ปืนใหญ่จอมสลัด (Queens of Langkasuka)
เรื่องย่อ
พลิกฟ้าสะเทือนพสุธา สยบห้วงนที
ด้วยมหากาพย์สงครามแห่งคาบสมุทร
“ปืนใหญ่จอมสลัด” (Queens of Langkasuka)
ผลงานชิ้นเอกแห่งห้วงสมุทรโดย “นนทรีย์ นิมิบุตร”
ที่สุดแห่งความอลังการของภาพยนตร์ไทยปี 2551
23 ตุลาคมนี้ มหาสงครามจะอุบัติ
400 ปีที่แล้ว “ลังกาสุกะ” รัฐอิสระต้องสูญเสีย “รายาบาฮาดูร์ ชาห์” จากการถูกลอบปลงพระชนม์ ราชวงศ์ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการสถาปนา “องค์หญิงฮีเจา” (จารุณี สุขสวัสดิ์) ธิดาคนโตขึ้นเป็นรายาสตรีองค์แรกแห่งลังกาสุกะ แม้รายาฮีเจาจะปกป้องบ้านเมืองอย่างเข้มแข็ง แต่เหล่าแคว้นรอบด้านรวมทั้งกลุ่มกบฏและโจรสลัดต่างๆ ล้วนหมายจะยึดครองดินแดนอันมั่งคั่งแห่งนี้
จนกระทั่ง “ยานิส บรี” ปราชญ์แห่งอาวุธชาวดัชต์ เดินทางมาพร้อมกับศิษย์เอกนักประดิษฐ์ชาวจีนนาม “ลิ่มเคี่ยม” (จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม) เพื่อนำ “มหาปืนใหญ่” อาวุธที่ดีที่สุดไปถวายรายาฮีเจาใช้ป้องกันบ้านเมือง แต่กลับถูกกลุ่มโจรสลัดที่นำโดย “เจ้าชายราไว” (เอก โอรี) และ “อีกาดำ” (วินัย ไกรบุตร) จอมสลัดผู้มี “วิชาดูหลำ” อันแก่กล้า ซุ่มโจมตีเพื่อชิงมหาปืนใหญ่จนทำให้เรือฮอลันดาระเบิด ยานิส บรีถึงแก่ความตาย กระบอกปืนใหญ่จมลงสู่ก้นทะเล เหลือเพียงแต่ลิ่มเคี่ยมเท่านั้นที่ยังรอดชีวิต
เหตุการณ์ครั้งนี้ยังเป็นเวลากำเนิดของ “ปารี” (อนันดา เอเวอริงแฮม) เด็กชายชาวเลผู้มีคุณสมบัติพิเศษในตัวที่จะสามารถฝึก “วิชาดูหลำขั้นสูง” ได้ ปารีเติบโตเป็นหนุ่ม พร้อมกับสั่งสมทั้งความสามารถและความแค้นในการสะสางอีกาดำที่ทำให้พ่อและแม่ของตนต้องตาย ลิ่มเคี่ยมซึ่งช่วยชีวิตปารีในครั้งนั้นไว้ได้ หลบมาใช้ชีวิตอยู่กับหมู่บ้านชาวเล พร้อมประดิษฐ์อาวุธพิสดารมากมาย และตั้งกลุ่มก่อกวนตัดกำลังโจรสลัดขึ้น
ในอีกด้าน แม้ลังกาสุกะจะมีทหารเอกฝีมือเยี่ยมอย่าง “ยะรัง” (ชูพงษ์ ช่างปรุง) แต่ฮีเจาก็ยังจำเป็นต้องให้ “อูงู” (แอนนา รีส) น้องสาวคนเล็กของตนอภิเษกกับ “เจ้าชายปาหัง” (เจษฎาภรณ์ ผลดี) เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้ลังกาสุกะ แม้อูงูจะไม่เต็มใจก็ตาม ขณะที่ยะรังนั้นกลับตกหลุมรัก “บิรู” (แจ๊คกี้ อภิธนานนท์) องค์หญิงคนรอง แต่กลับไม่สามารถเปิดเผยความรู้สึกนั้นได้
การต่อสู้ของหลายฝ่ายก่อตัวขึ้นจนทำให้ปารีได้มาพบกับอูงู ทั้งคู่หลงไปติดเกาะร้างแห่งหนึ่งเพื่อรักษาตัวจากบาดแผล ที่นั่น…ปารีได้ฝึกวิชาดูหลำชั้นสูงจาก “อาจารย์กระเบนขาว” (สรพงษ์ ชาตรี) ปรมาจารย์ทางดูหลำ และค้นพบว่าดูหลำคือวิชาที่มีทั้งด้านสว่างที่ทรงพลังและด้านมืดที่น่ากลัว ยากจะควบคุมจิตใจเอาไว้ได้ พร้อมกับที่ความรักของทั้งปารีและอูงูได้งอกงามขึ้น
