จันดารา ปัจฉิมบท (Jan Dara: The Finale)

วันเข้าฉาย: 07/02/2013 ดราม่า, อีโรติก 02 ชั่วโมง 23 นาที

เรื่องย่อ

จากวรรณกรรมเชิงสังวาสสุดอมตะของนักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม”

สู่มหากาพย์ภาพยนตร์สุดละเมียดของผู้กำกับมากฝีมือ “หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล”

จากโศกนาฏกรรมแห่งการจองเวร หายนะแห่งกรรมตัณหา สะท้อนใจวิปริตของมนุษย์ ใน “จันดารา ปฐมบท”

สู่บทสรุปอันยิ่งใหญ่แห่งการล้างแค้น ทวงคืนสมบัติ ช่วงชิงอำนาจ พลิกผันชะตาชีวิตอันมิอาจคาดเดา

“จันดารา ปัจฉิมบท”

ผ่านการแสดงสุดเข้มข้นของทีมนักแสดงคุณภาพระดับแนวหน้า

มาริโอ้ เมาเร่อ, ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, บงกช คงมาลัย, สาวิกา ไชยเดช, รฐา โพธิ์งาม,

โช นิชิโนะ, ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยารัดเกล้า อามระดิษ, เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์

7 กุมภาพันธ์ 2556 ในโรงภาพยนตร์

 

โศกนาฏกรรมชีวิตของ “จัน ดารา” แวดล้อมไปด้วยผู้คนรอบข้างที่สะท้อนมวลอารมณ์แห่งความรัก ความใคร่ ความเคียดแค้น กิเลสตัณหา อันนำมาซึ่งการพลิกผันในชะตากรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

หลังจากเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นใน “บ้านพิจิตรวานิช” ทำให้ “จัน ดารา” (มาริโอ้ เมาเร่อ) และ “เคน กระทิงทอง” (ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต) สหายสนิทของเขาต้องหนีภัยอันเกิดจากการกระทำอันเหี้ยมโหดของ “คุณหลวงวิสนันท์เดชา” (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) ผู้ที่เขาคิดว่าเป็นพ่อบังเกิดเกล้านานถึง 17 ปี ไปพำนักอยู่กับ “คุณท้าวพิจิตรรักษา” (รัดเกล้า อามระดิษ) ผู้เป็นญาติผู้ใหญ่คนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ที่เมืองพิจิตร

 

ช่วงระยะเวลาที่อยู่ที่เมืองพิจิตรนี้ จันเป็นสุขทั้งกายใจ และรู้สึกถึงอิสรภาพของชีวิตอย่างแท้จริง เขายังคงติดต่อทางจดหมายกับ “ไฮซินธ์” (สาวิกา ไชยเดช) เพื่อนหญิงในดวงใจอันเป็นรักบริสุทธิ์ของเขาอยู่เสมอมา และคาดหวังว่าจะเริ่มต้นชีวิตใหม่อันสดใสที่เมืองนี้พร้อมๆ กับการตามค้นหาพ่อแท้ๆ ของเขาไปด้วย

 

แต่เหมือนโชคชะตากลั่นแกล้งให้วันชื่นคืนสุขอยู่กับเขาเพียงไม่นาน เมื่อในที่สุดจันก็ได้ล่วงรู้ความจริงอันไม่คาดฝันเรื่องพ่อผู้ให้กำเนิดแท้จริงที่เขารอคอยมานานจากปากคำของ “ร้อยตำรวจเอกเรืองยศ” (เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์) ผู้กุมความลับอันน่าอดสูเกี่ยวกับตระกูลพิจิตรวานิชนี้ไว้มาตลอดทั้งชีวิต

 

จันพยายามทำใจให้ผ่านช่วงชีวิตอันแสนทุกข์ทรมานนี้ไปให้ได้ จนกระทั่ง “น้าวาด” (บงกช คงมาลัย) ได้เดินทางมาแจ้งข่าวเรื่องคุณหลวงล้มป่วยลงอย่างฉับพลัน เนื่องจากเกิดเหตุบางอย่างขึ้นกับ “คุณแก้ว” (โช นิชิโนะ) และ “คุณขจร” (ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

 

และแล้วสงครามแห่งการชำระแค้นและทวงคืนทุกอย่างให้กลับมาเป็นของเขาและตระกูลพิจิตรวานิชก็ได้เปิดฉากขึ้นในทันทีตามคำสั่งเสียสุดท้ายของคุณท้าวยายผู้คอยบงการและพลิกผันชะตาชีวิตของจันให้ตกอยู่ในด้านมืดอย่างคาดไม่ถึง

