บุปผาอาริกาโตะ (Buppha Rahtree: Haunting in Japan)
เรื่องย่อ
การกลับมาของหนังผีไทยระดับขึ้นหิ้งที่น่ากลัวที่สุด โรแมนติกที่สุด
เต็มไปด้วยความหลอกหลอนและสยองขำที่สุด
ประสบความสำเร็จและได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมอย่างต่อเนื่องมากที่สุดตลอดกาล
จาก “บุปผาราตรี” (2546) สู่ “บุปผาอาริกาโตะ” (2559)
จากลายเซ็นเฉพาะตัวในความเป็น “ภาพยนตร์สยองโรแมนติกระดับมาสเตอร์พีซ”
ของผู้กำกับ “ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค”
#บุปผาอาริกาโตะ
เรื่องราวความรักสุดหลอนที่ชวน “ขนลุก” และเสียดแทง “ความกลัว”
ภายใต้ “ความเหน็บหนาว-หิมะขาวโพลน” และ “ความหวาดสะพรึง” อย่างถึงขีดสุดที่ใครๆ ก็คาดไม่ถึง
ความสยองขำโรแมนติกครั้งใหม่ กับเรื่องราวใหม่ เหตุการณ์ใหม่ ตัวละครใหม่ โลเคชั่นใหม่ และ บุปผาคนใหม่
“เก้า สุภัสสรา ธนชาต” (ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น, ฝากไว้ในกายเธอ)
พร้อมการกลับมารวมตัวกันครั้งใหม่ของแก๊ง “แฟนฉัน” ในอีก 12 ปีต่อมา
“แน็ก-ชาลี ปอทเจส” (อาปัติ) และ “แจ๊ค-หยก-ออฟ-อ๋อง-เกตต์”
“โรส” (สุภัสสรา ธนชาต) สาวสวยวัย 20 ผู้เพียบพร้อมทั้งฐานะและการศึกษา เธอมีชื่อจริงว่า “บุปผาราตรี” หลังจากที่โรสจับได้ว่า “แม็ค” คนรักนอกใจเธอ จากสาวสวยผู้เพียบพร้อมกลับแปรเปลี่ยนเป็นฆาตกรโหดด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ หลังจากฆ่าคนรักไปแล้วโรสจึงหนีไปอยู่ที่เมือง “นิเซโกะ” ประเทศญี่ปุ่น
“ออสการ์ลอดจ์” คือบ้านเช่าที่โรสเข้าไปหลบซ่อนตัว
ที่เดียวกันนั้น คือบ้านพักที่ “แน็ก” (ชาลี ปอทเจส) และแก๊งเพื่อน “แจ็ค” (เฉลิมพล ฑิฆัมพรธีรวงศ์), “หยก” (หยก ธีรนิตยาธาร), “ออฟ” (อภิชาญ เฉลิมชัยนุวงศ์), “อ๋อง” (ธนา ตันตรานนท์), “เกตต์ (ตรีวรัตถ์ ชุติวัฒน์ขจรชัย) เข้าพักเพื่อมาถ่ายเอ็มวีราคาประหยัดสำหรับอัลบั้มใหม่ของแน็ก
ที่นี่เองทำให้โรสได้พบกับแน็กที่หน้าตาเหมือนกับแม็คแฟนเก่าราวกับเป็นคนคนเดียวกัน
ความแค้นเข้าครอบงำเธออีกครั้ง รวมทั้งความรักด้วย
แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นที่ออสการ์ ลอดจ์ บ้านพักสุดเฮี้ยนที่ร่ำลือกันว่าเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณที่เคยบูชารักสุดหัวใจ
ทั้งหมดในบ้านจะมีจุดจบเช่นไร ท่ามกลางหิมะสีขาวบริสุทธิ์ สีแดงแห่งเลือดคงจะเด่นชัดยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ใน “บุปผาอาริกาโตะ”
Director’s Note – ยุทธเลิศ สิปปภาค
“บุปผาราตรี” มันเป็นเหมือนปรากฏการณ์บางอย่างซึ่งมันมาจากคาแร็กเตอร์ วิถี หรือความประหลาดของมันมากกว่า มีคนเคยบอกว่ามันเป็นหนังที่มีคาแร็กเตอร์ และทุกคนชอบ
เสน่ห์อย่างหนึ่งของบุปผาฯ ที่ได้รับรู้เสมอคือว่า มันยังเป็นหนังที่อยู่ในใจคนเสมอ มักจะถูกพูดถึงเสมอๆ มันเหมือนว่า “บุปผาราตรี” กับ “ยุทธเลิศ” จะกลายเป็นของสิ่งเดียวกัน ซึ่งจริงๆ พี่ทำ “มือปืน/โลก/พระ/จัน” (2544) พี่ทำ “กุมภาพันธ์” (2546) ก่อนที่จะทำ “บุปผาราตรี” (2546) อีก
แต่ถ้าพูดถึงความสำเร็จในแง่การทำอะไรที่มีเอกลักษณ์ สามารถทำให้คนจดจำแล้ว โอเค “บุปผาราตรี” มันสำเร็จในแง่นั้น คือมันเป็นหนังที่จริงๆ แล้วรสชาติการดูหนังแบบนี้เป็นอะไรที่คนไทยคุ้นเคยอยู่แล้วนะว่ามันเป็นทั้งตลก น่ากลัว และทั้งดราม่าอยู่ด้วยกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่ได้ฟีดแบ็กมาจากคนดูหนังต่างประเทศ คาแร็กเตอร์ของหนังที่มันทั้งตลกทั้งน่ากลัวแล้วอยู่ด้วยกันได้ มันเป็นอะไรที่ยากที่จะชงให้มันพอดี แต่ “บุปผาราตรี” มันหลุดออกมาอยู่ตรงนั้นได้ เป็นหนังซึ่งสามารถรวมกันอยู่ตรงนั้นได้ แล้วไอ้คาแร็กเตอร์ที่แบบว่าไม่รู้จะฮาไม่รู้จะกลัวในเวลาเดียวกัน ไอ้ตรงนั้นมากกว่าที่มันคือความสำเร็จในการสร้างคาแร็กเตอร์หนังผีของพี่นะ มันจะมีทั้งตลก โรแมนติก น่ากลัว เสียดสี กัดจิกสังคม สะท้อนสังคม สะท้อนโน่นนี่นั่นไปเรื่อย ขณะเดียวกันก็ได้ 18+ ตลอด
สำหรับ “บุปผาอาริกาโตะ” มันคือบุปผาภาคใหม่ มันไม่ใช่บุปผาภาคต่อ จะเป็นอะไรที่ใหม่ไปเลย มันก็จะเป็นคาแร็กเตอร์ใหม่ จะเป็นหนังที่คนดูก็คาดเดาไม่ถูก ซึ่งพี่คิดว่าตรงนั้นมันคืออารมณ์ใหม่ๆ ของการดูหนังมากกว่า คืออารมณ์ใหม่ๆ ของบุปผาฯ ที่เราจะได้ดูกัน…
Buppha Rahtree Buppha Rahtree: Haunting in Japan ชาลี ปอทเจส ตรีวรัตถ์ ชุติวัฒน์ขจรชัย ธนา ตันตรานนท์ บุปผาราตรี บุปผาอาริกาโตะ ยุทธเลิศ สิปปภาค สุภัสสรา ธนชาต หยก ธีรนิตยาธาร อภิชาญ เฉลิมชัยนุวงศ์ เฉลิมพล ฑิฆัมพรธีรวงศ์