ผีห่าอโยธยา (The Black Death)
เรื่องย่อ
ในปีพุทธศักราช 2112
หลังกรำศึกสงครามจากทัพหงสาของพระเจ้าบุเรงนองอย่างต่อเนื่อง
ท้ายที่สุดอโยธยาก็เสียกรุงให้กับพม่า
แต่ว่ากันว่าหากแม้นการล่มสลายครานั้นหาได้มาจากศึกสงครามแล้วไซร้
จักยังคงมีหมายเหตุอื่นใดที่ทำให้อโยธยาถึงกาลต้อง…สิ้นแผ่นดิน
“สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล” และ “ฟุ๊คดุ๊ค ฟิล์ม”
รับศักราช 2558 ด้วยการย้อนอดีตไปสู่พุทธศักราช 2108
“ผีห่าอโยธยา”
ภาพยนตร์แอ็คชั่นสยองขวัญเลือดสาดย้อนยุค Period – Survival – Action – Horror
จากผลงานเขียนบท-กำกับภาพยนตร์โดย “ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล”
“หมู่บ้านเราครานี้ฤาจะถึงกาลวิบัติเสียแล้วกระมัง พวกฝูงผีห่าจัญไรนี่ก็มากล้นเหลือคณานับ
ฆ่าเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักตายสิ้น หนำซ้ำเหล่าศพโรคห่านี้กลับฟื้นกัดกลืนกินผู้คนเสียนี่
เว้นเสียว่าจักต้องอาศัยเพลงดาบที่รวดเร็ว รุนแรงบั่นคอมันให้ได้ใน…ดาบเดียว”
14 พฤษภาคม 58 ถึงคราที่อุบัติผีห่า…
จักรุกรานพี่น้องกลืนกินอโยธยาจนแทบสิ้นแผ่นดิน
จากบทบันทึกของพงศาวดารและจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ว่ากันว่าเมื่อราว 449 ปีที่แล้ว ในปีพุทธศักราช 2111 “พระเจ้าบุเรงนอง” ทรงนำทัพเข้ารุกรานอโยธยาทางด่านแม่ละเมา เมืองตาก ผ่านการกรำศึกสงครามอย่างต่อเนื่องจนในราวพุทธศักราช 2112 อโยธยาก็แพ้พ่ายสิ้นชื่อให้กับทัพพม่าจากหงสาก่อนที่จะเสียกรุงในท้ายที่สุด ว่ากันว่าหากแม้นการล่มสลายของอโยธยาในครานั้นหาได้มาจากภัยสงครามแล้วไซร้ จักมีหมายเหตุหลักฐานอื่นใดที่จะบ่งบอกถึงการกลืนกินถิ่นฐานครานั้น
ปีพุทธศักราช 2108 ท่ามกลางมหาศึกระหว่างอโยธยาและหงสา ยังมีคำบอกเล่าถึงโรคาพิบัติภัยครั้งใหญ่ที่ประวัติศาสตร์มิได้จารึกไว้นั่นคืออุบัติแห่ง “ผีห่า” หายนะอาเพศที่ทำให้ศพที่เสียชีวิตจากโรคห่า กลับฟื้นชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้งในคราบของอสูรร้ายที่ไล่ล่ากัดกินผู้คนเพื่อแพร่เชื้อร้ายให้มนุษย์กลับกลายมาเป็นพวกของมัน แม้แต่พระ ลูกเล็ก เด็กแดง คนหนุ่มคนสาว ตลอดจนคนแก่ คนเฒ่า หญิงชายก็ไม่เว้น โดยที่มิมียาสมุนไพรใดจะรักษา มิมีอาวุธอื่นใดที่จะหยุดมันลงได้
