แผลเก่า (The Scar)

วันเข้าฉาย: 12/08/2014 ดราม่า, โรแมนติก 02 ชั่วโมง 11 นาที

เรื่องย่อ

ฉันขอสาบาน

ว่าฉันจะไม่มีวันทอดทิ้งพี่ขวัญ

ทิ้งคลองแสนแสบ ทิ้งทุ่งบางกะปิ

 

ในปี พ.ศ. 2479 ณ ท้องทุ่งบางกะปิ เรื่องราวความรักอมตะของ “ขวัญ” (ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต) และ “เรียม” (ดาวิกา โฮร์เน่) ได้ก่อกำเนิดขึ้น แต่มันกลับต้องเป็นรักต้องห้ามอันเนื่องมาจากครอบครัวของทั้งสองฝ่ายคือ “ผู้ใหญ่เขียน” (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) พ่อของขวัญและ “กำนันเรือง” (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) พ่อของเรียมที่มีเรื่องบาดหมางไม่ถูกกันมาแต่ครั้งอดีต ทั้งคู่จึงตั้งตนเป็นศัตรูกันมาโดยตลอด และสั่งห้ามคนในครอบครัวเข้าไปข้องแวะกับแต่ละฝ่ายอย่างเด็ดขาด

 

แม้จะมีข้อห้ามของครอบครัวเป็นอุปสรรคใหญ่ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความรักของทั้งคู่ลดน้อยลง ขวัญและเรียมยังคงแอบนัดพบกันเสมอ จนได้สาบานรักต่อหน้าศาลเจ้าพ่อไทรว่าจะซื่อสัตย์และเป็นรักเดียวของกันและกันตลอดไป นี่ยิ่งทำให้ความรักของทั้งคู่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

จนกระทั่งการมาปรากฏตัวของ “จ้อย” (พงศ์สิรี บรรลือวงศ์) นักเลงเมืองมีนผู้หมายปองเรียมเป็นภรรยา โดยมี “เริญ” (วราวุธ โพธิ์ยิ้ม) พี่ชายผู้ไม่เอาไหนของเรียมเป็นผู้ช่วย ทั้งคู่จึงเป็นศัตรูคู่ปรับตัวฉกาจของขวัญในทุกๆ ทาง และนำมาซึ่งเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้เรียมต้องถูกขายขัดดอกให้กับ “คุณหญิงทองคำเปลว” (สินจัย เปล่งพานิช) เศรษฐีนีม่ายบางกอกผู้มั่งคั่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่นาแห่งทุ่งบางกะปิ

 

เมื่อเรื่องรู้ถึงหูขวัญ เขาแทบคลั่งและไม่รอช้ารีบออกตามหา และทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เรียมกลับคืนมา แต่ก็ไร้ผล ทำให้ขวัญเสียใจมากจนเกือบเสียผู้เสียคน

 

อาจจะเป็นความโชคดีบนโชคร้ายของเรียมที่ถูกขายให้กับคุณหญิงฯ ก็เป็นได้ เพราะคุณหญิงฯ รักและเอ็นดูเรียมอย่างลูกสาวแท้ๆ ของตัวเอง คุณหญิงฯ ได้ให้ชีวิตใหม่กับเรียมทั้งรูปโฉม การศึกษา และฐานะทางสังคม รวมถึงทำให้เรียมได้รู้จักกับนักการเมืองหนุ่มไฟแรง “คุณสมชาย” (ณัฎฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้เข้ามาพัวพันและเป็นตัวแปรสำคัญต่อความรักของขวัญและเรียม

 

ยิ่งเวลาผ่านไป ชีวิตของขวัญและเรียมก็ยิ่งถูกแยกห่างออกไปเหมือนอยู่กันคนละโลก แต่แล้วโชคชะตาก็นำพาให้ทั้งคู่มีโอกาสได้กลับมาพบกันอีกครั้งด้วยความรัก ความซื่อสัตย์ และความเข้าใจผิดอันนำไปสู่ความสูญเสียและการพลัดพราก ณ ท้องน้ำหน้าศาลเจ้าพ่อไทร สถานที่ที่ทั้งคู่เคยร่วมสาบานว่าจะรักกัน…ตราบจนวันตาย

