แนะนำตัว-ผลงานที่ผ่านมา
สวัสดีครับ ผม “ก๋วยเตี๋ยว-จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์” เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “เทอมสอง สยองขวัญ ตอน เดอะซี” ครับ เรื่องนี้ก็เป็นหนังเรื่องแรกครับ ผลงานที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผมก็จะกำกับพวกโฆษณา, มิวสิกวิดีโอ (Tilly Birds, วี วิโอเลต) แล้วก็ซีรีส์ “GGEZ เกรียนเมพเทพศาสตร์” และ “แนนโน๊ะ” (เด็กใหม่ The Series ซีซัน 1-2) ดูผลงานทั้งหมดได้ที่นี่ครับ https://vimeo.com/guayteaw
ที่มาที่ไปของโปรเจกต์นี้
มันเป็นโปรเจกต์ที่ถูกเขียนจากเรื่องของความเชื่อ ตำนาน หรือเรื่องผีของแต่ละมหาวิทยาลัยอย่างงี้ ในส่วนตัวของผมก็เข้าใจว่ามันเป็นเหมือน Folktale เรื่องเล่าพื้นบ้าน เหมือนพื้นที่ที่มีผู้คนมาใช้ชีวิตกันอยู่แล้วเรื่องผีมันก็เป็นเหมือนตำนานพื้นบ้านของแต่ละที่ แต่ว่าตำนานหรือเรื่องผีของมหาวิทยาลัยมันอาจไม่ได้มีอายุหลายร้อยปีขนาดนั้น มันก็เลยเหมือนเป็นเรื่องเล่าสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นตามมุมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่มันมีเรื่องราวของคนเสียชีวิต มีความเชื่ออะไรต่างๆ มาผสมผสานกัน ซึ่งแต่ละเรื่องในโปรเจกต์ “เทอมสอง สยองขวัญ” เรื่องนี้ มันก็สร้างมาจากเรื่องราวหรือตำนานเรื่องเล่าผีของแต่ละมหา’ลัยที่มันยึดโยงอยู่กับสถานที่แห่งนั้นๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมาดัดแปลงและเล่าในมุมมองของคนยุคปัจจุบันนี้ครับ
เรื่องราวของตอน “เดอะซี”
ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเรื่องผีในโปรเจกต์นี้มันเกี่ยวกับสถานที่ มันคือผลกระทบกลับจากแต่ะละสถานที่ เหมือนกับเรื่อง “ผีเตียงซี” ในตอน “เดอะซี” ที่ผมกำกับ มันก็คือหอพักในมหา’ลัยที่มีอายุหน่อย เราก็จะพบว่าหอพักพวกนี้มันจะมีความเก่าแก่ มันถูกใช้มาหลายรุ่นมาก มันก็จะมีสิ่งที่ถูกทิ้งไว้มากมาย
“เดอะซี” มันก็จะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับหอพักชายของนักศึกษาแพทย์ที่หนึ่งซึ่งก็ถูกใช้งานมาหลายรุ่น มันก็เติบโตไปพร้อมกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งมันก็มีเรื่องเล่ากันมาว่าจะมีผีนักศึกษาแพทย์กลับมาพักที่เตียงซีในหอพักชายในวันสถาปนามหา’ลัยทุกๆ ปี ซึ่งเด็กนักศึกษาคณะนี้ก็จะรู้กันดี ก็จะไม่มีใครกล้าอยู่หอในวันครบรอบนี้ แต่ปีนี้มันดันเหมาะเจาะพอดีกับพระเอกของเราที่ไม่ได้กลับบ้านด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันก็เลยทำให้ผีเตียงซีกับพระเอกต้องมาเจอกันจนเกิดเป็นเหตุการณ์สยดสยองขึ้น
แต่ว่าในเชิงของธีมหนังแล้ว ผมก็ตีความว่ามันเป็นหนัง Coming of Age ก็ได้ ถึงแม้ว่าฟีลของมันจะคือหนังผีปีศาจอะไรอย่างงี้ แต่ว่าในส่วนของตัวละครมันคือหนังก้าวผ่านวัย คือผีที่กลับมาทุกปีมันเหมือนคนที่ไม่สามารถหลุดออกไปจากสิ่งที่ตัวเองยึดถือยึดติดได้ ส่วนตัวของพระเอกเองก็อยู่ในโมเมนต์ที่กำลังต้องตัดสินใจว่าเขาจะเลือกเป็นในสิ่งที่เขาเป็นไม่ได้ หรือว่าเลือกจะยอมรับว่าเขาทำสิ่งนี้ไม่ได้แล้ว มันเป็นโมเมนต์ของการเติบโต ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วหนังก็จะแสดงให้เห็นว่าทั้งผีและคนจะเลือกทางไหนประมาณนี้ครับ
การแชร์ไอเดียในบทภาพยนตร์ยังไงบ้าง
จริงๆ ทางทีมสหมงคลฟิล์มฯ คือเปิดมากๆ นะครับ เพราะว่าเราก็มีมุมมองของเราต่อหนังเรื่องนี้อยู่ประมาณหนึ่ง คือด้วยวัยของเรา ด้วยลักษณะผีที่เราอยากเห็น ทางค่ายเค้าก็ Open เราก็เลยลองแชร์ไอเดียเรื่องบทไปในทิศทางที่เราอยากปรับกับคนเขียนบท ซึ่งก็มีการปรับจูนกันมาเรื่อยๆ ตามเวลาของโปรเจกต์นี้จนกระทั่งได้บทดราฟต์ที่เราโอเคละ ซึ่งทางสหมงคลฟิล์มก็โอเคกับการเล่าเรื่องประมาณนี้ด้วย ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนไอเดียที่ผมคิดว่าโอเคเลย มันน่าออกมาสนุก
มีส่วนร่วมในการคัดเลือกทีมนักแสดงมากน้อยแค่ไหน
เรื่องการแคสติงเนี่ย เนื่องจากว่าเรื่อง “เดอะซี” นี้มันมีตัวละครที่ต้องแบกหนังทั้งเรื่องเลย เพราะตัวละครมันน้อยมาก แล้วมันเป็นพื้นที่ปิดอะไรอย่างงี้ด้วย การค้นหานักแสดงก็ใช้เวลามากอยู่ แล้วก็ทดลองไปในหลายๆ แบบ มันเหมือนต้องใช้ความเก๋าในการแสดงพอสมควรเพื่อที่จะเอาตัวรอดในซีนนั้นๆ เพราะเรื่องนี้ตัวละครเอกมันก็ดันมีปัญหาส่วนตัวด้วย แล้วก็ยังต้องมาเจอกับผีอีก ฉะนั้นมันมีทั้ง Physical ทั้ง Mentality มันตีกันไปหมด มันก็จะเป็นการแสดงที่ Challenge ท้าทายอยู่ ก็จนได้ Choice มาเป็น “เจมส์ ธีรดนย์” เราก็เข้าไปคุยกับเจมส์ว่าเรื่องมันเป็นแบบนี้นะ ไอเดียของเรากับหนังเรื่องนี้มันเป็นแบบนี้ ลองอ่านบทดูแล้วชอบมั้ย ก็โชคดีที่เจมส์เขาอ่านแล้วก็เห็นว่าตัวของเขาเองเนี่ยมีอะไรให้ Explore กับเรื่องนี้ก็เลยรับเล่นครับ
ส่วน “นาน่า ศวรรยา” เนี่ยเอาจริงๆ ลึกๆ เลยนะครับ ตั้งแต่ต้นๆ ที่อ่านบทเราก็เห็นเป็นนาน่ามาตลอดเหมือนกันเนาะ เพราะผมเคยร่วมงานกับน้องในละครเรื่อง “My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน” (2562) ผมรู้สึกว่ามวลรวมสมวัยกับบท แล้วสุดท้ายก็ได้นาน่ามาเล่น ก็ถือว่าเราว่าโอเคมากในเรื่องของเคมี แล้วก็ฝีมือทางการแสดงของทั้งคู่ก็ดีมาก ส่วน “ผี” ในพาร์ตนี้เราเวิร์กกับ Casting Director อย่างเต็มที่ ผีมันต้องลักษณะยังไงแล้วก็ต้องมี Physical แบบไหน อันนี้ก็จะทำการบ้านกับทางฝ่าย Casting เยอะหน่อยประมาณนี้ครับ
คาแร็กเตอร์ของตัวละครหลักในเรื่องนี้
“แทน” (เจมส์ ธีรดนย์) ก็จะเป็นนักศึกษาแพทย์ปีหนึ่งที่เข้ามาเรียนตามแฟน คือเขาเป็นคนหัวกลางๆ ไม่เก่งมาก แต่ว่าแฟนเนี่ยเรียนเก่ง ตัวเองก็เลยต้องพยายามที่จะเข้ามาเรียนกับแฟน ซึ่งสำเร็จแล้วก็ดีใจมาก แทนเหมือนเป็นคนกลางๆ ในสังคมที่ไม่ได้โดดเด่น ไม่ได้แย่ไปเสียหมด แต่ว่าคนกลางๆ เหล่านี้มันก็ต้องใช้ความพยายามมากๆ ที่จะไปให้ถึงความต้องการของสังคม ก็เหมือนกับแทนที่ก็ต้องพยายามอย่างมากในการจะเป็นแพทย์ โดยที่มนุษย์เราพอพยายามมากๆ บางทีเราไม่รู้หรอกว่ามันเหมาะกับเราจริงหรือเปล่า เรารู้แค่ว่าเราพยายามมากๆ แล้วความหมายหรือคุณค่าของสิ่งที่เราทำก็เลยเพิ่มขึ้นตามความพยายามมากๆ ของเรา ซึ่งในเรื่องนี้เดี๋ยวเราก็จะเห็นว่าพอเขาเจอว่าเขาเป็นสิ่งนี้ไม่ได้แล้ว เขาจะทำยังไงกับมัน แล้วดันโชคร้ายมาเจอกับเหตุการณ์สยองเข้าให้อีก เขาจะจัดการกับมันยังไง
ส่วน “แตง” (นาน่า ศวรรยา) ก็เป็นเด็กผู้หญิงเรียนเก่งแล้วก็เอนจอยกับชีวิต แล้วก็ช่วยกันสอบเข้ามาเรียนแพทย์ได้กับแทน ไม่ได้มีปัญหาใดๆ กับชีวิตเท่าไหร่ จะมีก็แค่เรื่องของแทนที่เป็นแฟนนี่แหละที่เหมือนเป็นความผูกพันที่โตมาด้วยกัน ที่เรียนมาด้วยกัน แล้ววันหนึ่งแทนก็เปลี่ยนไปซะงั้น สำหรับแตงแล้ว การที่คนที่เรารักคนที่เรารู้จักมานานเปลี่ยนไป ก็พยายามจะรู้ให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็คือพร้อมเข้ามาซัปพอร์ตตัวของแทนเสมอ
