“เราอยากเล่าเรื่องราวของหมอลำที่พัฒนาการไปไม่หยุดนิ่ง ท่วงทำนองที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณของคนอีสาน หรือแม้แต่พี่น้องฝั่งลาวที่มีหมอลำหลายท่วงทำนอง สิ่งหนึ่งที่เราพยายามควบคุมให้ได้คือ ความสุขความสนุกที่เราอยากบอกคนดู นอกจากคนอีสานแล้วจะดูรู้เรื่องมั้ย? ตอบได้เต็มปากเลยว่า จะสนุกไปกับหนังได้แน่นอน เพราะหนังมันมีภาษาสากลบางอย่างที่เข้าใจกันทั้งโลก เราเลยอยากให้ทุกคนได้ดู”
แนะนำตัวเอง
ชื่อ “นันทวุธ ภูผาสุข” ชื่อเล่นชื่อ “หิน” อยู่จังหวัดกาฬสินธุ์เติบโตมาในสังคมอีสาน สมัยเด็กๆ จำได้ว่าพ่อพาเดินไปดูหนังกลางแปลงทำให้เราหลงใหลมากหลังจากนั้นก็ดูหนังมาตลอด แต่ส่วนมากก็จะหอบเสื่อเดินไปดูหนังกลางแปลงอีกหมู่บ้าน แล้วก็มีโอกาสได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขาออกแบบนิเทศน์ศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ก็เรียนพวกกราฟิกพวกถ่ายภาพด้วย เรียนไปช่วงแรกยังปรับตัวไม่ได้ ประมาณปี 2 ทุกอย่างเริ่มลงตัว และได้รู้จักพี่คนนึงเขาทำธีสิสทำหนังเราก็ไปช่วยทำบทไปช่วยออกกอง และด้วยความที่พี่เค้าทำหนังอีสานเราหน้าตาผ่าน เราเลยได้แสดงหนังกับพี่เขา ระหว่างทำงานกับพี่เค้าเราก็มีความสุข ทั้งบรรยากาศในกอง การถ่ายหนัง มันสนุก เราก็หลงใหล และอยากทำหนังตัวเองบ้าง
หลังจากนั้นเราก็รวมกลุ่มกับเพื่อนตั้งเป็นสตูดิโอในชื่อ “ฟินวิ่ว สตูดิโอ” แล้วก็ตัดสินใจทำหนังสั้นเอง ตอนแรกก็เรียนรู้ด้วยตัวเองครับ แรกๆ ก็ทำเดาๆ งงๆ ถ่ายเองตัดเอง เอามาเปิดให้เพื่อนดู เขาก็ตลก เออ เราก็รู้สึกดีมากที่มีคนดูหนังเราหลังจากนั้นก็เรียนรู้ด้วยตัวเองมาตลอดในการทำหนัง ฟินวิ่ว สตูดิโอก็ผลิตหนังมาเรื่อยๆ เราก็หาโอกาสทำหนังสั้นประกวดได้รับรางวัลมาแล้ว จนเรียนจบปริญญาตรี เราก็ยังมีความสุขกับการทำหนังมาจนทุกวันนี้ แล้ววันหนึ่งความฝันของเรามันก็ผ่านตาหลายคน หนึ่งในนั้นก็พี่ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว”
บทบาทและหน้าที่รับผิดชอบในภาพยนตร์เรื่อง “หมอลำมาเนีย”
เราทำเรื่องหมอลำมาตั้งแต่สมัยที่เป็นหนังสั้นธีสิส ทุกกระบวนการต่างๆ เราจะรับผิดชอบเองทั้งหมด อีกอย่างการทำหนังของเรา เราก็จะทำตั้งแต่เขียนบท ก่อนหน้านี้เขียนเองคนเดียวแต่เรื่องนี้มันหนังยาว เราก็ชวนน้องมานั่งฟังไอเดีย เล่าให้ฟัง มีสามคนที่มานั่งไล่บทกัน น้องเขาก็ฟังและทักท้วง อันไหนได้ อันไหนดีเราก็ฟังไว้เอามาปรับให้มันดีที่สุด
