ความสุขของกะทิ (Happiness of Kati)

วันเข้าฉาย: 08/01/2009 ดราม่า 01 ชั่วโมง 41 นาที

เรื่องย่อ

จาก “วรรณกรรมซีไรต์” ที่กุมหัวใจผู้อ่านทั่วประเทศ ลัดฟ้าสู่ระดับโลกด้วยความประทับใจ

พร้อมแล้วที่จะมาเติมเต็มและแบ่งปันความสุข ในรูปแบบภาพยนตร์ที่ใครๆ ต่างเฝ้ารอ

จากปลายปากกาเขียนบทภาพยนตร์ครั้งแรกของ “งามพรรณ เวชชาชีวะ” เจ้าของบทประพันธ์รางวัลซีไรต์

ครั้งแรกที่คุณจะได้รู้จัก “หนูน้อยกะทิ”

โดยกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์น้องใหม่ “ภาพยนตร์ชูใจ”

พร้อมทีมนักแสดงและทีมงานเบื้องหลังระดับ “หัวกะทิ”

ที่จะเนรมิตจินตนาการจากตัวหนังสือสู่แผ่นฟิล์มอย่างละเมียดอารมณ์

ในภาพยนตร์อิ่มอุ่นใจเรื่อง “ความสุขของกะทิ”

เติมเต็มความสุขทุกหัวใจ 8 มกราคม 52

 

 

วันไหน ๆ หัวใจก็มีความสุข

 

“ไม่เคยมีใครพูดถึงแม่”

 

“กะทิ” (น้องพลอย-ภัสสร คงมีสุข) เด็กหญิงวัย 9 ขวบ ที่ต้องผ่านประสบการณ์การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เมื่อ “แม่” (รัชนก แสง-ชูโต) ต้องจากไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคร้ายที่มิอาจรักษา กะทิต้องผ่านขั้นตอนความสุขและทุกข์ ความผูกพันและการพลัดพราก ความสมหวังและความสูญเสียที่มากเกินกว่าที่เด็กวัยเดียวกันนี้จะรับไหว

 

“น้ำตาไม่อาจแทนความโศกเศร้าได้”

กะทิได้เรียนรู้และตัดสินใจด้วยตัวเองผ่านสิ่งละอันพันละน้อยใน “ลิ้นชักแห่งความทรงจำ” ที่แม่เตรียมไว้ให้ก่อนสิ้นลมหายใจว่าความทุกข์จากการสูญเสียนั้นมิอาจพรากความสุขจากความรักและความผูกพันของแม่ที่มีต่อเธอได้

 

“อดีตเหมือนเงา บางครั้งทอดนำทางอนาคต”

เด็กน้อยเติบโตขึ้นจากประสบการณ์นี้ด้วยความเชื่อมั่นและกำลังใจในการดำรงชีวิตจากบุคคลใกล้ชิด…ผู้ที่เธอรักและรักเธอ ไม่ว่าจะเป็น “ตา” (สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์) และ “ยาย” (จารุวรรณ ปัญโญภาส) ผู้ที่รักหลานกะทิดุจชีวิต, “น้าฎา” (เข็มอัปสร สิริสุขะ), “น้ากันต์” (กฤษฎา สุโกศล แคลปป์), “ลุงตอง” (ไมเคิล เชาวนาศัย) และ “พี่ทอง” (นิธิศ โค้วสกุล) ที่ต่างเข้ามาสร้างสีสัน แบ่งปันความสุข และเติมเต็มชีวิตให้หนูน้อยกะทิรู้สึกว่า เธอไม่ได้ขาดอะไร และสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้เฉกเช่นเด็กๆ ในวัยเดียวกัน

 

ใครจะรู้ว่า แท้จริงแล้วในความโศกเศร้านี้ ก็มี…

 