 

จันกลับมาอย่างสง่าผ่าเผยในฐานะเจ้าของบ้านคนใหม่ และมีสิทธิในทรัพย์สมบัติและอำนาจทั้งหมดภายในบ้าน แต่เท่านั้นยังไม่สาแก่ใจของเขา เมื่อสัตว์ร้ายและตัณหาราคะในใจปะทุออกมาอย่างรุนแรง เมื่อเขาเห็นภาพ “คุณบุญเลื่อง” (รฐา โพธิ์งาม) กับคุณหลวงยังรักใคร่กันเป็นอย่างดี จันจึงใช้เสน่ห์แห่งความเป็นชายหนุ่มรูปงามหลอกล่อจนคุณบุญเลื่องตกเป็นของเขาอย่างสมยอม และเมื่อคุณหลวงได้เห็นภาพร่วมรักอันเร่าร้อนของทั้งคู่ ทำให้เขาสิ้นสติและกลายเป็นอัมพาตไปในที่สุด

 

กระจกเงาแห่งความชั่วร้ายได้สะท้อนภาพคุณหลวงมาสู่ตัวจันอย่างไม่มีผิดเพี้ยน

 

การล้างแค้นอันน่าขยะแขยงนี้ดูเหมือนจะปิดฉากอย่างสมบูรณ์แบบด้วยชัยชนะของจัน ดาราแต่เพียงผู้เดียว ถ้าเขาไม่ได้รับบทเรียนชีวิตอันยิ่งใหญ่จากศัตรูคู่อาฆาตอย่างคุณแก้วที่เอาคืนจันอย่างสาสม รวมถึงคนรอบข้างที่คอยห่วงใยเขาเสมอมาอย่างน้าวาด, เคน และคุณบุญเลื่องที่ค่อยๆ ตีตัวออกห่างจากจันไปเรื่อยๆ

 

อำนาจและทรัพย์สมบัติจะมีค่าอะไร หากไร้คนที่รักและห่วงใยเราอย่างจริงใจอยู่เคียงข้าง…

 

Jan-Dara-Finale-HB01

 

จากวรรณกรรมอมตะสู่ภาพยนตร์คุณภาพแห่งปี

 

“นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องยาวเรื่องแรกของผู้เขียน ซึ่งต้องขอบอกกล่าวไว้เสียด้วยว่า เป็นเรื่องอ่านเล่น ซึ่งไม่ใช่ของสำหรับเด็ก และเป็นของแสลงอย่างยิ่งสำหรับบุคคลประเภท ‘มือถือสาก ปากถือศีล’

 

“เรื่องของจัน ดารา” จัดเป็นงานที่พรรณนาภาพอันน่าสังเวชของมนุษย์ที่ตกอยู่ใน “เขาวงกตแห่งกามตัณหา” นักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม” เขียนเรื่องนี้อย่างผู้ที่มากด้วย “ประสบการณ์” และ “ประสบกาม” จัดได้ว่าเป็นแบบ “อัตถนิยมแท้ๆ” (Realism) เล่มหนึ่งของวงวรรณกรรมไทย

 

ความน่าสนใจของวรรณกรรมเรื่องนี้ มิใช่การรจนาอันละเมียดละไมอย่าง “วิจิตรบรรจง” ใน “บทอัศจรรย์เชิงสังวาส” แต่เพียงอย่างเดียว หากอยู่ที่การสร้างสรรค์ลักษณะนิสัยของ “ตัวละคร” ทุกตัวอย่างมีจิตวิญญาณและเลือดเนื้อ เป็นมนุษย์ปุถุชนในโลกของความเป็นจริง ทุกตัวละครล้วนมี “มิติ” ของความเป็น “คน” ที่พบเห็นได้สัมผัสได้ในทุกยุคทุกสมัย มีทั้งด้านดีและเลวคละเคล้ากันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับอิทธิพลทาง “กรรมพันธุ์” และ “สภาพแวดล้อม” อันป็น “เบ้าหลอม” ทำให้มนุษย์ก่อพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นไปใน “ด้านบวก” หรือ “ด้านลบ”

 