พอมาถึง “หมอลำมาเนีย” กระบวนการแรกของผมคือนั่งวาดสตอรีบอร์ดคร่าวๆ ในบางฉากที่ผมคิดว่ามันจำเป็นต้องมี การเชื่อมคัตเชื่อมซีนที่ผมอยากได้แบบนี้ ก็จะเขียนบอกน้องๆ ในทีมให้ช่วยกันดูให้เข้าใจร่วมกัน
ก่อนออกกองผมก็นั่งคุยกะทีมงานซึ่งก็มีหลักๆ อยู่สามคน เตรียมพร็อปเตรียมของ โทรประสานงานสถานที่ นักแสดงบางทีก็ต้องโทรขอเขาเอง บางทีก็ให้ทีมงานช่วย ก็จะแบ่งๆ หน้าที่กันไป
นอกจากงานในส่วนกำกับที่ดูภาพรวม ถ่ายภาพ เราก็จะช่วยดูพวกงานออกแบบงานสร้างด้วย พอหมดจากออกกอง เราก็ต้องมารับผิดชอบดูแลงานในส่วนตัดต่อด้วย ซึ่งก็จะรวมถึงงานขั้นตอนหลังการถ่ายเกี่ยวกับโพสต์ ไม่ว่าจะเป็นสีของภาพแสงที่เราถ่ายมาเราอยากให้ได้สีสันแบบนี้ มูดอารมณ์แบบนี้ รวมไปถึงหนังตัวอย่าง
เคยคิดเคยฝันมาก่อนมั้ยว่าวันหนึ่งเราจะได้ทำหนัง ได้มาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์ที่พูดอีสาน
ตอนแรกก็ยังไม่คิดหรอก เพราะว่าตอนเด็กๆ ไม่รู้ว่ามีอาชีพที่เกี่ยวกับการทำหนัง แต่พอเรียนมาเราก็มีโอกาสได้รู้ว่าในวงการภาพยนตร์ในการผลิตภาพยนตร์มันมีหน้าที่หนึ่งที่สำคัญมากคือ “ผู้กำกับ” เราเป็นคนชอบเล่าเรื่องอยู่แล้ว หลังจากนั้นมาเวลาทำหนังสั้นแต่ละเรื่อง ก็หวังมาตลอดว่าวันหนึ่งเราต้องเป็นผู้กำกับแล้วก็ทำหนังฉายโรงให้มันได้สักเรื่องหนึ่ง
ที่มาที่ไปในการเกิดเป็นภาพยนตร์คอเมดี้อีสานเรื่อง “หมอลำมาเนีย”
ก่อนหน้านี้เราไม่ได้มีความอินกับหมอลำพอ แต่พอเราศึกษาไป เราอยากทำหนังสักเรื่องหนึ่ง เราก็เลยไปอ่านพวกประวัติหมอลำดู เออมันดูน่าสนใจ เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าหมอลำมันมีหลายทำนองมีหลายแบบ จนเราได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เราก็เลยเลือกหัวข้อหลักหัวข้อที่จะทำ Thesis ของเราเป็นเรื่องหมอลำ แต่ว่าที่สาขาที่เรียนปริญญาโทเขาจะมีเป็นศิลปะนิพนธ์ ก็คือมีผลงานด้วย แล้วก็มีตัวเล่มวิจัยด้วย เราก็เลือกที่จะทำศิลปะนี้ หลังจากนั้นก็พัฒนามาเป็นภาพยนตร์สั้นจนเป็น Thesis จบก็เป็นเรื่อง “หมอลำมาเนีย” จนมามีโอกาสคือ “พี่ปรัช-ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ได้เห็นตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องหมอลำมาเนียของเรา เขาเห็นแล้วเขาก็เลยชวนมาทำโปรเจกต์นี้ เรื่องนี้เป็นคอเมดี้อีสาน พี่ปรัชสนใจในเรื่องหมอลำและให้พัฒนาต่อกลายเป็นหนังใหญ่ แล้วก็ได้รับความช่วยเหลือจาก “อาจารย์นิยม” ซึ่งเป็นหัวหน้าประธานหลักสูตรปริญญาโทปริญญาเอกมหาบัณฑิตกับดุษฎีบัณฑิตของที่คณะ ซึ่งอาจารย์พพยายามผลักดันเราตลอด สุดท้ายภาพยนตร์เรื่องหมอลำมาเนียจึงเกิดขึ้นโดยมีพี่ปรัชญา ปิ่นแก้วเป็นโปรดิวเซอร์ และอาจารย์นิยมควบคุมดูแลเรื่องของการผลิต
“หมอลำมาเนีย” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร
“หมอลำมาเนีย” เป็นเรื่องของความฝัน ความฝันของเด็กบ้านนอก มีความฝันที่อยากทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่มันเหมือนกับเป็นภาพสะท้อนความฝันของวัยรุ่นยุคใหม่ อยากทำอะไรที่มันประสบความสำเร็จ เล่าเรื่องผ่านตัวละครหลัก 3 คนที่เป็นเพื่อนกัน ซึ่งมีความฝันเดียวกัน นั้นคือการก่อตั้งวงดนตรีหมอลำที่คนทั้งโลกเข้าถึง อยากทำในสิ่งที่มันเกินตัว ที่ดูแล้วมันไม่น่าจะทำได้ แต่มันคือเป้าหมายที่คนเราต้องมี คืออยากเอาหมอลำไปเผยแพร่ในระดับโลก พวกเขาสามคนกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง พอดีกับที่ในหมู่บ้านก็มีจัดออดิชันวงดนตรีขึ้น สามคนก็เลยไปตามหาไปรวบรวมสมาชิกมาสร้างวงด้วยกัน ก็เหมือนเป็นภาพสะท้อนของเราที่เราเองก็เป็นคนทำหนังแล้วก็อยากจะเผยแพร่ผลงานของเราให้คนทั่วประเทศคนทั่วโลกได้เห็นเรื่องราวของหนังหมอลำมาเนีย
ชื่อหมอลำมาเนีย “มาเนีย” มาจากภาษาอังกฤษแปลว่า “คลั่งไคล้ หลงใหล บ้าคลั่ง” ในขณะที่พวกคนรอบข้างพวกไทบ้านชาวบ้านเขาก็จะมองว่าพวกนี้เป็นพวกบ้าผีบ้า แต่เขา 3 คนนี้เขาก็ไม่ได้สนใจว่าคนอื่นจะมองยังไง
พวกเขายังยึดมั่นในความฝันของตัวเอง โดยที่เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นมันก็จะอยู่ในสังคมอีสานบ้านเรา เป็นสิ่งที่ตัวเราได้เผชิญและเป็นประสบการณ์ของเราเอง แล้วก็นำมาพัฒนาต่อยอดให้มันกลายเป็นหนังเรื่องนี้ หมอลำมาเนียเป็นภาพยนตร์คอเมดี้ตลกด้วยสถานการณ์ของตัวละครที่จะต้องเผชิญอยู่ทั้งเรื่องราวความรัก ความฝัน ผ่านความสนุกสนานและอุปสรรคต่างๆ จะว่าไปแล้วความฝันของทีมงานเองก็ไม่ต่างจากตัวละครในหนังมันยิ่งใหญ่เกินตัวมากๆ ในฐานะคนทำหนังเรื่องนี้ก็อยากให้คนดูดูแล้วสนุกไม่เบื่อแค่นั้นเลยครับ
คิดว่าภาพยนตร์เรื่อง “หมอลำมาเนีย” มีเสน่ห์อย่างไร
