ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่ (The Country Teacher of Ban Nong He Yai)
เรื่องย่อ
“ความใฝ่ฝันของผมนั่นเหรอ ผมไม่ใฝ่ฝันที่จะเป็นเพียงเรือจ้าง ที่เขาเปรียบครูไว้เช่นนี้หรอก
ลองคิดดูซิว่า ขณะที่เรากำลังแจวเรือ แล้วมีคนอื่นอีกมาก ใกล้จะจมน้ำตาย
แล้วเราจะไม่จอดแวะรับเขาขึ้นมาด้วยกันกับเราเหรอ
เราจะเอาเพียงเด็กนักเรียนขึ้นฝั่งเท่านั้น เท่านี้เหรอ สำหรับเกียรติของครู
ความใฝ่ฝันของผมก็คือ ผมจะไม่เป็นเพียงเรือจ้างสำหรับเด็กนักเรียนเท่านั้น
ถ้าเป็นไปได้ ผมจะเป็นเรือที่จะรับส่งและช่วยเหลือคนที่จะจมน้ำตายทุกคน”
เรื่องเล่าที่ไม่มีวันตายของครูผู้มีอุดมการณ์และความปรารถนาจะเป็นยิ่งกว่า “ครู”
เรื่องราวของความทรงจำอันยากจะลืมเลือนของครูบ้านนอกเกิดขึ้นเมื่อ “พิเชษฐ์” (พิเชษฐ์ กองการ) สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยครูพระนคร พิเชษฐ์เลือกมาบรรจุเป็นครูที่ “โรงเรียนบ้านหนองฮีใหญ่” ซึ่งอยู่ในชนบทอันห่างไกลที่มีแต่ความทุรกันดาร โดยมี “ครูใหญ่ชาลี” (หม่ำ จ๊กม๊ก) เป็นครูสอนนักเรียนเพียงลำพังของโรงเรียน ต่อมาได้มีครูมาสมทบเพิ่มอีก 2 คนคือ “ครูสมชาติ” (อสงไขย ผาธรรม) ที่จำใจมาเป็นครูเพราะหางานทำในเมืองไม่ได้ และ “ครูแสงดาว” (ฟ้อนฟ้า ผาธรรม) ที่มาเป็นครูอยู่ที่หนองฮีใหญ่เพื่อรอจังหวะโยกย้ายเข้าไปเป็นครูในตัวเมือง
ตลอดระยะเวลาที่มาเป็นครูอยู่ที่หมู่บ้านหนองฮีใหญ่ ครูพิเชษฐ์ได้อุทิศทั้งกายและใจในการพัฒนาการเรียนการสอน และชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียนทุกคนจนกลายเป็นที่รักของเด็กนักเรียน คุณครู และผู้คนในหมู่บ้าน อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้ครูในโรงเรียนบ้านหนองฮีใหญ่ ทั้งครูใหญ่ชาลี, ครูสมชาติ และครูแสงดาว ได้รู้ซึ้งถึงเกียรติยศของคำว่า “ครู”
แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อครูพิเชษฐ์ได้เข้าไปเปิดโปงขบวนการผิดกฎหมายของผู้มีอิทธิพลในท้องที่ จนถูกมือปืนตามล่า เป็นเหตุให้ครูพิเชษฐ์ต้องพักการสอนและหนีออกจากหมู่บ้านไปซ่อนตัวซักระยะ แต่ด้วยวิญญาณความเป็นครู ทำให้ครูพิเชษฐ์หวนกลับมาสอนหนังสือเด็กที่โรงเรียนอีกครั้ง จนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทุกคนแห่งบ้านหนองฮีใหญ่จะจดจำไปอีกตราบนานเท่านาน…
ย้อนรอยความทรงจำระดับตำนานของหนังไทยน้ำดี “ครูบ้านนอก”
เมื่อสมัย 31 ปีที่แล้ว ความสำเร็จของต้นฉบับภาพยนตร์เรื่อง “ครูบ้านนอก” (2521 / สุรสีห์ ผาธรรม) ต้องเรียกได้ว่าสร้างปรากฏการณ์ถล่มทลายทั้งคำวิจารณ์และรายได้กันเลยทีเดียว ซึ่งเชื่อว่าคอหนังทุกคนคงต้องมีประสบการณ์ชมภาพยนตร์เรื่องนี้มาแล้วแทบทั้งนั้น ด้วยการเสนอมุมมองเนื้อหาที่แปลกใหม่ และเข้าถึงแก่นแท้ของชีวิตครูชนบทได้อย่างถึงที่สุด จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนจากสมาพันธ์ผู้สร้างภาพยนตร์ของประเทศไทยไปประกวดหนังที่ประเทศรัสเซียใน “งานมหกรรมภาพยนตร์นครทัชเคนท์” และสามารถพิชิตได้ถึง 2 รางวัลคือ “ผู้กำกับยอดเยี่ยม” และ “รางวัลภาพยนตร์สร้างสรรค์เยาวชนดีเด่น” ซึ่งก็ถือเป็นความภาคภูมิใจของหนังไทยในสมัยนั้นเลยทีเดียว
