ณ ขณะรัก (A Moment in June)

วันเข้าฉาย: 12/02/2009 LGBTQ+, ดราม่า, โรแมนติก 01 ชั่วโมง 37 นาที

เรื่องย่อ

ถ้าคุณมี “โอกาสอีกครั้ง” กับ “ความรักที่เคยผิดพลาด”

คุณจะใช้ชั่วขณะแห่งโอกาส” นั้นเช่นไร

“ณ ขณะรัก” (A Moment in June)

ดื่มด่ำ ล้ำลึก ซาบซึ้ง ตรึงอารมณ์ กับการค้นหาคำตอบ ณ ห้วงรัก

12 กุมภาพันธ์นี้ ให้หัวใจ” ได้รับโอกาสอีกครั้ง

 

ทางเดินแห่งรัก

 

เรื่องราวความรักความสัมพันธ์ของคนหกคนผ่านหนึ่งบทเพลงที่ทำให้ทั้งหมดได้มาพบกัน กับโอกาสครั้งที่สองของความรักที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตของพวกเขาที่ดำเนินผ่านเหตุการณ์ 2 ห้วงเวลาแห่งปี 2515 และ 2542

 

“แม้ชีวิตคู่มันจะเดินต่อไปไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่รักกัน”

“ปกรณ์” (ชาคริต แย้มนาม) พบว่าการใช้ชีวิตคู่กับ “พล” (นภัสกร มิตรเอม) ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ทั้งสองตกลงใจที่จะแยกกันสักพัก ขณะที่พลออกเดินทางเพื่อค้นหาตัวเอง ปกรณ์ก็คร่ำเคร่งกับงานกำกับละครเวทีที่เขารักด้วยหัวใจไม่เป็นสุขนัก กับความไม่แน่ใจในคำสัญญาว่าจะกลับมาเจอกันอีกครั้งที่สถานีรถไฟ…

 

“มีบางสิ่งบางอย่างที่เวลาไม่สามารถทำลายได้”

“อรัญญา” (เดือนเต็ม สาลิตุล) กำลังมุ่งหน้าไปหา “กรุง” (สุเชาว์ พงษ์วิไล) ผู้ชายที่เธอมั่นรักเขามาตลอด 30 ปี เธอมีคำถามมากมายที่จะถามเขา แต่เธอก็ไม่รู้ที่จะเริ่มต้นมันอย่างไรดี ขณะที่กรุงจมอยู่กับอดีตรักที่เคยผิดพลาดจนยากที่จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง…

                       

“เราจะบังคับตัวเองได้มั้ย เมื่อเวลาที่ความรักเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว”

2 สัปดาห์ก่อนการแต่งงาน “เจ้าสาว” (สินิทธา บุญยศักดิ์) พบว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากใจที่สุด เธอได้ตกหลุมรักกับ “เพื่อนเจ้าบ่าว” (กฤษฎา สุโกศล แคลปป์) ซึ่งมีครอบครัวแล้ว ทั้งคู่จะห้ามใจหักดิบความรู้สึกในรักนี้ได้อย่างไร…

 

พวกเขาและเธอต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่ยากต่อการตัดสินใจ

 

บางคน…เข้าใจและรับ “โอกาสครั้งที่สอง” มาแก้ไขในความรักที่เคยพลาดผิดไปนั้นได้อย่างสวยงาม

 

ขณะที่บางคน…มองข้ามผ่าน และสายเกินไปเมื่อจะย้อนกลับมาไขว่คว้า “โอกาสนั้น” อีกครั้ง…

 

Moment-June-Poster02-1

 

หลังฉาก ณ ห้วงรัก

 

