น้ำตาลแดง 2 (Brown Sugar 2)
เรื่องย่อ
“สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล” และ “บาแรมยู”
ชวนสัมผัสความหวานอีกระดับของ “อีโรติก”
“น้ำตาลแดง 2”
(ทฤษฎีบนโต๊ะอาหาร * หลุมพราง * คู่รักบนดาวโลก)
เปิดกว่า…เผยกว่า…ลึกกว่า…
กับเรื่องราวความรักและเซ็กส์ จาก 3 ผู้กำกับรุ่นใหม่ระดับมือรางวัล
และการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของ
“ปรางทอง ชั่งธรรม / แอนนา รีส / จ๊ะ อธิศ / หนอ วีระชัยศรีวณิก / แทค ภรัณยู / ซีแนม สุนทร (AF 1)”
เติมเต็มความหวานแห่งห้วงอารมณ์รัก
4 พฤศจิกายนนี้ ในโรงภาพยนตร์
ทฤษฎีบนโต๊ะอาหาร (ผู้กำกับ: ปรัชญา ลำพองชาติ)
อีโรติก-เซอร์เรียลสำหรับ “ทฤษฏีบนโต๊ะอาหาร” โดยผู้กำกับดีกรีรางวัลช้างเผือกจากการประกวดหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทยปี 2009 ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำที่ดีในวัยเยาว์ของเพื่อนรัก 2 คน คือ “แอน” และ “เอิร์น” เมื่อเติบโตขึ้นสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อนต้องพบกับปัญหาที่ต่างคนต่างบกพร่องในตัวเอง และ “เซ็กส์” ถูกนำมาเป็นเครื่องมือต่อรอง เธอทั้งสองจะหาทางออกกับเรื่องนี้อย่างไร พร้อมตั้งคำถามถึงคนดูว่า “ความสุขที่แท้จริงในชีวิตคืออะไร” เซ็กส์เพราะรัก หรือรักเพราะเซ็กส์ ความรัก ความเจ็บ ที่กินได้แต่กลืนไม่ลง
ระดับความอีโรติก
“แอนนา รีส” กับบทบาทท้าทายที่สุดในชีวิตการแสดงเมื่อต้องสื่อสารและถ่ายทอดอารมณ์ความรัก-ความต้องการที่แท้จริงให้คนดูเข้าใจอย่างลึกซึ้ง รวมถึงนักแสดงหน้าใหม่ที่ผ่านงานละครเวทีหลากหลายเรื่องอย่าง “นริศ” กับบทอีโรติกร้อนแรงครั้งแรกของเธอที่สะท้อนแง่มุมความต้องการในด้านความรักที่ไม่เคยเพียงพอ
หลุมพราง (ผู้กำกับ: สุรวัฒน์ ชูผล)
อีโรติก-ดราม่า-ทริลเลอร์ “หลุมพราง” นำเสนอภาพความอีโรติกสุดเข้มข้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรัก-ความใคร่ที่ยากจะแยกมันออกจากกันจนกลายเป็นวังวนกับดักที่พร้อมจะทำให้ตกสู่หลุมพรางในครั้งนี้ เมื่อ “เล็ก” ที่ต้องกลับบ้านแล้วได้เจอกับ “พี่นิด” ที่หน้าตาเหมือน “น้าละออง” ผู้หญิงที่ตัวเองรักและนับถือเมื่อตอนสมัยวัยเด็ก ทำให้เรื่องราวในอดีตที่เขาพยายามจะลืมเกี่ยวกับน้าละอองถูกผุดขึ้นมาอีกครั้ง กลายเป็นความรักความพยาบาทที่ยากจะลบมันออกไป ถ้า “เซ็กส์คือกับดัก” และ “รักคือหลุมพราง” เล็กจะถอนตัวออกมาได้อย่างไรกับเหตุการณ์ในครั้งนี้
ระดับความอีโรติก
