ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 5 ยุทธหัตถี (The Legend of King Naresuan 5)

วันเข้าฉาย: 29/05/2014 ดราม่า, ประวัติศาสตร์, แอ็กชัน 02 ชั่วโมง 10 นาที

เรื่องย่อ

“พร้อมมิตร โปรดักชั่น” และ “สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล” สู่บทสรุปของอภิมหากาพย์ภาพยนตร์แอคชั่นอิงประวัติศาสตร์เรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดของสยามประเทศที่ทุ่มทุนสร้างสูงที่สุดประสบความสำเร็จสูงสุด มีผู้ชมเฝ้ารอคอยมากที่สุด

 

จาก “องค์ประกันหงสา” (2550) ปฐมบทของตำนานสมเด็จพระนเรศวรสู่ “ยุทธหัตถี” (2557) มหาศึกสงครามแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของผืนแผ่นดิน ระดมนักแสดงซูเปอร์สตาร์ระดับแถวหน้าทั่วฟ้าเมืองไทยอย่างคับคั่งมากที่สุดในปฐพี นำโดย “พันโท วันชนะ สวัสดี, นพชัย ชัยนาม, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, อินทิรา เจริญปุระ, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, สรพงษ์ ชาตรี, เกรซ มหาดำรงค์กุล, นภัสกร มิตรเอม, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ,พันเอก วินธัย สุวารี, ปราบต์ปฏล สุวรรณบาง, พันโท คมกริช อินทรสุวรรณ, ชลัฏ ณ สงขลา, ชลิต เฟื่องอารมย์, ปวีณา ชารีฟสกุล, นาวาอากาศโท จงเจต วัชรานันท์ ฯลฯ”

 

เนรมิตโปรดักชั่นงานสร้างสุดอลังการถ่ายทอดตำนานการศึกสงครามกู้ชาติและปกป้องผืนแผ่นดินในประวัติศาสตร์ชาติไทยของ “องค์ดำ-สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” กษัตริย์นักรบที่คนไทยเคารพรักและศรัทธามากที่สุดในประวัติศาสตร์ อลังการงานสร้างอย่างถึงขีดสุดกับความยิ่งใหญ่ของ “ฉากมหาสงครามยุทธหัตถี” ที่ทุกคนรอคอยใน “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี” อภิมหาภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของ “หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล” พร้อมประจักษ์ทุกสายตาผองไทยทั้งปฐพี 29 พฤษภาคม 2557 ในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ

 

ภายหลังจากที่ “สมเด็จพระนเรศวร” (พันโท วันชนะ สวัสดี) ทรงประกาศเอกราชที่เมืองแครง “พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ก็ให้จัดทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นหลายทัพ แต่ก็หามีทัพใดทำการสำเร็จไม่ พระเจ้านันทบุเรงเกรงว่าหากหงสาวดีมิอาจกำราบอยุธยาลงได้ นานไปเหล่าเจ้าประเทศราชอื่นจะเอาเยี่ยงพากันแข็งข้อต่อหงสา

 

ในปีพุทธศักราช 2129 พระองค์จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์ไพร่พลกว่า 2 แสนข้ามแดนเข้าตีกรุงศรีอยุธยาหมายชิงคืนเป็นประเทศราช ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศทรงใช้พระนครเป็นยุทธภูมิรับศึก และวางยุทธศาสตร์ตั้งรับในเชิงรุก คือมิทรงปล่อยให้ทัพหงสาที่ล้อมกรุงเป็นฝ่ายรุกรบแต่ฝ่ายเดียว แต่ทรงแต่งกองโจรบุกปล้นค่ายศัตรูให้ต้องตกเป็นฝ่ายรับจนมิอาจรุกเข้าเหยียบถึงคูพระนคร เมื่อล้อมกรุงนานเข้า ทัพหงสาวดีก็ขาดเสบียง สมเด็จพระนเรศก็ทรงนำเรือปืนขึ้นไปยิงถล่มค่ายหลวงพระเจ้านันทบุเรงจนพม่าแตกระส่ำระสาย จอมทัพพม่าบาดเจ็บสาหัสถึงกับเสียพระสิริโฉมและทุพพลภาพ พม่าต้องถอนทัพกลับหงสาวดี และขณะเมื่อค่ายหลวงพม่าแตกนั้น “แม่นางเลอขิ่น” (อินทิรา เจริญปุระ) ก็ได้ช่องช่วย “พระราชมนู” (นพชัย ชัยนาม) จากพันธนาการคืนเข้าอยุธยาได้

 

พระเจ้านันทบุเรงทรงแค้นเคืองที่ต้องปราชัยต่อสมเด็จพระนเรศอย่างย่อยยับ จึงระบายความแค้นนั้นไปที่องค์ “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) ซึ่งตกเป็นองค์ประกันอยู่หงสาด้วยอารมณ์รักและแค้นระคนกัน พระองค์ได้ล่วงประเวณีพระพี่นางพระนเรศและยังทำร้ายพระนางถึงตกพระโลหิต เมื่อ “สมเด็จพระมหาธรรม-ราชา” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาทราบความก็ให้โทมนัสด้วยสำนึกว่าชะตากรรมของพระราชธิดาและแผ่นดินของอยุธยา ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ที่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างให้หงสาวดีกระทำการย่ำยีก็ด้วยเป็นเพราะพระองค์ทรงแปรพักตร์ไปเข้าข้างศัตรู อยู่มาสมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ตรอมพระทัยเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศจึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระราชบิดา

 

ข่าวการผลัดแผ่นดินของอยุธยารู้ไปถึงพระเจ้านันทบุเรง พระองค์สำคัญว่าราชอาณาจักรสยามจะไม่เป็นปกติสุข เป็นช่องชวนชิงเชิงจึงโปรดให้ “มังสามเกียด” (นภัสกร มิตรเอม) อุปราชเจ้าวังหน้ากรีฑาทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศทรงดำริจะนำกำลังออกไปรับศึกถึงหนองสาหร่ายแดนเมืองสุพรรณบุรี      ด้วยเห็นว่าทัพพระมหาอุปราชานั้นถึงแม้จะมากด้วยกำลังรี้พลแต่ทหารหาญที่เกณฑ์มาหากมิเยาว์ด้วยวัยวุฒิก็ชราภาพ กำลังพลมิได้เข้มแข็งดั่งทัพพระเจ้านันทบุเรง ข้างพระมหาอุปราชานั้นยกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ผ่านลงมาถึงเมืองกาญจนบุรีก็ได้แต่เมืองเปล่า ให้ไพร่พลออกเที่ยวลาดหาจับผู้คนก็ไม่ได้ จึงยกพลล่วงลงมาปักค่ายที่ตะพังตรุ

 

ข้างสมเด็จพระนเรศทรงโปรดให้พระราชมนูแต่งพลเป็นทัพหน้าขึ้นไปดูกำลังข้าศึกถึงหนองสาหร่าย ทัพหน้าพระราชมนูปะทะเข้ากับทัพพม่าถึงขั้นตะลุมบอน แต่กำลังข้างพระราชมนูน้อยกว่าจึงแตกพ่ายถอยลงมาเป็นอลหม่าน สมเด็จพระนเรศทราบความจึงออกอุบายให้ทัพข้าศึกไล่เตลิดลงมาจนเสียกระบวนแล้วจึงทรงนำกำลังออกยอทัพข้าศึก ครั้งนั้นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศคือ “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” และช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถคือ “เจ้าพระยาปราบไตรจักร” ต่างตกน้ำมันวิ่งร่าเบกพลฝ่าเข้าไปในทัพพม่ารามัญ ไพร่พลข้างอยุธยาตามไม่ทันช้างทรง จะมีก็เพียงพลจุกช่องล้อมข้างที่โดยเสด็จไปทัน

 

ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศและสมเด็จพระเอกาทศรถฝ่าเข้ามากลางวงล้อมข้าศึกและมาหยุดอยู่หน้าช้างพระมหาอุปราชา สมเด็จพระนเรศวรจึงประกาศท้าอุปราชหงสาให้ออกมากระทำยุทธหัตถีให้ก่อเกิดเป็นเกียรติแก่แผ่นดิน ด้วยขัตติยมานะ พระมหาอุปราชาก็ไสพระคชาธารออกทำคชยุทธด้วยสมเด็จพระนเรศ ขณะที่พระพี่เลี้ยง “มังจาปะโร” (ชลัฏ ณ สงขลา) ได้ออกทำยุทธหัตถีกับ “สมเด็จพระเอกาทศรถ” (พันเอก วินธัย สุวารี) สัประยุทธ์กันเป็นสองคู่ ท้ายที่สุดสมเด็จพระมหาอุปราชาก็ปราชัยสิ้นพระชนม์ด้วยคมง้าวของสมเด็จพระนเรศ ข้างมังจาปะโรก็พ่ายแพ้แก่สมเด็จพระเอกาทศรถตายกับคอช้าง ทัพหงสาก็มีอันปราชัยต้องถอยทัพนำพระศพพระมหาอุปราชาคืนสู่นครหงสาวดี

 

King-Naresuan-5-Poster02

 

เกร็ดและรายละเอียดของภาพยนตร์ 

 

1) กล่าวได้ว่า “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี” เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรที่ถือได้ว่าครบครันทุกรสชาติทั้งในความเป็นภาพยนตร์แอคชั่นเน้นฉากการศึกสงครามที่แสดงถึงแสนยานุภาพและการวางกลยุทธ์ในเชิงรบได้อย่างน่าตื่นเต้น ในขณะเดียวกันก็ถึงพร้อมไปด้วยตัวบทเรื่องราวที่แสนเข้มข้นในเชิงอารมณ์ของทุกตัวละครในประวัติศาสตร์ที่ต่างมีบทบาทสำคัญ พร้อมกับการระดมเอาเหล่านักแสดงระดับยอดฝีมือชั้นแนวหน้าของเมืองไทยมาประชันบทบาทกัน เป็นภาคที่เข้มข้นทั้งเรื่องราวที่ดำเนินมาจนถึงเหตุการณ์สำคัญที่เล่าขานสืบต่อกันมากกว่า 400 ปี และได้รับการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยให้เป็นศึกสงครามที่สำคัญที่สุดอย่าง “ยุทธหัตถี” 

 