เอ่ยชื่อ “โอ-ณัฐพล วงศ์ตรีเนตรกุล” หลายคนอาจจะไม่คุ้นหูนักว่าเขาเป็นใครกัน แต่ผลงานกำกับภาพยนตร์สั้นธีสีส (Thesis) ของเขาเรื่อง Bicycles & Radios – จักรยานกับถ่านไฟฉาย” (2547) เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในนานาชาติ เพราะนอกจากจะเข้ารอบชิงชนะเลิศ รางวัล Student Academy Awards 2004, ชนะเลิศ Excellent in Short Filmmaking Awards จาก Asian American International Film Festival USA และชนะเลิศอีก 6 รางวัลจากทั่วโลกแล้ว ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ยังได้รับการฉายมากกว่า 60 เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติทั่วโลก รวมทั้ง Cannes International Film Festival 2004 ด้วย

 

หลังจากนั้น เขาก็เริ่มสร้างสรรค์ภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกของเขาที่ชื่อ “ณ ขณะรัก” (A Moment in June) ซึ่งบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลจากโครงการ Produire au Sud ใน “เทศกาล World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 3” เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2548 ที่ผ่านมา จนกระทั่งหนังได้ฤกษ์เปิดกล้องเมื่อเดือนกันยายน 2549

 

และเมื่อ “ณ ขณะรัก” (A Moment in June) เสร็จสมบูรณ์เมื่อต้นปี 2551 ก็ได้รับเลือกให้ไปฉายเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลกที่ “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 13” (13th Pusan International Film Festival) ประเทศเกาหลีใต้ ก่อนที่จะเป็นภาพยนตร์เปิด “เทศกาลภาพยนตร์โลกกรุงเทพ ครั้งที่ 6” (6th World film festival of Bangkok) เมื่อเดือนตุลาคม 2551 รวมถึงเพิ่งไปฉายที่ “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอินเดีย” (39th International Film Festival of India) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมานี้เองด้วย

 

ณ ขณะนี้  “ณ ขณะรัก” (A Moment in June) พร้อมให้ผู้ชมชาวไทยได้รับ “โอกาสแห่งหนังคุณภาพ” กันอย่างเต็มหัวใจในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 ต้อนรับเทศกาลวันแห่งความรัก รวมถึงยังเป็นที่รอคอยในฐานะ “ขวัญใจเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ” อีกหลากหลายเทศกาลต่อจากนี้อีกด้วย

 

“เรื่องของแต่ละคนมันก็จะแตกต่างกันออกไป สุดท้ายมันก็มาจบที่โอกาสครั้งที่ 2 หนังจะพูดเรื่องโอกาสของความรัก โอกาสของแต่ละคน ถ้ามันตั้งคำถามที่ว่า ถ้าคุณมีโอกาสอีกหนึ่งครั้งกับความรักที่คุณมี คุณจะทำกับมันอย่างไร คุณจะดีกับมันที่สุด หรือคุณคิดว่ามันน่าจะมีโอกาสมากกว่านี้ หรือคุณคิดว่านี่มันดีที่สุดแล้ว แต่โอกาสครั้งนี้มันก็เล่าเรื่องผ่านความรักของคนทั้ง 6 คน 6 แบบต่างกันออกไปครับ และเมื่อโชคชะตานำพาโอกาสครั้งที่สองมาให้ ทุกคนในเรื่องนี้จะจัดการกับสิ่งที่เคยทำพลาดไปในความรักของตนอย่างไร

 

คือเหตุการณ์มันเริ่มเรื่องปลายเดือนเมษายน แล้วเรื่องทั้งเรื่องมันเกิดอยู่ในเดือนของพฤษภาคม แล้วมันก็จะไปจบลงตอนเช้าของเดือนมิถุนายน เราจะบอกว่าหนังเรื่องนี้ทั้งเรื่องมันจบอยู่ที่ชั่ววูบหนึ่งที่ผู้ชายคนนี้เข้าใจตัวเองว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต แล้วโอกาสครั้งนี้ของตัวเองจะได้มันกลับมาหรือไม่ มันเป็นชั่ววูบตรงนั้น ก็เลยออกมาเป็น  ‘A Moment in June’ เพราะเหตุนี้แหละครับ

 