การพลิกบทบาทครั้งสำคัญของ “ปรางทอง ชั่งธรรม” ที่ยอมทุ่มสุดตัวถ่ายทอดความอีโรติกในแง่มุมแห่งความปรารถนาและตัณหาราคะ พร้อมโชว์ศักยภาพทางด้านการแสดงแบบเหนือชั้นที่ยังไม่เคยได้เห็นมาก่อน รวมถึงนักแสดงหนุ่ม “จ๊ะ อธิศ” ที่ลงทุนปรับลุกส์และการแสดงครั้งใหม่เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความรักความใคร่ที่มาแห่งหลุมพรางในครั้งนี้
คู่รักบนดาวโลก (ผู้กำกับ: อนุรักษ์ จรรโลงศิลป)
อีโรติก-แฟนตาซีคือ การนำเอาแนวคิดและมุมมองของศิลปะในเชิงเหนือจริง (เซอร์เรียลลิสม์) มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์อีโรติก ด้วยมุมมองความแตกต่างกันระหว่างเพศชายกับเพศหญิง ในด้านอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดไปจนถึงความต้องการทางเพศ โดยสะท้อนผ่านเรื่องราวของ “เดี่ยว” และ “แก้ว” หนุ่มสาววัยทำงานคู่หนึ่ง เมื่อความรักเดินทางมาถึงจุดที่ต้องทบทวนสถานภาพและความสัมพันธ์ของกันและกัน ทำให้ต่างฝ่ายต่างต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงคุณค่าและความหมายของ “ความรัก” ที่แท้จริงว่าคืออะไร หรือมันก็แค่เพียง “ผู้ชาย” ให้ “รักแลกเซ็กส์” และ “ผู้หญิง” ให้ “เซ็กส์แลกรัก” หรือคุณว่าไม่จริง
ระดับความอีโรติก
ผู้กำกับมีความตั้งใจไล่ระดับอารมณ์ของคนดูด้วยการถ่ายทอดการแสดงอารมณ์อีโรติกจากน้อยไปจนถึงมากที่สุดในฉากเลิฟซีนสุดหวือหวาที่สะท้อนให้เห็นถึงความต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการทางเพศ โดยนำเทคนิคพิเศษทางด้านภาพ (CG) เข้ามาใช้รองรับการถ่ายทอดภาพความอีโรติกอย่างเต็มตัว
เมื่อ “อีโรติก” ผนวกกับไอเดีย ถ่ายทอดอารมณ์ของ “ศิลปะ” และ “เซ็กส์” ให้กลายเป็นหนึ่งเดียว
“ทฤษฎีบนโต๊ะอาหาร”
(โอ๊ก-ปรัชญา ลำพองชาติ – ผู้กำกับ) “ผมนำเสนอไอเดียของความเชื่อเกี่ยวกับความทรงจำ ซึ่งผมเองก็คิดว่าสิ่งที่เป็นความจริงแท้ของชีวิตมันคือความทรงจำที่ดีงามสำหรับเราทุกคน ตรงนี้จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘ทฤษฎีบนโต๊ะอาหาร’ ขึ้นมาผมพยายามจะสื่อสารให้เห็นถึงทฤษฎีของการใช้ชีวิต และผมคิดว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นเครื่องมือที่แสดงศีลธรรมจรรยา เผลอๆ มันสามารถเชื่อมโยงบางอย่างที่คุณอาจจะได้พบเจอ หรืออาจจะไม่ค่อยได้เห็นมันก็ได้ ผมรู้สึกสนุกกับการที่ได้นำเสนอในแง่นี้และพยายามที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงไปสู่บางสิ่ง ผมมองว่าทำไมต้องตีแผ่ในลักษณะของเรื่องเซ็กส์ ผมคิดว่ามันเป็นพื้นฐานที่ชัดเจนที่สุดที่เราสัมผัสได้ มันเป็นเรื่องสามัญธรรมดาของทุกคน