“ความสุขจริงแท้อันยิ่งใหญ่” ที่ได้เบ่งบานในหัวใจของ “เด็กหญิงกะทิ” อยู่เช่นกัน

 

“ความสุขของคนรอบข้าง คือความสุขของเราด้วย…ความสุขแบ่งปันกันได้ วันไหนๆ ก็มีความสุข”

 

Happiness-Kati-Poster01

 

ชูฟิล์ม…ชูใจ

 

“ภาพยนตร์ชูใจ” คือกลุ่มเพื่อนพ้องน้องพี่ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม คลุกคลี และคร่ำหวอดในแขนงงานต่างๆ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่ล้วนแล้วแต่ต่างผ่านโมงยามในการเรียนรู้ หลงใหล ประทับใจในเสน่ห์ของภาพยนตร์ในฐานะคนรักหนังมาแรมปี โดยหวังไว้สักวันหนึ่งว่าจะได้มีโอกาสถ่ายทอดความคิด ผลักดันไอเดียที่แล่นผ่านเข้ามาในชีวิต ออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์ที่มุ่งสื่อสารกับผู้คนกลุ่มใหญ่

 

และในวันนี้ “ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก” ในนามของ “ภาพยนตร์ชูใจ” กำลังจะถือกำเนิดขึ้น เมื่อได้รับเกียรติจากนวนิยายเรื่อง “ความสุขของกะทิ” วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัลซีไรต์ปี 2549 มาสร้างเป็นผลงานภาพยนตร์เปิดตัวเรื่องแรก เนื่องจากเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาดีตรงตามแนวทางของกลุ่มที่เน้นการสร้างภาพยนตร์ที่ช่วยเชิดชูยกระดับจิตใจและสร้างสรรค์สังคม

 

โดย “ความสุขของกะทิ” เป็นหนังสือที่มีการขมวดปมทางอารมณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม สร้างความประทับใจ อิ่มอุ่นอบอวลให้กับแฟนหนังสือได้อย่างลงตัวที่สุด

 

นอกจากนี้ ทาง “ภาพยนตร์ชูใจ” ยังได้รับเกียรติอย่างสูงจาก “งามพรรณ เวชชาชีวะ” ในการถ่ายทอดเรื่องราวของ “เด็กหญิงกะทิ” ผ่านบทภาพยนตร์ร่วมกับผู้กำกับ “เจนไวย์ ทองดีนอก” เป็นครั้งแรกด้วย

 

รวมถึงยังมี 2 สาวเก่งผู้คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ไทยอย่าง “โอ๋-จาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ” (ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัทสหมงคลฟิล์มฯ) และ “นิหน่า-สุฐิตา เรืองรองหิรัญญา” (โปรดิวเซอร์เรื่อง “กั๊กกะกาวน์” และ “เขาชนไก่”) มารับหน้าที่เป็น “ผู้ควบคุมงานสร้าง” (Producer)

 

Happiness-Kati-Poster02

 

เกร็ดย่อยเพิ่มรสชาติ…ชิมก่อนชม “ความสุขของกะทิ”

(อ่านเพิ่มเติมในหนังสือ “บันทึกสู่แผ่นฟิล์ม…ความสุขของกะทิ”)

 

1) ภาพยนตร์ “ความสุขของกะทิ” สร้างจากสุดยอดวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ปี 2549 ในชื่อเดียวกันซึ่งเป็นงานเขียนเล่มแรกของ “งามพรรณ เวชชาชีวะ” (เป็นนักเขียนซีไรต์คนที่ 26 ของไทย)

 

2) ด้วยยอดจำหน่ายรวมกว่า 250,000 เล่ม หนังสือ “ความสุขของกะทิ” ได้รับการตีพิมพ์ “ครั้งแรก” เมื่อเดือน “พฤศจิกายน 2546” จนถึงล่าสุด “ครั้งที่ 58” เมื่อเดือน “ตุลาคม 2551” รวมถึงมี “ฉบับปกแข็ง” ออกมาในช่วงเวลาเดียวกันนี้ด้วย (แน่นอน เมื่อภาพยนตร์เข้าฉาย ยอดจำหน่ายหนังสือย่อมต้องพุ่งทะยานขึ้นไปอีก)

