขวัญ”

คอนเซปต์ของเรื่องนี้ก็คือเป็นการนำตำนานจากแต่ละมหา’ลัยเอามาดัดแปลงและถ่ายทอดออกมาให้เป็นภาพยนตร์ 3 เรื่อง ส่วนเรื่องของพลอยก็จะมาจากตำนานของมหา’ลัยหนึ่งที่มันเกี่ยวกับห้องเชียร์และความสัมพันธ์ของเพื่อนสองคนที่ต้องมาเจอสังคมใหม่ๆ มันจะมีการปรับตัวอะไรยังไง รวมถึงเรื่องราวความสยองที่ต้องพบเจอด้วยค่ะ

 

“เชียร์ปีสุดท้าย” เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

เรื่องนี้ก็เล่าเกี่ยวกับนักศึกษาปีหนึ่งที่เพิ่งมาทำความรู้จักเพื่อนใหม่ แล้วก็เล่าผ่านตัวละครสองตัวที่เป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่ ม.ปลาย ซี่งหนึ่งในนั้นเป็นคนเห็นผีตามที่ต่างๆ เข้ามาเรียนในสถานที่ใหม่ก็ยังเห็นตลอด แต่ก็ต้องพยายามปกปิดไว้เพราะกลัวเพื่อนใหม่ๆ จะรู้และเกิดอาการกลัว ส่วนเพื่อนอีกคนก็อยากมีสังคมใหม่ๆ จนเกิดเป็นความขัดแย้งของสองคนนี้ และนำไปสู่เหตุการณ์สยองขวัญจนสุดท้ายก็ส่งผลให้กิจกรรมเชียร์ปีนี้กลายเป็นปีสุดท้ายของที่มหา’ลัยนี้ไปเลย

ประเด็นของเรื่องที่พลอยอยากเล่าคือการยอมรับตัวตนของเพื่อนและก็ของตัวเราเอง การอยู่ร่วมกันในสังคมอะไรแบบนี้ มันมีส่วนหนึ่งของเรื่องที่เราชอบเลย คือหนังผีทั่วไปก็จะเล่าแบบตัวละครเห็นผีแล้วก็กลัว แล้วก็หนี หรืออะไรสักอย่างที่มันเป็นแอ็กชัน แต่ว่าเรื่องนี้เราอยากเล่าตรงที่ตัวละครเห็นผีแล้วกลัว แล้วจะยังไงต่ออีก เค้าจะอยู่กับการเห็นผีของเค้ายังไง รวมถึงอีกฝ่ายจะอยู่ยังไงกับการที่เพื่อนของเค้าเห็นผีแล้วเกิดอาการประสาทหลอนอะไรอย่างงี้ เค้าจะเทกแอ็กชันจะจัดการกับเหตุการณ์ตรงนี้ยังไง อันนี้ก็เหมือนเป็นธีมหลักของเรื่องเหมือนกันค่ะ

 

Term-2-Haunted-Universities-Still38

Term-2-Haunted-Universities-Still39

 

มีสอดแทรกเรื่องระบบ “โซตัส” ในเรื่องนี้ด้วย

คือจริงๆ เรื่องเกี่ยวกับ “โซตัส” เราก็พยายามจะไม่ได้แสดงความเห็นผ่านในหนังมากนัก แต่ว่าก็จะหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ้าง สังคมไทยมันเคยมีการโซตัสอะไรอย่างนี้อยู่ในประเทศเรานะ ถึงแม้ว่าตอนนี้มันจะดีขึ้นแล้ว คนส่วนใหญ่เริ่มจะไม่โอเคไม่เห็นด้วยกับระบบนี้แล้ว เราก็ยกมาจากเหตุการณ์ในอดีตว่ามันเคยมีระบบแบบนี้เกิดขึ้นนะ ตอนนี้บางที่ก็ยังคงมีอะไรแบบนี้อยู่ ซึ่งส่วนตัวเราก็ไม่ชอบระบบโซตัสนี้ค่ะ