2) เป็นภาคที่เราจะได้เห็นสีสันอันหลากหลายจากแต่ละตัวละครสำคัญที่ยังคงดำเนินต่อ เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความพลิกผัน เปลี่ยนแปลง สูญเสียจากมหาสงครามระหว่าง 2 แผ่นดิน รวมไปถึงชะตากรรมที่เกิดขึ้นตามประวัติศาสตร์ผ่านฝีไม้ลายมือในการถ่ายทอดทางด้านการแสดงระดับเข้มข้นของทัพนักแสดงระดับแถวหน้าของเมืองไทยทั้งนักแสดงหลักและนักแสดงสมทบมากมาย อาทิ

  • “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” (จากการแสดงระดับสุดยอดของ “ฉัตรชัย เปล่งพานิช” ที่ใช้น้ำเสียง แววตา และความสามารถทางการแสดงล้วนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากไฮไลต์สำคัญที่เข้าฉากร่วมกับ “ผู้พันเบิร์ด วันชนะ สวัสดี” ในบท “พระนเรศวร” กล่าวได้ว่าการแสดงของฉัตรชัยคือการตอกย้ำความเป็นนักแสดงระดับแถวหน้าของเมืองไทยตลอดกาลจาก “น้องเมีย, เฮโรอีน, มือปืน 2 สาละวิน” นอกจาก “สรพงษ์ ชาตรี” แล้ว ฉัตรชัยคืออีก 1 นักแสดงคู่บุญของ “ท่านมุ้ย” อย่างแท้จริง) ซึ่งในภาคนี้เราจะได้เห็นน้ำตาและความรู้สึกที่คั่งค้างอยู่ภายในจิตใจของอดีตกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวร รวมไปถึงความห่วงหาอาลัยต่อชะตากรรมของพระราชธิดาอย่างสมเด็จพระสุพรรณกัลยาที่ต้องเป็นองค์ประกันแทนพระนเรศวร ก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรจะขึ้นครองราชย์สืบต่อไป
  • ชะตากรรมที่ดำเนินต่อของ “พระราชมนู” (บุญทิ้ง) พระสหายคู่ใจที่ร่วมกรำศึกใหญ่น้อยเคียงบ่าเคียงไหล่พระนเรศมาทั้งชีวิต หลังจากพลาดท่าเสียทีถูกพม่าข้าศึกจับไปเป็นเชลยใน “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 4 ศึกนันทบุเรง” (ซึ่งเราจะได้เห็นการถ่ายทอดบทบาทของพระสหายของพระนเรศวรจากการรับบทโดย “ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม” ที่มาพร้อมกับการแสดงที่ลุ่มลึก นิ่ง และเต็มไปด้วยพลังทั้งสีหน้าแววตาและท่าทาง คงไม่ต้องพูดอะไรมากกับความสามารถทางการแสดงของปีเตอร์ทั้งฉากรบและฉากอารมณ์ โดยเฉพาะในภาคนี้ที่เราจะได้เห็นความจงรักภักดีของพระสหายที่เต็มไปด้วยความเสียสละและทุ่มเทชีวิตให้กับพระนเรศวร)
  • ความทุ่มเทชีวิตและหัวใจให้กับการรบดุจดั่งชายอกสามศอก แม้ตัวเองจะเป็นหญิง แต่เลือดนักสู้ของ “เลอขิ่น” หาได้ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ใดในสนามรบ ทั้งความจงรักภักดีต่อพระนเรศวรเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีต่อพระราชมนู ถึงขนาดลักลอบเข้าไปยังค่ายพม่าเพื่อสืบหาว่าพระราชมนูเป็นตายร้ายดีเพียงใด (จากการแสดงแบบทุ่มสุดตัวของนักแสดงหญิงมากฝีมืออย่าง “ทราย-อินทิรา เจริญปุระ” ทั้งฉากแอคชั่นท่ามกลางศึกสงคราม จับดาบฟาดฟันศัตรู ยิงธนูขี่ม้า รวมไปถึงฉากที่ต้องถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอย่างเข้มข้น)
  • โศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าใจที่เกิดขึ้นกับ “สมเด็จพระสุพรรณกัลยา” (ถ่ายทอดการแสดงในระดับสุดยอดโดย “เกรซ มหาดำรงค์กุล”) พระพี่นางของพระนเรศวรหลังจากชีวิตต้องตกเป็นองค์ประกันของแผ่นดินแทนพระนเรศวร และต้องตกอยู่ในเงื้อมมือของ “นันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ที่สืบสานราชบัลลังก์ต่อจาก “บุเรงนอง” (สมภพ เบญจาธิกุล) ผู้พ่อ ที่บัดนี้กลายเป็นกษัตริย์พม่าที่เต็มไปด้วยความฮึกเหิมและเกรี้ยวกราด หมายที่จะบุกเข้าตีและยึดครองอโยธยาให้ราบเป็นหน้ากลองให้จงได้ ทำให้พระสุพรรณกัลยาจึงจำยอมต้องเสียสละพระวรกายตลอดไป
  • “ไอ้ขาม” ชายบ้าใบ้ที่แลดูเหมือนจะเป็นบุคคลไร้สติ (รับบทโดย “ต๊อก-ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ” นักแสดงบ้าพลังที่ได้รับการยอมรับถึงความเต็มที่ทางด้านการแสดงอย่างที่จะยากจะหาผู้ใดเลียนแบบในบทที่ทุกคนจะต้องรักและเอ็นดู และต้องเสี่ยงกับการเข้าฉากกับช้างที่พร้อมจะตกมัน) แต่กลับกลายมาเป็นหนึ่งเดียวที่สามารถสยบ “พลายภูเขาทอง” ช้างทรงของพระนเรศวร (หรือ “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” ต่อมาถูกขนานนามว่า “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี”) จนท้ายที่สุดได้เข้าไปรับใช้ถวายงานเป็น “คชบาล” และร่วมกรำศึกแห่งประวัติศาสตร์ “ยุทธหัตถี” ร่วมกับพระนเรศวร
  • เมื่อเพลิงสงครามได้ก่อตัวปะทุเผาผลาญตอกย้ำซ้ำเติมให้จิตใจที่หมายจะพิชิตอโยธยาเอาชนะพระนเรศวรของ “พระเจ้านันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ให้จงได้ยิ่งลุกโชนซ้ำเติมให้เพลิงแห่งโมหะที่แสนเกรี้ยวกราดนำมาซึ่งความสูญเสียครั้งสำคัญที่เกิดกับตัวพระเจ้านันทบุเรงและเป็นชนวนของการเกิดอภิมหาสงครามครั้งยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์ เราจะได้เห็นความเกรี้ยวกราด ฮึกเหิม มุทะลุของพระเจ้านันทบุเรงกษัตริย์พม่าที่พยายามจะสลัดพระองค์เองให้หลุดพ้นจากปีกเงาความยิ่งใหญ่อันเป็นที่เคารพหวั่นเกรงไปทั่วปฐพีของพระเจ้าบุเรงนองพระราชบิดาในฐานะกษัตริย์นักรบผู้ชนะสิบทิศ จึงพยายามจะพิสูจน์ความเก่งกล้าสามารถของตัวเองว่ามิได้ด้อยไปกว่าพระราชบิดา จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะเอาชนะพระนเรศวรและพิชิตอโยธยาให้จงได้ (ผ่านการถ่ายทอดทางด้านการแสดงของต้น จักรกฤษณ์ และยิ่งท้าทายยิ่งขึ้นเมื่อบางฉากต้องแสดงออกไปยังผู้ชมผ่านเพียงการแสดงเพียงแค่นัยน์ตาทั้ง 2 ข้างที่แดงฉานด้วยความโกรธเกรี้ยวผ่านหน้ากากที่ถูกสวมทับอีกที)