ส่วน “ผี” ในเรื่องนี้ก็จะเป็นผีนักศึกษาแพทย์ที่จะกลับมาวนเวียนอยู่ที่เตียงตัวเองในวันครบรอบทุกๆ ปี อะไรที่มันทำให้ผีมัน Stick With ยังติดอยู่กับอะไรบางอย่าง มันก็เลยเหมือนเป็นภาพสะท้อนของตัวผีกับแทน ตัวผีเองเป็นหมอไม่ได้แล้วแต่ก็ยังยึดติดอยู่ ส่วนแทนเพิ่งค้นพบอะไรบางอย่างที่อาจทำให้เขาเป็นหมอไม่ได้ ทีนี้แทนจะเลือกเป็นแบบผีที่ยังยึดติดและทรมานหรือว่าเลือกที่จะเป็นอิสระจากไอ้ข้อจำกัดเหล่านี้แล้วก็เป็นในสิ่งที่ตัวเองจะเป็นได้ครับ
ในส่วนของ “เจมส์ ธีรดนย์” เคยร่วมงานกันมาก่อนมั้ย
เจมส์นี่ผมยังไม่เคยร่วมงานด้วยเลย ซึ่งตอนแรกก็กังวลอยู่ เพราะผมถือว่าเจมส์เป็นนักแสดงที่มีประสบการณ์โชกโชนทั้งงานแสดง งานร้องเพลง คืองานในวงการผมว่าเจมส์ทำมาแล้วแทบทุกอย่าง ไปจนถึงการแข่งทำอาหาร (MasterChef Celebrity Thailand Season 2) คือน้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับ Entertainment สูงมากๆ เราเลยรู้สึกว่าคนนี้คือทักษะสูง ตอนแรกก็เกร็งๆ แต่ว่าพอมาคุยกันแล้วด้วยวัยมันใกล้กันด้วย เฮ้ย…สนุก สนุกมากทำงานด้วยกัน แล้วเจมส์ก็โปรมาก คือพอเราตั้งกล้องเสร็จ เทกแรกเจมส์จะเล่นได้เลยตามบทเป๊ะไม่มีพลาด ถึงจะบ่นว่าเอ๊ะ…บทตรงนี้ยาวจังเลยพี่ แต่พอเข้าเฟรมปุ๊บ เขามาเลยเล่นได้เลย อันนี้คือความพิเศษ มันคือสกิลในขั้นที่สูงมากแล้ว ซึ่งอันนี้ถือว่าเจมส์ก็ช่วยให้หนังเรื่องนี้ไปได้ไกลขึ้นในการทำงานนะครับ
ที่เลือก “เจมส์ ธีรดนย์” มาแสดงและเป็นตัวแบกรับทั้งเรื่อง ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็นยังไงบ้าง
พอใจมากเลยครับ ผมรู้สึกว่าไปได้ไกลกว่าบทในหลายๆ อย่าง คือเราช่วยกันค้นหาทั้งตอนเวิร์กชอป แล้วก็ตอนที่เล่นอยู่ด้วย วิธีการทำงานก็คือพอเล่นเสร็จแล้ว เรามีสิ่งที่เราโอเคแล้ว มีภาพในหัวแล้ว เราก็ยังจะ Explore กันต่อ คุยกันต่อว่าโอเคมั้ย เรื่องนี้เป็นยังไงบ้าง สำหรับเรามันโอเคแล้วซึ่งเจมส์ก็จะรับฟังเราแหละ แต่ว่าในบางพอยต์ที่มันมีแง่มุมเราก็จะแลกเปลี่ยนกัน เราก็จะลองเพิ่มตรงนี้ดู ลดตรงนี้ดู คือมันเป็นการทำงานที่ดีทั้งเราและนักแสดง ซึ่งนักแสดงต้องแบกทั้งเรื่องด้วยเราก็ต้องฟังความคิดเห็นของนักแสดงด้วย คือมันได้ทำงานไปด้วยกันตั้งแต่ช่วงเตรียมตัวไปจนถึงช่วงถ่ายทำเลยครับ ซึ่งเจมส์ก็ทำออกมาได้ดีทั้งทาง Physical และ Mentality เลยครับ
แล้วการร่วมงานกับ “นาน่า” ล่ะเป็นยังไงบ้าง
จริงๆ เรื่องนี้นาน่ามีเปอร์เซ็นต์ในหนังไม่ได้เยอะมากนะครับ เป็นตัวที่เข้ามาตั้งคำถาม แล้วก็ตัวที่ คอยช่วยเล่าเรื่อง ถ้าจะนับก็ประมาณ 15% ของหนังอะไรอย่างงี้ แต่ว่าก็จะมีซีนที่ต้องเล่นด้วยกันกับเจมส์ด้วย แล้วเคมีของสองคนนี้ผมว่ามันก็เรียลมากอยู่ครับ คือสองคนเล่นได้เข้าใจดีทั้งคู่ แล้วมันก็มีซีนที่ต้องปะทะอารมณ์ซึ่งก็ทำได้ดีมาก คือทำให้เชื่อได้ว่าสองคนเนี่ยเป็นคนรักกันในแบบวัยรุ่น เออ…มันอาจจะไม่ใช่คนรักกันในแบบคนอายุ 30 รักกัน แต่คือต้องยอมรับว่าเจมส์เนี่ยอยู่ในวัยที่อาจจะเกินวัยรุ่นไปหน่อย แต่นาน่ายังฟิตยังสมกับวัยอยู่ ซึ่งมันก็จะช่วยกันดึงให้ความสัมพันธ์มันดูเด็กลงได้อะไรอย่างงี้ครับ จะบอกว่าเข้ากันมั้ย ก็คือเข้ากันเลยแหละ แล้วก็ช่วยกันทำให้มันดูน่าเชื่อถือได้ดีเลยครับ
เรื่องนี้มีการดีไซน์รูปลักษณ์ของผีให้ออกมาเป็นยังไง
