มนุษย์เหล็กไหล (Mercury Man)
เรื่องย่อ
แรงศัทธาจะเปลี่ยนคนธรรมดาให้เหนือคน
การนำเอาแนวคิดทางด้าน “พุทธปรัชญาแห่งเอเชีย” และ “เหล็กไหล” วัตถุธาตุที่เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจอันทรงอานุภาพและขุมพลังลึกลับที่เกิดจากการบ่มเพาะและหล่อหลอมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอันยาวนาน มาตีความใหม่ภายใต้แนวทางของ “ภาพยนตร์แอคชั่นซูเปอร์ฮีโร่แบบไทยๆ” อย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกของเมืองไทย โดยได้ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” และ “พันนา ฤทธิไกร” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “องค์บาก” และ “ต้มยำกุ้ง” รับหน้าที่ “ควบคุมงานสร้างออกแบบ” และ “กำกับคิวบู๊แอคชั่น” (ตามลำดับ) และกำกับภาพยนตร์โดย “บัณฑิต ทองดี” ที่ทำให้ “มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม” (2545) และ “เฮี้ยน” (2546) เป็นภาพยนตร์ทำเงินที่กวาดรายได้อย่างสูงสุดของเมืองไทยมาแล้ว
ด้วยรูปแบบของภาพยนตร์ไลฟ์แอคชั่นที่เน้นความสมจริงซึ่งถูกนำมาผสมผสานกับงานเทคนิคพิเศษทางด้านภาพเพื่อถ่ายทอดพลานุภาพของเหล็กไหลทั้งในส่วนของความแข็งแกร่ง การยืดหดตัว รวมไปถึงการผสมผสานระหว่างเหล็กไหลและเลือดเนื้อในตัวร่างกายเป็นหนึ่งเดียวในตัวของ “มนุษย์เหล็กไหล” ให้สามารถโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มได้อย่างเหนือจริง
ตามความเชื่อที่ว่าเมื่อใดก็ตามที่ “เหล็กไหลจันทรา” (ความเย็น) และ “เหล็กไหลสุริยัน” (ความร้อน) รวมตัวกันคราใด ก็จะนำมาซึ่งขุมพลังแห่งอำนาจอเนกอนันต์อันยากเกินกว่าสรรพวุธอื่นใดจะสามารถสยบและหยุดยั้งได้ แต่แล้วแผนการครอบครองเหล็กไหลดังกล่าวของ “อุสมาห์” (อานนท์ สายแสงจันทร์) หัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการร้ายจากตะวันออกกลางหาได้เป็นอย่างที่คิดไม่ ถึงแม้ “อารีนา” (เมทินี กิ่งโพยม) สมุนมือขวาของตนจะสามารถแย่งชิงเหล็กไหลจันทรา (วัชรธาตุหรือ หยดน้ำฟ้าอันศักดิ์สิทธิ์) มาจาก “พูนิมา” (จิณวิภา แก้วกัญญา) กุมารีผู้ปกป้องประจำอารามแห่งหนึ่งในทิเบตมาได้แล้วก็ตาม แต่ในระหว่างการปล้นตัวอุสมาห์ผู้ก่อการร้ายข้ามชาติจากเรือนจำคุ้มครองพิเศษจากทางการไทยเกิดความผิดพลาดขึ้นจนนำไปสู่การระเบิดครั้งใหญ่ในเรือนจำ จนทำให้เหล็กไหลสุริยันทิ่มแทงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของ “ฌาน” (วสันต์ กันทะอู) นักดับเพลิงหนุ่มผู้มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ต้องตื่นตะลึงกับพลังลึกลับและฤทธานุภาพของเหล็กไหลที่อยู่ในตน
ทางเดียวที่จะไม่ให้พลังแห่งความร้อนแรงที่เกิดขึ้นจากเหล็กไหลแผดเผาเลือดเนื้อและร่างกายของฌาน คือจะต้องเรียนรู้การควบคุมสภาวะความรุ่มร้อนในอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากส่วนลึกในจิตใจของตนให้จงได้และเรียนรู้ที่จะควบคุมพลังจากเหล็กไหลที่ตอนนี้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเลือดเนื้อและร่างกาย และที่สำคัญจะต้องรับมือกับพลานุภาพของเหล็กไหลจันทราที่บัดนี้ถูกนำไปพัฒนาระดับขั้นของพลังเพิ่มทวีคูณขึ้นไปอีกจากกลุ่มก่อการร้ายของอุสมาห์
และนี่คือจุดเริ่มต้นของการปะทะกันระหว่างพลานุภาพของเหล็กไหลทั้ง 2 ขั้วภารกิจอันยิ่งใหญ่ของชายหนุ่มอย่างฌาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ “มนุษย์เหล็กไหล”
บันทึกผู้กำกับ “บัณฑิต ทองดี” (Director’s Note)
หลังจากภาพยนตร์เรื่อง “เฮี้ยน” ฉายในปี 2546 ต่อจากนั้นอีกไม่กี่วัน ผมได้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตเสเพลไร้แก่นสาร และหลงระเริงกับแสงสีอยู่พักใหญ่ ช่วงนั้นผมเริ่มขี้เกียจไม่อยากทำงาน และไร้แรงบันดาลใจอย่างร้ายแรงในการคิดหาพล็อตใหม่ๆ ในการทำหนัง ทั้งๆ ที่มีคนมากมายจากหลายบริษัทผลิตภาพยนตร์ได้ติดต่อผมทำโปรเจกต์ต่างๆ แต่พล็อตเหล่านั้นล้วนแต่เป็นหนังผีซะส่วนใหญ่ ซึ่งคงเป็นเพราะแนวทางการทำหนังของผม หรือรูปร่างหน้าตาของผมก็ไม่ทราบ แต่พล็อตทั้งหมดนั้นมันไม่กระตุ้นอะดรีนาลีนในตัวผมสักนิด ผมไม่อยากติดภาพการเป็นผู้กำกับหนังผีหรือแนวหนึ่งแนวใดทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าผู้กำกับควรจะมีลายมือที่ชัดเจน แต่ผมผ่านการทำหนังมาเพียง 2 เรื่อง 2 แนว มันยังไม่ทำให้ผมเข้าใจความหมายของหนังแต่ละแนวอย่างถ่องแท้นัก ผมจึงปฏิเสธโปรเจคต์เหล่านั้นไปอย่างสุภาพ
จนวันหนึ่งผมได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา ผมติดตามข่าวอยู่หลายวัน และบังเอิญได้อ่านบทวิเคราะห์ของนักเขียนบางคนในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ทำให้ผมได้รู้ว่าปัญหาไฟใต้จะไม่มีวันดับถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือนักการเมืองยังไม่ดับไฟความละโมบและกิเลสในตัวเอง ผลประโยชน์มากมายจากธุรกิจผิดกฎหมายทำให้มีบางคนไม่ยอมให้ไฟใต้ดับมอดลง ผมอ่านแล้วจึงรู้สึกว่าอยากทำหนังที่พูดเกี่ยวกับจิตใจของคนที่พยายามดับไฟให้คนอื่นแต่ยังดับไฟในใจตัวเองยังไม่ได้ ผมจึงเก็บไอเดียนี้ไว้ในใจแล้วโทรศัพท์ไปหา “คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว” ว่าโปรเจกต์ต่อไปของผม ผมอยากทำหนังแอคชั่น พี่ปรัชญาถามผมว่าจะไหวเหรอ หนังแอคชั่นยากนะ เคยทำแต่หนังตลกกับหนังผีมา จะทำได้ดีเหรอ วินาทีนั้นผมรีบตอบอย่างมั่นใจว่าได้ครับ แล้วจึงฝากพี่ปรัชญาไปบอก “เสี่ยเจียง” (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) ด้วยว่าผมอยากทำหนังแอคชั่น
หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ผมก็ได้รับคำตอบว่าเสี่ยเจียงอนุมัติให้ทำหนังแอคชั่นได้ โดยมีโปรเจกต์หนึ่งซึ่งเสี่ยเจียงได้ซื้อลิขสิทธิ์เรื่องนี้ไว้นานแล้ว แต่ยังหาคนกำกับไม่ได้ นั่นคือเรื่อง “ไอ้เหล็กไหล” โดยมีโจทย์ว่าทำยังไงจะไม่ให้เหมือน “มหาอุตม์” และ “เสาร์ห้า” ซึ่งในเรื่องพระเอกจะหนังเหนียวทั้งคู่ หลังจากพยายามคิดหาทางออกอยู่นานและพอดีช่วงนั้นหนังฮอลลีวูดเรื่อง “สไปเดอร์แมน” กับ “เอ็กซ์เมน” ได้สร้างกระแสหนังซูเปอร์ฮีโร่ให้ตื่นตัวอีกครั้ง ไอ้เหล็กไหลจึงกลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่พันธุ์ไทยแท้นามว่า “มนุษย์เหล็กไหล”
และเนื่องจากมนุษย์เหล็กไหลเป็นซูเปอร์ฮีโร่พันธุ์ไทยเรื่องแรก ความยากในการสร้างจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการออกแบบชุดมนุษย์เหล็กไหล การคิดเรื่องการออกแบบการต่อสู้ การหาตัวนักแสดง รวมถึงการหาสถานที่ถ่ายทำ โดยเฉพาะความยากของงานสร้างหนังแอคชั่นทำให้มนุษย์เหล็กไหลใช้เวลานานในการสร้าง แต่ทั้งหมดนี้ผมคงไม่กล้าพอที่จะบอกว่าการใช้เวลานานจะทำให้งานเข้าขั้นเนี้ยบ แต่ผมได้ทุ่มเทความสามารถทั้งหมดเท่าที่ผมมีใส่ลงไปในหนังอย่างเต็มที่ เท่าที่ทุนสร้างและภาวะแวดล้อมจะอำนวย
ผมคิดว่าเรื่องเหล็กไหลน่าจะมีโอกาสผ่านสายตาผู้ชมทั้งในรูปแบบหนัง VCD เรื่อง “ฤทธิ์เหล็กไหล” และละครช่องเจ็ดเรื่อง “เหล็กไหล” กันไปบ้างแล้ว และวันนี้ กว่าสองปีที่ทำงานกันมาก็ถึงคิวของภาพยนตร์เรื่อง “มนุษย์เหล็กไหล” ที่พร้อมจะออกสู่สายตาประชาชนแล้ว แม้จะนานไปสักนิดแต่ก็คิดว่าคงสมควรแก่การรอคอย เจอกัน 10 สิงหาคมนี้นะครับ
Mercury Man จิณวิภา แก้วกัญญา ดารุณี กฤตบุญญาลัย บัณฑิต ทองดี ปรัชญา ปิ่นแก้ว ปริญญา เจริญผล พันนา ฤทธิไกร มนุษย์เหล็กไหล วสันต์ กันทะอู สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ อานนท์ สายแสงจันทร์ เมทินี กิ่งโพยม