เป็นหนังที่คนอีสานทำเพื่อเปิดโลกอีกมุมหนึ่งจะไม่เหมือนภาพจำของคนส่วนมากที่มองคนอีสาน และเป็นความตั้งใจของทีมงานที่เติบโตมาด้วยกันทั้ง ตัวละคร นักแสดงทั้งหมด ตั้งแต่ก่อนจะมาทำหนัง เพราะฉะนั้นคนดูจะได้เห็นว่าเด็กแก๊งนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของคนที่ทำตามความฝันของตัวเอง โดยเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และเติบโตมากับเพลงหมอลำให้คนทั่วประเทศได้รู้จักผ่านเรื่องราวความรักอุปสรรคต่างๆ
ใน “หมอลำมาเนีย” เพลงมีส่วนสำคัญอย่างไรในภาพยนตร์
หมอลำคือเพลงของคนอีสาน เป็นท่วงทำนองของคนอีสาน เพราะฉะนั้นด้วยความเป็นหนังมันก็ต้องเล่าด้วยภาพ ส่วนเสียงมันก็ต้องเป็นเสียงของหมอลำ เป็นเพลงของหมอลำ เพราะฉะนั้นเพลงที่จะอยู่ในหนังหมอลำมาเนียก็จะมีพื้นฐานมาจากหมอลำ แต่ว่าเป็นหมอลำยุคใหม่ที่ไม่ใช่ยุคเก่า เป็นเพลงผสมผสาน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งที่คนทำเพลงมันบอกว่ามันเป็น World Music คือ มันมีเครื่องดนตรีหลายชนิดไม่ใช่แค่พิณ แค่แคน
คนดูจะได้สัมผัสอารมณ์ม่วน ซึ้งไปกับอารมณ์ของบทเพลงหมอลำในหนังเป็นพิเศษอย่างไรบ้าง
เพลงจะถูกแทรกไปตามเรื่องราวของภาพยนตร์ โดยผ่าน 3 นักแสดงนำซึ่งผู้ชมที่ดูจะอินไปกับทำนองเพลง และถ้าเป็นคนอีสานหรือเป็นคนที่เข้าใจภาษาที่ใช้ในเพลงก็จะมีความเข้าใจลึกซึ้งในหนังมากขึ้น ในส่วนของดนตรีเราก็ได้น้องๆ วงกู่แคนวงดนตรีหมอลำประยุกต์แห่งดินแดนล้านช้าง ภาคอีสานอันอุดมไปด้วยเสียงพิณแคนมาทำให้ และร่วมแสดงนำในภาพยนตร์
ในภาพยนตร์เรื่องนี้เราได้ “จิรายุ สูตรไชย” หรือ “หมอลำก้องศิลป์ ฟ้าล่วงบน” แห่ง “วงกู่แคน” มาร่วมแสดงนำโดยรับบทเป็น “อาจ” ตัวละครวัยรุ่นหนุ่มผู้มีใจรักในการร้องหมอลำ แต่ติดขัดที่พ่อเขาไม่ยอมให้เป็นหมอลำ อาจเลยต้องพิสูจน์ให้พ่อเห็นว่าการเป็นหมอลำก็สามารถเลี้ยงชีพได้ และทำให้ชาวบ้านได้เห็นถึงพัฒนาการของดนตรีหมอลำที่เขาศรัทธา
รวมทั้งอีก 2 คนที่ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของภาพยนตร์อย่าง “ทวิทย์ ศิษย์ทองสี” อดีตสมาชิกหมอแคนประจำวงโปงลางสะออนมารับบท “จารย์สิน” เป็นคนที่ดูเป็นการเป็นงานที่สุดขยันขันแข็ง เป็นที่พึ่งพาของเพื่อนๆ จารย์สินไม่ได้เป็นครูหรือเป็นอาจารย์แต่การเติมจารย์ข้างหน้าชื่อของคนอีสานหมายถึงการแสดงความนับถือและเคารพ จารย์สินคือปราชญ์ประจำหมู่บ้านล้านกะโป้ เรียกว่ารู้ทุกซอกทุกมุมของหมู่บ้าน นอกจากนี้จารย์สินยังเป่าแคนได้อยางไพเราะ
