ความสัมพันธ์แสนเปราะบาง ความอ้างว้างในเมืองใหญ่ และการตั้งคำถามถึงสังคม คือสไตล์ที่เรามักจะได้เห็นอย่างชัดเจนในงานภาพยนตร์อันหลากหลายจนกลายเป็นลายเซ็นส่วนตัวของ “อั๋น-ธนกร พงษ์สุวรรณ” ผู้กำกับมากความสามารถที่ทุกลมหายใจคือ “ภาพยนตร์”
จากความเหงาใน “Fake โกหกทั้งเพ” (2546) ผลงานกำกับเรื่องแรก ธนกรได้สร้างสไตล์เฉพาะตัวที่โดนใจและเป็นที่จดจำของผู้ชม และไม่ว่าผลงานเรื่องต่อๆ มาจะเป็นแนวไหน สไตล์ของเขาก็ยังคงชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง
“ผมมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง ‘Fake’ เล่นทำผมอึ้งไปเลย นี่เราเจอหนังอะไรเข้าไปเนี่ย ไม่เคยคิดว่าเราจะเจอหนังอย่างงี้ในโรงภาพยนตร์ มันทำให้รู้สึกว่าต่อไปเราจะต้องตามหนังของผู้กำกับคนนี้ตลอดไป” – มานัสศักดิ์ ดอกไม้ (พี่โต้ง หอภาพยนตร์)
“แกเป็นผู้กำกับที่ทำหนังได้ต่างกันสุดขั้วมาก แอ็กชันฮีโร่แล้วก็ไปทางเหงาๆ รักๆ ซึ่งมันไม่ค่อยมีใครทำ พี่ทิ้งอะไรไว้เยอะมาก ทิ้งไว้ในความทรงจำของคนดูของแฟนๆ หนัง” – ตั๋วร้อน Worldwide
“กรุงเทพฯ” ถือเป็นฉากหลังที่น่าสนใจและน่าหลงใหลเสมอในหนังของธนกร มุมมองของเขาที่มีต่อเมืองหลวงแห่งนี้ทั้งมีเสน่ห์ แปลกตา และแตกต่างจากหนังไทยเรื่องอื่นๆ จนกล่าวได้ว่า “กรุงเทพฯ” คือหนึ่งตัวละครสำคัญในหนังของเขา
“นึกถึงงานของ ‘อั๋น’ ผมนึกถึงโลเคชันก่อนเลยโดยเฉพาะ ‘กรุงเทพฯ’ เค้าสรรหา เค้าถ่ายกรุงเทพฯ ได้มีชีวิตมาก ดูแล้วโลเคชันเค้าก็เป็นตัวละครหนึ่งของหนัง” – อดิเรก วัฏลีลา (โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์)
“เค้าเป็นคนที่เปลี่ยนเมืองได้ตามอารมณ์ของหนังจริงๆ ทั้งสี มูด โทน และความรู้สึก” – ทัศดนัย ประมาณ (โปรดิวเซอร์ “สมมติ”)
หลากหลายนักแสดงแถวหน้าของวงการล้วนเชื่อใจให้ “อั๋น ธนกร” ได้สร้างคาแร็กเตอร์ใหม่ๆ ผสมผสานการแสดงอย่างเป็นธรรมชาติ และพร้อมทุ่มเทอย่างเต็มที่ในหนังของเขา
“มันจะมีเอกลักษณ์อะไรบางอย่างที่เค้าพอถ่ายออกมา มันจะไม่ใช่สวยธรรมดาด้วย มันจะสวยแบบคูล องศา จังหวะที่ตัวละครมันหันมา ที่มันมอง ผมพูดไม่ถูก ใครอยู่ใน ‘หนังพี่อั๋น’ นี่มันทั้งหล่อ ทั้งสวย ทั้งเท่ทุกคน” – อนันดา เอเวอริงแฮม (นักแสดง “สมมติ”)
“เคยบอก ‘พี่อั๋น’ ไปตั้งแต่แรกแล้วว่าหนูไม่รู้ว่าพี่เลือกหนูเพราะอะไร หนูไม่รู้ว่ามีอะไรให้พี่สนใจแล้วเลือกเราไม่รู้ แต่หนูขอบคุณมากๆ” – ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช (นักแสดง “สมมติ”)