คือเอาจริงๆ แล้วระบบโซตัสนี้ถึงแม้รุ่นพี่จะพูดว่ามันมีประโยชน์นะ เดี๋ยวพอจบอันนี้แล้วรุ่นน้องก็จะรักกันนะ ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ว่าพลอยกลับรู้สึกว่ามันก็มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ที่ทำให้เค้ารักกันได้เหมือนกัน เพราะบางทีระบบนี้เป็นเลเวลที่แบบเกินไป เช่น ด่ารุ่นน้องแบบเสียๆ หายๆ โดยที่ไม่มีเหตุผลอะไรอย่างนี้

 

ตัวละครหลักในเรื่องนี้แต่ละคนมีบทบาทกันอย่างไรบ้าง

คาแร็กเตอร์หลักของเรื่องนี้ก็จะมีสองตัวละคร คนแรกคือ “เมษา” (มิวสิค BNK48) ก็จะเป็นนักศึกษาใหม่ที่จะเป็นคนเก็บตัวและไม่ชอบเข้าสังคม เมษาจะมีเพื่อนสนิทอยู่หนึ่งคนคือ “ต่าย” (แคร์ ปาณิสรา) ที่รู้ความลับทุกอย่างของเมษา เมษาจะมีต่ายเป็นที่พึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของตัวเองค่อนข้างมาก แต่กับคนอื่นเค้าก็จะไม่ได้แคร์ไม่ได้สนใจอะไรเท่าไหร่ค่ะ

ส่วนตัวละครต่ายนี่เราคิดว่าผู้หญิงส่วนใหญ่จะเหมือนต่ายตรงที่อยากเข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อนใหม่ๆ อยากให้คนอื่นยอมรับในตัวเอง แล้วก็พยายามจะแก้ปัญหาหลายๆ อย่างโดยที่อาจไม่ใช่การพูดแบบตรงไปตรงมา แต่ว่าหลักๆ ก็คือเค้าอยากจะอยู่ในสังคมให้ได้อย่างปกติเนี่ยแหละค่ะ ก็เลยเป็นจุดที่ทำให้ทั้งคู่เกิดความขัดแย้งกัน และพอมีเรื่องสยองในห้องเชียร์เกิดขึ้น มันก็เลยทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ต้องแตกหักกันไปด้วย

 

มีส่วนร่วมกับการแคสต์นักแสดงมากน้อยแค่ไหน

ก็ค่อนข้างมีส่วนในการแคสติงประมาณหนึ่งเลยนะคะ ก็คือพลอยไปนั่งดูทุกคนที่มาแคสต์เลยค่ะ เหมือนพลอยอยากดูว่าสิ่งที่เค้าเล่นเค้าเข้าใจบทแค่ไหน แล้ววิธีของเค้ามันประมาณไหน แล้วก็ดูว่าใครเหมาะบทไหนที่สุด เราก็ยังไม่เคยร่วมงานกับทั้ง “มิวสิค” และ “แคร์” แต่พอได้มาทำงานด้วยกัน เราก็รู้สึกแฮปปี้นะที่ได้นักแสดงสองคนนี้มาแสดง เพราะบทมันค่อนข้างซับซ้อนและเล่นยากประมาณหนึ่งเลย ทั้งการปกปิดความรู้สึก การแสดงออกทางอารมณ์ ซึ่งทั้งคู่ก็เข้าใจบทและคาแร็กเตอร์ของตัวเอง แสดงได้เข้ากันและลงตัวทั้งคู่ค่ะ

 

Term-2-Haunted-Universities-Cheer-Music-Scene01

Term-2-Haunted-Universities-Still02

 