  • “พระมหาอุปราชา” (ตั๊ก-นภัสกร มิตรเอม) พระราชโอรสของพระเจ้านันทบุเรง ที่ถูกมองว่าขลาดเขลาเห็นแก่ตนมากกว่าแผ่นดิน เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ในภาคนี้พระมหาอุปราชาจำต้องพิสูจน์ให้เหล่าเสนาบดีแห่งกรุงหงสาวดีรู้ว่าตนคือสายเลือดกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่หาได้เป็นเฉกเช่นบิดากล่าวไม่ จึงเป็นผู้นำทัพไพร่พลพม่าเรือนแสนหมายบุกขยี้อโยธยา และพิชิตศึกกับพระนเรศรถึงกับประกาศยอมสิ้นชีพ หากมิสามารถเอาชนะศึกในครั้งนี้ โดยเป็นผู้นำทัพพม่า และออกกระทำมหาสงครามยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรอันลือลั่นจนได้รับการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ตราบจนปัจจุบัน การแสดงของตั๊ก นภัสกรเป็นตัวละครที่ค่อนข้างแตกต่างจากตัวละครอื่นๆ ที่รายล้อมอยู่ในหนังอภิมหาสงครามเรื่องยิ่งใหญ่ นั่นคือต้องถ่ายทอดบุคลิกที่เป็นรอง เนื่องจากเป็นสายเลือดกษัตริย์นักรบพม่าที่ถูกบิดาคือพระเจ้านันทบุเรงคอยควบคุมบงการ และถูกดูแคลนอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นตัวละครที่ต้องเต็มไปด้วยความอ่อนไหว แต่ถึงกระนั้นก็เป็นพระราชโอรสที่รักและเทิดทูนพระบิดาเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงของตั๊ก นภัสรทั้งแววตาและความรู้สึกทั้งในฉากที่พระเจ้านันทบุเรงต้องเพลี่ยงพล้ำได้รับบาดเจ็บตกอยู่ท่ามกลางเพลิงที่กำลังเผาผลาญเอาชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย รวมทั้งฉากที่ต้องรับหน้าที่เป็นผู้นำศึกและตัดสินใจในการรบต่อจากพระเจ้านันทบุเรง
  • “พระมหาเถรคันฉ่อง” (ถ่ายทอดการแสดงระดับสุดยอดไร้ซึ่งข้อกังขาโดยศิษย์เอกของท่านมุ้ย “สรพงษ์ ชาตรี”) ยังคงเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในทุกเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ในฐานะพระผู้ใหญ่ที่เปรียบได้กับที่ปรึกษาครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้การศึกสงครามตลอดจนทัศนคติมุมมองในการบริหารการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะกษัตริย์นักรบผู้ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมและเป็นที่รักของประชาราษฎร์เสมอมา
  • “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (พันโทวันชนะ สวัสดี) ใน “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี” เราจะยังคงได้เห็นพระปรีชาสามารถในการกรำศึก คิดค้นยุทธวิธีในการรบ ตลอดจนทักษะความสามารถการคิดอ่านเป็นเลิศในกลเกมวางแผนการรบ รวมไปถึงอัจฉริยภาพและความเด็ดเดี่ยวในฐานะผู้นำที่ปกครองบริหารผู้คนตลอดจนประเทศให้ธำรงไว้ซึ่งผืนแผ่นดินความเป็นไทยเสมอมา ในขณะเดียวกันก็จะได้เห็นสายใยความผูกพันและด้านอ่อนโยนของพระนเรศวร ทั้งกับสหายที่เติบโตมาด้วยกันอย่างบุญทิ้ง หรือในด้านความรักที่มีต่อมณีจันทร์ ไปจนถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องไปจนถึงการขึ้นครองราชย์ และทรงแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสีต่อมา (กล่าวได้ว่าตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษกับการถ่ายทอดชีวิตและตัวตนของกษัตริย์นักรบไทยอันเป็นที่รักอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คงยากที่จะหานักแสดงคนใดที่จะลบภาพพระนเรศของผู้พันเบิร์ดไปได้ ทั้งในการถ่ายทอดทางด้านการแสดงทั้งอารมณ์อ่อนโยนดราม่าไปจนถึงฉากแอคชั่นการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยความดุดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากที่พระนเรศวรรวบรวมกำลังใจจากเหล่าทหารที่ร่วมรบสร้างความฮึกเหิมก่อนที่จะเข้าทำศึกสงคราม อย่าแปลกใจถ้าน้ำเสียงคำพูดและการถ่ายทอดโดยผู้พันเบิร์ดจะเต็มไปด้วยพลังและความฮึกเหิมได้อย่างไร้ที่ติจนผู้ชมเกิดอาการขนลุกโดยไม่รู้ตัว)
  • “มณีจันทร์” (ถ่ายทอดการแสดงออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ อ่อนหวาน และเต็มไปด้วยความงดงามโดย “ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ”) ผู้เป็นดั่งดวงแก้วของพระนเรศวร คือสตรีผู้อยู่เคียงข้างและคอยดูแลพระองค์เสมอมาทั้งในยามศึกท่ามกลางสถานการณ์คับขันสูญเสียชีวิตผู้คนรอบข้างและอันเป็นที่รัก แน่นอนว่า เรายังคงเห็นมณีจันทร์สหายที่เติบโตมาด้วยกัน หญิงอันเป็นที่รักของกษัตริย์ผู้หาญกล้าแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยในภาคนี้เราจะได้เห็นพัฒนาการสายสัมพันธ์ระหว่างพระนเรศวรและมณีจันทร์ในฉากสำคัญ คือการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ดำและแต่งตั้งมณีจันทร์ขึ้นเป็นพระมเหสีที่คอยยืนหยัดเคียงข้างพระองค์ รวมไปถึงฉากถวายตัวที่เต็มไปด้วยความโรแมนติกและสวยงาม
  • นอกจากนี้ยังมีเหล่านักแสดงสมทบที่มาร่วมสร้างตำนานอันยิ่งใหญ่ของกษัตริย์นักรบไทยอันเป็นที่รักของปวงประชาราษฎร์ ผู้รวบรวมผืนแผ่นดินให้ธำรงอยู่คงคู่ความเป็นไทเสมอมา ตั้งแต่นักแสดงรุ่นใหญ่ในอดีตจนถึงนักแสดงรุ่นใหม่ อาทิ “คมน์ อรรฆเดช” (ออกญาท้ายน้ำ), “ปวีณา ชารีฟสกุล” (พระวิสุทธิ์กษัตรีย์), “อำภา ภูษิต” (ท้าววรจันทร์), “ชลิต เฟื่องอารมย์” (นรธาเมงสอ), “ครรชิต ขวัญประชา” (พระยาพะสิม), “วิชุดา มงคลเขตต์” (เจ้าจอมมารดาสาย), “ชลัฎ ณ สงขลา” (มังจาปะโร), “พันเอก วินธัย สุวารี” (สมเด็จพระเอกาทศรถ, “ปราบต์ปฎล สุวรรณบาง” (พระชัยบุรี), นาวาอากาศโท จงเจต วัชรานันท์ (นัดจินหน่อง) ฯลฯ

