ผลงานที่น่าสนใจของ “บิ๊ก-สิรนัท รัชชุศานติ” ผู้กำกับศิลป์ภาพยนตร์ “The Last Full Measure วีรบุรุษโลกไม่จำ”
- มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544)
- ชั่วฟ้าดินสลาย (2553)
- Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ (2555)
- Stealth (ภาพยนตร์ฮอลลีวูด – 2005)
มีโอกาสได้เข้าไปร่วมงานกับกองถ่ายของหนังสงครามเวียดนามเรื่อง “The Last Full Measure” ได้อย่างไร
เริ่มเรื่องจริงๆ แล้วหนังเรื่องนี้ตาม Schedule เดิมจะไม่ได้มาถ่ายทำที่ประเทศไทย มีการเตรียมการที่จะไปถ่ายประเทศทางแอฟริกา มีการเทสต์ถ่ายทำที่ประเทศนั้นแล้ว มีการซ้อมฉากเฮลิคอปเตอร์เรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยปัญหาการถ่ายทำในอเมริกามีปัญหา ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ตารางถ่ายทำที่ประเทศทางแอฟริกาที่จะใช้เป็นเวียดนามจึงมีปัญหาตาม แล้วหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้เคยมาทำงานร่วมงานกับบริษัท SC Flim ที่เป็นบริษัทซัปพอร์ตของไทย รวมทั้งผมด้วยก็เคยทำงานร่วมกับโปรดิวเซอร์คนนี้จึงได้มีโอกาสร่วมงานกันอีกครั้งครับ
ทำไมถึงเลือกโลเคชันถ่ายทำกันที่จังหวัดกาญจนบุรี
โจทย์แรกที่ทางผู้กำกับต้องการคือป่าดิบชื้น ต้นไม้ใหญ่ และภูมิประเทศใกล้เคียงกับเวียดนาม และด้วยความที่เป็นหนังสงครามหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการมีเอฟเฟกต์ ระเบิด ปืน และมีการใช้เฮลิคอปเตอร์ประกอบฉาก เเละเวลาในการเตรียมงานน้อยเราจึงเลือกจังหวัดกาญจนบุรีที่น่าจะตอบโจทย์ทั้งหมด คือมีป่าดิบชื้น มีหน่วยงานทหาร สนามบินที่สามารถจอดเฮลิคอปเตอร์ได้ อีกอย่างที่สำคัญเราต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่ของอุทยาน เพราะอย่างที่บอกเป็นหนังสงครามและจำนวนทีมงานจำนวนเยอะมาก มีทั้งระเบิดและเสียงปืนทุกวัน เราจึงได้ข้อสรุปเป็นพื้นที่ป่าของเอกชน แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาดูแลห้ามตัดต้นไม้ใหญ่ถึงเป็นที่เอกชนก็ตาม
มีการถ่ายทำที่จุดไหนบ้างในจังหวัดกาญจนบุรี
เราใช้ “พื้นที่ป่าเอกชน” (ของชาวบ้าน) เลยขึ้นไปทาง “เขื่อนเขาแหลม” ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี 45 นาทีเป็นโลเคชันหลัก และ “สนามบินของค่ายสุรสีห์” เป็นที่ขึ้นลงเฮลิคอปเตอร์ และ “เขาชนไก่” เป็นที่ฝึกซ้อมทหาร ซ้อมระเบิด ซ้อมยิงปืน และท่าทางของนักแสดงให้เป็นทหาร
การที่ต้องจำลองโลเคชันของเมืองไทยให้เป็นฉากหลังในสงครามเวียดนาม ต้องทำการบ้านอย่างไรบ้าง