ด้านการถ่ายทอดนำเสนอผมใช้ทุกองค์ประกอบของภาพยนตร์ทำหน้าที่อย่างเท่าเทียมและมีอิสระต่อกัน ถ้าคุณลองชมภาพยนตร์ของผมก็จะสังเกตว่า บางฉากภาพและเสียงจะไม่เกื้อหนุนกันเลย มันจะไปกันคนละทิศคนละทาง ไม่ว่าจะเป็นจังหวะตัดต่อหรือรวมไปถึงความสมเหตุสมผลในการแสดง ซึ่งผมเองไม่ได้ให้พวกนักแสดงของผมได้ท่องบทตามสคริปต์ใดๆ เลย ผมแค่บอกว่า คุณคือตัวละครตัวนี้ เขากำลังเป็นอย่างนี้อยู่ และหน้าที่ของคุณคือการถ่ายทอดความรู้สึก ช่วงระยะเวลาอารมณ์ตีความมันออกมา การเข้าไปชมในโรงภาพยนตร์จะเป็นช่วงเวลาที่คุณได้ดูและได้คิดทบทวนกับตัวเองกับเรื่องที่เคยผ่านมา อย่างน้อยตอนนี้อาจจะไม่เกิดประโยชน์กับตัวคุณ แต่ผมคิดว่าภายหน้ามันอาจจะเกิดประโยชน์สำหรับคุณได้บ้างไม่มากก็น้อยครับ”
“หลุมพราง”
(เอก-สุรวัฒน์ ชูผล – ผู้กำกับ) “ตอนที่ผมกำลังหาเรื่องหาพล็อต ผมเองก็ชอบอ่านหนังสือแล้วไปเจอเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของ ‘ปมอิดิปุส’ (Oedipus Complex) มันเป็นเรื่องของฝรั่งที่ว่าเด็กผู้ชายจะสนิทกับแม่มากกว่าสนิทกับพ่อ แต่เรื่องเล่าจริงๆ ในของฝรั่งจะค่อนข้างรุนแรงว่า ฆ่าพ่อแล้วช่วงชิงแม่มาเป็นของตน ในความหมายจริงมันดูรุนแรงผมก็เลยหยิบมาเป็นไอเดียบวกกับความชอบส่วนตัวเกี่ยวกับหนังพวกฟิล์มนัวร์ หนังประเภทหญิงร้ายชายเลวที่มีตัวละครทั้งหญิงและชายเราไม่รู้ว่าคนไหนคนร้ายคนไหนคิดยังไงเบื้องหน้าอาจจะดีตอนหลังอาจจะพลิกตัวเองไปอีกแบบหนึ่ง เมื่อนำทั้งสองไอเดียและแนวคิดบวกเข้าด้วยกันแล้วใส่ความเป็นอีโรติกเข้าไป ส่วนตัวผมมองว่ามันมีความเป็นอีโรติกด้วยในเรื่องของปมตรงนี้ บวกกันแล้วได้ผลลัพธ์อะไรบางอย่างที่เราสนใจเรื่องเด็กที่สนิทกับผู้หญิงสักคนหนึ่งแล้วรู้สึกว่าวันหนึ่งมันขาดหายไป เขาไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ขาดหายไปกับการกระทำมันขาดหายไปมันเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง มันเป็นเรื่องความดีความไม่ดีปนกันอยู่
สำหรับฉากอีโรติกผมนำเสนอไปตามเหตุการณ์ไม่จงใจยัดเยียด และไม่ให้คนดูสมหวังอย่างที่ต้องการ เป็นการเล่นกับคนดูอย่างหนึ่งการใช้ภาษาหนังก็เป็นส่วนสำคัญ การใช้ภาพ มุมกล้อง การเคลื่อนกล้อง การตัดต่อก็อาจทำให้หนังโดดเด่นขึ้นมา ให้อะไรที่คนดูคาดไม่ถึง บางทีอาจเป็นความเรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ หรือทิ้งปมปัญหาให้คนดูได้คิดต่อ ‘หลุมพราง’ มีฉากป่าที่เปรียบเหมือนเป็นวังวนความใคร่ที่ทุกคนต่างหลงเข้าไปแล้วยากที่จะหาทางออก เราไม่มีทางรู้ว่านั้นคือความจริงหรือความลวง ให้คนดูคิดไปในทิศทางกว้างๆ เพราะเชื่อว่าคนดูแต่ละคนย่อมมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ความทรงจำของในวัยเด็กรวมถึงประสบการณ์ในการเลี้ยงดูมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดพฤติกรรมในตอนโต นี่คือข้อความที่ต้องการจะบอก จริงๆ แล้วเป็นหนังดราม่าครอบครัวเสียด้วยซ้ำที่ต้องการบอกแก่คนดูเป็นนัยยะสำคัญ เพียงแต่การนำเสนอนั้นถูกบอกเล่าในรูปแบบเล่าเรื่องจากผลลัพธ์ในปัจจุบันถอยไปสู่เหตุผลการกระทำของตัวละครในอดีต”
คู่รักบนดาวโลก
(โจ้-อนุรักษ์ จรรโลงศิลป – ผู้กำกับ) “คุณเคยรู้สึกว่าสิ่งรอบๆ ตัวมันช้าหรือเร็วบ้างไหม เวลาผมอยู่ในเมืองจะรู้สึกว่ามันเร็วและเร่งรีบไปหมดมีเวลาให้ทำอะไรต่อมิอะไรช่างน้อยเหลือเกิน แต่พออยู่ต่างจังหวัดชนบทก็จะรู้สึกว่ามันช้ามีเวลามากมายไม่รู้จะทำอะไรดี ลองมองกลับกันถ้าเราอยู่ตรงนั้นแล้วรู้สึกว่ามันเร็วแสดงว่าเราช้า ถ้าเรารู้สึกว่าตรงนั้นมันช้าแสดงว่าตัวเราเองที่เร็ว แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อความช้ากับความเร็วมาเจอกัน เป็นไอเดียแรกเริ่มของผมครับ
ต่อจากนั้นผมก็ได้อ่านหนังสือ ‘ผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์’ ซึ่งเป็นเรื่องราวของความแตกต่างกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ผมก็หยิบไอเดียนี้เข้ารวมกันและทำเป็นบทภาพยนตร์ขึ้น ‘คู่รักบนดาวโลก’ ได้แรงบันดาลมากจากหนังสือเล่มนี้เลยก็ว่าได้ครับ ซึ่งผมเพิ่มเรื่องเวลาที่ต่างกันของผู้ชายและผู้หญิงเข้าไป โดยให้ผู้ชายเป็นตัวแทนของความเร็ว ผู้หญิงเป็นตัวแทนของความช้า นำเสนอในแง่มุมเรื่องของความเข้าใจและปรับตัวของคู่รักบนดาวโลกดวงนี้ ถ้าไม่มีการปรับตัวทั้ง 2 คนจะทำร้ายซึ่งกันและกันเอง มันเป็นดราม่าอีโรติกผสมผสาน CG สำหรับเรื่องคู่รักบนดาวโลก โดยเล่าเรื่องถ่ายทอดอารมณ์อีโรติก คนดูจะได้เห็นถึงความสวยงามของสรีระสตรีตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า และกามารมณ์ของบุรุษ ผมเล่าเรื่องในเชิงสัญลักษณ์ เน้นการจัดวางองค์ประกอบด้านภาพ แสง และสี ให้ออกมาสวยงาม เน้นการใช้ภาษาภาพยนตร์ เล่าเรื่องด้วยภาพ คนดูต้องอ่านภาพเพื่อตีความเป็นหลัก ผสมกับการตัดต่อแบบไดนามิกคัต คำพูดของของตัวละครจะน้อยมาก ใช้เฉพาะที่จำเป็นจริงๆ”
Brown Sugar 2 คู่รักบนดาวโลก ซีแนม สุนทร ทฤษฎีบนโต๊ะอาหาร นริศรา ศรีสันต์ น้ำตาลแดง 2 บัณฑิต ทองดี ปรัชญา ปิ่นแก้ว ปรัชญา ลำพองชาติ ปรางทอง ชั่งธรรม ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม รภัทร เอกนิธิเศรษฐ์ วีระชัยศรีวณิก วรรณิกกุล สุรวัฒน์ ชูผล หลุมพราง อธิศ อมรเวช อนุรักษ์ จรรโลงศิลป แอนนา แฮมบาวริส