มหา’ลัยสยองขวัญ (Haunted Universities)
เรื่องย่อ
สถาบันที่คุณเคยเรียน มีเรื่องเล่าชวนขนหัวลุกหรือไม่
หลายสถานที่…มีตำนานให้กล่าวขวัญ
หลายคณะ…มีความเชื่อที่วิทยาศาสตร์ยังคงพิสูจน์ไม่ได้
ในความเงียบสนิท…หากเงี่ยหูฟัง
อาจได้ยินเสียงกรีดร้องโหยหวนแอบซ่อนอยู่
ในความมืดมิด…หากจ้องมองให้ดี
อาจมองเห็นสายตาของบางสิ่งจับจ้องคุณอยู่
ทุกเรื่องที่เล่าขาน…เป็นแค่ “ตำนาน” หรือ “ความจริง” ที่เหนือการพิสูจน์
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ไม่แน่จริงอย่าท้า ไม่กล้าอย่าสัมผัส
ลงทะเบียนเตรียมรับความผวา
“มหา’ลัยสยองขวัญ”
22 ตุลาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
“หมวย” นักศึกษาสาวใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมในการฝึกงานโดยตัดสินใจเลือกที่จะเข้ามากรุงเทพฯ และทำงานกับมูลนิธิกู้ภัยกลับต้องเจอเรื่องผวาสั่นประสาทตั้งแต่คืนแรกในการปฏิบัติงาน เมื่อเธอได้รับแจ้งเหตุให้ไปในมหา’ลัยแห่งหนึ่ง เมื่อหนุ่มสาวสุดซ่าส์อยากลองดีกับศาลในตำนานที่ไม่มีใครกล้าหือ จนเกิดเรื่องราวไม่คาดฝัน เพราะนั่นคือศาลในห้องน้ำหญิงที่ได้รับการดูแลอย่างดีแต่ไม่มีใครย่างกรายเข้าใกล้ เพราะในห้องน้ำมีศาลตั้งอยู่ บางคนว่าเป็นศาลนางไม้ บางคนว่าเป็นศาลของนักศึกษาหญิงที่ผูกคอตาย…
ในคืนนั้นเองหมวยยังมีโอกาสช่วย “นกน้อย” นักศึกษาหญิงคนหนึ่งที่ถูกรุ่นพี่เหม็นขี้หน้าข้อหาไม่ยอมทำตามคำสั่ง เลยถูกกลั่นแกล้งให้ไปติดอยู่ในลิฟต์สุดเฮี้ยนเพียงลำพัง ลิฟต์ที่มีนักศึกษาถูกยิงกราดแล้วไม่สามารถล้างคราบเลือดสีแดงออกได้ จึงต้องทาสีทั้งลิฟต์เป็นสีแดงทั้งหมด มักมีคนได้ยินเสียงเคาะจากในลิฟต์ แต่เมื่อลิฟต์เปิดกลับไม่พบใครอยู่ บางครั้งเมื่อเข้าลิฟต์คนเดียวไม่นานก็พบว่ามีคนมากมายมายืนเป็นเพื่อนด้วย…
เพียงวันถัดไปเหตุการณ์ประหลาดก็เกิดขึ้นอีกเมื่อทีมกู้ภัยของหมวยจำเป็นต้องส่งศพหญิงสาวนิรนามที่ถูกฆ่าตายแล้วถูกโยนศพลงน้ำไปที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด นักศึกษาแพทย์ที่ฝันอยากจะเป็นทันตแพทย์มือหนึ่งที่กลัวผีจนขึ้นสมองถูกอาจารย์มอบหมายให้มาเฝ้าห้องดับจิต และคืนนั้นเขาจะต้องเฝ้าศพหญิงสาวนิรนามที่ถูกฆ่าตายอย่างทารุณเพียงคนเดียว…