“ผมว่าเหตุผลที่ ‘ครูบ้านนอก’ ในสมัยนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง น่าจะเพราะว่าเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนชีวิตของคนชนบทอีสานออกมาได้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาที่สุด ซึ่งหนังก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ค่อยสร้างแนวนี้กันเท่าไร ถึงมีก็เป็นประเภทฉาบฉวยยังไม่ค่อยลงลึกไปถึงรายละเอียดแบบจริงๆ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้มันเป็นหนังที่ลงไปยังชนบทจริงๆ คือสามารถเจาะลึกตีแผ่ชีวิตครูชนบทได้อย่างที่สุด และตัวหนังเองก็มีความสนุกสนาน แต่ในขณะเดียวกันความประทับใจก็ยังมีความเป็นดราม่าสูงมาก และที่สำคัญมันเป็นเรื่องราวอุดมการณ์ของครู ซึ่งเมื่อก่อนยังไม่ค่อยมีใครนำเสนอเท่าไหร่ แล้วมันเข้าถึงชนบทจริงๆ คนเขาได้ดูเขาก็เอาไปพูดกันปากต่อปาก พอได้ดูแล้วก็มีความคิดที่อยากจะไปเป็นครูจริงๆ บ้าง คือถ้าคนดูมีความคิดแบบเดียวกับหนัง ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจสำหรับคนทำหนังอย่างผมแล้วครับ”
ไม่เว้นแม้กระทั่งตลกซูเปอร์สตาร์อย่าง “หม่ำ จ๊กม๊ก” ที่ยังคงจำความประทับใจของครูบ้านนอกในสมัยเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วไว้ได้อย่างไม่เคยลืม
“ผมยังจำได้ว่าตอนที่ผมได้ดู ‘ครูบ้านนอก’ ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กอายุ ประมาณ 11-12 ขวบเอง แต่รู้เลยว่า ‘ครูบ้านนอก’ ในอดีตถือเป็นหนังที่สุดยอดมากเลยในยุคนั้น เป็นหนังที่ดังแบบถล่มทลายเลยในสมัยก่อน ‘อาจารย์สุรสีห์ ผาธรรม’ แกนำเสนอเรื่องราวของครูผู้มีอุดมการณ์และมีจิตวิญญาณของความเป็นครูจริงๆ ซึ่งถือว่าเป็นหนังที่แปลกใหม่มากในยุคนั้น เพราะไม่มีใครที่กล้าทำหนังเกี่ยวกับครูเท่าไหร่เพราะมันเสี่ยง มีแต่ทำหนังรักกุ๊กกิ๊ก แล้วผู้กำกับอย่างอาจารย์สุรสีห์ก็ถือว่าเป็นผู้กำกับคนอีสานที่สุดยอดมากที่สุดในยุคนั้น นอกจากทำหนังเรื่อง ‘ครูบ้านนอก’ ได้รางวัลแล้ว ด้านรายได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเลยทีเดียว”
กลับมาสร้างความประทับใจอีกครั้งในเวอร์ชัน “ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่”