 

3) โด่งดังเป็นที่รู้จักในนานาชาติที่ได้รับอนุญาตลิขสิทธิ์แปลและจำหน่ายแล้ว 7 ภาษาใน 8 ประเทศ คือ “สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย (ภาษาอังกฤษ), ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, สเปน (ภาษาคาตาโลเนีย), เกาหลี, ลาว” และที่ประเทศ “จีน” และ “ไต้หวัน” (ภาษาจีน) เป็น 2 ประเทศล่าสุดที่เพิ่งได้ขายลิขสิทธิ์เพื่อแปลและพิมพ์จำหน่ายต่อไป

 

4) ภาคต่อของหนังสือ “ความสุขของกะทิ” มีชื่อว่า “ตามหาพระจันทร์” ซึ่งถูกหยิบจับรายละเอียดบางส่วนมาใช้เพื่อสร้างสีสันให้กับเรื่องราวและตัวละครในเวอร์ชันภาพยนตร์ด้วย

 

5) ภาพยนตร์อิ่มอุ่นหัวใจเรื่องนี้เป็นการสร้างสรรค์ผลงานเรื่องแรกของกลุ่ม “ภาพยนตร์ชูใจ” ซึ่งชื่อกลุ่มภาพยนตร์นี้มีต้นกำเนิดมาจากชื่อตัวละครมานะ, มานี, ปิติ, “ชูใจ” ในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยเมื่อครั้งอดีต เพราะหลักการของกลุ่มอยู่ที่การทำหนังอะไรก็ได้ที่ช่วยยกระดับจิตใจผู้ชม ดูแล้วชื่นชูจิตใจ

 

6) ภาพยนตร์ที่ดูได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งมีกำหนดฉายประเดิมส่งความสุขให้กับทุกหัวใจในศักราชใหม่ 8 ม.ค. 52 เรื่องนี้ เป็นการเขียนบทภาพยนตร์ครั้งแรกของเจ้าของบทประพันธ์ “งามพรรณ เวชชาชีวะ” ร่วมกับผู้กำกับภาพยนตร์ครั้งแรก “เจนไวยย์ ทองดีนอก” (มือรางวัลกำกับภาพยนตร์สั้น) โดยมีการพูดคุยถึงแนวทางการเขียนบทอยู่ 6 เดือน ก่อนจะลงมือเขียนและพัฒนาบทอย่างจริงจังเป็นเวลา 3 เดือน

 

7) ประเดิมบทนำในภาพยนตร์เป็นครั้งแรกของ “น้องพลอย-ภัสสร คงมีสุข” กับบท “กะทิ” เด็กหญิงหน้าใส ตาแป๋วแหวว ผมม้าเต่อ (นำเทรนด์) พร้อมด้วย “น้องไอซ์-นิธิศ โค้วสกุล” ในบท “พี่ทอง” พี่ชายที่แสนดีของกะทิ พร้อมเสริมทัพหน้าด้วยนักแสดงมืออาชีพชั้นนำของไทยอย่าง “สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์” (รับบท “ตา”), “จารุวรรณ ปัญโญภาส” (ยาย), “กฤษฎา สุโกศล แคลปป์” (น้ากันต์), “เข็มอัปสร สิริสุขะ” (น้าฎา), “ไมเคิล เชาวนาศัย” (ลุงตอง) และ “รัชนก แสง-ชูโต” (แม่) ซึ่งทุกคนจะทำให้คนดู “อิน” ไปกับบท “ซึ้ง” ไปกับหนัง…ได้อย่างไม่ยาก

 