เรื่องราวสุดผวายังคงวนเวียนอยู่กับหมวย แต่คราวนี้มันกลับพุ่งเป้ามาที่คนใกล้ตัวของเธอ นั่นคือ “สา” ซึ่งอยู่ในหอพักที่มีเรื่องเล่าสุดสยอง ทำให้หมวยได้พบกับความจริงบางอย่างที่เกิดขึ้น ความจริง…ที่เธอมิอาจลืม
บันทึกผู้กำกับ (Director’s Note)
นึกถึงวัยเด็กสมัยที่ยังเรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย มีหลายสิ่งที่จดจำได้และไม่ได้ผสมปะปนกันไป ทั้งความสนุก ความเศร้า เรียนดี สอบตก อกหัก รักคุด เรียกได้ว่ามีทุกอารมณ์ เวลาผ่านไปสิ่งเหล่านี้ถูกฉาบด้วยอะไรบางๆ ทำเอาความทรงจำเราเล่นแง่ จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมนึกถึง ไม่ใช่ภาพแต่เป็นความรู้สึก เป็นจินตนาการที่ตื่นเต้น น่ากลัว แต่ก็น่าหลงใหลเมื่อพูดถึง เช่น ห้องน้ำทุกโรงเรียนต้องมีมุมที่น่ากลัว ต้องมีเรื่องเล่าว่ามีเด็กตาย มีเด็กโดนขังในนั้น มีครูตายที่ห้องนี้ มีรุ่นพี่ผู้หญิงผูกคอตาย มีคนถูกข่มขืนแล้วซ่อนศพไว้ใต้บันได สิ่งเหล่านี้ผูกพันติดอยู่กับเรามาตลอดโดยเล่าได้ไม่รู้จบ เรื่องราวเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น ทุกคนเติบโต มีหน้าที่การงาน หลายคนมีครอบครัว มีลูกมีหลาน เวลาผ่านไปนานจนเรามองเห็นว่ามันเป็นเพียงนิทานหลอกเด็ก
หรือเรื่องเล่าของรุ่นพี่ที่พยายามหลอกให้รุ่นน้องกลัว แต่ความจริงแล้วเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่นั่งเก้าอี้ที่เราเคยนั่ง เคยวิ่งเล่นตรงจุดที่เราเคยวิ่ง เคยนั่งคุยเรื่องลี้ลับหลังเลิกเรียนช่วงที่แดดใกล้จะลับตา ทุกวันนี้ก็ยังคงมีอยู่ ผมเรียกเรื่องเล่าเหล่านี้ว่า “ตำนาน” คือมันมีรสชาติความจริงผสมเข้าไปทำให้หนักแน่นมากกว่าแค่เรื่องเล่าธรรมดา แต่เรื่องที่จะกลายเป็นตำนานคงไม่ใช่ทุกเรื่องเล่าจะเป็นกันได้ คือมันต้องถึงจริงๆ ถึงในที่นี้หมายถึงเรื่องที่น่ากลัวอย่างเหลือเชื่อ แต่ฟังดูแล้วก็ไม่กล้าฟันธงว่าเป็นเรื่องที่กุขึ้นมา ต้องมีมูลเหตุ มีหลักฐานบางอย่าง และแน่นอนว่ามันต้องผ่านกาลเวลามานานพอสมควร หรือจะเรียกว่าบ่มจนได้ที่ก็คงไม่ผิดนัก
โปรเจกต์ “มหา’ลัยสยองขวัญ” ที่ “พี่ปรัช” (ปรัชญา ปิ่นแก้ว) ให้ไอเดียมาทำ ทำให้เราได้ย้อนกลับไปเอาความรู้สึกเก่าๆ ความมีเสน่ห์ในตำนานแต่ละเรื่อง หลายต่อหลายเรื่องหลายต่อหลายสถาบันถูกยกขึ้นมา เอาเฉพาะที่เป็นตำนานระดับคลาสสิกก็นับว่ามีอยู่นับไม่ถ้วน แต่สุดท้ายก็มาจบที่ 4 เรื่องหลักที่ตกลงใจเอามาทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง “มหา’ลัยสยองขวัญ” ตำนานสยองเหล่านี้ไม่ได้อิงแค่เรื่องราว แต่มันยังอิงถึงสถานที่ที่มีอยู่จริง คือนอกจากเรื่องราวที่เราเอาโครงสร้างมาจากตำนานสยองขวัญในวัยเรียนแล้ว อีกจุดหนึ่งที่ถือว่าไม่ให้ความสำคัญไม่ได้ นั่นก็คือสถานที่ที่จะถ่ายทำ ซึ่งแน่นอนด้วยเหตุผลบางประการ เราไม่สามารถเข้าไปถ่ายทำที่จริงได้ เราต้องเซตมันขึ้นมาจากสถานที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกัน ซึ่งโลเคชันที่ได้มาแต่ละที่มีอายุไม่ได้น้อยเลย เช่น โรงพยาบาลร้างย่านพระรามหก อายุอานามปาเข้าไปห้าสิบหกสิบปี หลายต่อหลายคนรู้ถึงกิตติศัพท์ความเฮี้ยนกันดี หรือจะเป็นโรงเรียนร้างใกล้ๆ กับถนนสุโขทัยซึ่งความเก่าไม่ได้น้อยหน้ากันเลย แถมบางคืนคนที่พักอาศัยละแวกโรงเรียนแห่งนี้ก็มักจะได้ยินเสียงเด็กเล็กร้องออกมาจากห้องเรียนที่ถูกปิดตายอีกด้วย รวมถึงสถานที่ราชการที่ปัจจุบันถูกปิดตายซึ่งเป็นตึกเก่าแก่ที่เหลืออยู่ไม่มากนักในกรุงเทพฯ และแน่นอนบรรยากาศแต่ละที่มันเอื้อให้ถ่ายหนังผีเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่แต่ละแห่งที่เราเข้าไปถ่ายทำล้วนไม่มีไฟฟ้าใช้ทั้งสิ้น ราวตีสองกว่าของคิวถ่ายทำเซตห้องดับจิตที่โรงพยาบาลร้าง ทีมงานร่อยหรอลงจากช่วงกลางวันอย่างเห็นได้ชัด ช่วงที่ทีมงานเซตและวางมุมกล้องสำหรับช็อตต่อไปกำลังดำเนินอยู่ ในหัวที่เริ่มว่าง (จากการรอ) เริ่มคิดว่าบรรยากาศที่นี่ตอนนี้หลอนมาก ยังดีที่รอบๆ มอนิเตอร์ยังรายล้อมไปด้วยทีมงาน ผมโล่งใจ แต่ไม่นานผมก็รู้สึกว่าปวดฉี่! ทางเดียวที่สะดวกคือเดินขึ้นไปอีกสามชั้นและจะถึงดาดฟ้าโล่งของโรงพยาบาล เม็ดเหงื่อผุดขึ้นมาเล็กน้อย ก่อนจะเก็บอาการและพูดลอยๆ ว่า ใครปวดฉี่บ้าง โชคดีที่ “จักร” (สุทธิพร ทับทิม – ผู้กำกับร่วม) ก็ปวดอยู่เหมือนกัน บางทีมันอาจจะกำลังคิดเหมือนผมอยู่