หลังจากภาพยนตร์เรื่องครูบ้านนอกออกฉายเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 ซึ่งถ้านับจากปีที่หนังเข้าฉายจนถึงวันนี้ก็กินเวลาร่วม 31 ปีแล้วที่สร้างความประทับใจให้กับคอหนังตลอดมา พร้อมกับทำให้บรรดาคอหนังได้รู้จักชื่อของ “ปิยะ ตระกูลราษฎร์” และ “วาสนา สิทธิเวช” ดาวดวงใหม่ที่แจ้งเกิดขึ้นมาประดับวงการหนังไทยโดยทันที พร้อมกับ “สุรสีห์ ผาธรรม” ผู้สร้างเรื่องราวที่น่าจดจำของหมู่บ้านหนองหมาว้อให้กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานระดับคลาสสิกของวงการภาพยนตร์ไทย ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าว ทางผู้กำกับคนเดิมได้นำเรื่องราวความประทับใจของครูบ้านนอกกลับมารีเมกใหม่ในเวอร์ชัน “ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่” ซึ่งผู้กำกับรุ่นใหญ่ “สุรสีห์ ผาธรรม” ก็ได้กลับมานั่งเก้าอี้ผู้กำกับเพื่อสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง
โดยครั้งนี้ยังได้สองที่ปรึกษาชั้นนำอย่าง “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” และ “พันนา ฤทธิไกร” คอยให้คำแนะนำ รวมถึง “สุชาติ ผาธรรม” มาควบคุมงานสร้างให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งพันนาก็ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปในโปรเจกต์นี้ว่า
“ในสมัยเด็กๆ ตอนที่หนังออกฉาย ผมดูเรื่องนี้ถึง 3 รอบ คือดูทั้งเสียงอีสานและเสียงที่เป็นภาษากลาง เพราะว่าหนังสมัยก่อนยังคงใช้ระบบเสียงพากย์อยู่ และรอบที่สามคือโรงเรียนเหมารอบกันไปดูทั้งครูและนักเรียนเลย แล้วดูทีไรก็ประทับใจมาก ซีนฮาก็หัวเราะกันลั่น ซีนน้ำตาก็ร้องไห้กันทั้งโรง ถือว่า ‘ครูบ้านนอก’ สมัยก่อนนั้นเป็นหนังที่โด่งดังมาก แล้วชื่อของ ‘พี่สุรสีห์ ผาธรรม’ ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ก็กลายเป็นที่รู้จักขึ้นมาทันที
จนวันหนึ่งผมได้รู้จักกับ ‘คุณสุชาติ ผาธรรม’ น้องชายของพี่สุรสีห์ ผมเลยถามแกว่าพี่สุรสีห์หายไปไหน ไม่เห็นหน้าหรือว่าผลงานของแกมานานหลายสิบปีแล้ว จนวันหนึ่งผมก็มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังไทยอยู่เรื่อยๆ ซึ่งผมก็เชื่อว่าพี่สุรสีห์ยังคงมีไฟในการทำงานอยู่อย่างแน่นอน ผมจึงถามพี่สุรสีห์ว่าสนใจอยากจะทำหนังอีกซักครั้งไหม เพราะผมอยากเห็นผลงานของแกอีกครั้ง เพราะพี่สุรสีห์ก็เป็นผู้กำกับที่มีความสามารถคนหนึ่ง เลยเป็นจุดเริ่มต้นไปคุยกับ ‘พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว’ ซึ่งพี่ปรัชเขาก็สนใจเหมือนกัน ตอนแรกว่าจะทำเป็นหนังเพลงลูกทุ่ง เหมือนหนัง ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ นี่แหละ แต่พอคิดดูอีกทีทำไมไม่ทำหนังที่พี่สุรสีห์ถนัด ก็เลยเอาเรื่องนี้ไปคุยกับเสี่ยเจียง แล้วพอดีเสี่ยก็มีมุมมองทางด้านการตลาด และเล็งเห็นว่าหนังอย่าง ‘ครูบ้านนอก’ มันเป็นหนังที่ห่างหายไปจากวงการหนังไทยนานแล้ว แล้วพี่สุรสีห์ก็เป็นผู้กำกับที่ถนัดด้านนี้โดยตรง น่าจะกลับมาปัดฝุ่นแล้วทำใหม่ ทุกคนก็เลยมุ่งไปที่ ‘ครูบ้านนอก’ ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรกของแกที่กำกับด้วย”