เรื่องนี้จะเน้นความรู้สึกบีบคั้นทางอารมณ์เป็นพิเศษ

ใช่ค่ะ เรื่องนี้มันจะเน้นอารมณ์เป็นส่วนใหญ่ พอนักแสดงเค้ารู้ว่าต้องเล่นยังไง และพอนักแสดงเค้าเล่นได้ สิ่งที่พลอยจะทำก็คือปรับเลเวลของเค้าสองคนมากกว่า หรือแบบปรับให้สองคนนี้ดูเข้ากัน ดูเป็นเพื่อนกันจริงๆ อะไรอย่างนี้ แล้วก็อาจจะดึงความเป็นผู้หญิงมาใช้ว่าผู้หญิงปกติเค้าก็จะมีการแสดงออกอีกแบบหนึ่งที่บางทีมันก็ซับซ้อนอะไรอย่างนี้ พลอยก็จะดึงเอาไอ้จุดนี้มาใช้บ้างเป็นดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ค่ะ

 

การเตรียมตัวก่อนการกำกับเรื่องนี้

แน่นอนว่าต้องไปทำการบ้านทั้งเรื่องบทเรื่องข้อมูล แล้วปกติพลอยก็ดูหนังผีได้นะ แต่ว่าไม่ได้เป็นคนที่ดูแบบว่าชอบดูแล้วไปไล่ดูเยอะๆ อะไรอย่างนี้ แต่ว่าพอมาทำเรื่องนี้ก็เลยต้องกลับไปดูพวกหนังผีแต่ละเรื่องว่าผีเค้าออกมายังไง เค้าหลอกยังไง ใช้ซาวด์ยังไงอะไรอย่างนี้ ดูเอาเทคนิคเอามูดเหมือนดูเพื่อเรียนรู้อะค่ะ

 

การกำกับหนังเรื่องแรกมีความยากง่ายยังไงบ้าง ยิ่งเป็นหนังผีด้วย

สำหรับพลอยในการกำกับหนังผีเรื่องแรกก็คือ ยากมากค่ะ ปกติพลอยก็ไม่เคยทำหนังผีเลย แบบไม่เคยเลย อาจจะมีบ้างแต่ว่ามันก็เป็นเหมือนแค่แก๊กแค่มุกผีเฉยๆ แต่เรื่องนี้มันเป็นหนังผีจริงๆ ทั้งเรื่องเลย มันก็จะยากตรงที่ทำให้เป็นหนังผีน่ากลัว มันจะยากตรงแบบเทคนิคว่าผีจะมายังไง มันจะมีเสียงมาก่อนมั้ย มันจะค่อยๆ บิลด์คนดูยังไง มันจะมาแบบไหน ผีจะเป็นแบบไหนอะไรอย่างนี้ค่ะ มันเป็นการกำกับที่ใหม่สำหรับพลอย มันก็เลยค่อนข้างยากนิดนึง แต่พอมันมีเรื่องซับพล็อต มีเรื่องความสัมพันธ์ของเพื่อนเข้ามา อันนี้พลอยก็ค่อนข้างถนัดไอ้เรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครเนี่ย มันก็เลยบาลานซ์กันได้ แต่ว่าถ้ามันแบบเป็นหนังผีเพียวๆ เน้นหลอกเน้นแอ็กชันหนีผีอะไรอย่างนี้ อันนั้นพลอยว่าน่าจะยากกว่านี้อีกค่ะ

 

Term-2-Haunted-Universities-Cheer-Dir-Talks04

Term-2-Haunted-Universities-Cheer-Dir-Talks03

Term-2-Haunted-Universities-Still21

 