หลายชีวิตที่เหลือพยายามทุกวิถีทางที่จะหนีตายให้รอดพ้นจากฝูงผีห่าซึ่งประกอบไปด้วย “ไอ้คง” (เต้ย-พงศกร เมตตาริกานนท์) เด็กวัดที่หมายเด็ดดอกฟ้าอย่าง “เมี้ยน” (ซอนญ่า สิงหะ) ลูกเศรษฐีประจำหมู่บ้านที่ยอมละทิ้งทุกอย่างเพื่อความรักและเลือกหนีตายไปด้วยกัน, “ไอ้ขวัญ” (แต๊บ AF-ธนพล มหธร) หนุ่มนักเที่ยวขาประจำโรงชำเราชาย และ “อีพลอย” (แม็กกี้-อาภา ภาวิไล) คณิกาสาวสวยผู้แสนอาภัพงามทั้งรูปร่างและหน้าตาแต่กลับเป็นใบ้หูหนวก, “อีบัว” (โซดา-วีรี ละดาพันธ์) ช่างตีดาบหญิงที่เก่งกาจในการใช้สรรพอาวุธและการต่อสู้ไม่แพ้ชายอกสามศอกคู่อริของ “นายจัน” (หนึ่ง-ชลัฎ ณ สงขลา) เจ้าของกิจการโรงชำเราชายผู้มั่งคั่ง ละโมบ และเห็นแก่ได้ พร้อมทาสผู้ซื่อสัตย์อย่าง “ไอ้เล็ก” (พฤกษ์ รัตนฐิตินันต์ ) และ “ไอ้น้อย” (ชนนันท์ สิทธิเดช) ต้องมาอยู่รวมกันบ้างชิงชังรักใคร่ไม่ก็เกลียดกันจนเข้ากระดูก แต่ดูเหมือนจะมีเพียง “ไอ้เทพ” (คานธี วสุวิชย์กิต) หนุ่มขี้เหล้าต่างถิ่นอดีตนายทหารหัวหมู่ทะลวงฟันในศึกหงสาหนึ่งเดียวที่รอดชีวิตมาได้ล่วงรู้ว่าวิธีที่จะหยุดพวกผีห่าได้มีเพียงต้อง “ฟันหัว” ของมันให้ขาดออกจากร่างเท่านั้น แต่ทว่าผู้คนเพียงหยิบมือฤาจะรับมือกับผีห่าที่มาป็นฝูง ใช่ว่าทุกชีวิตจะมีเล็ดรอดไปได้ ฤานี่จะเป็นลางบอกเหตุให้รู้ว่าถึงคราที่อุบัติผีห่า…จักรุกรานพี่น้องกลืนกินอโยธยาจนแทบสิ้นแผ่นดิน
บทบันทึกเลือดสาดกับการทุ่มสุดชีวิตของเหล่านักแสดงและทีมงาน กว่าจะมาเป็น “ผีห่าอโยธยา”
- ด้วยความตั้งใจให้ “ผีห่าอโยธยา” มีความเป็นภาพยนตร์สยองขวัญในแนว “Hack and Slash” (มีฉากสับ หั่น ปาดคอ เลือดสาด) แบบสุดขั้ว ทำให้ตลอดการถ่ายทำฉากต่อสู้ฟาดฟันกับเหล่าผีห่าจะเน้นการถ่ายทำแบบสมจริง Real สดในกล้อง พึ่งพางานโพสต์โปรดักชั่นจากการตบแต่งภาพโดยอาศัย CG (คอมพิวเตอร์กราฟิd) ให้น้อยที่สุด ทำให้ในกระบวนการถ่ายทำนักแสดงทุกคนทั้งหญิงและชายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 7 ตัวละครหลักที่ล้วนมีฉากที่ต้องบั่นคอผีห่ากันทุกคนต้องผ่านการซักซ้อมในการเล่นคิวบู๊และแสดง โดยต้องสัมพันธ์กับทีมเมกอัปเอฟเฟกต์ที่ดูแลตัวผีห่าและทีมงานฝ่ายศิลป์ที่ต้องรับผิดชอบในการทำเทคนิคเลือดสาด และที่สำคัญต้องอยู่ในทิศทางของมุมกล้องภาพยนตร์ที่ถูกกำหนดไว้ในตอนถ่ายทำ ส่งผลให้ในแต่ละคัตแต่ละซีนที่นักแสดงและทีมงานจะต้องเซตการถ่ายฉากตัดคอผีห่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะได้ภาพออกมาเป็นที่พอใจตรงกับความต้องการของผู้กำกับ ส่งผลให้ในหลายๆ ฉากที่ปรากฏในภาพยนตร์ผ่านการถ่ายทำมากนับเป็นสิบเทกเลยทีเดียว
- กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในการถ่ายทำที่เหล่านักแสดงจะต้องเผชิญหน้ากับผีห่า และถ่ายทำในฉากแอคชั่น ไล่ล่า ต่อสู้กับผีห่า ทำให้ตลอดการถ่ายทำมีเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่นักแสดงทุกคนจะได้แต่งกายในชุดพีเรียดย้อนยุคสวยงาม นอกเหนือจากนั้นแล้วในทุกคิวถ่ายทั้งหมดที่เหลือนักแสดงทุกคนจะต้องถูกจับมาลงฝุ่นและชุ่มชโลมไปด้วยเลือดที่ทีมงานฝ่ายศิลป์และทีมเมกอัปจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อแต่งแต้มคราบเลือดไปตามใบหน้าเนื้อตัวแขนขาร่างกายตลอดจนเสื้อผ้าที่สวมใส่ของนักแสดงทุกคนจนกระทั่งปิดกล้องเลยทีเดียว