และอีกคนคือ “โอม ทัศนัย สมบัติธีระ” คือนักดนตรีแห่งค่ายสมอลล์รูม เขารวมตัวกับรุ่นพี่ที่เคยอยู่คณะเดียวกันตั้งวง Two Pills After Meal สร้างบทเพลงแนวใหม่ประดับวงการ นอกจากความเท่ ฮิป หล่อนอกจอแล้ว โอมยังมารับบทเป็น “สเตอ” ชายหนุ่มนักดนตรีจบมาจากเมืองนอก เมื่อสเตอกลับมาบ้านนอกมาเป็นครูประจำหมู่บ้าน เขาก็เลยเป็นเสมือนตัวจุดชนวนความฝันในวัยเด็กของอาจและสินอีกครั้ง เขาคือคนที่มองโลกในแง่ดี และมีความอ่อนไหวที่เราจะรู้สึกได้ผ่านแววตาของเขา
นอกจากนี้เรายังได้ “โยธิน กิจใบ” หรือ “ตลกแห่งคณะสี่เซ่ออีสาน” ที่สร้างเสียงหัวเราะให้คนอีสานมายาวนาน มารับบท “พ่อยาว” คือพ่อของอาจ เป็นคนจริงจัง เนื่องจากพ่อยาวไม่ได้รับการศึกษาที่ดีเนื่องจากฐานะไม่ดี ทำให้พ่อยาวอยากให้ลูกชายเรียนสูงๆ มีการศึกษาและทำมาหากินได้ ไม่อยากให้ลูกเป็นหมอลำ เพราะกลัวว่าจะลำบาก ภายนอกจะดูดุร้ายแต่จริงแล้วเป็นคนน่ารัก ปากแข็งแสดงออกยากตามนิสัยคนอีสานที่ขี้อาย
นอกจากผู้บ่าวแล้วก็ยังมีผู้สาวด้วย เราได้ “ปิยธิดา มิตตัสสา” นักศึกษาสาวสวย ดีกรีนางงามพื้นบ้าน ประกวดมาแล้วหลายเวทีมารับบทเป็น “ครูจัน” คือสาวสวยที่สเตอตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ ครูจันถอดแบบมาจากสาวอีสานมารยาทงามยิ้มหวาน เข้ากับคนง่าย นอกจากความสวยที่ดูธรรมชาติ กริยามารยาทก็ดี เป็นห่วงลูกศิษย์ และเพื่อนร่วมงานทุกคน และอีกตัวละครสำคัญเราได้ “น้องบุ๋มบิ๋ม-วันนิภา ศรีประไหม” สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปแห่งกาฬสินธุ์ถิ่นอีสาน วงแพรวาจีจี้ มีความสามารถด้านการเต้นและการแสดง มาเล่นเป็น “พร” สาวไทบ้านผู้ต้องเลี้ยงดูแม่เพียงคนเดียว ด้วยความจำเป็นหลายอย่างจึงทำให้สาวพรตัดสินใจทิ้งรักเก่ากับจารย์สินหนีไปกรุงเทพฯ นอกจากความคอเมดี้ที่มีอยู่เต็มในหนังก็จะมีเรื่องราวความฮักบ้านๆ ของสาวพรและจารย์สินที่อาจทำให้คนดูซาบซึ้งในความรักของทั้งคู่ได้เหมือนกัน
อารมณ์ของหนังเรื่องนี้
คือเรื่อง “หมอลำมาเนีย” ความตั้งใจของเราคือมันมีพื้นฐานมาจากงานวิจัยปริญญาโท แต่ว่าด้วยความที่เป็นภาพยนตร์ เพราะฉะนั้นพวกฐานความรู้เพื่อความรู้อะไรพวกนี้หรือที่ไปที่มาของหมอลำ มันก็จะถูกเคลือบด้วยความเป็นคอเมดี้ มันเป็นความสนุกสนานที่หนังเขาจะพูดกัน มันก็จะมีฉากที่คนอีสานเขาดูเขาเห็น อย่างในหนังเราก็จะมีอย่างพวกฉากดีดลูกแก้วหยอดขนมสายไหมอะไรพวกนี้ มันจะเป็นมันเป็นฉากที่คนอีสานดูแล้วรู้สึกได้ พอรู้สึกถึงมันแล้วก็อาจจะทำให้คนอีสานเหมือนคิดถึงบ้านขึ้นมาว่าความทรงจำในวัยเด็กของเราเป็นยังไงซึ่งความทรงจำสมัยเด็กๆ ที่เราเอามาใช้ในหนัง เป็นภาพสะท้อนการโหยหาอดีตของเราเอง แต่เราก็ไม่ได้เทิดทูนความอีสานจ๋าขนาดนั้น เพราะในความคิดของเราวัฒนธรรมที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนมันก็คือ วัฒนธรรมที่ตายแล้ว เพราะฉะนั้นภาษาหนังของเราก็จะเป็นอีกแบบ มีความเอดการ์ ไรต์ มีความโจวชิงฉือ มีจังหวะที่หนังอีสานไม่ค่อยทำกัน การเปลี่ยนคัตเปลี่ยนซีน เราก็ออกแบบให้มันเชื่อมกัน
คิดว่าคนดูหนังจะเข้าถึงความเป็นหมอลำ ความเป็นอีสาน หรือสิ่งที่ตัวหนังตั้งใจจะนำเสนอหรือไม่อย่างไร
คือกลุ่มเป้าหมายเราไม่ใช่แค่คนธรรมดาทั่วไป หรือว่าไม่ใช่วัยรุ่นอย่างเดียว ด้วยความเป็นหนังอีสานคนอีสานก็จะเข้าใจว่าในสิ่งที่เราตั้งใจถ่ายทอด เนื่องจากว่าหนังเรื่องนี้เราตั้งใจ ให้คนดูได้ทุกเพศทุกวัยเป็นการสื่อสารให้คนดูเข้าใจทุกเพศทุกวัย คนอีสานดูอย่างเดียวเหรอไม่ใช่ คนไทยก็ดูได้แล้วก็จะเก็บกับมันได้เท่าๆ กัน เราอยากเล่าเรื่องราวของหมอลำที่พัฒนาการไปไม่หยุดนิ่ง และท่วงทำนองหมอลำมันเหมือนจะฝังอยู่ในจิตวิญญาณของคนอีสาน หรือแม้แต่พี่น้องฝั่งลาวที่มีหมอลำหลายท่วงทำนอง รากเหง้าด้านเชื้อสายเราก็เหมือนกันเป็นชาวล้านช้างที่ถูกเชื่อมกันด้วยดนตรี นั้นคือหมอลำแต่ด้วยความที่หนังมันก็มีเรื่องมีจังหวะมีภาษาของมัน จะให้เล่าแบบตัวละครมายัดเยียด ที่ไปที่มาแบบวิชาการก็จะน่าเบื่อไป เราก็เลยทำเป็นบทหนังที่คิดว่ามีความคอเมดี้มาเคลือบไอ้พวกฐานความรู้ที่เราวิจัยมาไว้อีกที เรื่องราวที่เล่าก็จะเป็นในอีสาน สิ่งที่เราพยายามควบคุมให้ได้คือ ความสุข ความสนุกที่เราอยากบอกคนดู ซึ่งคงแบ่งเป็นสองกลุ่มแน่ๆ คือคนอีสานและคนต่างจังหวัด (ที่ไม่ใช่อีสาน รวมถึงกรุงเทพฯ ด้วย) แต่ถามว่านอกจากคนอีสานแล้ว เค้าจะดูรู้เรื่องมั้ย เราก็ตอบได้เต็มปากเลยว่า จะสนุกไปกับหนังได้แน่นอน เพราะหนังมันมีภาษาสากลบางอย่างที่เข้าใจกันทั้งโลก เราเลยอยากให้ทุกคนได้ดู เพราะอย่างน้อยๆ คือสิ่งที่เราทำสำหรับเรามันยิ่งใหญ่มาก การได้ฉายหนังในโรงหรือการได้รับโอกาสดีๆ แบบนี้อาจจะมีครั้งเดียวในชีวิตของเรา อยากให้เข้าไปติก็ได้ครับ
สามผู้บ่าวไทบ้านกับโอกาสสานฝันสู่วงดนตรีหมอลำโมเดิร์นระดับโลก พวกเขาต้องพิสูจน์ตัวเอง เพื่อสิ่งที่รักใน
#หมอลำมาเนีย #เขย่าลูกคอรอให้เธอมารัก
24 มกราคม 2562 เซิ้งพร้อมกันในโรงภาพยนตร์