ยักษ์ (Yak: The Giant King)
เรื่องย่อ
“มีรามเกียรติ์เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ทุกแห่งหน ทุกผู้คน ไม่เว้นแม้แต่ในโลกของหุ่นยนต์”
“สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล / บ้านอิทธิฤทธิ์ / ซูเปอร์จิ๋ว / เวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส”
สุดภูมิใจที่ได้ร่วมกันสร้างฝันครั้งใหญ่ยิ่งกับอภิมหากาพย์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทยที่มีชื่อสั้นๆ ว่า
“ยักษ์”
ด้วยแรงบันดาลใจในตัวละครคลาสสิกจากมหากาพย์รามายณะ ราม, หนุมาน, ทศกัณฐ์ ฯลฯ
จุดประกายไอเดียให้เขียนเรื่องขึ้นมาใหม่ก่อนกำกับทุกภาพให้โลดแล่นเป็นการ์ตูนโดย
“ประภาส ชลศรานนท์”
พร้อมร่วมเดินทางสร้างสรรค์จินตนาการภาพและเสียงให้เคลื่อนไหวอย่างมหัศจรรย์
จากหลากหลายศิลปินแห่งยุคในแขนงต่างๆ มาร่วมเนรมิต “ยักษ์” ที่เรารักให้แผลงฤทธิ์บนผืนโลกใบนี้
4 ตุลาคมนี้ ถึงเวลาที่เรามั่นใจและเชื่อว่าทุกคนจะรัก “ยักษ์” เหมือนที่เรา “รัก”
หลังสงครามอันยิ่งใหญ่ระหว่าง “หุ่นกระป๋องฝ่ายราม” กับ “หุ่นยักษ์ฝ่ายทศกัณฐ์” จบลงแบบล้างเผ่าพันธุ์ปล่อยทิ้งให้สนามรบกลายเป็นเพียงสุสานซากเศษโลหะและเป็นขุมทรัพย์ให้กับบรรดาหุ่นค้าของเก่า และแล้วเรื่องราวมิตรภาพและการเดินทางผจญภัยของเจ้าหุ่นยนต์ 2 ตัวที่ดูๆ ไปแล้วไม่มีสิ่งใดที่จะเหมือนกันสักนิดเดียวก็ได้เริ่มต้นขึ้นในอีกหลายล้านวันต่อมา
เจ้าหุ่นตัวหนึ่งใหญ่ยักษ์สมร่างชื่อ “น้าเขียว” บ่งบอกตามลักษณะสีอันเป็นเอกลักษณ์ดูน่าเกรงขาม กับ “เจ้าเผือก” หุ่นกระป๋องมินิตัวเล็กประเมินจากสภาพจากพวกค้าหุ่นยนต์เก่าบอกได้คำเดียวว่าไร้ราคา แต่กลับกลายเป็นว่าเจ้าหุ่น 2 ตัวต่างตื่นขึ้นมาจากการถูกขุดขึ้นพร้อมกับสภาวะหน่วยความจำเสื่อม ไม่จำอดีต ไม่รู้อนาคต แถมยังมีโซ่พิเศษที่ตัดเท่าไหร่ก็ตัดไม่ขาดผูกล่ามติดกัน
หนำซ้ำงานนี้พอทั้งคู่ตื่นขึ้นมาก็อาละวาดซะจนเมืองขายของเก่ากระเจิดกระเจิงราบเป็นหน้ากลอง ทำให้ทั้งคู่ต้องหนีและกลายเป็นร่วมผจญภัยไปด้วยกันอย่างไม่มีทางเลือก ทีแรกดูเผินๆ ต่างฝ่ายต่างเป็นส่วนเกินของกันและกัน แต่ตลอดการเดินทางกลับมีเรื่องราวหลากหลายเกิดขึ้นทำให้ทั้งคู่กลายเป็น “ฮีโร่” โดยไม่รู้ตัว สร้างความผูกผันให้กับทั้งน้าเขียวและเจ้าเผือกก่อเกิดเป็นมิตรภาพที่ทำให้ส่วนเกินกลายแปรเปลี่ยนเป็นส่วนเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของทั้งคู่ และจนวันหนึ่งที่พวกเขาพร้อมจะเป็นเพื่อนสนิทด้วยความเต็มใจ กลับเป็นวันที่ต้องรู้ว่า แท้จริงแล้วตัวตนของพวกเขาคือใคร หน้าที่และภารกิจที่ได้รับมอบหมายจะต้องดำเนินต่อไป ทำให้ต้องเลือกระหว่าง “มิตรภาพ” กับ “หน้าที่” สิ่งใดสำคัญกว่ากัน