แรกสุดเลยมองเป็นผีปีศาจเลย เหมือนเวลาเราอ่านการ์ตูนผีสามบาทก็คือเป็นผีที่หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวเลย แล้วก็มีฟอร์มของคนแต่ว่าผิดรูปผิดร่าง ก็คือผีในเรื่องเนี่ยจะเดินถอยหลังทั้งเรื่อง เดินเตาะแตะๆ อ่อนแอทั้งเรื่อง ร่างกายก็จะพิลึกกึกกือ แล้วเสียงก็จะอู้อี้เพราะว่าเหมือนโดนรถทับแล้วร่างกายมันก็บิดเบี้ยวและเส้นเสียงมันก็บีบบี้ไป แต่ถามว่ามันยังมีเค้าโครงของคนมั้ย ก็ยังมีเค้าโครงของคนอยู่ ยังมีเสื้อผ้าแบบที่เป็นนักศึกษาแพทย์อยู่เพื่อ Remind ได้ว่าเป็นผีนักศึกษาแพทย์นั่นแหละครับ ซึ่งก็ต้องใช้ CG เยอะอยู่นะครับ เพราะว่าคนมันก็จะเดินกลับหลังไม่ได้ตลอด แล้วการที่เราจะหันหัวกลับไปมันจะมีการผสมครึ่งล่างที่เป็นผีเดินกลับหลังกับครึ่งบนที่เป็นหัวคนต้องเอามาประกบกันตลอดเวลา จริงๆ ในการทำงานอันนี้ก็เป็นอุปสรรคหนึ่งในการทำงาน เป็นอุปสรรคที่คิดขึ้นมาเองนี่แหละแล้วก็ต้องยอมรับให้ได้ ก็คือผีเหมือนกับต้องแยกเป็นสองเลเยอร์ เหมือนเดินถอยหลังคนหนึ่งหันหลังอยู่ อีกคนหันหัวกลับ ถ้าหาคนที่กลับหัวได้จะดี แต่ไม่มี ก็เลยต้องผสมเอาครับ
โดยรวมในการกำกับหนังเรื่องแรกมีความยากง่ายยังไงบ้าง
มันยากมากเหมือนกันครับ แต่เราก็เอนจอยกับมันมากนะครับ เป็นความยากที่สนุก ยากตรงที่ว่ามันมีตัวเรานี่แหละที่เป็นคนบอกว่ามันได้หรือยัง มันเหมือนว่ามันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเรา หมายถึงว่าโอเคทางสหฯ ก็มีความคาดหวัง แต่ไอ้ที่มันใหญ่ที่สุดของผมมันคือความคาดหวังกับตัวเองว่าเราทำได้ดีหรือยังในวันนี้ในโมเมนต์นั้น เราทำดีที่สุดกับสิ่งที่เราเขียนมาหรือยัง เราทำได้ดีที่สุดกับความเต็มที่ของนักแสดงของทีมงานที่เขาทำให้เราหรือยัง มันเป็นคำถามที่หนักอยู่เหมือนกันกับคนที่แบบไม่เคยทำสิ่งนี้ คือการที่เราทำมาหรือโตมากับอุตสาหกรรม Entertainment ในพาร์ตอื่นๆ มันมีลูกค้า มันมีคนอื่นๆ ที่เข้ามาเพื่อบอกว่าอยากให้ทำแบบนี้ อยากให้เป็นแบบนั้น แต่พอเรามาทำหนังจริงๆ แล้วเรารู้สึกว่ามันคือตัวเราเองแล้ว ไม่ว่าเราจะภูมิใจแค่ไหน ไม่ว่าเราจะเต็มที่กับมันแค่ไหน หรือว่าเราจะเครียดกับมันแค่ไหน มันก็คือเราที่ต้องทำมันให้ได้ อันนี้มันเป็นความยากแหละมั้งครับ เพราะว่ามนุษย์เรามันคงไม่เคยพอใจตัวเองกันง่ายๆ เท่าไหร่ ก็เป็นความเครียดตรงนั้นครับ แต่ผมก็เอนจอยในการทำหนังเรื่องนี้มากนะครับ สุดท้ายพอจบวันหรือจบคิวถ่ายแล้วย้อนกลับมาดูมันก็สนุกมันเหมือนเรามีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เราคิดออกมาให้เป็นภาพมากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ มันคือการ Challenge กับตัวเองนั่นแหละครับ
ส่วนตัวมีความฝันที่จะกำกับหนังแนวไหนมั้ย แล้วพอได้กำกับเรื่องแรกเป็นหนังผีเลย มีความกดดันมากน้อยแค่ไหน
จริงๆ ตอนที่ทำซีรีส์เราก็ดันหลุดไปทำ “แนนโน๊ะ” ซึ่งก็เป็น Thriller Horror อยู่แล้ว ซึ่งเราก็ค้นพบว่าเราทำได้แหละในมาตรฐานหนึ่งที่เราก็รู้สึกว่าเราทำได้ แต่ว่าดีเทลต่างๆ ในเรื่องเหล่านั้นมันจะมีสิ่งที่เราถนัดและแทรกเข้าไป ความเซอร์เรียลบางอย่าง ความเป็นกิมมิกบางอย่าง ความเป็นคอมิกบางอย่างของมัน เพราะเราก็แบบว่าโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น ก็ดูหนังดูการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กเลย