เรานั่งรีเสิร์ชสงครามเวียดนามว่ามีรูปแบบอย่างไร ใช้ปืนอะไร มีอุปกรณ์ประกอบแบบไหนบ้าง รูปแบบของทหารอเมริกันที่มารบในเวียดนามเป็นอย่างไร ใช้เฮลิคอปเตอร์รุ่นไหน ซึ่งในแต่ละปีก็ต่างกัน ทหารต่างหน่วยกันก็ใส่เสื้อผ้าไม่เหมือนกัน สูบบุหรี่ยี่ห้ออะไร มีน้ำยากันน้ำกัดเท้า เหน็บหมวก แต่ที่ตลกมากคือทางอเมริกาได้เตรียมเสื้อผ้าส่งมาให้ไทยส่งตรงมาจากอเมริกา แต่ทางสไตลิสต์ทีมเสื้อผ้าของเรา (พี่บั๊ว) ได้ศึกษามาเป็นอย่างดี เสื้อผ้าที่ส่งมา ลายเสื้อไม่ถูก ซึ่งมองด้วยตาเปล่าบางทีก็ไม่รู้ แต่ทางทีมเสื้อผ้าของไทยไม่ยอม หาผ้าในไทยตัดใหม่ และสิ่งที่โชคดีของทหารอเมริกันบางอย่าง เราได้ของสะสมเก่าจริงจากพี่ๆ ในเมืองไทยที่สะสมไว้ ของในฉาก รถ เฮลิคอปเตอร์ หมวกนักบินที่เห็นจึงเป็นของเก่าจริงใช้จริงในสมัยสงครามเวียดนาม
และสิ่งที่คิดว่าท้าทายที่สุดในการทำงานในหนังสงครามที่ต้องเน้นความสมจริงแบบ “The Last Full Measure” คืออะไร
เราสนุกและท้าทายเสมอ เมื่อทำภาพยนตร์ที่เป็นหนังชีวประวัติหรืออ้างอิงเรื่องราวประวัติศาสตร์จริง เพราะนั่นหมายถึงเรามีหลักฐานยืนยัน มีรูปภาพ มีหลักฐานอ้างอิงยืนยัน มีภาพยนตร์สงครามเวียดนามที่ทำออกมามากมาย ถ้าเราทำผิดพลาดนิดเดียวมันก็จะฟ้องออกมาด้วยภาพ และภาพยนตร์ก็จะอยู่ไปตลอด เพราะฉะนั้นเราจึงซีเรียสเรื่องของและอุปกรณ์ประกอบฉากจะต้องถูกต้องตรงยุคสมัยและให้เกิดความสมจริงของภาพยนตร์มากขึ้น
ฉากไหนที่คิดว่าหินที่สุดสำหรับส่วนของกำกับศิลป์ในเรื่องนี้
ฉากที่รบกันในป่าทั้งหมด เพราะเราต้องทำต้นไม้ปลอม ผิวไม้ปลอม ปลูกต้นไม้ที่เรานำมาเองเพื่อรับเอฟเฟกต์ลูกกระสุนและระเบิดเองโดยไม่ไปทำลายต้นไม้ของสถานที่ที่เราไปใช้ถ่ายทำ การขุดหลุมสำหรับทหารเวียดกง ทำนั่งร้านบนต้นไม้สูงให้ทหารเวียดกงอยู่ และฉากที่มีเฮลิคอปเตอร์ประกอบฉากก็มีการนำเฮลิคอปเตอร์รุ่นฮิวอี้มาใช้ ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้จริงในสมัยสงครามเวียดนามจริง ซึ่งทางกองทัพอเมริกันตอนรบสงครามเวียดนามเสร็จไม่ได้นำกลับ มอบให้ทางกองทัพไทยได้ใช้ต่อมา อายุของเฮลิคอปเตอร์นั้นเก่ามาก 30-40 ปี ทั่วทั้งประเทศไทยที่สามารถบินได้มีไม่เกิน 5 ลำ เรานำเฮลิคอปเตอร์มาจากเชียงใหม่และจังหวัดตากต้องบินมาที่เมืองกาญจนบุรีใช้เวลา 3 วัน เพราะด้วยอายุของเฮลิคอปเตอร์ต้องบินระยะสั้นๆ พักมาตลอด พอมาถึงเราก็ต้องทำการเปลี่ยนเป็นเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอเมริกาโดยการลบป้ายตัวหนังสือไทยและนำป้ายตัวอักษรอเมริกันติดเข้าไปแทน แล้วการถ่ายทำบนท้องฟ้ายากมากในการสื่อสารระหว่างนักบินตากล้องกับนักแสดงภาคพื้นดิน
สิ่งที่น่าสนใจที่อยากจะแชร์ให้คอหนังคนไทยฟังเกี่ยวกับการทำงานกับผู้กำกับหรือกองถ่ายจากฮอลลีวูด
จริงๆ ผมรู้สึกว่าไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ไทยหรือภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ผมว่าความทุ่มเทและการทำงานของทีมงานไทยและผู้กำกับ-นักแสดงไม่ต่างกัน เพียงแต่เราจะรู้สึกว่าหนังฮอลลีวูดทำไมดูยิ่งใหญ่กว่า แน่นอนเพราะทุนสร้างและตลาดในการรับชมใหญ่กว่า มันเลยเป็นความท้าทายที่เมื่อได้ทำงานหนังฮอลลีวู้ดทุกครั้ง มันหมายถึงที่เราจะได้แสดงให้ชาวโลกได้เห็นทุกครั้งว่า ฝีมือทีมงานคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก สถานที่ถ่ายทำในไทย และคนไทยทุกคนก็ทำหน้าที่เจ้าบ้านที่ดี อยากฝากให้ช่วยอุดหนุนทั้งหนังไทยและหนังต่างประเทศ คนทำหนังจะได้มีกำลังใจทำต่อไปครับ