สิ่งละอันพันละน้อยหลอมรวมเป็นแอนิเมชั่นชวนยิ้ม “ยักษ์”
ที่มา:
- ก่อนจะใช้ชื่อว่า “บ้านอิทธิฤทธิ์” บริษัทนี้เคยเกือบจะได้ใช้ชื่อว่า “ฤาษี”
- “จิก ประภาส” และ “เอ็กซ์ ชัยพร” มีความชอบในลายเส้นของ “รงค์” (ณรงค์ ประภาสะโนบล) นักเขียนการ์ตูนในหนังสือ “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” เหมือนกันโดยไม่ตั้งใจ
- จุดเริ่มต้นของการนำ “รามเกียรติ์” มาสร้างเป็นแอนิเมชั่นเกิดจากขั้นตอนการประชุมทีมงานเพื่อวางเรื่อง แต่มีคนๆ หนึ่งเขียนชื่อลงไปในกระดาษผิดจาก “รามเกียรติ์” เป็น “รามเกียร์” เลยได้ไอเดียว่าถ้าเป็นโลกของหุ่นยนต์ขึ้นมาจะเป็นอย่างไร
- ชื่อเรื่อง “ยักษ์” นี้ ประภาสไม่เคยคิดเป็นชื่ออื่นเลย เพราะพอได้ไอเดียว่าเป็น “รามเกียรติ์” แล้ว ตัวละครแรกที่ตั้งใจใช้เป็นตัวเอกก็คือ “ทศกัณฐ์” เพราะเป็นตัวละครที่เขาชอบมากที่สุด จนถึงกับเอามาตั้งเป็นชื่อรายการ “เกมทศกัณฐ์” จนโด่งดังมาแล้ว เหตุที่ชอบเพราะรู้สึกว่าเป็นตัวละครที่น่าสนใจ และทึ่งกับความคิดสร้างสรรค์ของการออกแบบให้มี 10 หน้า 20 แขน 20 มือ
ตัวละคร:
- ต้นแบบของตัวละครในเรื่อง “ยักษ์” มาจากหุ่นยนต์ที่ “เอ็กซ์ ชัยพร” ออกแบบไตเติลให้ “เวิร์คพอยท์ฯ” เมื่อ 8 ปีก่อน ในตอนจบของรายการเป็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่เดินมาแล้วแปลงแขนเป็นอาวุธสงคราม มันเอากองขยะมาประกอบจนเขียนคำว่าเวิร์คพอยท์ ไตเติลนี้ใช้เพียงไม่กี่ครั้ง ประภาสก็ให้ถอดออกเพราะจะเก็บไว้ทำแอนิเมชั่นต่อ
- “หนุมาน” คือตัวละครที่ออกแบบยากที่สุด มีการปรับแก้หลายครั้งกว่าจะได้หน้าตาที่ดูเป็น “ฮีโร่” มากขึ้น
- ตัวละครบางตัวมีการดึงลักษณะเด่นของนักแสดงผู้พากย์เสียงมาเป็นส่วนหนึ่งของรูปลักษณ์ตัวละครด้วย เช่น “หนุมาน” จะแตกต่างจากหุ่นยนต์ตัวอื่น ตรงที่หุ่นตัวอื่นจะมีเสาอากาศไว้รับคำสั่งจาก “ราม” เพียงเสาเดียว แต่หนุมานจะมีสามเสาดูคล้ายทรงเดดร็อกทรงผมของ “เสนาหอย” / “ก๊อก” หุ่นขายของเก่าก็ออกแบบมาจาก “แจ๊ป เดอะริชแมนทอย”
- ตัวละครต่างๆ ในเรื่องนี้ได้ใส่รายละเอียดความเป็นไทยแฝงลงไปด้วยเช่น คิ้วของตัวละครเป็นคิ้วหยักๆ ได้ต้นแบบมาจากหัวโขน ตัวละครอย่าง “กุมภกรรณ” มีรอยสักรูปทศกัณฐ์ที่หน้าอก แต่รอยสักของโลกหุ่นยนต์จะไม่เหมือนกับของคนสักของหุ่นจะเอาเหล็กมาแล้วก็ยิงตะปูติด