 

King-Naresuan-5-Still11

 

3) ปี พ.ศ. 2545 จากจุดเริ่มต้นในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง ที่มาว่าด้วยบทบันทึกหรือเรื่องราวเกี่ยวกับ “ยุทธหัตถี” มหาศึกคชยุทธ์ครั้งสำคัญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้งจากหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์พงศาวดารที่ถูกบันทึกทั้งของไทย, พม่า และชาวตะวันตก ฯลฯ อันนำไปสู่การเดินทางครั้งสำคัญของ “ท่านมุ้ย” (ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล) โดยมี “รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์” ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์และที่ปรึกษาทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านการร่วมงานกันมา นับตั้งแต่ “สุริโยไท” (2544) ภาพยนตร์แห่งสยามประเทศที่ได้รับการกล่าวถึงและสร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จครั้งสำคัญจนได้รับการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์ไทยมาแล้ว ร่วมย้อนอดีตกว่า 400 ปีเพื่อค้นหาหมุดหมาย และร่องรอยทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรมฝาผนังจากสถานที่สำคัญๆ ทั้งในไทยและพม่าเอง เพื่อรวบรวมและนำเอาหลักฐานข้อมูลดังกล่าวตลอดจนสมมติฐานต่างๆ ที่ผ่านการศึกษามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาเรื่องราวเป็นบทภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงอัจฉริยภาพความเป็กษัตริย์นักรบ อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ผู้ซึ่งกอบกู้ เอกราชและผืนแผ่นดินไทยที่ทรงยอมเสียสละเลือดเนื้อ โดยทรงยอมทุ่มเทพระวรกายเพื่อให้ได้มาซึ่ง “อิสรภาพ” สู่ผืนแผ่นดินไทยตราบจนปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับหลากหลายตัวละครในประวัติศาสตร์ที่มีส่วนสำคัญในเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งฝั่งไทยและพม่า