- ด้วยความที่ตัวภาพยนตร์ถูกนำเสนอในรูปแบบของหนังผีที่มาในบรรยากาศย้อนยุค ทำให้การแต่งกายของยุคสมัยของตัวละครชายบางครั้งไม่ใส่เสื้อ หรือนักแสดงหญิงคาดผ้าแถบหรือห่มสไบ ทำให้เวลาเข้าฉากแอคชั่นต่อสู้กับผีห่านอกจากจะไม่มีการใช้สแตนด์อินหรือตัวแสดงแทนแล้ว ในหลายๆ ฉากไม่สามารถใส่รองเท้าหรือติดตั้งสวมใส่อุปกรณ์เซฟตี้สมัยใหม่ในการเข้าฉากแอคชั่นได้ ทำให้บรรดานักแสดงจากภาพยนตร์ล้วนแล้วได้รับร่องรอยบาดแผลอันเป็นที่ระลึกจากภาพยนตร์หลังการถ่ายทำในแต่ละวันอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยสปิริตอันแรงกล้าและการทุ่มเทอย่างเต็มร้อยทำให้หลายๆ ฉากที่ออกมาดูสมจริงตามอารมณ์ของตัวละครและเรื่องราวที่เกิดขึ้น หลายๆ ครั้งเกิดมาจากความรู้สึกจริงที่เกิดขึ้นกับตัวนักแสดง ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บจริงๆ จากการถูกผีห่าเหวี่ยงกระชากบีบรัดกัด และเหนื่อยจริงจากการที่ต้องกระโดดวิ่งไล่ล่าต่อสู้กับฝูงผีห่าเป็นสิบๆ เทก
- และด้วยความที่เป็นหนังผีทำให้ในหลายๆ ฉากของภาพยนตร์จะต้องถ่ายทำในเวลากลางคืนเป็นหลัก ทำให้หลายๆ ครั้งที่เราจะได้เห็นนักแสดงหญิงอย่าง “แคท ซอนญ่า, โซดา วีรี, แม็กกี้ อาภา” ลุกขึ้นมาวิ่งรอบโบสถ์ วิดพี้น กระโดดตบ หรือเหวี่ยงค้อนในตอนตี 4 เพื่อทำให้ร่างกายเกิดอาการเหนื่อยและล้า ตลอดเนื้อตัวผุดไปด้วยเม็ดเหงื่อ รวมไปถึงการทำให้เกิดอาการหอบเพื่อสร้างความสมจริงให้กับตัวละครราวกับว่าได้ผ่านการต่อสู้ หนีตายจากการถูกผีห่าไล่ล่าเล่นงานมาจนแทบจะไร้ซึ่งเรี่ยวแรงกันเลยทีเดียว
- ด้วยความที่เป็นนักแสดงหน้าใหม่ทำให้หลายครั้งที่ “โซดา-วีรี ละดาพันธุ์” ซึ่งรับบท “อีบัว” ช่างตีดาบหญิงแกร่งประจำหมู่บ้านประสบกับปัญหาทางการแสดงที่ไม่สามารถถอดคาแร็กเตอร์ออกได้ และเกิดอาการเครียดร้องไห้ไม่หยุดในระหว่างถ่ายทำ จนบางครั้งหอบเอาคาแร็กเตอร์ที่อินกลับไปบ้าน จนกระทั่งแอคติ้งโค้ชและรุ่นพี่นักแสดงอย่าง “หนึ่ง ชลัฎ” ต้องให้ความช่วยเหลือและแนะนำให้รู้ถึงวิธีผ่อนคลายทางการแสดง เนื่องจากเป็นตัวละครที่มีทั้งบู๊แอคชั่นและดราม่าที่เน้นการระเบิดอารมณ์ในหลายๆ ฉาก