 

พี่รักเรียมด้วยใจซื่อ

แผลเก่าของพี่เป็นแผลรัก แผลรอ

แต่แผลใหม่นี้ มันเกิดขึ้นเพราะเจ้าชัง…

 

Scar-Still16

Scar-Still13

 

เบื้องหลังงานสร้าง

 

ได้รับการกล่าวขวัญถึงในทุกผลงานภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ออกมาในยุคปัจจุบันตั้งแต่ “ชั่วฟ้าดินสลาย” (2553), “อุโมงค์ผาเมือง” (2554), “จันดารา ปฐมบท” (2555) และ “จันดารา ปัจฉิมบท” (2556)

 

ล่าสุด ผู้กำกับชั้นครู “หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” กำลังจะกลับมาสร้างความฮือฮาให้กับวงการภาพยนตร์ไทยในปี 2557 นี้อีกครั้ง กับการหยิบวรรณกรรมสุดอมตะของ “ไม้ เมืองเดิม” (ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา) เรื่อง “แผลเก่า” มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ Romantic Drama อย่างร่วมสมัยขึ้น กับเรื่องราวความรักต้องห้ามอันลือลั่นแห่งท้องทุ่งบางกะปิของ “ขวัญ” และ “เรียม” อันเนื่องมาจากความเป็นศัตรูระหว่างทั้งสองครอบครัว โดยมีคลองแสนแสบเป็นเขตขวางกั้นความรักระหว่างสองหนุ่มสาวบ้านนา

 

“คือโครงการนี้มันเกิดจากการที่ ‘คุณเจียง’ (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) กับเราคุยกัน คุณเจียงมีความปรารถนาอยากที่จะเห็น แผลเก่า’ ในเวอร์ชั่นใหม่ คือลำพังตัวคุณเจียงเองก็ชื่นชมและประทับใจภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า ของ ‘คุณเชิด ทรงศรี’ มาก แกอยากเห็นแบบหนังร่วมสมัยบ้าง เป็นหนังที่ทำให้คนรุ่นใหม่ดู แต่ว่ารักษาอรรถรส รักษาเนื้อหาสาระของเดิมไว้ทั้งหมด ก็เลยมาปรึกษากัน แล้วก็คิดว่ามันต้องมีการปรับปรุง อาจจะมีการปฏิรูปแผลเก่าจากวรรณกรรมเรื่องเดิมมาเป็นภาพยนตร์ในยุคใหม่ ซึ่งอันนี้ต้องมีการศึกษามาก มีการค้นคว้ามาก แน่นอนที่สุดวรรณกรรมเรื่องนี้เขียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2479 แล้วก็ถูกทำเป็นภาพยนตร์หลายครั้งมาก รู้สึกว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 5 ถูกทำเป็นละครเวทีและละครโทรทัศน์มากมาย ตัวเราเองก็ดูหลายครั้ง ทั้งอ่านวรรณกรรมหลายเที่ยวตั้งแต่เด็ก แล้วก็อันที่ประทับใจที่สุดคือแผลเก่าที่เป็นละครโทรทัศน์โดยช่อง 4 บางขุนพรหม จำได้ว่า ‘กำธร สุวรรณปิยะศิริ’ และ ‘นันทวัน เมฆใหญ่’ เล่นเป็นขวัญกับเรียมแล้วมันเป็นภาพที่ติดตามากๆ สมัยนั้นยังเป็นทีวีขาวดำอยู่เลย ก็ประทับใจจำได้ไม่ลืมเลือน ทีนี้พอยุคที่เราเรียนหนังสืออยู่ เรียนมหา’ลัยก็มีหนังคุณเชิดเมื่อปี 2520 ก็ได้ดูแล้วก็ประทับใจไปอีกแบบหนึ่ง แล้วก็ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะได้ทำ อยากดูที่คนอื่นทำมากกว่า ถ้าถามความรู้สึกของตัวเองนะครับ จะพูดไปก็เป็นความปรารถนาของคุณเจียงที่บอกว่าอยากเห็นแผลเก่าฝีมือหม่อมน้อยทำ”