ตอนแรกสุดเราไม่คิดว่าเราจะได้ทำหนังหรอก ซึ่งจริงๆ แล้วเราคิดตลอดแหละ เพียงแต่เราไม่กล้ายอมรับว่าเราคิดว่าเราจะได้ทำ เหมือนเป็นการลดระดับความคาดหวังของตัวเองเสมอ อาจจะเป็นนิสัยส่วนตัวครับ แต่พอจะได้ทำเราก็รู้สึกได้ว่าลองดูถึงจะเป็นหนังผีก็จะลองดูสักตั้งครับ เพราะว่าเรากลัวผีมากครับ ประสบการณ์ส่วนตัวผมเนี่ยกลัวผีมาก กลัวผีแบบสุดๆ ไปเลย ตอนเด็กๆ เหมือนเคยเจอ แต่ไอ้ที่เคยเจอเนี่ยเราก็พยายามอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์แล้วด้วยนะว่าเราเคยเจอเพราะอะไร มันอาจจะเป็นเพราะ A B C D อะไรงี้ แต่เราก็มีความกลัวผี ตอนเราจะทำเราก็อ่านบทดู แล้วเราก็คิดว่ามันจะเป็นเราได้ยังไงบ้างกับเรื่องนี้ โอเคเราต้องทำให้มันน่ากลัวอันนั้นเป็น Challenge ที่ยากสุดแล้วมั้งสำหรับคนทำหนังผีเรื่องหนึ่ง ถ้ามันทำงานกับต่อมความกลัวของคนได้เรารู้สึกว่ามันชนะเลิศ แต่ว่าถ้ามันเป็นผีแล้วมันบวกกับอะไรแล้วเราจะโอเคกับมัน มันจะบวกกับดราม่ามั้ย หรือมันจะบวกกับอะไร ซึ่งหนังเรื่องนี้ในท้ายที่สุดมันเหมือนเป็นหนังผีสยองที่บวกกับดราม่า Coming of Age ประมาณนี้ซึ่งเราเอนจอย ผมชอบอยู่ในการที่มันเป็นแบบนั้น เราถนัดกับงานดราม่าพอสมควร เรารู้ว่าต้องดีลกับมันยังไง เพราะมันมีส่วนที่เรา Comfort ด้วยอยู่ในหนังเรื่องหนึ่ง กับส่วนที่เราต้องพยายามอย่างยิ่งในหนังเรื่องหนึ่ง มันก็มีส่วนที่แชร์กัน มันก็เลยบาลานซ์การทำงานของเราได้มากขึ้นครับ
ถือว่าความกลัวผีของเรามันมีส่วนช่วยในการกำกับหนังมากน้อยแค่ไหน
มันมีส่วนช่วยเหมือนกันนะครับ คือมันมีส่วนช่วยในการที่เราใช้ตัวเราเองเช็กว่าเรากลัวหรือยัง แล้วมันเป็นความกลัวขั้นเดียวกับที่เรากลัวหนังผีน่ากลัวๆ หรือเปล่าอะไรอย่างงี้ แต่ว่ามันก็มีข้อด้อยเหมือนกันตรงที่พอเรากลัวเนี่ยมันเหมือนคนบ้าจี้อะครับ จี้นิดเดียวก็ขำแล้ว เราก็เลยต้องวัดจากหลายๆ คนรอบๆ ตัวว่ามันน่ากลัวหรือยัง มันน่ากลัวมั้ย เราก็เลยเพิ่มความแอ็กชันเข้าไปในหนังด้วยเพื่อให้มันโอเค มันจะน่ากลัวสุดๆ ได้มั้ยกับคอนเซปต์ไอเดียตั้งต้นแบบนี้ การเป็นผีแบบนี้ การที่ผีมันสามารถทำเหตุการณ์เหล่านี้ได้ A B C D การที่ผีมีเหตุผลประมาณนี้ ตัวผีเองมันจะยังน่ากลัวได้ขนาดนั้นมั้ย เพราะบางทีความน่ากลัวมันก็ผสมความตกใจ ผสมกับความไม่มีเหตุผลบางอย่างอะไรงี้ครับ มันจะน่ากลัวแบบไหนดี แล้วก็ใช้ตัวเองเป็นมาตรวัดครึ่งหนึ่งแล้วเอาไปเช็กกับคนรอบๆ ตัวด้วยว่ามันน่ากลัวแล้วหรือยัง เวลาถ่ายอยู่แล้วจบเทกนั้นแล้วเรารู้สึกว่าเฮ้ย…มันน่ากลัวแล้ว เราก็จะหันไปมองพี่ตากล้องซึ่งก็กลัวผีเหมือนกันแบบน่ากลัวมั้ย น่ากลัวแล้ว โอเค งั้นแปลว่ามันน่าจะทำงานอยู่อะไรประมาณนี้ แล้วก็ระหว่างทางที่ทำแม้แต่ตอนถ่ายเราก็เช็กตลอดในคิวแรกๆ ที่เราถ่ายว่าทำไมผีมันไม่ค่อยน่ากลัว อะไรที่มันทำให้เรากลัวผีในหนังผีเรื่องอื่นๆ อะไรที่ทำให้เราไม่กลัวผีในเรื่องนี้ มันก็เป็นการค้นหาไปเรื่อยๆ ระหว่างการทำงานมันเป็น Process ที่ซ้อนอยู่ใน Process อีกทีหนึ่งซึ่งก็สนุกดีครับ
อธิบายความเป็นหนังผีแอ็กชันสยองขวัญของเรื่องนี้หน่อยว่ามันเป็นยังไง