- ถึงแม้ว่าจะไม่เคยผ่านประสบการณ์ทางด้านการแสดงมาก่อน แต่ภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตของ “โซดา วีรี” ทำให้ต้องถูกส่งไปเรียนเวิร์กช็อปทางด้านการแสดง ตลอดจนฝึกซ้อมการใช้อาวุธต่างๆ และการต่อสู้โดยเฉพาะดาบที่สำนักพุทไธสวรรย์พร้อมกับ “คานธี” ที่รับบทเป็น “ไอ้เทพ” อดีตหัวหมู่ทะลวงฟัน ตั้งแต่ยังไม่เปิดกล้อง และครั้นพอถึงเวลาถ่ายทำจริงก็ต้องเข้าฉากแอคชั่นแบกค้อน และถือดาบต่อสู้กับฝูงผีห่าเยอะที่สุด ยังไม่รวมกับการที่เป็นนักแสดงคนเดียวที่ต้องเข้าฉากที่มีการใช้เอฟเฟกต์ระเบิดโดยไม่ใช้สแตนด์อินจนทำให้แผ่นหลังถูกเถ้าถ่านร้อนลวก และยังต้องถ่ายทำฉากที่ต้องว่ายน้ำหนีตายเอาตัวรอด เรียกได้ว่าครบทุกประสบการณ์บุกน้ำลุยไฟทั้งบู๊แอคชั่นและอารมณ์ดราม่าเข้มข้นในหนังเรื่องแรกอย่างจัดเต็มเลยทีเดียว
- ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ถึงแม้ว่าตัวละคร “อีเมี้ยน” (แคท ซอนญ่า) และ “ไอ้คง” (เต้ย พงศกร) จะเป็นตัวแทนทางด้านอารมณ์และความรักเป็นหลัก ถึงกระนั้นทั้งคู่ก็ต้องผ่านประสบการณ์การทำงานที่โหดไม่แพ้นักแสดงคนอื่นในเรื่อง โดยเฉพาะ “เต้ย พงศกร” ที่ต้องมีฉากกระโดดน้ำที่ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บจากการที่หลังกระแทกกับพื้นน้ำอย่างจัง รวมไปถึงต้องเล่นฉากบู๊ต่อสู้กับผีห่าในหลายๆ ฉาก ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ “ไอ้คง” ต้องเผชิญหน้าและถูกผีห่าจู่โจมเป็นครั้งแรก ยังไม่รวมกับฉากที่ต้องบุกไปช่วย “อีเมี้ยน” ที่กำลังจะถูกผีห่ากัดกินโดยจะต้องมีคิวแอคชั่นกระโดดพุ่งใส่ผีห่าทะลุกระท่อมออกมาโดยไม่ใช้ตัวแสดงแทนตอนตี 3 ในขณะที่ “แคท ซอนญ่า” นอกจากบทบาทของ “อีเมี้ยน” ลูกสาวคหบดีเศรษฐีผู้มั่งคั่งประจำหมู่บ้านที่มีโอกาสแต่งตัวสวยเพียง 2-3 คิวแรกของการถ่ายทำเท่านั้น แต่ที่เหลือหลังจากนั้นจะต้องสมบุกสมบั่นฝ่าป่าหนามวิ่งหนีผีห่าที่จะเอาชีวิตแล้วยังต้องมีฉากแอคชั่นต่อสู้กับผีห่า และมีคิวบู๊ที่จะต้องหยิบเอาจอบมาเป็นอาวุธในการสับคอผีห่าโดยเป็นคิวแอคชั่นต่อเนื่อง แค่ฉากผีห่าบุกกระท่อมฉากเดียวด้วยความพิถีพิถันของผู้กำกับทำให้ฉากนี้มีการถ่ายทำถึง 3 คืนเลยทีเดียว
- ได้รับการขนานนามว่าเป็นนางเอกกดปุ่มสั่งน้ำตาได้ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “คุณชายอดัม” ผู้กำกับตัดสินใจเลือก “แคท ซอนญ่า” มารับบท “อีเมี้ยน” หญิงสาวที่ยึดมั่นในความรักเหนือสิ่งอื่นใด เพราะจะต้องมีฉากที่ร้องไห้และเล่นกับอารมณ์อยู่ตลอดทั้งเรื่อง เพราะเป็นตัวละครลูกคุณหนูที่นอกจากจะต้องเสียน้ำตาที่ถูกบุพการีกีดกันในความรักและเผชิญหน้ากับวิบากกรรมที่ต้องพลัดพรากจากคนรักแล้ว ยังต้องร้องไห้ด้วยความกลัวสุดขีดจากสภาวะหนีตายเพื่อเอารอดจากการถูกผีห่ารุมกัดกินแล้วยังต้องกรีดร้องจนหมดเสียงในทุกๆ คิวของการถ่ายทำ เพราะเป็นตัวละครที่กรีดร้องเยอะที่สุด บางครั้งต้องแสดงและตะโกนกรีดร้องอยู่คนเดียวแทบทั้งคืน