ตัวละครอย่าง “จัน ดารา” จึงเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่ตกเป็นทาสของชะตากรรมที่น่าสังเวช อันมีเหตุมาจาก “กรรมพันธุ์” และ “สภาพแวดล้อม” อันโหดร้ายทารุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

“ที่เราเลือกทำ ‘จัน ดารา’ ในตอนนี้ก็เพราะรู้สึกว่า โดยเนื้อหาสาระจากหนังสือที่ ‘อุษณา เพลิงธรรม’ (ประมูล อุณหธูป) เขียน ถึงแม้ว่าจะเขียนมานานเกือบ 50 ปีที่แล้ว แต่เนื้อหาสาระก็ยังทันสมัยมาก ยังสะท้อนให้เห็นถึงธาตุแท้ของมนุษย์ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ และเหมือนเป็นกระจกที่จะสะท้อนให้เห็นกิเลสในใจของคน มันไม่ใช่แค่ตัณหาราคะอย่างเดียว แต่คนที่ยึดมั่นกับความเคียดแค้นมันจะก่อให้เกิดปัญหาและหายนะยังไงกับตัวเองและคนรอบข้างจนนำไปสู่ปัญหาสังคมในระดับรวมด้วย”

 

“จัน ดารา” เวอร์ชันดัดแปลงโดยผู้กำกับมือเอก “หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” นี้ สะท้อนภาพความวิปริตของมนุษย์แต่ละคน เพื่อชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของ “สิ่งแวดล้อมใกล้ตัว โดยเฉพาะพ่อแม่ ความหิวโหยความรัก ความทารุณเหี้ยมเกรียม ตัวอย่างโสมม” ที่ประทับหูประทับตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันเป็นเบ้าหลอมที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

 

คนที่จะปีนขึ้นจากเบ้าหลอมเช่นนั้นได้ จะต้องอาศัย “ความแกร่ง” ชนิดพิเศษ และ “กรรมดี” ช่วยสนับสนุนประกอบกัน

 

แต่เผอิญ “จัน ดารา” ไม่ได้เป็นคนเช่นนั้น เขาจึงตกเป็นเหยื่อของสิ่งแวดล้อมนั้นอย่างน่าสมเพช

 

Jan-Dara-Finale-Poster02

 

บทสรุปมหากาพย์แห่งโศกนาฏกรรม “จันดารา ปัจฉิมบท”

 

บทสรุปแห่งการล้างแค้นอันสืบเนื่องมาจากอดีตอันแสนรันทดของ “จัน ดารา” ผู้ถูก “คุณหลวงวิสนันท์เดชา” ผู้ที่เขาคิดว่าเป็นบิดาบังเกิดเกล้าทารุณกรรมมานานนับ 17 ปี ส่งผลให้เกิดการชิงอำนาจใน “บ้านพิจิตรวานิช” กลับคืนมาครอบครอง โดยใช้ตัณหาราคะและโทสะจริตเป็น “อาวุธ” ในการก่อกรรมทำเข็ญโดยปราศจากศีลธรรมจรรยาอันเป็นต้นเหตุโศกนาฏกรรมแก่ทุกชีวิตในครอบครัวอันมั่งคั่งแห่งนั้น

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จัน ดารา” ซึ่งต้องมีชีวิตอยู่เพื่อเผชิญชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยวไร้ผู้คนรอบข้างจนวาระสุดท้ายของชีวิต

 

 

กฎแห่งกรรม วัฏจักรแห่งชีวิต

 

ทุก “การกระทำ” ของทุกตัวละครเอกใน “จันดารา ปฐมบท” ล้วนได้รับ “ผลกรรม” ที่ตนได้ก่อขึ้นมาแต่อดีตด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “กุศลกรรม” หรือ “อกุศลกรรม”

 

ฉะนั้น ใน “จันดารา ปัจฉิมบท” จึงเปรียบเสมือนกระจกส่องผลแห่งการกระทำของมนุษย์ที่เวียนว่ายอยู่ในวังวนแห่งตัณหาราคะอันเป็น “วัฏจักรแห่งชีวิต” ซึ่งไม่อาจมีผู้ใดจะหลีกหนีพ้นไปได้ อันเป็นพระสัจธรรมในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ถูกมองข้ามไปของมนุษย์ในยุคแห่งโลกาภิวัตน์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้

 

 

เหตุใด “จัน ดารา” ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมเช่นนี้

 