คือเรื่องนี้ฟอร์มแรกมันคือ Suspense ความตึงเครียดของหนัง มันเกิดความตึงเครียดแปลว่าตัวละครมันต้องถูกจำกัดความสามารถ มันควบคุมตัวเองไม่ได้เหมือนร่างกายมันช็อต ทีนี้ในหอพักเนี่ยมันก็ดันมีผีโผล่มาด้วย ซึ่งมันจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ผีมันโกรธตัวละครหลักของเราแล้วก็ไล่ล่าตามกัน ตรงนี้แหละที่มันทำให้เกิดเหตุการณ์แอ็กชันขึ้น การเอาตัวรอดโดยร่างกายมันไม่สมประกอบ มันไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วมันจะทำยังไงให้ตัวเองเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์นี้ไปได้ กับตัวผีเองนอกจากจะน่ากลัวแล้ว ในระหว่างทางมันจะมีการอัปเลเวลของผีซึ่งทำให้ตัวผีสามารถเหมือนเคลื่อนที่ได้อิสระมากขึ้นจากเดิม มันก็เลยเกิดเป็นซีนแอ็กชันขึ้นมาจากการต้องเอาตัวรอดให้ได้ในพื้นที่จำกัดอะไรแบบนี้ครับ
ระดับการกลัวผีของเราอยู่ในจุดไหน
อยู่ในจุดที่จะวัดเป็นมาตรยังไงดี เพราะก็กลัวหมดเลย เรากลัวตกใจด้วย คือเราเดาได้แต่เราก็กลัว ดูหนังผีได้แล้วก็เดาได้ว่ามันจะมา แต่พอมันมาแล้วเราก็กลัวอยู่ดี คือเรากลัวเพราะว่าเหมือนเขาเรียกว่าอาจจะมีประสบการณ์ร่วมมั้ง หมายถึงว่าเราก็เคยเจอผีตอนเด็กๆ เรารู้สึกว่ามันน่ากลัว มันเหมือนเราได้เคยเปิดต่อมนี้ไปแล้ว ต่อมความกลัวผีเนี่ย ก็เลยรู้จักมันแล้วก็เจอมันบ่อยๆ อะไรงี้ครับ
มีประสบการณ์เกี่ยวกับผีมหา’ลัยมั้ย
ถ้าผีมหา’ลัยไม่เคยเจอนะครับ แต่จะมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมา ผมเรียนนิเทศฯ จุฬาฯ ซึ่งคนอยู่ใต้คณะเยอะมาก มันไม่เคยมีความเงียบเลยครับ มันจะมีแค่เรื่องวิดีโอตัวหนึ่งที่เป็นวิดีโอผีของคณะไรงี้ เหมือนถ่ายหนังสั้นกันแล้วทุกปีก็จะเปิดให้ดูกัน มันจะมีมือใครก็ไม่รู้โผล่เข้ามาในเฟรมแบบยาวๆ โดยที่แบบทีมงานทุกคนยืนยันว่าไม่มี กับอีกเรื่องที่ตึกเก่าของนิเทศที่จะมีห้องอัดฟิล์มแล้วก็เหมือนมีผีอยู่ในนั้นที่แบบจะชอบโผล่มาอะไรอย่างงี้ครับ แต่ผมรอดตลอด
สโคปงานโฆษณา มิวสิกวิดีโอ หรือซีรีส์มันแตกต่างจากการกำกับภาพยนตร์มากน้อยแค่ไหน
ถ้าเอาเป็นสิ่งที่เราใช้ในการทำผมคิดว่าใช้ความรู้ชุดเดียวกัน แต่ว่าพอ Taste แล้วมันออกมาเป็นคนละแบบมากกว่า เหมือนมันจะมีธรรมชาติของสื่อแต่ละอย่างที่ทำให้เราใช้ไม่เหมือนกันอย่างเช่น “โฆษณา” ธรรมชาติของมันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในทุก Process ซึ่งมันก็เลยต้องถ่ายเผื่อเยอะ สำหรับผม เผื่อในทีนี้อาจจะไม่ได้เผื่อเรานะครับ อาจจะเผื่อถึงคนอื่น เผื่อทุกคน เผื่อความต้องการที่ซ่อนเร้นอยู่อะไรอย่างนี้โฆษณามันเลยต้องเผื่อ แล้วก็ “เอ็มวี” เนี่ยมันต้องเผื่อเพราะว่าเพลงแต่ละท่อนในแต่ละเพลงเนี่ยมันไม่เหมือนกัน เผื่อจังหวะอันนั้นคือสำหรับผม เผื่อมันไม่ลงจังหวะก็เลยต้องถ่ายเผื่อ
ส่วน “หนัง” สำหรับผมมันคือการทดลอง มันแบบว่าไม่ได้เผื่อแต่ว่าลองหาสิ่งที่ดีกว่านี้ เหมือนหนังมันทำงานกับผมในแบบที่ว่าเราจะเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าตอนนี้ได้ยังไงในระหว่างการทำงาน มันเลยมีการลองในงานมากขึ้น แล้วก็มีความต้องทำให้เชื่อในเฟรมมากกว่าการตัดอะครับ หมายถึงว่าถ้าบางทีในเอ็มวีหรือโฆษณาเราใช้การตัดต่อช่วยไปเลย เรารู้แล้วว่าเรามีอาวุธคือการตัดแบบนี้มันจะช่วยได้ การถ่ายไปประมาณนี้มันได้ แต่กับหนังเองเรารู้สึกว่าหนังเรื่องหนึ่งมันต้องให้บรรยากาศกับคน ซึ่งบรรยายกาศมันมาด้วยการให้เวลา ฉะนั้นมันเลยต้องปั้นโมเมนต์ขึ้นมาให้ได้ในเฟรม อันนี้เป็นความยากของหนังเรื่องนะ ซึ่งผมคิดว่าถ้าไปทำหนังเรื่องอื่น Challenge มันคงเปลี่ยน แต่ Challenge สำหรับหนังเรื่องหนึ่งมันคือพยายามสร้างความน่าเชื่อให้เกิดขึ้นในเฟรมให้ได้ เชื่อตั้งแต่ถ่ายเลย เชื่อตั้งแต่ดูเฟรม นักแสดงก็เชื่อ ทีมงานทุกคนต้องเชื่อก่อนว่ามันเป็นแบบนี้นะ เรื่องมันเป็นแบบนี้จริงๆ อะไรประมาณนี้ครับ