ฉากประทับใจ

พลอยจะชอบฉากที่ตัวละครคุยกันบนดาดฟ้า เพราะว่าเหมือนมันเป็นซีนที่ตัวละครได้ปลดปล่อยความรู้สึกออกมา ได้พูดความต้องการของตัวเองออกมาซักที เพราะก่อนหน้านั้นตลอดทั้งเรื่องเค้าก็เหมือนรับความต้องการของคนอื่นมาโดยตลอด ซีนนี้ก็เป็นซีนไคลแม็กซ์ของเรื่องก็ว่าได้ มันเป็นซีนอารมณ์แล้วตอนเขียนบทมันก็ยากด้วย เพราะว่ามันต้องใช้ไดอะล็อกล้วนๆ เลย ก็เปลี่ยนหลายครั้งมาก จนหน้ากองจริงๆ มันก็ควบคุมได้ประมาณหนึ่ง แต่ว่าสุดท้ายก็อยู่ที่ตัวนักแสดงด้วยว่าการแสดงอารมณ์เค้าเป็นยังไง พลอยก็ไม่ได้ฟิกซ์ประโยคมาก แต่ว่าก็บอกน้องว่าเอาใจความประมาณนี้ เอาที่พูดให้เข้าปากอะไรอย่างงี้ ส่วนใหญ่พลอยจะให้เค้าเล่นยาวๆ ทั้งซีนมากกว่าค่ะ เพราะว่าบางทีมูดมันเหมือนต้องไต่ระดับอารมณ์มาเรื่อยๆ สมมติว่าเทกนี้เค้าไต่ประมาณนี้ เทกต่อไปเค้าอาจจะไต่ที่ชันกว่านี้อะไรอย่างนี้

 

ความเชื่อเกี่ยวกับตำนานผีมหา’ลัย เคยมีประสบการณ์โดยตรงบ้างมั้ย

เป็นคนเชื่อเรื่องผีว่ามันมีอะไรอย่างนี้ แต่ก็ไม่เคยเจอแบบเป็นตัวๆ นะคะ และตอนอยู่มหา’ลัยก็มีรุ่นพี่เล่าต่อๆ กันมาแหละ มันก็มีไม่กี่เรื่องหรอกที่เหมือนเล่าต่อๆ กันมา ก็ฟังดูน่ากลัวดี แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นแบบกลัวจนไม่กล้าเดินผ่านตรงนั้นตรงนี้ ไม่ได้ถึงขั้นแบบว่าทำให้ใช้ชีวิตไม่ได้ แต่ก็มีบ้างที่แบบเฮ้ย…ห้องน้ำนี้มีคนเคยเล่าเรื่องผีว่ะ ไปห้องน้ำเป็นเพื่อนหน่อยดิอะไรอย่างนี้

คือพลอยเรียนที่ลาดกระบัง แล้วเรื่องนี้ก็ได้ไปถ่ายที่ลาดกระบังด้วย แล้วทีนี้มันไปถ่ายคณะที่พลอยเคยเรียนคือคณะสถาปัตย์ฯ แล้วพลอยก็รู้เรื่องผีของคณะอยู่แล้วใช่มั้ยว่าห้องนั้นห้องนี้ที่เค้าเล่าต่อๆ กันมา เวลาเข้าห้องน้ำก็มีชวนทีมงานรุ่นน้องไปด้วย ไม่กล้าไปคนเดียว แต่ว่าก็ไม่กล้าบอกทีมงานนะ แล้วแบบวันถ่ายมันก็จะมีคนที่แต่งตัวเป็นผีเดินวนเวียนอยู่ในกองตรงนั้นอีก มันก็จะหลอนๆ หน่อยค่ะ

 

แล้วตอนถ่ายทำเรื่องนี้มีเจออะไรแปลกๆ บ้างมั้ย

ส่วนตัวพลอยไม่ได้เจอนะคะ แต่มีทีมงานเล่าว่ามิวสิคเจอ คือมิวสิคเค้าเหมือนเล่นฉากที่ต้องเห็นผีแล้วเหมือนเค้าเล่นยังไม่ได้ซักที เค้าก็เลยแบบขอในใจขอให้เห็น แล้วก็มีคนบอกว่าเทกนั้นที่เราชอบอะมิวสิคได้เห็นจริงๆ อะไรอย่างนี้ เพราะว่าไอ้เทกที่พลอยแบบโอเคก็คือมิวสิคเล่นเสร็จออกมา มิวสิคร้องไห้เลย พลอยก็แค่คิดว่าน้องอินกับมันหรือว่ายังไง แต่ว่าตอนนั้นก็ไม่ได้คิดนะคะว่าเค้าเห็นหรือไม่เห็นอย่างนี้ แล้วก็มีคนมาเล่าอีกว่าตรงหลังมอนิเตอร์ที่เรานั่งอยู่ เหมือนมีคนยืนมองอะไรอย่างนี้ด้วย แต่ว่าพอฟังแล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้เพราะเราก็ถ่ายกันไปแล้ว แต่ก็รู้สึกหลอนๆ ดีค่ะ

