ชั่วฟ้าดินสลาย (Eternity)
เรื่องย่อ
จากวรรณกรรมสุดอมตะ สู่ภาพยนตร์โศกนาฏกรรมรักอันยิ่งใหญ่
ละเมียดฝีมือการกำกับในรอบกว่าทศวรรษโดย
“หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล”
ทุ่มเทพลังการแสดงอันเหนือชั้นจากทีมนักแสดงแถวหน้า
กับบทบาทที่ลึกซึ้งที่สุดในชีวิตของ
“อนันดา เอเวอริงแฮม | เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ | ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์”
“ชั่วฟ้าดินสลาย”
ดำดิ่งสู่ห้วงรักและตัณหา 16 กันยายนนี้
ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของกระแสการเมืองใหม่ซึ่งชาวสยามยังไม่คุ้นชินนัก เพียงหนึ่งปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 นั้น “ยุพดี” (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ม่ายสาวพราวเสน่ห์หัวสมัยใหม่จากพระนครได้สมรสกับ “พะโป้” (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) คหบดีม่ายชาวพม่าอายุคราวพ่อ เจ้าของกิจการป่าไม้อันมั่งคั่งแห่งกำแพงเพชร ทั้งคู่ได้เดินทางไปใช้ชีวิตฉันท์สามีภรรยาที่ปางไม้เขาท่ากระดาน ซึ่งยุพดีคิดว่าชีวิตของเธอได้ถูกเติมเต็มแล้วในทุกๆ ด้านจากพะโป้สามีที่เธอรัก
แต่ ณ ที่นั้นเอง ท่ามกลางพลังอำนาจแห่งไพรพฤกษ์และขุนเขา เมื่อยุพดีได้มาพบเจอกับ “ส่างหม่อง” (อนันดา เอเวอริงแฮม) หนุ่มพม่าผู้หล่อเหลาปานเทพบุตรแต่แสนบริสุทธิ์ในกามโลกีย์ผู้เป็นหลานชายของพะโป้ ต่างก็เกิดความสิเน่หาต่อกัน ยิ่งทั้งคู่ได้ชิดใกล้กันมากเท่าไร ก็ยิ่งเกิดอาการหวั่นไหวและอยากอยู่ด้วยกันมากขึ้นเท่านั้นตามสัญชาตญาณหนุ่มสาวที่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ โดยหารู้ไม่ว่านี่คือ “จุดเริ่มต้นแห่งโศกนาฏกรรมรัก”
ในที่สุด ทั้งส่างหม่องและยุพดีก็มิอาจต้านทานความปรารถนาของตนและยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหาอย่างถึงที่สุด ทั้งคู่ก้าวล้ำเส้นของการเป็นหลานและอาสะใภ้โดยลอบเป็น “ชู้” กัน
และแล้วเมื่อพะโป้ได้ล่วงรู้ความจริงอันน่าอัปยศเช่นนี้ เขาดูเหมือนจะสงบนิ่งอย่างผู้ผ่านประสบการณ์และเข้าใจโลกยิ่งนัก แต่จริงๆ แล้วในใจเขากลับร้อนรุ่มด้วยโทสะจริต ติดกับดักแห่งเสน่หาอาฆาตแบบถอนตัวไม่ขึ้น
อย่างไม่คาดฝัน พะโป้ตัดสินให้ยุพดีเมียสุดที่รักได้อยู่กินกับส่างหม่องหลานรักอย่างเปิดเผย ภายใต้เงื่อนไขอันแสนเย็นยะเยือกด้วยการล่าม “โซ่ตรวน” คล้องแขนติดกัน เพื่อพันธนาการว่าทั้งคู่จะได้ครองรักกัน…ชั่วนิจนิรันดร์
ถึงเวลาแล้วที่พะโป้จะได้ทำในสิ่งที่เขาวางแผนไว้อย่างแยบคาย เพื่อสอนบทเรียนให้กับทั้งหลานและภรรยาอันเป็นที่รักให้รู้จักความหมายของ “ความรักชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต“
ใครเลยจะหยั่งรู้ว่า วิถีชีวิตของ 3 ชายหญิงที่ต้องโคจรมาทาบทับกันในวังวนแห่งกิเลสตัณหานี้ จะนำพามาซึ่งโศกนาฏกรรมรักอันยิ่งใหญ่ที่ต้องพิสูจน์ด้วยเลือดเนื้อ จิตวิญญาณ และกาลเวลาตราบ “ชั่วฟ้าดินสลาย”
เปี่ยมล้นคุณค่า…ชั่วฟ้าดินสลาย
***ระดับความบันเทิง***
การดำเนินเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้จะง่ายต่อการเข้าใจของผู้ชมในทุกระดับ โดยผู้ประพันธ์ได้หยิบยก “การเป็นชู้” ระหว่าง “อาสะใภ้” และ “หลานชาย” ซึ่งเป็นหนุ่มสาวในวัยที่บูชา “ความรัก” เหนือสิ่งอื่นใด และได้ทำลายกรอบประเพณีศีลธรรมอันดีงามจนต้องพบกับหายนะอย่างแสนสาหัส