อยากให้พูดถึงการทำงานของนักแสดงในเรื่อง เท่าที่เห็นพวกเขาทุ่มเทกันขนาดไหน
อย่างที่ผมบอก นักแสดงไม่ว่าต่างชาติและนักแสดงไทยในภาพยนตร์ไทยที่ผมเห็นทุ่มเททุกคนที่ได้รับบทบาทนั้นๆ เพียงแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ความท้าทายคือเป็นการรวมนักแสดงหน้าใหม่ ในส่วนของสงครามเวียดนามพวกนักแสดงทุกคนต้องมาเรียนรู้การจับปืน การเดินแบบทหาร การหมอบการคลาน การวิ่งแบบทหาร โดยทำเวิร์กช็อปในเวลาน้อยมาก การถ่ายทำที่ต้องเจอเสียงปืนเสียงระเบิดทุกวัน ต้องอดทนมากครับ
คิดว่าการถ่ายทอดเรื่องราววีรกรรมที่โลกไม่เคยรู้ในภาพยนตร์เรื่อง “The Last Full Measure” มีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
ผมว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ ยิ่งเป็นเรื่องราววีรกรรมชีวิตจริงของทหารอเมริกันคนหนึ่งที่มารบในสงครามเวียดนามที่ได้สร้างวีรกรรมจริงให้กับกองทัพอเมริกันและคนอเมริกันจะได้มีความภาคภูมิใจไปกับประวัติศาสตร์จริงๆ ขนาดผมเองตอนถ่ายทำฉากสุดท้ายที่นายทหารคนนี้เสียชีวิต ผมเซตเป็นฉากเต็นต์ทหารพยาบาลที่นายทหารคนนี้เสียชีวิต ผมก็รู้ทั้งรู้ว่าเป็นการแสดง ผมยังแอบน้ำตารื้นตอนดูผ่านมอนิเตอร์เลยครับ
“The Last Full Measure วีรบุรุษที่โลกไม่จำ” ถ่ายทอดวีรกรรมของ “วิลเลียม เอช. พิตเซนบาร์เกอร์” (เจเรมี เออร์วิน) หน่วยพลร่มสังกัดกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระหว่างสงครามเวียดนามปี 1966 เมื่อเขาโรยตัวลงมาเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนทหารราบ และตัดสินใจทิ้งโอกาสในการหนีออกจากเขตปะทะไปพร้อมเฮลิคอปเตอร์ลำสุดท้ายเพื่อช่วยรักษาและต่อลมหายใจให้เพื่อนทหารอีก 60 ชีวิต จนท้ายสุดสงครามครั้งนั้นก็หลงเหลือไว้เพียงร่างของเขาและความยุติธรรมที่ถูกเพิกเฉย ถึงแม้ต้องใช้เวลานานถึง 30 ปี แต่วันนี้ความจริงทั้งหมดกำลังจะถูกเปิดเผย เมื่ออดีต “สหายร่วมรบ” (วิลเลียม เฮิร์ต) ลุกขึ้นมาขอความช่วยเหลือจากทนายกระทรวงกลาโหม “สก็อตต์ ฮัฟฟ์แมน” (เซบาสเตียน สแตน) เพื่อเสนอชื่อ “วิลเลียม เอช. พิตเซนบาร์เกอร์” รับเหรียญเกียรติยศเชิดชูความกล้าหาญชั้นสูงสุดของประเทศ นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการตามหาความจริงจากครอบครัวของวีรบุรุษและทหารผ่านศึกคนอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อทวงความกล้าหาญแด่ฮีโร่ที่โลกลืม รวมทั้งเปิดโปง “ความลับ” บางอย่างที่เกือบถูกลบหายไปพร้อมกับสงครามครั้งนั้น…
1 ตุลาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์