มนุษย์เราทุกคนล้วนแล้วแต่เกิดมาด้วยดวงจิตอันสะอาดบริสุทธิ์ แต่ “สภาพแวดล้อม” และ “บุคคลผู้ใกล้ชิด” ต่างหากที่เป็นผู้แต่งเติมสีสันให้เป็นไปในทิศทางที่แตกต่างกันไปเปรียบได้กับผ้าใบของจิตรกร หากได้รับการแต่งแต้มสีสันจากจิตรกรที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ภาพนั้นก็จะงามวิจิตร

 

แต่ชีวิตของ “จัน ดารา” มิได้เป็นเช่นนั้น

 

เขาถือกำเนิดขึ้นมาท่ามกลางสงครามแห่งความแค้นและการแย่งชิงอำนาจเพื่อความเป็นใหญ่ในครอบครัว ตลอดจนบรรยากาศแห่ง “กามราคะ” ที่คละคลุ้งอยู่ในทุกอณูของคฤหาสน์ และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การตั้งข้อกังขาว่า บิดาที่แท้จริงของเขาคือใคร เขาเกิดมามีชิวิตอยู่บนโลกนี้จากผู้ใดและมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

 

เมื่อเขาเดินทางไปเมืองพิจิตรเพื่อลี้ภัยจาก “คุณหลวงวิสนันท์เดชา” ผู้จ้องจะเอาชีวิตของเขา และเผชิญกับ “ความจริง” อันน่ารันทดใจเกี่ยวกับชาติกำเนิดที่แท้จริงของเขา มันจึงเป็นเสมือนเปลวเพลิงที่จุดประกายความแค้นอันเผาผลาญคุณงามความดีทั้งปวงในจิตใจอันเปราะบางของเขา

 

“จัน ดารา” จึงกลับกลายเป็น “ผู้ล้างแค้น” อันโหดเหี้ยมยิ่งไปกว่า “คุณหลวงวิสนันท์เดชา” อย่างถึงที่สุด

 

Jan-Dara-Finale-Poster03

 

เกร็ดภาพยนตร์: 

 

1) ภาพยนตร์เรื่อง “จันดารา ปฐมบท” (2555) และ “จันดารา ปัจฉิมบท” (2556) ดัดแปลงจากนวนิยายสุดคลาสสิก “เรื่องของจัน ดารา” ของนักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม” (ประมูล อุณหธูป) (2463-2530) ตีพิมพ์ เป็นตอนๆ ครั้งแรกใน “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” (2507-2509) 

 

2) ต่อมาได้พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกโดย “สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น” (2509) และหลังจากนั้นตลอดเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาก็ถูกพิมพ์รวมเล่มเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นครั้งที่ 13 โดย “สำนักพิมพ์มติชน” (เม.ย. 2555) 

 

3) สู่การเขียนบทและตีความใหม่สุดเข้มข้นโดยผู้กำกับฯ ฝีมือละเมียด “หม่อมน้อย – ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” เป็นผลงานลำดับที่ 11 ถัดจากภาพยนตร์ขึ้นหิ้งอย่าง “เพลิงพิศวาส” (2527), “ช่างมันฉันไม่แคร์” (2529), “ฉันผู้ชายนะยะ” (2530), “นางนวล” (2530), “เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย” (2532), “ความรักไม่มีชื่อ” (2533), “มหัศจรรย์แห่งรัก” (2538), “อันดากับฟ้าใส” (2540), “ชั่วฟ้าดินสลาย” (2553), “อุโมงค์ผาเมือง” (2554) 

 

4) “จันดารา” เวอร์ชันหม่อมน้อยใน พ.ศ. นี้ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งที่ 3 ถัดจาก 2 ครั้งแรก คือ

  • ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2520) สร้างโดย เทพกรภาพยนตร์ / อำนวยการสร้างโดย กิติมา เศรษฐภักดี / กำกับโดย รัตน์ เศรษฐภักดี / เขียนบทโดย ส. อาสนจินดา / กำกับภาพโดย อดุลย์ เศรษฐภักดี / นำแสดงโดย สมบูรณ์ สุขีนัย (จัน), อรัญญา นามวงศ์ (บุญเลื่อง), ศิริขวัญ นันทศิริ (แก้ว), ภิญโญ ปานนุ้ย (เคน) เข้าฉายเมื่อ 11 มี.ค. 2520 ที่โรงเพชรรามา และโรงเพชรเอ็มไพร์
  • ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2544) สร้างโดย ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ / กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร / เขียนบทโดย ศิรภัค เผ่าบุญเกิด, นนทรีย์ นิมิบุตร / นำแสดงโดย สันติสุข พรหมศิริ (คุณหลวง), สุวินิต ปัญจมะวัต-เอกรัตน์ สารสุข (จัน), วิภาวี เจริญปุระ (น้าวาด), คริสตี้ ชุง (บุญเลื่อง), ภัทรวรินทร์ ทิมกุล (แก้ว), เคน (ครรชิต ถ้ำทอง) เข้าฉายเมื่อ 28 ก.ย. 2544