ปกติเราสองคนไม่ได้กลัวในสิ่งที่เรียกว่า “ผี” เพราะ 1) ไม่เคยเจอ 2) เรื่องที่รับรู้มาจากคนอื่นส่วนใหญ่ไม่น่าเชื่อถือ 3) ทฤษฎีของผีบางข้อรับไม่ได้ เช่น ผีสัมผัสได้ ผีสามารถเปิดประตู บีบคอ ลากคนได้ หมายความว่าผีก็สามารถฝ่าระบบป้องกันระดับสุดยอดเข้าไปกดปุ่มระเบิดปรมาณูได้ อะไรประมาณนั้น แต่ช่างมันเถอะ ผมไม่ได้อยากเจอ ไม่ได้อยากท้าทาย ประมาณว่าไม่เชื่อแต่ก็ไม่กล้าลบหลู่ สองคนย่อมอุ่นใจกว่าคนเดียว พวกเราเดินขึ้นบันไดที่มืดและเงียบผิดปกติไปยังดาดฟ้า รีบจัดการธุระให้เสร็จให้เร็วเท่าที่จะเร็วได้ แล้วก็เดินลงบันไดไป ยิ่งใกล้ถึงแสงสว่างเมื่อไหร่ ฝีเท้าก็รีบเร่งขึ้นเหมือนอยากให้มันถึงไวๆ วนบันไดลงไปอีกสองรอบก็จะถึงชั้นสามที่เป็นเซตถ่ายทำแล้ว แต่แล้ว…ในมุมมืดที่ผมเพิ่งผ่านมาซึ่งก็ไม่ได้สนใจว่ามันจะมีอะไร เพราะใจกำลังจดจ่ออยู่กับแสงสว่างที่กำลังจะเจอ เบื้องล่างร่างใครคนหนึ่งในชุดนักศึกษาก็พุ่งเข้าหาผมพร้อมกับกรีดร้องดังลั่น และบีบที่ไหล่ผมอย่างแรง ผมร้องลั่น จักรร้องตามในขณะที่ผีนักศึกษาตนนั้นก็ยังคงร้องอยู่ ไม่นานเสียงร้องเริ่มเปลี่ยนเป็นเสียงหัวเราะ สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นผีกลับกลายเป็นนักแสดงหลักในเรื่องศพหายในห้องดับจิต เจ้า “อิคคิว” (ปองสิชฌ์ พิศิษฐการ) นั่นเอง เขาตั้งใจที่จะแกล้งพวกผม ซึ่งก็ทำสำเร็จซะด้วย ผมตกใจมากแต่ไม่นานก็เริ่มหัวเราะตามไปด้วย มันเป็นอารมณ์ที่หักมุมมาก
ถึงแม้เนื้อเรื่องและบรรยากาศจะพาให้สยองขวัญอยู่ตลอด แต่สุดท้ายการถ่ายทำก็สำเร็จบรรลุตามเป้าที่วางไว้ ท้ายนี้คงฝากถึงวัยรุ่นและคนที่เป็นอดีตวัยรุ่น “มหา’ลัยสยองขวัญ” อาจจะไม่ได้นำเสนอเรื่องราวที่เหมือนกับเรื่องที่เล่ากันมาอย่างทุกกระเบียดนิ้ว เพราะเราได้เพิ่มสีสัน เนื้อหา และแง่มุมใหม่ๆ เข้าไป ปรับให้เป็นงานของเราอย่างชัดเจนขึ้น ลองเข้าไปสัมผัสรสชาติใหม่ของตำนานสยองเวอร์ชัน “มหา’ลัยสยองขวัญ” ได้เลยครับ 22 ต.ค.นี้
Haunted Universities ชลัฏ ณ สงขลา ธีรพล ปัญญายุทธการ บัณฑิต ทองดี บาแรมยู ปริญญา งามวงศ์วาน ป๊อกๆ ครืด ปองสิชฌ์ พิศิษฐการ ปานวาด เหมมณี ภัณฑิลา ฟูกลิ่น ภูธฤทธิ์ ยิ่งนานสุข มหา'ลัยสยองขวัญ มารุต ชื่นชมบูรณ์ ลิฟต์แดง ศาลห้องน้ำหญิง ห้องดับจิต อธิศ อมรเวช อาชิรญาณ์ ภีระภัทรกุญช์ชญา แอนนา รีส