กำกับมาทั้งเรื่องแล้วคิดว่าซีนที่ยากที่สุดคือซีนไหน
คือซีนที่พระเอกนางเอกเจอกัน คือจริงๆ ซีนนั้นมีแบ็กกราวด์มันมีการเขียนบทแก้บทอะไรกันมากมายระหว่างการทำงาน ซึ่งมันมีหัวใจของซีนที่เราต้องเล่าอยู่ในเวลาที่จำกัด มันคือกระดูกสันหลังของเรื่องทั้งเรื่อง โดยที่มันไม่ได้พูดเยอะเลย มันต้องทำให้มันออกว่าตัวละครแต่ละตัวเนี่ยมีความเชื่ออะไร แล้วกำลังจะทำอะไร เงื่อนไขของหนังเรื่องนี้มันก็อยู่ในตอนนั้นด้วย คือเรารู้สึกว่าอันนี้มันยาก มันยากในในความที่ว่ามันต้องเอาให้ออกให้ได้ ถ้ามันไม่ออกก็จบเลย มันยากตรงนั้นมากกว่า เป็นซีนที่ไม่เห็นผี แต่ซีนที่เห็นผีถ้าถามว่ามันยากมั้ยมันก็ยาก แต่มันยากในเชิงเทคนิค มันยากที่ทุกคนรู้สึกว่ายากเหมือนกันก็ช่วยกัน แต่ซีนที่ว่านี้มันยากเพราะเรารู้สึกว่ายากโดยที่หลายๆ คนอาจจะไม่เก็ตว่าทำไมมันยาก มันยากกับเราเอง มันส่วนตัวกับเราพอสมควร มันก็เลยทำงานกับใจเราว่ายากมากกว่า แต่ว่าซีนผีนั้นรู้แล้วว่ายากมาตั้งแต่ต้น จับมือกันมาเลยว่าใครต้อง Involve ในการสร้างผี สร้างหัว สร้างหุ่นขึ้นมา แล้วมันจะขยับยังไง คือมันมีการเวิร์กกับความยากนี้มาเยอะแล้ว
ซีนประทับใจ
มีซีนหนึ่งที่เราประทับใจมากที่สุดเลยคือซีนที่ผีมันกลับหัวเรียบร้อยแล้ว เคลื่อนที่ได้แล้ว แล้วก็ดันพระเอกตกบันไดเรียบร้อยแล้ว แล้วผีมันจะมาฆ่าแล้วด้วยความโกรธ ซีนนั้นตอนที่เราเขียนเราก็รู้สึกว่าผีมันอาฆาต แต่พอเราให้เล่นและปูแบ็กกราวด์ไป เรารู้สึกว่าผีมันมีมิติมากขึ้นทันทีเลย มีมิติของความเคยเป็นคนโผล่ขึ้นมาโดยไม่รู้ว่าตั้งใจรึเปล่านะ แต่มันเป็นไปเอง ซีนนั้นทำให้เรารู้สึกว่าเราชอบว่ะ เราชอบตรงนี้ของหนังมาก ซึ่งมันก็เป็นโมเมนต์เล็กๆ ของผีที่อยู่ดีๆ ผีมันก็น้ำตาไหลขึ้นมา อาจจะแสบตาก็ได้นะ น้องที่เล่นเป็นผีเค้าก็ทำได้ดีอยู่แล้วด้วย น้องเล่นเป็นผีแต่น้องคิดกับมันในแบบมีชีวิตชีวา หาเหตุผลในการทำให้มันด้วย พอเราเห็นผีเป็นแบบนั้นแล้ว มันไปช่วยเสริมไอ้สิ่งที่เราบอกว่ามันสะท้อนกันระหว่างผีกับคนว่าผีมันติดอยู่ในลูป มันไปช่วยขยายตรงนั้นได้ดีมากเลย เราเชื่อว่าผีมันยึดติดอยู่กับอะไรบางอย่างจริงๆ อันนี้เป็นสิ่งที่เราประทับใจ
ฉากหลอนที่สุด
จะมีตอนที่ผีออกมาครั้งแรกเลย ผมรู้สึกว่ามันหลอนสุด คิดว่าหลอนสุดตอนที่เรายังไม่เห็นผี เรารู้สึกกลัวที่สุด เพราะตอนนั้นเป็นตอนที่เราไม่แน่ใจที่สุดว่ามันคืออะไรกันแน่ หลังจากที่ผีมาแล้วมันก็จะมีความเป็นแอ็กชันมากขึ้น ก่อนที่ผีจะมานี่แหละบรรยากาศตอนนั้นที่พระเอกก็เริ่มขยับตัวไม่ได้ ผมว่าเป็นตอนที่หลอนที่สุดของเรื่องละ
เสน่ห์และความน่าสนใจโดยรวมของหนัง
ผมคิดว่ามันใกล้ตัว ทุกคนน่าจะเคยผ่านประสบการณ์เรื่องผีในมหา’ลัยหรือว่าในสถานศึกษา มันเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อได้ง่าย มันเป็นหนังผีเสพง่าย มันไม่ได้พยายาม สำหรับเรามันเป็นความบิวตี้ เป็นความแมนๆ ของหนัง เราไม่ได้พยายามทำให้มันเสพยาก เราพยายามทำให้มันเสพง่าย และเราก็พยายามให้มันเอนเตอร์เทนคนดู คนที่คาดหวังความน่ากลัวก็คาดหวังว่าจะได้รับ คนคาดหวังความผีสางมันก็จะเป็นอย่างนั้น ซึ่งสำหรับเรื่องนี้มันก็มีความเป็นมนุษย์แทรกเข้าไปอยู่ดีในท้ายที่สุด แม้มันเป็นผีปีศาจอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายมันยังคอนเนกต์กับมนุษย์คนหนึ่งอยู่ ความกลัวในการที่เราจะเป็นในสิ่งที่เราฝันไว้ไม่ได้ การต้องยอมรับว่าเราไม่เหมาะกับสิ่งที่เราทำอยู่ มันก็เจ็บปวดมากพออยู่แล้ว ผีอาจจะเป็นแค่ตัว Trigger ความรู้สึกนั้นขึ้นมา การเอาตัวรอดจากผีอาจจะทำให้เราได้คำตอบ มันเหมือนกับการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ร้ายๆ บางอย่างในชีวิตเรา แล้วเราพบว่ามันให้คำตอบกับเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตของเราได้ มันคอนเนกต์กับมนุษย์ได้ มันเป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้นี่แหละครับ อีกสิ่งหนึ่งคือผมรู้สึกว่าคนดูจะได้รับความรู้สึกเหมือนเข้าไปทัวร์สถานที่นี้ด้วยกัน การเข้าไปมีส่วนร่วมกับบรรยากาศของมันน่าจะเป็นสิ่งที่จูงใจและสวยงามของหนังเรื่องนี้ด้วยครับ
บันทึกผู้กำกับ “ก๋วยเตี๋ยว จตุพงศ์” จากเรื่อง “เทอมสอง สยองขวัญ: เดอะซี”
หลายครั้งในชีวิต “ความกลัว” เป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ชีวิตเกิด “ความเปลี่ยนแปลง”
ความกลัวนั้นมีหลากหลายชนิด ในภาพยนตร์เรื่อง “เทอมสอง สยองขวัญ ตอน เดอะซี” นอกจากความกลัวผีที่ผลักดันให้ต้องเอาชีวิตรอดแล้ว คุณจะได้พบกับความกลัวรูปแบบอื่นที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจของตัวละคร “แทน” (ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) อีกด้วย
แรกเริ่มกับโปรเจกต์นี้ ภาพปลายทางของผมคือภาพยนตร์ระทึกขวัญที่นำเสนอความน่ากลัวเป็นหลัก เป็นหมุดหมายและทิศทางที่นำพาชิ้นงานดำเนินไป เพียงแต่เมื่อใช้เวลามากขึ้น ผมกลับพบสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ความกลัวเบื้องลึกที่ส่งผลต่อตัวละครเอกนั้นช่างมี “ความเป็นมนุษย์” ซับซ้อนอย่างไร้เหตุผล แต่ก็เข้าใจได้ในท่าที และมนุษย์เรากันเองนั้นต่างก็มีความกลัวรูปแบบนี้ซุกซ่อนอยู่ภายใน
อย่างเช่นกลัวที่จะไม่เป็นไปดังหวังเหมือนกับขณะที่กำลังทำภาพยนตร์เรื่องนี้หรืองานกำกับอื่นๆ ผมมักประสบพบเจออยู่เสมอ ไม่เคยเบาบางลงเลยแม้เวลาล่วงเลยมาหลายปี และตัวผมเองก็เรียนรู้ที่จะยอมรับมันและก้าวต่อไปให้ได้เสียแล้ว
หลายครั้งในชีวิต “ความกลัว” เป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ชีวิตเกิด “ความเปลี่ยนแปลง”
ครั้งนี้ก็คงเช่นกัน แต่อาจจะต้องบอกทุกคนก่อนว่า ความเปลี่ยนแปลงนั้นแยกออกจากการประสบความสำเร็จ เราอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ที่สำคัญคือไม่ได้หยุดอยู่ที่เดิมอย่างแน่นอน
“เทอมสอง สยองขวัญ ตอน เดอะซี” (The C) หรือ “ผีเตียงซี” จึงเป็นเรื่องราวของ “มนุษย์” คนหนึ่งในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง กับเรื่องราวของ “ผี” อีกซักตนหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไป โดยมีเบื้องหลังเป็นมนุษย์ที่กลัวผีและแมลงหลายขาอย่างผมเป็นผู้ได้เล่าให้ทุกคนได้ชมได้ฟัง ทุกคนที่ก็คงไม่แคล้วมีความกลัวอะไรซักอย่างซุกซ่อนห่อหุ้มอยู่ภายในหัวใจ บ้างก็รู้ตัว บ้างก็ไม่รู้ตัว
ขอให้ทุกคนสนุกสนานขวัญระทึก รู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวในภาพยนตร์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาจจะมีแง่มุมใดมุมหนึ่งที่คุณได้สัมผัสในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่จะสามารถปลอบประโลมและอยู่เคียงข้าง ความกลัวลึกๆ ในหัวใจของทุกคนได้ด้วยเช่นกัน