ขณะเดียวกัน ลิ่มเคี่ยมกุญแจสำคัญในการสร้างปืนใหญ่ กลับถูกกลุ่มสลัดจับตัวเป็นเชลยไว้ได้ และถูกบังคับให้ต้องสร้างปืนใหญ่ที่จะนำมาใช้ทำลายล้างรัฐลังกาสุกะ
สงครามครั้งใหญ่กำลังจะเริ่มขึ้น โดยลังกาสุกะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะกองทัพโจรสลัดกลับสามารถกู้มหาปืนใหญ่ในตำนานนั้นจากก้นทะเลไว้ได้ ลังกาสุกะเป็นเป้าหมายของการทำลายล้าง มีเพียงยะรังนักรบผู้กล้า, ปัญญาของลิ่มเคี่ยม, อูงูผู้พร้อมสละทั้งชีวิตและความรักเพื่อแผ่นดิน และพลังดูหลำอันลึกลับของปารีเท่านั้น ที่จะต่อกรกับแสนยานุภาพจากกองทัพโจรสลัดเอาไว้ได้
ปรากฏการณ์เหนือจินตนาการ
- “ปืนใหญ่จอมสลัด” (Queens of Langkasuka) เป็นภาพยนตร์แอคชั่นที่มีเรื่องราวอยู่บนพื้นฐานของความจริง โดยผสมผสานกลิ่นอายของแฟนตาซี เพื่อเพิ่มอรรถรสความสนุกสนานในแนวทางของภาพยนตร์ โดยเดินเรื่องด้วยตำนานความเสียสละเพื่อแผ่นดินของราชินี 3 พระองค์แห่งลังกาสุกะ พร้อมสอดแทรกชีวิตที่น่าสนใจของชนเผ่าชาวเล และโจรสลัดที่ต่างก็มีจุดประสงค์ในการดำเนินชีวิตเพื่อแผ่นดินเกิดที่ต่างกันไป
- เป็นอภิมหาโปรเจกต์ภาพยนตร์ไทยฟอร์มยักษ์แห่งปีที่ทุ่มทุนสร้างด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท ภายใต้การกำกับภาพยนตร์ครั้งยิ่งใหญ่ครบรอบ 1 ทศวรรษของผู้กำกับคุณภาพ “นนทรีย์ นิมิบุตร” โดยเสริมรากฐานความแข็งแกร่งของโปรเจกต์ด้วยนักเขียนรางวัลซีไรต์ “วินทร์ เรียววาริณ” กับครั้งแรกในการเขียนบทภาพยนตร์, ผู้ออกแบบงานสร้าง “เอก เอี่ยมชื่น” กับครั้งสำคัญที่จะเสกสรรปั้นจินตนาการให้ออกมาสมจริงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
- กว่า 5 ปี ในการเตรียมงานสร้างและถ่ายทำ ด้วยทีมงานเกือบพันชีวิตที่ทุ่มเททุกศาสตร์แห่งศิลป์หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวสู่อลังการงานสร้างของโปรเจกต์ ถ่ายทอดแต่ละฉากแห่งจินตนาการให้ปรากฏขึ้นจริงบนแผ่นฟิล์ม โดยทีมงานได้เลือกใช้โลเคชันทางทะเลหลากหลายแห่งในเมืองไทย ตั้งแต่การเนรมิต “ฉากหมู่บ้านชาวเลที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี”, เลือกโลเคชันใน “แถบบ้านฉาง จังหวัดระยอง” เพื่อถ่ายทำเรื่องราว “ฉากสงครามบนกำแพงวัง” รวมถึงเลือก “ถ้ำสระยวนทอง จังหวัดกระบี่” และ “ถ้ำลูกเสือ จังหวัดพังงา” เพื่อถ่ายทำ “ฉากถ้ำบนเกาะอีกาดำ” นอกจากนี้ยังมีการสร้างฉากใหญ่ที่มีส่วนสำคัญในภาพยนตร์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความพิถีพิถันทุกตารางนิ้วของ “ฉากภายในพระราชวังลังกาสุกะ” ไปจนถึง “การสู้รบบนเรือโจรสลัด” ด้วยการสร้างเรือหลายรูปแบบที่สามารถใช้ได้จริง รวมถึง “เทคนิคพิเศษด้านภาพกว่า 1,000 ช็อต” ที่จะถูกเนรมิตออกมาอย่างสมจริงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในภาพยนตร์ไทยโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้าน CG อย่าง “บริษัท บลูแฟรี่” (BLU FAIRY)
- ระดมนักแสดงคุณภาพระดับแถวหน้าของเมืองไทยและรุ่นใหม่ไฟแรงมาปะทะฝีมือกันอย่างคับคั่ง ตั้งแต่การได้นางเอกตลอดกาลอย่าง “จารุณี สุขสวัสดิ์” หวนคืนแผ่นฟิล์มครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี พร้อมด้วยรุ่นใหญ่ฝีมือเอกอุอย่าง “สรพงษ์ ชาตรี” ประชันบทบาทครั้งสำคัญในชีวิตของ “อนันดา เอเวอริงแฮม” พระเอกเจ้าเสน่ห์ผู้พลิกคาแร็กเตอร์อย่างหาตัวจับยาก และ “เดี่ยว-ชูพงษ์ ช่างปรุง” พระเอกความสามารถสูงในด้านแอคชั่นเสี่ยงตายที่จะเข้มข้นมากขึ้นกับการแสดงฉากดราม่าในเรื่องนี้ รวมถึงนักแสดงหน้าใหม่อีกมากมาย
- พิเศษสุดกับการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งของผู้กำกับ “นนทรีย์ นิมิบุตร” กับเหล่านักแสดงระดับแม่เหล็กของเมืองไทยอย่าง “ติ๊ก-เจษฏาภรณ์ ผลดี, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ, อรรถพร ธีมากร, ชาติชาย งามสรรพ์ ” (2499 อันธพาลครองเมือง) / “วินัย ไกรบุตร” (นางนาก) และ “สุวินิต ปัญจมะวัต” (จันดารา, อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต ตอน The Wheel)
วิชาดูหลำ – มหาศาสตร์แห่งน้ำ
“ทะเลคือต้นกำเนิดของเราทุกคน ไม่ว่าจะเกิดใหม่มากี่หน เปลี่ยนเปลือกที่ห่อหุ้มกี่ครั้ง เสียงของทะเลก็ยังฝังอยู่ในตัวเรา หากฟังให้ดีก็จะได้ยิน ปล่อยให้ทะเลกลายเป็นส่วนหนึ่งอีกครั้ง เหมือนเมื่อครั้งยังเป็นทารกแหวกว่ายในท้องแม่ สัมผัสตัวตนที่กำลังหลอมรวมกับทะเลเป็นหนึ่งเดียว คนคือปลา ปลาคือคน นี่คือหัวใจของวิชาดูหลำ
วิชาดูหลำ ก็คือการรวมพลังคนเข้ากับพลังปลา สัตว์และมนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมตัณหา ตัณหาของปลาคืออาหาร ตัณหาของคนคือ ราคะ อำนาจ ความเกลียด ความโลภ ความแค้น
ทุกวิชาล้วนมีสองด้าน ถ้ารู้จักใช้ก็เป็นประโยชน์ ผู้ที่ฝึกดูหลำทุกคนล้วนมีจุดอ่อน เป็นตัณหาที่ซ่อนลึก หากคุมมันไม่ได้ ก็จะตกไปในด้านชั่วร้าย เมื่อส่งเสียงดูหลำไปบังคับสัตว์อื่น ตัณหาของตนเองก็จะถูกปลุกขึ้นมาด้วย ผู้ฝึกดูหลำจึงสามารถตกเป็นทาสของความชั่วได้ง่าย ยิ่งมีอำนาจในการใช้เสียงมากขึ้นก็ยิ่งเป็นทาสตัณหาง่ายขึ้น”
วิชาดูหลำ (ในภาพยนตร์) มี 3 ขั้นใหญ่ 9 ขั้นย่อย ดังนี้