เป็นการดำเนินเรื่องที่ถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์ชีวิตรัก หรือละครโทรทัศน์อย่างแพร่หลาย ซึ่งมักจะแสดงให้เห็นภาพชีวิตของหนุ่มสาวที่ไร้เดียงสาต่อโลก จนตกเป็นทาสของความลุ่มหลงของกิเลสตัณหา เพราะฉะนั้นการที่ได้ลักลอบพบกันสองต่อสอง จึงเป็นสิ่งที่ตื่นเต้นเร้าใจของทั้งตัวละครทั้งสองและผู้ชม ยิ่งผู้ประพันธ์ได้สร้างโศกนาฏกรรมรักของ “ส่างหม่อง” และ “ยุพดี” ให้เป็นปริศนาอันเร้นลับน่าค้นหาตั้งแต่ต้นเรื่อง ก็ยิ่งทำให้เรื่องนี้มีปมอันลึกลับชวนให้น่าค้นหาติดตาม สร้างความเร้าระทึกใจให้แก่ผู้ชมในทุกวินาที
***ระดับศีลธรรมและปัญญา***
การหยิบยกเอา “ตัณหาราคะ” และ “กิเลส” ที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ขึ้นมาตีแผ่นั้น ผู้ประพันธ์ระดับบรมครูแห่งวงการวรรณกรรมทุกท่านย่อมมีจุดประสงค์ที่จะสอนศีลธรรมจรรยาและคุณค่าในชีวิตมนุษย์โดยทางอ้อมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพฤติกรรมอันขาดสติจนเป็นทาสของกิเลสตัณหาของส่างหม่องและยุพดี จึงเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าแก่ผู้ชมหนุ่มสาวที่พึงใจต่อ “กรรมชั่ว” ที่มนุษย์อันเป็นสัตว์ที่ประเสริฐไม่พึงปฏิบัติ
***ระดับศิลปะและวัฒนธรรม***
ภาพยนตร์เรื่องนี้จะนำภาพขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันสูงส่งของชาวล้านนาในอดีตให้ปรากฏในจอภาพยนตร์อย่าง “สมจริง” และ “ถูกต้อง” ตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น โดยผ่านการศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่ถูกต้องจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อจะนำเสนอภาพวิถีชีวิตที่งดงามอันเป็นมรดกของชาติออกสู่สายตาชาวโลก โดยผ่านการถ่ายภาพอันประณีตพิถีพิถัน และการสร้างดนตรีประกอบอันไพเราะ จึงนับได้ว่าภาพยนตร์เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” นี้ จะเป็นภาพยนตร์ที่อนุรักษ์ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีงาม
ย้อนรอยผู้กำกับชั้นครู:
“ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” หรือ “หม่อมน้อย” ของคนในวงการบันเทิง เป็นผู้กำกับภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์ และละครเวทีที่มีผลงานโดดเด่น, แปลกใหม่ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ทั้งยังเป็นผู้เขียนบทและอาจารย์สอนวิชา Directing และ Acting ระดับสากลที่ได้รับความไว้วางใจในฝีมืออย่างถึงที่สุด
ผลงานกำกับภาพยนตร์:
- เพลิงพิศวาส (2527) ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดาราประกอบหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย)
- ช่างมันฉันไม่แคร์ (Dame it! Who care – 2529) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม / ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม / ได้รับการคัดเลือกไปฉายโชว์ในงาน London Films Festival และ Berlin Films Festival
- ฉันผู้ชายนะยะ (Boy in the Band – 2530) – ได้ฉายใน Gay Film Festival ที่ Los Angeles สหรัฐอเมริกา ปี 2532
- นางนวล (The Seagull – 2530) – ได้รับรางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมแห่งเอเชียในปี 2531 ใน Asian Films Festival ที่ไต้หวัน / เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย
- เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย (2532)