8) ขำขำ…ใครจะไปคาดคิดว่า น้อย วงพรู” และ “ไมเคิล เชาวนาศัย” เคยแสดงเป็น “คู่รักสวีตหวาน” กันมาก่อน!!! ในภาพยนตร์ฮาสุดล้ำอย่าง “หัวใจทรนง” (The Adventure of Iron Pussy / 2547)

 

9) ทัพหลังอัดแน่นด้วยทีมงานคุณภาพแถวหน้าอย่าง งามพรรณ เวชชาชีวะ (ร่วมเขียนบท), ธนนท์ สัตตะรุจาวงษ์” (กำกับภาพ), “ม.ร.ว.ปัทมนัดดา ยุคล” (ลำดับภาพ), “เอกรัฐ หอมลออ” (ออกแบบงานสร้าง), “กรกนก สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” (ออกแบบเครื่องแต่งกาย) และ “นภ พรชำนิ” (ดนตรีประกอบ) รวมถึง “เชอร์รี่ เข็มอัปสร” ที่นอกจากจะมีบทแสดงแล้ว ก็ยังผันตัวเองมาเป็น “ผู้ช่วยผู้กำกับ” ในเรื่องนี้ได้อย่างสวยงาม ไม่บ่อยครั้งนักที่ภาพยนตร์ไทยสักเรื่องหนึ่งจะ “รวมดาวทีมงานหัวกะทิ” มาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกที่คาดหวังกันได้เลยถึง “คุณภาพของภาพยนตร์ในระดับสูง” ที่น้อยเรื่องนักจะทำได้

 

10) ใช้เวลาในช่วงการถ่ายทำประมาณ 2 เดือน ในโลเคชันหลักอย่าง “บ้านริมคลอง” (ถ่ายที่อยุธยา), “บ้านชายทะเล” (ถ่ายที่หัวหิน) และ “บ้านกลางกรุง” (คอนโด Bio House แถวสุขุมวิท) อย่างตรงตามจินตนาการตัวหนังสือ

 

11) ความพิเศษอีกอย่างของเรื่องนี้ที่ไม่มีปรากฏในหนังสือก็คือ “ชื่อ-สกุลจริง” ของตัวละครที่ผู้ประพันธ์แต่งขึ้นใหม่เพื่อฉบับภาพยนตร์โดยเฉพาะ ดังนี้ “ตา” (พิทักษ์ พจนวิทย์), “ยาย” (ลัดดา พจนวิทย์), “แม่” (ณภัทร พจนวิทย์), “กะทิ” (ณกมล พจนวิทย์), “น้าฎา” (ชฎา โฉมทิพย์), “ลุงตอง” (วิทยา วงศ์ภิรมย์) และ “พี่ทอง” (สุวรรณ วินัยดี)

 

12) เสน่ห์น่ารักเล็ก ๆ จุดหนึ่งของเรื่องนี้ ก็คือผู้กำกับและผู้ประพันธ์มีชื่อเล่นตรงกันว่า “เจน” แถมยังเกิดใน “ปีเถาะ” เหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมายอีก ดังนั้น อย่าแปลกใจไปถ้าจะเห็น “นานากระต่าย” ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้

 

13) “ฉากกะทิร้องไห้” ที่หนังสือเขียนไว้ว่า “กะทิร้องไห้จนตัวโยน วิ่งอย่างสุดแรง” เป็นฉากที่ผู้กำกับเจนไวยย์ชอบและประทับใจมากๆ ฉากหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งที่ทำให้ผู้กำกับอยากกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้…สุดแรง

 

Happiness-Kati-Poster03

 

(บาง) ความสุขของ…ภัสสร

 