 

เสน่ห์และความน่าสนใจโดยรวมของเรื่องนี้

ความน่าสนใจของ “เทอมสอง สยองขวัญ” มันเป็นเรื่องที่เล่าเกี่ยวกับตำนานผีมหา’ลัยที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยมีใครหยิบเอามาทำเท่าไหร่ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่คนที่เป็นนักศึกษาที่อยู่ในแต่ละมหา’ลัยก็จะมีเรื่องเล่าที่รุ่นพี่เล่าต่อๆ กันมา หรือเรื่องที่คุยกันเองแล้วก็รู้สึกว่ามันจะผูกพันกับชีวิตช่วงมหา’ลัยของเราอยู่เรื่อยๆ ก็คิดว่าหลายคนน่าจะต้องเคยผ่านเรื่องแบบนี้มาเหมือนกันตอนเรียนมหา’ลัยค่ะ พลอยคิดว่ามันน่าสนใจตรงที่เขาหยิบเอาประเด็นนี้มาทำแล้วก็เป็น 3 เรื่องที่มันต่างกันไปเลย คนละแนวคนละอารมณ์ รวมถึงได้ทีมนักแสดงที่มีฝีมือทางการแสดงมาร่วมงาน มันก็น่าดูเลยค่ะ

ในส่วนของตอน “เชียร์ปีสุดท้าย” พลอยก็คิดว่ามันเป็นหนังผีที่เล่าถึงแง่มุมอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องความกลัวหรือว่าเรื่องผีอย่างเดียว แต่อยากให้ไปมองในมุมความรู้สึกของตัวละครที่แบบว่าเห็นผีแล้วเค้ารู้สึกยังไง เค้าจะจัดการการเห็นผีของเค้ายังไง หนังมันจะเล่ามากกว่าความกลัวผี จะเล่าไปในเรื่องความสัมพันธ์ของเพื่อนผู้หญิงในช่วงอายุที่มันสับสนหน่อย อารมณ์พลุ่งพล่านอะไรอย่างนี้ แล้วอีกอย่างก็คล้ายๆ จะเป็นการเก็บความทรงจำของกิจกรรมห้องเชียร์ไว้ในเรื่องนี้ด้วย เพราะว่าไอ้สิ่งนี้มันอาจจะหายไปในเร็วๆ นี้ก็เป็นได้ค่ะ หรือว่าถ้ามันยังมีอยู่ก็อาจจะเป็นในลักษณะที่ไม่เหมือนในสมัยก่อนแล้ว ก็ถือว่าเก็บเป็นที่ระลึกบันทึกไว้ในเรื่องนี้ค่ะ

 

Term-2-Haunted-Universities-Cheer-Dir-Talks05

Term-2-Haunted-Universities-Still17

 

บันทึกผู้กำกับ “พลอย ภัทรภร” จากเรื่อง “เทอมสอง สยองขวัญ: เชียร์ปีสุดท้าย”

เมื่อนึกถึงชีวิตในมหาวิทยาลัย “กิจกรรมเชียร์” เป็นกิจกรรมที่มักจะถูกพูดถึงเป็นหลักอยู่ช่วงหนึ่งของชีวิตนักศึกษามหา’ลัย ในยุคนั้น “เชียร์” ของแต่ละสถาบันก็ถูกพูดถึงในรูปแบบต่างๆ กันไป มีทั้งในแง่ดีมากและแง่ที่เลวร้ายมากๆ และส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพียงการบอกเล่าต่อๆ กันมา ไม่ได้มีภาพหรือคลิปให้ดูมากนัก