- ความรักไม่มีชื่อ (2533)
- มหัศจรรย์แห่งรัก (2538) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย), ดาราประกอบชายยอดเยี่ยม (วิลลี่ แมคอินทอช), ดาราประกอบหญิงยอดเยี่ยม (วราพรรณ หงุ่ยตระกูล), กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
- อันดากับฟ้าใส (2540) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดาราประกอบหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย), ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
ผลงานกำกับละครโทรทัศน์:
ช่างมันฉันไม่แคร์ (ช่อง 5), แผ่นดินของเรา (ช่อง 5), ซอยปรารถนา 2500 (พ.ศ. 2539, ช่อง 7), เริงมายา (พ.ศ. 2540, ช่อง 7), ปีกทอง (พ.ศ. 2542, ช่อง 7), ลูกทาส (พ.ศ. 2543, ช่อง 5), คนเริงเมือง (พ.ศ. 2544, ช่อง 5), มหัศจรรย์แห่งรัก (พ.ศ. 2545, ช่อง 7), ทะเลฤาอิ่ม (พ.ศ. 2546, ช่อง ITV), สี่แผ่นดิน (พ.ศ. 2546-2547, ช่อง 9), ในฝัน (พ.ศ. 2547-2548, ช่อง 9)
ผลงานกำกับละครเวที:
- All My Son ของ Arther Miller (แสดงที่หอประชุม AUA พ.ศ. 2517)
- บัลเลต์พระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” (แสดงที่โรงละครแห่งชาติ พ.ศ. 2518)
- The Lower Depth ของ Maxim Gorgy (แสดงที่โรงละครคณะอักษรศาตร์ จุฬาฯ และโรงละครแห่งชาติ พ.ศ. 2517 และ 2518)
- Impromptu (แสดงที่สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน พ.ศ. 2520)
- Les Malentandu ของ Elbert Carmu (แสดงที่หอประชุมคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2524)
- เทพธิดาบาร์ 21 (แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง พ.ศ. 2529)
- One Flew Over the Cuckoo’s Nest (แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง พ.ศ. 2530)
- ผู้แพ้ผู้ชนะ (แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง พ.ศ. 2532)
- พรายน้ำ (แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง พ.ศ. 2533)
- ราโชมอน (แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง พ.ศ. 2534)
- ปรัชญาชีวิต (แสดงที่ตึกร้าง บ.แปลนอคิวเท็ก, เชียงใหม่ สปอร์ตคลับ, ม.ขอนแก่น พ.ศ. 2531-2533)
- พระผู้เป็นดวงใจ ของโรงเรียนสวนจิตรลดา (แสดงที่หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2529)
- แฮมเลต เดอะ มิวสิเคิล (แสดงที่หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2538)
ประวัติผู้ประพันธ์ “ครูมาลัย ชูพินิจ”
“มาลัย ชูพินิจ” (2449-2506) ได้รับการยกย่องและเคารพนับถือในฐานะปรมาจารย์ทางการประพันธ์ ด้วยอัจฉริยภาพยากจะหาผู้ใดทัดเทียม ท่านประพันธ์ได้ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย, เรื่องสั้น, บทความ, สารคดี ตลอดจนคอลัมน์เกี่ยวกับหนังสือ, โทรทัศน์ และการกีฬา (โดยเฉพาะกีฬามวย)
ครูมาลัยเริ่มเขียนเรื่องสั้นครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2468 ผลงานที่สร้างชื่อเสียงเรื่องแรกคือ “ธาตุรัก” พิมพ์ลงใน “สุภาพบุรุษรายปักษ์” ประมาณกันว่าผลงานของครูมาลัย มีประมาณถึง 3,000 เรื่อง โดยมีผลงานเขียนเรื่องสั้นประมาณ 250 เรื่อง นวนิยายและข้อเขียนอื่นๆ พิมพ์เป็นเล่มประมาณ 50 เรื่อง โดยใช้นามปากกาต่างๆ กัน ที่รู้จักกันดีคือ “ม.ชูพินิจ, เรียมเอง, แม่อนงค์, น้อย อินทนนท์, อินทนนท์ น้อย, นายฉันทนา, ลดารักษ์, สมิงกะหร่อง” ฯลฯ