31 ม.ค. 51วันแรก

วันนี้น้องพลอยตื่นตั้งแต่ตี 4.30 อาบน้ำแต่งตัวเตรียมไปถ่ายหนังเรื่อง “ความสุขของกะทิ” วันนี้เเป็นวันที่เปิดกล้องวันแรก วันนี้น้องพลอยรู้สึกสนุกมาก แม้ว่าจะง่วงหน่อย แต่น้องพลอยก็ต้องอดทนเพื่อทำงานให้เสร็จไวๆ วันนี้เข้าฉากกับพี่เชอร์รี่, พี่น้อย, พี่ไมเคิล, พี่เชอร์รี่คอยสอนแอคติ้งการแสดง พี่เชอร์รี่ใจดี ส่วนพี่น้อยชอบบอกให้หนูใจเย็น ส่วนพี่ไมเคิลเป็นคนตลกหัวเราะได้ทั้งวันค่ะ

วันนี้หนูถ่ายเสร็จ 19.30 น. พี่เขาก็ปรบมือดีใจกันใหญ่ อ๋อ…หนูลืมไปวันนี้มีคุณงามพรรณ, พี่โอ๋, พี่นิหน่ามาด้วย คุณงามพรรณซื้อขนมมาให้หนูกับกองถ่ายกิน ทุกคนใจดีกับน้องพลอยมากค่ะ น้องพลอยรักพี่ทีมงานทุกคนเลยค่ะ น้องพลอยคิดว่าน้องพลอยโชคดีมากค่ะที่ได้เล่นหนังเรื่องนี้ นอนดีกว่า ขอบคุณค่ะ

 

9 ก.พ. 51 – โรงอาหารแสนวุ่นวาย

วันนี้ได้เล่นกับเพื่อน ๆ มีแพร์, นัท, พี่ก้อย, พี่ไอซ์, นิว, ภู ได้เล่นฉากโรงอาหาร สนุกมาก มีอาหารวางอยู่บนโต๊ะ ได้ทานจริงด้วย มีลายเซ็นนัท, แพรี่, พลอย (ตัวเองอยากเขียน) พอกลับโรงแรมก็เล่นปลาเป็นปลาตายสนุกมาก แล้วก็ทำการบ้าน อยากให้สนุกอีกจัง…(กราบเท้าแม่) สวดมนต์

 

10 ก.พ. 51 – แปลงผักสวนเกษตร

วันนี้ได้ไปถ่ายหนังที่แปลงผักสวนเกษตรที่โรงเรียนพิบูลย์ ทุกคนตัวเลอะโคลนกันหมด กว่าจะถ่ายฉากหนึ่งเสร็จก็ครึ่งวันแหนะ วันนี้ถ่ายฉากเตะบอลร้อนมากตัวดำปิ๊ดปี๋ทุกคนด้วย พอถ่ายเสร็จก็กลับโรงแรม เล่นปลาเป็นปลาตาย ซ้อมบท ทำการบ้าน…(กราบเท้าแม่) สวดมนต์

 

24 ก.พ. 51 – ร้อนมาก

วันนี้ฉากนั่งเรือแดดร้อนสุดๆ แต่ก็สนุกมากแม้ว่าจะตัวดำ ทุกคนตัวดำหมดเลยแหละแล้วก็ได้เห็นต้นกระจับ แล้วก็รู้ว่ากระจับทานสดๆ ได้ วันนี้สนุกมากเลย….แต่ร้อนสุดๆ

 

13 มี.ค. 51 – เจอแม่ในเรื่องครั้งแรก

วันนี้ถ่ายฉากเจอแม่ครั้งแรกที่พี่นกเล่นเป็นแม่ พี่นกพูดแล้วทำให้หนูร้องไห้ได้ง่ายมากค่ะ พอกลับโรงแรมก็อาบน้ำ สวดมนต์ กราบเท้าแม่ นอนค่ะ (พี่นกเล่นเก่งมากเลยค่ะ)

 

Happiness-Kati-Still05

 

ความสุขของ…งามพรรณ

 

จากวันเริ่มต้น…

 

ยังจำได้ไม่ลืม วันที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และนึกเล่นๆ ว่าจะเขียนหนังสือให้จบสักเรื่อง