สามขั้นแรก: เป็นการแยกแยะเสียงปลาออก รู้ว่าชนิดไหนเป็นอย่างไร สัมผัสรู้อากาศ อุณหภูมิ ความชื้น กระแสน้ำ กระแสลมที่มาสัมผัสร่าง รู้ความสัมพันธ์ระหว่างปลากับดินฟ้าอากาศ อ่านความรู้สึกของปลาออก ทำให้รู้ทิศทางน้ำและแหล่งปลา รู้จากปลาว่าเมื่อใดฝนจะตก
สามขั้นที่สอง: จะสามารถส่งพลังเสียงดูหลำแหวกน้ำออกไปควบคุมปลาบังคับให้มันทำสิ่งที่ต้องการ หรือทำร้ายศัตรู จิตเชื่อมกันทางทะเลได้
สามขั้นสุดยอด: เป็นวิชาดูหลำขั้นสูง จะสามารถสื่อสารกับปลาได้อย่างเท่าเทียม เมื่อถึงขั้นสูงสุดจะสามารถหายใจใต้น้ำได้อย่างปลา วิชาดูหลำขั้นสูงต้องฝึกด้วยตัวเอง เมื่อใดที่รู้จักสละทุกสิ่ง ทั้งความรัก ความแค้น และความเกลียดชัง จิตใจที่ว่างเปล่าจะทำให้กายของเราเป็นหนึ่งเดียวกับทะเล เมื่อนั้นก็จะสำเร็จขั้นสุดยอดได้
Queens of Langkasuka จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม จารุณี สุขสวัสดิ์ ชาติชาย งามสรรพ์ ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ ชูพงษ์ ช่างปรุง ซีเนมาเซีย ดูหลำ นนทรีย์ นิมิบุตร บลู แฟรี่ ปืนใหญ่จอมสลัด พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ ภาพยนตร์หรรษา มนัสนันท์ พัชรโสภาชัย วินทร์ เลียววาริณ วินัย ไกรบุตร ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ สรพงษ์ ชาตรี สุวินิต ปัญจมะวัต อนันดา เอเวอริงแฮม อรรถพร ธีมากร อริสา สนธิรอด เจษฎาภรณ์ ผลดี เมสิณี แก้วราตรี เอก เอี่ยมชื่น เอก โอรี แจ๊คกี้ อภิธนานนท์ แอนนา รีส โนวา กรุ๊ป
นักแสดง
ผู้กำกับ
นนทรีย์ นิมิบุตรรางวัล
รางวัล “สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 18” (ประจำปี 2551) – ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (พิษณุ วริรักษ์, น้ำผึ้ง โมจนกุล, ชาติชาย ไชยยนต์), บันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม (นรินทร์ คงกตเวทิตา, ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์, ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา), เทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม (บริษัท บลู แฟร์รี่ จำกัด) / รางวัล “ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 17” (ประจำปี 2551) – กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (เอก เอี่ยมชื่น, สุประสิทธิ์ ภูตะคาม, นิคม เจนพนัส, บรรพต งามขำ) / รางวัล “STARPICS Thai Film Awards ครั้งที่ 6” – ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม (เอก เอี่ยมชื่น, สุประสิทธิ์ ภูตะคาม, นิคม เจนพนัส, บรรพต งามขำ)