ผลงานที่มีชื่อเสียงคือ “ชั่วฟ้าดินสลาย, ทุ่งมหาราช, แผ่นดินของเรา, เมืองนิมิตร, ล่องไพร” ฯลฯ
ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักนับถือด้านงานประพันธ์ และงานหนังสือพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเท่านั้น ครูมาลัยยังได้อุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมและเพื่อนมนุษย์อีกด้วย จนได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก และได้รับพระราชทานปริญญาบัตร วารสารศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2505
“มาลัย ชูพินิจ” ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2506 ด้วยโรคมะเร็งในปอดเมื่ออายุ 57 ปี
ขอดเกร็ด “ชั่วฟ้าดินสลาย”
1) ภาพยนตร์เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ดัดแปลงจากนวนิยายสุดอมตะชื่อเดียวกันของ “เรียมเอง” หรือ “มาลัย ชูพินิจ” บรมครูแห่งวงการวรรณกรรมสมัยใหม่ของไทย
2) เป็นบทประพันธ์ประเภท Realistic เรื่องแรกของ “มาลัย ชูพินิจ” อันเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์วรรณกรรมชิ้นต่อๆ มาของท่าน อาทิเช่น แผ่นดินของเรา, ทุ่งมหาราช และ เมืองนิมิต เป็นต้น
3) ได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ “นิกร” ฉบับวันอาทิตย์เมื่อ พ.ศ. 2486 ในลักษณะเรื่องสั้น และต่อมาจึงได้รับการแก้ไขและขยายเป็นนวนิยายขนาดเล็ก และตีพิมพ์โดยสำนักงาน “พิทยาคม” เมื่อพ.ศ. 2494 และเคยสร้างเป็นละครเวทีโดย “คณะศิวารมย์”
4) สู่การเขียนบทและกำกับสุดละเมียดโดย “หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” ซึ่งห่างหายจากวงการไปนานถึง 13 ปี หลังจาก “อันดากับฟ้าใส” (2540) ผลงานกำกับเรื่องท้ายสุดที่แจ้งเกิดพระเอกหนุ่มสุดฮอตแถวหน้าของวงการในทุกวันนี้อย่าง “อนันดา เอเวอริงแฮม”
5) ครั้งนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ “ครั้งที่ 4″ โดย 3 ครั้งที่ผ่านมามีรายละเอียด ดังนี้
- ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2496, สี, 16 ม.ม.) กำกับโดย หม่อมหลวงต้อย ชุมสาย นำแสดงโดย ไสลทิพย์ ตาปนานนท์ (ยุพดี), ชลิต สุขเสวี (ส่างหม่อง), สำราญ เหมือนประสิทธิเวช (พะโป้) และ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ (ทิพย์) แต่ภาพยนตร์เวอร์ชั่นแรกนี้ไม่ได้ออกฉาย เนื่องจากฟิล์มภาพยนตร์เสียหายทั้งหมดจากขั้นตอนการล้างฟิล์ม
- ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2498, 35 ม.ม.) สร้างโดย หนุมานภาพยนตร์ อำนวยการสร้างโดย รัตน์ เปสตันดี กำกับโดย ครูมารุต (ทวี ณ บางช้าง) นําแสดงโดย เอม สุขเกษม (นายห้างพะโป้), งามตา ศุภพงษ์ (ยุพดี), ชนะ ศรีอุบล (ส่างหม่อง) และ ประจวบ ฤกษ์ยามดี (ทิพย์) เวอร์ชั่นนี้โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดของผู้ชม
- ครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2523) สร้างโดย พี.ดี. โปรดักชั่น กํากับโดย ชาลี อินทรวิจิตร นําแสดงโดย สมจินต์ ธรรมทัต (พะโป้), วิฑูรย์ กรุณา (ส่างหม่อง) และ ธิติมา สังขพิทักษ์ (ยุพดี)
6) ในพิธีมอบ “รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2500″ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับ 3 รางวัลสำเภาทอง ในสาขา “บทประพันธ์ยอดเยี่ยม, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยมประเภทฟิล์ม 35 ม.ม.”