 

Scar-Still01

 

วรรณกรรมอมตะของ “ไม้ เมืองเดิม” มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย สำนวนแปลก เค้าโครงเรื่องเร้าใจ ทำให้วรรณกรรมของท่านแทบทุกเรื่องได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวทีในหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมชิ้นเอกของท่านอย่าง “แผลเก่า” เรื่องนี้ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 5 ครั้ง (พ.ศ.2483, 2489, 2520, 2544 และ 2557) เพราะเนื้อหาที่ทั้งสนุกสนานเร้าใจ และมีสาระอันลึกซึ้งกินใจ ดูกันได้ทุกสมัยอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย

 

“จริงๆ แล้วตามบทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม’ ก็เป็นวัยรุ่นย้อนยุคอยู่แล้ว ถ้าคนอ่านหนังสือจะทราบว่าขวัญกับเรียมอายุ 18-19 เอง ทีนี้พอมองไปเวอร์ชั่นที่ดังที่สุด เวอร์ชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ประทับใจที่สุดจะเป็นของ ‘คุณสรพงษ์ ชาตรี’ กับ ‘คุณนันทนา เงากระจ่าง’ ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งสองท่านอายุมากแล้วในตอนนั้น ภาพนั้นจะติดตาคนดู แต่โดยแท้แล้วเมื่อกลับมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง ตอนที่ยังไม่ได้รับปากคุณเจียงด้วยซ้ำ บอกว่าขอมาอ่านก่อนอีกครั้งหนึ่ง ขอดูแง่มุมที่จะสามารถดัดแปลงเป็นภาพยนตร์สำหรับยุคใหม่ร่วมสมัย มันจะได้มั้ย ก็มาอ่านอีกครั้งหนึ่ง ก็เก็บรายละเอียดมาก แล้วก็เห็นคุณค่าในวรรณกรรมชิ้นนี้มาก จริงๆ แล้วเป็นเรื่องง่ายๆ มันไม่ใช่เรื่องยากเลย เป็นความรักของขวัญกับเรียมซึ่งสองครอบครัวพ่อแม่ไม่ถูกกัน เกลียดกัน แล้วก็เป็นรักต้องห้าม โดยมีคลองแสนแสบขวางกั้นอยู่ จะพูดไปก็มีความเป็น ‘โรมิโอ-จูเลียต’ ของเช็กสเปียร์อยู่มาก แต่ว่าในหนังสือความเด่นของท่านคือการใช้ภาษาของท่าน ซึ่งบรรยายทุ่งนาได้สวยงามเหลือเกิน แล้วก็บรรยายชนบทพื้นบ้านไทยในยุคนั้นได้อย่างงดงาม แล้วก็ตัวละครของท่านคือขวัญกับเรียมเป็นมนุษย์ มันน่าอัศจรรย์ใจมากที่นักเขียนในยุคนั้นมักจะเขียนพระเอกก็คือพระเอก นางเอกก็ดี ผู้ร้ายก็ร้าย แต่ว่าใน แผลเก่า’ ท่านสร้างตัวละครขวัญกับเรียมได้เป็นมนุษย์มาก เป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี มีทุกอย่าง มีเลือดมีเนื้อ มีจิตใจ มีวิญญาณ มีความคิดลบ มีความคิดบวก ซึ่งน่าอัศจรรย์ใจมาก”

 