- ภาพคาแร็กเตอร์ของ “ไอ้คง” กับ “อีเมี้ยน” ตามความตั้งใจที่มีอยู่ในหัวของคุณชายอดัม-ผู้กำกับตั้งแต่เริ่มต้นคือ ภาพปกนิตยสาร “คู่สร้างคู่สม” ที่เป็นตัวละครคู่พระนางที่เน้นการแสดงออกทางอารมณ์ดราม่าสูงกว่าตัวละครอื่นๆ เพราะนักแสดงที่จะมาถ่ายทอดทั้งสองบทบาทจะต้องนำเสนออารมณ์ทางด้านความรักเป็นหลัก หลังจากที่ผ่านการถ่ายทำไปทั้ง “แคท ซอนญ่า” และ “เต้ย พงศกร” ก็ไม่ทำให้ผู้กำกับผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็นฉากดราม่าเค้นอารมณ์หนักๆ หรือฉากรักหวานๆ ซึ้งๆ รวมไปถึงการเข้าพระนางถูกเนื้อต้องตัว พูดได้ว่าเคมีทางด้านการแสดงของทั้งคู่จะทำให้คนดูเชื่อในอานุภาพในความรักและความเสียสละของทั้งคู่ ถึงแม้จะห้อมล้อมและคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวเลือดท่ามกลางวิกฤตผีห่าที่อยู่รอบตัว และแน่นอนว่าแฟนๆ ของทั้งคู่จะได้เห็นฉากจูบอันดูดดื่มของทั้งคู่ในภาพยนตร์เช่นกัน
- ผ่านการทำงานทั้งละครและภาพยนตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ร่วมงานกับผู้กำกับเก่งๆ มากมาย แต่พูดได้ว่าบท “อีพลอย” คณิกาใบ้ที่ทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอดที่คุณชายอดัมเขียนขึ้นให้นักแสดงสาวอย่าง “แม็กกี้-อาภา ภาวิไล” เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ท้าทายการแสดงไม่น้อยไปกว่าบทบาทใดๆ ที่ผ่านมา กลับกันนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตทางด้านการแสดงที่สาวแม็กกี้จะต้องถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครผ่านการแสดงที่ไร้ซึ่งน้ำเสียง บทพูดไดอะล็อกแม้แต่คำเดียวตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องเลยทีเดียว และยังเป็นบทดราม่าจัดเต็มหนักเข้มเต็มอารมณ์อย่างถึงขีดสุดเลยทีเดียว เพราะมีตั้งแต่เข้าฉากเลิฟซีนกับหนุ่ม “แต๊บ เอเอฟ” ที่รับบทเป็น “ไอ้ขวัญ” เด็กวัดเจ้าสำราญที่ถูกชะตาและเอ็นดูคณิกาใบ้อย่างอีพลอย หรือฉากที่ต้องแสดงออกถึงอารมณ์รักไปจนถึงน่าสงสาร หรือการถ่ายทอดอารมณ์หวาดกลัวอย่างถึงขีดสุดเมื่อฝูงผีห่าบุกรุมทำร้าย และที่สำคัญที่สุดคือการแสดงออกถึงความรู้สึกโกรธเกลียดเคียดแค้นที่มีต่อ “นายจัน” เจ้าของโรงชำเราชายที่ชอบกดขี่ข่มเหง และความรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่ถูกลงทัณฑ์จากการหวดด้วยหวาย โดยที่ทั้งหมดทั้งมวลไม่สามารถสื่อสารผ่านเสียงร้องแต่อย่างใดคงมีเพียงการแสดงผ่านภาษากาย แววตา ท่าทางเพียงอย่างเดียว