7) หม่อมน้อยเคยร่วมงานกับ “เสี่ยเจียง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ” และ “สหมงคลฟิล์ม” เพียงครั้งเดียว เมื่อครั้งเปิดซิงเก้าอี้ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจากเรื่อง “เพลิงพิศวาส” (2527) ซึ่งส่งให้นักแสดงตัวแม่อย่าง “สินจัย เปล่งพานิช” ยืนหยัดอยู่ในวงการแสดงมาจนทุกวันนี้ ก่อนที่หม่อมน้อยจะกลับมาร่วมงานกับเสี่ยเจียงอีกครั้งในรอบ 26 ปี กับ “ชั่วฟ้าดินสลาย” ผลงานกำกับสุดละเมียดเรื่องที่ 9 นี้เอง
8) ผลงานกำกับภาพยนตร์ทุกเรื่องของหม่อมน้อยล้วนแล้วแต่เป็นภาพยนตร์คุณภาพ, สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการ รวมถึงกวาดรางวัลมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “เพลิงพิศวาส (2527), ช่างมันฉันไม่แคร์ (2529), ฉันผู้ชายนะยะ (2530), นางนวล (2530), เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย (2532), ความรักไม่มีชื่อ (2533), มหัศจรรย์แห่งรัก (2538) และ อันดากับฟ้าใส (2540)”
9) หม่อมน้อยเคยดัดแปลงและกำกับบทประพันธ์ของ “มาลัย ชูพินิจ” มาแล้วจากเรื่อง “แผ่นดินของเรา” ในรูปแบบละครโทรทัศน์ เมื่อปี พ.ศ. 2539
10) เวอร์ชันใหม่ครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2553 นี้ สร้างสีสันด้วยทีมนักแสดงระดับคุณภาพแถวหน้าของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น “อนันดา เอเวอริงแฮม” (ส่างหม่อง), “เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์” (ยุพดี), “ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์” (พะโป้), “เพ็ญเพชร เพ็ญกุล” (นิพนธ์), “ศักราช ฤกษ์ธำรง” (ทิพย์) และ “ดารณีนุช โพธิปิติ” (มะขิ่น)
11) สร้างฉากอย่างยิ่งใหญ่ในหลากหลายโลเกชั่น Unseen ของ “จังหวัดเชียงราย” ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนบนจอภาพยนตร์ ทั้ง “วนอุทยานแห่งชาติน้ำตกขุนแจ อ.เวียงป่าเป้า, วนอุทยานแห่งชาติลำน้ำกก (น้ำตกขุนกรณ์), ยอดเขาบ้านเย้าเล่าสิบ อ.แม่ฟ้าหลวง” รวมถึง “บ้านม่อนฝ้าย จังหวัดเชียงใหม่”
12) นอกเหนือจากการกำกับและการแสดงแล้ว “ชั่วฟ้าดินสลาย” เวอร์ชันใหม่นี้ยังโดดเด่นด้วยการออกแบบงานสร้างในรูปแบบศิลปกรรมล้านนาโบราณ, เครื่องแต่งกายตามขนบล้านนาสุดประณีต รวมถึงพิธีกรรมยุคโบราณที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันงดงามอีกด้วย
13) “เพลงชั่วฟ้าดินสลาย” ประพันธ์คำร้องโดย “ครูมารุต” ผู้กำกับภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2498 ทำนองโดย “อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์” ขับร้องโดย “พูลศรี เจริญพงษ์” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงเงินพระราชทาน โดยภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2553 นี้ จะได้นักร้องหญิงคุณภาพแห่งวงการดนตรีสากลยุคปัจจุบันอย่าง “เจนนิเฟอร์ คิ้ม” มาปล่อยพลังเสียงขับขานซ่านซึ้งและแสนไพเราะตรึงใจ
14) สร้างสรรค์ดนตรีประกอบ (Score) โดยนักประพันธ์ดนตรีมือรางวัล “จำรัส เศวตาภรณ์” ที่เคยได้รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมแห่งเอเชียจากภาพยนตร์ของหม่อมน้อยเรื่อง “นางนวล” (2530)
15) ใบปิดภาพยนตร์เวอร์ชันล่าสุดนี้ ได้ช่างภาพมืออาชีพและนักแสดงนำของเรื่องอย่าง “ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์” มาลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพให้อย่างสวยงาม
Eternity ชั่วฟ้าดินสลาย ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ หม่อมน้อย อนันดา เอเวอริงแฮม เจนนิเฟอร์ คิ้ม เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ เพ็ญเพชร เพ็ญกุล
นักแสดง
ผู้กำกับ
ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุลรางวัล
รางวัล “สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 20” (ประจำปี 2553) – ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ชั่วฟ้าดินสลาย), นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (อนันดา เอเวอริ่งแฮม), ลำดับภาพยอดเยี่ยม (สุนิตย์ อัศวินิกุล, พรรนิภา กบิลลิกะวานิชย์, ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค), กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (สิรนัท รัชชุศานติ), ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (นภดล เตโช, ทศฤทธิ์ สามิภักดิ์, ธีรพันธ์ จันทร์เจริญ) / รางวัล “คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 8” (ประจำปี 2553) – ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ชั่วฟ้าดินสลาย), ผู้กำกับยอดเยี่ยม (หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล), บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล), นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (อนันดา เอเวอร์ริงแฮม), นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) / รางวัล “ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 19” (ประจำปี 2553) – นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม), นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์), กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (สิรนัท รัชชุศานติ), ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (จำรัส เศวตาภรณ์) / รางวัล “STARPICS Thai Film Awards ครั้งที่ 8” (ประจำปี 2553) – กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (สิรนัท รัชชุศานติ), ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (จำรัส เศวตาภรณ์) / รางวัล “Top Awards 2010” (ประจำปี 2553) – ดารานำหญิงยอดเยี่ยม (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์)