 

ตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องสนุก ๆ มองผ่านสายตาของเด็กสักคน  เด็กผู้หญิงอายุเก้าขวบสิบขวบ สูงเมตรกว่าๆ  ระดับสายตาอยู่ต่ำกว่าของผู้ใหญ่  ดูซิว่าจะได้มุมมองอะไรแปลกใหม่บ้าง

 

แน่นอนความกังวลของคนลงมือเขียนหนังสือใน พ.ศ. นี้คือ มีอะไรที่คนอื่นยังไม่เขียนอีกไหม แล้วเขียนอะไรจึงจะดึงดูดความสนใจคนอ่านให้วางไม่ลงจนจบได้สำเร็จ

 

ความคิดทั้งหมดนี้ลอยวนเวียนอยู่ในหัวหลายวันและในวันที่ลงนั่งพร้อมกับความตั้งใจที่จะเขียน ประโยคแรกก็วาบขึ้นมาเอง

 

“แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา”

 

ประโยคนี้ชักชวนประโยคต่อๆ มาให้เรียงร้อยเรื่องราวของเด็กหญิงอยู่บ้านริมคลองที่คิดถึงแม่ทุกลมหายใจ ประโยคแล้วประโยคเล่า บทแล้วบทเล่า จนสมบูรณ์ออกมาเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่ตั้งชื่อว่า “ความสุขของกะทิ”

 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้…

 

เป็นเส้นทางยาวไกลที่มีผู้คนสมทบเข้ามาเป็นเพื่อนร่วมทาง จากจุดเริ่มต้นที่มีลำพังคนเดียว บัดนี้ “ความสุขของกะทิ” เป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกมากหน้าหลายตา สร้างความคึกคักและสีสัน จนแทบไม่อยากเชื่อว่า ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันนั้นหน้าคอมพิวเตอร์

 

เส้นทางนี้ยิ่งคึกคักมากขึ้นเมื่อ “ความสุขของกะทิ” แปลงจากตัวหนังสือเป็นภาพบนจอ ได้เห็นพลังสร้างสรรค์ที่เสกให้จินตนาการกลายเป็นงานศิลปะเคลื่อนไหวอันงดงาม

 

ขอเชิญชวนสมาชิกครอบครัว “ความสุขของกะทิ” สัมผัสความสุนทรีย์บนแผ่นฟิล์ม เพื่อทำความรู้จักและใกล้ชิดกับเด็กหญิงกะทิมากขึ้นอีก

 

แล้วจะพบว่าเรื่องราวของความสุขและความประทับใจไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย                            

 

ขอส่งความสุขปีใหม่ ๒๕๕๒

งามพรรณ เวชชาชีวะ

 

Happiness-Kati-Still01

Happiness-Kati-Still02

Happiness-Kati-Still03

 

ความสุขของ…เจนไวยย์

 

ทุกสิ่งทุกอย่างต่างมีเวลาของมัน การเตรียมพร้อมที่ดีนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ การอดทนและรอคอย

 

พ่อผมเคยบอกว่าตอนผมยังเล็ก คราวใดที่ผ่านหน้าโรงภาพยนตร์ “ผมจะร้องไห้งอแง” นั่นอาจเป็นเพราะผมอยากจะดูหนัง หรือไม่ก็เพราะว่าในสมัยก่อนบริเวณหน้าโรงฯ มีแตรวงบรรเลงเรียกร้องความสนใจอยู่ก็เป็นได้

 

นั่นเป็นเหตุผลที่ผมนำมาอ้างเสมอ เมื่อมีใครถามถึงจุดเริ่มในการสนใจศาสตร์แขนงนี้ และก็เป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งที่ช่วยสะกดจิตตัวเองให้เป็นนักทำหนัง

 