- ในภาพยนตร์เรื่อง “ผีห่าอโยธยา” นักแสดงทุกคนล้วนจะมีฉากไฮไลต์สำคัญในการที่ต้องเผชิญหน้ากับผีห่า และแน่นอนว่าในกระบวนการทำงานสำหรับฉากที่เรียกได้ว่าเป็นไลฟ์แอคชั่นสดๆ จะต้องผ่านกระบวนการการทำงานของหลายฝ่าย และมากขั้นตอนกว่าการแสดงปกติ มีหนึ่งฉากสำคัญที่วิช่วลทางด้านภาพตามความตั้งใจของผู้กำกับคุณชายอดัมคือวินาทีเฉียดตายของตัวละครท่ามกลางความรู้สึกคลุ้มคลั่งของผีห่าที่พร้อมขย้ำตัวละครที่ไร้ทางสู้ชนิดที่ต้องการจะสื่อให้ผู้ชมรู้สึกเมื่อความตายอยู่ตรงหน้าผีห่าพร้อมหายใจรดต้นคอตัวละครท่ามกลางละอองเลือดที่พุ่งกระจายซ่านกระเซ็นไปทั่วทุกพื้นที่ นั่นหมายความว่านักแสดงสาวอย่าง “แม็กกี้ อาภา” ซึ่งรับบท “อีพลอย” คณิกาใบ้ที่ไร้ทางสู้นอนติดพื้นในขณะที่ผีห่าที่อยู่ตรงหน้าแทบจะนอนทับร่างยื่นหน้ามาประชิดพร้อมจะกัดกิน แต่ในช่วงเวลาฉับพลัน “อีบัว” ช่างตีดาบหญิงแกร่งคนเดียวของหมู่บ้านจะต้องเหวี่ยงค้อนทุบไปที่หัวของผีห่าผ่านใบหน้าของอีพลอยไม่ถึงคืบ และด้วยความที่เป็นค้อนจริงที่หนักนับสิบกิโลโดยที่ “โซดา” ซึ่งรับบทเป็นอีบัวจะต้องเหวี่ยงค้อนด้วยความแรงที่มากเพียงพอเพื่อให้หัวของผีห่าแตกถึงจะทำให้กลไกและคิวเอฟเฟกต์ของเลือดจากศีรษะพุ่งกระจายเป็นม่านฝนกระเซ็นไปทั่วใบหน้าของตัวละคร นั่นหมายความว่าแม็กกี้จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องโดยห้ามขยับเคลื่อนหรือหลุดตำแหน่งในขณะเดียวก็ต้องเชื่อมั่นในตัวเพื่อนนักแสดงอย่างโซดาที่จะต้องแม่นยำกับตำแหน่งและแรงเหวี่ยงค้อนที่ต้องมีน้ำหนักที่มากพอที่จะระเบิดหัวผีห่าให้ได้และที่สำคัญที่สุดคือต้องฟาดให้ตรงกับหัวของผีห่าเท่านั้น
- ด้วยความที่เป็นภาพยนตร์พีเรียดย้อนยุคกลับไปในสมัยอยุธยา 400 กว่าปี ทำให้ทุกอย่างต้องสมจริงไม่ว่าจะเป็นฉาก สถานที่โลเคชั่น องค์ประกอบทางด้านงานสร้างต่างๆ ซึ่งได้ทีมงานที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์แอคชั่นอิงประวัติศาสตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง “สุริโยไท” (2544) และ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (2550-2558) มาเป็นกำลังสำคัญในการผลิตภาพยนตร์เรื่อง “ผีห่าอโยธยา” (2558) ซึ่งรวมไปถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายตลอดจนทรงผมของนักแสดง ทำให้ทุกครั้งในการถ่ายทำนางเอกสาวอย่าง “แคท-ซอนญ่า สิงหะ” จะต้องเปลี่ยนสีผมให้ออกมาเป็นสีดำก่อนการถ่ายทำทุกครั้ง ในขณะที่ “แต๊บ เอเอฟ” เองด้วยความที่เป็นศิลปินนักร้องซึ่งมีรอยสักอยู่ในจุดต่างๆ จะต้องใช้เวลาในการเมกอัปเพื่อลบรอยสักดังกล่าวก่อนที่จะแปลงร่างสวมบทบาทเป็น “อีเมี้ยน” และ “ไอ้ขวัญ”