 

5) “จันดารา” เวอร์ชันหม่อมน้อยจะถูกสร้างเป็นสองภาค คือ “จันดารา ปฐมบท” (6 ก.ย. 54) และ “จันดารา ปัจฉิมบท” (7 ก.พ. 56) เพื่อความสมบูรณ์แบบของเนื้อหาและสาระบันเทิงอย่างเต็มอิ่ม

 

6) พลิกบทบาทประชันฝีมือด้วยทีมนักแสดงแถวหน้าของเมืองไทยไม่ว่าจะเป็น “มาริโอ้ เมาเร่อ (จัน ดารา), ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต (เคน กระทิงทอง), ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ (หลวงวิสนันท์เดชา), บงกช คงมาลัย (น้าวาด), รฐา โพธิ์งาม (คุณบุญเลื่อง), โช นิชิโนะ (คุณแก้ว), สาวิกา ไชยเดช (ดารา / ไฮซินธ์), รัดเกล้า อามระดิษ (คุณท้าวพิจิตรรักษา), ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ขจร), เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ (ร้อยตำรวจเอกเรืองยศ)” ร่วมด้วยนักแสดงสมทบและรับเชิญอีกมากมายที่จะมาเพิ่มสีสันให้กับภาพยนตร์โดยเฉพาะ

 

7) “จันดารา” ทั้งสองภาคนี้เซตฉากถ่ายทำอย่างงดงามในทุกๆ โลเคชั่นไม่ว่าจะเป็น “บ้านสังคหวังตาล บ้านโป่ง จ.ราชบุรี / หอวัฒนธรรมไทยวน (ไท-ยวน) อำเภอเสาไห้ สระบุรี / โฮมพุเตย, น้ำตกเจ็ดสาวน้อย จ.กาญจนบุรี / ลานพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5, ถนนราชดำเนิน หน้าวังปารุสกวัน, สถานีดับเพลิงบางรัก, ตึกพัสดุการรถไฟ, หัวลำโพง กรุงเทพมหานคร” 

 

8) รวมพลคนเบื้องหลังมืออาชีพทุกๆ ด้านที่จะมาสร้างสรรค์ให้ “จันดารา” เวอร์ชั่นนี้ตระการตาเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบงานสร้างสุดวิจิตรในทุกฉากโดย “พัฒน์ฑริก มีสายญาติ” (อุโมงค์ผาเมือง), การกำกับภาพสุดงดงามในทุกเฟรมภาพของ “พนม พรมชาติ” (ชั่วฟ้าดินสลาย, อุโมงค์ผาเมือง ฯลฯ), งานออกแบบเครื่องแต่งกายสุดประณีตของ “อธิษฐ์ ฐิรกิตสัฒน์” (ซีอุย, ต้มยำกุ้ง, Me, Myself ขอให้รักจงเจริญ), การเมกอัปสุดบรรจงในทุกคาแร็กเตอร์โดย “มนตรี วัดละเอียด” (สุริโยไท, โหมโรง, ชั่วฟ้าดินสลาย, อุโมงค์ผาเมือง ฯลฯ) และดนตรีประกอบสุดตรึงใจโดย “ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์” (นางนาก, จัน ดารา-2544, โอเคเบตง, โหมโรง, เดอะ เลตเตอร์ จดหมายรัก, ก้านกล้วย, ปืนใหญ่จอมสลัด, อุโมงค์ผาเมือง, คน-โลก-จิต ฯลฯ)

 

9) “เพลงเมื่อไหร่จะให้พบ” ประพันธ์คำร้องโดย “แก้ว อัจริยะกุล” / ทำนองโดย “หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์” / ต้นฉบับขับร้องโดย “มัณฑนา โมรากุล” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2552 โดยภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2555 นี้ จะขับร้องโดย “รฐา โพธิ์งาม” และ “ศักราช ฤกษ์ธำรงค์” สองนักแสดงใน “จันดารา ปฐมบท” อย่างแสนไพเราะ