ภาพยนตร์ชีวิตรักแนว Romantic Drama นั้นเป็นแนวภาพยนตร์ที่ไม่เคยเสื่อมความนิยมในทุกยุคทุกสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเอเชีย เปรียบได้กับชาวโลกไม่เคยลืมเลือนความซาบซึ้งประทับใจในความรักของ “โรมิโอ และ จูเลียต” ของ “วิลเลียม เช็กสเปียร์” ความรักของ “ขวัญ” และ “เรียม” ใน “แผลเก่า” ก็เช่นเดียวกัน เพราะโศกนาฏกรรมในความรักของทั้งสองหนุ่มสาวมีมูลเหตุมาจากความแตกแยก ชิงชัง ขาดความรักใคร่สามัคคีปรองดองในสังคมท้องถิ่น อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งในผลประโยชน์และทัศนคติ ตลอดจนความเชื่อในการดำรงชีวิต โดยมี “คลองแสนแสบ” แห่ง “ทุ่งบางกะปิ” เป็นเส้นแบ่งกั้นความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย เปรียบได้กับ “ความขัดแย้ง” ในสังคมไทยปัจจุบันซึ่งก่อให้เกิดแต่ผลร้าย และความหายนะของทุกๆ ฝ่าย หากคนไทยไม่รู้จักที่จะหันหน้าเปิดใจให้แก่กัน และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยสันติวิธีแทนที่จะใช้ความรุนแรง

 

“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแม้กระทั่งในทุ่งบางกะปิเองก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างสองบ้านคือบ้านขวัญคือผู้ใหญ่เขียนกับบ้านเรียมคือกำนันเรือง สองบ้านก็จะแตกต่างกัน และแต่ละฝ่ายก็ Extreme นะ แต่ละฝ่ายก็ยึดถือความถูกของเค้า ผู้ใหญ่เขียนถึงแม้เป็นคนสมถะ แต่ก็ไม่ใช่คนปล่อยวาง ก็เป็นคนยึดในความคิดของตัวว่าคิดแบบฉันถูก กำนันเรืองที่อิงวัตถุเงินทองก็บอกคิดแบบฉันก็ถูก เพราะฉะนั้นสองฝ่ายมันก็เป็นศัตรูกันแล้วก็ไม่มีวันจบวันสิ้น ท้ายสุดมันก็ต้องเสียเลือดเสียเนื้อถึงปรองดองกันได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้จะพูดแบบนี้”

 

Scar-Still15

 

ความน่าสนใจใน “ความรักต้องห้าม” (Taboo) ของ “ขวัญ” และ “เรียม” อันมีพื้นฐานมาจากสัญชาตญาณของความท้าทายที่จะเอาชนะในกฎเกณฑ์ของสังคมที่ถูกกำหนดโดยผู้ใหญ่หรือคนรุ่นเก่า และการยึดถือความเป็นปัจเจกชนเยี่ยงคนหนุ่มสาวในวัยคะนองจนก่อให้เกิดบทเรียนชีวิตอันน่าสะเทือนใจสอนใจผู้ชมกลุ่มวัยรุ่นได้อย่างแยบยลและแนบเนียนเป็นที่สุด

 

“เราจับได้ว่าความรักต้องห้ามของหนุ่มสาวสองคน อายุ 18-19 แล้วเพิ่งจะรักกัน มันน่าจะเป็นหนังวัยรุ่นย้อนยุคได้ ซึ่งการกระทำของทั้งสองคนมันก็เหมือนวัยรุ่นในยุคปัจจุบันมาก เหมือนวัยรุ่นทุกยุคมาก คืออะไรห้ามมักจะทำ พ่อแม่ห้ามเราจะสนุกเหลือเกินที่จะฝ่าฝืนกฎ มันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็น Psychology ธรรมดาของมนุษย์วัยรุ่นที่อะดรีนาลีนกำลังพลุ่งพล่านมาก แล้วก็ยังแยกไม่ออกระหว่างความรักกับความหลง แล้วขวัญเองก็เป็นหนุ่มหล่ออยู่ฝั่งหนึ่ง เรียมเองก็เป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในหมู่บ้าน ถึงแม้ว่าจะโดนห้ามคบกันตั้งแต่เด็ก มีคลองขวางกั้น แต่มันเห็นกันทุกวัน หมู่บ้านสมัยนั้นมันเล็กนิดเดียว มันก็รู้จักกันหมดนั่นแหละ แต่ว่าไม่พูดกัน โดนห้ามคบกัน เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนที่เริ่มจะสู่วัยหนุ่มวัยสาวมันจะสนใจกัน แล้วยิ่งห้ามยิ่งยุมันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นอันนี้เราเลยจับได้ว่าด้วยจิตวิทยาง่ายๆ ของวัยรุ่น เราเลยเชื่อว่าประเด็นนี้มันจะเป็นประเด็นที่คนดูวัยรุ่นยุคปัจจุบันตั้งแต่ 14-19 จะดูอย่างเข้าใจ เพราะมันเป็นเรื่องที่สามารถรู้สึกได้