เราจะบอกว่ามันไม่ใช่หนังตลาด ไม่ใช่ว่าตลกขำๆ ดูแล้วก็ผ่านไป คือใจจริงแล้วอยากเปิดโอกาสให้กับคนที่ดูหนังมี Choice เพิ่มขึ้นมากกว่า แล้วในความเป็น Mass ของหนังเรื่องนี้มันก็มีอยู่เยอะ แต่มันไม่ใช่ Mass ที่แบบว่าคนเข้ามานั่งกินป๊อปคอร์น 2 ชั่วโมงแล้วเดินกลับบ้านไป เราอยากให้เดินออกแล้วเขาคิดอะไรกับชีวิตของเขาได้อะไรอย่างนี้ คือมีคนที่ดูหนังที่ปูซานแล้วเขามาบอกว่าอยากกลับบ้านไปกอดแฟนที่บ้าน ซึ่งสำหรับเราอันนี้มันคือสิ่งที่เราอยากได้ แต่ถ้ามองด้วยตัวเลขตัวเงินแล้ว เรารู้สึกว่าหนังเรื่องแรกเอาแค่คืนทุนแล้วก็จบแค่นั้นก็พอแล้ว จะได้มีโอกาสทำเรื่องอื่นต่อ ๆ ไป แต่ในเรื่องความรู้สึกเรามองตรงนั้นสำคัญกว่า อยากให้คนดูกลับไปแล้วกอดแฟน แล้วรู้สึกดีกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ นี่คือจุดประสงค์ของหนังเรื่องนี้”

 

Moment-June-PC01

Moment-June-PC02

Moment-June-PC03

Moment-June-PC04

Moment-June-PC05

Moment-June-PC06

Moment-June-PC07

Moment-June-PC08

Moment-June-PC09

 

ณ ขณะบันทึกรัก (Director’s Note)

 

บทภาพยนตร์เรื่อง  “ณ ขณะรัก” (A Moment in June) ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ผมเสร็จงานภาพยนตร์สั้นเรื่อง “Bicycles & Radios” ที่เคยทำไว้เมื่อยังเป็นนักศึกษา ผมมีความรู้สึกว่าตัวละครในภาพยนตร์สั้นเรื่องนั้น เขาเพิ่งจะได้เจอกันเมื่อวินาทีสุดท้ายก่อนหนังจบ เลยลองไปนั่งนึกดูว่าถ้าตัวละครพวกนี้มีเวลาเดินเรื่องต่อ เรื่องของพวกเขาจะเป็นยังไง นั่นคือจุดเริ่มต้นแรกเลย

 

ใช้เวลาในการเขียนบทอยู่ประมาณสองปี โดนมีเรื่องหลักอยู่สามเรื่อง ดำเนินเรื่องโดยตัวละครหกตัว ผมสามารถหาจุดโยงสำหรับสองเรื่องได้โดยไม่ยากนัก แต่เรื่องที่สาม เรื่องของ “ปกรณ์” และ “พล” ที่ “ชาคริต” และ “พี่ตั๊ก” (นภัสกร มิตรเอม) เล่นนั้น เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดและไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นเรื่องค่อนข้างส่วนตัวที่สุดในสามเรื่อง ผมไม่สามารถหาจุดโยงสำหรับเรื่องนี้ไปยังอีกสองเรื่องได้ ขณะนั้นจำได้ว่าเขียนไปประมาณหกเดือนแล้ว และกำลังกำกับละครเวทีอยู่ที่ London ตื่นขึ้นมาวันหนึ่งและถามตัวเองว่า ในเมื่อเราเอาความเป็นเราเข้าไปอยู่ในปกรณ์เยอะขนาดนั้น ทำไมไม่ลองให้เขาเป็นผู้กำกับละครเวทีซะเลย หลังจากนั้นเลยนั่งเขียนใหม่ตั้งแต่ต้น

 

มันทำให้ผมคิดถึงศิลปะของละครเวทีเอามาก ๆ ในช่วงนั้น “Oscar Wilde” เคยกล่าวเอาไว้ว่า Life imitates art far more than art imitates Life” ผมเชื่อว่าอาจจะมีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำพูดนี้ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ชึวิตของคนมีความเกี่ยวเนื่องกับศิลปะไม่มากก็น้อย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ผมจึงมามองย้อนดูชีวิตว่า บางทีเราก็หาคำตอบของชีวิตจากสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละครเวที ภาพเขียน หรือแม้แต่บทเพลง และในทางกลับกัน การสื่อสารอารมณ์ผ่านงานศิลปะก็เป็นการเรียนรู้ความรู้สึกของศิลปินคนนั้นๆ และนั่นคือแกนหลักๆ ของบทภาพยนตร์เรื่องนี้

 

ผมเลือกที่จะใช้ละครเวทีเป็นสื่อระหว่างเรื่องทั้งสามเข้าด้วยกันโดยความที่เป็นเรื่องใกล้ตัว คู่แรกคือเรื่องของคนที่เขียนระบายความรู้สึกของตัวเองผ่านบทละคร คู่ที่สองคือเรื่องของคนที่พยายามจะค้นหาคำตอบของชีวิตตัวเองผ่านการกำกับละคร และคู่ที่สามคือคู่ของตัวละครที่ผมเข้าใจว่า บางทีเขาก็มีชีวิตของเขาเองโดยที่นักเขียนไม่สามารถควบคุมได้

 

วิธีการเล่าเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อนข้างจะยาก ทั้งๆ ที่เรื่องทั้งสามค่อนข้างที่จะเรียบง่าย แต่ด้วยความที่อยากจะให้คนดูค้นหาคำตอบไปพร้อมๆ กับตัวละครมากกว่าที่จะให้ตัวละครมาเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของพวกเขา เพราะความที่ว่าเรื่องนี้มันมีตัวละครหกตัว การตัดต่อระหว่างเรื่องจึงมีความสำคัญมาก มันเลยทำให้ดูซับซ้อนเหมือนชีวิตคน แต่เพราะว่าความเกี่ยวโยงระหว่างคนหกคนนี้มันมีความสำคัญมาก การกำกับแต่ละฉากเลยต้องผ่านขบวนการความคิดว่าฉากนั้นๆ จะไปกระทบกับฉากอื่นๆ ยังไง ความซับซ้อนของการเตรียมงานจึงเกิดขึ้นจากจุดนั้น

 

ระหว่างการเขียนบทและการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ มีหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างที่มันทำให้ผมย้อนมองกลับมาที่ชีวิตของตัวเอง มันเหมือนกับผมได้เรียนรู้อะไรที่เกิดขึ้นในอดีตหลายๆ อย่างที่ตัวเองไม่เคยเข้าใจ  ภาพยนตร์เรื่องนี้มันสอนให้ผมมองเหตุการณ์เดิมๆ จากหลายมุมมอง

 

และสิ่งที่ผมหวังก็เพียงอยากจะให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีผลกระทบกับคนดูไม่ทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะบวกหรือลบ อย่างน้อยอยากจะให้มันสะท้อนอะไรบางอย่างกลับไปถึงคนที่ได้ดู

 

“โอ-ณัฐพล วงศ์ตรีเนตรกุล” ผู้กำกับ “ณ ขณะรัก” (A Moment in June) 

 


นักแสดง

ชาคริต แย้มนาม
กฤษฎา สุโกศล แคลปป์
สินิทธา บุญยศักดิ์
สุเชาว์ พงษ์วิไล
เดือนเต็ม สาลิตุล
นภัสกร มิตรเอม
Hiro Sano (ฮิโระ ซาโนะ)
มยุริญ ผ่องผุดพันธ์

ผู้กำกับ

ณัฐพล วงศ์ตรีเนตรกุล

รางวัล

รางวัล “สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 19” (ประจำปี 2552) – กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (พลเอก สังฆคุณ) / รางวัล “STARPICS Thai Film Awards ครั้งที่ 7” (ประจำปี 2552) – นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เดือนเต็ม สาลิตุล)


โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