- หน้าท้องของตัวละคร “ทศกัณฐ์” ออกแบบมาจากท้องแมลง นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ข้อดีคือมันสามารถงอเหมือนหุ่นจริงๆ
- ตัวละครหลักในเรื่องนี้ตัวที่ไม่ได้อ้างอิงมาจาก “รามเกียรติ์” คือ “น้องสนิม”
- “น้องสนิม” เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ทำกันหลายรอบ เพราะเป็นหุ่นยนต์ผู้หญิง ต้องออกแบบให้น่ารักนั้นทำได้ยาก ก่อนหน้านี้น้องสนิมเคยมีหน้าตาที่ดูน่ากลัวมากเพราะหน้าเป็นสนิมไปหมด
- ตัวละคร “บรู๊คส์” นักไต่เขา เป็นตัวละครที่ตั้งใจออกแบบให้เหมือน “โน้ต อุดม” โดนตอนแรกทีมงานจะใส่จมูกอันเป็นเอกลักษณ์ลงไปแต่ไม่เข้ากับหน้าหุ่นยนต์เลยเอาออก แต่ถึงอย่างนั้นก็ออกมาคล้ายมากอยู่ดี
- ส่วนชื่อบรู๊คส์นั้น ประภาสตั้งชื่อนี้ เพราะมีความประทับใจมาจากตัวละครบรูกส์ในหนังเรื่อง “The Shawshank Redemption” (1994
- คาแร็กเตอร์ที่หาเสียงยากสุดคือตัว “น้าเขียว” หรือ “ทศกัณฐ์” เพราะว่ายักษ์ต้องมีทั้งความน่ากลัว เสียงต้องใหญ่ แต่พอติงต๊องก็เสียงต้องน่าสงสารด้วย จนสุดท้ายมาลงตัวที่ “หนุ่ม สันติสุข”
- จริงๆ แล้วคาแร็กเตอร์ทั้งหมดในเรื่องมีอีกเป็นพันตัวเวลาที่ตัวละครเดินทางไปแต่ละเมืองเราก็จะเห็นดีไซน์ของหุ่นที่ไม่เหมือนกัน เมืองแต่ละเมืองก็จะมีสัญลักษณ์บางอย่าง เช่นเมืองที่เป็นเซียงกง เมืองนี้ก็จะเป็นเมืองที่เป็นสนิมๆ ไม่ค่อยสมบูรณ์ และพอเข้าไปโรงไฟฟ้าก็จะเป็นอีกเมืองหนึ่งก็จะเป็นอีกสีหนึ่ง
ฉาก:
- ฉากที่ใช้เวลาทำนานที่สุดจะเป็น “ฉากมหาสงคราม” ที่ใช้เวลานานเพราะว่าเป็นฉากแรกที่ทีมงานเริ่มทดลองทำ ใช้เวลาประมาณครึ่งปีสำหรับฉากแค่ 4 นาที (ในตอนแรกฉากนี้มีความยาวถึง 14 นาที)
- “ฉากเชียงกง” เป็นตลาดที่ใช้ขายอะไหล่ให้หุ่นยนต์ตัวอื่นได้มาซื้อเปลี่ยน ฉากนี้มีต้นแบบมาจากตลาดเซียงกงจริงๆ ที่ขายอะไหล่รถยนต์ เครื่องยนต์ต่างๆ ในบ้านเรา
- การออกแบบอาร์ตไดเร็กชั่นในเรื่องนี้มีความเป็นไทยสูง อย่างบรรยากาศท้องฟ้าในเรื่อง ชัยพรตั้งใจออกแบบให้มีสีสันที่เหมือนการใส่บาตรตอนเช้า
- “ฉากยักษ์ตื่น” เป็นฉากที่มีความสนุกสนานอลม่าน เหตุการณ์ป่วนๆ เกิดขึ้นหลังจากที่ “ทศกัณฐ์” และ “หนุมาน” ตื่นขึ้นจากการหลับมานาน แต่ความยากของแอนิเมเตอร์ในฉากนี้คือต้องทำชาวเมืองนับร้อย และแต่ละตัวต่างกันหมดทั้งหน้าตาและการเคลื่อนไหว แถมยังมีบ้านเรือนเป็นฉากมากมายอีกด้วย
- “ฉากปาหี่ของกุมภกรรณ” การจัดแสงต่างๆ ได้ไอเดียมาจากงานคอนเสิร์ตของจริงความยากของฉากนี้นอกจากจะมีตัวละครนับร้อย ทำให้จัดแสงไฟได้ยาก และตัวละครทุกตัวต้องมีชีวิตของตัวเองไมได้ขยับตัวเหมือนๆ กัน
- “ฉากฟาร์มแม่เหล็ก” ฉากนี้ใช้การออกแบบง่ายๆ แต่ทรงพลัง โดยออกแบบให้เป็นแม่เหล็กเกือกม้าใหญ่ๆ อันเดียวเพื่อสื่อความหมาย แม่เหล็กนี้ไว้ใช้เปลี่ยนเหล็กให้กลายเป็นแม่เหล็ก และใช้ผลิตกระแสไฟไฟฟ้าให้กับเมืองหุ่นยนต์ เมื่อหุ่นยนต์ที่เข้าใกล้แม่เหล็กก็จะถูกดูดเข้าไป ฉากนี้เป็นฉากที่น่าตื่นเต้นน่ารอชมอีกฉาก
- “ฉากตัดโซ่” ในเรื่องนี้จะเห็นสถานการณ์ที่เผือกและเขียวพยายามจะตัดโซ่ออกจากกันหลายครั้ง คนดูจะได้สนุกไปกับสถานการณ์หลากหลาย เบื้องหลังการสร้างนั้นยากมาก ฉากนี้มีประมาณ 6-7 ฉากในเวลาไม่ถึง 1 นาที แต่ฉากหนึ่งใช้เวลาเฉลี่ยแล้วประมาณ 4-6 เดือน
- “โซ่” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในเรื่องนี้เป็นจุดที่ยากมากเช่นกัน เพราะต้องใช้การสร้างงานซิมูเลชั่น (การเคลื่อนไหวที่สร้างขึ้นในคอมพิวเตอร์) มาทำให้โซ่เคลื่อนไหวได้สมจริง เป็นจุดที่ยากมากที่สุดจุดหนึ่งในเรื่อง เพราะตอนแรกยังไม่มีเทคโนโลยีการเขียนสคริปต์ให้คอมพิวเตอร์คำนวณ ต้องใช้แอนิเมเตอร์ค่อยๆ ขยับ จนเกือบทำแอนิเมเตอร์ถอดใจลาออกกันหลายคน จุดที่ยากที่สุดคือต้องทำให้โซ่ไปพันเสาให้ได้ใน “ฉากฟาร์มแม่เหล็ก”
รามเกียรติ์:
ในแอนิเมชั่นเรื่อง “ยักษ์” นี้เป็นการนำ “รามเกียรติ์” มาเล่าในรูปแบบใหม่ มีการอิงจากเรื่องต้นฉบับและมีจุดที่มาแต่งเติมความคิดสร้างสีสันหลายจุด มีทั้งจุดที่เหมือนและแตกต่างได้แก่
- หางของ“หนุมาน” ที่ยืดออกมาเป็นโซ่ได้ยาวๆ อิงมาจากฤทธิ์เดชของหนุมานที่สามารถยืดหางยาวจนพันรอบภูเขาได้
- “กุมภกรรณ” ในแง่ของวรรณคดีแล้วมีกายสีเขียว มีศักดิ์เป็นน้องแท้ๆ ของ “ทศกัณฐ์” มีอาวุธร้ายประจำกายคือ “หอกโมกขศักดิ์” แต่ในเรื่องนี้จะมีร่างกายสีแดง เป็นพ่อค้าปาหี่ซึ่งหลงใหลทศกัณฐ์ และแน่นอนในเรื่องนี้มีปืนโมกขศักดิ์ เป็นอาวุธประจำกายเช่นกัน
- “สดายุ” ตามเรื่องรามเกียรติ์ คือ “พระยาสดายุ” เป็นพญานก กายสีเขียว เป็นเพื่อนกับ “ท้าวทศรถ” วันหนึ่งสดายุพบทศกัณฐ์อุ้มนางสีดาเหาะมา นางสีดาเรียกให้ช่วย สดายุจึงเข้าต่อสู้กับทศกัณฐ์ แต่ในเรื่องนี้สดายุเป็นเครื่องบินรบสมัยสงคราม เป็นเครื่องบินของกองทัพทศกัณฐ์ ในฉากแรกเราจะเห็นบินกันเป็นฝูงๆ แต่เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตรงกลางเรื่อง นกสดายุเครื่องบินรบเก่าที่เหลืออยู่เพียงลำเดียวก็ออกมาแสดงความสนุก
ยักษ์ในต่างแดน:
- ทีมงานส่วนใหญ่ของแอนิเมชั่น “ยักษ์” ตั้งแต่ผู้สร้าง, ผู้กำกับ, คนเขียนบท, นักแสดง, คนทำดนตรีประกอบ, มือตัดต่อ, ศิลปิน, รวมไปถึงทีมแอนิเมเตอร์ตลอดจนทีมงานเบื้องหน้าเบื้องหลังทั้งหมด ฯลฯ ยกเว้น “ทอดด์ ทองดี” ที่รับผิดชอบในการควบคุมกำกับการพากย์เวอร์ชั่นเสียงภาษาอังกฤษ พบว่าทีมงานทุกคนล้วนถือสัญชาติไทยและมีบัตรประชาชนเป็นคนไทยแทบทั้งสิ้น
- “การเดินทางของยักษ์ในต่างแดน” เริ่มต้นขึ้นก่อนที่ตัวหนังฉบับสมบูรณ์จะเสร็จสิ้นโดยมีการนำภาพบางส่วนจากภาพยนตร์ไปฉายใน “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์” ที่ผ่านมารวมไปถึงดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าตำรับของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นอย่างประเทศ “ญี่ปุ่น” และ “อเมริกา”
- เจ้าของลายเส้นการ์ตูนยักษ์อย่าง “เอ็กซ์ ชัยพร” ถึงกลับปลื้มสุดๆ เมื่อมีชาวญี่ปุ่นที่เป็นนักเขียนการ์ตูนชื่อดังได้กล่าวแสดงความชื่นชมผลงานหลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรู้สึกประทับใจกับการเคลื่อนไหวของตัวยักษ์ พร้อมกับแสดงท่าทีสนใจอยากร่วมงานด้วย
- อีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นล่าสุดสดๆ ร้อนๆ และถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีจากการเปิดเผยล่าสุดจาก “เสี่ยเจียง” หัวเรือใหญ่ของ “สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล” ว่าแอนิเมชั่น “ยักษ์” ได้มีการตอบรับเซ็นสัญญาซื้อขายไปบ้างแล้วจากบางประเทศที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์อย่าง “รัสเซีย” และ “เกาหลี” ในขณะที่ “ญี่ปุ่น” และ “อเมริกา” เองกำลังอยู่ในระหว่างเจรจาและมีทีท่าสนใจไม่ใช่น้อย
- สร้างความแปลกใจและตื่นตะลึงไปมิใช่น้อยเมื่อหลายๆ ชาติที่มีโอกาสได้ชม “ยักษ์” และรู้ว่านี่คือผลงานแอนิเมชั่นสัญชาติไทยที่ทำโดยฝีมือคนไทย
Room39 Yak Yak: The Giant King ชนินาภ ศิริสวัสดิ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ ซูเปอร์จิ๋ว บริบูรณ์ จันทร์เรือง บ้านอิทธิฤทธิ์ ประภาส ชลศรานนท์ ยักษ์ วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ วีรณัฐ ทิพยมณฑล สันติสุข พรหมศิริ อุดม แต้พานิช เกิดมาเป็นเพื่อนเธอ เกียรติศักดิ์ อุดมนาค เวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส แจ๊ป เดอะริชแมนทอย
นักแสดง
ผู้กำกับ
ประภาส ชลศรานนท์, ชัยพร พานิชรุทติวงศ์รางวัล
รางวัล “พระสุรัสวดี-ตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 29” (ประจำปี 2555) – เทคนิคภาพพิเศษยอดเยี่ยม (บริษัท บ้านอิทธิฤทธิ์ จำกัด)