 

แน่นอนที่สุด สิ่งที่เราต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาในช่วงเตรียมงานว่าเราทำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้คนรุ่นใหม่ดู เป็นแผลเก่าสำหรับคนรุ่นใหม่ อันนี้มันต้องทำความเข้าใจกันก่อน แน่นอนที่สุดการรีเมกหรือทำภาพยนตร์ที่เคยทำมาแล้ว เราไม่ได้ก๊อปปี้ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะก๊อปปี้ของเก่า เพราะของเก่าที่ดีของคุณเชิดก็ 30 กว่าปีมาแล้ว มันไม่ใช่ยุคสำหรับคนปัจจุบัน ดูแล้วก็จะเบื่อๆ เพราะฉะนั้นเราพยายามดึงส่วนที่ดีจากหนังสือ ส่วนที่ดีจากภาพยนตร์ของคุณเชิดซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เราอุทิศให้แก่ ‘คุณไม้ เมืองเดิม’ และ ‘คุณเชิด ทรงศรี’ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้มีการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แผลเก่าสำหรับคนรุ่นใหม่จริงๆ เพราะว่าเป็นการมองมุมใหม่ที่เป็นหนังรักโรแมนติก มันจะไม่จริงจังแบบของเดิม แต่จะสะท้อนความรักที่สวยสดงดงาม ทั้งความรักของหนุ่มสาว ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก เพื่อนที่มีต่อเพื่อน บ่าวที่มีต่อนาย และที่สำคัญที่สุดคือรักถิ่นกำเนิดของตัวเอง รักรากเหง้าของตัวเองซึ่งสะท้อนออกมาในตัวละครของขวัญและเรียม มันเป็นภาพยนตร์รักจริงๆ ภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความรักจริงๆ ความรักแท้เป็นเช่นไรก็จะเห็นในเรื่องนี้ คุณจะได้เข้าใจความรักหลายๆ แบบ”

 

Scar-Still17

Scar-Still18

Scar-Still19

 

ความงามของธรรมชาติอันบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ของท้องทุ่งนาบางกะปิในทุกฤดูกาล กิจกรรมการทำนาในอดีตนับตั้งแต่ขุด, คราด, หว่าน, ไถ  และเกี่ยว ตลอดจนทำขวัญ จะทำให้ผู้ชมได้ย้อนไปถึงวิธีการทำนาในอดีตซึ่งสูญสิ้นไปแล้วในปัจจุบัน อันเป็นวิถีชีวิตโดยแท้ของชาวไทย และกิจกรรมบันเทิงอันเกี่ยวข้องกับฤดูกาลทำนา อาทิเช่น เพลงเกี่ยวข้าว, เพลงเรือ ฯลฯ จะทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในความงดงามและยิ่งใหญ่ของผืนแผ่นนาข้าว และภาคภูมิใจในขนบประเพณีและความเป็นไทย

 