 

“เชียร์” เลยดูเป็นกิจกรรมที่มีความเป็นไปได้ในหลากหลายแบบมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ อย่างเช่นเราเจอเชียร์ที่แบบเบามากๆ เน้นเอนเตอร์เทนเป็นหลัก ส่วนเพื่อนอีกคณะเจอเชียร์ที่เป็น “ระบบโซตัส” และกดดันมากๆ

 

ปัจจุบันถึงแม้กิจกรรมเชียร์เป็นกิจกรรมที่กำลังจะถูกให้ความสำคัญลดลง และมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ หายไป อาจจะด้วยความสมัครใจ ด้วยช่วงเวลา และทัศนคติที่เปลี่ยนผ่าน แต่สำหรับเราก็คิดว่า “เชียร์” ยังน่าจะถูกพูดถึงและเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจในแง่มุมต่างๆ

 

ตอนที่เราได้รับโจทย์ภาพยนตร์ “เทอมสอง สยองขวัญ ตอน เชียร์ปีสุดท้าย” มาทำในยุคปัจจุบันเลยรู้สึกว่ามันค่อนข้างจะท้าทายอยู่เหมือนกัน เนื่องจากว่าคนยุคนี้จะไม่อินกับ “ระบบกดทับ” แบบนี้แล้ว และด้วยประสบการณ์ที่เราผ่านมา เราก็ไม่ได้ผ่านการเชียร์แบบโซตัสสุดโต่งขนาดนั้น เชียร์ที่เราได้ผ่านมามันก็เป็นกิจกรรมที่เราคิดถึงในทางที่ดี เราจึงเลือกที่จะลดความเข้มข้นของโซตัสลง มีการบังคับกันที่ (เหมือนจะ) น้อยลง และให้ในภาพยนตร์เป็น “ยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งการตัดสินใจแบบครึ่งๆ กลางๆ ในยุคเปลี่ยนผ่านมันก็มีปัญหาของมัน

 

ส่วน “ผี” ในเรื่อง ด้วยว่าเรื่องนี้เน้นไปที่ความสัมพันธ์ของตัวละครหลัก 2 ตัว มันจึงมี Conflict อื่นอีกด้วยนอกจากการที่ตัวละครเจอผี ผีในเรื่องจึงค่อนข้างจะเชื่อมโยงกับความรู้สึกแปลกแยกของตัวละคร เช่นเป็นผีที่ตายด้วยการฆ่าตัวตายหรือถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งตัวละครหลักก็จะรู้สึกทั้งกลัวและถูกดึงดูดจากผีพวกนั้นด้วย เหมือนว่าตัวละครเองก็จะก้ำกึ่งไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะกับพื้นที่ตรงไหนมากกว่ากันระหว่าง “โลกห้องเชียร์” กับ “โลกของผี”

 

เรื่องผีดราม่าเป็นแนวทางกำกับใหม่ที่พลอยยังไม่เคยได้ลองทำ มันจึงมีความยากในหลายๆ ส่วน แต่ก็พยายามและตั้งใจทำเต็มที่ ขอบคุณโอกาสดีๆ ที่ทาง “สหมงคลฟิล์มฯ” มอบให้ค่ะ หวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไปได้ไกลและมีการตอบรับที่ดีค่ะ

เทอมสอง สยองขวัญ (Haunted Universities 2nd Semester)

เทอมสอง สยองขวัญ (Haunted Universities 2nd Semester)

“เรื่องสยองในมหา’ลัย” ถูกเล่าลือมาทุกยุคสมัย จากรุ่นสู่รุ่น จากคณะสู่คณะ จากมหา’ลัยสู่มหา’ลัย หลายตำนานความเฮี้ยน หลากเรื่องราวความหลอน ที่ “คนในอยากหลอก คนนอกอยากเล่า” “สหมงคลฟิล์ม...

รายละเอียดภาพยนตร์

Featured News