สู่ผลงานชิ้นสุดท้ายใน “สมมติ” ด้วยความทรงจำมากมายที่ถ่ายทอดในหนังนำไปสู่บทสรุปในผลงานการกำกับครั้งสุดท้ายที่จะอยู่ในภาพจำของคนดูตลอดไป เพราะอาจไม่มีผู้กำกับคนไหนที่ทำให้ “กรุงเทพฯ” ทั้งสวย เหงา และมีเรื่องเล่ามุมมองใหม่ๆ ได้เท่า “ธนกร พงษ์สุวรรณ” อีกแล้ว
“ไม่มีหนังแบบ ‘พี่อั๋น’ อีกแล้ว ก็คิดถึงครับ จะร้องไห้” – บดีกร โลหะชาละ (ผู้กำกับภาพยนตร์)
“เป็นผู้กำกับที่มีความสุขกับการอยู่ในกองมากเลย แบบทุ่มเท พลัง แววตาตอนที่เค้าทำงาน เราจะรู้สึกได้เลยว่าเค้ามีความสุขมากกับงานที่ทำอยู่” – สุเทพ ตันนิรัตน์ (ผู้กำกับภาพยนตร์)
“ประมาณ 30 ปีนะที่รู้จัก ‘อั๋น’ มา เค้าไม่เหมือนผู้กำกับคนอื่น ตอนที่เค้ายังอยู่ก็ต้องยอมรับว่าวงการไม่ค่อยให้โอกาสเค้าทำ วันนี้เค้าไปแล้วก็ได้แต่เสียดายกัน” – อดิเรก วัฏลีลา (โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์)
“ขอบคุณนะครับที่ได้สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์คุณภาพแบบนี้ ทุกเรื่องคือภาพยนตร์ที่ดูสนุก แล้วก็เปิดโลกเปิดมุมมองหลายอย่างให้ผมเลยครับ” – ครูทอม คำไทย
“ผลงานของ ‘พี่อั๋น’ จะยังคงฉายให้กับคนดูรุ่นต่อๆ ไป เป็นทั้งความสนุก ความบันเทิง และก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานรุ่นหลังๆ ต่อไป” – มานุสส วรสิงห์ (นักลำดับภาพ)
“หนูชอบความออร์แกนิกของ ‘พี่อั๋น’ มันมีคาแร็กเตอร์ ดูแล้วคนกลับบ้านไป หรือเดินออกจากโรงไปก็ยังรู้สึกอยู่เลย” – ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช (นักแสดง “สมมติ”)
“ภูมิใจในตัวของ ‘พี่อั๋น’ แล้วพี่ก็จะอยู่ในความทรงจำของทุกคนว่ายังเป็นสิ่งที่ไอคอนนิกสำหรับวงการเรา ภูมิใจได้ครับพี่” – อนันดา เอเวอริงแฮม (นักแสดง “สมมติ”)
จุดเริ่มต้นจากความสัมพันธ์อันเปราะบางของ “อนันดา เอเวอริงแฮม” และ “ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช” กับความรักท่ามกลางเมืองใหญ่ที่เริ่มต้นง่ายแต่อาจจะจบยาก เมื่อ “นน” (อนันดา) หนุ่มใหญ่ผู้เปลี่ยวเหงา และ “เดียร์” (แพต ชญานิษฐ์) หญิงสาวผู้ลึกลับได้มาพบกันและตกลงสานสัมพันธ์โดยไม่ต้องรู้จักตัวตนที่แท้จริงของกันและกัน จนกระทั่งความผูกพันลึกซึ้งอาจก่อตัวเป็น “ความรัก” โดยไม่ทันคาดคิด ซึ่งสุดท้ายแล้วมันจะเป็น “ความจริง” หรือเป็นเพียงเรื่อง “สมมติ” ตลอดไป
ร่วมค้นหา “ตัวตน” ที่แท้จริงในความสัมพันธ์ “สมมติ” (Supposed) วันนี้ ในโรงภาพยนตร์