“สำหรับเราเอง เราเห็นว่าการทำนาไม่ใช่ใครทำก็ได้ มันเป็นงานศิลปะขั้นสูงมากนะ ให้เราไปเรียนวันสองวันก็ทำไม่ได้ มันเป็นงานศิลปะพื้นบ้านจริงๆ มันอาร์ตเวิร์กจริงๆ ไม่ใช่ใช้ Skill อย่างเดียว ไม่ใช่คนชั้นกรรมาชีพเลย และที่สำคัญคือต้องมีความรู้มาก ต้องรู้ธรรมชาติของดินฟ้าอากาศ ต้องรู้ธรรมชาติของเมล็ดพืช แล้วก็ Sensitive กับน้ำขึ้นน้ำลง ความชื้นอากาศ ซึ่งโอ้โหจริงๆ แล้วเค้าควรเป็นด็อกเตอร์ทางฟาร์มมิ่งกันนะ เพราะว่าเค้ารู้จริงๆ แล้วยิ่งไปกว่านั้นไม่นับหยาดเหงื่อแรงงานที่ต้องตรากตรำอยู่กลางแดดอีก เพราะฉะนั้นนักแสดงในเรื่องนี้จะได้รู้ซึ้งถึงบุญคุณของชาวนา เพราะว่าตัวเองต้องถ่ายกลางแดดจริงๆ ไม่ใช่มาถ่ายแค่แป๊บๆ ชั่วโมงสองชั่วโมง มันไม่ใช่อย่างนั้นเพราะโลเกชั่นถ่ายทำที่สุพรรณบุรี ซึ่งต้องเข้าไปลึกมากเพื่อหนีเสาไฟฟ้าหรืออะไรที่เป็นสมัยใหม่ แล้วรถยนต์ก็เข้าไปไม่ได้ ต้องเดินเข้าไป นั่งซาเล้งเข้าไป แล้วต้นไม้ก็ไม่มีสักต้นเดียว ห้องแอร์ไม่มี ก็คือได้รู้ว่าทุกอย่างชาวนาเค้าเหนื่อยยากขนาดไหน

 

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าจะพูดไป ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นพิพิธภัณฑ์การทำนาของประเทศนี้เลย คือการทำนาทุกขั้นตอนในอดีต โดยที่รักษาทุกอย่างไว้อย่างเหมือนจริงที่สุดซึ่งมันก็ไม่มีอีกแล้ว และที่สำคัญคือเรารักษาความเป็นไทยเอาไว้ที่สุด คือวิญญาณของคนไทยที่อยู่ในตัวละคร บรรยากาศของความเป็นไทยแท้ๆ ที่อยู่ในท้องน้ำหรือลำน้ำ ทัศนะที่มีต่อกันของพ่อแม่ลูก ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวนาพื้นบ้าน เค้าเป็นยังไง เค้าคิดอะไร เค้าทำอะไรกันบ้าง เค้ามีวิถีชีวิตอย่างไรในยุคนั้นนะครับไม่ใช่ยุคปัจจุบัน นี่คือคุณค่าของหนัง

 

ถ้าจะดูภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ดูได้หลายระดับนะ ถ้าคิดตามคุณก็จะได้อะไร ถ้าไม่คิดดูเอาความบันเทิงก็เตรียมผ้าเช็ดหน้าไปเช็ดน้ำตากันด้วยความประทับใจ เป็น แผลเก่า’ สำหรับคนรุ่นใหม่จริงๆ”

 


นักแสดง

ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต
ดาวิกา โฮร์เน่
สินจัย เปล่งพานิช
พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
ศักราช ฤกษ์ธำรงค์
ปานเลขา ว่านม่วง
ณัฎฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
พงศ์สิรี บรรลือวงศ์
รัดเกล้า อามระดิษ
วราวุธ โพธิ์ยิ้ม
จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม
อติรุจ กิตติพัฒนะ
กรกฎ ตุ่นแก้ว
กรวิชญ์ สูงกิจบูลย์
ธัญญรัศม์ ไตรสุทธิวงษ์
ภาลฎา ฐิตะวชิระ
นัทธพงศ์ พรมสิงห์
จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร
ศุภากร ประทีปถิ่นทอง
บดินทร์ บางเสน

ผู้กำกับ

ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล

รางวัล

รางวัล “สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 24” (ประจำปี 2557) – นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง), ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์) / รางวัล “พระสุรัสวดี-ตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 30” (ประจำปี 2557) – ดารานำหญิงยอดนิยม (ดาวิกา โฮร์เน่)


โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