- ในบรรดานักแสดงหลักทั้ง 7 คน มี “ไอ้เทพ” หนึ่งในตัวละครสำคัญที่คุณชายอดัม-ผู้กำกับภาพยนตร์ได้หมายตาศิลปินที่ผ่านผลงานทางด้านดนตรีและเป็นนักแสดงที่มีความเชี่ยวชาญในการแสดงละครเวที แต่ไม่เคยมีผลงานทางด้านการแสดงภาพยนตร์อย่างเต็มๆ ตัวมาก่อนนั่นคือ “คานธี วสุวิชย์กิต” โดยตัดสินใจที่จะไปดูผลงานการแสดงละครเวทีแบบสดๆ แทนการแคสติ้ง ก่อนที่ในท้ายที่สุดตัดสินใจมอบบทไอ้เทพให้ และส่งไปเข้าคลาสเวิร์กช็อปทางด้านการแสดงและเวิร์กช็อปเรียนรู้ในการใช้อาวุธและฝึกซ้อมทางด้านศิลปะการต่อสู้อย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมตัวที่จะสวมชีวิตอดีตหัวหน้าหมู่ทะลวงฟันแห่งกองทัพอโยธยาผู้ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่าจะเล่นงานผีห่าได้ต้องตัดคอเท่านั้น
- ในการทำงานภาพยนตร์แต่ละเรื่องของคุณชายอดัมมักจะมีนักแสดงคู่ใจที่พูดได้ว่าจะเห็นฝีไม้ลายมือทางด้านการแสดงในภาพยนตร์ทุกเรื่องของคุณชายอดัม ไม่ว่าจะเป็น “สารวัตรหมาบ้า” (2556) รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่อง “ผีห่าอโยธยา” นี้ซึ่งจะมีนักแสดงอยู่ 2 คนที่คุณชายอดัมตั้งใจเขียนบทให้โดยเฉพาะนั่นคือ “หนึ่ง-ชลัฏ ณ สงขลา” ที่รับบท “นายจัน” และ “แฟรงค์-สมศักดิ์ แก้วลือ” ซึ่งรับบท “ไอ้ทูล” ลูกน้องของอีบัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนึ่ง ชลัฏที่ผู้กำกับตั้งใจออกแบบและดีไซน์ให้ตัวละครนายจันถูกตีความออกมาผ่านการแสดงที่เรียกได้ว่าบ้าพลังและสร้างสีสันให้กับภาพยนตร์อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนของหนึ่ง ชลัฏเลยทีเดียว
- ว่ากันว่าวิธีเดียวที่จะหยุดและเล่นงานผีห่าได้คือการบั่นหรือหั่นคอเท่านั้น และเพื่อความสมจริงของเรื่องราวที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากตัวละครที่ใช้ดาบอย่างโชกโชนอย่าง “ไอ้เทพ” อดีตหัวหมู่ทะลวงฟัน ทหารหนีทัพที่เชี่ยวชาญในการใช้ดาบคู่ และ “อีบัว” ช่างตีดาบประจำหมู่บ้านที่มีค้อนตีดาบเป็นอาวุธคู่กายแล้ว เนื่องด้วยตัวละครอื่นๆ ที่เหลือคือเด็กวัด, คนธรรมดา, ลูกสาวคหบดี, คณิกา ทำให้เพื่อความสมจริงของเรื่องราวและตัวละครในภาพยนตร์ เราจะได้เห็นการหยิบจับเอาข้าวของรอบๆ ตัวมาใช้เป็นอาวุธในการป้องกันตัวเองและเล่นงานผีห่าอาทิ จอบ, เคียวเกี่ยวข้าว ฯลฯ
The Black Death คานธี วสุวิชย์กิต ชลัฎ ณ สงขลา ชาติ อรรถจินดา ซอนญ่า สิงหะ ธนพล มหธร ปรางค์วลัย วงศ์สว่างวงศ์ ผีห่าอโยธยา พงศกร เมตตาริกานนท์ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล วีรี ละดาพันธ์ อาภา ภาวิไล
นักแสดง
ผู้กำกับ
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคลรางวัล
รางวัล “สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 25” (ประจำปี 2558) – เทคนิคพิเศษการแต่งหน้ายอดเยี่ยม (เมธาพันธ์ ปิธันยพัฒน์)