 

10) “จันดารา ปฐมบท” เดินสายฉายทั่วเอเชียไปแล้วที่ “สิงคโปร์” (11 ต.ค.), “ฮ่องกง” (29 พ.ย.), “ไต้หวัน” (30 พ.ย.), และอีกหลายประเทศที่ซื้อไปฉายแล้วอย่าง “เกาหลีใต้” และ “ฟิลิปปินส์” 

 

11)DVD จันดารา ปฐมบท” จะออกมาให้ผู้ชมได้หวนระลึกความทรงจำและซึมซับทุกความรู้สึกกันอีกครั้งในวันที่ 13 ธ.ค. นี้ ก่อนที่จะไปพบกับบทสรุปของภาพยนตร์อย่างสมบูรณ์แบบทุกอารมณ์ใน “จันดารา ปัจฉิมบท” พร้อมฉาย 7 ก.พ. 56 

 

12) นอกจากเรื่องราวเข้มข้นน่าติดตามและการเชือดเฉือนบทบาทของทีมนักแสดงอย่างสุดประทับใจแล้ว ใน “จันดารา ปัจฉิมบท” ยังคงสร้างสรรค์หลากหลายฉากใหญ่อย่างตระการตาพร้อมด้วยเครื่องแต่งกายและการเมกอัปจัดเต็มอย่างสมบูรณ์แบบไม่ว่าจะเป็น “ฉากสงครามโลกครั้งที่ 2, ฉากภายในบ้านวิสนันท์และพิจิตรวานิช, ฉากสำนักโคมเขียวโคมแดง, ฉากกระท่อมกลางป่าลึก, ฉากโรงงานพิจิตรวานิช, ฉากงานแต่งงาน” รวมถึง “ฉากอีโรติกสุดงดงาม” ที่หลายคนจับตามอง

 

Maebia-Still02

 

คลังภาพยนตร์หม่อมน้อย (2527-2554)

 

  • “เพลิงพิศวาส” (2527) ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย)
  • “ช่างมันฉันไม่แคร์” (Dame it! Who care2529) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม / ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม / ได้รับการคัดเลือกไปฉายโชว์ในงาน London Films Festival และ Berlin Films Festival
  • “ฉันผู้ชายนะยะ” (Boy in the Band2530) – ได้ฉายใน Gay Film Festival ที่ Los Angeles สหรัฐอเมริกา ปี 2532
  • “นางนวล” (The Seagull2530) – ได้รับรางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมแห่งเอเชียในปี 2531 ใน Asian Films Festival ที่ Taiwan และยังเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย
  • “เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย” (2532)
  • “ความรักไม่มีชื่อ” (2533)
  • “มหัศจรรย์แห่งรัก” (2538) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดารานำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย), ดาราประกอบฝ่ายชายยอดเยี่ยม (วิลลี่ แมคอินทอช), ดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (วราพรรณ หงุ่ยตระกูล), กำกับฝ่ายศิลป์ยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
  • อันดากับฟ้าใส (2540) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย), ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
  • “ชั่วฟ้าดินสลาย” (2553) – ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม(อนันดา เอเวอริงแฮม), ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 20 / ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับ, บทภาพยนตร์, นักแสดงนำชาย, นักแสดงนำหญิง รางวัลคมชัดลึกอวอร์ดครั้งที่ 8 / ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม, ผู้แสดงนำหญิง, ยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 19
  • “อุโมงค์ผาเมือง” (2554) – เทคนิคการสร้างภาพพิเศษ, ออกแบบเครื่องแต่งกาย รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 21 / ผู้แสดงสมทบหญิง (รัดเกล้า อามระดิษ), กำกับศิลป์ รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 20

 


นักแสดง

มาริโอ้ เมาเร่อ
ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต
ศักราช ฤกษ์ธำรงค์
บงกช คงมาลัย
สาวิกา ไชยเดช
รฐา โพธิ์งาม
โช นิชิโนะ
ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
รัดเกล้า อามระดิษ
เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์

ผู้กำกับ

ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล

รางวัล

รางวัล “สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 23” (ประจำปี 2556) – ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์)


โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ


ภาพยนตร์ที่คุณอาจสนใจ