คืนบาปพรหมพิราม (Macabre Case of Prom Pi Ram)
เรื่องย่อ
“คืนบาปพรหมพิราม” ดัดแปลงมาจากนวนิยายเชิงอาชญวิทยาของ “นที สีทันดร” ที่นำมาจากเค้าโครงเรื่องจริงของคดีสะเทือนขวัญที่เคยเกิดขึ้นจริงในปี พ.ศ.2520 ที่ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก แต่เลือกที่จะใช้ จ.อุทัยธานีเป็นโลเคชันหลักในการถ่ายทำ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งหรือการกระทบกระทั่งที่อาจเกิดขึ้นหากใช้โลเคชันจริง ใช้เวลาเขียนบทถึง 6 ร่าง สำหรับร่างแรกเขียนขึ้นเมื่อปี 2538 ถัดมาอีก 4 ปีในร่างที่ 2 และร่างที่ 3-6 ในปี 2545 ภายใต้ประเด็นที่นำเสนอถึงความอยุติธรรมในสังคมที่มีค่านิยมผู้ชายเป็นใหญ่ ค่านิยมทางเพศที่ผู้ชายมองผู้หญิงว่าเป็นเพียงวัตถุที่ใช้สำเร็จความใคร่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงการละเมิดสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ ศีลธรรม วัฒนธรรม กฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่บ่งบอกถึงการประกอบอาชญากรรมล้านเปอร์เซ็นต์ ภายใต้รูปแบบและองค์ประกอบที่ไม่ใช่ภาพยนตร์ในแนวสารคดี แต่อยู่บนพื้นฐานของภาพยนตร์ในแนวสืบสวนสอบสวนระทึกขวัญ บอกเล่าเรื่องราวสะเทือนใจซึ่งนำไปสู่มรณกรรมของ “สำเนียน”
“พรหมพิราม” เป็นชื่ออำเภอเล็กๆ ในจังหวัดพิษณุโลก ศพของหญิงสาวคนหนึ่งถูกพบที่ริมทางรถไฟในอำเภอแห่งนี้ การตายของเธอคล้ายกับว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่ท้ายที่สุดจากการสืบสวนของตำรวจถึงเหตุการณ์สืบเนืองอันน่าขยะแขยงที่ไปไกลเกินความคาดหมายก็ได้เปิดเผยออกมา พบว่าเธอชื่อ “สำเนียน” หญิงสาวชาวบ้าน ผู้ซึ่งตกเป็นเหยื่อของความหื่นของพวกผู้ชายเกือบทั้งตำบล ตอนมีชีวิตเธอเป็นคนมีสติไม่ค่อยสมประกอบ และได้ดั้นด้นออกจากภูมิลำเนาเพื่อไปหาสามีที่จังหวัดอุตรดิตถ์โดยรถไฟ แต่ถูกไล่ลงจากขบวนรถที่สถานีรถไฟ อ.พรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากไม่มีเงินตีตั๋วรถไฟ แต่ไม่รู้เลยว่าจะเป็นการลงรถไฟเที่ยวสุดท้ายในชีวิต เมื่อมีคนพบศพของหญิงสาวดังกล่าวเสียชีวิตโดยปริศนาที่รางรถไฟในเวลาต่อมา
เรื่องราวในภาพยนตร์จับความในวันท้ายๆ ของ “สำเนียน” เปิดเผยการตกเป็นเหยื่อที่ถูกรุมโทรมอย่างโหดร้าย เหตุการณ์สืบเนื่องที่ทำให้เธอเหมือนตกลงไปหลุมขวาก ตลอดจนการตายของเธอสะท้อนให้เห็นถึงความความเลือดเย็นที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน ความเสื่อมทรามในก้นบึ้งของจิตใจมนุษย์ถูกตอกย้ำให้เห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้จะรบกวนและแม้กระทั่งท้าทายผู้ชมให้ตระหนักถึงมหันตภัยที่ผู้หญิงถูกคุกคาม
เรื่องราวทั้งหมดเป็นเรื่องหนัก แต่วิธีการนำเสนอในภาพยนตร์ได้ดำเนินไปโดยอาศัยกลเม็ดที่ชวนให้ติดตามอย่างเร้าใจ การเคลือบด้วยอารมณ์ขันทำให้การชมเป็นไปด้วยความราบรื่นโดยไม่เสียประเด็นนั้นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับ “มานพ อุดมเดช” เลือกใช้องค์ประกอบทางด้านเทคนิคพื้นฐานของภาพยนตร์ทั้งในด้านการตัดต่อ, เทคนิคทางด้านภาพ, ดนตรีประกอบ ฯลฯ บอกเล่าเหตุการณ์อย่างมีชั้นเชิงคล้ายกับการปลอกหัวหอมที่จะนำไปสู่ใจกลางของหัวหอม ภายใต้การโปรดิวซ์โดย “ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล” ยกทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์แห่งสยามประเทศอย่าง “สุริโยไท” มาผลิตเป็นผลงานที่น่าจับตา ซึ่งรวมถึง “ริชาร์ด ฮาร์วีย์” คอมโพสเซอร์ระดับโลก (Animal Farm, สุริโยไท) มาถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครและบรรยากาศที่น่าสะเทือนใจลงบนตัวโน้ตในภาพยนตร์แนวอาชญกรรมชีวิตระทึกขวัญเรื่องนี้
“สารวัตรหนุ่มใหญ่” (สมภพ เบญจาธิกุล) ที่มากด้วยไหวพริบ และ “ผู้หมวดหนุ่มหน้าใหม่” (กมล ศิริธรานนท์) ที่เพิ่งย้ายราชการมาใหม่ต้องรับผิดชอบคดีการเสียชีวิตของ “หญิงสาวไม่ทราบชื่อ” (พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์) เมื่อเข้าไปรับผิดชอบคดีที่ดูเหมือนเป็นการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ แต่พอเข้าไปใกล้รูปคดีมากยิ่งขึ้นกลับพบเงื่อนงำบางอย่างที่บ่งบอกว่านี่คือคดีฆาตกรรมที่อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งดึงเอาผู้คนหลากอาชีพหลายวัยจากชนชั้นต่างๆ ในอำเภอนั้นถึง 30 ชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของหญิงสาวรายดังกล่าวภายใต้คดีฆาตกรรมข่มขืนกระทำชำเราหาใช่อุบัติเหตุอย่างที่บางคนคิด ภายใต้แรงกดดันที่ถูกเร่งเร้าจากทุกทิศทางทำให้สารวัตรต้องเร่งคลี่คลายประเด็นและสรุปรูปคดีให้เร็วที่สุด ภายใต้เส้นตายที่ถูกกำหนดและเร่งรัดจากเบื้องบน…
Macabre Case of Prom Pi Ram กมล ศิริธรานนท์ คืนบาปพรหมพิราม บุญส่ง นาคภู่ พร้อมมิตรโปรดักชั่น พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ ม.ร.ว.ปัทมนัดดา ยุคล มนตรี วัดละเอียด มานพ อุดมเดช รัชนู บุญชูดวง สมภพ เบญจาธิกุล สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ อานุภาพ บัวจันทร์
นักแสดง
ผู้กำกับ
มานพ อุดมเดชรางวัล
รางวัล “สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 13” (ประจำปี 2546) – ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (คืนบาปพรหมพิราม), บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (มานพ อุดมเดช), นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์), ลำดับภาพยอดเยี่ยม (หม่อมราชวงศ์ปัทมนัดดา ยุคล), บันทึกเสียงยอดเยี่ยม (ไชยเชษฐ์ เศรษฐี, ปรีเทพ บุญเดช), ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (Richard Harvy) / รางวัล “ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 12” – ลำดับภาพยอดเยี่ยม (หม่อมราชวงศ์ปัทมนัดดา ยุคล), ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (Richard Harvy)