 

4) เพื่อให้ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เป็นอภิมหากาพย์ภาพยนตร์แอคชั่น-ดราม่าอิงประวัติศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์พร้อมที่สุด สมจริงที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุด นอกเหนือจากข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียด นั่นดูเหมือนว่าจะยังไม่เพียงพอกับความตั้งใจของ “ท่านมุ้ย” ที่ต้องการสัมผัสถึงหลากหลายแง่มุมทางประวัติศาสตร์ให้มากที่สุด ครบถ้วนที่สุด ก่อนที่จะเริ่มต้นงานในส่วนโปรดักชั่นงานสร้างอย่างเต็มรูปแบบ อันนำไปสู่การเดินทางเพื่อสัมผัสกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ยังสถานที่จริงด้วยสองตาและสองเท้าของท่านมุ้ยเอง เพื่อให้เวลาที่ภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะปรากฏอยู่บนแผ่นฟิล์ม เต็มไปด้วยความสมจริงที่สุด พร้อมกับผู้ร่วมเขียนบทและที่ปรึกษาทางประวัติศาสตร์อย่าง “รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์” ผู้มีส่วนร่วมสำคัญใน “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

 

5) ตลอดระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษ กับการถ่ายทอดเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” สังเกตได้ว่าเมื่อพูดถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์สำคัญหลายๆ ส่วนในประวัติศาสตร์ของไทยและพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือพระราชพิธีสำคัญๆ อย่างบรมราชาภิเษกจะเกี่ยวข้องกับ 2 สถานที่สำคัญ ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เสมอ นั่นคือพระที่นั่งมังคลาภิเษกในฝั่งของอโยธยาและพระที่นั่งสิงหสนบัลลังก์ สำหรับในฝั่งของพม่า ทำให้อีกหนึ่งงานสร้างสำคัญที่ถูกเนรมิตขึ้นในภาพยนตร์ที่ท่านมุ้ยทรงตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง คือการจำลองเอาพระที่นั่งที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญๆ ดังกล่าวโดยพยายามรวบรวมเอาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีมาทั้งหมด และที่ยังคงเหลือเป็นเค้าโครงในปัจจุบันเพื่อประยุกต์ให้ตรงตามประวัติศาสตร์มากที่สุด

 

King-Naresuan-5-Still03

 

6) ด้วยความตั้งใจของ “ท่านมุ้ย” ที่จะเนรมิตเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในอดีตที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 400 ปีที่แล้วอย่าง “ยุทธหัตถี” มหาสงครามที่ได้รับการกล่าวขานถึงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ระหว่าง “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และ “พระมหาอุปราชา” ให้ออกมาอย่างสมพระเกียรติของทั้งสองพระองค์ เพื่อสอดคล้องกับภาพและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และในขณะเดียวกันก็นำเสนอและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์ให้สมบูรณ์ลงตัวที่สุด กลับกลายเป็นงานช้างที่ทั้งใหญ่และยากอย่างแท้จริง ตั้งแต่การรวบรวมวิเคราะห์ถึงรูปแบบและขั้นตอนต่างๆ รวมไปถึงรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ นอกเหนือไปจากการศึกษาผ่านข้อมูลหลักฐานโบราณในอดีต ไม่ว่าจะเป็นพงศาวดารทั้งฝั่งไทย, พม่า และตะวันตก โดยเริ่มต้นทำการศึกษาตั้งแต่เส้นทางการเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวร, พระมหาอุปราชา รวมไปถึงสถานที่ที่ทั้งสองพระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถี อาณาบริเวณของพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ แน่นอนว่าทำให้ท่านมุ้ยและทีมงานต้องออกเดินทาง เพื่อตามร่องการเดินทัพของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์

 

7) ในการนำเสนอภาพศึกคชยุทธ์มหาสงครามสนั่นปฐพี การสัประยุทธ์รบบนหลังช้างของทั้ง 2 พระองค์โดยใช้ “ของ้าว” ในการสู้ศึก ภาพช้าง 2 เชือกที่จะต้องชนกัน แวดล้อมไปด้วยเหล่าไพร่พลรายรอบที่โรมรันต่อสู้ท่ามกลางสมรภูมิ ล้วนแล้วแต่เป็นการบันทึกบอกกล่าวและเล่าขานสืบต่อกันมาบ้างเป็นภาพจิตรกรรมบนฝาผนัง แต่การที่จะถ่ายทอดภาพดังกล่าวให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์สายตาต่อผู้คนในลักษณะของภาพเคลื่อนไหวแน่นอนว่ายังไม่เคยเกิดขึ้น ทำให้ท่านมุ้ยและทีมงานต่างต้องทำการศึกษาค้นคว้าอย่างหนักตั้งแต่วิธีการรบการทำสงคราม รูปแบบ และวิธีการต่อสู้ในการชนกันของช้างศึก วิธีการใช้ของ้าว การเหวี่ยง การฟันของของ้าว

  • จากบทบันทึกในพงศาวดารฉบับต่างๆ ล้วนแล้วแต่ระบุว่าช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรตัวเล็กกว่าช้างศึกของพระมหาอุปราชา สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะในสมัยก่อนอโยธยาจะต้องส่งช้างเป็นเครื่องบรรณาการกลับไปยังหงสาไม่ต่ำกว่า 30 เชือก ทำให้ช้างที่เหลืออยู่เทียบไม่ได้เลยกับช้างพม่า
  • เฉพาะ “ฉากยุทธหัตถี” ที่จะปรากฏบนจอภาพยนตร์ประมาณ 10 นาทีนั้นว่ากันว่าใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 1 ปี
  • ภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องสุดท้ายที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม และมีการใช้ฟิล์มมากถึง 1,200 ม้วน
  • “ของ้าว” ที่ใช้สำหรับเข้าฉากของ “ตั๊ก นภัสกร” ซึ่งรับบทเป็น “พระมหาอุปราชา” มีน้ำหนักมากกว่าของ้าวของพระนเรศวรอยู่เท่าตัว
  • ในกระบวนการขั้นตอนในการถ่ายทำฉากยุทธหัตถีที่ใช้ระยะเวลาในการถ่ายทำนานถึง 1 ปี เพราะเนื่องจากเป็นฉากที่ใหญ่และยากมากๆ เพราะนอกจาก “ท่านมุ้ย” ต้องกำกับฉากที่ทุกองค์ประกอบในการถ่ายทำที่ล้วนแล้วเต็มไปด้วยอุปสรรคและความยากลำบากในการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นการที่ท่านต้องกำกับสัตว์อย่างช้างมาทำการแสดงซึ่งเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะเอาช้างมาชนกันมาฟาดงวงงาต่อสู้กัน โดยที่มีนักแสดงที่ต้องขึ้นไปนั่งและควบคุมช้างไปพร้อมกับที่จะต้องมีการใช้อาวุธคือของ้าวต่อสู้อย่างดุเดือดบนหลังช้าง โดยที่ “ผู้พันเบิร์ด วันชนะ” และ “ตั๊ก  นภัสกร” จะต้องฝึกการขี่ช้างฝึกการใช้อาวุธของ้าวเรียนรู้วิธีเหวี่ยงอาวุธฟันไปพร้อมกับจะต้องทรงตัวให้อยู่บนหลังช้างที่เคลื่อนไหวให้ได้ ถึงแม้ว่าแทบทุกครั้งที่ช้างทั้งสองเชือกเข้าประทะกันนักแสดงจะต้องตกจากคอช้าง จึงนำไปสู่กระบวนการถ่ายทำในขั้นตอนที่ 2 นั่นคือใช้ช้างจริง 1 เชือกและช้างประดิษฐ์อีกหนึ่งเชือก ก่อนที่จะนำไปสู่ขั้นตอนที่ 3 สำหรับการถ่ายทำนั่นคือ การใช้ช้างประดิษฐ์ทั้ง 2 เชือกโดยผ่านการควบคุมโดยทีมงานที่บังคับช้างประดิษฐ์ นี่เป็นเพียงกระบวนการขั้นตอนในการถ่ายทำเฉพาะฉากที่กล้องจะต้องบันทึกในส่วนของการต่อสู้ของช้างและตัวละครตัวเอกทั้ง 2 คน ยังไม่รวมกับการถ่ายทำพร้อมกับเหล่าไพร่พลทหารของทั้งหงสาวดีและอโยธยาที่ต้องเข้าฉากปะทะกันท่ามกลางสมรภูมิ รวมไปถึงขั้นตอนในส่วนของคอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่เข้ามารองรับจินตนาการในการเนรมิตความยิ่งใหญ่ของศึกมหาสงครามในฉากยุทธหัตถีออกมาน่าตื่นตาที่สุด

 

8) ด้วยความที่ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” คืออภิมหากาพย์ภาพยนตร์แอคชั่น-ดราม่าอิงประวัติศาสตร์เรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีการสร้างขึ้นมาในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทยระดมนักแสดงระดับคุณภาพเยอะที่สุดและเป็นความตั้งใจที่ “ท่านมุ้ย” อยากให้ทุกๆ ฉากทุกเหตุการณ์สำคัญของภาพยนตร์เป็นผลงานการถ่ายทอดเรื่องราวและความเข้มข้นของแต่ละตัวละครด้วยตัวนักแสดงที่รับบทบาทต่างๆ ด้วยตัวเองส่งผลให้เหล่านักแสดงหลักๆ ทุกคนที่มีบทบาทสำคัญอาทิ “ผู้พันเบิร์ด วันชนะ, แอฟ ทักษอร, ปีเตอร์ นพชัย, ทราย เจริญปุระ, ผู้พันต๊อด-พันเอกวินธัย สุวารี, เสธ.ต้น-พันโท คมกริช อินทรสุวรรณ, ปราบต์ปฏล สุวรรณบางฯลฯ” จะต้องถูกส่งไปเข้าค่ายฝึกทักษะต่างๆ ทางด้านร่างกายและการแสดงตั้งแต่ก่อนการเปิดกล้องการถ่ายทำตั้งแต่ 1-2 ปีรวมไปถึงตลอดช่วงเวลาของการถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ

 

King-Naresuan-5-Still14

 

9) ตารางเวลาในการฝึกซ้อมทักษะต่างๆ ทางร่างกายเพื่อการเตรียมพร้อมในการถ่ายทำ ซึ่งมีตั้งแต่การฝึกขี่ช้าง, ขี่ม้า รวมไปถึงการฝึกฝนในการใช้อาวุธและศิลปะการต่อสู้ของเหล่านักแสดงหลักทั้งชายและหญิงในภาพยนตร์ ตลอด 5 วันต่อหนึ่งสัปดาห์เรียกได้ว่าไม่ต่างจากการเข้าค่ายฝึกทหารเป็นระยะเวลาถึง 1-2 ปี แม้แต่
“ผู้พันเบิร์ด วันชนะ” กว่าจะได้เข้าฉากถ่ายทำช็อตแรกของตัวเองก็หลังจากที่ภาพยนตร์เปิดกล้องไปแล้วถึง 2 ปี

 

10) การเนรมิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตัวละครต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่อดีตกาลนานกว่า 400 ปีผ่านการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังทั้งจากหลักฐานโบราณไปจนถึงงานจิตกรรมต่างๆในแต่ละยุคแต่ละสมัยถึงขนาดที่ว่า “รศ.ดร.สุเนตร” ที่ปรึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ได้ร่วมเดินทางไปประเทศพม่ากับท่านมุ้ยเพื่อติดต่อกับบรรดาศิลปินต่างๆ ให้มีการวาดรูปการแต่งกายของผู้คนในสมัยโบราณเพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับการออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์เลยทีเดียว

 

11) โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดเครื่องแต่งกายของ 2 ตัวละครสำคัญ “พระสุพรรณกัลยา” และ “มณีจันทร์” ที่ทั้งสวยงามวิจิตรบรรจงตามแบบฉบับของเครื่องแต่งกายที่เกิดขึ้นในยุคสมัยเมื่อราว 400 กว่าปีก่อน โดยเริ่มต้นจากชุดของ “มณีจันทร์” ซึ่งสวมชีวิตและลมหายใจโดย “แอฟ ทักษอร” ที่มาเป็นผู้ถ่ายทอดคาแร็กเตอร์หรือบทบาทของหญิงผู้อันเป็นที่รักคู่คิดและคู่ชีวิตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำให้แอฟเองซึ่งรับบทบาทดังกล่าวต้องถ่ายทอดภาพลักษณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นความละเอียดอ่อนในความเป็นกุลสตรีตามแบบฉบับของสาวในวังไปจนถึงการออกไปร่วมรบเคียงคู่พระนเรศวร ส่งผลให้ฝ่ายออกแบบและดูแลเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของมณีจันทร์เองต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยได้ “หม่อมกมลา ยุคล” โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ลงมากำกับดูแลด้วยตัวเองโดยยึดความถูกต้องตามประวัติศาสตร์ในยุคดังกล่าว                                   

             

12) ในขณะที่ชุดของ “พระสุพรรณกัลยา” พระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวรที่ต้องตกเป็นองค์ประกันอยู่ที่กรุงหงสา ซึ่งถึงแม้ว่าท่านจะใช้เวลาทั้งชีวิตอยู่ในต่างบ้านต่างเมืองถึงในดินแดนของศัตรูแต่พระองค์ท่านก็ยังคงยึดการแต่งกายตามแบบฉบับของหญิงไทย โดยเครื่องแต่งกายทั้งหมดรวมไปถึงเหล่าบรรดาเครื่องประดับตกแต่งที่จะเป็นการบ่งบอกถึงสถานะของพระองค์ก็คงความงดงามวิจิตรบรรจงโดยยึดตามการค้นคว้าจากข้อมูลหลักฐานโบราณต่างๆ เพื่อให้ออกมาสมจริงที่สุด ก่อนที่จะโลดแล่นมีชีวิตและลมหายใจปรากฎเป็นภาพเคลื่อนไหวผ่านการถ่ายทอดบทบาทและการแสดงโดย “เกรซ มหาดำรงค์กุล” ที่ต้องใช้เวลาในการแปลงโฉมอย่างน้อยๆ 3 ชั่วโมงในทุกครั้งที่เข้าฉากและทำการแสดง

 


นักแสดง

พันโท วันชนะ สวัสดี
นพชัย ชัยนาม
ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ
อินทิรา เจริญปุระ
ฉัตรชัย เปล่งพานิช
จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์
สรพงษ์ ชาตรี
เกรซ มหาดำรงค์กุล
นภัสกร มิตรเอม
ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ
พันเอก วินธัย สุวารี
ปราบต์ปฏล สุวรรณบาง
พันโท คมกริช อินทรสุวรรณ
ชลัฏ ณ สงขลา
ปวีณา ชารีฟสกุล

ผู้กำกับ

หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