แรกเริ่ม “ความสุขของกะทิ” ที่ผมรู้จักยังไม่มีคนสนใจมากนัก ผมใช้เวลากับกะทิในมุมมองของตัวเองและจินตนาการเป็นภาพต่างๆ นานา โดยไม่เคยนึกว่าวันหนึ่ง จินตภาพเหล่านั้นจะได้สัมผัสบนจอเงินจริงๆ เป็นสัมผัสที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของความสุขทุกอณูเฟรม

 

…การได้ทำงานกับแสงช่างวิเศษนัก…

 

เมื่อความตั้งใจคือ ถ่ายทอดสาระของความสุข สิ่งที่ห้ามละเลยคือ การสร้างบรรยากาศแห่งสุขให้จงได้ ความสุขบนแผ่นฟิล์มย่อมเกิดจากรายละเอียดนอกแผ่นฟิล์มที่แปรผันตามกันดังสมการลบลบเป็นบวก เพราะการสร้างภาพยนตร์เป็นเรื่องใหญ่ วุ่นวาย เป็นงานหนักที่ต้องทุ่มเทหมกมุ่นในสติตลอด การกระทบกระทั่ง กดดัน และความเครียดจึงอาจแสดงตัวชัดเจนเมื่อลงมือทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา

 

การวางแผนที่จะลบสิ่งต่างๆ ในด้านลบ จึงเป็นเป้าหมายแรกในการถ่ายทำ ผลที่ได้คือทุกวันเราทำงานกันด้วยความสุขใจ เข้าใจ ไร้ซึ่งการด่าทอ แต้มรอยยิ้มเติมอารมณ์ชวนหัวเราะ น้ำเสียงที่ส่งผ่านกันจึงเย็นฉ่ำ “ชูใจ” ไร้สารปลอมปน

 

เมื่อ “บรรยากาศได้” ก็ไม่ยากที่จะถ่ายทอดเรื่องราวอย่าง “ได้บรรยากาศ”

 

วันสุดท้ายของการถ่ายทำที่บ้านไทยในอยุธยา พวกเรามีช่วงพักเที่ยงยาวเพื่อรอคอยการมาของแสงยามเย็น ทุกคนต่างหามุมของตัวเองเพื่อเอนกายพักผ่อน แต่ผมไม่ได้นอน ไม่ใช่ว่าไม่ง่วง ไม่รู้ทำไม คงเพราะช่วงเวลาของการถ่ายทำที่อยุธยากำลังจะหมดลงกระมัง บ้างอยู่ใต้ต้นไม้ บ้างก็บนศาลาริมน้ำ บ้างก็บริเวณระเบียงนอกชาน หลายคนนึกถึงวันที่ผ่านมาและเริ่มดื่มด่ำกับช่วงเวลาสุดท้ายด้วยการนอนและฝันไป ผมถามตัวเองเหมือนกะทิว่า ตัวเองต้องการอะไร”

 

เมื่อมองไปรอบๆ กาย ณ นาทีนั้นผมก็ได้คำตอบ…

 

ขอบคุณทุกคนที่อยู่ด้วยกันมาตลอด ขอบคุณที่ไว้ใจและศรัทธากัน

 

ขอบคุณทุกคนที่แสดงออกว่ามีความสุข และขอบคุณที่รัก… “กะทิ”

 

เจนไวยย์ ทองดีนอก

บ้านชูใจ (เก้าโมงสามสิบเจ็ดนาที วันพุธ แรมสิบสามค่ำ เดือนสิบสอง ปีชวด)

 


นักแสดง

ภัสสร คงมีสุข
สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์
จารุวรรณ ปัญโญภาส
กฤษฎา สุโกศล แคลปป์
เข็มอัปสร สิริสุขะ
ไมเคิล เชาวนาศัย
รัชนก แสง-ชูโต
นิธิศ โค้วสกุล

ผู้กำกับ

เจนไวยย์ ทองดีนอก

โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