บันทึกผู้กำกับ “สุรสีห์ ผาธรรม”
ผญาภาษิตอีสานบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า
“ขุนหาญห้าวครองเมืองจั่งเฮืองฮุ่ง ขุนขี้ย่านครองบ้านบ่ฮุ่งเฮือง”
(ผู้นำที่ห้าวหาญปกครองบ้านเมืองจึงเรืองรุ่ง ผู้นำที่ขี้ขลาดปกครองบ้านเมืองไม่รุ่งเรือง)
ภาพยนตร์เรื่อง “ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่” ได้หยิบยกเอาผญาบทนี้มาเป็นคติประจำใจของ “ครูพิเชษฐ์” ตัวละครเอกของเรื่องที่ได้แสดงออกถึงความกล้าหาญ กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ อุทิศตนเพื่อส่วนรวม ซึ่งคนอย่างนี้เริ่มหาได้ยากยิ่งในสังคมปัจจุบันที่พอกพูนความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม
ผมอยากเห็นคนอย่างครูพิเชษฐ์เกิดขึ้นมากๆ ในสังคมไทย ผมจึงได้สร้างคาแร็กเตอร์ลักษณะนี้ขึ้นในตัวละครเอกของเรื่องเพื่อหวังจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้หนุ่มสาวยุคปัจจุบันได้หันมาใส่ใจสังคมมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมชนบทซึ่งยังอ่อนแอพึ่งตนเองไม่ได้
ผมสร้างหนัง “ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่” ขึ้นมาเพื่อจะบอกกับคนดูว่าสังคมชนบทยังต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถ และมีอุดมการณ์หาญกล้าเด็ดเดี่ยวที่จะเข้าไปร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์ ร่วมพัฒนา ร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประชาชนในชนบทพึ่งพาตัวเองได้ โดยไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องและครอบครัวเข้าเมืองใหญ่เพื่อรับใช้สังคมทุนนิยม ลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งนับวันแต่จะทำลายสังคมชนบทให้ล่มสลายไปในที่สุด
บันทึกสั้นๆ ฉบับนี้ขอจบลงด้วยบทเพลงๆ หนึ่งในหนัง “ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่” ประพันธ์โดย “ท้าวแพงคำ” ขับร้องโดย “ครูพิเชษฐ์” ตัวละครเอกของหนังซึ่งมีคำร้องท่อนแยกและท่อนจบว่า
โอ้ อีสานนาบ้านเหลือเด็กผู้เฒ่า หยาดเหงื่อหนุ่มสาวแลกเศษเงินเข้าเมืองใหญ่
เมืองใหญ่เมืองนั้นมันเป็นสวรรค์ของใคร ชีวิตสู้เพื่อหนีตายอย่างไรก็หนีไม่พ้น
แสงเอยแสงดาวพร่างพราวเป็นเพื่อนท้องฟ้า แรงแสงศรัทธาคนดีหาญกล้าทุกคน
เพื่อลบน้ำตาประชาไม่ยอมจำนน เพื่อผู้ยากไร้ทุกข์ทนสู้จนหมดลมหายใจ…
ด้วยจิตคารวะ
The Country Teacher of Ban Nong He Yai คมเดช สีมา ครกไม้ไทยลาวม่วนซื่นโฮแซว ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่ คำปานี วงทองคำ ฎีกา ผาธรรม ทศพล เฉยชัยภูมิ ปรัชญา ปิ่นแก้ว พันนา ฤทธิไกร พิเชษฐ์ กองการ ฟ้อนฟ้า ผาธรรม ศุภชัย ผลรัสมี สุรสีห์ ผาธรรม อสงไขย ผาธรรม เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา